สาริน แสงเกียรติวงศ์: ผู้ใช้การท่องเที่ยวพิสูจน์ว่า...ยะลาน่าอยู่มากกว่าน่ากลัว
“การท่องเที่ยวทำให้คนในชุมชนมีรอยยิ้มมากขึ้น ไม่ว่าจะด้านมิตรไมตรีระหว่างชุมชนกับนักท่องเที่ยว หรือไม่ว่าจะภายในชุมชนเอง”
ไม่ปลอดภัย ไม่น่าเที่ยว เป็นภาพจำของพื้นที่สีแดง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ทำให้เด็กหนุ่มสายสื่อสารมวลชนจากรั้วนนทรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อย่าง สาริน แสงเกียรติวงศ์ เลือกหันหลังให้กับงานและโอกาสในเมืองกรุง มุ่งหน้าสู่จังหวัดยะลา ด้วยหวังให้การท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชนบ้านเกิด
เขากลับสู่หมู่บ้านเล็ก ๆ ติดกับประเทศมาเลเซีย ในฐานะรองประธานกลุ่มวิสาหกิจกลุ่มท่องเที่ยวบ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำการท่องเที่ยวโดยชุมชนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2543 โดยมีผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชนเป็นโต้โผ รวมกลุ่มสร้างการท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่หมู่ 10 ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา มีสมาชิกในชุมชนเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นหุ้นส่วน และได้รับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยว โดยมีสโลแกนคือ “รำลึกประวัติศาสตร์ กลับคืนสู่ธรรมชาติ” (Review History Back to Nature)
ระยะทาง 30 กิโลเมตร จากตัวเมืองเบตง ผ่านเส้นทางคดเคี้ยวหลายร้อยโค้ง แม้จะอยู่ใต้สุดแดนสยาม แต่อากาศและความเย็นสดชื่นไม่แพ้ดอยสูงทางภาคเหนือ สีเขียวชอุ่มของต้นไม้น้อยใหญ่ที่แต่งแต้มเต็มผืนป่าและภูเขาตลอดสองข้างทาง ยังเป็นตัวช่วยให้คนเมาโค้งพอได้รื่นรมย์ใจอยู่บ้าง สารินเติบโตมาท่ามกลางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ชุมชนของหมู่บ้านเล็กในอ้อมกอดเขาสันกาลาคีรีแห่งนี้
กว่า 2 ทศวรรษแล้วที่กลุ่มท่องเที่ยวบ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 ได้เปลี่ยนสนามรบกลางป่าใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน จากประวัติศาสตร์ที่พรรคคอมมิวนิสต์มาลายา ได้ยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธและสลายกองทัพมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยตามข้อตกลงการลงนามสัญญาสันติภาพ 3 ฝ่าย (รัฐบาลไทย/รัฐบาลมาเลเซีย/พรรคคอมมิวนิสต์มาลายา) แม้เรื่องราวจะจบลง แต่ร่องรอยและเรื่องเล่ายังคงอยู่ ชาวชุมชนจึงได้หยิบต้นทุนทางทรัพยากรนี้มาพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ระบบนิเวศ ผสมผสานกับการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ที่ทำให้ผู้มาเยือนได้ทั้งอาบป่าท่ามกลางความดิบอันงดงามของธรรมชาติ และลุ่มลึกไปกับประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตจากสหายคอมมิวนิสต์มาลายาตัวจริงเสียงจริง
สาริน เป็นลูกหลานคอมมิวนิสต์มาลายาเชื้อสายจีน ที่ต้องการให้คนเข้าใจและเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องของชาวคอมมิวนิสต์มาลายา ผ่าน “พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์” ที่ชาวชุมชนได้รวบรวมและบริจาคภาพถ่าย ข้าวของเครื่องใช้ในกองทัพ รวมไปถึงเครื่องสันทนาการให้ความรื่นเริงยามศึกสงคราม ถ่ายทอดเป็นประวัติศาสตร์ที่จับต้องได้ โดยอาม่า อากงที่เคยอยู่ในภาพถ่าย ได้ออกมายืนเล่าเรื่องราวให้ฟังจากประสบการณ์ตรงด้วยภาษาไทยสำเนียงจีนตามวิถีประจำวัน
“การได้มาทำหน้าที่ตรงนี้ ก็พยายามหาหน่วยงานภาคีที่สามารถช่วยยกระดับมาตรฐานชุมชนต่าง ๆ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และของฝากให้มีความหลากหลายมากขึ้น การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีอยู่เดิม การพัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวใหม่ ๆ การใช้สื่อออนไลน์ในการประชาสัมพันธ์ หรือการเปิดตลาด ประชาสัมพันธ์กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่ชุมชนยังขาดการยกระดับ”
เขาสื่อถึงความตั้งใจที่กลับมาทำงานท่องเที่ยวในชุมชน ในมุมมองของคนรุ่นใหม่ ที่เห็นว่าการจัดการท่องเที่ยวนั้นจะเก่งคนเดียวไม่ได้ ต้องมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เชี่ยวชาญมาช่วยหนุนเสริม สารินเล่าไปพร้อมกับการง่วนล้างผักน้ำ พืชพื้นถิ่นของเบตงที่เพิ่งไปเก็บมาสด ๆ
ท่ามกลางป่าดิบชื้นที่อยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านมากนัก ยังเป็นที่ตั้งค่ายจำลองสภาพความเป็นอยู่ของอดีตสมาชิกพรรคอมมิวนิสต์มาลายา ร่องรอยประวัติศาสตร์เหล่านี้ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญของการยุติสงครามโดยสันติวิธีจากการเจรจาอย่างเท่าเทียมของทุกฝ่าย และเป็นเรื่องเล่าที่ยังคงมีสถานที่จริงให้ได้เห็นภาพและลองนึกย้อนจินตนาการตาม
“นักท่องเที่ยวที่ได้มาในชุมชน จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ารู้สึกอบอุ่น เป็นกันเอง อาม่าในชุมชนให้ข้อมูลได้ดีมาก ทำให้เกิดความภาคภูมิใจของคนในชุมชนตามมา เกิดแรงผลักดันที่จะร่วมกันพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ”
ผักน้ำลอยละลิ่วท่ามกลางเปลวไฟแดงฉานในชั่วพริบตา สารินโชว์สกิลกระดกกระทะอย่างคล่องแคล่วพร้อมเล่าเรื่องต่าง ๆ ในชุมชน พลางเคาะตะหลิวและใส่เครื่องปรุงอย่างชำนาญ เพราะนอกจากจะเป็นรองประธานกลุ่มฯ แล้ว เขายังพ่วงตำแหน่งเชฟชุมชน ปรุงอาหารจีนระดับภัตตาคารด้วยวัตถุดิบบ้าน ๆ ที่หาได้ในชุมชน
“การท่องเที่ยวก่อให้เกิดโอกาสที่ชาวบ้านในพื้นที่จะได้นำผลิตภัณฑ์มาจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว เช่น ผลไม้ตามฤดูกาล ส้มแขกตากแห้ง สมุนไพรชุมชน รวมไปถึงอาหารชุมชน ที่เป็นเมนูวิถีชาวจีน จะใช้วัตถุดิบภายในชุมชนเป็นหลัก เช่น ไก่เก้าชั่ง ปลานิลสายน้ำไหล ผักสวนครัว เน้นความสดและปลอดสารพิษ จึงเป็นที่นิยมของกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย ก่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน และเกิดการสร้างงานในพื้นที่ จนเริ่มมีเยาวชนกลับมาในชุมชน และคิดที่จะกลับมามากขึ้น”
ต้นสมพงษ์ยักษ์ ขุมทรัพย์แห่งผืนป่าขนาด 38 คนโอบ นับเป็นหมุดหมายที่ใครต่อใครต่างเดินทางมายังหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 เพื่อยลโฉม เป็นมรดกอันล้ำค่าที่ธรรมชาติมอบไว้ให้กับโลกและคนในชุมชน เพราะไม่เพียงแต่กิ่งก้านสาขาจะเป็นร่มเงาและที่อยู่อาศัยของสรรพสัตว์แล้ว ยังแผ่ไปถึงชุมชนในแง่ของต้นทุนทรัพยากรทางการท่องเที่ยว ที่ชาวบ้านใช้ถ่ายทอดให้ผู้มาเยือนได้เห็นถึงความสำคัญของธรรมชาติและชีวิต
และแม้สารินจะเป็นคนเล็ก ๆ ในป่าใหญ่ ที่พอจะทำอะไรได้บ้างเพื่อบ้านเกิดตามกำลังและความถนัด แต่พลังของเขาก็เป็นแสงสว่างรำไรในความมืด ที่ปลุกให้เยาวชนในชุมชนเกิดการตื่นตัวและอยากกลับมาพัฒนาบ้านของตัวเองมากขึ้น
“บ้านเรามีต้นทุนทรัพยากรที่ดีอยู่แล้ว และสามารถสร้างเป็นการท่องเที่ยวเพื่อหารายได้มาช่วยเหลือชุมชน เพราะนี่อาจจะเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะทำให้เยาวชนอยากกลับบ้าน ผมคิดว่าการที่คนรุ่นใหม่จะกลับบ้านนั้น จะต้องประกอบด้วยเรื่องของรายได้ ความภาคภูมิใจ และความสุข ผมหวังว่าจะมีเยาวชนมองเห็นโอกาสของการกลับมาร่วมกันพัฒนาชุมชนไปด้วยกัน ไม่ว่าจะด้านการท่องเที่ยว หรือธุรกิจด้านอื่น ๆ ที่สามารถพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างความสุข ความเจริญสู่ชุมชน”
สารินใช้การท่องเที่ยวดึงคนกลับบ้านโดยการปฏิบัติให้ดู ในขณะเดียวกันเขาก็ใช้การท่องเที่ยวดึงผู้มาเยือนด้วยการแสดงให้เห็นอย่างจริงใจ
จะมีสักกี่พิพิธภัณฑ์ที่เจ้าของเรื่องราวมายืนเล่าอดีตให้เราฟังตรงหน้า จะมีสักกี่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณสมุนไพรหายาก จะมีสักกี่ชุมชนที่รุ่มรวยไปด้วยธรรมชาติดิบจริงแท้และสายหมอกโอบกอดเราในทุกเช้า จะมีสักกี่บ้านที่มีความมั่นคงทางอาหารขนาดที่ว่าไม่ต้องใช้เงินสักบาทแต่รู้จักทำกินก็ไม่มีทางอดตาย ทั้งหมดนี้รวมอยู่ในหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 จังหวัดยะลา สถานที่ซึ่งคนภายนอกมองเข้ามาแล้วเห็นว่าอันตราย แต่คนในชุมชนผู้มองออกมาด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มและสายตาเปี่ยมสุข รอให้ผู้มาเยือนได้ค้นหาคำตอบด้วยตัวเองว่าแท้จริงแล้ว “ยะลา” น่าอยู่หรือน่ากลัว
“เพราะมีชุมชนของเรา จึงทำให้มีเราในวันนี้ ผมอยากให้คนไทยมาเที่ยวยะลาดูบ้าง มันไม่น่ากลัวเหมือนในข่าวหรอกครับ”
สารินทิ้งท้าย พร้อมยกผักน้ำผัดไฟแดงควันฉุย เสิร์ฟพร้อมข้าวสวยร้อน ๆ แกล้มกับชาสมุนไพรต้าลี่หวังบำรุงกำลัง เป็นการจบบทสนทนา
.
เรื่องและภาพ : อรอุมา ศิลป์วัฒนานุกูล
เจ้าหน้าที่พัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน สำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน อพท.
.
บทความนี้ คือบทความคัดสรรจากการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเขียนข่าวเพื่อสร้างประสิทธิผลด้านการสื่อสาร” ที่จัดโดย The People ระหว่างวันที่ 12-13 ธันวาคม ปี 2562 ณ โรงแรมเดอะควอเตอร์ ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร เพื่อส่งเสริมและพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ แก่บุคลากรนักการสื่อสารขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เพื่อให้การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและการประชาสัมพันธ์ของ อพท. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและตรงกับกลุ่มเป้าหมายยิ่งขึ้น