บงจุนโฮ: ผู้กำกับ Parasite ที่ชวนก้าวข้ามซับไตเติลเพื่อค้นหาเมจิกของภาพยนตร์
ในบรรดาหนังที่ได้ชิงออสการ์ ปี 2020 เรื่องที่ร้อนแรงและได้รับการพูดถึงมากที่สุดก็คือ หนังเกาหลีใต้เรื่อง Parasite ที่เข้าชิงออสการ์ 6 รางวัล ได้แก่ หนังยอดเยี่ยม, ผู้กำกับ, บทดั้งเดิม, ลำดับภาพ, ออกแบบงานสร้าง และหนังนานาชาติยอดเยี่ยม ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000) ที่หนังเอเชียได้ชิงออสการ์สาขาใหญ่แบบนี้
ความสำเร็จบนเวทีออสการ์ของ Parasite ไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์ เพราะก่อนหน้านี้หนังเรื่องนี้ได้รางวัลจากเวทีต่าง ๆ มาแล้วมากกว่า 40 แห่ง รวมถึงรางวัลใหญ่อย่างปาล์มทองคำที่คานส์, หนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมจากเวทีลูกโลกทองคำและ Critics' Choice Awards เป็นต้น ซึ่งสิ่งที่ชวนเซอร์ไพรส์มากกว่าก็คือการที่หนังเกาหลีเพิ่งได้ชิงออสการ์และได้รางวัลใหญ่ ๆ แบบนี้เป็นครั้งแรก ทั้งที่ช่วง 20 ปีหลังมานี้ อุตสาหกรรมหนังเกาหลีมีความเข้มแข็ง, มีคนทำหนังฝีมือเยี่ยมมากมาย, หนังเกาหลีได้รับเสียงชื่นชมในเรื่องคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
ความสำเร็จของ Parasite นั้นต้องยกความดีความชอบให้กับผู้กำกับ บงจุนโฮ (Bong Joon-ho) ซึ่งหนังยาวที่เขากำกับทั้ง 7 เรื่องอย่าง Barking Dogs Never Bite (2000), Memories of Murder (2003), The Host (2006), Mother (2009), Snowpiercer (2013), Okja (2017) และ Parasite (2019) ล้วนได้รับเสียงชื่นชม, มีความโดดเด่นทั้งประเด็นและการนำเสนอ, ปรากฏลายเซ็นของผู้กำกับชัดเจน โดยเขาถูกมองว่าเป็นหนึ่งในผู้กำกับที่ยอดเยี่ยมที่สุดในยุคนี้
1.นักศึกษาสังคมวิทยาที่หลงใหลในภาพยนตร์
บงจุนโฮเกิดในปี 1969 (ปัจจุบันอายุ 50 ปี) ที่เมืองแทกู ในครอบครัวนักเขียนและศิลปิน ตอนมหาวิทยาลัยเขาเลือกเรียนคณะสังคมวิทยาตามที่ครอบครัวต้องการ แต่ด้วยความหลงใหลในภาพยนตร์ทำให้เขาเปลี่ยนเส้นทางชีวิตไปเป็นคนทำหนัง โดยเริ่มจากเข้าร่วมชมรมภาพยนตร์ที่มหาวิทยาลัย, อบรมหลักสูตร 2 ปีที่ Korean Academy of Film Arts, ทำหนังสั้นด้วยฟิล์ม 16 มม., มีส่วนร่วมในหนังยาวหลายเรื่องในตำแหน่งผู้เขียนบทและผู้ช่วยผู้กำกับ จนกระทั่งได้กำกับหนังเรื่องแรกในปี 2000
“ผมเป็น Geek หนังเต็มตัว ผมเติบโตขึ้นมาในยุค 1970s ซึ่งตอนนั้นกองทัพสหรัฐฯ มีช่องทีวีในเกาหลีเป็นของตัวเอง ทุกคืนวันศุกร์และเสาร์ช่องนี้จะมีหนังอเมริกันให้ดูเสมอ ผมมักนั่งดูคนเดียวในขณะที่คนในครอบครัวเข้านอนหมด ผมดูหมดทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นหนังชั้นยอดหรือเกรดบี ตอนนั้นเกาหลีตกอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการ และบรรยากาศบ้านเมืองมีความเป็นอนุรักษนิยม แต่หนังที่ฉายทางทีวีวันศุกร์นั้นมีความเสรีนิยมมาก ผมได้เห็นภาพความรุนแรงหรือฉากเซ็กส์จากหนังเหล่านี้ ซึ่งโดยทั่วไปไม่ค่อยได้เห็นจากที่อื่น
“หนังที่ผมชื่นชอบมากเป็นพิเศษคือหนังสตูดิโอฮอลลีวูดในยุค 1970s ซึ่งมีคนทำหนังเก่ง ๆ มากมายหลายคน เช่น ไบรอัน เดอ พัลมา, สตีเวน สปีลเบิร์ก, ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา, มาร์ติน สกอร์เซซี, จอห์น แฟรงเกนไฮเมอร์, อลัน เจ, พาคูลา, จอห์น ชเลซิงเกอร์, ซิดนีย์ ลูเม็ต จริงอยู่ที่ว่ามันเป็นหนังจากสตูดิโอ แต่ผู้กำกับก็มีอิสระและได้แสดงมุมมองตัวเองอย่างเต็มที่ ทำให้มันเป็นหนังที่มีพลัง มีความคราฟต์ มีเนื้อหาซีเรียส เป็นผู้ใหญ่ กล้าทำในสิ่งที่ท้าทาย ซึ่งผมแทบไม่เห็นหนังแบบนี้จากสตูดิโอฮอลลีวูดทุกวันนี้แล้ว” บงจุนโฮเล่าถึงความประทับใจที่มีต่อหนังเมื่อครั้งยังเยาว์วัย
นอกจากนั้น เขายังชื่นชอบผลงานของผู้กำกับเกาหลีอย่าง คิมคียัง (หนังเรื่อง The Housemaid ของเขาส่งอิทธิพลต่อหนัง Parasite อย่างมาก) ผู้กำกับญี่ปุ่นอย่างโชเฮ อิมามูระ, คิโยชิ คุโรซาว่า ผู้กำกับไต้หวันอย่าง เอ็ดเวิร์ด หยาง, โหวเสี่ยวเซี่ยน
“ในบรรดาผู้กำกับทั้งหมด คนที่อยู่บนยอดพีระมิดสำหรับผมคืออัลเฟรด ฮิตช์ค็อก หนังเรื่อง Psycho ของเขาเป็นหนังที่ผมดูซ้ำมากสุดในชีวิต ที่จริงมันเพิ่งโดนแซงไปโดยแอนิเมชัน My Neighbor Totoro ซึ่งผมดูพร้อมกับลูกชายไปมากกว่า 100 รอบ
“ถ้ามีวันไหนที่ผมทำงานออกมาไม่ได้ดั่งใจ ผมจะกลับไปดูหนังของฮิตช์ค็อก, คิมคียัง หรือผู้กำกับเฟรนช์นิวเวฟอย่าง คล็อด ชาโบรล ซึ่งผมถือว่าพวกเขาเป็นอาจารย์ของผม รวมถึงดูการให้สัมภาษณ์ของพวกเขาด้วย เพื่อให้ผมเกิดแรงบันดาลใจในการทำงานต่อไป”
2.ผู้กำกับหนัง Genre
หนังของบงจุนโฮเป็น ‘หนังตลาด’ ที่ทำเงินถล่มทลายในเกาหลี แต่ขณะเดียวกันก็เป็น ‘หนังเทศกาล’ ที่ได้เข้าฉายในเทศกาลหนังต่าง ๆ ทั่วโลก ผิดจากหนังเทศกาลส่วนใหญ่ที่มักไม่ใช่หนังตลาดทำเงิน สาเหตุมาจากหนังของเขาเป็นหนัง Genre (หนังที่มีตระกูลชัดเจน) ซึ่งง่ายต่อการสร้างจุดขาย เช่น Memories of Murder เป็นหนังแนวตามล่าฆาตกรต่อเนื่อง, The Host เป็นหนังสัตว์ประหลาด, Mother เป็นหนังอาชญากรรม, Snowpiercer เป็นหนังไซไฟหลังโลกล่มสลาย ฯลฯ
“ผมมองตัวเองเป็นผู้กำกับหนัง Genre ซึ่ง Genre ถือเป็นภาษาสากลที่คอหนังทั้งโลกเข้าใจ โดยที่ผมไม่ได้ทำตามแบบแผนเป๊ะ ๆ แต่มีการนำโครงสร้างของหนัง Genre นั้น ๆ มาพลิกแพลง หยอกล้อ หรือปรับเปลี่ยนเสียใหม่”
นอกจากนั้น ในหนังเรื่องเดียวกันยังมีการสับเปลี่ยน Genre ไปมาแบบฉุบฉับ ที่เห็นได้ชัดคือ Parasite “มันเป็นหนังทริลเลอร์ผสมตลกร้าย แต่ผมก็ไม่ปฏิเสธหากมีคนมองว่ามันคือหนังดรามาครอบครัว หนังอาชญากรรม หรือหนังสะท้อนสังคม ก็เหมือนกับสถานการณ์ในแต่ละวันของชีวิตคนเราที่ปรับเปลี่ยนไปหลายรูปแบบ ตอนเช้าชีวิตคุณอาจเป็นหนังดรามา แต่ตอนเย็นอาจจะกลายเป็นหนังระทึกขวัญก็ได้”
องค์ประกอบอีกอย่างที่อยู่ในหนังของเขาคืออารมณ์ขันร้าย ๆ ซึ่งมีความโฉ่งฉ่าง บ้าบอคอแตก และมักโผล่ขึ้นมาดื้อ ๆ ในช่วงที่หนังกำลังซีเรียส “ผมชอบบอกเล่าเรื่องราวซีเรียสที่ซ่อนอยู่ภายใต้อารมณ์ขัน ในขณะที่ผู้ชมกำลังหัวเราะ หนังก็ได้ตีหัวผู้ชมด้วยประเด็นหนัก ๆ โดยที่พวกเขาไม่ทันตั้งตัว”
3.อัดแน่นด้วยประเด็นทางสังคม
หนังของบงจุนโฮทุกเรื่องล้วนมีประเด็นทางสังคมการเมือง มันเป็นความสนุกของเขาในการสอดแทรกประเด็นทางสังคมที่ซีเรียสลงไปในจุดต่าง ๆ ของหนัง ด้วยเหตุผลว่า เกาหลีเป็นประเทศที่มีพลวัตและความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เหตุนี้เวลาที่เขาลงลึกไปในตัวละครแต่ละตัว เขาจึงไม่สามารถแยกตัวละครออกจากบริบททางประวัติศาสตร์และสังคมของประเทศได้ ซึ่งนั่นนำไปสู่การวิพากษ์สังคมในหนังของเขา และได้กลายเป็นแบบแผนเฉพาะในการเขียนบทหนังของเจ้าตัวทุกเรื่องไปแล้ว
“ผมต้องการให้หนังของผมเหมือนได้กระชากคอเสื้อผู้ชมและเขย่าตัวพวกเขาแรง ๆ ทำให้ผู้ชมกลับไปคิดแบบหยุดไม่ได้ถึงประเด็นและวิวาทะต่าง ๆ ในหนัง กลับไปวิเคราะห์ว่าหนังต้องการจะพูดถึงอะไร ซึ่งนั่นถือเป็นประสบการณ์ที่ผมอยากให้ผู้ชมได้รับ”
ประเด็นที่อยู่ในหนังของเขา มีตั้งแต่ความไม่มีประสิทธิภาพของภาครัฐ (Memories of Murder, The Host), วิพากษ์นโยบายของอเมริกาที่ส่งผลต่อเกาหลี (The Host), วิพากษ์ลัทธิบริโภคนิยม (Okja) เป็นต้น สำหรับ Parasite ประเด็นที่เห็นได้ชัดคือความเหลื่อมล้ำและการปะทะกันระหว่างชนชั้น ซึ่งบงจุนโฮเคยนำเสนอในหนังอย่าง Snowpiercer
“ตอนทำ Snowpiercer ผมเสียเวลาไปกับการจัดการงานสร้างและเอฟเฟกต์ที่ใหญ่โตวุ่นวาย เสร็จจากเรื่องนั้นผมคิดว่าอยากทำหนังที่เล่าถึงประเด็นเดียวกัน แต่มีสเกลหนังที่เล็กลง และมีฉากหลังในโลกแห่งความจริง เพื่อที่ผมจะได้ทุ่มพลังงานไปกับเนื้อหาและตัวละครแทนที่จะเป็นเอฟเฟกต์” บงจุนโฮอธิบาย ซึ่งใน Snowpiecer ชนชั้นถูกแบ่งโดยโบกี้รถไฟ แต่ใน Parasite ชนชั้นถูกแบ่งโดยขั้นบันไดและความสูงต่ำของพื้นที่ที่พวกเขาอยู่
“สังคมทุนนิยมทุกวันนี้ยังคงมีระบบชนชั้นวรรณะอยู่ เพียงแต่พวกเราทำเป็นมองไม่เห็นมัน หรือคิดว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแค่ในอดีต และนับวันช่องว่างระหว่างชนชั้นก็ยิ่งเพิ่มระยะห่างจนยากที่จะข้ามหากัน Parasite ได้แสดงให้เห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนจากสองชนชั้นที่ดูเหมือนไม่มีทางบรรจบกันเกิดการปะทะกัน”
ความเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นร่วมสมัย ไม่เฉพาะกับเกาหลี แต่รวมถึงสังคมโลก ช่วงที่ผ่านมามีหนังที่พูดถึงประเด็นนี้หลายเรื่อง เช่น หนังเกาหลีอย่าง Burning, หนังญี่ปุ่นอย่าง Shoplifters, หนังฮอลลีวูดอย่าง Joker, Knives Out ถึงอย่างนั้น ตอนแรก ๆ บงจุนโฮก็หวั่นว่าผู้ชมนอกเกาหลีจะไม่เก็ต เพราะตัวหนังมีความเป็นเกาหลีสูง ทั้งเรื่องวัฒนธรรม, สังคมการเมือง, ประวัติศาสตร์, มุกตลก แต่ปรากฏว่าเรื่องชนชั้นและความเหลื่อมล้ำถือเป็นประเด็นสากลที่คนทั้งโลกเข้าใจ “มีผู้ชมมาบอกผมว่า ‘มันเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นเช่นกันในอังกฤษ’ ‘ในฮ่องกงก็เกิดแบบนี้เช่นกัน’ และอีกหลายประเทศก็บอกเช่นเดียวกัน” เขาเล่า
ตัวละครหลักในหนังของเขาทุกเรื่องตั้งแต่ Barking Dogs Never Bite ถึง Parasite เป็นชนชั้นล่างที่ฐานะยากจน “ขนาดกัปตันอเมริกา ผมยังจับให้เขามาเล่นเป็นคนเนื้อตัวมอมแมมเลย” บงจุนโฮกล่าวถึงคริส อีแวนส์ ใน Snowpiercer
“ใน Parasite ถึงแม้ครอบครัวคนจนจะมีพฤติกรรมที่ไม่น่าเอาใจช่วย แต่มันก็ไม่ได้เกิดจากพวกเขาเป็นคนชั่วร้าย แต่มันเกิดจากระบบที่บิดเบี้ยวผลักดันให้พวกเขาเป็นแบบนี้ เช่นเดียวกับครอบครัวคนรวยที่ไม่ใช่คนชั่วร้าย เพียงแค่พวกเขาสนใจแต่ตัวเองและผู้คนที่อยู่รอบตัวเขา จนเฉยเมยกับสังคมและคนทุกข์ยากรอบตัว” เขากล่าว “ผมไม่ได้ทำให้ใครเป็นผู้ร้ายโดยสมบูรณ์ แต่พวกเขาเป็นตัวละครสีเทา ผมพยายามทำให้พวกเขาดูเป็นคนปกติในชีวิตจริง ทำให้เมื่อหนังมีความเหลือเชื่อมากขึ้น ความสมจริงของตัวละครจะทำให้ผู้ชมติดตามตัวหนังไปได้ตลอด”
บงจุนโฮได้เขียนแถลงการณ์ของ Parasite โดยสรุปได้ว่า “การที่ผู้คนซึ่งแตกต่างทางสถานะต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อแนวโน้มของโลกทุกวันนี้ทำให้ความสัมพันธ์ในเชิงพึ่งพาอาศัยกันเกิดขึ้นยาก จึงส่งผลให้คนบางกลุ่มถูกผลักดันไปให้มีความสัมพันธ์แบบปรสิตกับคนอื่น ซึ่งพวกเขาไม่ได้เป็นปรสิตตั้งแต่ต้น แต่เป็นคนปกติธรรมดาที่พวกเราคุ้นเคย เพียงแต่พวกเขาถูกผลักออกไปจนสุดขอบหน้าผาจนตัดสินใจทำสิ่งนี้”
4.นักทำหนังจอมวางแผนที่เชื่อในสัญชาตญาณตัวเอง
“แผนที่ดีที่สุดคือการไม่มีแผน” นี่คือคำพูดของตัวละครใน Parasite ที่หลายคนจำได้ ซึ่งดูจะแตกต่างจากการทำหนังของบงจุนโฮซึ่งได้ชื่อว่าเป็น ‘ขุนละเอียด’ ซึ่งวางแผนการทำงานอย่างรอบคอบ, เก็บรายละเอียดทุกเม็ด และดูแลงานสร้างแทบจะทุกกระบวนการตั้งแต่ก่อนถ่ายทำจนถึงตัดต่อเสร็จ
การควบคุมหนังของบงจุนโฮเริ่มต้นตั้งแต่ตอนเขียนบท ซึ่งเขายืนยันที่จะกำกับหนังจากบทที่เขาเขียนเองเสมอ ส่งผลให้เขาปฏิเสธข้อเสนอจากสตูดิโอฮอลลีวูดมากมายที่ต้องการให้เขากำกับหนังฟอร์มใหญ่หรือหนังแฟรนไชส์ (เพราะสตูดิโอเหล่านี้มักหยิบยื่นบทที่เขียนเสร็จแล้วมาให้) “เควนติน ทารันติโน่ เป็นคนทำหนังที่ผมพยายามตามรอย เนื่องจากเขากำกับหนังจากบทที่เขาเขียนบทเองเท่านั้น” บงจุนโฮกล่าว
เขาจินตนาการภาพและเสียงของหนังทั้งเรื่องไว้ในหัวตั้งแต่ช่วงเขียนบท และได้ทำการเตรียมงานสร้างตั้งแต่การออกแบบงานด้านภาพ, ฉาก, เอฟเฟกต์, นักแสดง ตั้งแต่ตอนที่บทหนังยังเขียนไม่เสร็จ เห็นได้ชัดจาก Parasite ซึ่งผู้ออกแบบงานสร้างคู่บุญของเขาอย่าง ลีฮาจุน เล่าว่า “เราต้องทำการสร้างบ้านขึ้นมาใหม่ทั้งหมดจากความว่างเปล่า ทั้งบ้านสุดหรูของครอบครัวพัคและชุมชนยากจนของครอบครัวคิม ซึ่งบงจุนโฮได้ร่างรูปแบบบ้านไว้คร่าว ๆ ตั้งแต่ตอนที่เขาเขียนบทแล้ว แต่พอสถาปนิกตัวจริงได้เห็นแพลนบ้านของเราที่ร่างไว้ ก็โวยวายว่าบ้านแบบนี้สร้างขึ้นจริงไม่ได้หรอก” และเล่าต่ออีกว่า “บ้านในหนังนอกจากจะต้องดูสวยงามโมเดิร์นตามบทแล้ว มันต้องรองรับการวางกล้อง, บล็อกช็อต, จัดองค์ประกอบภาพ, การจัดแสง ตามที่ผู้กำกับต้องการได้”
บงจุนโฮวางแผนการถ่ายทำในแต่ละวันด้วยการใช้สตอรีบอร์ดซึ่งเขาวาดเองอย่างละเอียด ถึงขั้นที่ว่า “วันไหนที่ผมออกไปถ่ายทำโดยไม่มีสตอรีบอร์ด ผมจะเกิดความรู้สึกเหมือนไม่ได้ใส่เสื้อผ้าแล้วออกไปเดินกลางถนน”
แต่พอถ่ายทำจริง เขาก็ไม่ได้ทำตามสตอรีบอร์ดเป๊ะ ๆ เสียทีเดียว เพราะเขาเชื่อในสัญชาตญาณของตัวเองเป็นหลัก เขาไม่ได้คำนวณอย่างเข้มงวดว่าซีนนี้จะต้องออกมาตลกหรือดรามา แต่จะพิจารณาจากสิ่งที่เกิดตอนนั้นมากกว่า มีบางซีนในหนังของเขาที่เหมือนถูกวางแผนมาอย่างดี แต่ที่จริงมันเกิดจากการปรับเปลี่ยนแบบปุบปับตอนถ่ายทำ “เพราะการทำหนังมันไม่มีคู่มือแบบที่นักบวชมีคัมภีร์ไบเบิล หรือทนายความมีหนังสือประมวลกฎหมาย ด้วยเหตุนี้สัญชาตญาณของคนทำหนังเป็นสิ่งที่สำคัญ” ผู้กำกับมากฝีมือบอก
5.ความสำเร็จของ Parasite และวงการหนังเกาหลี
Parasite ถือเป็นความสำเร็จอย่างมากของวงการหนังเกาหลีที่เพิ่งฉลองครบรอบ 100 ปีไปไม่นาน นอกเหนือจากทำรายได้ทั่วโลกไป 140 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (สูงที่สุดในบรรดาหนังเกาหลีทั้งหมด) ถูกซื้อสิทธิ์ไปฉายมากกว่า 192 ประเทศ ถูกซื้อสิทธิ์ไปดัดแปลงเป็นซีรีส์โทรทัศน์ทาง HBO นอกจากนั้นหนังยังได้เข้าชิงออสการ์ถึง 6 สาขา โดยเป็นตัวเก็งในสาขาหนังนานาชาติยอดเยี่ยม
“มันเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ทำให้สื่อเกาหลีต่างพากันฉลองราวกับเป็นงานเฉลิมฉลองแห่งชาติ” บงจุนโฮให้ความเห็น และให้เครดิตกับหนังเกาหลีเรื่องต่าง ๆ ที่ปูทางในระดับสากลมาก่อนหน้า
“Parasite ไม่ใช่หนังซึ่งอยู่ดี ๆ ก็โผล่ขึ้นมา แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์เกาหลีที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ซึ่ง Parasite เป็นเหมือนส่วนขยายดังกล่าว นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่หนังเกาหลีได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติ The Handmaiden เคยชนะ BAFTA, Burning ก็ติดชอร์ตลิสต์ออสการ์ 9 เรื่องสุดท้ายสาขาหนังภาษาต่างประเทศ, มีแอนิเมชันขนาดสั้นจากเกาหลีที่เคยได้ชิงออสการ์ ซึ่งพัฒนาการของวงการหนังเกาหลีตลอดหลายปีมานี้ได้นำมาสู่ความสำเร็จของ Parasite ในปัจจุบัน
“มีคนทำหนังเกาหลีชั้นยอดหลายคนที่ชาวตะวันตกไม่รู้จัก ผมคิดว่าการได้ชิงออสการ์ของผมถือเป็นเรื่องดี ตรงที่ทำให้คนหันมาสนใจหนังเกาหลีมากขึ้น”
นอกจากนั้น บงจุนโฮยังรู้สึกยินดีที่หนังได้รับการตอบรับแม้แต่ในอเมริกาซึ่งผู้ชมขึ้นชื่อว่าไม่ชอบดูหนังที่มีซับไตเติล เขากล่าวตอนรับรางวัลบนเวทีลูกโลกทองคำว่า “ขอเพียงแค่คุณสามารถก้าวข้ามกำแพงสูง 1 นิ้วที่เรียกว่าซับไตเติลได้ คุณก็จะได้พบกับภาพยนตร์ที่มหัศจรรย์มากมาย”
สำหรับมุมมองที่มีต่อวงการหนังเกาหลีปัจจุบัน เขามองว่า “ถ้ามองจากภายนอกแล้ว ดูเหมือนว่าวงการหนังเกาหลีไปได้ดี แต่จริง ๆ แล้วมีปัญหา เพราะคนทำหนังรุ่นใหม่ต้องพบกับอุปสรรคหลายอย่าง เช่น การครอบงำจากสตูดิโอและนายทุน ทำให้ผู้กำกับและศิลปินมีอิสระน้อยลง ต่างจากตอนที่ผมทำหนังใหม่ ๆ เมื่อ 20 ปีก่อน ซึ่งวงการหนังเกาหลีในตอนนั้นคล้ายกับฮอลลีวูดยุค 1970s ตรงที่ผู้กำกับได้รับอิสระอย่างมาก ทำให้คนทำหนังกล้าเสี่ยงทำอะไรใหม่ ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่แทบไม่เห็นอีกแล้วในยุคนี้”
อ้างอิง – แฟนเพจ ‘기생충 / Parasite’// นิตยสาร Total Film, Empire // เวบไซต์ nytimes.com, avclub.com, indiewire.com, variety.com, collider.com, deadline.com