กัมพล มณีศิลป์ชัยกุล คณะสิงโตกว๋องสิว ผู้อุทิศลมหายใจให้การเชิดสิงโต
สีสันของ “ตรุษจีน” เทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่อันยิ่งใหญ่ของชาวจีน นอกจากจะจัดเต็มหมูเห็ดเป็ดไก่และสารพัดอาหารละลานตา ยังอยู่ที่ขบวนแห่คึกคัก เสียงกลองฉาบอึกทึก ขาดไม่ได้คือ “การเชิดสิงโต” เจ้าสัตว์หัวโตที่มาพร้อมท่วงท่ายึกยัก สะบัดหัวหางพลิ้วไหวไปมาตามจังหวะกลอง เดี๋ยวเยื้องย่าง เดี๋ยวหยุดชะงัก ล่อหลอกให้ผู้คนสนใจ สร้างความสุขและความสนุกสนานให้ผู้ชมได้ไม่น้อย
ชุดการแสดงที่ผสานการกระโดดกระฉับกระเฉงเข้ากับการชูไม้ชูมือที่ดูเหมือนจะไม่มีแบบแผน แท้จริงคือมรดกทางภูมิปัญญาของชาวจีน เป็นศาสตร์และศิลป์ที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์แผ่นดินใหญ่มานานหลายพันปี ก่อนจะถูกนำมาเผยแพร่ในประเทศไทยในช่วงไม่กี่ร้อยปีก่อน ซึ่งหนึ่งในกลุ่มคนผู้ฝึกสอนวิธีการเชิดสิงโตให้ลูกหลานชาวจีนและไทยได้รู้จักจนกระทั่งแพร่หลายคือกลุ่มชาวจีนกวางตุ้ง ที่ภายหลังรวมตัวกันและเรียกตัวเองว่า ‘สมาคมกว๋องสิว’
“สมัยก่อน ถ้าพูดถึงสิงโตก็ต้องกว๋องสิว” กัมพล มณีศิลป์ชัยกุล หรือ ‘เฮียหง่าว’ หัวหน้าคณะสิงโตกว๋องสิว เยาวราช วัย 75 ผู้มีประสบการณ์ในการเชิดสิงโตมากว่า 60 ปี หรือเกือบทั้งชีวิตของเขาก็ว่าได้ บอก
สมาคมกว๋องสิว เยาวราช จัดตั้งขึ้นโดยชาวจีนกวางตุ้งเมื่อราว 140 กว่าปีก่อน จุดเริ่มต้นคือการเป็นพื้นที่ให้กลุ่มคนกวางตุ้งที่อพยพมาจากเมืองจีนได้พบปะกัน จนกระทั่งคนเริ่มมากขึ้น จึงได้ลงขันกันเก็บเงินซื้อที่ดินผืนหนึ่งแถบตลาดน้อยแล้วตั้งเป็นศาลเจ้า และเพราะสิงโตเป็นการแสดงที่จำเป็นในงานมงคลต่าง ๆ ทางสมาคมจึงก่อตั้งคณะสิงโตของตัวเองในนาม ‘กว๋องสิว’ (คนละคณะกับ สิงโตกว๋องสิว นครสวรรค์)
เฮียหง่าวเล่าว่า สมัยก่อนกว๋องสิวเป็นคณะที่มีชื่อเสียง และถือเป็นคณะใหญ่สุดในแถบเยาวราช มีสมาชิกมากกว่าร้อยคน แถมยังเปิดสอนศิลปะการเชิดสิงโตให้เด็ก ๆ แบบไม่คิดเงินอีกด้วย ตัวเขาเองก็เป็นหนึ่งในลูกศิษย์ที่ได้รับการถ่ายทอดทักษะการเชิดจากครูบาอาจารย์สมัยนั้น
“ผมอยู่แถวตลาดน้อยมาตั้งแต่เกิด ตอนนั้นบ้านเมืองหน้าตามันก็คล้าย ๆ อย่างนี้แต่ยังดูไม่เก่าเท่า ยังไม่มีรถราเยอะเท่านี้ สายไฟก็ไม่โยงไปทั่วแบบนี้ ทีวีอะไรก็ไม่มี นอกจากวิ่งเล่นกับเพื่อน มันก็มีสิงโตนี่ล่ะที่ทำให้สนุก เหมือนเป็นความบันเทิงเดียวของคนหมู่มาก พอได้ยินเสียงกลองก็ขนลุก ใครก็ชอบ ตอนนั้นเห็นใครเชิดเป็นก็อยากทำได้อย่างเขา เพราะมันดูเก่ง ดูเท่”
บริเวณลานหน้าศาลเจ้ากวางตุ้ง ซึ่งเป็นที่ตั้งของสมาคมกว๋องสิว จึงกลายเป็นสถานที่ฝึกซ้อมของคนในสมาคมมาตั้งแต่สมัยเริ่มก่อตั้งคณะ สภาพพื้นที่เป็นเพียงลานโล่ง ๆ ใช้เป็นสถานที่จัดการแสดงของสมาคมในช่วงเวลาสำคัญ พอถึงเวลาซ้อมจึงค่อยขนอุปกรณ์ออกมาตั้ง
“พอถึงเวลาซ้อมเขาก็มาซ้อมกันตรงนี้ พวกอาจารย์เขาก็จะมาสอน เด็กเล็ก ๆ แถวนี้ใครสนใจอยากมาเรียนก็มา แต่พูดก็พูดเถอะนะ มากันสิบยี่สิบคน ฝึกได้สองวันก็เหลือไม่ถึงครึ่งแล้ว” ที่เป็นเช่นนั้น เพราะสมาคมกว๋องสิวมีแบบแผนการฝึกสอนแบบเฉพาะ เป็นศาสตร์เชิดแบบโบราณที่มีอาจารย์ซึ่งเป็นคนจีนกวางตุ้งแท้ ๆ เป็นผู้ริเริ่มสอน โดยนอกจากเชิดสิงโต ยังมีกายกรรมต่อตัว และสิงโตขึ้นกระบอก ผู้ฝึกจึงจำเป็นต้องมีพื้นฐานร่างกายที่ยืดหยุ่นและแข็งแรงเสียก่อน
การเชิดสิงโตของกว๋องสิว สมัยก่อนไม่ใช่ว่าใครจะเชิดก็เชิดได้ คนเชิดต้องมีวิชากังฟูเป็นฐาน จะเชิดให้สง่า มีชีวิตชีวา พื้นฐานร่างกายต้องดี ผู้เริ่มต้นจึงต้องฝึกฝนร่างกายก่อน เริ่มต้นจากท่า ‘นั่งม้า’ คือการงอขา ย่อตัวลงคล้ายกับการนั่งเก้าอี้ ผู้ฝึกจะต้องเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณต้นขาและหน้าแข้งไปจนกว่าขาจะแข็งแรงมากพอไปฝึกอย่างอื่น แต่แค่การนั่งม้า เวลาไม่ถึงนาทีบางคนก็ทนไม่ไหวแล้ว ไหนจะต้องดัดแขน ดัดขา ฝึกต่อตัวอีก กว่าจะไปถึงเรียนเชิดสิงโต หลายคนจึงเริ่มยอมแพ้และถอดใจกันไปก่อน
“ตอนนั้นกว่าจะได้จับหัวสิงโตต้องฝึกอยู่เป็นปี ส่วนใหญ่เขาก็ไม่ค่อยให้เด็ก ๆ เชิดหรอก เพราะคนในคณะมันมีให้เลือกเยอะ มีกันเป็นร้อยคน เด็ก ๆ ก็ต้องตีฉาบตีกลองไปก่อน พอเริ่มเก่งถึงจะได้จับหัว แต่ก็เป็นหัวเล็ก ลองเชิดกับพื้นไม่ต้องผาดโผนอะไรมาก เพราะมันอันตราย อย่างขึ้นกระบอกนี่คนตกคนร่วงลงมา ไม่ตายก็พิการเยอะ พ่อแม่เขาก็คงไม่อยากให้ลูกมาเสี่ยง เลยต้องรอให้โต ๆ หน่อย ถึงค่อยเริ่มสอน”
ท่วงท่าการเชิดของสิงโตกวางตุ้ง มีทั้งต้องกระโดด กระโจน เกลือกกลิ้ง จึงต้องเน้นฝึกท่าทางที่เน้นความแข็งแกร่งของร่างกายช่วงล่าง หากสังเกตดี ๆ จะพบว่าท่วงท่าการย่างเท้าของสิงโตกวางตุ้ง คล้ายคลึงกับหลักการใช้เท้าในการฝึกวิทยายุทธ์ของจีนอยู่หลายส่วน “เวลาอาจารย์เขาสอนเชิดสิงโต เขาจะสอนจังหวะการยกเท้า ปกติคนเรายืนยกขาข้างหนึ่ง ทรงตัวอีกข้าง แป๊บเดียวก็เริ่มเซแล้ว นี่ต้องยืนขาเดียวให้นิ่งด้วย เชิดด้วย ถ้าไม่ฝึกดี ๆ มันจะกลายเป็นสิงโตขาเปลี้ย อายเขาตาย”
เฮียหง่าวใช้ชีวิตอยู่ในคณะสิงโตเรื่อยมา เน้นรับเฉพาะงานเชิดสิงโตในศาลเจ้า หรืองานมงคลอย่างเทศกาลตรุษจีน งานไหว้เจ้า หรืองานขึ้นบ้านใหม่ กระทั่งเมื่อเหล่าอาจารย์ค่อย ๆ ทยอยแยกตัวไปตั้งคณะอยู่ที่อื่น หรือไม่ก็ล้มหายตายจากไปหมด สุดท้ายคนที่คลุกคลีอยู่ในคณะมาตั้งแต่เด็กยันโตอย่างเช่นเขา จึงทำหน้าที่รับช่วงในตำแหน่งหัวหน้าคณะต่อ
“สมัยนั้นเราเคยมีชื่อเรื่องเชิด จนคนแห่มาเรียนกันเยอะแยะ พอเรียนเสร็จได้วิชาไป เขาก็แยกย้ายกันไปตั้งคณะ ไปสอนที่อื่น เห็นชัด ๆ เลยก็แถวฝั่งธนฯ แถวนั้นมีคณะอยู่เยอะเลย ผมรู้จักหัวหน้าหลายคนด้วย เพราะเรียนจากที่นี่มาด้วยกัน”
ช่วงเวลานั้น ศาสตร์การเชิดสิงโตกว๋องสิว ทำหน้าที่ไม่ต่างจากต้นกำเนิดวิชาเชิด ที่ทำให้พื้นที่แถบเยาวราช และฝั่งธนบุรีกลายเป็นแหล่งรวมตัวของคณะสิงโตที่มีชื่อเสียง คณะสิงโตในแถบนี้มีทั้งที่ก่อตั้งโดยคนจีนและคนไทย เราจึงได้เห็นการเชิดสิงโตทั้งในวันเข้าพรรษา งานบวช และงานขึ้นบ้านใหม่ เรียกได้ว่าเป็นเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ของคณะสิงโตในประเทศไทยช่วงเวลาหนึ่ง
แต่คงเป็นเรื่องธรรมดา ที่ระยะเวลากว่า 60 ปี พัดพาให้ชื่อเสียงของคณะสิงโตกว๋องสิว เยาวราช ค่อย ๆ เจือจางเหมือนใบไม้ผลัดสี สาเหตุหนึ่งเพราะขาดคนสืบทอด แถมความศรัทธาของผู้ว่าจ้างก็ค่อย ๆ จางไปตามกาลเวลา การแสดงเชิดสิงโตของเฮียหง่าว จึงเหลือให้ชมเพียงช่วงเทศกาลตรุษจีนของเยาวราช หรืองานของสมาคมกว๋องสิวเท่านั้น
“เดี๋ยวนี้เด็กใหม่ ๆ จะเข้าคณะก็ไม่ค่อยมี จากที่เคยเปิดสอนเชิด สมาคมเขาก็ไม่สนับสนุนแล้ว เพราะสอนไปจนจบ เด็กมันก็ไม่อยู่กับเรา ออกไปอยู่กับที่อื่นหมด เราก็เหลือแต่คนแก่ ๆ ที่จะมาเชิดผาดโผนพิเรนอะไรมากไม่ไหว สุดท้ายเลยกลายเป็นรับแต่งานสมาคม ไม่ยุ่งกับใคร ไม่ก็รับงานเล็ก ๆ บ้าง ของคนที่รู้จักกัน”
ในขณะที่วงการเชิดสิงโตไทยเอง ก็ค่อย ๆ ขยับออกห่างจากการเป็นคณะสิงโตศาลเจ้า และผันตัวไปเป็นคณะสิงโตที่เชิดในเชิงพาณิชย์มากขึ้น ส่วนใหญ่แล้วสิงโตประเภทนี้จะรับจ้างเชิดทุกโอกาส ไม่จำกัดว่าต้องรับอยู่แต่งานเจ้าพ่อเจ้าแม่เสมอไป ทั้งยังมีการพัฒนารูปแบบไปจนถึงขั้นเป็นกีฬาที่ใช้แข่งขันในระดับนานาชาติ ส่วนเฮียหง่าว สิงโตเฒ่าผู้นำคณะสิงโตกว๋องสิว เยาวราช ซึ่งผ่านมาแล้วทั้งช่วงเวลาแห่งความรุ่งเรืองและซบเซา ยังยืนยันหนักแน่นว่า ตัวเขาและสมาชิกคณะที่หลงเหลือกันราว 30 กว่าคน อย่างไรก็ยังจะเชิดกันไปต่อจนกว่าจะหมดลมหายใจ
“ส่วนใหญ่ที่เหลืออยู่ก็ยังเชิดเพราะใจรัก ถ้าใครจะเรียกเราไปเชิด แล้วเราเห็นว่าเขามีความเชื่อจริง จะเปิดงาน จะขึ้นบ้านใหม่ต้องมีสิงโต เพราะมันเป็นวัฒนธรรมของคนจีน แบบนั้นเราก็ไปเชิดให้ ตัวผมในตอนนี้ก็คงอยู่กับมันไปเรื่อย ๆ ก็ทำจนกว่าจะไม่ไหว จนหมดลมหายใจ เลิกไม่ได้หรอก”
ขอบคุณภาพหัวสิงโตจากคณะสิงโตและมังกรทองลูกเจ้าพระยา