บอนนี และ ไคลด์ โจรปล้นฆ่า ฮีโรแห่งยุคเศรษฐกิจถดถอย
ทศวรรษ 1930 เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่ถูกเรียกว่า The Great Depression ซึ่งปัญหาเศรษฐกิจถดถอยสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนหลายประเทศทั่วโลก เริ่มตั้งแต่ปี 1929 ไปสิ้นสุดในปี 1939 มันจึงเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์
โดยเฉพาะที่สหรัฐฯ จากข้อมูลของ Britannica ณ ช่วงเวลาดังกล่าว กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมได้ลดลงต่ำสุดถึง 47 เปอร์เซ็นต์ และจีดีพีร่วงลงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขคนว่างงานสูงสุดเกินกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ มันจึงเป็นระยะเวลาแห่งความสิ้นหวังและว่างเปล่าโดยเฉพาะในหมู่ประชาชนที่ต้องหาเช้ากินค่ำ
ภาวะเช่นนั้น ทำให้คนไม่น้อยโกรธแค้นภาครัฐที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาปากท้องให้เขาได้ รวมไปถึงชนชั้นนายทุนที่พวกเขามองว่าไม่ต้องมาตกระกำลำบากเหมือนกัน เมื่อได้ทราบข่าวการปล้นธนาคาร และฆ่าเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย แทนที่จะรู้สึกกังวลถึงความไม่ปลอดภัยในการใช้ชีวิต โจรเหล่านี้กลับถูกมองว่าเป็นผู้ที่ช่วยแก้แค้นให้กับพวกเขาที่ต้องเผชิญกับความยากลำบาก เนื่องจากถูกคนระดับบนเอารัดเอาเปรียบ
บอนนีและไคลด์ คู่รักอาชญากร ก็เป็นสองโจรที่โดดเด่นที่สุดในยุคนี้
บอนนี ปาร์กเกอร์ (Bonnie Parker) เกิดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 1910 ในเท็กซัส ส่วน ไคลด์ บาร์โรว์ (Clyde Barrow) เกิด 24 มีนาคม 1909 ในลุยเซียนา
ไคลด์หัดเป็นขโมยมาตั้งแต่วัยรุ่น ก่อนไปติดคุกอยู่สองปี จากคดีขโมยรถยนต์ แล้วได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนดในเดือนกุมภาพันธ์ 1932 เมื่อเขายอมตัดนิ้วเท้าขวาทิ้งไปสองนิ้ว เพื่อเลี่ยงการทำงานในคุก ไม่นานจากนั้นเขาได้พบกับบอนนีสาวผมทองที่แต่งงานแล้วตั้งแต่อายุ 15 ปี แต่แยกกันอยู่กับสามี ที่แดลลัส ทั้งคู่ถูกชะตากันตั้งแต่ต้น และร่วมกันฟอร์มทีมขึ้นมาเพื่อปล้นทรัพย์ร่วมกัน
(นอกจากบอนนีกับไคลด์แล้ว ทีมงานของเขายังประกอบด้วย บัก [Buck] พี่ชายของไคลด์, แบลนช์ [Blanche] ภรรยาของบัก, เรย์ แฮมิลตัน [Ray Hamilton] และดับเบิลยู.ดี. โจนส์ [W.D. Jones])
เป้าหมายของพวกเขาส่วนใหญ่เป็นปั๊มน้ำมัน ร้านค้าเล็ก ๆ ไปจนถึงธนาคารในท้องถิ่น จนวันหนึ่งในเดือนเมษายน 1932 ระหว่างที่บอนนี่ติดคุกอยู่ระยะสั้น ๆ หนึ่งในทีมงานเกิดพลั้งมือฆ่าเจ้าของร้านระหว่างการปล้น ทำให้ไคลด์เสี่ยงที่จะถูกตั้งข้อหาฆาตกรรม เขาจึงตั้งปณิธานว่า จะยอมถูกจับไม่ได้เป็นอันขาด ไม่นานจากนั้นไคลด์ก็ลงมือฆ่าเป็นครั้งแรก และเหยื่อก็คือเจ้าหน้าที่ตำรวจ
บอนนีและไคลด์โด่งดังขึ้นมาหลังเหตุการณ์ในเดือนมีนาคม 1933 เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกแหล่งกบดานของแก๊งในจ็อปลิน (Joblin) มิสซูรี พวกเขาสามารถหลบหนีออกไปได้ พร้อมกับฆ่าเจ้าหน้าที่ตายไปอีก 2 นาย เมื่อตรวจค้นสถานที่ เจ้าหน้าที่จึงได้พบกับบทกลอนชวนฝันของบอนนีเกี่ยวกับการผจญภัยของทั้งคู่ พร้อมกับภาพถ่ายมากมาย ทั้งภาพที่บอนนีชักปืนลูกซองหันปากกระบอกเข้าหาไคลด์ ภาพที่เธอคาบซิการ์มือข้างหนึ่งถือปืน ขาอีกข้างหนึ่งเหยียบกันชนหน้ารถ และภาพที่ไคลด์อุ้มเธอไว้ด้วยแขนข้างเดียว
เมื่อภาพเหล่านี้ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อก็ทำให้สังคม "จิ้น" ไปไกลถึงความสัมพันธ์ของคู่รักคู่นี้ ทำให้เกิดข่าวลือและความเชื่อผิด ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ว่าเขาปล้นแต่คนรวยและธนาคาร ทั้งที่ส่วนใหญ่เหยื่อของพวกเขาก็คือร้านค้าเล็ก ๆ ทั่วไป ความรักโรแมนติกและเร่าร้อนแบบหนุ่มสาว หรือภาพลักษณ์ที่ว่า บอนนีเป็นสาวแสบชอบสูบซิการ์และใช้ปืนได้อย่างแคล่วคล่อง แต่จริง ๆ เธอสูบแต่บุหรี่ และแทบมิได้ยุ่งเกี่ยวกับการใช้กำลังชิงทรัพย์โดยตรง เธอจึงไม่ใช่สาวปืนไวอย่างที่คนคิด
"พวกเขากลายเป็นฮีโรของชาวบ้านในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ ช่วงเวลาที่ความโกรธแค้นต่อธนาคารและสถาบันการเงินทำให้อาชญากรมากมาย ทั้ง จอห์น ดิลลิงเจอร์ [John Dillinger] จอร์จ (ไอ้หน้าเด็ก) เนลสัน [George (Baby Face) Nelson] และชาร์ลส์ อาร์เธอร์ (ไอ้หนุ่มหน้าหวาน) ฟลอยด์ [Charles Arthur (Pretty Boy) Floyd] เป็นที่นิยมในหมู่ประชาชน" รายงานชิ้นหนึ่งของ The New York Times กล่าวถึง บอนนี และไคลด์ กับอาชญากรร่วมสมัย
"แม้ว่าคุณจะไม่เห็นด้วยกับพวกเขา แต่คุณก็อดอิจฉาพวกเขาไม่ได้ ที่ทั้งดูดี รวย และมีความสุข" จิม ไรต์ (Jim Wright) อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งโตในเท็กซัส และโอกลาโฮมาในช่วงเวลานั้นกล่าว (Smithsonian Magazine)
จุดจบของทั้งคู่มาถึงเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 1934 เมื่อเจ้าหน้าที่ได้เบาะแสว่า ทั้งคู่จะเดินทางจากตอนล่างของ Bienville Parish ไปยังตอนเหนือของ Natchitoches Parish จึงได้ไปวางกำลังดักไว้ล่วงหน้า
"เมื่อวันที่ 13 เมษายน 1934 เจ้าหน้าที่เอฟบีไอซึ่งลงพื้นที่สืบสวนในเขตรุสตัน (Ruston) ลุยเซียนา ได้ข้อมูลที่อยู่อย่างแน่ชัดแล้วว่า บอนนีและไคลด์อยู่ในเขตห่างไกลทางตะวันตกเฉียงใต้ของชุมชนดังกล่าว บ้านของครอบครัวเมธวินส์ (Methvins) อยู่ไม่ไกลจากตรงนั้น เจ้าหน้าที่ทราบมาว่า บอนนีและไคลด์ได้มาเยือนบ้านหลังนี้ ทั้งเจ้าหน้าที่พิเศษในเท็กซัสก็ได้ข้อมูลมาอีกว่า ไคลด์และผู้ติดตามเคยได้เดินทางระหว่างเท็กซัสกับลุยเซียนา โดยบางครั้งมี เฮนรี เมธวินส์ ร่วมทางมาด้วย
“เอฟบีไอกับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในลุยเซียนาและเท็กซัสได้รวมกำลังกันเพื่อจับกุมบอนนีและไคลด์ โดยเชื่อแน่ว่าทั้งคู่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว จากนั้นจึงได้ข้อมูลอีกชิ้นว่า บอนนีและไคลด์กับสมาชิกครอบครัวเมธวินส์บางส่วนได้ร่วมกันจัดงานปาร์ตีที่แบล็กเลก (Black Lake) ลุยเซียนา ในคืนวันที่ 21 พฤษภาคม 1934 บอนนีและไคลด์เตรียมตัวที่จะเดินทางกลับในอีกสองวันต่อมา
"กำลังติดอาวุธประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจจากลุยเซียนาและเท็กซัส รวมถึงเจ้าหน้าที่เรนเจอร์เท็กซัส แฟรง เฮเมอร์ [Frank Hamer] ได้ซ่อนตัวอยู่ในพุ่มไม้ริมทางหลวงใกล้กับไซเลส (Sailes) ลุยเซียนา ก่อนพระอาทิตย์ขึ้นในวันที่ 23 พฤษภาคม 1934 บอนนีและไคลด์ปรากฏตัวในรถยนต์ตั้งแต่หัวรุ่ง ขณะที่ทั้งคู่พยายามจะหลบหนี เจ้าหน้าที่จึงได้เปิดฉากยิง บอนนีและไคลด์เสียชีวิตทันที" ตอนหนึ่งของรายงานโดยเอฟบีไอ ลงวันที่ 14 ธันวาคม 1934 (แก้ไข ตุลาคม 1983) ระบุ
ตลอดเส้นทางวิชาชีพโจรบอนนีและไคลด์ ทั้งคู่ถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการตายของเหยื่อ 13 ราย และแม้จะถูกมองว่า พวกเขาน่าจะมีรายได้ดีจากการปล้น แต่ส่วนใหญ่พวกเขาได้เงินสดเพียงไม่มาก สูงสุดคือราว 1,500 ดอลลาร์
ต่อมาในปี 1967 ได้มีการเผยแพร่ภาพยนตร์เรื่อง Bonnie and Clyde ซึ่งมีโครงเรื่องจากชีวิตของบอนนีและไคลด์ โดยได้ วอร์เรน เบต์ตี (Warren Beatty) มารับบทไคลด์ บาร์โรว์ และเฟย์ ดันนาเวย์ (Faye Dunaway) เป็น บอนนี ปาร์กเกอร์ ผลการตอบรับจากผู้ชมเป็นไปอย่างดี และนับเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม แม้จะมีเนื้อหาผิดไปจากความจริงในหลายตอนและสร้างภาพจำที่ผิดให้กับสังคม
ผู้ที่วิจารณ์ภาพยนตร์เรื่องนี้ไว้อย่างหนักหน่วงที่สุดก็คือ บอสลีย์ คราวเธอร์ (Bosley Crowther) นักวิจารณ์ภาพยนตร์จาก The New York Times ที่เห็นว่ามันเป็นภาพยนตร์ที่เชิดชูอาชญากร เขาเขียนตอบโต้ถึงเรื่องนี้อยู่หลายครั้ง และก็ให้แปลกใจที่ใคร ๆ ต่างออกมาปกป้องภาพยนตร์เรื่องนี้ ราวกับว่ามันมีคุณค่าคู่ควรกับยุคสมัย (ซึ่งพ้นจากยุคบอนนีและไคลด์มาแล้วราว 3 ทศวรรษ)
"ชัดเจนว่า มีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งก็รวมถึงนักวิจารณ์บางส่วนที่รู้สึกว่า ภาพยนตร์ที่จงใจทำให้ดูอารมณ์ดี เป็นหนังที่ว่าด้วยเรื่องราวชีวิตของอาชญากรร้ายที่ชื่อ ไคลด์ บาร์โรว์ และบอนนี ปาร์กเกอร์ ในยุคต้นทศวรรษ 1930s ได้สร้างคุณค่าอันมีความหมายบางอย่างในยุคสมัยของเรา เชื่อมโยงกับความสับสนของคู่รักโง่เง่า เด็กที่แสวงหาความตื่นเต้นด้วยการหากินโดยใช้อาวุธชิงทรัพย์ แล้วยังมารู้สึกเคียดแค้น ไม่ได้สำนึกเสียใจเมื่อผลกรรมที่ตัวเองสร้างไว้ตามทัน" คราวเธอร์กล่าว
ภาพยนตร์เรื่องนี้นอกจากจะสื่อไปในทางที่ว่า คู่รักคู่นี้ปล้นชาวบ้านโดยไม่หวังเงินทองแล้ว เรื่องราวความรักโรแมนติกของทั้งคู่ที่ถูกทำให้ดูเหมือนคู่รักชายหญิงก็ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง เพราะ ไคลด์ตัวจริงมีปัญหาเรื่องสมรรถภาพทางเพศ ทำให้เขาไม่อาจสนองความต้องการทางเพศให้กับบอนนีได้ดีนัก โจนส์ สมาชิกแก๊งอายุเพียง 17 ปี จึงถูกดึงตัวให้มาทำหน้าที่นั้นแทน
ไคลด์เองก็เอนเอียงไปทางชายรักชาย ความสัมพันธ์นี้จึงตอบโจทย์ความต้องการของทั้งบอนนีและไคลด์ได้เป็นอย่างดี แต่ผิดไปจากความคาดหมายของสาธารณะ และโจนส์เองก็มิได้พึงพอใจกับความสัมพันธ์ดังกล่าว สุดท้ายโจนส์ก็หนีออกจากแก๊งก่อนไปถูกจับและร้องขอให้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต อย่างน้อยก็จะได้หลุดพ้นจากความสัมพันธ์ที่เขาไม่ได้ปรารถนา
เมื่อถูกถามว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เชิดชูอาชญากรรึเปล่า อาร์เธอร์ เพนน์ (Arthur Penn) ผู้กำกับรีบตอบว่า "ไม่" (Arthur Penn: Does His 'Bonnie and Clyde' Glorify Crime?)
"ผมคิดว่ามันแสดงให้เห็นชีวิตที่ซอมซ่อ ความเบื่อหน่ายของคนเหล่านี้ บอนนีและไคลด์รวมไปถึงสมาชิกต้องหนีอยู่ตลอดเวลา พวกเขาไม่ได้อะไรตอบแทนที่ปกติควรจะได้จากอาชญากรรมดังกล่าว" เพนน์ตอบก่อนฉุกคิดขึ้นได้นิดหนึ่งว่าคำตอบของเขาอาจไปสร้างความชอบธรรมให้กับสองอาชญากรดังเข้าเสียแล้ว ก่อนยอมรับว่าเขาและผู้เขียนบทอาจไม่ได้ใส่รายละเอียดที่ตรงกับประวัติศาสตร์
"ในรายละเอียดย่อย ๆ อาจจะใช่ แต่ไม่ใช่ในภาพหลัก อย่างไรก็ดี เราไม่ได้สร้างสารคดี มันไม่ต่างจากที่เชกสเปียร์เขียนจดหมายเหตุประวัติศาสตร์เป็นบทละครหรอก เราก็ใส่ความโรแมนติกลงไปในจุดหนึ่งแหละ แต่มันก็เลี่ยงไม่ได้เช่นเดียวกับคนเล่าเรื่องทั้งหลายเมื่อกล่าวว่า 'จากนั้น สามเดือนต่อมา' 'ไอ้นี่ ไอ้นั่น มันเกิดขึ้น' เราไม่ได้อ้างว่าเราบอกความจริงเป๊ะ ๆ แต่เราบอกความจริงประการหนึ่ง" เพนน์กล่าวเสริม
ความนิยมของภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้เกิดกระแสปกป้องอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ (ในสมัยนั้น) ที่เห็นว่า มันเป็นภาพยนตร์เชิงวัฒนธรรมต่อต้าน ทั้งกฎหมายบ้านเมือง จริยธรรม ค่านิยมทางเพศแบบอนุรักษนิยม ทำให้ถูกจริตพวกเขาเป็นอย่างมาก นักวิจารณ์ที่วิจารณ์ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงถูกโจมตีอย่างหนัก บางรายถึงกับต้องออกมาถอนคำพูดที่ตัวเองเคยได้วิจารณ์ไว้ เพื่อรักษาที่ทางในวิชาชีพของตน
แต่คราวเธอร์ไม่ยอมถอย เขาออกมาตอบโต้แฟน ๆ ทางบ้านที่ส่งจดหมายมาวิจารณ์นักวิจารณ์ภาพยนตร์อย่างเขาอยู่หลายครั้ง ก่อนที่เขาจะต้องออกจาก The New York Times ไปในช่วงต้นปีต่อมา (1968)