read
interview
30 ม.ค. 2563 | 17:03 น.
สัมภาษณ์ ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์ ผู้กำกับ “ไกลบ้าน” ผลกระทบผู้ลี้ภัย และความสะเทือนใจผ่านแผ่นฟิล์ม
Play
Loading...
“ไกลบ้าน (Away)”
ภาพยนตร์สารคดีสั้นที่ได้รับรางวัลดุ๊ก จากเทศกาลภาพยนตร์ขนาดสั้นครั้งที่ 23 รางวัลที่มอบให้ภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมในประเทศไทย ผลงานดังกล่าวกำกับโดย
ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์
ที่ตามชีวิต
วัฒน์ วรรลยางกูร
ในฐานะผู้ลี้ภัยการเมืองที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ “ไกลบ้าน” จริง ๆ ของตัวเอง
วัฒน์กลายเป็นผู้ลี้ภัยจากการไม่สยบยอมต่ออำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ออกหมายเรียกตัวไปปรับทัศนคติหลังการทำรัฐประหารปี 2557 เขาจึงตัดสินใจเดินทางออกจากประเทศในฐานะผู้ลี้ภัยทางเมือง หนำซ้ำยังมีหมายจับฐานกระทำผิดมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลาฯ ที่มีการแสดงละคร “เจ้าสาวหมาป่า” โดยขณะนั้นเขาอาศัยอยู่ต่างประเทศเป็นที่เรียบร้อย
ประกอบกับลูกชายของวัฒน์ (
วสุ วรรลยางกูร
) เป็นคนรู้จัก เขาจึงสนใจเล่าเรื่องชีวิตของวัฒน์ และผลกระทบของครอบครัวจากกรณีนี้ The People จึงชวน จัส – ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์ มาร่วมพูดคุยถึงเส้นทางการทำสารคดี และสิ่งที่ได้หลังจากเอนด์เครดิตเรื่องนี้จบลง
The People: ทำไมคุณถึงสนใจศาสตร์ภาพยนตร์
ธีรพันธ์:
ตั้งแต่เด็ก ๆ เลยชอบดูหนังครับ รู้สึกว่าอยากทำหนังจัง แล้วก็เรียนสาขาภาพยนตร์ที่นิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เหมือนหนังเป็น priority หลักมาโดยตลอด และไม่เคยคิดว่าจะไปทำงานอื่นเลย กระทั่งเรียนจบก็พบโลกความจริงว่ามันช่างยากเหลือเกิน (หัวเราะ)
ตอนนั้นเรียนจบมาประมาณ 2 ปีแล้ว ผมอยากทำหนังมาก ๆ แต่ว่าไม่มีเงิน ไม่มีทีม ไม่มีอะไรสักอย่างเลย ก็เลยลองทำสารคดีเพราะมันลดข้อจำกัดไปได้เยอะ เราสามารถทำงานคนเดียวได้ มีกล้องตัวเดียวได้ ไม่ต้องพึ่งเงินหรือทีมงานมากนัก พอได้ทำก็ค้นพบว่า เอ้ย! สนุก ทำให้เราสนใจสารคดีมากขึ้น แล้วพื้นที่ของคนทำสารคดีในประเทศนี้ยังมีคนทำไม่ค่อยเยอะ ถ้ามีคนทำก็จะมีคอนเทนต์มากขึ้น เลยสนใจทำสารคดีมาเรื่อย ๆ
The People: ที่บอกว่าการทำหนังยากเหลือเกิน คุณเจออุปสรรคอะไร
ธีรพันธ์:
ผมรู้สึกว่ามันไม่เป็นอุตสาหกรรมหรือระบบอะไรต่าง ๆ คนรุ่นหลังเรียนจบอาจรู้ว่าตัวเองสนใจด้านไหน เช่น อยากเป็นผู้กำกับ แต่ไม่มีทางเลยที่เราจะเดินไปที่ไหนแล้วบอกว่า “ผมจะทำหนังครับ” แล้วก็ได้เงินมาทำหนังง่าย ๆ เราเข้าใจได้ในเชิงเงื่อนไข แต่ก็รู้สึกว่าพื้นที่ตรงนี้ก็หายากเหมือนกัน
The People: ภาพยนตร์เรื่องไหนที่ดูแล้วทำให้คุณอยากเป็นผู้กำกับภาพยนตร์
ธีรพันธ์:
Bad Boys II (2003) ของ
ไมเคิล เบย์ (
Michael Bay)
(หัวเราะ) ตอนเด็ก ๆ ดูแล้วชอบมาก ดูที่ห้องโสตในโรงเรียน ตอนเที่ยงเพื่อน ๆ จะเอาหนังขึ้นไปเปิดดูกัน เมื่อก่อนก็จะดูหนังแบบนี้ ทั้ง Bad Boys, Spider-Man ของ
แซม ไรมี (
Sam Raimi)
หนังที่หาดูได้ทั่วไปจริง ๆ แต่ถ้าจำฝังใจจริง ๆ ก็คือ Bad Boys II นี่แหละ
ยุคนั้นยังมีร้านเช่าแผ่นหนังอยู่ครับ เลิกเรียนผมก็จะเช่าแผ่นกลับมาดูที่บ้านทุกวัน เป็นช่วงที่ดูไปเรื่อยเลย และก็เริ่มสนใจหนัง อยากดูแล้วก็อยากทำ รู้สึกว่าการเล่าเรื่องของมันเป็นสิ่งที่น่าสนใจ
The People: จากภาพยนตร์แมส ๆ กลายมาเป็นสนใจภาพยนตร์สารคดีได้อย่างไร
ธีรพันธ์:
ตอนเรียนภาพยนตร์เป็นโอกาสดีที่ทำให้ผมเห็นว่า มันมีหนังได้หลายแบบและมีศักยภาพในมุมอื่น ๆ ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน เพราะตอนเด็กเรารู้แค่ว่าหนังต้องให้ความบันเทิง ต้องสนุกอย่างเดียว ไม่เคยเห็นมุมอื่นของภาพยนตร์นอกจากความบันเทิงเลย พอได้เจอหนังแปลก ๆ ก็รู้ว่า เฮ้ย! หนังมันทำอย่างนี้ก็ได้นี่หว่า นำเสนอแบบนี้ก็ได้ เล่าเรื่องแบบนี้ก็ได้ มันสร้างความรู้สึกหรือสื่อสารข้อความบางอย่างได้ แต่ผมก็ยังดูหนัง ไมเคิล เบย์ อยู่นะ (หัวเราะ) แค่ส่วนตัวเริ่มสนใจหนังที่เฉพาะทางมากขึ้น
ตัวอย่างสารคดีล่าสุดที่ดูแล้วชอบมาก คือ Hope Frozen (2019) ของ
ไพลิน วีเด็ล
(สารคดีที่คว้าสารคดีนานาชาติยอดเยี่ยมจากงานเทศกาลภาพยนตร์ Hot Docs ที่ประเทศแคนาดา ส่งผลให้มีสิทธิ์เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม) ผมดูแล้วรู้สึกว่า เฮ้ย! หนังสารคดีแบบนี้คืองานคราฟต์ เหมือนงานฝรั่งเลย เป็นสกิลที่หาไม่ค่อยได้จากคนไทย เราขาดความรู้ด้านสารคดีในเชิงนี้ ถึงแม้ช่วงหลังจะมีคนทำสารคดีเชิงทดลองบ้าง สารคดีคอนเซปต์แปลก ๆ บ้าง แต่ Hope Frozen เล่าเรื่องนี้ได้แบบ... โห! มันถูกคราฟต์โครงสร้างเป็นอย่างดี การคิดโครงสร้างหนังแบบนั้นผมทำไม่ได้ เพราะไม่เคยถูกฝึก ไม่เคยเรียนรู้ ก็เลยอยากมีทักษะการทำหนังแบบนั้นบ้างเหมือนกัน
The People: ไอเดียแรกของการทำสารคดี “ไกลบ้าน” คืออะไร
ธีรพันธ์:
ส่วนตัวผมสนใจและติดตามเรื่องการเมืองมาเรื่อย ๆ ครับ และตระหนักถึงประเด็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง เพราะช่วงไม่กี่ปีมานี้เราเห็นข่าวแบบนี้เกิดขึ้นบ่อย ซึ่งมันไม่มีความผิดทางกายภาพอะไรเลย มันเป็นความผิดทางความคิดการเมืองที่ทำให้เขาต้องหนี ผมรู้สึกว่า story มันค่อนข้างเศร้า เพราะชัดเจนมากว่ารัฐพยายามใช้อำนาจกดการแสดงออกและความคิดของคนไว้ด้วยการทำให้คนกลัว ทำให้คนอยู่ไม่ได้ ทำให้คนไม่มีที่ยืน มันคือการ shape สังคมให้เหลือแต่อุดมการณ์หรือความคิดในแบบที่เขาอนุญาตเท่านั้น สิ่งเหล่านี้มันค่อนข้างสะเทือนใจ
The People: คุณเข้าไปหา วัฒน์ วรรลยางกูร ได้อย่างไร
ธีรพันธ์:
ผมเป็นเพื่อนกับลูกชายของเขาครับ ซึ่งตอนแรกไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพ่อเขาคือคุณ วัฒน์ วรรลยางกูร
ต้องเกริ่นก่อนว่า ผมชอบหนัง มนต์รักทรานซิสเตอร์ (2544) ของ
เป็นเอก รัตนเรือง
มาก เป็นหนึ่งในหนังที่ชอบสุดในชีวิตเลยก็ว่าได้ ตอนนั้นผมรู้แค่ว่าคุณวัฒน์เป็นคนเขียนหนังสือ แต่ไม่รู้ว่าเขาเป็นพ่อของคนรู้จัก กระทั่งวันหนึ่งเราคุยกับเพื่อนถึงรู้ว่า เขาคือพ่อลูกกัน ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยสนใจเลย แม้กระทั่งนามสกุลที่เหมือนกัน (หัวเราะ)
พอรู้ว่าเป็นพ่อของเพื่อน ผมก็ไถ่ถามว่าคุณพ่อเป็นอย่างไรบ้าง เขาก็เล่าข้อมูลเบื้องต้นให้ฟังว่าคุณวัฒน์มีความเป็นอยู่อย่างไร ผมก็เลยรู้สึกว่ามุมนี้ค่อนข้างตรงกับสิ่งที่เราสนใจ แล้ว subject นี้ก็เป็นความผูกพันทางอ้อมมาก ๆ ทั้ง ๆ ที่ผมไม่เคยเสพงานอื่นของคุณวัฒน์เลย หนังมนต์รักทรานซิสเตอร์ ก็เป็นการเสพผ่านสื่อที่ดัดแปลงมาแล้วอีกทอดหนึ่ง แต่ผมรู้สึกผูกพันมาก ๆ ก็เลยสนใจอยากเล่าเรื่องนี้
The People: คุณเข้าหาคุณวัฒน์อย่างไร ถึงได้รับการยินยอมให้ถ่ายทอดเรื่องราวซึ่งค่อนข้างเป็นเรื่องส่วนตัว
ธีรพันธ์:
ผมถามเขาตรง ๆ ก่อนว่า ถ้าผมสนใจจะทำหนังเรื่องนี้ เขาจะโอเคไหม แน่นอน ส่วนหนึ่งผมรู้สึกกังวลว่าตัวเองจะไปรบกวนหรือวุ่นวายชีวิตส่วนตัวเขามากเกินไปหรือเปล่า ผมจึงต้องขออนุญาตก่อน โดยการบอกไอเดียคร่าว ๆ ในใจว่า อยากเล่าเรื่องนี้ จะมีปัญหาอะไรไหม ถามลูก แล้วฝากถามไปถึงคุณพ่อ ซึ่งคุณวัฒน์เขาก็ยินยอมให้ทำ แล้วผมก็แจกแจงรายละเอียดทุกอย่างที่คิดอยู่ให้เขาฟัง
The People: สารคดีแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือการสัมภาษณ์คุณวัฒน์ และลูกชายของเขา โครงสร้างนี้มีที่มาอย่างไร
ธีรพันธ์:
โครงสร้างนี้ตรงกับสิ่งที่คิดไว้ ผมอยากให้เห็นตัวคุณวัฒน์ก่อนว่าเขาใช้ชีวิตอย่างไร มีเส้นทางชีวิตแบบไหน และเขาเลือกอะไรในวันนี้ ซึ่งผมคิดว่ามันค่อนข้างสมบูรณ์ในตัวมันเอง ส่วนอีกพาร์ทหนึ่งผมต้องหาคนที่เคียงข้างเขาก็คือลูกชายของเขานั่นแหละ มุมหนึ่งคือคุยกับคุณวัฒน์ อีกมุมหนึ่งคือลูกชายของเขาที่ต้องมารับผลของการเลือกนั้นด้วย ผมรู้สึกว่ามันคือความเจ็บปวด (นิ่งคิด) ใช้คำว่า “เจ็บปวด” ไม่ได้สิ มันคือความ “เศร้า” มากกว่า ที่ชะตากรรมทำให้คนข้าง ๆ ต้องมารับผลของมันด้วย
The People: ผลลัพธ์สุดท้ายของภาพยนตร์ตรงกับสิ่งที่คุณคิดไว้ในใจ?
ธีรพันธ์:
มันตรงจนผมก็ประหลาดใจเหมือนกัน ส่วนหนึ่งผมรู้สึกว่า ทั้งเขาและผมเห็นคอนเซปต์เหมือนกัน เห็นคำว่า “บ้าน” และ “ครอบครัว” ในมิติเดียวกัน
ในฐานะคนนอก ผมรู้สึกว่าบ้านของคนคนหนึ่ง หรือครอบครัวของคนคนหนึ่งพังลงเพราะสถานะผู้ลี้ภัย ซึ่งความจริงเขาก็คงรู้สึกแบบนั้นเหมือนกัน ขณะเดียวกันบ้านเชิงกายภาพที่เป็นตัวบ้านจริง ๆ ก็ผุพัง หรือความห่างเหินของครอบครัวที่ไม่เป็นครอบครัว ต้องอยู่ห่างไกลกัน เจอกันไม่ได้ ก็เป็นความผุพังของบ้านในเชิงจิตใจ
The People: จากภาพยนตร์เราสังเกตได้ว่า บ้านในหนังมีหลากหลายมิติมาก เช่น บ้านที่เป็นตัวบ้านจริง ๆ ทั้งบ้านริมบึงที่เป็นสถานที่ลี้ภัย บ้านเดิมในจังหวัดกาญจนบุรี การตั้งชื่อ Home in the sky ของกลุ่มไลน์ครอบครัว และรวมไปถึงบ้านที่หมายถึง “ประเทศ” ด้วยหรือเปล่า
ธีรพันธ์:
ใช่ ผมก็เชื่อว่าคุณวัฒน์ชัดเจนประมาณหนึ่งว่าเขาคิดถึงบ้านใบนั้น แต่ถ้าบ้านไม่ได้เป็นบ้านที่ทำให้เขารู้สึกปลอดภัยหรือมีความสุข เขาก็ไม่อยากจะอยู่หรอก มันเป็นความรู้สึกแบบหวาน ๆ ขม ๆ ปน ๆ กันไป อยากอยู่นะ แต่ถ้าบ้านยังเป็นอย่างนั้นจะอยู่ได้ยังไง ผมมองเห็นมิตินั้นที่สะท้อนออกมาเหมือนกัน
ตอนแรกมิตินี้ผมไม่ได้ตั้งใจ มันเป็นมุมที่ขยายออกมา คือตอนแรกผมตั้งใจพูดในมุมที่ปัจเจกมาก ๆ แต่นั่นคือผลพลอยได้ที่ทำให้เราเห็นมิติอื่นของบ้าน ของชีวิต และชะตากรรมเขาด้วย ความตั้งใจแรกคืออยากพูดถึงแค่ความรู้สึกคิดถึงบ้าน แค่นั้นเลย
The People: หมายถึงคิดถึงตัวบ้านจริง ๆ ที่จังหวัดกาญจนบุรี?
ธีรพันธ์:
ใช่ ๆ มิติคิดถึงบ้าน แล้วก็ลูกที่คิดถึงพ่อ ในใจผมมีไอเดียเท่านี้ ไม่คิดว่าจะต้องเห็นถึงภาพใหญ่ขนาดนั้น แต่โชคดีที่หนังมันสร้างให้เห็นมิตินี้โผล่ขึ้นมา จึงกลายเป็นมิติที่เสริมเรื่องราวไปอีกจุดหนึ่ง ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องดีที่เกิดขึ้น
The People: การเข้าไปเจอคุณวัฒน์ในวันนั้น คุณสังเกตได้ว่าเขาเป็นอย่างไรบ้าง ยังเป็นนักต่อสู้ทางการเมืองที่แข็งแกร่งเหมือนในอดีตหรือเปล่า
ธีรพันธ์:
เขาค่อนข้างชัดเจนและเข้มแข็งในความคิดตัวเองมาก ซึ่งผมว่าจะเป็นสิ่งที่คงอยู่กับเขาตลอดไป ในการยืนหยัดต่อความเชื่อหรือความคิดตัวเอง แต่ช่วงที่ผมไปเจอเขาเป็นช่วงเวลาที่เขาคงเหนื่อยเหมือนกัน แถมช่วงนั้นอากาศก็ไม่ดี ฝนตกตลอดเวลา ทำให้บรรยากาศมันซึมมาก และความที่เขาเป็นนักเขียน เวลาอยู่กับบรรยากาศซึม ๆ ทำให้เขาดูไม่สดชื่นเท่าไหร่ ผมจึงสัมผัสได้ถึงความเหนื่อยอ่อนของเขาเหมือนกัน
The People: การได้คุยกับเขา ทำให้คุณตกผลึกทางความคิดอะไรไหม
ธีรพันธ์:
(นิ่งคิด) คงไม่เชิงตกผลึกครับ แต่ว่ามันทำให้เห็นมิติที่ไกลตัวเรามาก ๆ คือคุณวัฒน์มีชีวิตคาบเกี่ยวกับปัญหาทางการเมืองมาตั้งแต่เด็ก สิ่งเหล่านี้เราได้แต่เคยได้ยินหรือได้อ่านเท่านั้น และเราก็มีโอกาสน้อย หรือน้อยคนที่จะมีโอกาสได้คุยกับใครสักคนหนึ่งที่เขาเคลื่อนไหวทางการเมืองมาตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ซึ่งมันเป็นภาพใหญ่แต่ก็ไม่เชิงถึงกับตกผลึก เพียงแต่ช่วยสะท้อนให้เราได้เห็นมิติบางอย่างของวังวนทางการเมือง ที่กินเวลายาวนานกว่าที่เรานึกออกในช่วงเวลาของเรา
The People: การได้คุยกับลูกชายซึ่งก็คือเพื่อนของคุณเอง ทำให้คุณได้รู้จักเพื่อนในมิติอื่นมากขึ้นไหม
ธีรพันธ์:
ปกติแล้วผมก็จะถามไถ่เขาบ้าง แต่ไม่เคยคุยลึก ๆ จริง ๆ จัง ๆ ครับ การได้คุยในหนังทำให้ผมได้เห็นถึงพาร์ทที่ค่อนข้างส่วนตัวมาก เพราะไม่ใช่พาร์ทที่อยู่ ๆ ใครจะได้ฟัง เป็นอีกมุมหนึ่งที่ไม่ค่อยได้เห็นจากตัวเขาเหมือนกัน
The People: “ ไกลบ้าน” ต้องการจะบอกอะไรกับคนดู
ธีรพันธ์:
ผมอยากเล่าปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมา เพราะเรามักไม่ค่อยเห็นคนเป็นคนเท่าไหร่ เรามักจะเห็นแต่ความขัดแย้ง ความขาว ความดำ ความดี ความชั่ว ผมรู้สึกว่า เฮ้ย! เรามองข้ามความเป็นคนมากเกินไป
ผมไม่ได้อยากเล่าความยิ่งใหญ่ชีวิตของคน แต่เลือกเล่าในมุมที่เขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งหรือใครสักคนใกล้ตัวที่สามารถจับต้องได้ ให้คนดูเห็นแล้วเกิดการตั้งคำถามกับตัวเองว่า เขาโอเคกับสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้จริง ๆ หรือ เขาเห็นมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องเจอกับชะตากรรมแบบนี้ เจอกับเรื่องราวแบบนี้ แล้วเขารู้สึกอย่างไรกันแน่
The People: เท่าที่สังเกต ภาพยนตร์สารคดีมักหยิบยกประเด็นหนัก ๆ เช่น ประเด็นทางการเมืองมานำเสนออยู่บ่อยครั้ง ทำไมผู้กำกับถึงชอบใช้สารคดีเป็นเครื่องมือในการเล่าเรื่องหนัก ๆ มากกว่าการสร้างภาพยนตร์ทั่วไป (Feature Films)
ธีรพันธ์:
พอเราได้เห็นข้อมูลที่เป็น fact บางทีมันช็อกกว่าว่า “จริงหรือ” เพราะเราเห็นโลกของเรื่องแต่งมาเยอะแล้ว ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นอะไรกับเรื่องแต่งแล้ว เราได้เห็นทุก ๆ อย่างที่คนจะจินตนาการได้แล้ว แต่เวลาเราเล่าด้วยสารคดีมันเกิด effect ที่รุนแรงกว่า มันจับต้องได้จริง อยู่ตรงหน้าเรา และจะสร้างความรู้สึกบางอย่างให้คนดู เพราะเขากำลังได้เห็นสิ่งที่ไม่ได้ปรุงแต่ง ไม่ได้ถูกเซ็ตอัพขึ้นมา ไม่ได้แต่งเติมปรุงรสอะไร แต่คือเรื่องจริง
The People: นั่นคือพลังของสารคดี?
ธีรพันธ์:
ใช่ครับ แต่ไม่ใช่ว่าสารคดีทุกเรื่องจะเป็น fact ทั้งหมด สารคดีมี opinions บางอย่างอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเรากำลังเอาข้อเท็จจริงมาฉายให้คุณได้เห็นว่า มีข้อเท็จจริงแบบนี้อยู่
The People: ขณะเดียวกันในประเทศไทยมีข้อจำกัดในการฉายภาพยนตร์สั้นหรือสารคดีสั้นอยู่ มันส่งผลอย่างไรกับภาพยนตร์ของคุณบ้าง
ธีรพันธ์:
ก่อนหน้านี้ผมเคยทำหนังสั้นเกี่ยวกับการเมืองบ้าง เป็นเชิงทดลองที่เล่นกับความสนใจตัวเอง ซึ่งผมพบว่ามันถูกนำไปฉายได้ยาก เพราะความยาวและรูปแบบวิธีการนำเสนอที่มันกีดกันตัวเองสู่สายตาคนอื่น ผมก็เลยคิดว่า เรามีความสนใจของตัวเอง แต่ไม่ได้อยากพูดกับเราแค่คนเดียวแล้ว เริ่มอยากจะพูดให้คนอื่นฟังด้วย ผมก็เลยทำให้เรื่องนี้สั้นลง ความตั้งใจแรกคือคอยหาที่ฉายให้มันไปเรื่อย ๆ ท้ายที่สุดอาจปล่อยฉายออนไลน์ก็ได้
The People: เคยเจอผู้ชมที่ความคิดเห็นไม่ตรงกับประเด็นที่เราอยากนำเสนอไหม
ธีรพันธ์:
หากมีพื้นที่ที่เราพร้อมจะพูดคุยกัน ก็คุยกันได้ เพราะก่อนหน้าที่ผมจะมีความเชื่อแบบปัจจุบัน ผมก็เคยมีความเชื่ออีกแบบหนึ่งมาก่อน แล้วผมมาถึงวันนี้ได้ก็เพราะยอมที่จะคุยกับคนอื่น ยอมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนอื่น
บางที fact ที่เรารับรู้มันจำกัดอยู่แค่ข้อมูลในแวดวงของตัวเอง เป็น fact ชิ้นเดียวในจิ๊กซอว์ภาพใหญ่ fact ของเราอาจเป็นความจริงเล็ก ๆ เท่านั้น แต่ยังมีความจริงที่ใหญ่กว่านั้นอีกมากมายครับ พอได้คุยกันก็จะช่วยให้เราเห็นภาพรวมที่ใหญ่กว่า ถ้าเขาไม่ชอบหนังแล้วมาคุยกัน ก็ยังมีความเป็นไปได้ไง แต่ถ้าเขาไม่ชอบด้วยอารมณ์ ก็ยากที่จะคุย
The People: ในภาพยนตร์ คุณวัฒน์นิยามตัวเองว่าเป็นรุ่น lost generation แล้วคุณคิดว่าตัวเองเป็นคนรุ่นอะไร
ธีรพันธ์:
คงไม่ใช่แค่รุ่นเขาด้วยแหละ แต่คือรุ่นของเราด้วย ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราทุกคนเป็นรุ่น lost generation ที่กินเวลายาวนานมาก ๆ เพราะสภาพแวดล้อมทางการเมืองไม่ได้เติบโตขึ้นเลย ผ่านไป 10 ปี สิ่งเหล่านี้ก็ยังอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้หายไปไหน เราเคยเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงและความขัดแย้งหนัก ๆ มาแล้ว แต่เราก็ยังจะมุ่งหน้าไปสู่ทางนั้นอีกรอบอยู่ดี สิ่งนี้สำคัญมากว่าเราไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย หรืออาจจะเรียนรู้ แต่ไม่สามารถหลุดพ้นจากวัฏจักรของเรื่องนี้เลย
ผมได้คุยกับเด็กรุ่นใหม่บ้าง ก็เจอความรู้สึกว่าเขาก็สิ้นหวังในอนาคตหลังเรียนจบที่จะต้องทำงานในประเทศแบบนี้ ต้องเลี้ยงชีพให้ได้ในประเทศแบบนี้ หรือรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในประเทศนี้ มันถูกลบไปจากความหวังของคนรุ่นใหม่หมดเลย
ผมว่าเรายังไม่ได้พ้นรุ่น lost generation แต่เราอาจจะเป็นความ lost ในอีกแบบหนึ่ง คือ lost กันคนละมุมกับคนรุ่นคุณวัฒน์ แต่ก็คือการ lost เหมือนกัน
เอาง่าย ๆ แค่ตัวผมเองยังจินตนาการไม่ได้ว่า 20 ปีข้างหน้าชีวิตของผมจะเป็นยังไงถ้ายังอยู่อย่างไม่มั่นคงในประเทศนี้ หรือ 20 ปีข้างหน้าเราจะเห็นประเทศเติบโตไหม ผมยังนึกภาพไม่ออกเหมือนกัน
The People: กำลังจะถามเลยว่า หลังจากสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้คุณมีความหวังหรือสิ้นหวังมากกว่ากัน แต่เหมือนคุณได้ตอบคำถามนี้ไปแล้ว?
ธีรพันธ์:
ใช่ ถ้าต้องตอบ ส่วนตัวก็ค่อนข้างสิ้นหวัง แต่ผมอาจจะเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายก็ได้ เพียงแต่ปัญหาที่ผมได้เห็นมาตั้งแต่ยังอยู่ ม.ปลาย ทุกวันนี้ก็ยังคงอยู่ เรายังไม่เคยคุยเรื่องอื่นกันเลยนอกจากเรื่องเดิม ๆ นับตั้งแต่ปี 49 ถึงปี 63 ซึ่งก็ 10 กว่าปีแล้ว นี่ผมใช้เวลาแค่ครึ่งเดียวในชีวิตกับการจมอยู่กับความขัดแย้ง ปัจจุบันผมสอนหนังสือเด็กมหา’ลัยที่ห่างกับผม 7-8 ปี เท่ากับว่าเด็กสมัยนี้อยู่กับปัญหาทางการเมืองเกือบทั้งชีวิต ผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่มากที่ทั้งชีวิตคนคนหนึ่งเติบโตมาก็เห็นแต่บรรยากาศทางการเมืองแบบนี้ บทสนทนาหรือการโต้เถียงทางการเมืองแบบนี้ ผมไม่เข้าใจว่าคนเราจะจินตนาการชีวิตตัวเองที่ดีกว่านี้ได้ยังไง ในเมื่อเราคุยกันแต่เรื่องที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 49 อยู่เลย
The People: แล้วสำหรับคนรุ่นใหม่ล่ะ คุณมีความหวังมากน้อยแค่ไหน
ธีรพันธ์:
ผมมีความหวังกับคนรุ่นใหม่อยู่แล้ว คนรุ่นใหม่ฉลาดกว่าคนรุ่นผมเยอะ ผมว่าโลกมันเร็วขึ้น เขาสามารถเข้าถึงข้อมูลหรือว่าสิ่งต่าง ๆ ได้มากกว่าคนรุ่นผม เขาสามารถมีกระบวนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โต้เถียง สร้างตัวตน หรือสร้างมุมมองของตัวเองได้เร็วกว่าคนรุ่นผม ผมห่วงแค่ว่า ความหวังของเขาพาเขาไปเจอกับอะไร เพราะความหวังของผมเองก็พาไปเจอกับความผิดหวังครั้งใหญ่เหมือนกัน
The People: การได้รับรางวัลดุ๊ก จากเทศกาลภาพยนตร์ขนาดสั้นครั้งที่ 23 ส่งผลอะไรกับคุณบ้าง
ธีรพันธ์:
ช่วยทำให้ผมกล้าพูดกับคนอื่นว่า “ผมเป็นคนทำหนัง” (หัวเราะ) จากที่ไม่กล้า ก็ทำให้ผมมั่นใจมากขึ้นว่า เราเป็นคนทำหนังนะ (ยิ้ม)
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3556
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6975
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
871
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Interview
The People
วัฒน์ วรรลยางกูร
Teeraphan Ngowjeenanan
Away
ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์
ไกลบ้าน