30 ม.ค. 2563 | 18:32 น.
เซบาสเทียวและไลเลีย ภรรยา
การเดินทางบ่อยครั้งนั่นเอง ทำให้เซบาสเทียวมีโอกาสได้ใช้กล้องบันทึกภาพผู้คนและสังคมที่เขาพานพบ นั่นเองทำให้เขาเริ่มจุดประกายในใจว่า จริง ๆ ชีวิตของเขาอาจจะเหมาะกับการเป็นช่างภาพมากกว่า เซบาสเทียวเลือกไม่ผิด สิ่งที่ค่อย ๆ สะสมเป็นตัวเขาเอง ทำให้เขากลายเป็นช่างภาพที่มี “ลายเซ็น” เฉพาะตัว เซบาสเทียวเคยพูดบนเวที Ted Talk เมื่อปี 2013 ว่า มีคนมองว่าเขาเป็นช่างภาพเชิงข่าว เขาเป็นช่างภาพที่เป็นนักเคลื่อนไหวสังคม บางคนก็ว่าเขาเป็นช่างภาพที่มีความเป็นนักมานุษยวิทยา แต่เขาบอกว่า เขาเป็นช่างภาพที่มีมากกว่านั้น ซึ่งหากพิจารณางานของเซบาสเทียวแล้ว เราจะเห็นความมีเสน่ห์ มีมนต์ขลัง ทรงพลัง และไร้กาลเวลา อย่างเช่น ภาพคนจำนวนหลายร้อยคนทำงานในเหมืองแร่ทองคำที่ Serra Pelada ที่บราซิล ที่อารมณ์ของภาพถูกชวนให้ตีความอย่างหลากหลาย ทั้งชวนให้นึกถึงภาพของอารยธรรมโบราณ ไปไกลจนถึงการจินตนาการว่าเป็นภาพนรก แม้ว่าภาพนี้จะถูกถ่ายมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980s หรือเมื่อ 30 ปีที่แล้วก็ตาม (งานชุดนี้เคยจัดแสดงที่ประเทศไทยเมื่อปี 2017 จัดโดยสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์) ภาพถ่ายอีกชุดหนึ่งที่กระทบความรู้สึกของผู้ชมและตัวเซบาสเทียวเอง ก็คือ ภาพที่เขาถ่ายบันทึกเหตุการณ์ที่ผู้คนอพยพหนีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่รวันดาในปี 1994 ซึ่งทำให้มีคนตายร่วมล้านคน การทำงานที่รวันดาในครั้งนั้น คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เซบาสเทียวอยากกลับบราซิลบ้านเกิด เพื่อปลูกป่า พาจิตวิญญาณกลับบ้านมาปลูกป่า งานถ่ายภาพที่เจาะลึกถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ทำให้เขาเหนื่อยกับการเห็นคนตาย เห็นความสูญเสียจำนวนมากมาย ความรู้สึกนี้กระทบต่อจิตใจของเขาแล้วลามมาสู่ร่างกาย เหมือนกับว่าเขาป่วยไข้ แต่หาสาเหตุไม่พบ เพราะมันเกิดจากหัวใจที่อ่อนล้าของเขาเอง หลังเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่รวันดา จากที่เดินทางรอบโลก เซบาสเทียวขอหยุดพัก แล้วเดินทางไปค้นหาคำตอบบางอย่างที่บ้านเกิดของเขาเอง... สิ่งที่เขาเห็นที่บ้านเกิดในบราซิล ช่างต่างจากอดีตที่เขาเติบโตมา ขณะที่ประเทศบราซิลพัฒนาจนถึงขีดสุด แต่ป่าไม้ในประเทศถูกทำลายไปจำนวนมากมาย บ้านเกิดของเซบาสเทียวก็เช่นเดียวกัน อดีตเต็มไปด้วยป่าดงดิบ ปัจจุบันเหลือแต่เขาหัวโล้น แต่ท่ามกลางความสิ้นหวังในการฟื้นฟูพื้นที่ป่า เขากับไลเลียกลับมีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่าจะสามารถฟื้นฟูป่านี้ให้กลับมาสมบูรณ์อย่างที่เคยเป็นได้ “แผ่นดินนี้กำลังป่วยเหมือนที่ผมเคยเป็น ทุกสิ่งทุกอย่างถูกทำลาย” เซบาสเทียวให้สัมภาษณ์กับ The Guardian เมื่อปี 2015 “มีเพียงแค่ 0.5% ของแผ่นดินเท่านั้นที่มีต้นไม้ปกคลุม ดังนั้นภรรยาของผมจึงมีความคิดอันเหลือเชื่อในการปลูกป่าขึ้นมาใหม่ และเมื่อพวกเราลงมือปลูกป่ากัน แมลง นก และปลาทั้งหมดก็กลับคืนมาขอบคุณที่ต้นไม้ในที่ที่ผมเกิดมามันเพิ่มขึ้น นี่เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด” ในปี 1998 เซบาสเทียวและไลเลียก่อตั้งองค์กร Instituto Terra ขึ้น องค์กรนี้ปลูกต้นกล้านับล้านต้นเพื่อไปปลูก และนำผืนป่ากลับคืนมาจากความตาย ผ่านไป 20 กว่าปี องค์กรของเขาปลูกต้นไม้ไปร่วม 2 ล้านต้น สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ก็คือ สัตว์ป่ากลับคืนสู่ป่า เราได้ยินเสียงนกร้องทั่วป่า มีการสำรวจป่า พบว่าทุกสิ่งทุกอย่างกลับคืนมา พบนก 172 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 33 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 15 ชนิด สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 15 ชนิด และต้นไม้ 293 ชนิด ระบบนิเวศเริ่มกลับคืนมาเรื่อย ๆ จากเขาหัวโล้น สู่พื้นที่ป่าที่สมบูรณ์ใน 20 ปี โครงการนี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนจำนวนมาก เป็นตัวอย่างเชิงรูปธรรมที่แสดงให้เห็นว่า ทัศนคติที่ถูกต้องทำให้สภาพแวดล้อมที่ดีกลับคืนมาอย่างรวดเร็วได้อย่างไร วันนี้ เซบาสเทียว ซาลกาโด อายุ 75 ปี และ ไลเลีย วานิค ซาลกาโด อายุ 72 ปี แน่นอนว่า นอกจากที่เขาจะรักษาจิตวิญญาณที่เข้มแข็งให้กลับคืนมาจากการปลูกป่าแล้ว สิ่งดี ๆ ที่เขาทั้งสองทำให้กับโลกในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา สำหรับคนรุ่นหลัง คงไม่มีอะไรเกินเลยหากจะกล่าวคำว่า “ขอบคุณ” ให้กับคุณปู่คุณย่าทั้งสองท่านนี้ . ที่มา https://www.boredpanda.com/brazilian-couple-recreated-forest-sebastiao-leila-salgado-reforestation/?utm_source=google&utm_medium=organic&utm_campaign=organic https://metro.co.uk/2019/05/04/couple-create-new-rainforest-by-planting-2000000-trees-over-20-years-9412376/ https://www.youtube.com/watch?v=qH4GAXXH29s https://www.kfw.de/stories/society/people/photographer-sebastiao-salgado/ http://povmagazine.com/articles/view/the-pov-interview-sebastiaeo-salgado