พาเมลา โคลแมน สมิธ ศิลปินหญิงผู้ออกแบบไพ่ทาโรต์ฉบับยอดนิยม

พาเมลา โคลแมน สมิธ ศิลปินหญิงผู้ออกแบบไพ่ทาโรต์ฉบับยอดนิยม
การทำนายทายทักเป็นของเก่าแก่ควบคู่กับอารยธรรมมนุษย์ทั่วโลก ไพ่ทาโรต์ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมกัน แม้ไพ่ทาโรต์จะเป็นเกมกีฬามานานแล้วในยุโรป โดยได้อิทธิพลจากกลุ่มชาติพันธุ์โรมานี (Romani) หรือที่เรียกกันอย่างลำลองว่ายิปซี (Gypsy) เพราะเข้าใจว่ามาจากประเทศอียิปต์ (ปัจจุบัน ไม่ควรเรียกกลุ่มชาติพันธุ์นี้ว่าชาวยิปซีอีกแล้ว) แต่ไพ่ทาโรต์เริ่มเป็นที่นิยมใช้ทำนายทายทักกันในทวีปยุโรปก็เมื่อล่วงเข้าศตวรรษที่ 19 ปัจจุบัน ไพ่ทาโรต์มีหลายสำรับ หลายรูปแบบ เช่น ไพ่ทาโรต์แมว ไพ่ทาโรต์เกย์ เป็นต้น แต่ที่ทุกคนพบเห็นบ่อย ๆ นั้นถือกำเนิดในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และเรียกกันว่า สำรับสากลไรเดอร์เวท (Universal Rider-Waite) หรือบางที่จะเรียกว่า ไพ่ไรเดอร์เวทสมิธ (Rider-Waite-Smith) ซึ่ง ‘ไรเดอร์’ เป็นชื่อสำนักพิมพ์ที่ อาร์เธอร์ เอ็ดเวิร์ด เวท (Arthur Edward Waite) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิญญาณนิยมพิมพ์หนังสือและได้พิมพ์ไพ่ทาโรต์ชุดนี้ด้วย ส่วน ‘สมิธ’ คือ พาเมลา โคลแมน สมิธ (Pamela Colman Smith) ผู้ศึกษาไพ่ทาโรต์สำรับโบราณ ร่วมออกแบบกับเวท และวาดภาพไพ่ทาโรต์ยอดนิยมอย่างที่เราเห็นและใช้กันทุกวันนี้นั่นเอง ณ ยุโรป ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ความสนใจเรื่องจิตวิญญาณกำลังขยายตัวจนเกิดสมาคมศึกษาปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ ไพ่ทาโรต์ก็ได้รับความนิยมอย่างมาก สมาคมเหล่านี้ผสมผสานความเชื่อทั้งตะวันตกและตะวันออก และทำกิจกรรมทางจิตวิญญาณร่วมกันเพื่อทำความเข้าใจโลกนอกเหนือจากประสาทสัมผัส กิจกรรมในสมาคมเหล่านี้รวมการอ่านสัญลักษณ์จากไพ่ทาโรต์ด้วย สมาคมสำคัญแห่งหนึ่งซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของไพ่ทาโรต์สำรับยอดนิยมที่เรารู้จักกันดีนั้นชื่อ สมาคมเฮอร์เมสอรุณทอง (Hermetic Order of the Golden Dawn) หรือสมาคมอรุณทอง (The Golden Dawn) ซึ่งตั้งขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ในสหราชอาณาจักร สมาคมนี้ต่างจากสมาคมศึกษาเวทมนตร์อื่น ๆ ตรงที่ปฏิบัติต่อหญิงชายเท่าเทียมกัน ผู้หญิงและผู้ชายมีสิทธิ์เข้าถึงองค์ความรู้ได้ไม่ต่างกัน สมาคมนี้จึงดึงดูดผู้หญิงซึ่งไม่อาจหาความรู้จากมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ได้ (เพราะไม่ให้ผู้หญิงเรียน) นักเขียนชื่อดังหลายคนก็ได้เข้าร่วมสมาคมนี้ เช่น แบรม สโตเกอร์ (Bram Stoker) ผู้ประพันธ์นวนิยายเรื่องแดรกคูลา วิลเลียม บัทเลอร์ เยทส์ (William Butler Yeats) กวีไอริชผู้สนใจสิ่งเหนือธรรมชาติ ภายหลัง อาร์เธอร์ เอ็ดเวิร์ด เวท (Arthur Edward Waite หรือ A. E. Waite) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจิตวิญญาณและสิ่งลี้ลับ ซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่ง ได้ถอนตัวออกจากสมาคมเพื่อตั้งสมาคมใหม่ และออกแบบไพ่ทาโรต์ชุดใหม่ โดยได้เลือก พาเมลา โคลแมน สมิธ ศิลปินผู้เป็นที่รักของเพื่อนฝูงมาเป็นเพื่อนร่วมงาน พาเมลา โคลแมน สมิธ เป็นลูกครึ่งจาไมกา-อเมริกัน เกิดที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ใน ค.ศ. 1878 ต่อมาได้เติบโตที่คิงสตัน เมืองหลวงของจาไมกา เธอเติบโตมากับพี่เลี้ยงเชื้อสายอโฟร-แคริบเบียน (Afro-Caribbean) ผู้ชอบเล่านิทานต่าง ๆ ให้ฟัง (จนภายหลังสมิธนำมาเขียนรวมเล่มใช้ชื่อว่า Annancy Stories) จากนั้นครอบครัวก็ส่งเธอไปเรียนต่อด้านศิลปะที่สถาบันแพรทท์ (Pratt Institute) ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา หลังจากแม่ของสมิธเสียชีวิต เธอได้ลาออกจากสถาบันทั้ง ๆ ที่ยังเรียนไม่จบ จนได้มาพบกับ แบรม สโตเกอร์ ผู้เขียนแดรกคูลา และผู้จัดการโรงละครไลเซียม (Lyceum) สโตเกอร์เห็นความสามารถทางศิลปะของสมิธ จึงชวนมาทำงานเป็นคนออกแบบฉากและสูจิบัตร สมิธได้ออกเดินทางไปยังจังหวัดต่าง ๆ กับคณะละครเพื่อนำละครไปจัดแสดงทั่วอังกฤษ ยังไม่ทันจะกลับมาถึงลอนดอน เธอก็ได้ทราบข่าวว่าพ่อของเธอเสียชีวิตแล้ว สมิธนั้นโชคดีที่เมื่อขาดพ่อแม่ไปแล้วนั้น ยังมีชาวละครที่โรงละครไลเซียมเห็นเธอเป็นเหมือนสมาชิกอีกคนหนึ่งในครอบครัวละคร เอลเล็น แทร์รี (Ellen Terry) นักแสดงหญิงรุ่นใหญ่แถวหน้าในยุคนี้ ก็ยินดีดูแลเธอเหมือนลูกสาวอีกคน ความรักละคร ศิลปะ และการเล่าเรื่องของสมิธ ทำให้เธอได้พบเจอคนในแวดวงเดียวกันมากมาย เธอมักเปิดบ้านต้อนรับเพื่อนศิลปิน และได้รับเชิญไปงานเลี้ยงต่าง ๆ เพราะเธอเล่าเรื่องเก่ง ภายหลังสมิธได้สร้างโรงละครจิ๋วและตุ๊กตาตัวเล็ก ๆ เพื่อใช้ประกอบการเล่าเรื่องด้วย ความสามารถนี้ทำให้เธอได้รับเชิญไปงานเลี้ยงต่าง ๆ เช่น งานเลี้ยงวันสิ้นปีที่บ้านของ มาร์ค ทเวน (Mark Twain) ผู้เขียนทอม ซอว์เยอร์ (Tom Sawyer) และ ฮัคเคิลเบอรี ฟินน์ (Huckleberry Finn) สมิธทั้งร้องเพลง เล่นละคร เล่านิทานจาไมกา สร้างความบันเทิงให้แก่ผู้ชมมากมาย ภายหลังเธอได้วาดภาพประกอบให้หนังสือรวมกลอนของกวีชื่อดังอย่าง วิลเลียม บัทเลอร์ เยทส์ ซึ่งเยทส์นี่เองที่พาสมิธเข้าไปเป็นสมาชิกของสมาคมอรุณทอง และนำเธอไปพบกับ เอ. อี. เวท นักเขียนด้านไสยศาสตร์ผู้โด่งดังในยุคนั้น และเวทก็ได้ชวนเธอออกแบบไพ่ทาโรต์ในเวลาต่อมา ขณะที่เวทตีความสัญลักษณ์ของไพ่และเขียนความหมายลงในคู่มือประกอบไพ่ สมิธได้ใช้สิทธิ์ของสมาชิกห้องสมุดบริเตน (British Library) ซึ่งในสมัยนั้นอยู่ในพิพิธภัณฑ์บริเตน (British Museum) ลอกภาพไพ่ทาโรต์สำรับที่เรียกกันว่า สำรับโซลาบุสกา (Sola Busca) ซึ่งเป็นสำรับที่เก่าแก่ที่สุด สร้างขึ้นปลายศตวรรษที่ 15 ในอิตาลี ก่อนจะกล่าวว่าสำรับโซลาบุสกามีจุดเด่นอย่างไร คงต้องอธิบายสำหรับผู้ไม่รู้จักไพ่ทาโรต์ก่อนว่า ไพ่ทาโรต์ส่วนใหญ่จะแบ่งเป็นสองชุด ชุดแรกเรียกว่า ชุดใหญ่ (Major Arcana แปลได้ว่าความลับใหญ่) และชุดสองเรียกว่า ชุดเล็ก (Minor Arcana แปลได้ว่าความลับเล็ก) ชุดใหญ่นั้นมีลักษณะเป็นตัวละคร มีทั้งหมด 22 ใบ เริ่มจากหมายเลขศูนย์ คนโง่ (The Fool) จนถึงหมายเลขยี่สิบเอ็ด โลก (The World) ส่วนชุดเล็กมีสี่สัญลักษณ์ย่อยคือ ดาบ (sword) เหรียญ (pentacles) ไม้เท้า (wands) และถ้วย (cups) ทั้งสี่สัญลักษณ์มีหมายเลขประกอบตั้งแต่หนึ่งถึงสิบ ก่อนจะปิดท้ายด้วยคนรับใช้ (Page) อัศวิน (Knight) ราชินี (Queen) และราชา (King) รวม 56 ใบ ไพ่ทาโรต์เคยใช้เป็นของเล่นและเครื่องมือทำนาย สัญลักษณ์ทั้งหลายในชุดเล็ก อันได้แก่ดาบ เหรียญ ไม้เท้า และถ้วย ได้กลายเป็น โพดำ ข้าวหลามตัด ดอกจิก โพแดง ไพ่อัศวินถูกตัดออก ส่วนไพ่อัศวินกลายเป็นไพ่แจ็ค (Jack) ในสำรับไพ่ซึ่งนิยมเล่นกันในปัจจุบัน ส่วนตัวละครตัวเดียวจากไพ่ชุดใหญ่ที่ยังหลงเหลือคือ คนโง่ ซึ่งกลายร่างเป็นโจ๊กเกอร์ (Joker) จุดเด่นสองประการของไพ่โซลาบุสกา ซึ่งทำให้เวทและสมิธเลือกใช้เป็นต้นแบบ แถมยังเข้ากับตัวตนของสมิธอย่างมากคือ ประการแรก ไพ่โซลาบุสกาเลือกใช้บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์และพระคัมภีร์ไบเบิล เพื่อเล่าการล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน มาเป็นตัวละคร เช่น พระเจ้าเนบูคัดเนสซาร์ (Nebuchadnezzar) กษัตริย์แห่งบาบิโลน เป็นต้นแบบของไพ่โลก เป็นต้น ประการที่สอง ไพ่โซลาบุสกาต่างจากสำรับอื่นในยุคใกล้เคียงกันที่มักจะเล่าเรื่องในไพ่ชุดเล็กด้วย ปกติแล้ว ในไพ่สำรับโบราณในศตวรรษที่ 15-16 ในอิตาลีนั้น มักจะนำสิ่งของที่เป็นสัญลักษณ์มาเรียงกันเฉย ๆ เช่น ไพ่แปดเหรียญจะมีลักษณะเป็นเหรียญแปดเหรียญเรียงกัน ขณะที่ฉบับโซลาบุสกามีเรื่องราวประกอบเพื่ออธิบายความหมาย ไพ่แปดเหรียญของสำรับนี้จึงเป็นรูปผู้ชายสร้างบ้าน บนหลังคามีเหรียญแปดเหรียญ ซึ่งสมิธได้ลอกและดัดแปลงลักษณะสำคัญสองลักษณะนี้ให้เข้ากับนิสัยช่างเล่าและความรักละครของเธอ ทำให้เธอสร้างไพ่จากต้นแบบและแทรกลักษณะของละครเข้าไปในภาพ (เช่นภาพพื้นหลังของภาพสิบดาบเหมือนม่านละคร) สมิธเป็นที่รู้จักมากมายในวงการศิลปะสมัยนั้น จนได้จัดแสดงงานศิลปะของตัวเองที่หอศิลป์ของ อาร์เธอร์ สตีกลิทซ์ (Arthur Stieglitz) ช่างภาพดังในนิวยอร์กถึงสองครั้ง ได้รับการสนับสนุนจาก จอร์เจีย โอคีฟ (Georgia O’Keeffe) ศิลปินอเมริกันชื่อดัง ภรรยาของสตีกลิทซ์จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต แม้สมิธจะโด่งดัง แต่ผลงานของเธอกลับไม่ค่อยทำเงิน รวมถึงผลงานการออกแบบไพ่สำรับนี้ก็ยังไม่เป็นที่นิยมหรือเป็นที่รู้จักในวงกว้างในยุคที่เธอยังมีชีวิต สมิธเสียชีวิตโดยแทบไม่มีเงินเหลือใน ค.ศ. 1951 ผู้เขียนหวังว่า นอกจากความหมายของไพ่ทาโรต์ที่คุณได้อ่านเพื่อตรวจดวงชะตาครั้งหน้าแล้ว คุณจะได้เห็นรอยยิ้มของผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเคยเป็นสีสันของโลกศิลปะตะวันตกด้วย   เรื่อง: มิ่ง ปัญหา *มิ่ง ปัญหา สนใจประวัติศาสตร์สหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศในยุคที่สังคมต่อต้าน