โรเจอร์ ดีกินส์ จากยอดตากล้องผู้ชวดออสการ์ 13 ครั้งแรก สู่ผู้ชนะ 2 ครั้งซ้อน
ก่อนถึงงานประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 92 ใคร ๆ ก็คาดการณ์ว่า 1917 หนังสงครามโลกครั้งที่ 1 ของผู้กำกับ แซม เมนเดส (Sam Mendes) คือตัวเต็งในสาขาใหญ่อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยม เพราะกวาดรางวัลมาแทบทุกสถาบันจนไม่น่าพลิกล็อคได้แล้ว แต่เมื่อประกาศผลจริง กลายเป็นว่าโดนหนังเกาหลี Parasite แย่งรางวัลไปจนหมด ในแง่หนึ่งมันลงเอยด้วยการเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ของวงการบันเทิงเกาหลีใต้และฮอลลีวูด แต่สำหรับกองเชียร์ 1917 (และอาจรวมถึงผู้สร้าง) มันคือวันแห่งความชอกช้ำระกำใจ
แต่หากจะมีอะไรที่ 1917 ยังภาคภูมิใจได้อยู่บ้างก็เห็นจะเป็นการคว้ารางวัลสาขากำกับภาพยอดเยี่ยมไปครอง โดยเจ้าของรางวัลไม่ใช่ใครที่ไหน เขาคือยอดตากล้องหนุ่มใหญ่วัย 70 ปี โรเจอร์ ดีกินส์ (Roger Deakins) ซึ่งมอบผลงานด้านภาพอันไร้ที่ติด้วยการถ่าย ลองเทค (Long Take) เกือบทั้งเรื่องและแทบไม่มีการตัดต่อ (จริง ๆ แล้วหนังตัดต่อเยอะมาก แต่ถูกพรางไว้ด้วยงานเทคนิคอันแนบเนียนของ ลี สมิธ (Lee Smith) ผู้ลำดับภาพ)
เกียรติยศดังกล่าวถือเป็นเรื่องน่ายินดีของดีกินส์ ในยุคสมัยหนึ่งเขาได้รับการจดจำจากสถิติว่าเป็นผู้แพ้ที่ยิ่งใหญ่ เพราะไม่เคยชนะรางวัลออสการ์เลยจากการเข้าชิงในสาขากำกับภาพ 13 ครั้งแรก หนังแต่ละเรื่องที่เขาทำคืองานระดับคลาสสิก ไล่ตั้งแต่ The Shawshank Redemption (1994), Fargo (1996), The Assassination of Jesse James by the Coward Robert Ford (2007), No Country for Old Men (2007), True Grit (2010), Skyfall (2012), Prisoners (2013) และ Sicario (2015) เป็นต้น จนกระทั่งการเข้าชิงครั้งที่ 14 จาก Blade Runner 2049 (2017) ส่งให้เขาไปถึงฝั่งฝันสำเร็จ และกลายเป็นว่าพอเขาคว้าตัวแรกมาได้ปุ๊บก็ไฟลุก กวาดรางวัลได้ต่อเนื่อง 2 เรื่องติด
สำหรับ 1917 ปฏิเสธไม่ได้ว่างานภาพคือสิ่งที่อุ้มชูหนังเอาไว้ทั้งเรื่อง แต่กว่าจะออกมาแบบนี้ ดีกินส์ต้องเผชิญกับโจทย์ที่ยากและท้าทาย ที่ผ่านมาเขามักจะถ่ายหนังแต่ละเรื่องให้เห็นถึงความสวยงามและน่าตื่นตะลึงของภาพ ส่วนเรื่องนี้อาจไม่ต้องการขายความสวยงามเท่าไหร่ในเมื่อเป็นหนังสงครามอันหดหู่ เล่าเรื่องราวของการฆ่าฟันกันของมนุษยชาติ แต่เมื่อถึงเวลาต้องสวย เขาก็ถ่ายทอดออกมาได้สวยขนาดเอาตาย
อีกโจทย์หลักคือการถ่ายทำแบบลองเทค หากเปรียบเทียบชื่อชั้นแล้ว ดีกินส์ไม่ได้มีชื่อด้านนี้มากเมื่อเทียบกับเจ้าของ 3 รางวัลออสการ์อย่าง เอมมานูเอล ลูบิซกี (Emmanuel Lubezki) จาก Gravity (2013), Birdman (2014) และ The Revenant (2015) แต่ขึ้นชื่อว่ายอดผู้กำกับภาพ ผู้มากประสบการณ์และความสามารถ เขาก็ถ่ายทอดทุกอย่างออกมาได้ตามแผน
ดีกินส์เล่าว่า สิ่งที่ยากและท้าทายที่สุดคือการหาสมดุลของแต่ละช็อตให้เจอ เขาเก็บรายละเอียดในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจเกิดความผิดพลาดจนต้องถ่ายใหม่ เขาจะถามตัวเองตลอดเวลาว่า “กล้องจะอยู่ข้างหลัง (ตัวละครเอก) ตลอดเวลาไหม? จะจับภาพใบหน้าพวกเขาถี่แค่ไหน? การจับภาพตัวละครเดินลัดเลาะในสนามเพลาะแบบนี้จะอึดอัดเกินไปไหม?” และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งหากปราศจากการวางแผนที่ดี ขาดการซักซ้อมจนพร้อม และขาดความร่วมมือจากฝ่ายอื่น ๆ หนังคงไม่ออกมาสมบูรณ์ดังที่เป็นอยู่
ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจหากผู้กำกับหลายคนจะชอบร่วมงานกับเขา เพราะเขาคือนักแก้ปัญหา ช่วยให้งานที่ยากผ่านไปได้อย่างง่ายดาย เขากลายเป็นตากล้องคู่บุญของ 2 พี่น้อง โจล (Joel) และ อีธาน โคเอน (Ethan Cohen) ทำหนังร่วมกันถึง 12 ครั้งนับตั้งแต่เรื่องแรก Barton Fink (1991) จนถึง Hail, Caesar! (2016) เขายังทำหนังกับ เดนีส์ วิลเนิฟ (Denis Villeneuve) 3 เรื่อง และ แซม เมนเดส อีก 4 เรื่อง รวมทั้ง 1917 ดีกินส์อาจไม่ใช่คนพูดมาก แต่เขาใช้ภาษาภาพในการสื่อสารอย่างโดดเด่น “ถ้าเกิดสิ่งที่ทำออกมาดี เราก็แค่มองตากัน ยกนิ้วโป้งให้กันแค่นั้น มันให้ความรู้สึกที่ดีจริง ๆ” เมนเดสกล่าว
ตลอดอาชีพของดีกินส์ เขาอาจได้รับเครดิตและคำชื่นชมเป็นประจำ แต่เวลาไปรับรางวัลเขาจะอึดอัดเสมอเมื่อต้องขึ้นไปบนเวทีคนเดียว เพราะตามปกติเขามักอยู่ในกองถ่ายกับทีมงานจำนวนมาก หนังจะออกมาดีได้ไม่ใช่เพราะใครคนเดียว ต่อให้งานภาพของดีกินส์จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในหนัง แต่เขาจะให้เครดิตกับเพื่อนร่วมงานเสมอ
คนแรกที่เขาจะเอ่ยถึงทุกครั้งคือ อิซาเบลลา เจมส์ เพียวฟอย เอลลิส (Isabella James Purefoy Ellis) หรือ เจมส์ ภรรยาและเพื่อนทำงานผู้อยู่เคียงข้างกันมาตั้งแต่ปี 1991 เขายังยกย่องคนในทีมกล้องว่ารางวัลที่เขาได้รับถือเป็นรางวัลของทุกคนด้วย ดังเช่นในการรับรางวัลออสการ์ครั้งล่าสุดที่เขาชื่นชมผู้ช่วยส่วนตัว “มันเป็นรางวัลของผู้ช่วยและเป็นคนหมุนโฟกัส (Focus Puller) ประจำตัวผม แอนดี แฮริส (Andy Harris) ด้วย ซึ่งนั่งอยู่ตรงไหนสักที่ข้างบน (เขาแหงนหน้าขึ้นมองคนที่นั่งอยู่ชั้นบน ๆ ตลอดการพูดขอบคุณ) เขาคือมือฉมังด้านนี้ คุณจะไม่รู้ว่าเขาทำงานอะไร จนกว่าเขาจะทำพลาด ซึ่งเขาไม่เคยพลาด” จากนั้นยังไล่รายชื่อคนอีกสารพัดที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ และแสงสปอตไลท์ไม่เคยส่องไปถึง แต่ตัวเขาเองจดจำได้
ไม่ใช่แค่ในฝ่ายตัวเอง แต่ดีกินส์ยังพิถีพิถันในการใช้เวลากับฝ่ายอื่น ๆ ด้วย เพราะทุกส่วนของหนังมีความสำคัญกับงานด้านภาพหมด “ผมชอบทำงานร่วมกับฝ่ายโลเคชัน ชอบพูดคุยเรื่องสถานที่ถ่ายทำ เพราะไม่มีอะไรจะแย่ไปกว่าการมากองถ่ายแล้วเจอฉากที่หน้าต่างอยู่สูงเกินไป และต้องมานั่งคิดว่าจะแพนกล้องยังไงดี เพราะดันมีกำแพงขวางอยู่ตรงนั้น ผมไม่เคยตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว เพราะผมใช้เวลาเตรียมตัวและเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานทุกอย่างตั้งแต่เริ่มเสมอ”
หากมองย้อนกลับไป ดีกินส์คงไม่คิดว่าสักวันหนึ่งเขาจะมาถึงจุดนี้ วันที่เขากลายเป็นเจ้าของ 2 รางวัลออสการ์ จากเด็กตัวเล็ก ๆ เติบโตมาในครอบครัวที่มีคุณพ่อเป็นช่างก่อสร้าง ถึงจะชอบดูหนัง แต่ไม่ได้มีความใฝ่ฝันว่าจะประกอบเป็นอาชีพ อย่างที่เขาเคยบอกว่า “ผมไม่เคยคิดว่าอยากเป็นนักทำหนังด้วยซ้ำ แต่ผมรู้ว่าผมไม่อยากเป็นช่างก่อสร้างแน่ ๆ” เวลาต่อมา เขาก็เริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นตากล้องหนังสารคดี (“ตอนเริ่มเรียนที่ National Film School ผมต้องถ่ายและทำหนังสารคดี และต้องถ่ายหนังเหล่านี้อยู่นานหลายปี ผมแปลกใจเหมือนกันที่ได้มาถ่ายหนังเล่าเรื่องบ้าง”)
เขายังผ่านวันเวลาที่เทคโนโลยียังไม่ทันสมัย เปลี่ยนจากการถ่ายหนังด้วยฟิล์มไปใช้กล้องดิจิทัล ซึ่งเขาก็ไม่ขัดขืนกับสิ่งใหม่ ๆ “ผมชอบถ่ายหนังด้วยฟิล์มนะ แต่เราก็ต้องมูฟออน” นั่นทำให้ทุกวันนี้เขาสามารถถ่ายทำหนังทั้ง 2 รูปแบบได้อย่างไร้ที่ติ และประยุกต์เอาข้อดีของกล้องแต่ละชนิดมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด “วิธีการทำงานกับกล้องและเลนส์ไม่ได้เปลี่ยนไป เรายังต้องทำงานกับแสงและการเคลื่อนกล้อง เพื่อให้คนดูเข้าถึงทัศนียภาพของเรื่องราว”
เขายังผ่านช่วงเวลาโดนดูถูก โดนปรามาส เขาอาจโดนล้อเสมอว่าเป็นตากล้องไร้ออสการ์ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่เขาเอามาใส่ใจเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับอีกเรื่องในช่วงแรก ๆ ของอาชีพ
“ผมจะบอกให้ฟังว่าคำแนะนำที่แย่ที่สุดที่เคยได้รับคืออะไร มันเป็นตอนที่ผมจบจากโรงเรียนหนัง ตอนนั้นมีโปรดิวเซอร์คนใหญ่โตคนนึงบอกผมว่า ‘คนอย่างแกไม่มีวันไปรอด (ในหน้าที่นี้) หรอก ถ้าเป็นฉันนะ ฉันจะไปเป็นผู้ช่วยส่วนตัว ทำงานที่สำนักข่าวบีบีซีในพลีมัธแทน’ แต่ 6 ปีหลังจากนั้น ผมถ่ายหนังเรื่องนึงที่เขาเป็นโปรดิวเซอร์ ผมจะไม่เอ่ยชื่อเขาออกมาหรอก”
หากตัวเขาเองต้องเป็นฝ่ายให้คำแนะนำบ้างล่ะ? ดีกินส์ตอบว่าการทำในสิ่งที่ชอบนั่นแหละคือสิ่งที่ดีที่สุด “ผมจะยึดติดกับการทำสิ่งที่ผมมีอารมณ์ร่วมบางอย่างด้วย ผมคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก นั่นคือคำแนะนำที่ผมจะบอกกับนักเรียนหรือคนรุ่นใหม่ที่อยากเป็นผู้กำกับภาพเสมอ”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการได้ทำในสิ่งที่ชอบ ทำให้ดีกินส์กลายเป็นดีกินส์ในทุกวันนี้ แม้ว่าเขาจะเปลี่ยนจากราชันไร้มงกุฎ กลายเป็นตากล้อง 2 ออสการ์ไปแล้ว แต่เขาก็ยังสนุกกับการทำหนัง สนุกกับการกำกับภาพสุดล้ำ สวยงาม และน่าทึ่งจนลืมหายใจเช่นเคย และตราบใดที่ยังมีผู้กำกับไว้วางใจในตัวเขา เขาก็จะไม่หยุดสร้างสรรค์ผลงานดี ๆ ออกมา
เห็นอย่างนี้ใครจะไปรู้ว่า อีกราว 2 ปีข้างหน้า เขาจะอาจจะกลับมาคว้ารางวัลออสการ์ตัวที่ 3 ก็เป็นได้
เรื่องโดย: ปารณพัฒน์ แอนุ้ย
ที่มา
https://www.interviewmagazine.com/film/roger-deakins
https://www.indiewire.com/2018/03/roger-deakins-cinematoraphy-philosophy-arri-100-years-1201933108/
https://www.cinema5d.com/roger-deakins-breaks-awardwinning-cinematography-career/
https://www.imdb.com/name/nm0005683/
https://www.cinema5d.com/1917-dp-roger-deakins/
https://variety.com/2017/artisans/awards/blade-runner-2049-roger-deakins-interview-1202579857/
https://twitter.com/TheAcademy/status/1226703787944894464?s=20
https://www.youtube.com/watch?v=3B2LcltRAt4
https://www.slashfilm.com/1917-sam-mendes-interview/
https://www.nytimes.com/2020/01/29/movies/1917-roger-deakins.html