เจสซี เฮล์มส ผู้เสนอ กม. บุก "เฮก" ชิงตัวทหารอเมริกันหากถูกจับขึ้นศาล ICC 

เจสซี เฮล์มส ผู้เสนอ กม. บุก "เฮก" ชิงตัวทหารอเมริกันหากถูกจับขึ้นศาล ICC 
"ประเทศนี้กำลังทำสงครามกับการก่อการร้าย และทหารนับหมื่นในกองทัพก็กำลังเสี่ยงชีวิตในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก เตรียมรับสงครามนี้ นี่คือผู้กล้าหาญทั้งชายหญิงที่ไม่เกรงกลัวที่จะเผชิญหน้าผู้ก่อการร้ายอันชั่วร้าย และพร้อมที่จะเสี่ยงชีวิตเพื่อปกป้องและรักษาไว้ซึ่งความมหัศจรรย์แห่งอเมริกา" เจสซี เฮล์มส (Jesse Helms หนึ่งในคณะกรรมาธิการด้านกิจการการต่างประเทศแห่งวุฒิสภาสหรัฐฯ เกริ่นนำเมื่อคราวเสนอแก้กฎหมายต่อวุฒิสภา เมื่อวันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 2011 อันเป็นที่มาของกฎหมายซึ่งถูกตั้งฉายาว่า "บัญญัติว่าด้วยการรุกรานเฮก" เมืองสำคัญในเนเธอร์แลนด์ ที่ตั้งของศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court-ICC) "ท่านประธานครับ และนั่นก็คือเหตุผลว่า ทำไมผมซึ่งเป็นหนึ่งในเพื่อนร่วมชาติของพวกเขา ถึงต้องออกมายืนยันว่า ผู้กล้าเหล่านี้ที่พร้อมจะสละชีวิตเพื่อปกป้องชาติและประชาชนไม่ควรต้องเผชิญหน้ากับการถูกดำเนินคดีโดยศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งต่อไปนี้จะขอเรียกว่า ศาลจิงโจ้ระหว่างประเทศแทน ศาลแห่งนี้จะมีอำนาจก็ต่อเมื่อมี 22 ประเทศขึ้นไปให้สัตยาบันในสนธิสัญญาโรม  "ท่านประธานครับ  แทนที่จะช่วยสหรัฐฯ ตามจับผู้ก่อการร้าย และอาชญากรสงครามตัวจริง ศาลอาญาระหว่างประเทศมีอำนาจที่ไม่มีขอบเขตที่จะคุกคามเจ้าหน้าที่ทหารและพลเรือนอื่น ๆ ของเราด้วยการดำเนินคดีกำมะลอที่แฝงเร้นด้วยการเมือง องค์การสหประชาชาติที่ถูกสร้างขึ้นมาคล้ายกันก็เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่านี่คือสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ "และเมื่อต้นปีนี้เอง สหรัฐฯ ก็เพิ่งจะโดนเตะโด่งออกจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ทั้งที่เป็นประเทศที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนมากที่สุดในโลก ท่ามกลางเสียงโห่ร้องยินดีของเผด็จการทั่วผืนแผ่นดิน" เฮล์มส วุฒิสมาชิกจากพรรครีพับลิกันให้เหตุผลที่เขาต่อต้านศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC (รวมถึงสหประชาชาติ และองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ ด้วยจุดยืนแบบนักอนุรักษนิยมที่ไม่เอาสังคมโลก พูดง่าย ๆ ว่า "อเมริกาต้องมาก่อน" เหมือนนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน) จากข้อมูลของ Britannica ศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นองค์กรตุลาการถาวรที่ก่อตั้งขึ้นโดยธรรมนูญกรุงโรม สำหรับศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งตั้งขึ้นตั้งแต่การประชุมในกรุงโรมเมื่อปี 1998 แต่มีผลในเชิงบังคับก็เมื่อปี 2002 หลังมีประเทศให้สัตยาบันครบ 60 ประเทศตามเงื่อนไขในธรรมนูญ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เฮก วัตถุประสงค์สำคัญขององค์กรก็เพื่อทำหน้าที่ดำเนินคดีต่อบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าก่อคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ คดีอาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ  นี่นับเป็นครั้งแรกที่โลกมีองค์กรตุลาการถาวรเช่นนี้ เพราะที่ผ่านมามีแต่องค์กรตุลาการ "เฉพาะกิจ" ที่ตั้งขึ้นมาพิจารณาคดีเป็นคราว ๆ ไปเท่านั้น และถูกตั้งเป้าว่าจะเป็นเครื่องมือสุดท้ายที่จะใช้ในการเอาผิดกับอาชญากรร้ายที่องค์กรตุลาการระดับชาติเกิดง่อยเปลี้ยเอาผิดกับอาชญากรร้ายที่มักเป็นผู้ถืออำนาจรัฐเองไม่ได้  ข้อสำคัญที่แตกต่างจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice-ICJ) คือ ICJ จะดูเรื่องความขัดแย้งระหว่างรัฐ ขณะที่ ICC มีเป้าหมายในการเอาผิดกับตัว "บุคคล" โดยมีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นหลังวันที่ 1 กรกฎาคม 2002 ในความผิดที่เกิดขึ้นในรัฐที่ให้สัตยาบัน หรือโดยบุคคลใดที่เป็นบุคคลในบังคับของรัฐนั้น  ตัวอย่างเช่น รัฐ ก. ให้สัตยาบัน แต่รัฐ ข. มิได้ให้สัตยาบัน นายเอ เป็นคนของรัฐ ก. นายเอ ไปก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติในรัฐ ข. เช่นนี้ แม้รัฐ ข. จะมิได้ให้สัตยาบัน นายเอก็ถูกเอาผิดต่อศาล ICC ได้ หรือ นายบี เป็นคนของรัฐ ข. ที่มิได้ให้สัตยาบัน แต่นายบี ไปก่ออาชญากรรมในรัฐ ก. ที่ให้สัตยาบัน นายบี ก็ถูกเอาผิดต่อศาล ICC ได้เช่นกัน แต่ถ้า นายบีก่ออาชญากรรมในรัฐ ข. เช่นนี้ ICC ย่อมเอาผิดกับนายบีไม่ได้ ธรรมนูญกรุงโรมได้รับการยกย่องเป็นอย่างมากจากประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก โดยปัจจุบันมีประเทศสมาชิก 122 ประเทศ (ICC) ซึ่งไทยเองก็เคยลงนามไว้ แต่สุดท้ายกลับมิได้ให้สัตยาบัน เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ซึ่งมูลเหตุก็พอคาดเดาได้ สหรัฐฯ ถือเป็นประเทศที่ส่งกำลังติดอาวุธไป “ป้องกัน” ประเทศตัวเองถึงต่างแดนอยู่บ่อยครั้ง (ตามข้ออ้างของสหรัฐฯ แต่ถ้าเป็นประเทศที่ถูกยกกำลังเข้ามา ย่อมเห็นว่าเป็นการ “รุกราน”) หรือใช้ จ้างวาน สนับสนุนกลุ่มติดอาวุธท้องถิ่นก่อความรุนแรงในรัฐนั้น (อุซามะฮ์ บิน ลาดิน อดีตผู้นำอัลกออิดะฮ์ก็เคยเป็นเอเยนต์ทำงานให้สหรัฐฯ ต่อต้านโซเวียตในอัฟกานิสถานมาก่อน ก่อนที่ประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายจะขัดกันเอง)  โดยเฉพาะในเวลาที่ ICC กำลังจะหยั่งรากนั้น สหรัฐฯ เพิ่งเผชิญกับเหตุการณ์ 911 (ปี 2001) และรัฐบาลของ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ก็ตั้งท่าที่จะ “แก้แค้น” กลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์ และตั้งท่าหาเรื่องรุกรานอิรักอยู่พอดี ก่อนที่จะบุกจริงในปี 2003 ด้วยข้ออ้างสำคัญว่า อิรักครอบครองอาวุธร้าย แต่พอยึดอิรักได้กลับหาอาวุธที่ว่าไม่เจอเสียอย่างนั้น ทั้งยังเป็นการรุกรานโดยไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และนำไปสู่วิกฤตด้านมนุษยธรรมครั้งใหญ่ ทำให้เจ้าหน้าที่ทางการทหารของสหรัฐฯ มีความเสี่ยงสูงอย่างยิ่งที่จะถูกดำเนินคดีในศาล ICC (ส่วนไทยที่ไม่กล้าให้สัตยาบัน ทั้งที่มีเสียงเรียกร้องจากชนชั้นนำบางส่วนที่ต้องการเห็น “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ถูกจับตัวขึ้นดำเนินคดีในศาลนี้จากนโยบายทำสงครามกับยาเสพติด ก็คงเป็นเพราะความเสี่ยงที่ผู้นำยุค “โพสต์ทักษิณ” ซึ่งพัวพันกับการปราบปรามประชาชนจะโดนเล่นงานเอาเสียเอง) ด้วยเหตุนี้เอง เฮล์มสจึงเสนอกฎหมายให้ “แบน” การร่วมมือกับ ICC ทุกกรณี รวมถึงการเอาเงินภาษีไปอุดหนุน (สหรัฐฯ มักเป็นสปอนเซอร์ให้องค์กรระหว่างประเทศเสมอ) และแลกเปลี่ยนข้อมูลในชั้นความลับ ให้จำกัดบทบาทของสหรัฐฯ ในภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ นอกเสียจากว่า ทหารสหรัฐฯ จะได้รับความคุ้มกันจากการดำเนินคดีโดย ICC และห้ามสหรัฐฯ ให้ความร่วมมือกับพันธมิตร เว้นแต่พันธมิตรรายดังกล่าวจะมีข้อตกลงกับสหรัฐฯ ว่าจะไม่ส่งตัวทหารสหรัฐฯ ให้กับ ICC และที่สำคัญ เฮล์มสเสนอด้วยว่า ควรให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีในการดำเนินการใด ๆ เพื่อปลดปล่อยทหารสหรัฐฯ ให้เป็นอิสระจากการถูกส่งตัวไปดำเนินคดีที่ ICC  สุดท้ายข้อเสนอของเขาซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ก็ได้รับการตอบรับจากรัฐสภา โดยคำว่า “การดำเนินการใด ๆ" นั้น มีข้อยกเว้นแค่การให้สินบน หรือเสนอประโยชน์จูงใจใด ๆ เพื่อให้ปล่อยตัวคนในบังคับของสหรัฐฯ เท่านั้น การใช้กำลังแย่งชิงตัวจำเลยสัญชาติสหรัฐฯ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งตามกฎหมายนี้ (American Servicemembers Protection Act of 2002)  มันจึงเป็นที่มาของฉายา "บัญญัติว่าด้วยการรุกรานเฮก" เจสซี เฮล์มส ผู้เสนอกฎหมายฉบับดังกล่าว เกิดเมื่อปี 1921 เสียชีวิตปี 2008 เป็นลูกของสารวัตรตำรวจในมอนโร นอร์ธแคโรไลนา เคยทำงานเป็นผู้คัดเลือกทหารให้กับกองทัพเรือสหรัฐฯ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนมาทำงานด้านสื่อ แล้วก้าวไปทำงานการเมือง เบื้องต้นเขาเป็น "เดโมแครต" แต่ด้วยความที่เขาต่อต้านกฎหมายสิทธิพลเมือง (1964) อย่างหนัก (มันเป็นกฎหมายที่ให้สิทธิทางการเมืองต่อพลเมืองทุกคนทุกสีผิวอย่างเท่าเทียม ห้ามการเลือกปฏิบัติและแบ่งแยกโดยเชื้อชาติ ซึ่งนับเป็นชัยชนะสำคัญของคนผิวดำเพื่อสิทธิที่พึงมีโดยกำเนิด) ทำให้เฮล์มสตัดสินใจย้ายข้างไปอยู่ฝั่งรีพับลิกัน ก่อนได้ดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกต่อเนื่อง 5 สมัย (1973 ถึง 2003) เฮล์มสคือนักอนุรักษนิยมสายแข็งที่ต่อต้านมาตรการส่งเสริมความเท่าเทียมทั้งหลายของฝ่ายซ้าย นอกจากจะต่อต้านกฎหมายสิทธิพลเมืองแล้ว เขายังต่อต้านการทำแท้ง ต่อต้านการใช้รถรับส่งนักเรียนที่ให้เด็กผิวขาวและผิวดำนั่งด้วยกัน ต่อต้านการรักเพศเดียวกัน ต่อต้านการประกันสังคม ต่อต้านการอุดหนุนงบประมาณเพื่อการต่อต้านและรักษาผู้ติดเชื้อ HIV โดยชี้ว่ามันเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน การที่เขาไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมใด ๆ เลย จึงทำให้เขาได้รับฉายาว่า "Senator No"   แต่ในช่วงปลายอาชีพการเมืองของเฮล์มส เขาไปสนิทสนมกับ "โบโน" นักร้องนำของวง U2 และโบโนก็ช่วยเปลี่ยนใจเขาในเรื่องผู้ป่วยโรคเอดส์ได้ ทำให้เฮล์มสหันมาให้การสนับสนุนร่างกฎหมายที่เสนอให้ความช่วยเหลือกับผู้ป่วยเอดส์ในแอฟริกา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการติดเชื้อสูงมาก และส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อผ่านเพศสัมพันธ์ของคู่ชายหญิง