20 ก.พ. 2563 | 17:23 น.
“วันที่เวียนเปลี่ยน วันที่เลยผ่าน รักคงมั่น เราไม่เคยห่าง เคียงคู่ชิดใกล้ ทุกเวลา ยอมทิ้งความฝัน ยอมทุก ๆ อย่าง ให้กันและกัน เพียงได้เคียงข้าง เพียงได้ร่วมทาง โอ้รักนิรันดร์”
นี่คือท่อนแรก ๆ ในเพลงขึ้นหิ้งของวง Pause อย่าง ‘ที่ว่าง’ เนื้อร้องที่เปี่ยมไปด้วยศิลปะงการถ่ายทอดของ เอ-พลกฤษณ์ วิริยานุภาพ มือกีตาร์ของวงที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากกวีบทหนึ่งของ คาลิล ยิบราน ในหนังสือ The Prophet ที่ถูกนำมากลั่นกรองจนกลายเป็นหนึ่งในเพลงสุดอมตะของวงการ และแน่นอนด้วยเสียงอันทรงเสน่ห์ของ โจ้-อัมรินทร์ เหลืองบริบูรณ์ นักร้องนำ ก็ยิ่งทำให้ Pause ได้รับการจดจำยิ่งขึ้น
ทว่าหลังออกอัลบั้มชุดที่สาม Mild ในปี 2542 ได้ไม่นาน โจ้ผู้เป็นกระบอกเสียงของวงก็เสียชีวิตลง สถานการณ์ที่ Pause ต้องสูญเสียนักร้องนำไปอย่างไม่มีทางกลับ ทำให้สมาชิกที่เหลืออีก 3 คนต้องแยกย้ายเดินหน้าไปตามทางของตัวเอง เอ มือกีตาร์ของวงมีโอกาสไปโปรดิวซ์และร่วมเป็นหนึ่งในวงเพื่อชีวิตของ ฮิวโก้-จุลจักร จักรพงษ์ ส่วน นอ-นรเทพ มาแสง มือเบส ก็ประสบความสำเร็จและมีช่วงเวลาที่ดีกับวง Crescendo ส่วน บอส-นิรุจ เดชบุญ แม้จะหันหลังให้วงการเพลง แต่ก็กลับมาจับไม้กลองอีกครั้ง และร่วมแจมกับนอในช่วงท้าย ๆ ของ Crescendo
“คงยากที่ใครจะมาแทนที่เสียงของโจ้” คือคำพูดที่ติดอยู่ในใจของทุกคน โดยเฉพาะ สมาชิกทั้ง 3 ที่ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ จากการสูญเสียครั้งนั้น แม้ Pause อยากจะกลับมาสร้างสรรค์เพลงอีกครั้ง แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะนำความรู้สึกเก่า ๆ เหล่านั้นกลับมาภายใต้ความคาดหวังมหาศาล แต่แล้วในปี 2559 พวกเขาก็ได้ค้นพบเสียงที่จะเป็นตัวแทนของ Pause อีกครั้ง จากชายที่ชื่อ เฟ้นท์-ประภาพ ตันเจริญ
The People คุยกับ Pause หลากหลายประเด็น เช่น การเดินหน้าต่อไปในวันที่ไร้ “โจ้” อีกทั้งเรื่องผลกระทบที่ได้รับจากแรงเสียดทานต่าง ๆ รวมถึงผลงานเพลงยุคใหม่ภายใต้เสียงร้องของเฟ้นท์ แต่ทั้งหลายทั้งปวงพวกเขายืนยันว่านี่คือโอกาสสำหรับวันต่อไปของพวกเขา
The People: ย้อนกลับไปในช่วงที่ Pause และ เบเกอรี่ มิวสิค ได้จุดประกาย, ปฏิวัติวงการเพลงไทย บรรยากาศตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง
นอ: ผมยกความดีความชอบให้เบเกอรี่ มิวสิค เราคงไม่ได้ปฏิวัติดนตรีอะไรหรอก เราก็เป็นแค่วงนักศึกษา 4 คนทำเพลงในแบบที่เราอยากทำ มันขึ้นอยู่ที่ค่ายเพลงมากกว่า มีคนทำได้ดีกว่าเรา ไม่ว่าจะเป็น โมเดิร์นด็อก, โจอี้บอย หรือใคร ๆ ที่อยู่ในค่ายเพลง เราเป็นแค่ศิลปินเล็ก ๆ ที่อยู่ในค่ายนั้น ผมว่ามันเป็นเรื่องสนุก เพราะตอนนั้นพวกเราก็ยังอายุ 20 ต้น ๆ กันเอง แถมได้ทำตามวิชาชีพที่ได้เรียนมา เพราะถ้านับดูเปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่สมัยก่อนจนถึงปัจจุบัน จะมีนักศึกษาดนตรีสักกี่คนที่ได้ทำอาชีพดนตรีจริง ๆ ตอนนั้นเราถือว่าสังคมให้โอกาสเราได้ทำดนตรีแบบที่เราอยากทำจริง ๆ แค่นั้นก็มีความสุขมาก ๆ แล้ว
[caption id="attachment_19799" align="aligncenter" width="960"] นอ[/caption]The People: สมัยนั้นอาชีพศิลปินถือเป็นอาชีพ “ไส้แห้ง” เทียบกับสมัยนี้แล้วเป็นอย่างไร
นอ: โหสมัยนั้นก็ต้องต่อสู้อย่างนี้แหละแต่ว่าเราก็ต้องดื้อด้วยส่วนหนึ่งคือเราเอาจริงเอาจังครับแต่เราก็รู้ว่าเราทำอะไรได้ดีที่สุดในชีวิตส่วนหนึ่งผมก็ห่วงตัวเองมากกว่าที่จะไปเละเทะคือพ่อแม่เองก็คงจะสังเกตเห็นว่าเราทำได้ดีด้วยแล้วก็ไม่ได้เละเทะจริงๆส่วนเรื่องผลตอบแทนผมว่าณตอนนั้นเราเด็กเกินกว่าจะมาคิดเรื่องพรรค์นี้เราทำได้ดีที่สุดสังคมให้โอกาสเราก็ทำไปตามหน้าที่ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพแล้วมันก็มีผลตอบแทนให้เราเราก็ทำได้ดีในระดับหนึ่ง
ณปัจจุบันผมไปทำงานกับเด็กๆหลายคนได้เห็นมุมมองที่เปลี่ยนไปในสังคมคนรุ่นใหม่สามารถทำเป็นอาชีพได้จริงๆเป็นช่องทางในการทำมาหากินได้ช่องทางหนึ่งถ้าทำได้ดีหรือว่ามีโอกาสจริงๆก็ร่ำรวยได้ไม่แพ้อาชีพอื่นแต่ท้ายสุดผมมองว่าความมั่นคงในอาชีพขึ้นอยู่ที่คนทำอาชีพนั้นมากกว่าไม่ว่าจะอาชีพอะไรก็แล้วแต่
The People: Pause หยุดวงไปประมาณ 14 ปี นับตั้งแต่ “โจ้” เสียชีวิต เคยคิดไหมว่าจะได้กลับมาทำเพลงอีกครั้ง
นอ: ไม่เลย คือมันคอนโทรลไม่ได้ครับ ณ ปัจจุบันก็คอนโทรลไม่ได้ ก็รู้สึกว่าโอกาสนี่แหละสำคัญ อยู่ดี ๆ เราจะบอกว่าวง Pause กลับมาแล้ว ถึงแม้เราสามคนจะกลับมาจริง ๆ ก็เถอะ จะมีคนฟังหรือเปล่า เราไม่มีพรีเซนเตอร์ เราเป็นแค่นักดนตรีสามคน เราก็รู้ตัว คือทุกคนชื่นชอบเสียงพี่โจ้ สามคนนี้ไม่เกี่ยว
จริงๆเราก็ทำมาด้วยกันนั่นแหละรู้ดีว่าคนที่จะมาร้องแทนโจ้ต้องทนแรงเสียดทานคนมองในทางลบก่อนแน่นอนไม่ว่าจะอะไรดีไม่ดีก็แล้วแต่เฟ้นท์มาตอนแรกก็เหมือนกันเขามาปรึกษาผมก็บอกว่าคนก็พูดไปแต่คนที่ทำงานกับนายคือพวกพี่สามคนเพราะฉะนั้นเราอยู่ด้วยกันเรื่องเก่าผ่านไปแล้วเราต้องมองถึงเรื่องที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้าซึ่งแน่นอนว่าก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
เอาเข้าจริงต้องขอบคุณโอกาสมากกว่า เราไม่สามารถจะบอกเองได้ว่าฉันจะกลับมาแล้ว หรือฉันจะทำอะไร เป็นเรื่องของการอยู่ดี ๆ ก็มีคนสนใจจะทำคอนเสิร์ตให้เรา แล้วเราก็เอาเพื่อน ๆ มาร้องแทนก่อน เป็นวง Pause สามคนที่มีเพื่อน ๆ ศิลปินมาร้องให้ หลังจากนั้นเริ่มมีกระแสว่าอยากเห็นวง Pause อีกครั้งหนึ่ง จนกระทั่งมีคุณฟองเบียร์ (ปฏิเวธ อุทัยเฉลิม) เข้ามา เขาเซ็นสัญญากับเราทั้ง ๆ ที่เรามีกันแค่สามคน เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะไปยังไงต่อ จนกระทั่งเฟ้นท์เดินเข้ามา ซึ่งกว่าเฟ้นท์จะมาถึงตรงนี้ก็ฝ่าฟันแรงเสียดทานอะไรมากมายเหมือนกัน ดังนั้นการกลับมาของ Pause ส่วนหนึ่งคือโชคชะตา อีกส่วนคือความพยายาม เพราะเราไม่สามารถคอนโทรลทุกอย่างได้อย่างที่อยากทำ
The People: ด้วยน้ำเสียงที่คล้ายกัน สำหรับเฟ้นท์แล้วตอนนั้นต้องรับแรงเสียดทานเยอะขนาดไหน
เฟ้นท์: ตอนแรกๆผมไม่ชินกับการที่อยู่ดีๆมีคนมาเขียนคอมเมนต์ว่าเราซึ่งผมอ่านบ้างไม่อ่านบ้างแต่ก็ไม่ได้สนใจอะไรผมโชคดีที่มีพี่ๆทั้งสามคนคอยอยู่ข้างๆเรื่องที่มีแรงเสียดทานหรือว่าเรื่องที่มีคนมากดดันจึงไม่ได้ทำให้ผมท้อเลย
The People: ทำอย่างไรให้คนมองข้ามประเด็นข้อเปรียบเทียบต่าง ๆ
เฟ้นท์: ช่วงเวลาเป็นตัวพิสูจน์ น่าจะทำให้เห็นครับ เพราะว่าผมก็เป็นของผมแบบนี้
[caption id="attachment_19797" align="aligncenter" width="960"] เฟ้นท์[/caption]นอ: ผมก็บอกเขา (เฟ้นท์) แล้วและอธิบายทุกคนด้วยว่าเฟ้นท์เกิดไม่ทันหรอกตอนออกชุดแรกมันสี่ขวบเองคือไกลเกินกว่าที่เฟ้นท์จะซึมซับหรือว่าเลียนแบบ
เฟ้นท์: บางคนพูดว่าไว้ผมยาวเพราะว่าพี่โจ้หรือเปล่า ผมก็บอกเลยว่าเปล่า แต่เป็นเพราะผมชอบไว้ พอเรียนจบ ม.6 ผมก็ไว้ผมยาวเลย แล้วก็ประจวบเหมาะกับการมาอยู่วง Pause เลยจะโดนบ้างนิดหน่อย แต่ก็ไม่ได้ซีเรียสอะไร
นอ: สมัยโจ้ออกชุดแรกก็ไม่ใช่มีแต่คนชอบ จนกระทั่งชุดสุดท้ายก็ไม่ใช่มีแต่คนชอบ ยังมีคนไม่ชอบ วิจารณ์เข้ามา แต่ว่าเขาก็ไม่ได้เปรียบเทียบกับใครเท่านั้นเอง ยังจำได้ว่าเราอยู่กันสี่คนสมัยยังมีโจ้ ก็มีแรงเสียดทานทุกเวทีเหมือนกัน จนกระทั่งถึงวันสุดท้ายเลยด้วยซ้ำ คือจะบอกว่าโจ้ก็เคยโดนมาก่อน คนไม่ชอบก็เป็นเรื่องปกติ
The People: คนยังคิดถึงอดีตของเราอยู่ ทั้งที่เรากำลังเดินหน้าต่อไป?
นอ: ผมต้องขอบคุณนะครับอย่างน้อยเขาก็อยู่กับเราถึงแม้เขาจะชอบวงไหนก็แล้วแต่มันก็เป็นสิ่งที่เราทำไว้เราก็ขอขอบคุณว่าโอ้โหยังอุตส่าห์จำเพลงของพวกเราได้ยังจำพวกเราได้
ผมเองก็เปลี่ยนไป ทุกวันนี้ผมไม่ใช่คนที่อายุ 20 กว่า ผม 40 กลาง ๆ แล้ว ผมไม่ใช่นอคนเดิม ผมบอกทุกคนว่าผมก็จนใจเหมือนกัน ผมไม่สามารถเอาของเก่ากลับมาได้ เราจนปัญญาเรื่องนี้แหละ ตอนนี้เรากลับมาทำด้วยกันอีกครั้ง มีเฟ้นท์เข้ามาเพื่อที่จะทำให้วง Pause ไม่หยุดอยู่แค่นั้น แล้วคราวนี้มันเกิดผล คือมีน้องรุ่นใหม่ ๆ ที่ไม่ทันพี่โจ้มาตามวง Pause มาเห็นวง Pause ตอนเป็นรุ่นเฟ้นท์แล้วมันทำให้เราไม่หยุดอยู่แค่นั้นทำให้เรามีโอกาสสำหรับวันต่อไป
เราก็เหมือนวงดนตรีวงใหม่ครับ มันไม่ต่อเนื่องเพราะช่วงที่เราหยุด เราหยุดนานกว่าช่วงที่เราทำงานด้วยกันเสียอีก ในช่วงโจ้เราอาจจะได้อยู่ร่วมกันแค่ 4-5 ปีเท่านั้นเอง แต่เราหยุดไปตั้งสิบกว่าปี จริง ๆ แล้วไม่ต่างอะไรกับวงใหม่เลย
The People: ช่วงที่หยุดกันไปให้อะไรเราบ้าง
เอ: พอโจ้ไม่อยู่แล้ว ผมก็ไปอยู่กับเพื่อน ๆ วงสิบล้อ ฮิวโก้, ใหม่, ปอนด์ ผมเป็นโปรดิวเซอร์ให้เขาอยู่ชุดหนึ่ง ก่อนจะอยู่เป็นเมมเบอร์ต่อไป ก็ได้ประสบการณ์เยอะ สนุกมาก เหมือนผม crossover ไปอีกตลาดหนึ่งของวงการดนตรีเลยไปเจอร้านไม้ๆนั่งรถทัวร์ทั่วประเทศพวกผับสาดแสงเดือนแสงจันทร์ทำนองนี้
สมัยก่อนเราอยู่วง Pause ก็อยู่แต่แถวทองหล่อ สุขุมวิท หรืออะไรที่ไฮโซ พอมาอยู่กับกลุ่มนี้ก็สนุกไปอีกแบบ มีครั้งหนึ่งมีงานที่เซ็นทรัลเวิลด์ เราก็นึกว่าวันนี้ได้เล่นแบบไฮโซแล้วเว้ย แต่เปล่าหรอกครับ เข้าไปข้างหลังเล่นให้คนงานก่อสร้าง เข้าไปเอนเตอร์เทนให้คนกลุ่มนั้นครับ ทั้งหมดเราได้ attitude ได้ความคิด และได้ประสบการณ์มาก ๆ
บอส: ช่วงที่หยุดพักไปคือตอนนั้นตัดใจแล้ว บอกทุกคนว่าคงออกจากวงการไปทำอะไรที่สร้างความมั่นคงให้ชีวิต ไปทำงานประจำ ไปเป็นครู ไปรับจ็อบ แต่ระหว่างนั้นคือทุกคนก็เจอเรา ยังจำเราได้ว่าพี่บอสวง Pause คือคำว่าวง Pause อยู่ติดตัวเราตลอดเวลา ไม่ได้จางหายไป แม้กระทั่งเจอเด็กรุ่นใหม่ที่เป็นนักเรียนเรา เด็กเล็ก ๆ ที่เป็นเด็กประถม เด็กมัธยม ก็ยังจำว่าเราคือพี่บอสวง Pause ซึ่งเราไม่คาดคิดว่าเด็กรุ่นนี้ยังรู้จักเราในนามของวง Pause อยู่เลย กลายเป็นว่าไอ้คำว่าวง Pause ตามเราตลอดเวลา สุดท้ายก็ต้องกลับมาทำงานของวง Pause อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
[caption id="attachment_19800" align="aligncenter" width="960"] บอส[/caption]The People: “โจ้” มีส่วนทำให้วงกลับมาเดินหน้าต่อไปไหม
เอ: มีส่วนครับ เหมือนเวลาที่หายไป บางทีเพื่อน ๆ ในวงการบางวงก็เอาเพลงของวง Pause ไป cover หรือไปใส่ในภาพยนตร์ ก็กลายเป็นกระแสใหญ่โตขึ้นมา ทำให้คนคิดถึงนักร้องคนหนึ่งซึ่งมีนามสกุลว่า Pause เป็นส่วนที่ทำให้คนไม่ลืมชื่อยังอยู่ในใจของคนครับ
The People: ตัวตนของ Pause ในยุคใหม่เป็นอย่างไร
บอส: แม้เราจะเกิดมาในวงการอินดี้ก็จริงแต่สุดท้ายแล้วมันก็อยู่ในระบบของวงการดนตรีเหมือนเดิมซึ่งวันนี้ตลาดวงการดนตรีก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนจากทำอัลบั้มมาทำซิงเกิลแทนที่จะขายเทปขายซีดีก็ขายเป็นระบบดิจิทัลเราก็ต้องปรับตัวเองให้อยู่กับปัจจุบันให้ได้แต่วิธีการทำงานของเรายังเหมือนเดิมเพราะว่าเราเกิดจากวงที่ทำเพลงกันเองทำดนตรีกันเองเพราะฉะนั้นตรงนี้ก็จะถูกเก็บไว้แต่ว่าก็ปรับไปได้ตามยุคตามสมัยเหมือนว่าในสมัยก่อนเป็นอะนาล็อกตอนนี้เป็นดิจิทัลหมดแล้วเราก็ต้องปรับตัว
The People: กลิ่นอายของ Pause ในยุคของเฟ้นท์?
บอส: ถ้านับตั้งแต่เพลงแรกที่เฟ้นท์เข้ามา เราก็พยายามเชื่อมกับ Pause ในเวอร์ชันที่เป็น Mild แล้วเพลงที่ทยอยออกมาก็เริ่มเป็น Pause ยุคปัจจุบัน มีการปรับเปลี่ยนไป ตั้งแต่เพลง ‘รักจริงจัง’ หรือ ‘คนที่แสนธรรมดา’ ซึ่งคนที่ติดตามเราอยู่ก็จะเห็นความแตกต่างว่าเพลงของเราเริ่มไปในทิศทางใหม่แล้ว
นอ: แก่ขึ้น (หัวเราะ)
The People: เพลงของ Pause ที่มีความหมายต่อตัวเอง?
เฟ้นท์: ที่ผมชอบมากที่สุดคือเพลง ‘มีเพียงเรา’ เป็นเพลงที่พี่เอแต่ง ผมชอบคำในเพลงนี้มาก ๆ รวมถึงดนตรีของพี่ ๆ ที่เล่น อาจไม่ได้ตรงจุดที่เราเคยประสบ แต่เป็นการฟังที่ทำให้ผมรู้สึกว่าเพลงนี้เป็นเพลงที่เพราะเหลือเกิน
บอส: ของผมชอบรวม ๆ ถ้าเกิดเอามาเทียบสามชุดที่ผ่านมา ผมชอบชุด Mild ที่สุดเพราะรู้สึกว่ากลมกล่อมแล้วก็เข้ากับเสียงร้องพี่โจ้ได้ดี
นอ: พูดยาก คือแต่ละเพลงเราดันมีภาพความทรงจำของเพลงนั้นอยู่ตลอดเวลา ชุดแรกก็จะเห็นภาพของนักศึกษาทำงานด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเพลง ‘ยื้อ’ ที่นั่งแต่งเพลงด้วยกันที่บ้านพี่บอย (โกสิยพงษ์) เลยพูดยากที่จะให้เลือกมาสักเพลง เพราะผมดันไม่เหมือนคนฟังเพลงทั่วไป เพราะผมดันเป็นคนผลิตมันด้วย ชุด Evo & Nova ก็เป็นเรื่องที่ดีมีความสุขผมจำได้ว่าห้องอัดอยู่ตรงนี้มีเรื่องอะไรที่เกิดขึ้นบ้างตอนทำเพลงนู้นเพลงนี้เพราะฉะนั้นก็ยากหากจะให้เลือกสักเพลงเลือกไม่ถูก
เอ: ผมขอเลือกเป็น ‘หมา (นิทานหมาหางกุด)’ เป็นเพลงแรกที่ทำให้ผมนึกถึงหลายๆอย่างหลายๆฉากเป็นเพลงแรกที่ผมนั่งเขียนแดดร้อนๆแล้วนอกับบอสเขาซ้อมอยู่ที่บ้านที่ห้องซ้อมเล็กๆตอนนั้นไม่มีไมโครโฟนด้วยแล้วเราอยู่ได้แค่นักดนตรีสามคนพอโจ้จะร้องต้องไปเช่าห้องข้างนอกแล้วเป็นเพลงที่ดนตรีเป็นฟังก์กี้ด้วย
ย้อนไปตอนต้นที่พูดถึงว่า Pause เป็นอะไรที่เหมือนกับมีส่วนปฏิวัติวงการ ผมคิดว่าเวลาที่เราเลิกวง Pause ไปสักพักหนึ่ง แล้วผมไปอยู่อีกวงหนึ่ง ช่วงเวลานั้นผมมองย้อนกลับมา ผมรู้สึกว่า groove หรือกลอง เบส ที่วงเราทำมันเป็นอะไรที่ใหม่ เป็นฟังก์กี้ที่ไม่เคยมีในเพลงไทย แม้กระทั่งผมเองก็ยังต้องเล่นตามบอสกับนอ ฝึกเพื่อที่จะเข้ากับเขา เพราะเราเป็นอีกแบบหนึ่ง เป็นร็อกที่นิ่ง ๆ ตรง ๆ พอนอกับบอสเขานำเสนอหรือผลิต feel นี้ขึ้นมาในวง Pause แล้วก็สร้างวง Pause ขึ้นมาจากตรงนั้น มันมีหลายฉากมากที่เราไปเล่นช่วงนั้น แล้วแปลก เรารู้สึกว่าคนดูเขาไม่เคยได้ยินเพลงแบบนี้ในไทย
[caption id="attachment_19798" align="aligncenter" width="960"] เอ[/caption]The People: อัลบั้มใหม่ที่จะมาถึง คือ “Play” ที่ต่อจาก “Pause” หรือเปล่า
นอ: เป็นการทำงานในยุคของเฟ้นท์นะครับ อาจจะเปิดฉากด้วยเสียงพี่โจ้จาก ‘รักอยู่รอบกาย’ แล้วเฟ้นท์ก็เข้ามา ก่อนหน้านี้เราก็เก็บเพลงมาแหละ หัวปีท้ายปีใช้เวลาประมาณสามปีจนรวมเป็นอัลบั้มได้แล้ว
เฟ้นท์: ตอนนี้ที่จะรวบรวมอัลบั้มก็มีตั้งแต่ ‘รักอยู่รอบกาย’, ‘แค่ได้เป็นคนสุดท้าย’, ‘รักจริงจัง’, ‘คนที่แสนธรรมดา’, ‘ประโยคสุดท้าย’, ‘อกหักอย่างเบิกบาน’ และเพลงล่าสุดของเรา ‘หน้าที่ของความรัก’ รวมถึงจะมีอีกหนึ่งหรือสองซิงเกิลนี่แหละที่เอามารวบรวมเป็นอัลบั้ม ผมไม่เคยมีอัลบั้มที่เป็นของตัวเอง นี่ก็น่าจะเป็นอัลบั้มแรกในชีวิตของผม
บอส: แล้วมันเปลี่ยนรูปแบบการจำหน่าย สมัยก่อนเราจะมีแผ่นซีดีเพื่อวางจำหน่าย แต่ยุคนี้เราผลิตตามจำนวนที่ออเดอร์ สั่งจากการพรีออเดอร์แทน เฉพาะคนที่เป็นแฟนหรือเฉพาะคนที่อยากได้ เก็บสะสมไว้จริง ๆ เราก็ผลิตจำกัดจำนวน
เฟ้นท์: ที่สำคัญก็จะมีแผ่นไวนิลด้วย
The People: มองภาพต่อไปของ Pause เป็นอย่างไร
เฟ้นท์: สำหรับผม ผมยังคาดหวังแล้วก็อยากให้วง Pause อยู่ไปอีกนานแสนนาน
เอ: ผมก็คิดเหมือนเฟ้นท์คืออยากให้อยู่ไปเรื่อย ๆ เราอาจจะต่างคนต่างมารถตู้คนละคัน แล้วไปเจอกันในงานอย่างนั้นก็ได้ เพราะมีวง Pause เป็นบ้านที่ให้เราได้เจอกันผูกพันกันเล่นดนตรีด้วยกันส่งเสียงโวยวายเอะอะด้วยกัน