read
interview
21 ก.พ. 2563 | 12:44 น.
สัมภาษณ์ วีรยา จาง สาวน้อยผู้อยากเป็นนักกีฬา eSports และอยากพัฒนาตัวเองใน BNK48
Play
Loading...
วี-วีรยา จาง
เป็นที่รู้จักจากการเป็นสมาชิกไอดอล BNK48 รุ่นที่ 2 ด้วยบุคลิกที่มีทั้งความเท่และความน่ารักในคนคนเดียว ทำให้เธอเป็นหนึ่งในไอดอลรุ่น 2 ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก กระทั่งแฟนเพจมียอดไลก์เกินหลักแสนอย่างรวดเร็ว
อีกมุมหนึ่งวีเป็นเด็กสาวที่ชื่นชอบการเล่นเกมเป็นชีวิตจิตใจ ซึ่งตรงกับบทบาทการแสดงที่ได้รับ ไม่ว่าจะเป็น “ไพลิน” สาวห้าวโลกส่วนตัวสูงที่ชอบเล่นเกมในซีรีส์ “365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ” และล่าสุดกับผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก “Mother Gamer เกมเมอร์ เกมแม่” ในบทบาท “มะปราง” ผู้ใฝ่ฝันเป็นนักกีฬา eSports ระดับโลก
ไม่ต่างจากชีวิตจริง วีรยาเคยใฝ่ฝันเป็นนักกีฬา eSports เช่นกัน ก่อนจะเปลี่ยนเส้นทางสู่การเป็นไอดอล BNK48 มาถึงปัจจุบัน The People จึงคุยกับเธอในสายตาของเกมเมอร์คนหนึ่ง ถึงเส้นทางสมรภูมิรบในโลกออนไลน์ และสมรภูมิดรามาในโลกแห่งความจริง
The People: ทราบมาว่า มีช่วงหนึ่งที่คุณเป็นเด็กติดเกม?
วีรยา:
หนูเริ่มเล่นเกมจริงจังตอน ม.3-4 มีช่วงหนึ่งที่ติดมาก ๆ แบบไม่ทำการบ้านเลย ไปลอกเพื่อนที่โรงเรียน กลับบ้านมาเล่นเกม เรียกว่าติดเกมจนขี้เกียจทำอย่างอื่น สมมติเลิกเรียนบ่าย 3 กลับบ้านมาเล่นเกมตั้งแต่ 4 โมงถึง 6 โมง ใช้คอมพ์พี่ชายเล่นเกม พอพี่ชายกลับบ้านมา เขาก็จะเล่นเกมถึงตี 2 พอเขาเล่นเสร็จหนูก็คลานลงมาเล่นต่อถึงเช้าแล้วก็ไปเรียนต่อ ไม่นอน แต่ทำได้ไม่นานเพราะง่วงนอน นั่นเป็นช่วงเวลาที่ติดเกมที่สุดแล้ว
The People: ตอนนั้นติดเกมอะไรบ้าง
วีรยา:
ตอนนั้นติดเกมหนีฆาตกรแล้วต้องปั่นไฟ แล้วก็เกมยิงปืนแนว survival ชื่อดังค่ะ หนูชอบเกมเอาตัวรอด รู้สึกสนุกที่ค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป ไม่ใช่ลงสนามแล้วยิงเลย มันต้องค่อย ๆ พัฒนาตัวเอง เก็บของ ฟาร์มของ พอเราพร้อมแล้วค่อยลุย ถ้าเป็นเกมที่ยิงเลยจะไม่ถนัด เพราะเป็นคนเลิ่กลั่ก ติดสินใจไม่ค่อยได้ ชอบกลัว (หัวเราะ)
The People: คิดว่าตัวเองเล่นเกมเก่งไหม
วีรยา:
ไม่เก่งค่ะ อย่างเกมยิงปืนเล่นมา 2 ปีแล้ว แต่ยังยิงใครไม่ได้สักที คือก็งงตัวเองว่าทำไม เราดูแข่งเยอะมาก แต่ก็เล่นไม่เก่งสักที ดูทั้ง YouTuber ดู streamer แล้วก็ชอบดูคนแคสต์เกม รู้สึกว่าสนุก ผ่อนคลาย เหมือนหลุดเข้าไปโลกอีกใบ ไม่ต้องเผชิญโลกความจริง เป็นเหมือนเซฟโซนของเรา
The People: เกมเป็นเซฟโซนอย่างไร
วีรยา:
เวลาเข้าไปเล่นเกมออนไลน์ เราได้คุยกับเพื่อน ๆ ซึ่งจะมีแต่เรื่องราวตลก ๆ หัวเราะ เล่นมุกขำ ๆ กัน รู้สึกว่าเข้าไปแล้ว made my day มาก ๆ เพราะทุกคนจริงใจกับเรา ด้วยความที่เราสนิท เล่นกันมานาน รู้สึกว่าเข้าไปแล้วไม่ต้องเผชิญโลกความจริง ไม่ใช่เราหนีโลกความจริงนะ แต่เราแค่รู้สึกว่าช่วงเวลานี้เราแค่อยากเข้าไปอยู่ตรงนี้ จะเข้าไปเล่นเกม รู้สึกว่ามันเป็นเซฟโซนเพราะว่ามีทั้งคนที่เรารู้จัก แล้วก็ได้ทำในสิ่งที่เราชอบ ไม่มีใครมาว่าเรา
The People: แต่ละคนเล่นเกมเพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน แล้วปกติคุณเล่นเกมเพื่ออะไร
วีรยา:
เพื่ออยากเล่นค่ะ (หัวเราะ) บางทีเรามีเรื่องเครียด ไม่มีอะไรทำ หรืออยากคุยกับเพื่อน ก็จะเข้าไปเล่นเกม
บางครั้งการเล่นเกมออนไลน์ก็เหมือนเข้าไปคุยกับเพื่อนด้วย ยิ่งหนูย้ายจังหวัดบ่อยมาก ไม่ได้คุยกับเพื่อนนาน ๆ การเข้าไปเล่นเกมก็เหมือนได้กลับมาสื่อสารและเข้าสังคมอีกครั้ง
การเล่นเกมไม่ทำให้หนูเครียดเลยนะ แต่ทำให้รู้สึกหัวร้อนมากกว่า (หัวเราะ) แต่มันสนุกไง ผ่อนคลาย แล้วก็แฮปปี้ บางทีก็เล่นแฮปปี้จนเช้าเลย อันนี้ไม่ดีนะคะทุกคน
ที่บอกว่าหัวร้อนไม่ได้แปลว่าไม่ผ่อนคลายนะ ถือว่าเป็นการปลดปล่อย มันเป็นเรื่องธรรมดาของการเล่นเกมอยู่แล้ว หนูไม่เห็นใครเล่นเกมแล้วไม่หัวร้อนได้เลย มันต้องมีจุดที่เราไม่พอใจแล้วก็สบถออกมา โถ่! (หัวเราะ) หนูว่าเป็นเสน่ห์ของการเล่นเกมนะ แต่ไม่ใช่หัวร้อนแล้วทำให้คนอื่นเดือดร้อน
The People: ถ้าคุณหัวร้อน จะมีวิธีการแก้อย่างไร
วีรยา:
หนูเป็นพวกหัวร้อนร้องไห้ ซึ่งต้องมีคนว่าเราด้วยนะ ไม่ใช่เล่นแล้วหงุดหงิดร้องไห้ แต่คือการที่เราเล่นไม่ดี แล้วเพื่อนหัวร้อน เราก็จะหงุดหงิดตัวเองแบบว่าเสียใจ (หัวเราะ) เสียใจที่ทำให้เขาลำบาก หนูชอบร้องไห้เวลาโดนเพื่อนร่วมทีมว่า แบบ... เฮ้ย! ทำไมไม่ทำอย่างนี้! ก็… เราทำไม่ได้ แล้วเราก็ร้องไห้ แต่ไม่มีใครรู้เพราะหนูแอบร้อง น้ำตามันชอบไหลแหมะออกมาเอง หนูก็จะเงียบ ๆ แล้วก็ออกจากเกม เปิด YouTube ดูนู่นนี่นั่น แล้วค่อยกลับมาเล่นใหม่
The People: “Mother Gamer เกมเมอร์ เกมแม่” นำเสนอมุมมองของเกมและ eSports อย่างไร
วีรยา:
เป็นมุมมอง conflict ระหว่าง Gen-X กับ Gen-Z คือ “คุณแม่เบญจมาศ” คือพี่
อ้อม-พิยดา (จุฑารัตนกุล)
กับ “โอม” ที่พี่
ตน-ต้นหน (ตันติเวชกุล)
เล่น โอมเป็นนักเรียนดีเด่น คุณแม่เป็นคุณครู พอรู้ว่าลูกแอบไปเป็นนักแคสต์เกม เป็นนักแข่งเกม จึงไม่โอเค แม่อยากให้ลูกตั้งใจเรียนมากกว่า เหมือนสะท้อนมุมมองทางสังคมเรื่องเกมและปัญหาในครอบครัว
แต่หนังก็บอกว่าเกมสามารถเชื่อมความสัมพันธ์ได้ ไม่ได้แย่อย่างเดียว แล้วตอนนี้เกมก็กลายเป็นกีฬาชนิดหนึ่ง ถ้าครอบครัวมาดูอาจเข้าใจลูกมากขึ้น ซึ่งหนังมีทั้งแอ็กชันและคอเมดี
The People: การรับบทเกมเมอร์สาว “มะปราง” ถือว่าเข้าทางคุณเลยไหม
วีรยา:
เข้าทางค่ะ ตอนแรกคิดว่าน่าจะง่าย แต่พอถ่ายทำเราต้องแอ็กติงและจินตนาการว่ากำลังเล่นอยู่ (ทำท่าทาง) เราอยู่เลนกลาง เล่นล่าง หรือเล่นบน โชคดีที่หนูเคยเล่นมาบ้าง เลยเข้าใจได้ง่ายเวลาถ่ายทำ
The People: หนังใช้เกม RoV (Arena of Valor) เป็นองค์ประกอบ ซึ่งจะมีตัวละครหลากหลายมาก ในเรื่องคุณเล่นเป็นตัวละครตำแหน่งอะไร
วีรยา:
ถ้าจำไม่ผิดหนูเล่น อารัม (Arum) ตำแหน่งแทงก์ค่ะ เป็นแทงก์ก็ต้องคอยซัพพอร์ตคนอื่น ตามคาแรคเตอร์ “มะปราง” เลย เพราะมะปรางมีความเป็นผู้นำสูง เป็นคนคอยดูแลคนอื่น ดูแลลูกทีม หนูเคยเล่นแทงก์แล้วก็รู้สึกว่าชอบนะ เลือดเยอะดี แต่ว่ามันโจมตีเบา ตีแล้วเลือดศัตรูลดนิดเดียวเอง ก็เลยไม่ใช่ทางสักเท่าไหร่
ปกติหนูเป็นคนตามคนอื่นมากกว่า ไม่ค่อยได้เป็นผู้นำสักเท่าไหร่ เพราะว่านำคนไม่ได้ (หัวเราะ) ถ้านำคือพาไปตายหมดเลย ส่วนใหญ่น่าจะเป็นสายซัพพอร์ตมากกว่า แต่จริง ๆ ใจอยากจะเป็นผู้นำนะ อยากเป็น fighter อยากเป็นสายรุก แต่ว่าไม่ได้สกิลเรามันไม่ได้ หนูไม่เก่ง (หัวเราะ)
The People: หนังเล่นประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว แล้วในชีวิตจริงครอบครัวของคุณมองภาพลักษณ์เกมว่าเป็นอย่างไร
วีรยา:
คุณพ่อไม่ค่อยรู้ว่าหนูเล่นเกม เพราะอยู่กันคนละจังหวัด แต่คุณแม่จะเห็นบ่อยช่วงที่หนูไม่นอนนั่นแหละ แม่ก็จะโทรมาตามทุกคืนให้ขึ้นมานอนได้แล้ว แต่คุณแม่ก็ให้เล่นนะคะ แต่เล่นแล้วห้ามเสียการเรียนเหมือนที่ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่บอกกันค่ะ แต่ไม่ใช่ห้ามแล้วชักปลั๊กทิ้ง หรือเอาคอมพ์ไปทุบ ไม่ขนาดนั้น
The People: ถ้าต้องคุยกับผู้ใหญ่ที่มองเกมเป็นตัวร้าย คุณจะเปิดใจพูดคุยกับเขาอย่างไรบ้าง
วีรยา:
ยากนะ บางทีเราอธิบายให้เขาฟัง บางคนก็ฟัง บางคนก็ไม่ฟัง แต่ถ้าเกมไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรกับชีวิตเรา ยังทำให้ชีวิตตัวเองดีอยู่ เราก็ต้องอธิบายเหตุผลที่เล่น มันแค่การผ่อนคลายอย่างหนึ่ง เพียงแต่ว่าสมัยนี้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงหลายอย่างแล้วมาโทษเกม ซึ่งหนูคิดว่าอาจไม่เกี่ยวกันเท่าไหร่ ส่วนหนึ่งคือเกมไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อให้คนทำตาม มันสร้างมาเพื่อความบันเทิง แต่มันอยู่ทัศนคติของคนคนนั้นมากกว่า
The People: ปัจจุบันเกมเริ่มได้รับการยอมรับว่าเป็นกีฬามากขึ้น ในฐานะเกมเมอร์คนหนึ่ง มองปรากฏการณ์นี้อย่างไร
วีรยา:
หนูเคยอยากเป็นนักกีฬา eSports มาก ๆ ช่วงที่ติดเกมเคยคิดว่าจะไม่เรียนแล้ว (หัวเราะ) อยากเป็นนักกีฬา แต่รู้ว่าตัวเองไม่ได้เก่งเลยล้มเลิกไป แล้วก็มาเข้าวง BNK48 นี่แหละ หนูว่าเป็นเรื่องดีที่คนยอมรับว่าเกมเป็นกีฬามากขึ้น เพื่อนหนูหลายคนเป็นนักแคสต์เกม หรือเป็นนักแข่งเกมจริง ๆ ทำให้เห็นว่าเกมมีประโยชน์เหมือนกัน มันกลายเป็นอาชีพหนึ่งได้ ซึ่งดีใจนะ
หนูว่าแพทเทิร์น eSports คล้าย ๆ กีฬาเลย มีหลายทีมมาแข่งกัน แล้วคัดเลือกหาผู้ที่ชนะ มันคือกีฬา
The People: ที่ว่าอยากเป็นนักกีฬา eSports คิดจริงจังเบอร์ไหน
วีรยา:
คิดจริงเลยค่ะ เพราะช่วงนั้นมีแข่งที่เยอรมนี หนูดูแล้วคิดว่า ถ้าเราเป็นผู้หญิงคนเดียวในสนามแข่ง มันโคตรเท่เลย (หัวเราะ) แต่ก็ล้มเลิกความคิดไปเพราะเล่นเท่าไหร่ก็ไม่ได้เก่งขึ้น
The People: การแสดงหนังเรื่องแรก ให้ประสบการณ์อะไรกับคุณบ้าง
วีรยา:
ได้ประสบการณ์ค่ะ ได้เจอพี่อ้อม พิยดา ที่ไม่คิดว่าวันหนึ่งจะได้แสดงร่วมกับเขา ได้เจอพี่ต้นหน,
พี่เติร์ด (ลภัส งามเชวง), พี่บอส AF (ธนบัตร งามกมลชัย)
รู้สึกดีใจที่ได้รู้จักกับทุกคน แถมเราได้เรียนรู้การแสดงจากพี่อ้อมด้วย ถามเขาว่าทำไมพี่อ้อมจำบทได้เยอะจังเลย (หัวเราะ) เป็นประสบการณ์ใหม่กับตัวหนูมาก
The People: คิดไหมว่าการเข้ามาเป็นไอดอล BNK48 ทำให้คุณต้องทำงานเป็นหลายอย่าง เช่น ร้องเพลง ถ่ายแบบ แสดง ฯลฯ
วีรยา:
การเป็นไอดอลต้องทำได้หลายอย่าง มันไม่ได้ฟิกซ์มาว่าเราต้องเป็นนักร้องหรือนักแสดงอย่างเดียว ไอดอลมีงานอะไรเราก็ทำ (หัวเราะ) แต่งานหลักจริง ๆ คือการพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น ความจริงไอดอลก็เหมือนศิลปิน แต่จะมีหลายงานเข้ามา เช่น ถ่ายแบบ เดินแบบ ถ่ายหนัง ถ่ายเอ็มวี งานแสดง เยอะแยะไปหมด เหมือนเราต้องเจอทุกอย่างที่อาชีพหนึ่งเจอ อาชีพทุกอย่างมันเข้ามาหาเรา แล้วก็ได้รับการโจมตีเยอะด้วยค่ะ (หัวเราะ) ซึ่งก็มีความกดดันนิดหนึ่ง
The People: เวลาเจอคำโจมตีต่าง ๆ คุณมีวิธี move on อย่างไร
วีรยา:
ถ้าผิดจริงก็จะยอมรับและปรับปรุง ดูว่าเรามีข้อเสียอะไรที่ทำให้คนโจมตีเราแบบนี้ เราอ่านคอมเมนต์นะ ดีหรือไม่ดีเราก็อ่าน ซึ่งหนูจัดการความรู้สึกได้ ดูรู้ว่าคนนี้มาปั่นเฉย ๆ รุ่นพี่ในวงเขาก็พูดว่า “ลองคิดดูนะ ถ้าเขามาพูดคำนี้ต่อหน้า เขาไม่กล้าหรอก เขาแค่อยู่หน้าโทรศัพท์ เขาก็สามารถพิมพ์ได้” หนูคิดว่าจริง เขาทำได้แค่พิมพ์อยู่หน้าโทรศัพท์ เขาไม่กล้ามาว่าต่อหน้าเราตัวจริง ซึ่งมันไม่ใช่ความจริงด้วย เขาแค่อยากทำให้เราหัวเสียเฉย ๆ
ส่วนใหญ่หนู move on โดยการเล่นเกมค่ะ (หัวเราะ) ล้อเล่นนะ ก็จะมีโทรหาพี่ชายพี่สาว ความที่ช่วงอายุวัยรุ่นเหมือนกัน หนูก็อยากปรึกษาเขามากกว่า โทรหาคนที่เราสบายใจ แล้วก็หากิจกรรมที่สบายใจทำร่วมกัน
แต่มีช่วงหนึ่งที่หนูไม่สามารถรับมือได้เลย อ่านโซเชียลเจอแต่คอมเมนต์ด่า หนูร้องห่มร้องไห้ 2-3 วัน แบบว่าไม่ไหวมาก ๆ จนรุ่นพี่ในวงเข้ามาบอกว่า “เดี๋ยวก็ชิน” หนูก็… (นิ่งเงียบ) ทำไมเราต้องมาชินกับอะไรแบบนี้ ทำไมเราต้องเจออะไรแบบนี้ด้วย การทำให้ทุกคนเลิก bully คงยากมาก ทั้ง ๆ ที่มีคนพูดเรื่องนี้เยอะมาก มีบทความเยอะมาก แต่เราก็ยังได้ยินข่าวประเด็นนี้อยู่เรื่อย ๆ หนูสงสัยว่านี่คือการทำให้คนคนหนึ่งต้องแบกรับอะไรหลาย ๆ อย่าง แต่คนอื่นก็ยังไม่หยุดทำ
มันไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย เรารู้สึกแย่ที่ว่าเราโดน bully ทำไมต้อง bully กัน คนเราเกิดมาแตกต่างกันอยู่แล้ว แต่หนูคิดว่าเราควรทำตัวเองให้เป็นคนดี ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนก็พอ ถ้าเราไม่ได้ไปสร้างปัญหาให้ใคร เขาจะมา bully เราได้ไง ถ้าเขา bully เรา ก็แปลว่าเขาคงอคติกับเราแล้ว
The People: จากวันแรกที่มาอยู่ใน BNK48 จนมาถึงวันนี้ คุณเปลี่ยนแปลงตัวเองไปมากขนาดไหน
วีรยา:
เยอะค่ะ หนูโตขึ้น ความคิดโตขึ้น เวลากลับไปฟังปัญหาครอบครัว หนูมีข้อคิดเห็นที่จะพูด มีแนวคิดที่อยากเสนอไป แล้วที่บ้านก็เชื่อใจหนูมากขึ้น ให้หนูมาอยู่คนเดียวที่นี่ แล้วหนูไม่ต้องขอเงินพ่อแม่แล้ว อยู่ด้วยตัวเองได้ ได้รับโอกาสหลายอย่างซึ่งไม่คิดว่าตัวเองจะได้รับ
The People: นิยามของคำว่า “ไอดอล” ของคุณคืออะไร
วีรยา:
เป็นคนที่พัฒนาตัวเองไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะว่าเราไม่รู้ว่าจุดสูงสุดของเราคืออะไร เราแค่พัฒนาตัวเองเรื่อย ๆ ยิ่งเราได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ ก็จะทำให้เราได้เกิดแนวคิดใหม่ ๆ และเป็นการพัฒนาตัวเองไปเรื่อย ๆ ค่ะ
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3559
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6975
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
871
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Culture
Interview
The People
BNK48
Wee
Mother Gamer
วี BNK48