06 มี.ค. 2563 | 14:00 น.
นิตยสาร Bioscope ฉบับแรก
The People: กว่าจะปิดเล่ม Bioscope ฉบับแรก? สุภาพ: ตอนทำเล่มแรก จริง ๆ ก็ลงมือทำกันมาเรื่อย ๆ โดยไม่ได้คิดอะไรหรอกว่ามันพร้อมเมื่อไหร่ เราก็จะทำเมื่อนั้น ให้มันออกวางเมื่อนั้น แล้วพอใกล้ ๆ หมายถึงรวบรวมคอนเทนต์มาได้สักประมาณหนึ่ง ก็เห็นว่ามีเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพฯ ตอนปี 2543 ก็เลยว่า เอ๊ะ ถ้าเราไปขายในงานนี้ก็น่าจะดีเหมือนกัน เพราะเหมือนไปเจอคนที่มีรสนิยมต้องตรงกัน ก็พยายามเขียนให้หนังสือออกมาทันงานนี้ ซึ่งก็ทันแบบ 2 วันสุดท้าย (หัวเราะ) ก็เดินออกจากโรงพิมพ์มา แล้วหยิบหนังสือไป ตอนนั้นที่เอ็มโพเรียมเขาจัดงาน ก็เอาไปวาง พอวางปุ๊บ เห็นคนมาหยิบดูแล้วซื้อไป ๆ เข้าท่าเว้ย แต่ 2 วันสุดท้ายของเทศกาล ไอ้ที่พิมพ์มามันไม่หมดหรอก เพราะว่ามีระยะเวลาที่ค่อนข้างจำกัดเกินไป เราก็คิดว่าจะลองหาวาระอื่น ๆ ดู เพราะตอนนั้นมีพวกบรรดาเทศกาลหนังสือทำมืออยู่เรื่อย ๆ แต่ที่เราไปจริง ๆ คือสัปดาห์หนังสือ ก็มาคิดดูว่าควรจะไปฝากที่ไหนที่ตรงกับหนังสือเรา จนไปเจอบูธ AW เลยเอาไปฝากเขา เพราะมันทางเดียวกัน ที่นั่นน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ขายเกือบหมด จากทั้งหมดที่พิมพ์มา The People: ที่มาของชื่อ Bioscope? สุภาพ: ตอนที่จะทำก็คิดชื่อไว้ตั้งเยอะแยะมากมาย ก่อนหน้านี้ผมเคยทำงานที่หอภาพยนตร์ อยู่แผนกที่ทำกิจกรรม แล้วเคยทำหนังสือที่มาซัพพอร์ตกิจกรรมครั้งหนึ่ง ใช้ชื่อตัวกิจกรรมคือ ภาพยนตร์สโมสร ก็เลยเอาชื่อนี้ดีหรือเปล่า หรือจะไปข่าวภาพยนตร์ คือก็มีคนเสนอด้วยนะ คนหนึ่งที่ช่วยเราคิดชื่อ คือ ป๊อป มโนธรรม (เทียมเทียบรัตน์) ซึ่งชื่อที่ป๊อปคิดมาก็คือชื่อ Bioscope เราก็ เออ เข้าท่าดีเว้ย Bioscope เป็นชื่อประเภทของระบบการถ่ายหนังในช่วงเวลานั้น มันมีตั้งหลายแบบที่เกิดขึ้นในแต่ละที่ เอดิสันก็มีระบบของตัวเองใช่ไหม ของตระกูลต่าง ๆ ที่คิดระบบฉายหนังขึ้นมา ก็มีชื่อเรียกของตัวเอง และ Bioscope ก็เป็นชื่อระบบฉายหนัง ถ่ายหนังแบบหนึ่ง ซึ่งใช้อยู่ยุโรปทางเหนือ ซึ่งหากไปค้นเก่า ๆ มันจะอยู่ในพวกกล้องที่ใช้ในการทำงานข่าว กล้องที่พกติดตัวไปง่าย ๆ เราก็ เฮ้ย เข้าท่าดีว่ะ เพราะหนังสือเราเป็นแบบเล็ก ๆ พกติดตัวไปง่าย ๆ เลยเอาอันนี้แหละ หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่าเป็นหนังสือชีววิทยาอะไรประมาณนี้ (หัวเราะ) ธิดา: เล่มแรกก็เป็นโปรดักชันอย่างที่ว่า คือเป็นหนังสือกึ่งทำมือ คือจริง ๆ ก็ไม่ทำมือ เพราะเข้าระบบการพิมพ์ แต่รูปลักษณ์เหมือนหนังสือทำมือในเวลานั้น ทีนี้เนื้อหาที่เราเลือกมา พอย้อนดูเราคิดว่ามี 2 แนวคิดรวมกัน อันหนึ่งเราอยากนำเสนอเรื่องของหนังที่อยู่พ้นไปจากตลาด คือหนังนอกกระแสหลักที่ปรากฏอยู่ในตลาดหนังบ้านเราในช่วงนั้น กับสองคือความสนใจส่วนตัว เรารู้สึกว่า โลกของภาพยนตร์มันกว้างมาก ๆ มีหนังที่น่ารู้จัก มีคนทำหนังที่น่ารู้จัก มีวิธีคิดอีกหลายแบบ แต่ว่าตลาดบ้านเรา shape ให้คนรู้จักแค่ไม่กี่แบบ เป็นแค่กลไกทางการตลาดที่ทำให้คุณรู้จักอยู่แค่นี้ แต่ในความจริงยังมีอีกเยอะ อย่างที่สองคือ เรามักจะมีคำถาม เวลาที่วงการหนังไทยพูดถึงโมเดลความสำเร็จหนังอะไรบางอย่างในต่างประเทศ เช่น ยุคหนึ่งเรามักจะพูดว่าหนังไทยไม่มีคนดู เพราะว่าหนังต่างประเทศทำ CG ดีกว่า เคยมียุคหนึ่งที่เชื่อกันแบบนี้จริง ๆ แล้วเราก็รู้สึกว่าทำไมหนังไทยต้อง CG ถึงจะสู้เมืองนอกได้ เราจะมีคำถามกับความคิดประเภทนี้อยู่เสมอ แล้วเราก็มักจะมีความคิดว่า เวลาเห็นปรากฏการณ์ทางภาพยนตร์อะไรอย่างหนึ่งเกิดขึ้น สิ่งที่เรามักไม่ค่อยสนใจไปสืบค้นคือ เบื้องหลังผิวหน้าที่ดูหวือหวา น่าสนใจทั้งหลาย ที่เรารู้สึกว่าเป็นเหตุผลให้หนังประสบความสำเร็จ จริง ๆ ก่อนที่หนังจะมาสู่ตรงนั้น มีกระบวนการคิดอะไรมาก่อนบ้าง ดังนั้น ตอนทำ Bioscope ก็จะตั้งอยู่บนวิธีคิดประเภทนี้ ซึ่งเป็นตั้งแต่เล่มแรกเลย เช่น เล่มแรกเป็นหน้าปกพี่วิศิษฏ์ (ศาสนเที่ยง) เนื่องจากหนังแกจะฉายพอดี รื่อง “ฟ้าทะลายโจร” สุภาพ: ไอ้ความฉูดฉาดที่เราเห็นในหน้าหนังของเรื่องฟ้าทะลายโจร เขาคิดอะไรกับมัน เขาได้รับอะไรมาจากตัวเขาเอง สิ่งที่บ่มเพาะเขามา จนกระทั่งออกมาเป็นภาพที่เราเห็นกัน เรื่องแบบที่เราได้ดูคืออะไร เลยไปพูดถึงเรื่องไอ้สิ่งที่อยู่ข้างหลัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคาวบอย เรื่องความฉูดฉาดของสีสันทั้งหลาย ธิดา: (พลิกดู Bioscope เล่มแรก) พอดูจริง ๆ ตอนนั้นเนื่องจากเล่มมันเล็ก มีแค่ 4 บทความเอง ก็จะเป็นเรื่อง film maker สัก 2 คน มีคนไทยหนึ่งคนคือพี่วิศิษฏ์ และอีกคนที่เราทำคือ จาง อี้โหมว ก็จะพูดแบบเดียวกันคือสิ่งที่บ่มเพาะตัวตนเขามา แล้วก็มีคอลัมน์ที่เราอยากทำ เพราะคิดว่าองค์ความรู้นี้ไม่ค่อยถูกเอามาพูดในวงการหนังไทย คือเรื่องบทหนัง ตอนนั้นเราจะพูดกันเยอะว่าหนังไทยไม่ดีเพราะบทไม่ดี แต่เรานึกออกว่าคนทำหนังไทยก็ไม่รู้จะไปหาความรู้เรื่องบทจากไหน เราเลยไปเอาหนังสือ William Goldman มาถอดความ เวลาเขาพูดถึงบทหนังแต่ละบท ซึ่งคอลัมน์นี้เป็นคอลัมน์ที่ยืนยงมาก ๆ ใน Bioscope ทำมา 10 กว่าปี คอลัมน์นี้อยู่มาตลอด คือคอลัมน์ว่าด้วยการเขียนบทหนังนิตยสาร Bioscope ฉบับเดือนตุลาคม 2545 ฉบับเล่มใหญ่ฉบับแรก
The People: เล่มต่อมาที่อยากพูดถึง? สุภาพ: ฉบับแรกที่เป็นเล่มใหญ่ ตุลาคมปี 2545 ครบ 2 ปีหลังจาก Bioscope เล่มแรก จะว่าไปแล้วตอนนั้นทำงานประจำบนออนไลน์ครบ 2 ปี เราก็รู้สึกว่า เราน่าจะเอาจริงเอาจังกับการทำหนังสือ กลับไปสู่รากฐานที่เราคุ้นเคย ก็ชวนกันลาออกจากแกรมมี่ แล้วก็มาทำเล่มนี้ ตอนนั้นก็… ถ้ามีโฆษณาด้วยก็ดีเนอะ เรามีคนรู้จัก ก็ไปขอโฆษณาจากพี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) ขอจากค่ายหนังฝรั่ง ขอจากคนที่รู้จัก ปรากฏว่าเก็บเงินได้อันเดียว อันอื่นเก็บเงินไม่ได้ (หัวเราะ) เพราะว่าตอนนั้นยังไม่ได้ตั้งบริษัท หน้าปกก็เป็น “15 ค่ำเดือน 11” เป็นหนังของ GTHนิตยสาร Bioscope ฉบับเดือนธันวาคม 2549
The People: Bioscope เล่มที่สามที่อยากพูดถึง? ธิดา: เล่มธันวาคมปี 2549 พอเรากลับไปย้อนดูก็ตกใจเหมือนกัน (หัวเราะ) ที่มันเป็นหนังสือที่เปลี่ยนรูปโฉมโคตรบ่อย คือมีหลายรูปแบบ หลายรูปเล่มมาก เดี๋ยวเล่มเล็ก เดี๋ยวกลับไปใหญ่ ใหญ่แล้วกลับไปเล็ก ย่อไปย่อมา แล้วก็เปลี่ยนโปรดักชัน เปลี่ยนวิธีทำปก เปลี่ยนวิธีนำเสนอ มีคนตั้งคำถามเหมือนกันว่า นิตยสารควรมีความสม่ำเสมอของรูปแบบ โดยเฉพาะรูปลักษณ์หรือเปล่า เพราะว่าเป็นสิ่งที่คนคุ้นเคย หยิบจับทุกเดือน แต่สำหรับเรา เราคิดว่าอาจจะเป็นเพราะว่ามันเกิดขึ้นมาเหมือนเป็นหนังสือส่วนตัวมาก ๆ ดังนั้นเลยค่อนข้างผูกโยงกับความรู้สึกของเราในแต่ละช่วงเวลามากกว่า เลยเป็นเหตุผลทำให้พอทำ ๆ ไปแล้ว เฮ้ย น่าเบื่อว่ะ เปลี่ยนดีกว่า เล่มนี้เป็นเล่มแรกที่เปลี่ยนเยอะจนคนตกใจ และคนตกใจก็มีปฏิกิริยาทั้งทางบวกและทางลบ อาจจะเป็นเพราะหลังจากทำเล่มเล็กเริ่มต้นมาแล้ว 6 ปี แล้วเราคิดว่าทำไมทำฟอร์แมตย้ำซ้ำรอยเดิมอยู่เรื่อย ๆ แล้ววงการหนังก็เปลี่ยนไป คนดูหนังก็เปลี่ยนไป แล้วเรามีสิ่งอื่น ๆ ที่เริ่มสนใจ อยากพูดถึงมากกว่าที่เคยทำมา เลยเป็นวาระที่เรารื้อทั้งเล่มเลย รื้อทุกอย่าง เหลือแค่หัวที่ยังเป็นอย่างเดิม เรามีความรู้สึกว่าหนังในโลกข้างนอก หนังมีความเปลี่ยนในแง่… มันอาจจะเป็นผลจากเทคโนโลยี คือเป็นช่วงที่ YouTube เริ่มขึ้นมาเป็นกระแสหลัก แล้วเทคโนโลยีดิจิทัลก็แพร่หลายในหมู่คนทั่วไปแล้ว ดังนั้นเนื้อหาที่อยู่ในเล่มนี้ก็จะฉีกไป เช่น มีทั้งเรื่องภาพเคลื่อนไหวประกอบเพลงที่เกิดขึ้นมาใหม่ มีเรื่องเอ็มวี มีเรื่องงานทดลอง ซึ่งเป็นงานทดลองที่เล่นกับภาพ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับหนังเลย สุภาพ: พร้อม ๆ กับเล่มนี้ก็ได้แจกหนังสือ ซึ่งต่อมามันก็มีที่ทางของตัวเองก็คือ “Fuse” (ฟิ้ว) Fuse เป็นที่ทางสำหรับคนใหม่ที่ทำงานเกี่ยวกับสื่อภาพเคลื่อนไหว แล้วเราคิดว่าคนเหล่านี้ควรได้รับพื้นที่ในการพูดถึงมากขึ้น ธิดา: เราอยากเป็น Fuse เพราะว่าอยากจะมีเล่มหนึ่งที่พูดถึงวงการหนังสั้นที่กำลังคึกคัก แต่พอทำ Fuse ไปสักระยะหนึ่ง เรารู้สึกว่ามันมีคนติดตามเหมือนกัน แล้วเราสื่อสารกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง อาจจะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือกลุ่มคนที่ไม่ได้สนใจภาพยนตร์ในแบบเดิม ขณะเดียวกันเรารู้สึกว่าพอทำคอนเทนต์ไปแล้วก็เริ่มแยกตัวออกจาก Bioscope อย่างเห็นได้ชัด เราว่ามันค่อนข้างมีความเสี่ยงแล้วก็มีความแปลก แต่ก็เป็นจุดขายแหละ คือเอาคนทำหนัง ที่เอาจริง ๆ นะ… ตอนนั้นคือใครวะ (หัวเราะ) คืออาจจะไม่รู้จักในวงกว้าง ขึ้นปกใครก็ไม่รู้ แล้วจะขายได้เหรอวะ แต่เรามองว่าเป็นโมเดลที่น่าลองนิตยสาร Fuse ฉบับแรก
The People: Bioscope มีเล่มที่เราต้องถอดบทเรียนความผิดพลาดไหม สุภาพ: เล่มมกราคมปี 2555 เล่มนี้เป็นเล่มที่สาบสูญสำหรับแฟน ๆ Bioscope จำนวนไม่น้อย (หัวเราะ) เพราะเวลาเขาไปดูที่แผง เขาจะมองหาหัวที่เขาคุ้นเคย เล่มนี้ก็คล้าย ๆ กับเล่มเมื่อสักครู่ที่บอกไปว่าเรารื้อใหม่หมด รื้อทั้งวิธีการมองคอนเทนต์ที่จะนำเสนอออกมา รื้อจนกระทั่งถึงหัวหนังสือ ซึ่งข้อด้อยของเราคือ เราลืมไปว่าการรื้อขนาดนี้ เราควรใช้เวลาสื่อสารกับคนอ่านของเรามากพอที่เขาจะรู้ว่าต้องเจอกับอะไร ฉะนั้นที่บอกว่าสาบสูญ หลายคนคือไม่ได้ซื้อเลยในช่วงเวลาที่เราเปลี่ยนหัวเป็นแบบนี้ เพราะเขาคิดว่า Bioscope เจ๊งไปแล้ว จนกระทั่งเรากลับมาเป็นหัวแบบเดิม อ้าว ยังออกอยู่อีกเหรอ เราก็บอกว่าเคยออกเล่มนี้ เขาก็บอกว่าเล่มนี้ช่วงนี้มันหายไปไหน เป็นบทเรียนอันหนึ่งของเราในเรื่องว่า ถ้าหากจะเปลี่ยนอะไรที่พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ ต้องสื่อสารและใช้เวลากับการสื่อสารกับคนของเราให้มาก แต่ว่าเนื้อหาอะไรข้างใน ผมคิดว่าเป็นฉบับที่เราทำออกมาได้ดี ในแง่ของอาร์ตเวิร์กอะไรทั้งหลาย ก็เป็นฉบับที่คนทำค่อนข้างพอใจมากนิตยสาร Bioscope ฉบับเดือนมกราคม 2550
The People: บรรยากาศการทำนิตยสารในยุคสื่อสิ่งพิมพ์? ธิดา: เวลาคนพูดถึงกอง บ.ก. โดยเฉพาะนิตยสารหนัง คนมักจะคิดว่า โห เราคงทำงานสนุกสนานมาก นั่งดูหนังทั้งวัน หรือดูหนังฟรีบ่อย ๆ ซึ่งความจริงไม่ใช่หรอก (หัวเราะ) กองเราไม่ได้ต่างจากกอง บ.ก. นิตยสารอื่น ๆ เวลาส่วนใหญ่คือไม่บันเทิง การทำงานก็ปกติแหละ ไม่ได้มีความแตกต่างไปจากเนื้อหาแนวอื่น แล้วความที่เราอาจจะตั้งเป้าหมายการทำคอนเทนต์ค่อนข้างจะสูงและเยอะด้วย เราคิดว่ากอง บ.ก. Bioscope หลาย ๆ ครั้งต้องผจญกับความเครียด เพราะว่าทำงานเรื่องภาพยนตร์ แต่ว่าถูกบีบคั้นให้ต้องค้นไปในสิ่งที่นอกเหนือไปจากความคุ้นเคยของเขา ส่วนใหญ่กอง บ.ก. Bioscope ใช้เวลากับการคุยกัน คือคุยกันว่าจะทำเรื่องนี้ สามารถมีวิธีมองแบบอื่นที่ทำให้คอนเทนต์ไปไกลกว่านี้ไหม หรือว่าคุณมีความทะเยอทะยานที่จะพาคนอ่านไปไกลกว่านี้อีกไหม สิ่งนี้พูดไปถึงประเด็นอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ได้อีกไหม โดยมากการทำงานในกองเราจะเป็นลักษณะนี้ คือคุยกันแล้วก็พยายามกระตุ้นให้เขาคิดเยอะขึ้น ค้นเยอะขึ้น แล้วช่วยกันพาหนังสือไป เพราะว่าจริง ๆ คอนเซปต์ของ Bioscope ไม่ได้พูดเรื่องหนัง แต่เรากำลังพูดว่าหนังเป็นแค่ส่วนหนึ่งในชีวิตที่ต่อยอดคุณไปสู่สิ่งอื่น ๆ ในโลกอีกเยอะ The People: อะไรเป็น legacy ที่ Bioscope ส่งต่อให้กับคนอ่าน สุภาพ: คิดว่าสิ่งที่คนอ่าน Bioscope น่าจะได้ไปจากการอ่านหนังสือ ติดตามหนังสือของเราอย่างต่อเนื่อง อย่างแรกเลยคือการเปิดโลกของตัวเองในการเป็นคนดูหนังให้กว้างไปจากปกติ สามารถที่จะเปิดตัวเองกับหนังหลากหลายแนว หลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายรสนิยมได้ อย่างที่สอง เราคิดว่าคนอ่าน Bioscope นอกเหนือจากการเสพเนื้อหาของตัวหนังแล้ว สิ่งที่เขาน่าจะได้จากการเปิดโลกของตัวเอง คือไปเจอกับเนื้อหาในหนังแต่ละเรื่อง รู้จักประเด็นทางสังคมต่าง ๆ รู้จักโลกที่เปลี่ยนไป รู้จักผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ The People: คิดอย่างไรกับประโยคที่ว่า “นิตยสารตายแล้ว” สุภาพ: เรามองว่าการสื่อสารของมนุษย์เป็นที่มาของการทำให้เกิดนิตยสารขึ้นมาบนโลก ฉะนั้นเมื่อโลกมีวิธีการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไป จะบอกว่านิตยสารตายไปแล้ว มองว่าก็ตายแล้ว แต่การสื่อสารของมนุษย์ยังไม่ตาย ตั้งแต่อดีตมนุษย์รู้จักการเล่าเรื่อง มันก็รู้จักการสื่อสาร งั้นคนตายไปการสื่อสารก็ยังอยู่ เกิดนิตยสาร เกิดหนังสือพิมพ์ เกิดทีวี มันจะตายไปแล้วก็เพราะว่าโลกเปลี่ยนไปก็เป็นเรื่องปกติ แต่เนื้อแท้ที่ต้องการจะสื่อสาร ถ้าหากมันยังอยู่ คิดว่ามันก็ยังอยู่ จะเป็นรูปแบบไหนไม่ใช่สาระสำคัญ สาระสำคัญคือในรูปแบบการสื่อสารที่เปลี่ยนไป เนื้อหาสาระของการสื่อสารนั้นยังอยู่ไหม ถ้ายังอยู่ ผมคิดว่าเราไม่ได้แคร์มันนะ The People: จาก Bioscope สู่ Documentary Club จะทำอะไรลำดับต่อไปกัน ธิดา: ถ้าย้อนนึกถึงสิ่งที่เราทำ Bioscope สิ่งที่สำคัญและเป็นตัวตนของเราคือเรื่องวิธีคิดที่เรามีต่อหนัง เรามีต่อคน เรามีต่อวัฒนธรรมการดูหนัง หรือความเปลี่ยนแปลงวงการหนัง ซึ่งแนวคิดพวกนี้พอเราเลิกทำ เราถอยจาก Bioscope แล้ว เราพบว่ายังอยู่ในตัวเรา แล้วเราก็มาทำ Documentary Club ซึ่งอาจจะมีบทบาทที่ไม่เหมือนกัน เพราะ Bioscope เราเป็นคนทำคอนเทนต์ แต่ว่า Doc Club เราเป็น distributor (ผู้จัดจำหน่าย) เป็นคนเอาหนังเข้ามา แต่เราก็ทำงานกับมันไม่ต่างกับธรรมชาติของเราตอนทำ Bioscope อยู่ดี คือเราทำงานคอนเทนต์ เราเอาหนังมาฉายเสมือนว่าเรากำลังทำอะไรบางอย่างกับวงการหนังอยู่ดี Doc Club คือ distributor ที่เอาหนังสารคดีมา เอาหนังนอกกระแสมา เอาหนังคลาสสิกมา ตอนนี้ Doc Club ทำมา 5 ปีแล้ว เหมือนเริ่มมาถึงจุดที่รู้สึกว่า น่าจะขยายไปทำอะไรอย่างอื่นที่เราอยากทำ ยังมีอีกตั้งหลายส่วนที่ยังไม่ได้จับ ฉะนั้น ตอนนี้เราก็คุยกันว่า Doc Club เข้ามาสู่การ distribute หนังที่นอกเหนือไปจากหนังสารคดีแล้ว เรามีหนังประเภทอื่น แต่ว่าอาจจะรู้ชื่อของมันเป็น Doc Club มาตั้งแต่ต้น ก็เป็นข้อจำกัดในตัวเองเหมือนกัน เพราะบางทีคนก็จะรู้สึกว่า เอ๊ะ หนังที่เราเอามาคือหนังสารคดีหรือเปล่า ดังนั้น เราอาจจะอยากขยายไปทำอย่างอื่นที่ทำเพิ่มเติมขึ้นไป ที่ไม่ใช่ Doc Club อย่างเดียว ตอนนี้โปรเจกต์ที่คิดไว้คือจะทำอีกแพลตฟอร์มหนึ่ง ใช้ชื่อง่าย ๆ ล้อกับ Doc Club คือแพลตฟอร์มชื่อ “Film Club” เราคงทำงาน distribute เพิ่มเติม ที่ไม่ใช่หนังสารคดีอย่างเดียว ขณะเดียวกันเราคงจะทำคอนเทนต์เพิ่มเติมอีก เพราะเรารู้สึกว่าวงการหนังเปลี่ยนไป มีมิติอื่น ๆ ที่น่าพูดอีกเยอะ แต่ว่าไม่มีใครทำ ไม่มีแพลตฟอร์มออนไลน์ที่พูดถึงภาพยนตร์ล้วน ๆ จริง ๆ แล้วก็พูดในหลาย ๆ แง่มุม นี่น่าจะเป็นสิ่งที่เราคิดว่าจะขยับต่อไป และน่าจะเริ่มทำในปีนี้