สุไลมาน ดาราโอะ:ชาวประมงพื้นบ้านผู้อยากเห็นปูม้าเนื้ออร่อยอยู่คู่ทะเลใต้ไปนาน ๆ
"คนนอกพื้นที่ที่เคยมากินปูม้าของชาวประมงพื้นบ้านปะนาเระ มักบอกว่า เนื้อปูที่นี่ละลายในปาก เป็นก้อน รสชาติหวาน อาจเพราะที่นี่มีพื้นที่ทราย อาหารปูดีเทียบกับเขตอื่นในปัตตานีที่เป็นดินโคลน" ใต้ร่มไม้ใหญ่บนชายหาด สุไลมาน ดาราโอะ ทอดสายตามองออกไปยังผืนทะเลที่เขารักอย่างภาคภูมิใจ
ประธานชมรมประมงพื้นบ้าน อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี วัย 44 ปี คนนี้ เล่าว่า “ปูม้า” คือจุดเด่นของสัตว์น้ำในพื้นที่ปะนาเระ และการจับปูม้าก็เป็นส่วนสำคัญของวิถีประมงพื้นบ้าน เพราะกว่า 80% ของประมงพื้นบ้านในปะนาเระมีอวนสำหรับจับปูในครอบครอง ทว่า ตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา ปะนาเระเกิดปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์น้ำน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด สาเหตุเพราะการเข้ามาของอวนรุนและอวนลาก ซึ่งเป็นรูปแบบการทำประมงหลักของเรือประมงพาณิชย์ ปัญหานี้ยังลุกลามไปทั่วพื้นที่อื่น ๆ ในปัตตานี ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของชาวประมงพื้นบ้านและประมงแนวชายฝั่ง ในการเรียกร้องมาตรการรัฐเพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว
สุไลมานและชาวบ้านจำนวนมากจึงเริ่มหวั่นใจว่า ที่สุดแล้วในอนาคต ปูม้าคุณภาพดีเนื้ออร่อยที่เขาคุ้นรสชาติมาตั้งแต่เด็กจะสูญหายไปตลอดกาลเพราะวิธีการประมงแบบนี้ สุไลมานจึงต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อปกป้องสิ่งที่เขารัก และเพื่อส่งต่อธรรมชาติอันอุดมให้ลูกหลานชาวปะนาเระ
ย้อนไปในวัยเด็ก สุไลมานเติบโตขึ้นด้วยวิถีแห่งชาวประมงพื้นบ้าน คลื่นลมทะเล หยาดเหงื่อ และอุปกรณ์ประมง แทบจะหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เพราะตั้งแต่จำความได้ ภาพที่สุไลมานเห็นจนชินตาคือพ่อและแม่ออกเรือหาปลาและทำประมงพื้นบ้าน ตัวเขาเองหลังเรียนจบชั้น ป.6 ก็อาศัยความคุ้นเคยกับการเป็นลูกทะเล ออกเดินทางไปทำงานอาชีพประมงในน่านน้ำแถบมาเลเซีย กอดกุมวิถีแห่งทะเล เรียนรู้ประสบการณ์และการเติบโต พบพานปัญหาแห่งคลื่นลม และการเปลี่ยนผันของธรรมชาติอยู่หลายปี
เมื่อถึงวัยเกณฑ์ทหาร สุไลมานก็หวนสู่บ้านเกิดเพื่อทำภารกิจรับใช้ชาติให้ลุล่วง จากนั้นก็ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม และเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ควบคู่กับการเรียนรู้วิถีชุมชนการประมงชายฝั่งในพื้นที่จังหวัดอื่นทั่วประเทศ อย่าง ระยอง ชลบุรี ก่อนกลับสู่ปะนาเระอีกครั้ง เพื่อสานต่อภารกิจฟื้นฟูอาชีพประมงพื้นบ้านอย่างเต็มตัวในปี 2554 โดยมีประกายไฟสำคัญคือภาพความลำบากยากแค้นของคนรอบตัวจากการลดลงของสัตว์น้ำ ส่งให้เขามุ่งมั่นเชื่อมโยงชุมชนประมงในปะนาเระให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น และพยายามสร้างเครือข่ายชุมชนประมงในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเลอื่น ๆ
ก่อนหน้านี้ ปัตตานีมี สมาคมชาวประมงพื้นบ้านปัตตานี อยู่ก่อนแล้ว มีบทบาทในการรวบรวมผู้คนและชุมชนชาวประมงในปัตตานีเข้าด้วยกัน และเป็นตัวกลางประสานระหว่างหน่วยงานรัฐกับชาวประมง จนกระทั่งเกิดการรวมกลุ่มย่อยในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ชมรมประมงพื้นบ้าน อ.ปะนาเระ ในปี 2550 มีบทบาทในการช่วยทำความเข้าใจกับสมาชิกและชาวบ้านในพื้นที่ ให้ตระหนักถึงปริมาณสัตว์ทะเลที่ลดลงอย่างน่าใจหายในช่วงที่ผ่านมา กำชับให้งดการใช้เครื่องมือประมงที่ก่อผลเสียในระยะยาว เช่น อวนลาก อวนรุน และอวนตาถี่ ที่มักจะกวาดสัตว์ทะเลทั้งฝูงขึ้นมาในครั้งเดียว ทำให้ทั้งสัตว์ทะเลตัวแม่พันธุ์ที่อุดมไปด้วยไข่ และสัตว์ทะเลที่ยังไม่โตเต็มไวไม่มีโอกาสได้แพร่พันธุ์ต่อ รวมทั้งคอยย้ำชาวประมงในพื้นที่ ให้ปล่อยแม่พันธุ์สัตว์น้ำที่จับได้กลับคืนสู่ท้องทะเล
แม้ชาวประมงจำนวนมากจะเข้าใจเรื่องผลกระทบที่มีต่อสัตว์น้ำและพยายามปรับวิถีการทำประมงให้สอดรับกับธรรมชาติ แต่ชาวประมงอีกไม่น้อยเช่นกันก็มีปัญหาสำคัญด้านรายได้ ค่าซ่อมบำรุงอุปกรณ์ต่าง ๆ มีราคาแพง นำสู่การติดหนี้เถ้าแก่แพปลา ด้วยระบบการกู้ยืมเครื่องมือประมง แต่ต้องถูกผูกสัญญาขายให้แพเดียว และยอมขายสัตว์น้ำที่หามาด้วยน้ำพักน้ำแรงอันเหนื่อยยากในราคาต่ำกว่าท้องตลาด ทำให้ต้องจับสัตว์น้ำในปริมาณมากมาชดเชยราคาที่ตกต่ำ ทางออกของชาวประมงหลายรายจึงไม่พ้นการใช้อวนลากและอวนรุน ที่ทำร้ายธรรมชาติซ้ำแล้วซ้ำอีก
ถึงอย่างนั้น ชมรมประมงพื้นบ้าน อ.ปะนาเระ ก็ยังคงทำงานอย่างหนักในการควบคุมและเจรจากับมิตรสหายชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ ให้เข้าใจถึงปัญหาที่มากับอุปกรณ์เหล่านี้ โดยพยายามควบคุมให้ปะนาเระเป็นพื้นที่ประมงสีขาวปลอดเครื่องมือผิดกฎหมาย เพราะหากมีปัญหา การขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ก็จะเป็นไปได้ยาก
"ถ้าเราไม่ใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย เวลาเราพูดคนก็จะฟังเรามากขึ้น เพราะเราคือผู้ดูแลธรรมชาติ มิใช่เพียงผู้ทำประมง" สุไลมานย้ำ
จวบจนปี 2551 การรวมตัวเรียกร้องและพยายามพิสูจน์ตัวเองของชาวประมงพื้นบ้านก็เริ่มเป็นผล เมื่อมีคำสั่งประกาศจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ห้ามใช้อวนรุนและอวนลากในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ไม่นานนักชาวประมงพื้นบ้านก็สัมผัสได้ถึงปริมาณของสัตว์น้ำที่เริ่มเพิ่มพูนขึ้น ทำให้ชมรมต่าง ๆ รวมกลุ่มกันเข้มแข็งและมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาอีกเปลาะที่ต้องแก้ เพราะแม้ชมรมประมงพื้นบ้าน อ.ปะนาเระ จะขอความร่วมมือชาวประมงพื้นบ้านให้ไม่ใช้เครื่องมือการจับสัตว์น้ำที่ผิดกฎหมาย หรือการจับสัตว์น้ำในปริมาณมากที่มีโอกาสได้สัตว์น้ำที่ยังไม่โตเต็มวัย ได้ในระดับหนึ่ง แต่เครื่องมือพื้นบ้านตามฤดูกาล ได้แก่ อวนปลาทู อวนกุ้ง อวนปู ก็มีโอกาสที่จะจับได้สัตว์น้ำที่เป็นแม่พันธุ์อยู่ดี
จวบจนราวปี 2555-2556 ปัญหาดังกล่าวก็ค่อย ๆ คลี่คลาย เมื่อกรมประมงได้เข้ามาสนับสนุนการทำ ธนาคารปูม้า ผ่านการให้ความรู้ด้านวิชาการ และให้งบประมาณปีละ 20,000 บาท ทำแนวเขตกั้นพื้นที่ห้ามจับสัตว์น้ำขนาดเล็ก สำหรับอนุบาลสัตว์น้ำที่ยังไม่โตเต็มไว
หลักการของธนาคารปูม้า คือ เมื่อชาวประมงพื้นบ้านจับปูม้าที่เป็นแม่พันธุ์ได้ จะต้องส่งให้ชมรมประมงพื้นบ้าน อ.ปะนาเระ นำไปเลี้ยงดูในพื้นที่ส่วนกลางจนฟักออกมาเป็นตัว ทำการดูแลเบื้องต้น ก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อให้ลูกปูม้ามีโอกาสเติบโตให้สามารถจับได้อีกในอนาคต เรียกได้ว่าเป็นการงดการขายปูไข่ แลกกับการได้กินเนื้อปูม้านาน ๆ
สุไลมานเล่าว่า หลังจากดำเนินการไป เขาและพรรคพวกชาวเลสัมผัสได้ถึงปริมาณปูม้าที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ปะนาเระ จากเดิมที่สามารถจับปูม้าได้แค่ในช่วงเดือนตุลาคมจนถึงพฤศจิกายน หรือฤดูมรสุม ที่น้ำและคลื่นพัดปูมาติดอวนเท่านั้น กลับกลายเป็นสามารถจับปูม้าได้ตลอดทั้งปี เมื่อดูแลธรรมชาติได้ดี ดอกผลแห่งความอุดมสมบูรณ์จึงเริ่มผลิบาน
"ชาวเลต้องก้าวไกลกว่าแค่จับสัตว์น้ำ แต่ต้องคิดถึงการฟื้นฟูทรัพยากร และเป็นมิตรกับทรัพยากร เพื่อการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน ผ่านการสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้ทุกคนมีส่วนร่วม" สุไลมานอธิบายวิสัยทัศน์หลักของชมรมฯ เพราะชีวิตพวกเขาคือทะเล และการทำประมงไม่ใช่เพียงอาชีพที่หล่อเลี้ยงชีวิต แต่คือตัวตนที่สั่งสมมารุ่นสู่รุ่น
ความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ นำพาชมรมประมงพื้นบ้าน อ.ปะนาเระ เข้าร่วมเป็นเครือข่ายฟื้นฟูธรรมชาติกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทำให้ได้รับการสนับสนุนเชิงวิชาการ และสร้างเครือข่ายกับจังหวัดริมฝั่งทะเลทั่วประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนวิธีการจัดการปัญหา และอยู่ร่วมกับธรรมชาติกับชุมชนอื่น ๆ นอกจากนี้เทศบาลในพื้นที่เองก็ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี ผ่านการสร้างสถานที่สำหรับดำเนินการต่าง ๆ ให้
ไม่ใช่เพียงแต่ภาครัฐที่เข้ามาให้การสนับสนุน แต่ภาคเอกชนหลายแห่ง เช่น ซีพี ออลล์ ปตท. ก็เข้ามาร่วมในมิติกิจกรรมเพื่อสังคม ชมรมฯ ยังร่วมกับเอสซีจี จัดทำโครงการโรงเรียนชาวเล ที่เป็นเหมือนโรงเรียนสอนอาชีพและวิถีชุมชนให้เด็ก ๆ ที่กำลังเติบโต ได้เรียนรู้วิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านอีกด้วย
“อาชีพประมงต้องเรียนรู้จากสนามจริงครับ แต่ตามกฎหมายเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีห้ามขึ้นไปทำงานบนเรือประมง ซึ่งถ้าเขาขึ้นไปไม่ได้ก็เรียนรู้การสืบทอดวิถีของชุมชนไม่ได้ ดังนั้นเราจึงวางแผนทำโครงการโรงเรียนชาวเลขึ้น” สุไลมาน บอก แล้วเล่าถึงความฝันของเขาว่า อยากทำให้โรงเรียนชาวเลเป็นระดับนานาชาติ หมายถึงชาวต่างประเทศสามารถมาเรียนรู้ดูงานและแลกเปลี่ยนความรู้กันได้ ที่ผ่านมามีชาวมาเลเซียเข้ามาดูงานในพื้นที่และขอความรู้ในการฟื้นฟูทะเลแล้ว ซึ่งการเชื่อมโยงเครือข่ายกับชุมชนอื่น ในประเทศอื่น ก็ล้วนเป็นสิ่งสำคัญต่อการรักษาทรัพยากรธรรมชาติทั้งสิ้น
เพราะชุมชนประมงพื้นบ้าน หากินกับของดีในท้องทะเลกว้างใหญ่ มีลมหายใจด้วยทรัพยากรธรรมชาติ หากไม่รักษาสิ่งล้ำค่านี้เอาไว้ ชุมชนก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้ยืนยาว
เรื่อง: วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์