ลูมา มูเฟลห์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนผู้ลี้ภัยแห่งแรกในอเมริกา เป้าหมายที่อยากพิสูจน์ว่า "ผู้ลี้ภัยไม่ได้น่าสงสาร"
“ผู้คนกว่า 65.3 ล้านคนถูกบังคับให้ออกจากบ้านเกิดของตัวเองเพราะสงคราม ตัวเลขที่มากที่สุดคือ 11 ล้านคนซึ่งเป็นพลเมืองจากประเทศซีเรีย ถึงตอนนี้พวกเขาส่วนใหญ่ยังอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย ซึ่งไม่สามารถนิยามว่าเป็นคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ที่ผ่านมาเราไม่เคยเจอตัวเลขที่สูงเท่านี้มาก่อน นี่คือจำนวนผู้ลี้ภัยที่มากที่สุด นับตั้งแต่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2” ลูมา มูเฟลห์ (Luma Mufleh) ผู้อพยพชาวจอร์แดน กล่าวเป็นประโยคแรกบนเวที TED Talk
สำหรับใครหลายคน ลำพังการจะตัดสินใจย้ายที่อยู่ ไปสู่ประเทศอื่นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่แล้ว แม้สาเหตุจะเกิดจากความสมัครใจก็ตาม เมื่อเทียบกับผู้คนอีกมากมายที่ถูกบีบให้ต้องอพยพเปลี่ยนที่อยู่เพราะ ‘ความจำเป็น’ การเปลี่ยนแปลงนี้จึงไม่ใช่การย้ายแต่เป็นการลี้ภัย
“ฉันเป็นคนอาหรับ ฉันเป็นผู้อพยพ ฉันเป็นมุสลิม ฉันใช้เวลา 12 ปีที่ผ่านมาทำงานกับผู้ลี้ภัย อ้อ ฉันเป็นเกย์ด้วย นี่ทำให้ทุกวันนี้ฉันเป็นที่ชื่นชอบมากเลยล่ะ” เธอเสริม
บรรพบุรุษชาวซีเรียของลูมา อพยพออกจากบ้านเกิดในปี 1964 ซึ่งเป็นปีแรกที่ซีเรียตกอยู่ภายใต้ระบอบอัสซาด ระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยมที่ชนชั้นสูงและเหล่านักธุรกิจได้รับการเอื้อประโยชน์จากชนชั้นปกครอง ส่วนชนชั้นกลางและคนจนถูกกันออกจากความมั่งคั่งของประเทศ ใครก็ตามที่ต่อต้านรัฐบาลจะต้องถูกยึดทรัพย์และคุมขัง ความกดดันทั้งหมดนี้เป็นชนวนที่นำไปสู่สงครามการเมืองซึ่งลุกลามและยากที่จะยับยั้ง
ขณะนั้นคุณยายของเธอตั้งครรภ์ได้ 3 เดือนก่อนที่จะต้องเก็บข้าวของพร้อมกับหอบลูกอีก 5 คนหนีข้ามไปยังจอร์แดน คุณตาของลูมาตัดสินใจอยู่ต่อ เพราะไม่เชื่อว่าสถานการณ์จะเลวร้ายลงไปกว่านั้น แต่หนึ่งเดือนต่อมา เขาก็ต้องลี้ภัยตามภรรยา เพราะน้องชายแท้ ๆ ของเขาถูกลงโทษให้ตายอย่างทรมาน เพราะการแข็งข้อไม่ยอมให้รัฐบาลยึดโรงงานของครอบครัวไป สองสามีภรรยาและลูก ๆ อีก 6 คน จึงต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่ในจอร์แดน
แม้ช่วงแรกชีวิตของครอบครัวนี้จะดำเนินไปอย่างยากลำบาก แต่ด้วยความขยันขันแข็ง บวกกับการมีหัวการค้า พวกเขาก็สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวจนกลายเป็นพลเมืองที่ร่ำรวยของจอร์แดนได้ในที่สุด 11 ปีหลังจากนั้น ลูมา มูเฟลห์ หลานสาวคนแรกของครอบครัวก็ลืมตาดูโลก แน่นอนว่าด้วยสภาพครอบครัวอันเพียบพร้อม เธอจึงเติบโตมาในฐานะคุณหนูที่ร่ำรวยและเต็มไปด้วยความรัก แต่หนทางที่ดูเหมือนจะเป็นไปได้ด้วยดี ก็ต้องสะดุดลงอีกครั้ง หลังจากลูมาค้นพบว่าตัวเองมีรสนิยมทางเพศไม่เหมือนคนอื่น
“ฉันเคยฟังสิ่งที่ยายเล่าว่าครอบครัวเราต้องหนีจากซีเรียอย่างไร และมันลำบากแค่ไหนที่ต้องเริ่มต้นใช้ชีวิตในที่ที่ไม่มีอะไรเป็นของคุณสักอย่าง แต่ไม่เคยคิดเลยว่ามันจะเกิดขึ้นกับตัวฉันเอง หลังจากเรียนจบฉันจำเป็นต้องลี้ภัยทางการเมือง เพราะฉันเป็นสมาชิกของคนกลุ่มนี้ พวกคุณอาจจะไม่เข้าใจนะ แต่ในประเทศของฉัน คุณสามารถโดนประหารชีวิตได้ แค่เพราะคุณเป็นเกย์”
ปี 2001 เธอจำต้องยอมละทิ้งสถานะพลเมืองจอร์แดน ครอบครัวที่ร่ำรวย และสังคมที่เพียบพร้อม มาสู่แผ่นดินแห่งอิสรภาพอย่างสหรัฐอเมริกา ประเทศที่เธอไม่มีทางรู้เลยว่ามีอะไรรออยู่ “ตอนที่ย้ายมา ฉันไม่รู้สึกเลยว่าฉันมีสิ่งที่เรียกว่า ‘บ้าน’ อยู่ ฉันไม่ได้เป็นพลเมืองจอร์แดนอีกแล้ว และฉันก็ไม่ได้เป็นพลเมืองอเมริกันด้วย สังคมไม่เข้าใจตัวตนของฉัน พวกเขาสงสัยว่ามุสลิมจะเป็นเกย์ได้ยังไง ความโดดเดี่ยวที่ฉันค้นพบเวลานั้น ยังยากที่จะหาคำใดมาบรรยายเป็นคำพูดอยู่” ลูมาบอก
‘คุณหนูตกอับ’ อาจเป็นคำเรียกที่เหมาะกับเธอที่สุดในช่วงเวลานั้น เพราะหลังจากลูมาสารภาพกับครอบครัวว่าชอบผู้หญิง พวกเขาก็ดูเหมือนจะไม่อยากจะยุ่งเกี่ยวกับเธออีก ลูมาต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่ในสถานะผู้ลี้ภัย แน่นอนว่ามันไม่สวยงามนักหรอก เพราะต่อให้เธอจะเรียนจบจากวิทยาลัยชั้นนำและมีความรู้ติดตัวมากเพียงใด งานที่ผู้ลี้ภัยอย่างเธอทำได้ก็ยังคงเป็นงานล้างจาน ล้างห้องน้ำ และย่างเนื้ออยู่ที่ร้านอาหารบนหุบเขาด้วยค่าแรงที่ต่ำสุด ๆ อยู่ดี ลูมาทำงานเก็บเงินอยู่ที่นั่นนานเกือบปี ก่อนจะตัดสินใจย้ายที่อยู่อีกครั้ง
ปี 2004 หลังจากย้ายมาอยู่ที่เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ลูมาขับรถหลงมายังอพาร์ตเมนต์แถบชานเมืองคลาร์กตัน ก่อนจะเห็นเด็ก ๆ กำลังเตะฟุตบอลที่ขาดรุ่งริ่งกันด้วยเท้าเปล่า เธอเฝ้ามองพวกเขาอยู่เป็นชั่วโมง ก่อนจะสันนิษฐานว่าเด็ก ๆ คงไม่มีของเล่นที่ควรจะมี นี่คือภาพที่เธอไม่ได้เห็นอีกเลยนับตั้งแต่อพยพมายังสหรัฐฯ ลูมาตัดสินใจลงจากรถและไปเล่นฟุตบอลกับเด็ก ๆ เหล่านั้น “ฉันถามพวกเขาว่าเคยเล่นเป็นทีมไหม พวกเขาตอบว่าไม่เคย แต่ก็อยากจะลองเล่นดูเพราะเคยเห็นในโทรทัศน์ พวกเราจึงเริ่มตั้งทีมกัน และฉันก็ชนะ กลุ่มเด็กเหล่านี้มอบช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย ความยากจน และมนุษยธรรมให้กับฉัน”
การเล่นฟุตบอลกับเด็ก ๆ หลังเลิกงานกลายเป็นกิจวัตรประจำวันของลูมา เธอเล่าว่าเด็ก ๆ ที่อยู่ในเมืองคลาร์กตันล้วนมาจากครอบครัวผู้อพยพที่ลี้ภัยมาจากประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม ไม่ว่าจะเป็น โซมาเลีย ซูดาน เอธิโอเปีย และอัฟกานิสถาน เธอเริ่มนำเงินที่หาได้มาซื้อของเล่น และสิ่งของจำเป็นให้เด็ก ๆ แถมยังนำทักษะฟุตบอลที่เธอมีอยู่แล้ว รวมถึงความรู้พื้นฐานโดยเฉพาะภาษาอังกฤษมาสอนพวกเขา เพราะพ่อแม่ของผู้ประสบภัยหลายครอบครัวไม่สามารถอ่านและเขียนภาษาอังกฤษได้
“เด็ก ๆ บางคนหอบความทรงจำที่คนนับร้อยในหมู่บ้านถูกสังหาร พ่อของพวกเขาถูกพวกตาลีบันจับตัวไป และกลับมาในอีก 2-3 เดือนด้วยสภาพที่ไม่เหมือนเดิมอีก บางครอบครัวที่หนีไปยังปากีสถาน เด็กชายที่โตสุด 2 คนซึ่งมีอายุ 10 ปี และ 8 ปี ต้องทอพรม 10 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว” ลูมาเล่าถึงความเจ็บปวดทางจิตใจที่ยังคงอยู่ของเด็ก ๆ ผู้ลี้ภัยที่เธอได้คลุกคลี และเล่าด้วยว่า หลายคนอาจนึกภาพไม่ออกว่าบรรดาผู้ลี้ภัยตื่นเต้นดีใจแค่ไหน เมื่อรู้ว่าพวกเขาได้รับการอนุมัติให้ตั้งรกรากใหม่ที่สหรัฐอเมริกาได้ มันไม่ต่างจากการถูกรางวัลครั้งใหญ่ เพราะมีเพียง 0.1% ของผู้ลี้ภัยเท่านั้นที่ได้รับโอกาสนี้
เวลาผ่านไปจากเด็กกลุ่มเล็ก ๆ ที่เธอทั้งสอนภาษาอังกฤษและเตะฟุตบอลด้วย ก็เริ่มมีเด็กจากครอบครัวผู้ลี้ภัยอื่น ๆ มาเรียนกับเธอมากขึ้น ลูมาตัดสินใจว่าคงถึงเวลาที่เธอต้องทำอะไรสักอย่าง ปี 2006 เธอจึงใช้เงินเก็บก้อนสุดท้าย ก่อตั้งองค์กรเล็ก ๆ ชื่อว่า The Fugees เพื่อช่วยเหลือครอบครัวผู้อพยพจากดินแดนต่าง ๆ เป็นครั้งแรก เธอนำกีฬาฟุตบอลมาสอนเด็ก ๆ ให้เป็นกิจกรรมยามว่าง และเปิด The Fugees Academic สถาบันการเรียนการสอนที่มอบโอกาสทางการศึกษาให้เด็ก ๆ ผู้ลี้ภัยได้เข้ามาเรียนรู้ เพื่อจะได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้คนในสังคมอันเต็มไปด้วยการแข่งขันและความหลากหลายของเชื้อชาติได้อย่างเป็นปกติสุข
“เวลามองตาของพวกเขา คุณจะไม่มีทางรู้เลยว่าแววตาคู่เดียวกันนี้เคยเห็นแม่ของเขาถูกข่มขืน พ่อถูกตัดนิ้ว เด็กคนหนึ่งเห็นกระสุนเจาะเข้าที่ศีรษะยาย เพราะเธอไม่ยอมให้พวกกบฏเอาตัวเขาไปเป็นทหาร การเดินทางทั้งหมดมันโหดร้าย และตามหลอกหลอนพวกเขาไม่มีหยุด” เพราะฉะนั้น เหตุผลสำคัญของลูมาในการสร้างโรงเรียนนี้ขึ้นมา ก็เพราะหวังว่าจะเห็นเด็ก ๆ ค่อย ๆ เรียนรู้ มีการปรับตัว มีความมุ่งมั่น มีความรักในชีวิต และซาบซึ้งในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ เธอหวังว่าทั้งหมดนี้จะช่วยให้พวกเขาข้ามผ่านเรื่องราวที่ผ่านมาไปได้
10 ปีต่อมา จากนักเรียนหลักสิบก็ขยายกลายเป็นหลักพัน สถาบันของลูมาเติบโตแข็งแรงขึ้น กระทั่งกลายเป็นโรงเรียนผู้ลี้ภัยแห่งแรกที่ได้รับการรับรองจากสหรัฐอเมริกาให้เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐาน แถมทีมฟุตบอล The Fugees ก็กลายมาเป็นทีมสุดแกร่งแห่งเมืองคลาร์กตันไปแล้วอีกด้วย ปีเดียวกันนั้นเอง ลูมา มูเฟลห์ ได้รับการเสนอชื่อให้เป็น CNN Hero ประจำปี 2016 เพราะการกระทำของเธอได้ช่วยเหลือเด็ก ๆ หลายพันคนจาก 22 ประเทศให้ได้รับการศึกษาที่พิสูจน์แล้วว่า เป็นปัจจัยสำคัญที่พาพวกเขาไปสู่อนาคตที่มีคุณภาพ
“อย่าสงสารผู้ลี้ภัยเลย จงเชื่อในตัวพวกเขา” ลูมากล่าว “เพราะเด็ก ๆ ที่ผ่านเรื่องราวแสนเลวร้ายมา เข้มแข็ง และเก่งกาจกว่าที่พวกคุณคิด”
ที่มา
https://www.fugeesfamily.org/founder
https://www.ted.com/talks/luma_mufleh_don_t_feel_sorry_for_refugees_believe_in_them
https://www.youtube.com/watch?v=EoZT7uG7Yuc
https://www.atlantamagazine.com/news-culture-articles/fugees-family-founder-luma-mufleh-breaking-barriers-discrimination-whats-next-refugee-nonprofit/