บรูซ กิลเดน ช่างภาพแนวสตรีท ผู้ไม่สนเรื่องจริยธรรม
"ผมไม่มีจริยธรรม ทุกคนบอกว่าคุณต้องมีจริยธรรม แต่แหม่เฮ้ย อย่ามาเยอะกับผม!" บรูซ กิลเดน (Bruce Gilden) ช่างภาพแนวสตรีทชื่อดังให้สัมภาษณ์ขณะถ่ายภาพบนท้องถนนในนิวยอร์กเมื่อปี 2008 (WNYC)
ก่อนเสริมว่า นักข่าวที่ว่ากันว่า ลงพื้นที่ที่เสี่ยงอันตรายนั้น ก็ไม่เท่ากับการถ่ายภาพบนถนนอันหนาแน่นไปด้วยผู้คนในมหานคร ซึ่งสำหรับเขามันอันตรายกว่าเยอะ เพราะเขาเองก็เคยลงพื้นที่ในเฮติในช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่ที่นั่นก็ไม่มีใครสนใจว่าคุณจะถ่ายรูปอะไร ขณะที่การถ่ายรูปในนิวยอร์กนั้น
"ผู้คนที่นี่เขาแคร์นะ มันไม่ต่างไปจากพื้นที่สู้รบ"
การถ่ายภาพบนท้องถนนหรือภาพถ่ายแนวสตรีทนั้น เป็นสาขาหนึ่งของการถ่ายภาพที่บันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละวันในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งผู้ถ่ายสามารถถ่ายภาพของคนแปลกหน้าได้ไม่ว่าคนคนนั้นจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ภาพแนวนี้พัฒนามาตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นภาพเขียนที่ศิลปินต้องการบันทึกและถ่ายทอดจังหวะชีวิตของเมือง ณ เวลานั้น ๆ ก่อนที่กล้องถ่ายรูปจะสามารถหามาครอบครองได้ง่าย และพกพา รวมถึงใช้งานได้สะดวก
ภาพถ่ายบนท้องถนนจึงมีคุณค่าทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ในตัวเอง คล้ายกับบันทึกจดหมายเหตุบอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานั้น ๆ และก็ยังมีคุณค่าในฐานะของงานศิลปะ (ซึ่งจะมากหรือน้อยคงขึ้นอยู่กับคนดูที่จะตัดสิน)
ผลงานของกิลเดน มีจุดเด่นอยู่ที่การโฟกัสไปที่ความรู้สึกหรืออากัปกริยาของตัวบุคคลในจังหวะเวลานั้น หน้าตาของบุคคลจึงเป็นองค์ประกอบหลักของภาพ (จนบางภาพมองไม่เห็นถนนหรือบรรยากาศโดยรอบแม้แต่น้อย) การถ่ายของเขาจึงต้องเข้าประชิดคนแปลกหน้าจนบางครั้งไปล่วงล้ำระยะส่วนตัว (personal space) ของคนแปลกหน้า และเขาก็ยังชอบใช้แฟลชฉายไปที่คนแปลกหน้าที่เขาสนใจอีกด้วย
"ผมถ่ายในระยะที่ใกล้มาก จนคนไม่คิดว่าผมกำลังถ่ายพวกเขาอยู่ กลับหันไปมองด้านหลัง คนดู (รูป) จะรู้สึกเหมือนมีส่วนร่วม เพราะผมอยู่ใกล้มาก คนดูจะรู้สึกเหมือนกับว่าเขาอยู่ระหว่างกลางขณะเกิดเหตุ" กิลเดนกล่าว
"ผมใช้แฟลชบ่อยเพราะแฟลชช่วยในการสร้างภาพสะท้อนความรู้สึกของผมที่มีต่อเมือง ทั้งพลังงาน ความกดดัน ความกังวลที่คุณจะได้เจอในพื้นที่นี้ สิ่งที่ผมเห็นและสิ่งที่คนดูควรจะเห็นก็คือ หลายคนเดินในเมืองโดยหลงอยู่ในความคิดของตัวเอง โดยไม่ได้สนใจสิ่งรอบข้าง"
ภาพของกิลเดนมีบุคลิกที่ต่างจากภาพแนวสตรีททั่วไปอย่างชัดเจน ด้วยวิธีการถ่ายของเขาที่จู่โจมคนแปลกหน้าในระยะประชิด และยังใช้แฟลชกระตุ้นม่านตาคนในภาพ ทำให้เห็นสีหน้าและท่าทางของคนในจังหวะที่ยากจะเห็นได้ตามปกติ ผลงานของเขาจึงไม่เหมือนใคร ช่วยสร้างชื่อและทำให้เขาได้รับรางวัลมากมาย
ในสหรัฐฯ การถ่ายภาพเป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (ผ่านภาพถ่าย) ช่างภาพแนวสตรีทอย่างกิลเดนจึงไม่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาทางกฎหมาย ซึ่งในยุคของเขา (กิลเดนเกิดปี 1946) คนที่จะทำอย่างเดียวกันคงมีไม่มาก และสำนึกเรื่องความเป็นส่วนตัวของคนทั่วไปก็ไม่ได้เข้มข้นเท่ายุคปัจจุบัน ที่ภาพถ่ายแย่ ๆ หนึ่งภาพอาจกลายเป็น “มีม” ที่แพร่หลายอยู่บนอินเทอร์เน็ตอย่างชั่วนาตาปี การถ่ายภาพแบบเขาจึงถูกวิจารณ์อย่างมาก และบางคนก็ไม่เห็นว่า นั่นเป็นภาพแนวสตรีทที่แท้จริง
"สำหรับผม 'ภาพถ่ายบนท้องถนน' เป็นงานศิลปะที่กลมกลืนกันไประหว่างผู้คนและสิ่งแวดล้อมบนถนน การถ่ายภาพการแสดงออกทางใบหน้าอย่างที่ไม่คาดคิดนั้น คุณต้อง 'บันทึก' โดยอาศัยการเฝ้าสังเกตด้วยความอดทน ไม่ใช่ 'สร้าง' มันขึ้นมา ด้วยการจู่โจมระยะประชิดด้วยแสงแฟลชอย่างไร้เกียรติ" ยูทูเบอร์ในชื่อ Celestial Traveler กล่าว
"'พลังงานและความกดดัน...' เขานั่นแหละที่กดดันคนอื่นด้วยการคุกคามแล้วถ่ายรูปพวกเขา เป็นฉันคงไม่ชอบ" Kat ily กล่าว
การถ่ายภาพคนแปลกหน้าโดยไม่ได้รับความยินยอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าจู่โจมระยะประชิดจึงถูกวิจารณ์ค่อนข้างมากในปัจจุบัน แม้ว่าหากมองเผิน ๆ ตัวภาพสามารถดึงดูดคนดูได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อคนดูจำนวนมากได้รู้ถึงที่มาของภาพ ผู้เผยแพร่หรือเจ้าของผลงานก็อาจตกเป็นเป้าของการตำหนิได้
เหมือนกรณีของ ทัตซึโอะ ซูซูกิ (Tatsuo Suzuki) ช่างภาพแนวสตรีทจากโตเกียว ซึ่ง (เคย) ถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในทูตของแบรนด์ Fujiflim และมีการทำวิดีโอโปรโมตกล้องรุ่น Fujifilm X100V ชิ้นหนึ่ง โดยมีซูซูกิเป็นคนเดินเรื่อง แต่ทันทีที่วิดีโอดังกล่าวขึ้นออนไลน์ ก็มีคอมเมนต์เข้ามาถล่มจนเละ กับวิธีการถ่ายภาพของซูซูกิที่จู่ ๆ ก็เอากล้องพุ่งเข้าหาเป้าหมาย โดยตอนแรกทำทีเป็นถ่ายทางอื่น ก่อนเดินเซตัวเข้าหาแล้วถ่ายภาพอย่างรวดเร็ว ซึ่งบางคนก็วิจารณ์ว่าวิธีการของเขา “น่าขนลุก” เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น Fujifilm ก็ลบวิดีโอดังกล่าว และถอดชื่อของซูซูกิออกจากการเป็นหนึ่งในทูตของแบรนด์ ซึ่ง Fujifilm เองก็ถูกวิจารณ์ที่ทำเช่นนั้น เพราะพวกเขาเป็นคนเผยแพร่เองแต่แรก
ฉะนั้น งานถ่ายภาพสไตล์กิลเดนถ้าคนไม่ชอบก็อาจจะเกลียดไปเลย โดยเฉพาะในโลกอินเทอร์เน็ตที่ผู้วิจารณ์ไม่ต้องเผชิญหน้ากับตัวผู้ถูกวิจารณ์โดยตรง ขณะที่กิลเดนไม่ได้สนใจเลยว่า ใครจะวิจารณ์เขาอย่างไร เขาพร้อมจะถ่ายเป้าหมายที่เขาสนใจไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นผู้มีอิทธิพล หรือยากูซา ซึ่งที่ผ่านมา (กว่า 40 ปี) เขาแทบไม่เจอปัญหากับตัวเลย
"ผมไม่ค่อยเจอ (ปัญหา) เลย เพราะผมรู้สึกผ่อนคลายที่จะทำ เอาล่ะ คุณจะต้องมีความกลัวอยู่บ้างเล็กน้อยว่าจะมีใครทำร้ายคุณรึเปล่า มันไม่ง่ายเลยที่จะยกกล้องขึ้นมาถ่ายภาพคนที่คุณไม่รู้จัก คุณไม่รู้ว่าเขาจะตอบรับกลับมาอย่างไร มันก็เป็นแบบนั้นหมดแหละ ไม่ว่าคุณจะอยู่ห่างจากเขาไปสามฟุตหรือสิบฟุต บางทีเขาอาจจะเดินมากับชู้รัก และเขาก็ไม่อยากถูกถ่ายภาพเนื่องจากเมียเขาอาจจะมาเห็นเขา คุณไม่มีทางรู้
"ทีนี้ อย่างที่บอก ผมประเมินทุกอย่างในชีวิตเป็นเปอร์เซ็นต์ ถ้าผมรู้สึกว่าโอกาสเป็นเปอร์เซ็นต์มันอยู่ข้างผม ผมก็รู้สึกสบาย ๆ ที่จะทำ แต่ถ้าเปอร์เซ็นต์มันไม่เข้าข้าง ผมก็รู้สึกไม่ค่อยผ่อนคลายละ ตัวอย่างเช่น เมื่อเจ็ดแปดปีก่อนผมเดินทางไปลิมา ประเทศเปรู ผมเดินบนถนนในย่านเสื่อมโทรมแห่งหนึ่งซึ่งแทบไม่มีใครเลย ผมนี่เดินโดยไม่ควักกล้องออกมาถ่ายเลย เพราะผมรู้โดยทันทีว่ามีโอกาสสูงมากที่จะมีใครสักคนพร้อมมีดพร้าวิ่งเข้าหาผมบอกว่า 'ส่งกล้องมาเดี๋ยวนี้' ผมเชื่อในสัญชาตญาณของตัวเอง นั่นไม่ได้แปลว่าคุณจะไม่ทำอะไรผิดพลาดเลย แต่ถ้าคุณรู้สึกผ่อนคลาย คนอื่นรู้สึกได้ ถ้าคุณรู้สึกเกร็งขึ้นมา คนอื่นเขาก็รู้สึกได้เหมือนกัน" กิลเดนกล่าว (Vice)