“แป้ง” ชื่อเรียกสสารแบบผง มีทั้งใช้กิน ใช้ทา หรือบางคนก็ใช้เรียกสารเสพติดบางอย่างว่า “มันคือแป้ง”
ถ้าพูดถึงแป้งขึ้นมาเดี่ยว ๆ เราคงระบุไม่ได้ว่าเจ้าผงสีขาวตรงหน้ามีไว้ใช้ทำอะไร แต่ถ้าถามถึงแป้งในตำนานที่อยู่คู่กับความสวยงามบนใบหน้าของสาวไทย “ผงหอมศรีจันทร์” เป็นหนึ่งในแป้งที่ไม่กล่าวถึงคงไม่ได้
แม้จะเคยเสื่อมความนิยมจนเกือบปิดตัวลงเพราะการแข่งขันที่ดุเดือดของตลาด แต่ด้วยความอดทน พร้อมเรียนรู้ และปรับตัวของ รวิศ หาญอุตสาหะ ทายาทรุ่นที่ 3 ของแบรนด์ “ผงหอมศรีจันทร์” และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด เขาจึงสามารถพลิกฟื้นและรีแบรนด์ (rebrand) ธุรกิจของครอบครัวที่มีอายุกว่า 70 ปี ให้กลายเป็นบริษัทที่ทำยอดขายได้เพิ่มขึ้นถึง 600% ภายในเวลาไม่กี่ปี ทั้งที่ตอนแรกตัวเขาเองไม่ได้มีความตั้งใจอยากจะรับช่วงต่อบริหารกิจการนี้เลย
“ผงหอมศรีจันทร์ ตอนแรกผมก็ไม่ค่อยสนใจหรอก ตอนนั้นมีความรู้สึกว่าควรจะเลิกทำซะ เพราะถ้าทำต่อเหมือนเดิม ดูแล้วมันลำบาก” รวิศ กล่าวกับรายการ “ตลาดนักคิด นักคิดการตลาด” ทางช่องทรูวิชั่น
เขาเล่าว่า ที่จริงแล้วความฝันส่วนตัวของเขาคือการทำงานด้านการเงิน แต่เพราะครอบครัวอยากให้เรียนด้านวิศวะ เขาจึงเลือกเข้าเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วไปทำงานที่บริษัทดีแทคต่อ ถึงอย่างนั้น เพราะความฝันเก่ายังแน่วแน่ รวิศจึงกลับไปคุยกับที่บ้านเพื่อขอไปเรียนด้านการเงินต่อ เมื่อที่บ้านก็เห็นแก่ความตั้งใจเขาจึงได้ไปเรียนระดับปริญญาโทด้านไฟแนนซ์ ที่ Vardertill University, Nashville TN ก่อนจะกลับเมืองไทย และเข้าทำงานที่ธนาคารซิตี้แบงค์ (ประเทศไทย) สมใจอยาก
ชีวิตของเขาคงจะราบรื่นต่อไปเช่นนั้น หากว่าปู่ของเขาไม่ล้มป่วย จนทำให้รวิศต้องกลับมาเลือกระหว่างการได้ทำงานที่เขารัก กับ การรับช่วงต่อธุรกิจที่เลี้ยงครอบครัวของเขามาถึง 3 รุ่น ในที่สุดรวิศก็เลือกอย่างหลัง เขาตัดสินใจลาออกจากธนาคารซิตี้แบงค์ในปี 2549 แล้วเริ่มต้นเข้ามาสานต่อธุรกิจของครอบครัว
จุดเริ่มต้นของ ผงหอมศรีจันทร์ มาจากร้านขายยาคูหาเล็ก ๆ ที่ก่อตั้งโดย พงษ์ หาญอุตสาหะ เขาจดทะเบียนชื่อบริษัท สหโอสถ จำกัด ใน พ.ศ. 2491 กิจการของบริษัทนี้เริ่มต้นจากการนำเข้าและจำหน่ายสารเคมี ก่อนจะเริ่มมีการผลิตเครื่องสำอางสูตรสมุนไพรจีน จนออกมาเป็นผงหอมทาหน้าซึ่งเป็นที่รู้จักของลูกค้าในภายหลัง
ก่อนที่รวิศจะมาบริหาร ศรีจันทร์สหโอสถ ธุรกิจ "ผงหอมศรีจันทร์" เป็นเพียงธุรกิจในครัวเรือนที่มีลักษณะเป็นโรงงานเล็ก ๆ และวางขายผลิตภัณฑ์แค่เพียงเฉพาะแห่ง เวลาจะซื้อผงหอมมาใช้ ถ้าไม่มีขายที่หน้าร้านก็ต้องฝากกันไปซื้อ ผงหอมศรีจันทร์จึงเป็นสินค้าที่รู้จักกันเฉพาะกลุ่ม เวลาผ่านไปเมื่อกลุ่มลูกค้าเริ่มเจอสินค้าที่น่าสนใจ และสะดวกในการซื้อหามากกว่า ความนิยมใน “ผงหอมศรีจันทร์” จึงค่อย ๆ ลดลงจนถึงระดับที่ว่าแทบไม่มีใครพูดถึง
วันแรกที่เข้ามาบริหารงานในฐานะกรรมการบริษัท รวิศพบว่าที่นี่ไม่มีแม้แต่คอมพิวเตอร์ไว้ใช้เลยด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น 2 ปีแรกของการทำงาน เขาจึงต้องเข้ามาจัดระบบองค์กรใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งเป็นภารกิจใหญ่มากสำหรับเขาที่จะเข้ามาเปลี่ยนบริษัทที่เคยอยู่แบบเดิม ๆ มานาน 60-70 ปี
การเข้ามาบริหารบริษัทที่ปู่สร้างขึ้น เพื่อให้ "ผงหอมศรีจันทร์" กลับมาเป็นที่รู้จักเหมือนเมื่อครั้งอดีต จึงเต็มไปด้วยโจทย์ที่ต้องแก้ไข เขาเริ่มจากการซื้อคอมพิวเตอร์มาใช้ในสำนักงานเพื่อวางระบบเอกสาร ทำบัญชีโกดัง สต๊อกสินค้า และอีกมากมายเสียใหม่ ส่วนปัญหาต่อไปของการบริหารงานในบริษัทที่อยู่มานานขนาดนี้ก็คือ คน
“มันไม่ง่ายเลยที่จะต้องเปลี่ยนความคิดของคนที่ทำงานมาตั้งแต่รุ่นพ่อ รุ่นปู่ คนที่ทำงานที่นี่นานที่สุด 50 ปี ก็ยังอยู่ ช่วงแรก ๆ เหนื่อยมาก แต่ตอนนี้เขาก็เริ่มเข้าใจ ยกตัวอย่างเช่น การส่งข้อมูลมาถึงคนที่ตัดสินใจได้ ซึ่งสมัยก่อน กว่าจะได้ข้อมูลอะไรต้องย้อนหลังกลับไป 6 เดือน เพราะไม่มีใครทำให้ เราเลยไปอธิบายเขาว่าทำไมเราต้องการข้อมูลในส่วนนี้” ด้วยความตั้งใจจริงของเขา รวิศทำให้พนักงานเชื่อได้แล้วว่า ทางที่เขาเลือกสำหรับบริษัทคือทางเลือกที่ถูกต้อง
ก้าวต่อไปของเขาก็คือ การรีแบรนด์ "ผงหอมศรีจันทร์" ซึ่งกลุ่มลูกค้าขณะนั้นเป็นคนรุ่นอายุ 35 ปีขึ้นไป รวิศต้องการปรับเปลี่ยนสินค้าให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ คือสักอายุ 20 ปี นั่นหมายความว่า สินค้าที่เขาผลิตต้องมีความทันสมัยมากกว่านี้
เขาเริ่มต้นหาข้อมูลจากการวิจัยตลาดของสินค้าประเภทเครื่องสำอาง ในส่วนวิจัยและพัฒนา (R&D) รวิศทำงานอย่างหนักเพื่อหาคำตอบให้ได้ว่า อะไรคือสิ่งที่ลูกค้าต้องการ เริ่มต้นที่ตัวผลิตภัณฑ์ที่เขาอยากพัฒนาผลิตภัณฑ์ผงหอมให้ใช้ง่ายกว่าที่เป็น ด้วยความที่มันเป็นเนื้อแป้ง ซึ่งใช้ยาก เพราะต้องผสมกับส่วนผสมอื่นอีกมากมาย เขาเลยพยายามหาสูตรการทำผงหอมใหม่ ๆ ออกมา เขาคิดไปถึงความเป็นไปได้ในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์มากมาย อย่างเช่นการทำผงหอมให้กลายเป็นครีม พอแห้งแล้วกลายเป็นแป้ง อาจจะทำให้ใช้ได้ง่ายกว่า
แม้จะคิดถึงความเป็นไปได้ต่าง ๆ นานา แต่ก็ต้องปรึกษาคนที่เชี่ยวชาญเพื่อทำให้สิ่งที่คิดไว้เป็นจริงขึ้นมาด้วย รวิศโทรศัพท์หาเพื่อนที่ทำงานอยู่กระทรวงวิทยาศาสตร์ ซึ่งเพื่อนก็ได้แนะนำว่าให้ลองไปขอปรึกษาที่สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ว่าควรทำอย่างไร จึงจะสามารถทำเครื่องสำอางที่มีคุณภาพ พร้อมทั้งราคาจับต้องได้ออกมาสู่ตลาด
การทำงานร่วมกับ สวทช. ทำให้บริษัทของรวิศมีงานวิจัยที่สามารถพัฒนาเครื่องสำอางชนิดใหม่ ๆ ขึ้นมาได้ถึง 40 อย่าง แต่ก่อนอื่นเขาจำเป็นต้องพยายามดึงเอาผลิตภัณฑ์เด่น ๆ ออกมาเป็นสินค้าใหม่ที่ทำให้คนหันมาสนใจใช้เครื่องสำอางแบรนด์ “ผงหอมศรีจันทร์” ภายใต้การบริหารของเขาเสียก่อน
เมื่อได้ผลิตภัณฑ์ที่น่าพอใจแล้ว ขั้นตอนต่อไปจึงเป็นการขยายฐานการจำหน่ายของ “ผงหอมศรีจันทร์” จากเดิมที่ขายให้ร้านค้าเดิม ๆ เพียงไม่กี่ร้าน รวิศเริ่มมองไกลไปที่การนำ “ผงหอมศรีจันทร์” เข้าไปวางขายในร้านสะดวกซื้อที่มีสาขามากที่สุดในประเทศไทย นั่นคือ 7-11
ด้วยความที่คนทั่วไปยังติดภาพลักษณ์เก่า ๆ ของผลิตภัณฑ์นี้ คราวแรกที่รวิศไปคุยกับร้าน 7-11 เขาถูกปฏิเสธออกมาทันที แต่ด้วยลูกตื๊อและข้อเสนอที่เขายื่นให้ 7-11 ว่าจะขอจ่ายค่าเข้าร้านเหมือนกับสินค้าอื่น ๆ แล้วถ้าสินค้าขายไม่ดีภายใน 2 สัปดาห์ ถ้าได้ตัวเลขที่ต่ำกว่าเกณฑ์ เขาจะเอาสินค้าออกจากชั้นวางเอง
ในที่สุด "ผงหอมศรีจันทร์" จึงได้วางขายในร้าน 7-11 ตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งนับจากวันนั้นถึงวันนี้ ยอดขายยังคงเป็นที่น่าพอใจ จนไม่เคยถูกคัดออกจากชั้นวางสินค้าใน 7-11 อีกเลย
ช่วงแรกของการนำ “ผงหอมศรีจันทร์” ไปวางขายใน 7-11 รวิศรีบปล่อยโฆษณาออกสู่สื่อทันที เพื่อให้ผงหอมศรีจันทร์เป็นที่รู้จักในกลุ่มคนหมู่มาก นั่นเป็นจุดที่ทำให้เขาได้เรียนรู้ว่า การสร้างแบรนด์อันนำไปสู่การรีแบรนด์ในอนาคต มันไม่ได้ฉาบฉวยเพียงการเอาสินค้านำเสนอออกสื่อเพื่อให้คนรู้จักแล้วมาซื้อสินค้า ประเด็นคือ เขาจะรีแบรนด์อย่างไรเพื่อให้ลูกค้ารู้จักภาพลักษณ์ของสินค้า แม้ว่าจะไม่ได้มีโฆษณาบนหน้าจอโทรทัศน์ก็ตาม
เขาหันไปมองแล้วตั้งคำถามใหม่ว่า แก่นแท้ของแบรนด์ “ผงหอมศรีจันทร์” คืออะไร? ก่อนจะค่อย ๆ เข้าใจว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผงหอมศรีจันทร์ยังเป็นที่นิยม เพราะมันมีความเป็น "ไทย" ที่ดูสวยงามอยู่ แม้ว่าคำว่า “ผงหอมศรีจันทร์” จะดูเป็นชื่อที่เชย แต่ชื่อนี้ก็ยังมีมูลค่าและมีจุดยืนของมัน เขาตัดสินใจไม่เปลี่ยนชื่อแบรนด์ แต่เลือกที่จะทำให้สินค้าดูทันสมัยผ่านการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตีความ “ความเป็นไทย” ให้ออกมาเข้ากับยุคสมัยแทน
รวิศค่อย ๆ เรียนรู้ ปรับตัว และปั้นแต่งให้รูปร่างหน้าตาสินค้าของบริษัทเริ่มเป็นที่รู้จัก ทุกวันนี้ “ผงหอมศรีจันทร์” ได้ตัดคำว่า “ผงหอม” ออกไป เหลือแต่คำว่า “ศรีจันทร์” ก่อนจะเริ่มแตกไลน์ธุรกิจไปยังเครื่องสำอางชนิดอื่น ๆ มากขึ้น
ผลประกอบการบริษัทก็โตวันโตคืนจนน่าชื่นใจ ในปี 2549 ซึ่งเป็นปีแรกที่รวิศเข้ามาทำธุรกิจนี้ บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด มียอดขายทั้งสิ้น 30 ล้านบาท หลังจากนั้นบริษัทก็เติบโตเฉลี่ยปีละ 30-40% จนผ่านไป 7 ปี ในปี 2556 บริษัทมียอดขายสูงถึง 250 ล้านบาท และในปี 2557 ก็ขึ้นมาเป็น 300 ล้านบาท และรวิศตั้งใจว่า จะพาบริษัทของเขาเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ให้ได้ภายในปี 2563
จากที่รู้จัก “ผงหอมศรีจันทร์” มาตั้งแต่เด็กเพราะเป็นธุรกิจของครอบครัว จนมารับช่วงต่อธุรกิจนี้ในฐานะรุ่นที่ 3 รวิศใช้เวลาเกือบสิบปีในการพลิกฟื้นแบรนด์แป้งอายุ 70 ปี ให้กลายมาเป็นเครื่องสำอางไทยในใจสาว ๆ ขณะเดียวกัน เขาก็กลายมาเป็นตัวอย่างของคนคนหนึ่งที่พยายามต่อสู้อย่างอดทนจนประสบความสำเร็จในสนามธุรกิจ พร้อมแบ่งปันประสบการณ์การทำธุรกิจและมุมมองต่าง ๆ ผ่านรายการ “Mission to the Moon” และ “Super Productive” รวมทั้งเดินสายบรรยายตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ต่อไปด้วย
ที่มา หนังสือ ‘อายุน้อย รวยพันล้าน : Young Billionaire’ เขียนโดย ณัฐกร เวียงอินทร์
ที่มาภาพ https://www.facebook.com/srichand1948/