บรูซ ลี กระบองสองท่อน การเหยียดเชื้อชาติและจักรวรรดินิยม 

บรูซ ลี กระบองสองท่อน การเหยียดเชื้อชาติและจักรวรรดินิยม 
บรูซ ลี (1940-1973) เป็นนักแสดงสัญชาติอเมริกัน ผู้ทำให้หนังกังฟูกลายเป็นที่นิยมอย่างยิ่งในยุค 70s เขาเกิดที่ซานฟรานซิสโก แต่เติบโตในฮ่องกง (และมีสัญชาติบริติชฮ่องกงด้วย) ลีมีโอกาสได้เล่นหนังตั้งแต่เด็ก ๆ โดยส่วนใหญ่จะได้เล่นเป็นเด็กเกเร นักเลงวัยรุ่น ในชีวิตจริง ลีเองก็มีความผูกพันกับนักเลงท้องถิ่น จึงสนใจเรียนศิลปะป้องกันตัว ตามด้วยการเรียนเต้น ซึ่งช่วยสร้างพื้นฐานด้านการเคลื่อนไหวและการทรงตัว แล้วก็ทำได้ดีขนาดคว้าแชมป์จังหวะชะชะช่าของฮ่องกงมาครองได้ในปี 1958 (Britannica) แต่ด้วยความที่ลีไปวุ่นวายอยู่กับเรื่องต่อยตีอยู่บ่อย ๆ จนเรื่องไปถึงโรงพัก พ่อกับแม่ก็เลยส่งตัวเขาไปอยู่ที่สหรัฐฯ หลังเขาอายุครบ 18 ปี ได้ไม่เท่าไหร่ (ส่วนหนึ่งเพราะลีไปมีเรื่องกับลูกผู้มีอิทธิพลเข้าด้วย) เขาเรียนจบด้านปรัชญาและการแสดงจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน แล้วเปิดโรงเรียนสอนด้านศิลปะป้องกันตัว โดยได้พัฒนาศิลปะการต่อสู้แบบเฉพาะของตัวเองขึ้นมา ซึ่งเขาเรียกว่า "jeet kune do" อันเป็นการผสมผสานระหว่าง กังฟู ฟันดาบ มวย และปรัชญา ก่อนที่ฝีมือของเขาจะไปเข้าตาแมวมองจนได้รับบท "คาโตะ" บทรองในซีรีส์ฮีโร The Green Hornet (1966-1967) อย่างไรก็ดี โอกาสทางการแสดงของเขาในแผ่นดินเกิดมีไม่มากนัก แทนที่จะได้รับบทแสดงนำในฐานะนักบู๊ ก็ได้แต่เป็นครูสอนการต่อสู้ให้กับดาราฮอลลีวูด ลีจึงเดินทางมาแสวงหาชื่อเสียงในฮ่องกง ศูนย์กลางผลิตภาพยนตร์ภาษาจีนที่ใหญ่ที่สุดในขณะนั้น  ก่อนหน้าที่เขาจะไปหากินที่ฮ่องกง เมื่อโครงการถ่ายทำซีรีส์เรื่อง The Warrior ที่เขานำเสนอต่อสตูดิโอใหญ่ถูกยกเลิกกลางคัน สื่อแคนาดาได้ตั้งคำถามกับเขาว่า สาเหตุเป็นเพราะผู้บริหารไม่เชื่อว่าผู้ชมชาวอเมริกันจะยอมรับฮีโรที่ไม่ใช่ชาวอเมริกันได้ รึเปล่า? (ถือเป็นตลกร้าย เพราะลีเองจริง ๆ แล้วก็เป็นชาวอเมริกันโดยกำเนิด) ลีตอบว่า "มีการตั้งคำถามและถกเถียงในเรื่องนั้นกันเรื่อยมา และนั่นก็เป็นสาเหตุว่าทำไม The Warrior ถึงไม่ได้ไปต่อ โชคร้ายที่ปัญหานี้ (การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ) มีอยู่ในโลกนี้จริง ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่นึงของประเทศนี้ ที่พวกเขาคิดว่า ถ้ามองในเชิงธุรกิจ มันเสี่ยงเกินไป" (South China Morning Post) หลังประสบความสำเร็จกับเรื่อง The Big Boss (ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง-เรื่องราวของจีนโพ้นทะเลที่มาใช้ชีวิตในเมืองไทย) ในปี 1971 ลีได้สะท้อนความอัดอั้นถึงปัญหาการเหยียดเชื้อชาติ และต่อต้านจักรวรรดินิยม (จักรวรรดินิยมส่วนหนึ่งก็มีไอเดียมาจากเรื่องของเชื้อชาติหนึ่งเหนือกว่าอีกเชื้อชาติหนึ่งด้วย) ในภาพยนตร์เรื่องที่สอง "Fist of Fury"  Fist of Fury มีฉากหลังเป็นเซี่ยงไฮ้ในยุค 1910s ซึ่งชาติมหาอำนาจเข้ามาแบ่งเค้กจัดสรรผลประโยชน์ทางการค้าภายในเมืองท่าขนาดใหญ่ของจีนแห่งนี้ โดยที่คนจีนมีสถานะเป็นเพียงพลเมืองชั้นสองในประเทศของตัวเอง บรูซ ลี รับบทเป็น เฉิน เจิน นักมวยจีนที่ต้องการแก้แค้นให้กับอาจารย์ที่เสียชีวิตลงอย่างปริศนา  โครงเรื่องสะท้อนการเหยียดชาวจีนในแผ่นดินตัวเอง อย่างฉากการต่อสู้หน้าสวนสาธารณะหวงผู่ ที่กลายเป็นฉากติดตาผู้ชม และมีส่วนสำคัญในการช่วยตอกย้ำตำนานเมืองที่คนพูดกันต่อราวกับเป็นเรื่องจริงถึงการติดป้ายไว้หน้าทางเข้าสวนสาธารณะว่า "NO DOGS AND CHINESE ALLOWED" (ไม่อนุญาตให้หมาและคนจีนเข้า)  ซึ่งป้ายที่มีข้อความเช่นนั้นมิได้มีอยู่จริง แม้ว่าคนจะเชื่อว่ามันมีอยู่ตั้งแต่ก่อนมีภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วก็ตาม [อย่างไรก็ดี สวนสาธารณะแห่งนี้ไม่อนุญาตให้คนจีนทั่ว ๆ ไปเข้าใช้บริการจริง และมีป้ายประกาศกฎการใช้สวนสาธารณะ ซึ่งแม้จะใช้ข้อความที่ต่างออกไป (และสุภาพกว่า) แต่ก็ให้ผลเหมือนกัน เช่น ประกาศปี 1903 ในข้อ "1. ไม่อนุญาตให้นำสุนัขและจักรยานเข้ามา" ประกอบกับข้อ "5. ไม่อนุญาตให้ชาวจีนเข้า ยกเว้นผู้รับใช้ของชาวต่างชาติ" และประกาศในปี 1917 ข้อ "1. สวนนี้สงวนไว้สำหรับชาวต่างชาติ" และ ข้อ "4. ไม่อนุญาตให้นำสุนัขและจักรยานเข้ามา" (Shanghai's "Dogs and Chinese Not Admitted Sign: Legend, History and Contemporary Symbol)] ในฉากนี้ เฉิน เจิน (บรูซ ลี) ต้องการเดินผ่านสวนสาธารณะ แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ชาวซิกข์ขวางไม่ให้เข้า โดยชี้ให้เขาดูป้ายที่มีข้อความว่า "NO DOGS AND CHINESE ALLOWED" แต่หญิงผิวขาวกลับจูงสุนัขเดินเข้าสวนได้ ชาวญี่ปุ่นในชุดกิโมโนจึงบอกให้ เฉิน เจิน แสร้งทำเป็นสุนัขเลี้ยงของเขาก็จะสามารถเดินผ่านสวนไปได้ เฉิน เจิน จึงแผลงฤทธิ์ใส่กลุ่มชาวญี่ปุ่น และเตะป้ายห้ามแตกกระจาย  ฉากดังกล่าวได้ใจผู้ชมหลายกลุ่ม ทั้งชาวฮ่องกงเอง ซึ่งเล่ากันว่า ในสมัยที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายครั้งแรก ผู้ชมต่างปรบมือกันเกรียวกราว รวมไปถึงชนกลุ่มน้อยในสังคมอเมริกัน ทั้งเชื้อสายเอเชียและแอฟริกัน ที่ต้องเผชิญหน้ากับการเลือกปฏิบัติแบบเดียวกันในประเทศเสรี Fist of Fury พยายามล้างภาพ "คนป่วยของเอเชีย"  โดยใช้ เฉิน เจิน พิสูจน์ให้เห็นว่า เขาที่แม้จะตัวเล็กกว่าก็สามารถต่อกรกับชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นคนขาวตัวใหญ่กว่า หรือกับกลุ่มนักสู้ชาวญี่ปุ่นจำนวนมาก ที่บุกโรงฝึกกังฟูแล้วยัดเยียดป้าย "คนป่วยของเอเชีย" ให้มาติดแทนป้ายเดิม ก่อนที่ เฉิน เจิน จะทวงศักดิ์ศรีของสำนักคืนด้วยการบุกโดโจของชาวญี่ปุ่นเพื่อคืนป้าย และล้มนักคาราเต้ญี่ปุ่นทั้งหมดได้ด้วยตัวคนเดียว  การต่อต้านจักรวรรดินิยมยังสะท้อนผ่านการเลือกใช้อาวุธอย่าง "กระบองสองท่อน" ที่กลายเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งในฉากแอคชั่นของ บรูซ ลี ในภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง แต่ใน Fist of Fury กระบองสองท่อนมีความพิเศษที่แฝงนัยยะ ต่อต้าน "ญี่ปุ่น" เป็นการเฉพาะ  ในภาพยนตร์ที่มีโครงสะท้อนความเป็นจีนนิยมและต่อต้านญี่ปุ่นอย่างรุนแรง การเลือกใช้กระบองสองท่อนเพื่อต่อสู้กับชาวญี่ปุ่นของ บรูซ ลี มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะมันไม่ใช่อาวุธที่มีต้นกำเนิดในจีน หากเป็นอาวุธที่มีกำเนิดในดินแดนที่เป็นส่วนหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบัน และชื่อของมันซึ่งเป็นที่รู้จักในวงกว้างคือ nunchaku ก็ยังเป็นศัพท์ที่ถอดเสียงมาจากคำที่ใช้ในภาษาญี่ปุ่นอีกด้วย ลินดา ภรรยาของ บรูซ ลี กล่าวถึงการเลือกใช้อาวุธในภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า "ห้องสมุดของเขามีหนังสือมากมายเกี่ยวกับอาวุธ ทั้งแบบโบราณและสมัยใหม่ ทั้งตะวันออกและตะวันตก เขาเห็นว่า กระบองสองท่อนมีความเหมาะสมแล้วในเชิงประวัติศาสตร์"  สาเหตุเป็นเพราะ กระบองสองท่อนเป็นอาวุธที่เกี่ยวพันกับโอกินะวะ หรืออาณาจักรริวกิวเดิม ซึ่งริวกิวนั้นเป็นรัฐที่จิ้มก้องให้กับจีนมาตลอด (รัฐบรรณาการ) และมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิด ต่อมาภายใต้การปกครองของกษัตริย์โชชิน (1477-1527) พระองค์ทำการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง สั่งห้ามขุนศึกหัวเมืองซ่องสุมกำลังและอาวุธ ทั้งยังสั่งให้ขุนศึกเหล่านี้ต้องมาถวายงานในเมืองหลวง เพื่อป้องกันการก่อกบฏ ทำให้ศูนย์กลางมีกำลังเข้มแข็งขึ้น แต่ภูมิภาคอ่อนแอลงและสิ้นกำลังที่จะต้านทานการคุกคามจากทั้งภายในและภายนอก ความอ่อนแอดังกล่าวทำให้ขุนศึกจากซัตซึมะของญี่ปุ่นฉวยโอกาสยกทัพเข้ารุกรานในปี 1609 ด้วยกำลังราว 3,000 นาย พร้อมด้วยอาวุธครบมือทั้งดาบและปืน ทำให้ริวกิวพ่ายแพ้โดยง่าย จากนั้นทัพซัตซึมะก็ทำลายโรงงานผลิตอาวุธของริวกิว พร้อมสั่งห้ามนำเข้าอาวุธ แต่ก็ยังยอมให้ริวกิวจิ้มก้องให้กับจีนต่อไป  เอ็ม. ที. คาโตะ (M.T. Kato) นักวิชาการจากฮาวาย ผู้เขียนเรื่อง Burning Asia: Bruce Lee's Kinetic Narrative of Decolonization กล่าวว่า "คำสั่งห้ามประชาชนชาวริวกิวครอบครองอาวุธซึ่งตอนแรกมาจากวัง และภายหลังจากเจ้าอาณานิคมนั้น ชัดเจนว่าเป็นสิ่งที่สร้างแรงผลักดันให้ชาวริวกิวพัฒนาวิชาการป้องกันตัว โดยรับเอาศิลปะป้องกันตัวแบบจีนมาประยุกต์ ซึ่งนักประวัติศาสตร์ริวกิว อิฮา ฟูยู (Iha Fuyu [1961]) กล่าวว่า การถือกำเนิดของศิลปะป้องกันตัวแบบริวกิวที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะป้องกันตัวของจีนนั้น ก้าวข้ามพรมแดนทางชนชั้นและเป็นที่แพร่หลายทั้งในกลุ่มพ่อค้าและประชาชน ภาวะนี้เกิดขึ้นหลังการรุกรานของซัตซึมะ เมื่อการเผยแพร่ศิลปะป้องกันตัวต้องทำอย่างลับ ๆ" คาโตะกล่าวต่อไปว่า ไทระ ชินเคน (Taira Shinken) อาจารย์สอนเพลงหมัดฝ่ามือจีน (tou-di - คาโตะกล่าวว่า คำนี้แปลตรงตัวได้ว่า "ฝ่ามือถัง" และ “ถัง” ในที่นี้ก็หมายถึงแผ่นดินจีนนั่นเอง) ซึ่งเป็นคนในท้องที่และเป็นผู้จัดทำปทานานุกรมว่าด้วยเรื่อง โคบุโดะ (kobudo-แม่ไม้ป้องกันตัวโบราณ) ของริวกิว อธิบายว่า โคบุโดะคือ ศิลปะป้องกันตัวของมหาชน (martial arts of the masses) ซึ่งประยุกต์เอาเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในชีวิตประจำวันมาใช้ในการป้องกันตัว อย่างเช่นกระบองสองท่อน หรือ nunchaku ก็มีกำเนิดมาจากไม้นวดข้าวผสมกับเหล็กขวางปากม้าและบังเหียน มันถูกออกแบบมาเพื่อใช้ป้องกันการโจมตีของ "คาตานะ" หรือดาบญี่ปุ่น กระบองสองท่อนจึงเหมาะที่จะใช้สำหรับป้องกันการกดขี่ของซามูไรในบ้านตัวเองและโจรสลัดเมื่อต้องออกเรือไปทำมาหากิน และแม้ว่า บันทึกประวัติศาสตร์การต่อต้านการปกครองของญี่ปุ่นในท้องถิ่นจะมีกล่าวถึงไม่มาก แต่คาโตะกล่าวว่า การสร้างแม่ไม้ป้องกันตัวของท้องถิ่นเช่นนี้ อาจมองได้ว่าเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงการต่อต้านจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นอย่างลับ ๆ และแหวกแนวของชาวบ้าน  และแม้ญี่ปุ่นจะพยายามลบล้างประวัติศาสตร์ความเชื่อมโยงของศิลปะป้องกันตัวของชาวริวกิวกับจีน ด้วยการเปลี่ยนชื่อจาก “ฝ่ามือจีน” (tou-di) เป็น “มือเปล่า” หรือเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในชื่อ “คาราเต้” (karate) แต่ศิลปะป้องกันตัวซึ่งสะท้อนประวัติศาสตร์และตัวตนของชาวริวกิวก็ยังคงถูกรักษาและปรากฏในรูปของ “กระบองสองท่อน” อาวุธป้องกันตัวที่ถือเป็นขั้วตรงข้ามกับ “คาตานะ” อาวุธในอุดมคติของจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น  การที่ บรูซ ลี เลือกใช้ “กระบองสองท่อน” ใน Fist of Fury หนังจีนนิยมที่ต่อต้านความเป็นญี่ปุ่นอย่างชัดเจนจึงไม่ใช่แค่เรื่องบังเอิญ หรือเป็นเพียงความชอบส่วนตัว แต่มันยังแฝงไปด้วยคติของการต่อต้านจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นที่มีมาอย่างยาวนานในระดับ “ประชาชน” คนทั่วไป ตั้งแต่ในอดีตอาณาจักรริวกิว มาจนถึงจีนสมัยใหม่ในฐานะอาวุธของประชาชน ที่สามารถต่อสู้กับ “คาตานะ” ตัวแทนจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ