ไม่ผิดนัก หากเราจะระบุชื่อ ทอม แฮงค์ส (Tom Hanks) ให้เป็นนักแสดงฮอลลีวูดที่โลกรักมากที่สุดคนหนึ่ง จากบทบาทการแสดงอันเฉียบคมของเขาที่ขโมยหัวใจคนดูทั่วโลก เมื่อมีข่าวว่าเขาและภรรยาติดเชื้อไวรัสโคโรน่า บรรดาแฟน ๆ จึงส่งใจแสดงความเป็นห่วงเป็นใยกันเป็นจำนวนมาก
ก่อนหน้าจะกลายมาเป็นนักแสดงระดับโลกที่ยึดครองรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม 2 ครั้ง จากการเข้าชิงรางวัลออสการ์ 6 ครั้ง (จำนวนนี้รวมการเข้าชิงสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม 1 ครั้ง) แฮงค์สนิยามตัวเองว่าเขาเป็นเด็กเงียบ ๆ จากคอนคอร์ด, แคลิฟอร์เนีย ที่ชีวิตไม่มีสีสันอะไรนัก ไม่ได้เป็นที่นิยมในหมู่เพื่อน ๆ หรือเป็นเด็กโปรดของคุณครูคนไหน "ผมเป็นแค่เด็กกี๊ค ๆ บ๊อง ๆ คนนึง แล้วก็ขี้อายเอามาก ๆ" เขาเล่าเขิน ๆ "ในเวลาเดียวกัน ผมก็เป็นไอ้เด็กตัวแสบที่ชอบร้องโวยวายตอนดูหนัง แต่ผมไม่เคยสร้างปัญหาอะไร ผมเป็นเด็กดีและมีความรับผิดชอบมากทีเดียวล่ะ"
นั่นอาจเป็นคลื่นลูกแรก ๆ ที่แฮงค์สพบว่าตัวเองหลงใหลในภาพยนตร์ เขาจึงเลือกเรียนการแสดงและเข้าร่วมกิจกรรมละครเวทีของโรงเรียนกับทางวิทยาลัย ซึ่งก็ลุ่ม ๆ ดอน ๆ พอสมควร เพราะนิสัยขี้อายสุดขั้วของเขา หากแต่แฮงค์สก็ไม่ได้ก้าวไกลไปกับวงการละครเวทีมากนัก เพราะหลังจากเขาย้ายมานิวยอร์ก ก็เป็นอันได้จับพลัดจับผลูไปแสดงในหนังฟอร์มเล็กทุนต่ำอย่าง He Knows You're Alone (1980) ในฐานะนักแสดงสมทบเล็กจิ๋ว ก่อนจะได้รับบทนำในหนังและซีรีส์ที่ออกฉายทางโทรทัศน์ ในระยะเวลาเฉลี่ยร่วมสี่ปีตั้งแต่ปี 1980-1984 แฮงค์สปรากฏตัวในบทนำของซีรีส์ทางโทรทัศน์ราว 6 เรื่อง แทบจะเรียกได้ว่าเป็นดาวรุ่งน่าจับตาแห่งอุตสาหกรรมจอแก้ว ทั้งยังเป็นที่รักของทีมงานเบื้องหลังหลายต่อหลายคน อย่างที่ เอียน ไพรเซอร์ โปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ยุค 80s เอ่ยถึง 'เจ้าหนุ่มแฮงค์ส' ในวันวานไว้ว่า "ตั้งแต่วันแรกที่ผมเห็นหมอนี่อยู่ในกองถ่าย ยังคิดอยู่เลยว่าน่าเสียดายเป็นบ้าที่เราจะไม่ได้เห็นเขาในโทรทัศน์นานกว่านี้อีกหน่อย เพราะผมรู้ว่าเขาต้องกลายเป็นนักแสดงหนังระดับโลกในอีกสองปีจากนั้นแน่นอน"
ไพรเซอร์คาดการณ์ไว้ไม่ผิดนัก เพราะไม่กี่ปีถัดจากนั้น แฮงค์สโผล่ไปแสดงนำในภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่อง และได้รับการจดจำในแง่ 'ชายหนุ่มลุคอบอุ่นใจดี' จากหนังโรแมนติกอย่าง Splash (1984), The Man with One Red Shoe (1985) และ The Money Pit (1986) แต่หนังที่ทำให้แฮงค์สกลายเป็นขวัญใจมหาชนครั้งแรกคือ Big (1988) หนังโรแมนติกแฟนตาซีของ เพนนี มาร์แชลล์ ที่แฮงค์สรับบทเป็นเด็กชายจอชผู้อธิษฐานกับพระเจ้าว่าขอเป็นผู้ใหญ่ และวันต่อมาเขาก็กลายเป็นชายหัวหย็อยวัยสามสิบ แต่จิตใจยังเด็กเท่าเดิม! มันเป็นหนังที่ฉายให้เห็นความมหัศจรรย์ของแฮงค์สในการแสดงเป็นเด็กชายในร่างกายของผู้ใหญ่ได้อย่างน่าเอ็นดูและน่าเชื่อถือ หนังทำเงินถล่มทลายและปักหมุดหมายให้เขาเป็นหนึ่งในนักแสดงที่น่าจับตา ด้วยการชิงออสการ์สาขานำชายยอดเยี่ยมเป็นครั้งแรก ก่อนที่ โตนาธาน เด็มมี ผู้กำกับหนังดราม่าสายแข็งจะส่งเขาชิงสาขานี้อีกครั้ง และแฮงค์สคว้ามันมาได้สำเร็จเป็นครั้งแรกจากหนังหนักหน่วงอย่าง Philadelphia (1993)
Philadelphia ทำเงินไปทั้งสิ้น 206.7 ล้านเหรียญสหรัฐ จากทุนสร้างเพียง 26 ล้านเหรียญฯ ว่าด้วยเรื่องของ แอนดรูว เบ็กเค็ตต์ (แฮงค์ส) เกย์หนุ่มที่ดิ้นรนต่อสู้ทุกทางเพื่อสิทธิอันชอบธรรมของผู้ที่ติดเชื้อ HIV ซึ่งในยุคสมัยนั้นยังนับเป็นโรคภัยที่หลายคนยังเข้าใจผิดและเหยียดหยามคนที่ติดเชื้อนี้จนชีวิตย่อยยับ รวมทั้งยังถูกปฏิบัติโดยไร้ความชอบธรรมจากภาคกฎหมาย Philadelphia ของเด็มมี จึงเป็นเสมือนแถลงการณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงข้อมูลที่ถูกต้องของโรค พื้นที่ของผู้ป่วย และสิทธิที่พวกเขาควรได้รับตามหลักมนุษยชน มากไปกว่านั้น ยังเป็นหนังเรื่องแรก ๆ ที่แฮงค์สตัดสินใจสลัดคราบ 'หนุ่มอบอุ่น' มาสู่การเป็นนักแสดงสายดราม่าเต็มตัว มิหนำซ้ำ บทของเบ็กเค็ตต์ยังเป็นบทที่เปิดประตูให้เขาได้ระเบิดพลังการแสดง ที่บทอื่น ๆ ก่อนหน้าไม่เคยได้มอบให้เขา
แต่บทเกย์หนุ่มหาใช่จุดสูงสุดทางอาชีพการแสดงของแฮงค์ส เพราะถัดจากนั้นเพียงปีเดียว เขาก็สร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญ ด้วยการคว้าออสการ์สาขานำชายยอดเยี่ยม 2 ปีติด จากบทชายไอคิวต่ำอันเป็นที่รักของคนทั้งโลกอย่าง Forrest Gump (1994) โดย โรเบิร์ต เซเม็กคิส
ถึงตอนนี้ โลกอาจมีปฏิกิริยากับหนังของเซเม็กคิสเรื่องนี้ต่างไปจากเมื่อ 20 กว่าปีก่อน หากแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในอดีต มันได้ทำหน้าที่ในฐานะภาพยนตร์อย่างสมศักดิ์ศรี ทั้งยังเป็นหนึ่งในหนังที่กลายเป็นภาพจำของแฮงค์ส จากการแสดงอันน่าประทับใจของเขาเรื่อยมาจนทุกวันนี้
Forrest Gump เล่าเรื่องของนายกัมป์ (แฮงค์ส) ชายไอคิวต่ำที่ใช้ชีวิตตามชะตากรรม โดยปราศจากความคาดหวังกับเรื่องราวใด ๆ ทั้งสิ้น แต่หากจะมีสักสิ่งที่ทำให้เขาร้าวรานได้คือเรื่องของแม่ผู้ทุ่มเท และหญิงสาวอันเป็นที่รัก ซึ่งเขาไม่เคยได้ครอบครอง "ตอนผมอ่านบท Forrest Gump ครั้งแรก ผมรู้เลยว่ามันจะเป็นหนึ่งในหนังที่งดงาม ให้ความหวังซึ่งคนดูจะรู้สึกและสัมผัสได้" แฮงค์สเล่าถึงบทของเขาอย่างรักใคร่ และฉากที่ 'ระเบิดน้ำตา' ของคนดู คือฉากที่ปราศจากคำพูดใด ๆ เมื่อกัมป์ทอดสายตามองไปยัง ฟอร์เรสต์ จูเนียร์ (ฮาร์ลีย์ โจล โอสเมนต์) ด้วยแววตาสั่นระริก เมื่อข้อเท็จจริงบางอย่างซึ่งเขาไม่เคยรับรู้ พุ่งเข้ามาโดยไม่ทันตั้งตัว (ถึงขั้นมีคำถามว่า ไม่รู้ว่าแฮงค์สแสดงฉากอันมหัศจรรย์นี้ได้อย่างไรด้วยซ้ำ เพราะแม้ปราศจากบทพูดหรือการเคลื่อนไหวใด ๆ บนใบหน้านั้น คนดูยังสัมผัสได้ถึงความตระหนกสุดขีดอันเกิดขึ้นเพียงแวบเดียว เมื่อแววตานั้นเปลี่ยนไป)
ไล่เลี่ยกันนั้น เขายังให้เสียงตัวละคร นายอำเภอวูดดี แห่งจักรวาล Toy Story (1995) จนเป็นหนึ่งในเสียงพากย์ที่ไม่อาจหาใครมาแทนที่ได้ของแฮงค์ส เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า แม้อยากจะให้เสียงแอนิเมชันเรื่องนี้ใจจะขาด แต่ก็ประวิงเวลาให้ลงเสียงหลังถ่ายทำ Forrest Gump เสร็จก่อน เพื่อไม่ให้บรรยากาศดราม่าหนักหน่วงจากความเป็นกัมป์เข้ามาผสมในตัวละครสดใสและมองโลกในแง่ดีสำหรับเด็ก ๆ อย่างนายอำเภอวูดดี
[caption id="attachment_20656" align="aligncenter" width="1200"]
ทอม แฮงค์ส กับบทชายหนุ่มแสนอบอุ่นใน You've Got Mail[/caption]
ภายหลังแอนิเมชันของพิกซาร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จถล่มทลาย แฮงค์สก็หวนกลับไปแสดงในหนังดราม่าที่ส่งเขาชิงออสการ์อีกหนอย่าง Saving Private Ryan (1998) หนังสงครามของ สตีเวน สปีลเบิร์ก ที่แฮงค์สรับบทเป็น มิลเลอร์ นายกองที่ต้องออกเดินทางไปยังสมรภูมิรบไกลสุดลูกหูลูกตา ท่ามกลางห่ากระสุนของฝ่ายตรงข้ามยุคสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อไปรับตัวพลทหาร ไรอัน (แม็ตต์ ดามอน) กลับไปยังบ้านเกิด ในฐานะที่เขาเป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัวที่ยังมีชีวิตรอดในสงครามนี้ ปีเดียวกันนั้น แฮงค์สยังกลับมาทวงบัลลังก์เจ้าพ่อหนังรอมคอมใน You've Got Mail (1998) คู่กับ เม็ก ไรอัน ซึ่งแฮงค์สมาในมาดหนุ่มน่ารักอบอุ่นสุดขีด จนคนดูปรับอารมณ์กันแทบไม่ทัน
[caption id="attachment_20658" align="aligncenter" width="1200"]
อีกหนึ่งบทบาทสุดเข้มข้นของแฮงค์สใน Cast Away[/caption]
สองปีถัดมา เขาสร้างปรากฏการณ์อีกครั้งด้วยการเปลี่ยนแปลงตัวเองหมดจด เพื่อรับบทเป็นชายติดเกาะใน Cast Away (2000) ที่ไม่เพียงแต่เรียกร้องพลังการแสดงแบบบ้าระห่ำของคนที่กึ่งสิ้นหวังกึ่งมีความหวัง จนมีฉากจำอย่างการเอาลูกวอลเลย์บอลมาสร้างเป็นหน้าคน (ชื่อว่า วิลสัน!) แต่มันยังหมายถึงการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ที่แฮงค์สต้องเข้ายิมแบบถวายชีวิต "ผมต้องจำกัดอาหารการกินอยู่สี่เดือน สิงในยิมวันละสองชั่วโมงและไม่ทำอย่างอื่นเลยนอกจากออกกำลังกายแบบซังกะตายน่ะ" เขาเล่าขำ ๆ
[caption id="attachment_20659" align="aligncenter" width="1200"]
แฮงค์สใน Cast Away[/caption]
พ้นไปจากหลังช่วงปี 2000 แฮงค์สปล่อยมือจากบทหนังรอมคอมมาสู่การเป็นนักแสดงสายดราม่าอย่างเต็มตัว หากไม่ใช่คนที่กลัดกลุ้มชีวิต ก็มักเป็นคนที่จำต้องเผชิญหน้าสถานการณ์คอขาดบาดตายอย่าง Captain Phillips (2013), A Hologram for the King (2016) และ Sully (2016) จนว่ากันว่า หนังเพียงเรื่องเดียวที่เขาได้ทดลองรับบทเป็นสัตว์ร้ายคุกคามมากที่สุดคือ Cloud Atlas (2012) ที่เขาวนเวียนสลับสับเปลี่ยนหลายบทบาทในหนังเรื่องนี้
เราได้แต่ภาวนาให้แฮงค์สและภรรยาหายโดยเร็ว เพื่อกลับมารับงานแสดงที่เขารักต่อไปในเร็ววัน