เท็ด โซเรนเซน "อย่าถามว่าประเทศให้อะไรกับคุณ จงถามว่าคุณทำอะไรให้ประเทศได้บ้าง"
"...ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของโลก มีเพียงคนไม่กี่รุ่นที่ได้รับหน้าที่ในการปกป้องเสรีภาพในช่วงเวลาที่อันตรายแสนสาหัส ผมมิได้ท้อถอยในภาระหน้าที่นี้ ผมน้อมรับด้วยยินดี ผมเชื่อว่าไม่มีใครหรอกที่จะยอมแลกสถานะอันพึงมีของตนกับคนอื่นหรือกับคนรุ่นอื่น พละกำลัง ความเชื่อมั่น และความทุ่มเทในการทำหน้าที่นั้นจะเป็นเชื้อไฟให้กับประเทศนี้ และแสงไฟจากกองเพลิงนั้นก็จะนำแสงสว่างไปทั่วโลก
"และดังนั้น เพื่อนอเมริกันทั้งหลาย อย่าถามว่าประเทศให้อะไรกับคุณ จงถามว่าคุณทำอะไรให้ประเทศได้บ้าง
"เพื่อนมนุษย์ร่วมโลกทั้งปวง อย่าถามว่าอเมริกาจะทำอะไรให้กับท่าน แต่จงถามว่า เราจะสามารถทำอะไรร่วมกันเพื่อเสรีภาพของมวลมนุษย์ได้บ้าง..."
ข้อความข้างต้นคือตอนหนึ่งของคำปราศรัยในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของ จอห์น เอฟ. เคนเนดี (หรือเจเอฟเค) ประธานาธิบดีคนที่ 35 ของสหรัฐฯ ซึ่งได้รับการยกย่องว่า เป็นหนึ่งในคำปราศรัยแห่งศตวรรษ และคนยุคหลังก็มักจะให้เครดิตเต็ม ๆ กับเคนเนดีในฐานะผู้ที่ลั่นวาจาดังกล่าวเพียงคนเดียว
แต่ที่มาของถ้อยคำข้างต้น มีบุคคลเบื้องหลังที่ร่ายคำพูดให้สวยงามมอบให้เคนเนดีอยู่ นั่นก็คือ เท็ด โซเรนเซน (Ted Sorensen)
โซเรนเซน เกิดที่ลินคอล์น เนบราสกา เมื่อ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1928 เป็นลูกของ คริสเตียน โซเรนเซน อัยการสูงสุดของรัฐเนบราสกา ซึ่งเป็นรีพับลิกันหัวก้าวหน้า ฝ่ายแม่ แอนนิส ไชกิน (Annis Chaikin) ก็เป็นนักสตรีนิยมที่มีเชื้อสายยิวรัสเซีย ครอบครัวของเขาจึงมีบรรยากาศของการเมืองค่อนข้างเข้มข้น
แต่ตอนเด็ก ๆ โซเรนเซนออกจะสนใจเรื่องกีฬามากกว่าการเมือง และในบรรดาพี่น้อง ก็ไม่เคยมีใครคิดว่า “เท็ด” จะกลายมาเป็น “สมองส่วนหน้า” หรือ “ร่างสอง” ของประธานาธิบดีเคนเนดีได้ (ฉายาที่สื่อสมัยนั้นยกให้ - The New York Times)
แต่พอเข้าชั้นมัธยมปลาย โซเรนเซนเริ่มสนใจการเมือง กลายเป็นดาวเด่นในฐานะนักโต้วาทีและนักกิจกรรม เขาไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยเนบราสกาจนจบกฎหมายในปี 1951 แล้วเดินทางไปแสวงโชคในเมืองหลวง เริ่มต้นจากทำงานฝ่ายกฎหมายให้กับ พอล ดักลาส วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครตจากอิลลินอยส์ แล้วก็เป็นดักลาสที่พาเขาไปฝากเนื้อฝากตัวกับวุฒิสมาชิกหน้าใหม่จากแมสซาชูเซ็ตส์ (1953) จอห์น เอฟ. เคนเนดี
เคนเนดีเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่มีเสน่ห์น่าจับตา ทั้งหนุ่มแน่น หน้าตาดี รวย จบฮาร์วาร์ด และเป็นฮีโรผู้รอดชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่โซเรนเซน นอกจากจะหนุ่มแน่นเหมือนกันแล้ว เขายังขาดคุณสมบัติอื่น ๆ ที่เคนเนดีมี (รวมถึงในด้านการรับใช้ชาติในฐานะทหาร แม้โซเรนเซนอายุไม่ทันได้ไปรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่ออายุจะถึงเกณฑ์ต้องไปขึ้นทะเบียน เขาก็ไปแจ้งขอทำหน้าที่รับใช้ชาติในหน้าที่อื่นนอกเหนือจากหน่วยรบโดยอ้างมโนธรรม) แต่นั่นก็ทำให้ทั้งสองเข้าคู่กันอย่างดีด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต้องตรงกัน โดยมีคนหนึ่งเป็นฝ่ายออกหน้า และอีกคนเป็นฝ่ายวางแผน
ระหว่างนี้เองที่เคนเนดีสร้างชื่อด้วยการเขียนหนังสือเรื่อง Profiles in Courage (1956) หนังสือชีวประวัติของนักการเมืองอเมริกัน 8 ราย ที่ทำหน้าที่อย่าง “ถูกต้อง” แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่ขัดต่อมติของพรรคหรือความเห็นของประชาชน ซึ่งตอนที่วางแผงนั้น มีชื่อของเคนเนดีเป็นผู้เขียนเพียงผู้เดียว จนทำให้เขาได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ไปในปีต่อมา
ก่อนจะเป็นที่รู้ในภายหลังว่า งานส่วนใหญ่ในหนังสือเล่มนี้ได้โซเรนเซนเป็นผู้ร่างขึ้นทั้งนั้น ซึ่งโซเรนเซนเคยกล่าวกับ The New York Times ว่า “ผมพยายามเก็บเป็นความลับแล้วนะ” แต่ก็เสริมว่า “ผมพูดได้อย่างภาคภูมิใจว่า ผมมีส่วนสำคัญในหนังสือเล่มนี้” (ทั้งนี้ เคนเนดีจ่ายเงินซื้องานของเขาแล้ว จึงไม่ผิดที่จะเอาไปเป็นงานของตัวเอง ตามหลักทุนนิยม)
ระหว่างนั้น เคนเนดีและโซเรนเซน ก็วางแผนใหญ่มุ่งเป้าไปที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในปลายปี 1960 ทั้งคู่เดินทางไปทั้ง 50 รัฐทั่วประเทศส่วนใหญ่โดยลำพังไร้ผู้ติดตาม เพื่อหาเสียงจากชาวบ้านโดยตรงในฐานะม้ามืดที่ไม่มีใครคิดว่าจะสามารถเข้ามานั่งกุมบังเหียนที่ทำเนียบขาวได้
“เราเดินทางไปทั่วประเทศ สร้างฐานสนับสนุนมาจากรากหญ้า ในขณะที่ยังไม่ได้รับการยอมรับในวงกว้างจากวอชิงตันที่มองว่าเคนเนดีเด็กเกินไป เป็นคาทอลิกเกินไป เป็นที่รู้จักน้อยเกินไป และมีประสบการณ์น้อยเกินไป" โซเรนเซนกล่าว
ความสำเร็จในการรณรงค์หาเสียงของทั้งคู่ จึงเป็นที่มาของคำกล่าวอันโด่งดังของเคนเนดีในพิธีสาบานตนเพื่อเข้ารับตำแหน่งในปี 1961 ซึ่งโซเรนเซนศึกษาแบบอย่างมาจากงานชั้นครูทั้งคัมภีร์ไบเบิล คำปราศรัยของ อับราฮัม ลินคอล์น ที่เก็ตตีส์เบิร์กในสงครามกลางเมืองอเมริกัน รวมถึงงานของ โทมัส เจฟเฟอร์สัน และนักปราศรัยอย่าง วินสตัน เชอร์ชิล
โซเรนเซนเป็นที่ปรึกษาที่ได้รับความเชื่อใจเป็นอย่างสูงจากเคนเนดี ซึ่ง โรเบิร์ต เคนเนดี น้องชายของเจเอฟเคเล่าว่า พี่ชายของเขามีลูกน้องแวดล้อมที่พร้อมจะอือออไปกับความเห็นของนายอยู่มากมาย แต่เมื่อไรที่ต้องเจอกับเรื่องยาก ๆ เจเอฟเคก็มักจะเรียกหาโซเรนเซน และให้น้ำหนักกับการตัดสินใจของโซเรนเซนเป็นอย่างมาก
แต่งานที่โซเรนเซนภูมิใจที่สุดในชีวิต ไม่ใช่การเป็นนักเขียนผีจนได้รางวัลพูลิตเซอร์ หรือคำปราศรัยจับใจคนในพิธีสาบานตน หากเป็นการร่างหนังสือให้เคนเนดีเพื่อส่งไปให้กับ นีกีตา ครุชชอฟ ผู้นำโซเวียตระหว่างวิกฤตคิวบา เมื่อสหรัฐฯ ล้มเหลวกับการสนับสนุนการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของ ฟิเดล คาสโตร และโซเวียตประกาศเสริมเขี้ยวเล็บให้คิวบาป้องกันการรุกรานจากภายนอก ด้วยการขนนิวเคลียร์มาให้
ทำให้สายเหยี่ยวในวอชิงตันกดดันเคนเนดีให้ประกาศสงคราม ขณะที่เคนเนดีและโซเรนเซนต้องการยุติความขัดแย้งด้วยการเจรจา
"เวลามันกระชั้นมาก สายเหยี่ยวกำลังรุกหนัก ตอนนั้นเคนเนดียังสามารถควบคุมรัฐบาลของตัวเองได้ แต่ใครจะรู้ ฝ่ายที่สนับสนุนการรุกรานและการทิ้งระเบิดอาจขึ้นมาเป็นฝ่ายที่เหนือกว่าเมื่อไหร่ก็ได้ ผมรู้ว่าความผิดพลาดเพียงน้อยนิดในหนังสือที่ผมร่าง อาจสร้างความไม่พอใจให้กับครุชชอฟ ซึ่งอาจกลายเป็นจุดจบของอเมริกาหรือของโลกก็เป็นได้" โซเรนเซนกล่าว
หลังเจเอฟเคถูกลอบสังหาร โซเรนเซนเจ็บปวดมากกับความสูญเสีย เขาถึงกับกล่าวว่า ตนเองไม่เคยคิดจะทำงานรับใช้ใครคนอื่นอีก (พระยาพิชัยดาบหักก็มิปาน) จึงยื่นหนังสือลาออกแทบจะทันที แต่ ลินดอน บี. จอห์นสัน อดีตรองประธานาธิบดีของเจเอฟเค ที่ขึ้นมานั่งเก้าอี้ใหญ่แทนนายเก่าที่เสียชีวิต ขอให้เขาช่วยงานต่อในช่วงเปลี่ยนผ่าน
จากนั้น โซเรนเซนก็ไปทำงานเขียนหนังสือชีวประวัติของเคนเนดี (Kennedy, 1965) ไปทำงานด้านกฎหมาย และสองปีหลังจาก โรเบิร์ต เคนเนดี น้องชายของนายเก่าถูกลอบสังหาร เขาก็หวังเป็นผู้รักษามรดกของตระกูลเคนเนดีต่อไป ด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้งวุฒิสมาชิกนิวยอร์กแทนที่โรเบิร์ต แต่เขาก็ต้องพบกับความผิดหวัง
ต่อมา จิมมี คาร์เตอร์ ที่ชนะเลือกตั้งหมาด ๆ ในปลายปี 1976 จู่ ๆ ก็เสนอชื่อโซเรนเซนให้ขึ้นมานั่งตำแหน่งผู้อำนวยการของสำนักข่าวกรองกลาง หรือ CIA ซึ่งเขากล่าวถึงเหตุการณ์คราวนั้นว่า
"ผมไม่รู้หรอกว่า นักกฎหมายและนักศีลธรรมจะเหมาะกับตำแหน่งที่ดูแลงานต่าง ๆ ที่มักเกี่ยวข้องกับการละเมิดกฎหมายและศีลธรรมรึเปล่า แต่ผมอยากจะมีส่วนร่วม ผมอยากมาทำงานในรัฐบาลอีกครั้ง ซึ่งผมสามารถช่วยนำพาความก้าวหน้าด้วยแนวทางที่ถูกที่ควรได้ ดังนั้น ผมจึงตอบตกลง"
แต่สุดท้ายความเป็นผู้รักสันติก็ทำให้เขาชวดตำแหน่งงานนี้ไป เพราะลำพังการที่เขาเป็นคนนอกก็ย่อมถูกต้านอยู่แล้ว เขายังมีแผลเก่าในวัยหนุ่มให้คนรักชาติต่อต้านได้ เนื่องจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาไปแจ้งเรื่องขอยกเว้นการเกณฑ์ทหารโดยอ้างมโนธรรมเอาไว้ สุดท้ายชื่อของเขาก็ถูกถอด
ขึ้นศตวรรษที่ 21 โซเรนเซนเกิดอาการเส้นเลือดในสมองอุดตัน จนทำให้มีปัญหาการมองเห็น เมื่อรักษาตัวจนแข็งแรงแล้วเขาก็ยังคงมีส่วนร่วมกับงานการเมืองของเดโมแครตอยู่เรื่อย ๆ และเห็นแววของวุฒิสมาชิกหน้าใหม่จากอิลลินอยส์ บารัก โอบามา ว่ามีส่วนคล้ายกับ จอห์น เคนเนดี
ในปี 2007 เขาจึงให้การสนับสนุนโอบามาลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และมีส่วนร่วมกับการรณรงค์หาเสียง โดยเฉพาะกับประชาชนที่ต่อต้านสงครามในอิรัก
ปลายปี 2010 อาการเส้นเลือดในสมองอุดตันก็กลับมาเล่นงานโซเรนเซนอีกครั้ง หลังพักรักษาตัวเป็นเวลาราวหนึ่งสัปดาห์ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในแมนฮัตตัน เขาก็จากไปในวัย 82 ปี เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2010