20 มี.ค. 2563 | 21:04 น.
ท่ามกลางการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 ที่กำลังทวีคูณแพร่กระจายไปทั่วโลก จนทำให้ปัจจุบันมียอดผู้ติดเชื้อสะสมมากถึง 252,770 รายทั่วโลก (20 มีนาคม 2020) ทำให้องค์การอนามัยโลกต้องออกมาประกาศว่านี่คือโรคระบาดร้ายแรง ที่มนุษยชาติต้องเตรียมตัวรับมือ
หลังการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในประเทศแทบเอเชีย เช่น จีน หรือเกาหลีใต้ ตอนนี้เจ้าเชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ศูนย์กลางการระบาดครั้งใหม่ในยุโรปโดยเฉพาะประเทศอย่าง อิตาลี หรือ สเปน ที่ยอดการเสียชีวิตมีมากขึ้นทุกวัน นอกจากประเทศโซนยุโรปแล้วชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ เองก็กำลังหัวหมุนอย่างหนักจน CDC หรือหน่วยงานป้องกันโรคติดต่อ เริ่มมีความคิดว่านี่อาจจะเป็นปัญหาที่พวกเขาคุมไม่อยู่แล้ว!
ย้อนกลับเมื่อต้นปี 2020 ปัญหาความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน กลายเป็นที่กังวลของคนทั่วโลก พร้อมกับคำถามที่ตามมาว่าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่สามเมื่อใด? ท่ามกลางความขัดแย้งในช่วงนั้นถ้าเกิดมีคนคนหนึ่งเดินเข้าไปในวงล้อมของปัญหาแล้วพูดว่า “เฮ้ย เลิกกัดกันแล้วมาช่วยป้องกันโลกจากโรคระบาดดีกว่า” แน่นอนว่าคงจะไม่มีใครฟังคำพูดของเขาเป็นแน่
อย่างที่ทุกคนทราบตอนนี้ทั้งสหรัฐและอิหร่าน รวมถึงประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายกำลังถูกศัตรูที่มองไม่เห็นอย่างโควิด-19 โจมตีอย่างหนัก คำถามก็คือเหตุใดประเทศมหาอำนาจทั้งหลายถึงเพลี่ยงพล้ำได้เยี่ยงนี้ พวกเขาสนใจแต่จะสร้างระเบิดนิวเคลียร์มากกว่าจะเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดของไวรัสได้อย่างไร? นี่ไม่ใช่ความคิดของคนคนเดียวที่เกิดขึ้น ครั้งหนึ่งเคยมีมหาเศรษฐีคนหนึ่งออกมาพูดและเตือนถึงเรื่องนี้ว่า สักวันหนึ่งมันจะเกิดขึ้นและเราไม่พร้อมสักนิดที่จะรับมือกับมัน นี่คือคำพูดของชายที่ชื่อ บิลล์ เกตส์ (Bill Gates)
ทุกคนรู้จัก บิลล์ เกตส์ ดีในฐานะชายผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟต์ และผู้รั้งตำแหน่งอภิมหาเศรษฐีอันดับโลกมากครั้งที่สุด ย้อนกลับไปเมื่อปี 2015 เกตส์ เคยขึ้นพูดบนเวที TED Talk ในหัวข้อ “การระบาดครั้งต่อไปน่ะหรือ เรายังไม่พร้อมหรอก” วันนั้นเขาได้ทำนายเอาไว้ว่าการกระจายของโรคระบาดอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเน้นว่าย้ำผู้นำประเทศต่าง ๆ ควรจะเตรียมความพร้อมด้านระบบสาธารณสุขมากกว่าที่จะหมดเงินไปกับการพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์
“ตอนที่ผมเป็นเด็ก หายนะที่เรากลัวกันมากที่สุด คือสงครามนิวเคลียร์ เราถูกโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์เมื่อใด เราควรที่จะต้องลงไปชั้นล่าง นั่งพับขา และกินของที่อยู่ในถัง (เหล็กขนาดใหญ่) พวกนั้น วันนี้ ความเสี่ยงต่อหายนะที่รุนแรงระดับโลก ไม่ได้มีหน้าตาอย่างนี้ (นิวเคลียร์) ทว่ามันมีหน้าตาแบบนี้ (ไวรัส) ถ้ามีอะไรก็ตามฆ่าคนมากกว่า 10 ล้านคนในเวลาเพียงไม่กี่สิบปี เป็นไปได้สูงว่ามันจะเป็นไวรัสที่ติดต่อกันได้อย่างรวดเร็ว มากกว่าที่จะเป็นสงคราม ไม่ใช่ขีปนาวุธ เหตุผลส่วนหนึ่งก็คือ เราลงทุนไปมากกับการยับยั้งอาวุธนิวเคลียร์ แต่เราก็ลงทุนไปน้อยมาก กับระบบที่จะหยุดการแพร่กระจายของโรค เราไม่พร้อมสำหรับการระบาดครั้งถัดไป”
เกตส์ ยกตัวอย่างเคสการระบาดของโรคอีโบล่า ขึ้นมาสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในอดีตที่บ่งชี้ว่า โลกยังไม่มีมาตรการที่พร้อมรับมือการระบาดของโรคได้ดีเท่าที่ควร อีกทั้งยังวิเคราะห์ถึงช่องโหว่ของปัญหาว่า แค่เพียงองค์การอนามัยโลกดูแลเรื่องนี้ไม่อาจแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้
“เราไม่มีกลุ่มนักระบาดวิทยา ที่พร้อมจะเข้าไปดูว่าโรคนั้นคืออะไร ดูว่ามันระบาดไปถึงไหนแล้ว เราได้รับรายงานผู้ป่วยผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ซึ่งรายงานช้ามาก ก่อนที่จะถูกนำขึ้นบนอินเทอร์เน็ต และรายงานคลาดเคลื่อนเยอะมาก เราไม่มีทีมแพทย์ที่พร้อมจะไป เราก็ยังทำงานได้ช้ากว่าที่ควรเป็นอย่างมากในการนำบุคลากรนับพันคนเข้าไปยังประเทศเหล่านี้ หากเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ เราจะต้องมีบุคลากรนับแสนคน เราไม่มีใครคอยดูเรื่องแนวทางการรักษาโรค ไม่มีใครที่จะดูเรื่องการตรวจโรค ไม่มีใครที่จะรู้ว่าควรใช้เครื่องมืออะไร
"ดังนั้นจึงมีหลาย ๆ อย่างที่ขาดหายไป และสิ่งเหล่านี้เป็นความล้มเหลวระดับโลกอย่างแท้จริง องค์การอนามัยโลกได้รับทุนให้ติดตามการระบาด แต่ไม่ได้มีหน้าที่ทำสิ่งที่ผมได้พูดถึง ในหนังเราจะเห็นกลุ่มนักระบาดวิทยาหน้าตาดีที่พร้อมจะไปลงพื้นที่และช่วยโลกเอาไว้ แต่มั่นมันฮอลลีวูดแท้ ๆ เลย”
ย้อนกลับไปดูสถานการณ์ของโรคอีโบล่า ตลอดปี 2015 มีคนประมาณ 10,000 คนเสียชีวิต และเกือบทั้งหมดอยู่ในสามประเทศทางแอฟริกาตะวันตก มีสามเหตุผลที่บอกว่าทำไมมันไม่ระบาดมากกว่านี้ หนึ่งคือมีเจ้าหน้าที่แพทย์และพยาบาลจำนวนมากที่พร้อมจะช่วยกันป้องกันการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นอีก สองคือธรรมชาติของไวรัสอีโบล่าไม่แพร่กระจายผ่านอากาศ และเมื่อมันระบาดคนส่วนใหญ่ที่ป่วยมากจะไม่สามารถไปไหนมาไหนได้ สามคือเชื้อโรคไม่ได้กระจายในเมืองมากนัก
เกตส์มองว่าความล้มเหลวในการเตรียมตัวที่ผ่านมาอาจเอื้อให้เกิดการระบาดครั้งถัดไปที่รุนแรงมากกว่าอีโบล่าเสียอีก ซึ่งความกังวลของเขาในวันนั้น...มันได้เกิดขึ้นจริงแล้ว
“ครั้งหน้า เราอาจไม่โชคดีขนาดนี้ อาจมีไวรัสที่สามารถแพร่กระจายได้ แม้ว่าผู้ติดเชื้อยังรู้สึกสบายดี ไปขึ้นเครื่องบิน หรือไปตลาด แหล่งของไวรัสอาจมาจากธรรมชาติ เหมือนกับการระบาดของอีโบล่า หรือมาจากการก่อการร้ายทางชีวภาพ ฉะนั้นมันมีสิ่งที่ทำให้สถานการณ์แย่กว่านี้ เป็นพัน ๆ เท่า”
[caption id="attachment_21008" align="aligncenter" width="720"] เกตส์ บนเวที TED Talk 2015[/caption]ปัจจุบันหลายประเทศที่ประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยตรวจสอบผู้ที่ติดเชื้อและช่วยประเมินสถานการณ์ รวมถึงใช้ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ในการสร้างแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องเพื่อต่อสู้กับโรค ซึ่งนี่ก็เป็นอีกเรื่องที่เกตส์เคยพูดเอาไว้เช่นกัน
“แต่ที่จริง เราสามารถสร้างระบบตอบสนองที่ดีได้ เราได้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งหมดที่เราพูดกันตรงนี้ เรามีโทรศัพท์มือถือที่จะรับข้อมูลจากสาธารณะ และส่งข้อมูลนั้นกลับออกไป เรามีแผนที่ดาวเทียมซึ่งทำให้เราเห็นว่าคนอยู่ตรงไหน และพวกเขาย้ายกันไปไหน เรามีความก้าวหน้าทางชีววิทยา ที่ควรย่นระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจหาเชื้อโรคไปอย่างมาก และสามารถที่จะผลิตยาและวัคซีนที่เหมาะสมต่อโรคเหล่านั้น ฉะนั้น เรามีเครื่องมือ แต่เครื่องมือเหล่านั้นจะต้องถูกนำเข้าไปไว้ในระบบสุขภาพระดับโลกทั้งหมด และเราต้องมีการเตรียมพร้อม”
อะไรคือกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหา? เกตส์ วิเคราะห์ว่าทุกประเทศจำเป็นต้องมีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะในประเทศที่ยากจน สำคัญที่สุดคือต้องมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ และพร้อมจะเข้าไปปฏิบัติงาน อีกทั้งถ้าใช้ความคล่องตัวทางการทหารมาช่วย ก็จะเป็นแนวทางที่เพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น เกตส์ทิ้งท้ายว่า ถ้าเกิดมีการระบาดครั้งใหญ่ และถ้าทั่วโลกไม่มีกองทุนที่พร้อมจะรับมือกับสภาพเศรษฐกิจที่ทรุดตัว มันก็ยิ่งเป็นการปิดประตูทางรอดของมนุษย์ไปอีกบาน
“เราต้องการการจับคู่ บุคลากรสายการแพทย์กับทางทหาร ใช้ความสามารถทางทหารที่มีข้อได้เปรียบเรื่องการเคลื่อนตัวที่รวดเร็ว การทำการขนส่ง และการให้ความปลอดภัยกับพื้นที่ ตอนนี้ ผมไม่ได้กำหนดเงินสนับสนุนแน่นอนสำหรับราคาค่างวดของสิ่งนี้ แต่ผมค่อนข้างมั่นใจว่ามันไม่ได้ฟุ่มเฟือยเลย เมื่อเทียบกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ธนาคารโลกได้ประมาณไว้ว่า ถ้าเรามีไข้หวัดระบาดไปทั่วโลก ความมั่งคั่งของโลกจะลดลงไป ประมาณสามล้านล้านดอลลาร์ และเราจะมีคนตายเป็นล้าน ๆ การลงทุนนี้ได้มอบประโยชน์ที่เด่นชัด เกินกว่าแค่เตรียมการให้พร้อมกับการระบาด และมันทำให้โลกของเราปลอดภัยมากขึ้น”
หลังไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แพร่กระจายออกไปไม่นาน เกตส์ก็เขียนในบล็อกส่วนตัวว่าโรคโควิด-19 เริ่มจะเป็นเชื้อโรคที่เรากังวลมาตลอดว่า ศตวรรษหนึ่งจะมีหนึ่งครั้ง และแนะนำให้รัฐบาลต้องทำอย่างอะไรสักอย่างอย่างด่วน
“เห็นได้ชัดเลยว่า เราต้องใช้เงินเป็นล้านล้านเพื่อผลิตวัคซีนสำหรับโรคร้ายนี้ แต่นั่นก็เป็นการลงทุนที่ควรทำเพื่อแก้ปัญหา ถึงแม้จะทำให้เศรษฐกิจ และการระบาดของ โควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้เศรษฐกิจพังมาก และมีผลต่อห่วงโซ่อุปทานรวมถึงตลาดหุ้น นี่ยังไม่พูดถึงความเป็นอยู่คนผู้คนนะ มันก็ต้องยอมแหละ พวกผู้นำควรทำอะไรได้แล้ว จะปล่อยเวลาผ่านไปไม่ได้อีกแล้ว”
หลังจากนั้นไม่นาน เกตส์ได้มอบเงินจำนวนกว่า 100 ล้านดอลลาร์ให้กับ มูลนิธิบิลล์และเมลินดา เกตส์ ของเขา เพื่อเป็นทุนใช้แก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยงบประมาณก้อนนี้จะนำไปใช้ใน 3 ด้านคือ ตรวจจับ, กักกัน และรักษา
คำพูดก่อนกาลเวลาที่เกตส์เคยทิ้งท้ายในงานปี 2015 ฟังกี่ครั้งแล้วก็อดคิดไม่ได้ว่ามหาเศรษฐีคนนี้มีญาณทิพย์หรือไม่? แต่ที่แน่ ๆ หากมีสักประเทศทำตาม “คำเตือนที่ทุกคนไม่เคยฟัง” ของเขาก่อนหน้านี้ สถานการณ์ในปัจจุบันคงไม่เลวร้ายลงแบบนี้
“ถ้าหากจะมีเรื่องดี ๆ สักเรื่องที่มาจากการระบาดของอีโบล่า ก็คงจะเป็นเพราะมันทำหน้าที่ปลุกให้คนตื่น ให้ทุกคนเตรียมพร้อม ถ้าเราเริ่มกันเสียแต่ตอนนี้ เราก็จะพร้อมรับมือกับการระบาดครั้งหน้า”