โพธิพงษ์ ล่ำซำ จบสิ่งทอ ก่อนมาปั้น “ประกันชีวิต” ให้เปรี้ยงในเมืองไทย
เมื่อก่อนธุรกิจ “ประกันชีวิต” อาจโดนมองแรง เพราะไม่ค่อยมีใครเห็นความจำเป็น แต่มายุคนี้ที่ผู้คนต้องการความคุ้มครองและหลักประกันความมั่นคงเพิ่มขึ้น เราจึงได้เห็นสารพัดประกัน ล่าสุดคือ ประกันโควิด-19 ที่นับถึงวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา มียอดขายกรมธรรม์ทั้งระบบมากถึงราว 2 ล้านฉบับ รวมยอดเบี้ยประกันสูงถึงราว 1 พันล้านบาท ยังไม่นับประกันอื่น ๆ อีกสารพัดแบบที่เราคุ้นชื่อกันดี อย่าง ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ประกันการเดินทาง ประกันรถยนต์ ประกันวินาศภัย ฯลฯ
หนึ่งในบุคคลระดับตำนานที่ปลุกปั้นให้ธุรกิจประกันชีวิตได้รับความนิยมในเมืองไทยมากขึ้นก็คือ โพธิพงษ์ ล่ำซำ ผู้เป็นพ่อของ นวลพรรณ ล่ำซำ แห่ง “เมืองไทยประกันภัย” และ สาระ ล่ำซำ แห่ง “เมืองไทยประกันชีวิต” นั่นเอง
โพธิพงษ์ เป็นลูกคนที่ 2 ของ จุลินทร์ ล่ำซำ และ สงวน (นามสกุลเดิมคือ หวั่งหลี) เดิมชื่อว่า สุธา แต่ต่อมาพออายุได้ราว 7-8 ขวบ ก็เปลี่ยนชื่อเป็น โพธิพงษ์ (อ่านว่า โพด-พง แต่ตอนหลังหลายคนก็อ่านว่า โพ-ทิ-พง) เพื่อให้คล้องจองกับพี่ชายคือ ไพโรจน์ (อดีตประธานกรรมการ บมจ. ล็อกซเล่ย์ ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) เขามีน้อง ๆ อีกหลายคน เช่น คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ทวีนุช จ่างตระกูล เป็นต้น
จุลินทร์ เป็นบิดาที่เลี้ยงดูลูก ๆ ค่อนข้างเข้มงวด แง่หนึ่งจึงเป็นการฝึกวินัยและการใช้ชีวิตอย่างเป็นระเบียบให้ลูก ๆ ทุกคน วัยเด็กของโพธิพงษ์เรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก ได้ปีเดียว ก็ต้องย้ายบ้านไปอยู่แถวสำเหร่ จึงไปเข้าเรียนที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ ธนบุรี ก่อนจะย้ายไปโรงเรียนวัดสุธาราม แล้วไปต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย พอจบชั้นมัธยม 4 จุลินทร์ก็ส่งเขาไปเรียนไฮสกูลที่ฮ่องกง จนราวปี 2493 ก็ข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนที่อังกฤษ
โพธิพงษ์วัยหนุ่มสอบติดสาขาศิลปศาสตร์ที่ London University ได้ แต่แล้วก็หันไปเรียนด้านสิ่งทอที่ Blackburn Technical College แทน เพราะอนาคตอยากตั้งโรงงานทอผ้า พออายุได้ 20 ปี เขาเลือกเรียนต่อปริญญาตรีด้านสิ่งทอเหมือนเดิม แต่คราวนี้ไปไกลถึง North Carolina State University สหรัฐอเมริกา เพราะอยากลองผจญภัยที่สหรัฐฯ ดูบ้าง จากนั้นโพธิพงษ์ก็เรียนต่อปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ ที่ Temple University ก่อนกลับเมืองไทยในปี 2503
ย้อนกลับมาที่ตระกูลล่ำซำซึ่งเป็นตระกูลใหญ่ หลังจาก อึ้งยุกหลง บิดาของจุลินทร์เสียชีวิต (อึ้งยุกหลงมีลูกชาย 3 คน คือ โชติ จุลินทร์ และ เกษม) ธุรกิจของตระกูลที่มีเช่น โรงสี โรงเลื่อย ธุรกิจรับสัมปทานป่าไม้ ฯลฯ ก็ทำรายได้ไม่ค่อยดีเหมือนก่อน ประกอบกับช่วงนั้นอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เศรษฐกิจตกต่ำ ข้าวยากหมากแพง โชติ ล่ำซำ (ปู่ของบัณฑูร ล่ำซำ ซีอีโอธนาคารกสิกรไทย) จึงปรึกษาน้องชายคือจุลินทร์ว่า ธุรกิจป่าไม้คงจะไปต่อไม่ไหวแล้วในอนาคต เพราะไม้ร่อยหรอลงทุกที จึงตัดสินใจเลิกทำกิจการป่าไม้ และตั้งธนาคารพาณิชย์ขึ้นมา เน้นลูกค้ารายย่อย ลูกค้าในชนบท รวมทั้งชาวไร่ชาวนาที่มีอยู่ทั่วประเทศ จึงได้ชื่อว่า “ธนาคารกสิกรไทย”
แม้กิจการธนาคารจะก้าวหน้าเป็นอย่างดี แต่เมื่อถึงปี 2494 จุลินทร์ก็คิดว่าธุรกิจประกันชีวิตในเมืองไทยขณะนั้นมีอยู่ไม่กี่บริษัท เขาจึงคิดทำธุรกิจประกันชีวิต ช่วงแรกจุลินทร์ไปขอร่วมทุนกับบริษัทประกันแห่งหนึ่ง แต่ได้รับคำปฏิเสธกลับมา ท้ายสุด จุลินทร์ไปรวบรวมญาติพี่น้องและเพื่อน ๆ มาได้กลุ่มหนึ่ง และก่อตั้ง บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน ปีเดียวกันนั้นเอง โดยมี เกษม ล่ำซำ น้องชายของจุลินทร์เป็นกรรมการบริษัท และ บัญชา ล่ำซำ (ลูกชายของโชติ และบิดาของบัณฑูร) ผู้เป็นหลานที่เพิ่งกลับจากสหรัฐฯ เป็นกรรมการผู้จัดการ มีสำนักงานตั้งอยู่บนถนนเสือป่า
หลังจากโพธิพงษ์ วัย 26 ปี กลับจากสหรัฐฯ เขายังไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อดี จึงถามผู้เป็นพ่อว่าหาทางตั้งโรงงานทอผ้าสักโรงดีไหม แต่จุลินทร์ตอบลูกชายว่า บัญชาอยากให้เขาไปช่วยงานที่เมืองไทยประกันชีวิต เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้โพธิพงษ์คร่ำหวอดกับวงการประกันภัยมานับแต่นั้น
“ผมก็บอกคุณบัญชาว่าไม่รู้เรื่องประกันเลย คุณบัญชาก็ยกหนังสือภาษาอังกฤษมาให้ตั้งหนึ่ง แล้วบอกว่า ‘เอ้านี่ เอาไปอ่านเอง เอาไปศึกษา’ พอเข้าไปทำที่บริษัท สิ่งแรกที่คุณบัญชาให้ทำคือ เป็นเสมียนประกันรถยนต์ ช่วยจัดการเคลมรถยนต์ที่ประสบอุบัติเหตุ ได้เงินเดือน 2,400 บาท แต่ถูกคุณพ่อหักเดือนละ 1,000 บาท ด้วยเหตุผลว่า ‘แกมาอยู่บ้านฉัน ฉันก็ต้องหัก’ เพราะคุณพ่อต้องการฝึกพวกเราให้รู้ว่าชีวิตคนขัดสนเป็นอย่างไร เรื่องนี้ผมถือว่าเป็นสิ่งมีค่าที่คุณพ่อมอบให้เป็นอย่างมาก
“เมื่อ 50 กว่าปีก่อน ประกันชีวิตเป็นเรื่องลำบากมาก ไม่มีใครเขาอยากมาทำธุรกิจนี้ สมัยที่ผมมาทำเมืองไทยประกันชีวิตใหม่ ๆ ประชากรไทยทำประกันชีวิตแค่ 4% เท่านั้นเอง” โพธิพงษ์ถ่ายทอดไว้ใน “ไกลเกินฝัน” ซึ่งเป็นหนังสืออัตชีวประวัติของเขา
แต่แล้วปี 2505 เหตุไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อเกษมซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ด้วยอีกตำแหน่ง ประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกเสียชีวิตที่อินเดีย บัญชาจึงต้องย้ายจากเมืองไทยประกันชีวิต ไปรับตำแหน่งแทนเกษมที่ธนาคารกสิกรไทย
“ตอนนั้นผมเป็นรองกรรมการผู้จัดการที่เมืองไทยฯ ปัญหาสมัยนั้นคือบริษัทยังเล็กมาก ได้เบี้ยประกัน 36 ล้านบาทต่อปี ทั้งตัวแทนประกันชีวิตสมัยก่อนก็ยังไม่ค่อยได้มาตรฐาน ทั้งยังเจอปัญหาเรื่องการสร้างความน่าเชื่อถือให้ประชาชน เพราะเมื่อก่อนใคร ๆ ก็รังเกียจการประกันชีวิต ‘เหมือนการไปขอเงินเขา คนจีนเขาจะถือมาก’ ที่หนักสุดคือปี 2506 ซึ่งเป็นปีที่ผมรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท บริษัทประกันภัยที่ใหญ่สุดคือ นครหลวงประกันภัย ล้มไป ปีต่อมา บูรพาประกันชีวิตก็ล้มละลาย
“สมัยนั้นผมอายุ 30-31 ไปหาคุณพ่อ บอกว่าเมืองไทยประกันชีวิตน่าจะล้มอยู่ไม่ได้ คุณพ่อโกรธมาก คุณพ่อบอกแกบ้าหรืออย่างไร ท่านก็ให้ผมทำต่อไปให้อยู่จนยืนได้ ตอนนั้นผมร้องไห้เลย กดดันมาก กว่าบริษัทจะเริ่มมีกำไรก็ราวปีที่ 20”
โพธิพงษ์เปลี่ยนความท้อจากสถานการณ์ที่รุมเร้าแทบจะรอบด้านให้กลายเป็นพลังในการพลิกหากลยุทธ์สร้างให้ธุรกิจประกันชีวิตยืนได้อย่างแข็งแกร่ง ทั้งการพยายามสร้างความเข้าใจเรื่องการประกันชีวิตว่าเป็นสิ่งที่ช่วยเรื่องความมั่นคงได้ทางหนึ่ง การสร้างความโปร่งใสและชัดเจนในเงื่อนไขรายละเอียดการประกันชีวิต รวมทั้งพัฒนาทักษะของตัวแทนประกันชีวิตให้เป็นมิตร จริงใจ น่าไว้วางใจและน่าเชื่อถือมากขึ้น เป็นการอุดจุดอ่อนที่ธุรกิจประกันชีวิตถูกโจมตีมาตลอด
นับจากนั้น ธุรกิจประกันภายใต้การบริหารของโพธิพงษ์ก็เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนในแต่ละยุค และต่อมา ลูก ๆ 2 คนของโพธิพงษ์ก็เข้ามารับไม้ต่อในการบริหารธุรกิจประกัน (เว้น วรรณพร พรประภา ลูกคนกลางซึ่งเป็นสถาปนิก)
อย่าง สาระ ล่ำซำ บุตรคนที่สามและเป็นบุตรคนเล็กสุดของโพธิพงษ์ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เมืองไทยประกันชีวิต ที่เข้ามารับไม้ต่อยอดให้ธุรกิจประกันชีวิตตอบโจทย์ลูกค้าและมีความทันสมัยมากขึ้น
โพธิพงษ์กล่าวว่า ตั้งใจให้บุตรชายคนนี้มาดูแลเมืองไทยประกันชีวิตแทนเขา ไม่ว่าเขาจะออกตรวจงานหรือเยี่ยมตัวแทนประกันในพื้นที่ต่างจังหวัด ก็จะให้สาระตามไปด้วยตลอด เพื่อเป็นการซึมซับและเรียนรู้ธุรกิจไปในตัว เขาเล่าว่า ตอนนั้นไม่รู้ว่าสาระจะชอบหรือไม่ชอบ แต่อย่างน้อยต้องพาไปให้เห็นก่อน ซึ่งสุดท้ายสาระก็สามารถพาองค์กรก้าวหน้าไปได้อย่างดี
“ผมบอกเขาว่า ทำอะไรต้องทำจริง ข้อสำคัญคือเราทำอะไรคนเดียวไม่ได้ ต้องมีคนที่ร่วมงานกับเรา ก็ขอให้หาคนดี ๆ มาร่วมงาน และต้องปฏิบัติต่อคนที่ทำงานเสมือนหนึ่งเป็นญาติเรา เหมือนอยู่ในครอบครัวเดียวกัน” โพธิพงษ์ กล่าวถึงคำสอนที่มีให้บุตรชาย
ส่วนบุตรคนโตของบ้าน “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) โพธิพงษ์เคยเล่าไว้ว่า ช่วงแรกไม่ได้ให้มาทำบริษัทในเครือก่อน ด้วยเหตุผลว่า “ผมอยากให้เขาไปเรียนรู้ประสบการณ์ ไม่อยากให้มาทำงานเป็นคุณหนู” กระทั่งมีกฎหมายให้แยกธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจประกันภัยออกจากกัน จึงเกิดเป็น เมืองไทยประกันภัย ในปี 2551 (เกิดจากการควบรวมระหว่าง บริษัท ภัทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด)
หลังจากนั้นสักพัก โพธิพงษ์เห็นว่านวลพรรณสั่งสมประสบการณ์ธุรกิจมาพอสมควรแล้ว จึงให้เข้ามาเริ่มงานที่เมืองไทยประกันภัย เริ่มต้นที่ตำแหน่งรองผู้จัดการ พร้อมพิสูจน์ความสามารถกระทั่งก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำกุมบังเหียนองค์กรในที่สุด
ปัจจุบัน โพธิพงษ์ในวัย 85 ปี เป็นประธานกรรมการของทั้งเมืองไทยประกันชีวิตและเมืองไทยประกันภัย แต่ไม่ได้มีหน้าที่บริหารงานเต็มตัวเหมือนแต่ก่อน เพราะเมื่อมอบให้ลูก ๆ ดูแลแล้วก็ต้องให้อิสระอย่างเต็มที่ หากทำได้ก็ถือเป็นความสำเร็จของลูก ๆ ทั้งสองคน แต่หากติดขัดเรื่องใดก็สามารถมาขอคำแนะนำได้ทุกเมื่อ
“ผมบอกลูก ๆ เสมอเรื่องหลักการ 3 ข้อ คือ คุณธรรม จริยธรรม และเมตตาธรรม ให้ดูแลลูกน้องให้ดี ผมให้ความสำคัญกับลูกน้องมาก เพราะเราทำงานต้องมีลูกน้อง ถ้าไม่มี เราก็ทำไม่ได้ ต่อให้ธุรกิจแข็งแกร่งอย่างไร ผู้นำเก่งอย่างไร ก็เก่งคนเดียวไม่ได้”
โพธิพงษ์ ล่ำซำ ย้ำถึงหนึ่งในปัจจัยความสำเร็จที่ทำให้ธุรกิจประกันชีวิตที่เขาปูทางมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี ได้รับความนิยมจากคนส่วนใหญ่อย่างทุกวันนี้
ที่มา
“ไกลเกินฝัน” หนังสืออัตชีวประวัติของโพธิพงษ์ ล่ำซำ
นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับกุมภาพันธ์ ปี 2558
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/871855
http://info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=9362
https://www.muangthai.co.th/th/about-mtl/mtl-story
https://www.muangthaiinsurance.com/th/aboutus/history