จอห์น เฮเวน อีเมอร์สัน พัฒนา “ปอดเหล็ก” ที่มาเครื่องช่วยหายใจ ช่วยชีวิตผู้ป่วยโควิด

จอห์น เฮเวน อีเมอร์สัน พัฒนา “ปอดเหล็ก” ที่มาเครื่องช่วยหายใจ ช่วยชีวิตผู้ป่วยโควิด
ในยุคโควิด-19 สิ่งหนึ่งที่จำเป็นมาก ๆ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบจากการติดเชื้อดังกล่าวก็คือ “เครื่องช่วยหายใจ” ซึ่งช่วยชีวิตผู้ป่วยให้มีอาการดีขึ้นจากโควิดมาแล้วเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ ต้องขอบคุณ จอห์น เฮเวน อีเมอร์สัน (John Haven Emerson) นักประดิษฐ์ชาวอเมริกันอย่างมาก ในฐานะหัวหอกที่พัฒนาเครื่องช่วยหายใจ “ปอดเหล็ก” (Iron Lung) ยกระดับความสำคัญของอุปกรณ์การแพทย์ชิ้นนี้ต่อมนุษยชาติให้มากยิ่งขึ้น แม้เขาจะไม่ใช่คนแรกที่คิดค้นมันขึ้นมาก็ตาม แต่หากไม่ได้เขา กว่า 80 ปีที่ผ่านมาอาจมีผู้เสียชีวิตบนโลกมากกว่าที่ควรหลายเท่านัก และหนึ่งในนั้นอาจเป็นคนใกล้ตัวของเราก็ได้ จอห์น เฮเวน อีเมอร์สัน มีชื่อเล่นว่า แจ็ค เกิดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ปี 1906 เติบโตมาในตระกูลยอดคนสมองเพชร คุณปู่ผู้มีชื่อเดียวกับเขาเป็นนายแพทย์, พ่อของเขา ดร.เฮเวน อีเมอร์สัน ก็เป็นหมอมากความรู้ความสามารถ มีตำแหน่งใหญ่โตด้านสาธารณสุขในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1, โรเบิร์ต พี่ชายเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้พบว่าศูนย์กลางในการสังเคราะห์แสงของพืชมีมากกว่าหนึ่งตำแหน่ง และยังเป็นญาติกับ แม็กซ์เวลล์ พาร์ริช จิตรกรชื่อดังระดับโลกด้วย เป็นต้น ถึงที่บ้านจะมีต้นทุนทางสังคมสูง รายล้อมไปด้วยคนเก่งระดับหัวกะทิ แต่รู้หรือไม่ว่าแจ็คเรียนไม่จบชั้นมัธยมศึกษาเสียด้วยซ้ำ ไม่ใช่ว่าเขาหัวไม่ดี แต่เพราะเขาชอบเรียนรู้ด้วยตนเองมากกว่า แจ็คเป็นคนช่างอ่านช่างค้นคว้ามาตั้งแต่เด็ก สิ่งที่เขาชอบมากคือการประดิษฐ์และสร้างสรรค์ของใหม่ ๆ เขาเป็นเจ้าของร้านซ่อมแซมเครื่องจักรตั้งแต่อายุ 22 ปี และใข้เวลานับแต่นั้นทุ่มเทกับการประดิษฐ์สิ่งของมากมาย ผลงานชิ้นโบว์แดงของเขาจะเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจากเครื่องช่วยหายใจปอดเหล็ก ที่ตัวเขาเองก็อาจคาดไม่ถึงว่าจะสร้างตำนานให้เขามากขนาดนี้  แม้อีเมอร์สันจะไม่ใช่หมอ แต่การมีพ่อเป็นหมอทำให้เขาคุ้นเคยแวดวงนี้เป็นอย่างดี พ่อมักจะมอบไอเดียที่มีประโยชน์หลายอย่าง จุดประกายให้เขาสร้างผลงานมากมาย ในปี 1930 นายแพทย์อีเมอร์สันเสนอให้เขาลองสร้างเครื่องช่วยหายใจขึ้นมา เนื่องจากตอนนั้นโรคโปลิโอ ซึ่งเป็นโรคร้ายที่ทำลายระบบประสาทของผู้คนให้ได้รับความเสียหายจนป่วยเป็นอัมพาต กำลังระบาดหนักในอเมริกา ความน่ากลัวคือโรคนี้เริ่มระบาดมาตั้งแต่ปี 1916 แล้ว แต่นับถึงตอนนั้นยังไม่มีทีท่าว่าจะหาทางหยุดการระบาดลงได้ แถมจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวัน อีเมอร์สันผู้ลูกจึงเริ่มศึกษาหาข้อมูลอย่างจริงจัง และพัฒนาเครื่องช่วยหายใจปอดเหล็กจนเสร็จสมบูรณ์ภายใน 1 ปี จริง ๆ แล้วเขาไม่ได้คิดค้นอุปกรณ์ใหม่ขึ้นมาแต่อย่างใด เพราะมีคนเคยสร้างปอดเหล็กก่อนเขานานแล้ว หนึ่งในนั้นคือ ฟิลิป ดริงเกอร์ (Philip Drinker) วิศวกรและนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขาร่วมกับ ดร.หลุยส์ อากัสซิส ชอว์ (Louis Agassiz Shaw) พัฒนาเครื่องช่วยหายใจปอดเหล็ก แล้วนำไปใช้กับเด็กหญิงวัย 8 ขวบ ซึ่งเป็นผู้ป่วยโรคโปลิโอที่เกิดภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลันในวันที่ 12 ตุลาคม 1928 ณ โรงพยาบาลเด็กบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ผลปรากฏว่าพอใช้เครื่องช่วยหายใจ เด็กน้อยก็สามารถหายใจดีขึ้นและสะดวกขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ถึงกระนั้น ปอดเหล็กของดริงเกอร์ยังมีข้อด้อยอยู่หลายประการ ทั้งน้ำหนักและขนาดที่ใหญ่โต มาพร้อมเครื่องยนต์กลไกซับซ้อนมากมาย ทำให้ยังไม่สามารถใช้งานเครื่องนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จุดนี้เองที่อีเมอร์สันก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญ เขาอุดช่องโหว่ทุกอย่างที่กล่าวมาทั้งหมด จนปอดเหล็กเวอร์ชันของเขามีขนาดเล็กกว่า เบากว่า ใช้งานง่ายกว่า ทรงประสิทธิภาพมากกว่า แถมยังราคาถูกกว่า เป็นผลให้เครื่องนี้และตัวเขาได้รับความสนใจจากทั่วทุกสารทิศ แต่ทุกสิ่งประดิษฐ์เปลี่ยนโลก ล้วนมาพร้อมกับดราม่าทางความคิดสร้างสรรค์ เครื่องช่วยหายใจเครื่องนี้ก็เช่นกัน เนื่องจากอีเมอร์สันพัฒนาปอดเหล็กโดยปรับปรุงข้อด้อยจากผลงานของดริงเกอร์ เป็นผลให้ฝ่ายหลังตัดสินใจฟ้องร้องอีเมอร์สันว่า ละเมิดสิทธิบัตรของเขาโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งคู่ต่อสู้กันบนชั้นศาลอยู่พักใหญ่ ก่อนที่ชัยชนะจะตกเป็นของอีเมอร์สัน เหตุผลที่อีเมอร์สันเป็นฝ่ายชนะ เนื่องจากเขาแก้ต่างว่า สิ่งประดิษฐ์ที่สามารถช่วยเหลือผู้คนได้แบบนี้ไม่ควรตกเป็นของคนใดคนหนึ่ง แต่ควรเป็นของมนุษยชาติ เพราะฉะนั้น การที่เขานำมาปรับปรุงต่อให้ดีขึ้นจึงถือเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยจำนวนมาก ซึ่งศาลเองก็เห็นไปในทางเดียวกัน นอกจากนี้ ก่อนเกิดดราม่าบนชั้นศาล มีหลายคนพยายามออกแบบและสร้างเครื่องช่วยหายใจปอดเหล็กก่อนพวกเขามานานหลายสิบปีแล้ว มันถูกดัดแปลงปรับปรุงแก้ไขมาเรื่อย ๆ แถมยังสามารถย้อนกลับไปดูต้นตอแนวคิดได้ไกลถึงราวปี 1670 ดริงเกอร์และอีเมอร์สันไม่ใช่คนแรกของโลกที่ประดิษฐ์เครื่องช่วยหายใจเครื่องนี้จนสำเร็จ แต่ทั้งคู่ล้วนต่อยอดสิ่งละอันพันละน้อยจากผลงานของนักประดิษฐ์รายก่อน ๆ กันทั้งนั้น ทำให้ศาลยกประโยชน์ให้กับอีเมอร์สันในจุดนี้ไป หลังหมดข้อพิพาท อีเมอร์สันยังเดินหน้าผลิตและปรับปรุงการทำงานของปอดเหล็กอย่างต่อเนื่อง และเมื่อการระบาดของโรคโปลิโอพีคขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงยุค 1940s เขาก็เร่งผลิตปอดเหล็กจำนวนมากออกมาเพื่อรองรับผู้ป่วยจำนวนมหาศาล ก่อนที่การระบาดของโรคโปลิโอจะสิ้นสุดลงในช่วงกลางยุค 1950s คาดการณ์ว่าเขาสามารถช่วยชีวิตผู้คนไว้ได้หลายพันคนเลยทีเดียว และแล้วในยุค 1970s ปอดเหล็กก็ถึงคราวยุติการสร้างอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ความต้องการเครื่องช่วยหายใจไม่ได้หายไปไหน มันถูกพัฒนาต่อยอดมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นเครื่องช่วยหายใจรูปแบบต่าง ๆ ที่ใช้งานง่ายขึ้นสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน หลังจากปอดเหล็กติดลมบนไปแล้ว อีเมอร์สันยังคงวุ่นกับการประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์ทางการแพทย์ชิ้นใหม่ ๆ จำนวนมาก สามารถจดสิทธิบัตรอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ถึง 35 อย่าง สามารถช่วยเหลือผู้คนมากมายให้ใช้ชีวิตได้สะดวกขึ้นและไม่ต้องทรมาน หนึ่งในนั้นคือ คริสโตเฟอร์ รีฟ (Christopher Reeve) นักแสดงชื่อดังเจ้าของบท ซูเปอร์แมน/คลาร์ก เคนท์ จากหนัง Superman 4 เรื่อง (1978-1987) ที่ประสบอุบัติเหตุจากการขี่ม้าในปี 1995 จนร่างกายเป็นอัมพาตตั้งแต่ช่วงคอลงมา แต่ก็ได้เครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์ที่อีเมอร์สันคิดค้นขึ้นยื้อชีวิตไว้ ด้วยผลงานอันทรงคุณค่ามากมาย เป็นผลให้ในปี 1972 จอห์น เฮเวน อีเมอร์สัน ได้รับเหรียญรางวัล Chadwick Medal จากสมาคมโรคทรวงอกแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (American Thoracic Society) ถือเป็นคนแรกที่ไม่ใช่นักฟิสิกส์ที่ได้รางวัลนี้ จากนั้นในปี 1982 ยังได้รับการยกย่องจากองค์กรวิชาชีพที่สนับสนุนการดูแลระบบทางเดินหายใจในสหรัฐอเมริกา (American Association for Respiratory Care) ให้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ และได้รับเกียรติเดียวกันจากองค์กรวิชาชีพพยาบาลผู้ดูแลผู้ป่วยอาการสาหัส (American Association of Critical-Care Nurses) ในปี 1994 ด้วย อีเมอร์สันเสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 1997 ถึงตัวจะจากไป แต่ผลงานและความยิ่งใหญ่ของเขาในแวดวงการแพทย์ยังคงได้รับการกล่าวขวัญถึงเสมอมา ในฐานะที่ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคโปลิโอ ผู้ป่วยอัมพาต ผู้มีปัญหาทางการหายใจ ให้มีชีวิตที่สดใสและมีความสุขมากขึ้น แม้ร่ายกายจะเสียหายเกินกว่าจะซ่อมแซมได้ แต่การที่เขาช่วยให้ผู้คนสามารถหายใจได้อย่างเต็มปอดอีกครั้ง นั่นก็มีความหมายมากล้นเหลือเกินแล้ว   ที่มา: https://americanhistory.si.edu/collections/search/object/nmah_728031 http://www.edubilla.com/inventor/john-haven-emerson/ https://www.polioplace.org/people/john-h-emerson https://www.polioplace.org/sites/default/files/files/Evolution_of_Iron_Lungs._for_PP.pdf https://www.researchgate.net/publication/327348905_Philip_Drinker_versus_John_Haven_Emerson_Battle_of_the_iron_lung_machines_1928-1940 https://www.tampabay.com/archive/1997/02/08/john-haven-emerson-designed-iron-lung/ https://www.sun-sentinel.com/news/fl-xpm-1997-02-07-9702070091-story.html   เรื่อง: ปารณพัฒน์ แอนุ้ย