ชาวเกาะอีสเตอร์ หายนะที่สร้างเองด้วยการทำลายธรรมชาติ
อีสเตอร์เป็นเกาะเล็กๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก ได้ชื่อมาจากนักเดินเรือชาวดัตช์ที่ตั้งให้ตามวันที่พวกเขาเดินทางมาถึง มันตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งประเทศชิลีในทวีปอเมริกาใต้ราวสามพันกิโลเมตร มีขนาดราวหนึ่งร้อยตารางกิโลเมตรเท่านั้น หรือมีขนาดใหญ่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเกาะสมุย แต่ที่นี่มีสิ่งที่ทำให้นักเดินเรือตะวันตกที่เดินทางมาพบในศตวรรษที่ 18 ต้องทึ่ง นั่นก็คือ "โมอาย" หินแกะสลักรูปคนขนาดใหญ่
"เราคิดไม่ออกจริงๆ ว่า ชาวเกาะที่แทบไม่รู้จักเครื่องมือทุ่นแรงจะยกรูปสลักหินขนาดมหึมาเช่นนี้ได้อย่างไร" กัปตันเจมส์ คุก นักเดินเรืออังกฤษจดบันทึกไว้เมื่อปี 1774 (Smithsonian)
เหตุที่ชาวตะวันตกอย่างคุกไม่เชื่อว่า ชาวเกาะอีสเตอร์ หรือ "ราปา นุย" (Rapa Nui) จะสามารถก่อสร้างโมอายได้เป็นเพราะพวกเขามาพบกับชนพื้นเมืองในช่วงเวลาที่พวกเขาตกต่ำ และละทิ้งรูปสลักที่เคยเป็นที่เคารพสักการะไปเสียแล้ว
ชนพื้นเมืองที่นี่เป็นกลุ่มย่อยของชนเชื้อสายพอลินีเซียน กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความเชี่ยวชาญในการเดินเรือ โดยคาดว่าน่าจะเดินทางมาตั้งรกรากที่เกาะอีสเตอร์มานานนับพันปี (จากการตรวจอายุด้วยคาร์บอนกัมมันตรังสีพบโบราณวัตถุเก่าแก่ที่สุดมีอายุอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 8-9) และจากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า ผู้ตั้งถิ่นฐานกลุ่มแรกๆ น่าจะมาพร้อมกับเทคโนโลยีการก่อสร้างด้วยหินที่ก้าวหน้า พวกเขาจึงน่าจะเดินทางมายังเกาะแห่งนี้โดยวางแผนไว้ก่อน มากกว่าจะเป็นข้อสันนิษฐานที่ว่า ชาวเกาะกลุ่มแรกคือชาวประมงที่จะบังเอิญถูกกระแสน้ำพัดพามาติดเกาะ
ที่นี่ชนพื้นเมืองยังมีการแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่คือกลุ่ม "หูสั้น" กับ "หูยาว" ที่เคยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขยาวนาน จนกระทั่งเกิดความขัดแย้งนำไปสู่การสู้รบและการล่มสลายของอารยธรรม ซึ่งเหตุผลสำคัญก็มาจากการสู้รบเพื่อแย่งชิงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดบนเกาะแห่งนี้
เมื่อพิจารณาพัฒนาการของโมอาย โมอายยุคแรกๆ มีขนาดย่อมๆ ก่อนที่จะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉลี่ยโมอายที่ถูกยกขึ้นตั้งแล้วมีน้ำหนักราวๆ 10 ตัน ขณะที่รูปสลักที่ยังทำไม่เสร็จนั้นมีชิ้นหนึ่งที่มีน้ำหนักมากถึง 270 ตัน มันถูกทิ้งไว้พร้อมกับรูปสลักมากมายที่บางส่วนแกะสลักไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และยังมีรูปปั้นจำนวนหนึ่งที่เคยตั้งตระหง่านแต่กลับถูกชาวบ้านเอามันล้มลงมา
อะไรที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนั้น?
ชาร์ลี แคมป์เบล (Charlie Campbell) ผู้เขียนเรื่อง Scapegoat: A History of Blaming Other People อธิบายว่า แต่เดิมเกาะอีสเตอร์อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ โดยเฉพาะปาล์มท้องถิ่นที่เป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน สร้างแพ สร้างเรือ ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับหุงหาอาหาร หรือเผาศพ รวมถึงใช้เป็นเครื่องมือในการเคลื่อนย้ายหินสลักขนาดยักษ์
เมื่อเวลาผ่านไปชาวบ้านใช้ไม้ชนิดนี้ไปเรื่อยโดยไม่ได้คำนึงถึงอนาคต ไม้สำคัญนี้ก็ค่อยๆ หมดไปจากเกาะ เมื่อไม่มีป่าไม้ผิวดินก็เสื่อมความอุดมสมบูรณ์ การเพาะปลูกก็ไม่ได้ผลดี สัตว์ป่าก็ค่อยๆ หมดไปจากการล่าของมนุษย์และการไร้ถิ่นที่อยู่อาศัย
ที่สำคัญเมื่อไม่เหลือไม้ให้ใช้อีกต่อไป เชื้อเพลิงก็ไม่เหลือ ชาวบ้านต้องเปลี่ยนพิธีกรรมในการทำศพ จากการเผาเลยต้องเปลี่ยนมาเป็นการทำมัมมี การขาดแคลนไม้ยังทำให้ชาวบ้านไม่มีวัตถุดิบไว้ทำเรือแคนู เมื่อไม่มีเรือก็ไม่สามารถออกหาปลาได้ เมื่อแหล่งอาหารบนเกาะร่อยหรอก็นำไปสู่ความขัดแย้ง และภาวะขาดแคลนอาหาร จนทำให้จำนวนประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว และอาจเกิดสภาพที่ "คนต้องกินคน" ด้วยกันเอง
“โมอาย” เองก็เป็นหลักฐานสำคัญของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เบื้องต้นมันถูกสร้างขึ้นด้วยความเคารพ การที่มันถูกสร้างให้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ อาจแสดงถึงภาวะความยากลำบากของคนบนเกาะ พวกเขาจึงหวังทำให้เทพเจ้าพอใจด้วยการสร้างรูปสลักถวายให้ใหญ่ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ แต่ยิ่งทำให้มันใหญ่โตแค่ไหนก็ไม่ได้ช่วยให้พวกเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พวกมันจึงถูกชาวบ้านละทิ้งหรือล้มทำลายด้วยความโกรธแค้น โดยพวกเขาอาจไม่ได้คำนึงเลยว่า ความยากลำบากของพวกเขาเกิดขึ้นมาจากการใช้ทรัพยากรจนเกินกว่าที่ธรรมชาติจะรับได้
ทั้งนี้ การมาถึงของชาวตะวันตกก็มีส่วนทำให้สภาพที่ยากลำบากอยู่แล้วแย่ยิ่งขึ้นไปอีก การสำรวจโดยสเปนในปี 1770 พบประชากรราว 3,000 คน และก่อนหน้าที่ เจมส์ คุก เดินทางมาถึงในปี 1774 ก็น่าจะเกิดสงครามภายในครั้งใหญ่ โดยเขาบันทึกว่ามีประชากรชายราว 600-700 คน และผู้หญิงเพียง 30 คน ซึ่งตอนนั้นชาวบ้านก็เลิกนับถือรูปปั้นยักษ์ไปแล้ว หลังจากนั้นประชากรบนเกาะเริ่มฟื้นตัวขึ้นมา โดยในปี 1862 มีประชากรบนเกาะราว 3,000 คน แต่การบุกเกาะเพื่อจับตัวชาวบ้านไปขายเป็นทาสและการมาถึงของโรคฝีดาษ ก็ทำให้จำนวนประชากรบนเกาะลดลงเหลือเพียง 111 คน เมื่อปี 1877 (Britannica)