02 เม.ย. 2563 | 12:31 น.
หมออู่เหลียนเต๋อเมื่อครั้งกำลังศึกษาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์(ภาพจาก https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/5/58/Wu_Liande.jpg)
ครูแพทย์ทหารบกช่วงปลายราชวงศ์ชิง ต่อสู้กับอิทธิพลญี่ปุ่นในวงวิชาการแพทย์จีน ช่วงที่อู่เหลียนเต๋อมารับตำแหน่งรองผู้อำนวยการวิทยาลัยแพทย์ทหารบกเป่ยหยางใหม่ ๆ นั้น เนื่องจากวิทยาลัยแพทย์ทหารจีนในยุคนั้น ใช้แพทย์ชาวญี่ปุ่นเป็นครูสอนโดยส่วนใหญ่ หมอญี่ปุ่นเหล่านี้จึงมีอิทธิพลทางความคิดในโรงเรียนแพทย์ของราชสำนักชิงค่อนข้างสูง และนั่นก็จะนำมาซึ่งอันตรายในทางความมั่นคงของประเทศจีนในภายหน้า เพราะญี่ปุ่นในเวลานั้นกำลังเดินเข้าสู่ลัทธิจักรวรรดินิยม และค่อย ๆ เข้ายึดครองเกาหลีและจีนทีละน้อย ๆ เพื่อครองความเป็นใหญ่ในโลกตะวันออก อู่เหลียนเต๋อในฐานะแพทย์ ครูสอนวิชาแพทย์ และในฐานะลูกหลานชาวจีน จึงได้ใช้วิชาความรู้ที่ตนมีอยู่ทั้งหมด และสำนึกแห่งความเป็นชาวจีน ในการต่อสู้กับอิทธิพลทางความคิดของหมอญี่ปุ่นในวิทยาลัยแพทย์ทหารบกเป่ยหยาง จนกระทั่งความรู้ความสามารถของเขาเป็นที่ยอมรับของนักเรียนแพทย์ทั้งหลายในวิทยาลัย และขจัดอิทธิพลทางความคิดของพวกหมอญี่ปุ่นในวิทยาลัยแพทย์ทหารบกเป่ยหยางได้สำเร็จ เผชิญหน้ากับกาฬโรคระบาดใหญ่ในแผ่นดินจีน ปลายเดือนตุลาคม ค.ศ. 1910 (พ.ศ. 2453) ได้เกิดภาวะกาฬโรคปอดระบาดครั้งใหญ่ในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์กาฬโรคระบาดครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ช่วงปลายราชวงศ์ชิงและของจีน มีจุดเริ่มต้นการระบาดที่เขตฟู่เจียเตียน เมืองฮาร์บิน เมืองเอกของมณฑลเฮยหลงเจียง ทางตงเป่ยหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน มีบันทึกไว้ว่าการระบาดครั้งนั้นกินอาณาบริเวณกว่า 69 อำเภอในแถบแมนจูเรีย รวมทั้งพื้นที่เขตปกครองตนเองมองโกเลียในในปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิตในครั้งนั้นมากกว่า 6 หมื่นคน ช่วงที่เกิดกาฬโรคระบาดในแถบแมนจูเรีย จักรวรรดิรัสเซียและจักรวรรดิญี่ปุ่น ซึ่งต่างก็หมายปองดินแดนแมนจูเรีย ได้ฉวยโอกาสนี้เรียกร้องให้รัฐบาลต้าชิงอนุญาตให้กองทหาร และแพทย์ทหารของรัสเซียและญี่ปุ่นเข้าไปในพื้นที่แมนจูเรีย เพื่อเข้าไปจัดการกับการระบาดของโรค ซึ่งนั่นย่อมจะนำมาซึ่งอันตรายต่ออำนาจอธิปไตยของจีนเหนือดินแดนแมนจูเรียในอนาคตอย่างแน่นอนโรงพยาบาลสนามของราชสำนักชิงในช่วงกาฬโรคระบาดที่แมนจูเรีย
(ภาพจาก https://news.have8.tv/20/0129/2459520.html)
บุกตะลุยสู่แนวหน้า เดือนธันวาคม ค.ศ. 1910 (พ.ศ. 2453) ราชสำนักต้าชิง ซึ่งขณะนั้นตรงกับรัชสมัยเซวียนถ่ง ในรัชกาลของฮ่องเต้เซวียนถ่ง ฮ่องเต้น้อยวัยเพียง 4 พรรษา หรือที่คนไทยรู้จักในนาม “ปูยี” ฮ่องเต้องค์สุดท้ายของราชวงศ์ชิงและของจีน ภายใต้การดูแลของสองผู้สำเร็จราชการแทน คือ หลงอวี้ไทเฮา อดีตพระอัครมเหสี หรือฮองเฮา ของฮ่องเต้กวงซวี่ อดีตจักรพรรดิในรัชกาลก่อนหน้า กับ ฉุนชินหวังไจ้เฟิง พระบิดาของปูยี ได้แต่งตั้งให้หมออู่เหลียนเต๋อเป็น “หัวหน้าคณะทำงานแพทย์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของกาฬโรคในพื้นที่สามมณฑลตะวันออก” (东三省防鼠疫全权总医官) หมออู่เหลียนเต๋อพร้อมด้วยผู้ช่วยของเขา คือหมอหลินเจียรุ่ย ซึ่งขณะนั้นยังเป็นนักเรียนแพทย์ทหารบกเป่ยหยาง ออกเดินทางไปยังเมืองฮาร์บิน และถึงที่นั่นในวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 1911 สถานการณ์ที่หมออู่เหลียนเต๋อได้พบเมื่อไปถึงเมืองฮาร์บินใหม่ ๆ เหมือนกับนรกบนดิน จำนวนผู้ติดเชื้อกาฬโรคในแต่ละวันพุ่งสูงมากจนแทบไม่อาจควบคุมได้ จำนวนผู้เสียชีวิตจากกาฬโรคก็มีมากมายก่ายกองทุกวันไม่เว้นแม้สักวัน ที่เผาได้ก็เผา ที่ฝังได้ก็ฝัง เมื่อหมออู่เหลียนเต๋อเดินทางถึงฮาร์บิน สิ่งแรกที่เขาเร่งลงมือทำทันที คือการศึกษาทำความเข้าใจกับเชื้อกาฬโรคที่กำลังแพร่ระบาด โดยทำการทดลองในห้องปฏิบัติการวิจัยสนามที่ตั้งขึ้นในศูนย์บัญชาการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของกาฬโรคที่เมืองฮาร์บิน เขาได้พบปมเงื่อนสำคัญว่า เชื้อกาฬโรคที่ระบาดคราวนี้ ไม่จำเป็นต้องอาศัยสัตว์เป็นพาหะเหมือนกาฬโรคในอดีต แต่มันสามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้ผ่านทางสารคัดหลั่งในร่างกายมนุษย์นั่นเอง (เหมือนกับโควิด-19) เมื่อค้นพบปมเงื่อนสำคัญเช่นนี้ หมออู่เหลียนเต๋อจึงได้คิดออกแบบอุปกรณ์สำหรับใช้ในการป้องกันการแพร่เชื้อแบบง่าย ๆ ต้นทุนต่ำ แต่ได้ผลชะงัดนัก นั่นคือ “หน้ากากอนามัยแบบผ้า” โดยนำผ้ากอซที่ปกติใช้สำหรับปิดแผลสองชั้นที่มีสำลีดูดซับในตัวซึ่งสามารถใช้แยกเชื้อโรคได้ แล้วใช้ผ้าแถบพันผ้ากอซทับปิดปากและจมูก โดยให้เจ้าหน้าที่และประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่ถูกตรวจร่างกายและได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อแล้วนั้นสวมมันไว้ตลอดเวลา เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของสารคัดหลั่งในร่างกายมนุษย์ ซึ่งเป็นพาหะนำโรค ผู้คนจึงพากันเรียกเจ้าหน้ากากอนามัยแบบผ้ากอซที่หมออู่เหลียนเต๋อคิดประดิษฐ์ขึ้นนี้ว่า “หน้ากากหมออู่” (伍氏口罩) จนถึงปัจจุบันหน้ากากหมออู่ หรือหน้ากากของคนแซ่อู่ (伍氏口罩)
(ภาพจาก https://www.shkp.org.cn/articles/2019/12/wx257400.html )
แม้กระนั้น แนวคิดของหมออู่เหลียนเต๋อ ทั้งสมมติฐานที่ว่ากาฬโรคที่ระบาดครั้งนี้แพร่เชื้อผ่านสารคัดหลั่งในร่างกายมนุษย์ และการเสนอให้เจ้าหน้าที่และประชาชนที่ติดเชื้อแล้วสวมหน้ากากหมออู่ในเวลานั้น ก็ถูกคัดค้านอย่างหนัก โดยเฉพาะจากบรรดาแพทย์ชาวต่างประเทศ ทั้งแพทย์ชาวญี่ปุ่น ฝรั่งเศส รัสเซีย และประเทศอื่น ๆ ซึ่งคุ้นเคยกับการรับมือกาฬโรคแบบเดิม และยังไม่เชื่อในฝีมือของหมอชาวจีนมากนัก วันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1911 (พ.ศ. 2454) อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศสจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์หลวงเป่ยหยาง ซึ่งเป็นวิทยาลัยแพทย์สายพลเรือนของราชสำนักชิง ได้เดินทางมาถึงเมืองฮาร์บิน เขาไม่เชื่อในสมมติฐานของหมออู่เหลียนเต๋อ จึงเรียกร้องต่อรัฐบาลต้าชิงขอให้เปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ฯ จากหมออู่เป็นเขาแทน หมอท่านนี้ตรวจรักษาผู้ป่วยโดยไม่มีการสวมอุปกรณ์ป้องกันการแพร่เชื้อใด ๆ ทั้งตัวหมอเองและตัวผู้ป่วย สุดท้ายหมอท่านนี้ก็ติดเชื้อกาฬโรคปอด และเสียชีวิตในวันที่ 11 มกราคม ปีเดียวกันนั้นเอง การเสียชีวิตของอาจารย์แพทย์ผู้คัดค้านแนวคิดของหมออู่เหลียนเต๋ออย่างหัวชนฝาท่านนี้ ทำให้ผู้คนเริ่มหันมาให้ความสนใจกับข้อเสนอของหมออู่มากขึ้น หมออู่จึงใช้โอกาสนี้เริ่มบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ได้แก่ 1.การกักตัวผู้ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อ เพื่อแยกผู้ซึ่งอาจจะเป็นพาหะนำโรคออกจากคนทั่วไป โดยนำผู้ต้องสงสัยไปกักตัวไว้ในตู้รถไฟที่หมออู่ใช้อำนาจในฐานะขุนนางราชวงศ์ชิง ขอยืมมาจากผู้รับสัมปทานเดินรถไฟในมณฑลเฮยหลงเจียง เพื่อใช้เป็นที่กักกันตัวผู้ป่วยชั่วคราว โดยจะกักตัวไว้เป็นเวลา 7 วัน ใน 7 วันนี้จะอนุญาตให้ญาติผู้ป่วยเข้าเยี่ยมได้ (แต่ต้องอยู่ห่าง ๆ และสวมหน้ากากหมออู่ด้วย) และแพทย์จะตรวจอาการทุกวัน หากครบ 7 วันแล้วไม่มีไข้ ไม่มีอาการไอ และไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ผู้ถูกกักตัวคนนั้นก็จะได้รับการปล่อยตัวกลับบ้าน 2.มาตรการปิดเมืองและจำกัดการเดินทางเข้า-ออก ในเวลานั้น มีชาวมณฑลจื๋อลี่ และซานตง มาทำงานรับจ้างใช้แรงงานในแถบแมนจูเรีย เพื่อไม่ให้คนเหล่านี้เป็นพาหะนำโรคไปแพร่เชื้อคนในพื้นที่จงหยวน หมออู่จึงขอให้รัฐบาลราชสำนักชิงสั่งปิดด่านซานไห่กวน ซึ่งเป็นด่านสำคัญที่เชื่อมต่อระหว่างเขตแมนจูเรียกับจงหยวน หรือพื้นที่ตอนในของประเทศจีน ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1911 เป็นต้นไป ผู้ที่เดินทางมาจากแมนจูเรียที่จะผ่านด่านซานไห่กวนเข้าไปยังจงหยวนทุกคน ต้องถูกกักตัวที่ด่านเป็นเวลา 5 วัน เมื่อครบ 5 วัน หากไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ จึงจะได้รับอนุญาตให้ผ่านด่านได้ วันที่ 15 มกราคม ค.ศ. 1911 ทางรถไฟสายจิงเฟิ่ง หรือทางรถไฟสายปักกิ่ง-เฟิ่งเทียน ซึ่งเป็นทางรถไฟสายหลักที่เชื่อมต่อระหว่างกรุงปักกิ่งกับนครเฟิ่งเทียน (ปัจจุบันคือเมืองเสิ่นหยาง มณฑลเหลียวหนิง) ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าของราชวงศ์ชิงก่อนจะเข้าด่านยึดครองแผ่นดินจีนได้ทั้งหมด และเป็นเมืองสำคัญในเขตแมนจูเรีย ถูกสั่งระงับการเดินรถไฟทั้งขาขึ้นและขาล่อง วันที่ 17 มกราคม ทางรถไฟสายแมนจูเรียใต้ บางส่วนถูกระงับการเดินรถ วันที่ 20 มกราคม ทางรถไฟสายแมนจูเรียใต้ส่วนที่เหลือ และทางรถไฟสายตงชิง หรือทางรถไฟสายแมนจูเรีย ซึ่งเชื่อมโยงเมืองหลัก ๆ ในเขตแมนจูเรียบางส่วน ถูกระงับการเดินรถ ทั้งยังมีการระดมกำลังทหารปิดล้อมเมืองต่าง ๆ เพื่อจำกัดการเข้า-ออกของผู้คนในเขตแมนจูเรีย และระหว่างเขตแมนจูเรียกับพื้นที่อื่น ๆ อีกด้วย 3.ห้ามการฝังศพ ใช้การเผาศพแทน แม้จะใช้มาตรการปิดเมือง มาตรการกักตัวผู้ต้องสงสัย และให้ผู้คนสวมหน้ากากหมออู่แล้วก็ตาม แต่การระบาดของกาฬโรคก็ยังคงมีอยู่ หมออู่เหลียนเต๋อพยายามศึกษาค้นหาสาเหตุจนพบว่า ศพผู้เสียชีวิตจากกาฬโรคซึ่งถูกฝังตามประเพณีแบบจีนดั้งเดิมนั้น ยังสามารถเป็นพาหะนำโรคได้ แปลว่าเชื้อกาฬโรคไม่ได้ตายตามคนผู้นั้นไปด้วย ดังนั้นหมออู่เหลียนเต๋อจึงออกมาตรการเพิ่มเติมให้จัดการศพผู้เสียชีวิตจากกาฬโรคในพื้นที่แมนจูเรียด้วยวิธีเผาศพเท่านั้น ห้ามฝังอย่างเด็ดขาด แน่นอนว่า มาตรการนี้ย่อมถูกต่อต้านจากชาวจีนที่ยังยึดมั่นในประเพณีดั้งเดิมแบบขงจื่อที่ให้ฝังศพบรรพชนอย่างหนัก แต่ฉุนชินหวังไจ้เฟิง ผู้สำเร็จราชการแทนฮ่องเต้น้อยปูยี ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจระดับสูงในรัฐบาลต้าชิงขณะนั้น เห็นด้วยกับแนวทางมาตรการของหมออู่ จึงทรงสนับสนุนอย่างเต็มที่ เมื่อได้รับการสนับสนุนจากผู้สำเร็จราชการเช่นนี้ หมออู่ก็สามารถบังคับใช้มาตรการได้อย่างเต็มที่ ในที่สุด ด้วยสามมาตรการดังกล่าว บวกกับอุปกรณ์ที่คิดขึ้นมาอย่างหน้ากากหมออู่ จำนวนผู้ติดเชื้อจากกาฬโรคก็ลดลงเรื่อย ๆ กระทั่งในเดือนเมษายน ค.ศ. 1911 การระบาดของกาฬโรคปอดในเขตแมนจูเรียก็เป็นอันสงบลงอย่างเด็ดขาด นั่นแปลว่าหมออู่เหลียนเต๋อใช้เวลาเพียงห้าเดือน นับจากที่เขามารับหน้าที่ที่เมืองฮาร์บิน (ธันวาคม ค.ศ. 1910 ถึงเมษายน ค.ศ. 1911) ในการควบคุมการแพร่ระบาดของกาฬโรคปอด ที่เวลานั้นไม่มีแพทย์ชาวต่างประเทศคนใดคิดว่าแพทย์ชาวจีนจะสามารถจัดการได้ จนประสบความสำเร็จ กลายเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในวงการแพทย์ของจีนในรอบกว่าร้อยปีและของโลกยุคนั้น พระนางหลงอวี้ไทเฮาทรงปูนบำเหน็จแก่หมออู่ ด้วยการแต่งตั้งให้เขาเป็นจิ้นซื่อด้านการแพทย์ (医科进士 หมายถึงตำแหน่งของบัณฑิตที่สอบผ่านระดับสูงสุดด้านการแพทย์ ในระบบการสอบจอหงวนสมัยโบราณของจีน) รวมทั้งยังพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มังกรคู่ (御赐双龙宝星) แก่หมออู่ เพื่อเป็นเกียรติแก่หมออู่ และโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศทางทหารของหมออู่ให้เป็นพันตรี แห่งกองทัพบกต้าชิงอีกด้วย นอกจากนี้ หมออู่ในนามของรัฐบาลราชวงศ์ชิง ได้จัดการประชุมวิชาการว่าด้วยกาฬโรคที่เฟิ่งเทียน (International Plague Conference) ระหว่างวันที่ 3-28 เมษายน ค.ศ. 1911 มีการเชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากชาติมหาอำนาจยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น มาร่วมกันสรุปบทเรียนจากเหตุการณ์กาฬโรคปอดระบาดใหญ่ในแมนจูเรียครั้งนี้ ถือเป็นการจัดประชุมทางวิชาการนานาชาติครั้งแรกของราชวงศ์ชิง นอกจากจะเป็นการสร้างองค์ความรู้ในการรับมือกับโรคระบาดในอนาคต ยังเป็นการสร้างชื่อเสียงเกียรติภูมิให้แก่ราชวงศ์ชิงและแผ่นดินจีนอีกด้วย บทส่งท้าย นอกจากเป็นวีรบุรุษผู้หยุดยั้งการระบาดใหญ่ของกาฬโรคปอดที่แมนจูเรียแล้ว หมออู่เหลียนเต๋อยังมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาการแพทย์สมัยใหม่ และวิชาการด้านระบาดวิทยาของจีน เช่นในปี 1915 (พ.ศ. 2458) ในยุคสาธารณรัฐจีน หมออู่ได้บุกเบิกก่อตั้ง “แพทยสภาจีน” (中华医学会)ต่อมาในปี 1919 (พ.ศ. 2462) ยังได้บุกเบิกก่อตั้ง “สถาบันระบาดวิทยาแห่งรัฐบาลกลาง” (中央防疫处) และมีบทบาทต่อการพัฒนาด้านการแพทย์สมัยใหม่ของจีนในช่วงครึ่งแรกของคริสตศตวรรษที่ 20 อย่างมาก แต่น่าเสียดายที่เขาถูกพิษการเมืองเล่นงาน โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับให้ญี่ปุ่นเมื่อปี 1931 ซึ่งเป็นช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นกำลังเลวร้ายอย่างมาก (จนกระทั่งเกิดสงครามจีน-ญี่ปุ่นในปี 1937) ด้วยเหตุนี้ หลังสงครามจีน-ญี่ปุ่นระเบิดขึ้นในปี 1937 หมออู่เหลียนเต๋อจึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งทุกอย่างในรัฐบาลสาธารณรัฐจีน กลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่มาเลเซียซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของท่าน จนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1960 ณ บ้านพักที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย สิริอายุ 80 ปี ที่มา