ลี ฟอล์ก ผู้สร้าง The Phantom อเมริกันฮีโรในชุดรัดรูปคนแรก
"มีคนถามผมเป็นประจำว่า ผมไปได้ไอเดียของมนุษย์สวมหน้ากากใส่กางเกงรัดรูปวิ่งไปทั่วป่ามาจากไหน? มันดูไม่เหมาะใช่มั้ย? ทาร์ซานยังแต่งตัวดีกว่ากับการอยู่ในป่าเขตร้อน
"มีนักวิจารณ์คนสำคัญรายหนึ่งในปารีสที่สอนเรื่องคอมิกส์ เขียนวิจารณ์เอาไว้ว่า Phantom แต่งคอสตูมของเพชฌฆาตในยุคกลาง ซึ่งก็ใช่ แต่ผมไม่ได้มองว่าเขาคือเพชฌฆาตจากยุคกลาง ผมเห็นเขาเป็นคนดี"
ลี ฟอล์ก (Lee Falk) ศิลปิน นักวาดการ์ตูน ผู้กำกับและผู้อำนวยการสร้าง กล่าวถึง Phantom อเมริกันฮีโรในชุดรัดรูปคนแรกในประวัติศาสตร์ที่มาจากการสร้างสรรค์ของเขา (Provincetown History Project)
ลี ฟอล์ก มีชื่อโดยกำเนิดคือ ลีออน แฮร์ริสัน โกรสส์ (Leon Harrison Gross) เกิดเมื่อ 28 เมษายน ค.ศ. 1911 ในเซนต์หลุยส์ มิสซูรี ส่วนที่มาของชื่อในวงการนั้น ลี มาจากชื่อเล่น ส่วน ฟอล์ก ที่กลายเป็นชื่อที่คนส่วนใหญ่รู้จัก เป็นชื่อที่เขาเลือกใช้เพื่อเป็นเกียรติให้กับพ่อเลี้ยง (สามีใหม่ของแม่)
Phantom ไม่ใช่ฮีโรตัวแรกของฟอล์ก ระหว่างที่เรียนด้านวรรณกรรมที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ อายุได้ 19 ปี เขาก็เกิดไอเดียสร้างฮีโรตัวแรก Mandrake the Magician เขาใช้เวลาในการวาดอยู่ 2 อาทิตย์ เมื่อครอบครัวพากันไปเที่ยวนิวยอร์กเขาก็เอาไอเดียนี้ไปเสนอกับ โจ คอนนอลลี (Joe Connolly) ผู้จัดการของ King Features Syndicate ก่อนที่มันจะได้เผยแพร่เป็นครั้งแรกในวันที่ 11 มิถุนายน 1934
Mandrake เป็นนักมายากลบนเวที ที่ทำงานล่วงเวลาด้วยการต่อสู้กับอาชญากรหลายรูปแบบ ตั้งแต่แก๊งอันธพาล ไปจนถึงสิ่งมีชีวิตจากนอกโลก โดยอาศัยทริกต่าง ๆ ของนักมายากล และการสะกดจิต โดยมีลูกมือเป็น โลธาร์ (Lothar) คนผิวดำอดีต "เจ้า" (prince) ที่กลายมาเป็นผู้รับใช้ในดินแดนคนขาว นักประวัติศาสตร์บางรายจึงมองว่า Mandrake คือซูเปอร์ฮีโรคนแรก และยังเป็นวรรณกรรมว่าด้วยคู่หูปราบอธรรมที่ฝ่ายหนึ่งเป็นคนขาว และอีกฝ่ายเป็นคนดำเรื่องแรกอีกด้วย
หลังจากนั้น 2 ปี (1936) ฟอล์กก็ได้เผยแพร่ผลงานชุดที่ 2 ของเขา "The Phantom" ซูเปอร์ฮีโรสวมหน้ากากในชุดรัดรูปคนแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นแบบอย่างให้กับฮีโรรุ่นต่อ ๆ มา ทั้งการใช้ชุดและสีสันที่สะดุดตา (ในกรณีนี้คือสีม่วง) รวมถึงหน้ากากคาดสายตาที่สวมแล้วมองไม่เห็นนัยน์ตาดำ
ตัวตนเบื้องหลังหน้ากาก Phantom ก็คือ คิต วอล์กเกอร์ (Kit Walker) มหาเศรษฐีเพลย์บอย มีฐานปฏิบัติการอยู่ในถ้ำหัวกะโหลก ในป่าของเบงกอล (Bengali) เขาเป็น Phantom รุ่นที่ 21 หลังรับสืบอุดมการณ์ต่อสู้กับอธรรมมาแบบรุ่นสู่รุ่นจากบรรพบุรุษ ทำให้คนนอกลือกันไปว่า Phantom เป็นอมตะ และมีศัตรูร้ายคือ พี่น้องตระกูลซิงห์ (Singh Brotherhood) ที่ฆ่า Phantom รุ่นที่ 20 พ่อของ คิต วอล์กเกอร์ นั่นเอง
ฟอล์กเขียนเรื่องนี้ขึ้นในภาวะที่สังคมยังไม่ตระหนักถึงผลกระทบของการวาดภาพให้ชนกลุ่มน้อยเป็นตัวร้าย (แม้มันจะเป็นเรื่องแต่ง) เขาจึงใช้ชื่อของบุคคลและสถานที่ที่มีอยู่จริง แต่เมื่อสังคมก้าวไปข้างหน้า ฟอล์กจึงเปลี่ยนโครงเรื่องในหลายจุด ตั้งแต่ฐานของ Phantom จากเบงกอลก็กลายเป็น เบงกัลลา สถานที่สมมติที่ตั้งอยู่ในแอฟริกา (แทนที่จะเป็นเอเชียซึ่งเป็นที่ตั้งของอ่าวเบงกอลที่มีอยู่จริง) และตัวร้ายก็ถูกเปลี่ยนชื่อ (แต่ก็ยังมีเสียงคล้าย ๆ) เพื่อเลี่ยงมิให้คนอ่านชาวอินเดียรู้สึกไม่ดี
ฟอล์กกล่าวถึงสิ่งดลใจและเหตุแทรกแซงที่เกิดโดยไม่ได้ตั้งใจ จนทำให้ Phantom กลายเป็นฮีโรชุดม่วงรัดรูปที่วิ่งในผืนป่าของแอฟริกาเอาไว้ว่า
"สำหรับคำตอบว่าอะไรเป็นแรงบันดาลใจให้กับชุดคอสตูมของ Phantom นั้น ผมคงต้องบอกว่า โรบิน ฮูด คือหนึ่งในฮีโรในวัยเด็กของผม แรกทีเดียวผมจินตนาการถึง Phantom ในชุดสีเขียว แต่ผมไม่ได้แจ้งให้กับทางสำนักพิมพ์สำหรับตีพิมพ์ภาพสีหน้าวันอาทิตย์ ฝ่ายศิลป์เลยใช้สีม่วง ซึ่งเป็นอะไรที่งี่เง่าดีสำหรับการวิ่งไปมาอยู่ในป่า ในยุโรปพวกเขาใช้สีแดง เมื่อผมได้เจอหน้าคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ ผมเลยถามว่าทำไมถึงใช้สีแดง เขาตอบกลับมาว่า ฝ่ายตีพิมพ์ได้ภาพมาเป็นแบบขาวกับดำเลยไม่รู้ว่าต้องใช้สีอะไร แต่พอดีว่าพวกเขามีสีแดงเหลือเยอะ (ก็เลยใช้สีนั้น)"
ส่วนการที่ Phantom ไม่มีนัยน์ตาหลังสวมหน้ากากนั้น เขาได้แรงบันดาลใจมาจากรูปแกะสลักหินอ่อนของกรีก ซึ่งมองไม่เห็นนัยน์ตา แม้ความจริงมีการระบายสีนัยน์ตาไว้แต่เลือนหายไปตามกาลเวลา
Phantom อาจจะเป็นฮีโรคนแรกซึ่งทำให้งานแนวนี้กลายเป็นที่แพร่หลาย แต่เขากลับไม่ประสบความสำเร็จในวงกว้างเท่าไรนักโดยเฉพาะในสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับฮีโรที่มาทีหลังอย่าง Superman หรือ Batman โดยเฉพาะมนุษย์ค้างคาว ที่ฟอล์กบอกว่า "Batman แทบจะเป็นของก๊อป Phantom มีถ้ำหัวกะโหลก Batman มีถ้ำค้างคาว แล้วก็เรื่องอื่น ๆ มันคือการเลียนแบบที่ประสบความสำเร็จ"
ในทางกลับกัน Phantom กลับเป็นที่นิยมอย่างเหนียวแน่นในต่างประเทศ สาเหตุอาจเป็นเพราะ Phantom มีความเป็นอเมริกันน้อยเกินไป ทั้งไม่ได้มีฐานปฏิบัติการในสหรัฐฯ และไม่ได้ต่อสู้กับอาชญากรที่เกี่ยวพันกับความเป็นความตายของคนอเมริกัน (ในขณะนั้น) ความเป็นสากลของ Phantom จึงไปได้ใจนักอ่านในต่างแดนมากกว่า และประวัติศาสตร์การต่อสู้กับเผด็จการยังมีส่วนสำคัญต่อความนิยมในบางพื้นที่เช่นในนอร์เวย์
สาเหตุสืบย้อนไปถึงเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 หลังนอร์เวย์ตกอยู่ใต้การยึดครองของนาซี ซึ่งมีการเซ็นเซอร์สื่อและปลุกปั่นด้วยข่าวปลอม (เฟกนิวส์) อย่างเข้มข้นโดยผู้ยึดครอง มีการรายงานเท็จว่า นิวยอร์กและกรุงวอชิงตัน ถูกนาซีบินไปถล่มมาแล้ว และสหรัฐฯ ที่เป็นความหวังของฝ่ายสัมพันธมิตรกำลังระส่ำระสาย
แต่เนื่องจากสวีเดนเพื่อนบ้านของนอร์เวย์นั้นวางตัวเป็นกลาง และยังมีการตีพิมพ์ Phantom อย่างสม่ำเสมอ ฝ่ายต่อต้านจึงลักลอบนำ Phantom มาตีพิมพ์ในนอร์เวย์ได้ทุกวัน แสดงให้เห็นว่า เมืองสำคัญของสหรัฐฯ ยังอยู่ดี ไม่ได้เป็นอย่างโฆษณาชวนเชื่อของนาซีอ้าง และนาซีก็ไม่รู้จัก Phantom จึงไม่รู้ว่ามันเป็นการ์ตูนที่มีฐานผลิตอยู่ที่สหรัฐฯ
"พวกเขา (ชาวนอร์เวย์) เห็นว่า พวกเยอรมันดูเป็นคนโง่ไปเลย ที่ปล่อยให้การ์ตูนสั้นของอเมริกันมาปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์ที่พวกเขาเซ็นเซอร์อย่างหนักหน่วง พวกใต้ดินของนอร์เวย์จึงใช้คำว่า The Phantom เป็นรหัสลับระหว่างกัน" ฟอล์กกล่าว
ประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ทำให้ Phantom มีฐานแฟนสำคัญอยู่ในสแกนดิเนเวีย ซึ่งฟอล์กได้ยินมาว่า Phantom Fan Club ในสแกนดิเนเวียนั้นถือเป็นสมาคมเยาวชนที่ใหญ่ที่สุด มีสมาชิกกว่า 140,000 คน เยอะเสียยิ่งกว่าลูกเสือ และแม้แต่กษัตริย์นอร์เวย์เองในวัยเด็กก็เป็นหนึ่งในสมาชิกแฟนคลับกับเขาด้วย
ทั้งนี้ แม้ ลี ฟอล์ก จะเป็นผู้ออกแบบตัวละครทั้ง Mandrake และ Phantom แต่หลัก ๆ เขาจะเป็นคนเขียนบทเสียมากกว่า คนที่วาดจริง ๆ เป็นศิลปินคนอื่น (เช่น ฟิล เดวิส [Phil Davis] และ เฟรด เฟรเดอริกส์ [Fred Fredericks]) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขายังทำหน้าที่ในหน่วยสงครามข้อมูล (สมัยนี้ต้องเรียกว่า ไอโอ) หลังสงครามจึงได้เริ่มต้นอาชีพใหม่ในฐานะผู้อำนวยการผลิตละครเวที ผู้กำกับ และผู้เขียนบทละคร ก่อนเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 1999