ปทิตตา ไตรเวทย์: เจ้าของปางที่อยากให้ช้างได้กินอิ่ม แม้ในช่วงโควิด-19
“พอมีเรื่องโควิดเข้ามา ควาญช้างบางส่วนที่อยู่กับเรา เขาก็อยากพาช้างกลับบ้านเพราะกลัวโรค แต่พอดีเชียงใหม่ตอนนี้มันมีเรื่องไฟป่าด้วย เลยกลายเป็นว่าในป่าไม่มีอะไรให้ช้างกิน เราก็เลยต้องสั่งอาหารจากข้างนอกส่งตามเข้าไปให้” เสียงสะท้อนของ ปทิตตา ไตรเวทย์ เจ้าของ เอเลเฟน จังเกิล แซงค์ชัวรี (Elephant Jungle Sanctuary) ปางช้างขนาดใหญ่ในอำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ เล่าถึงสถานการณ์ที่ธุรกิจปางช้างของเธอต้องเจอในเวลาที่ต้องเผชิญกับทั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 และสถานการณ์ไฟป่าที่ดูท่าจะไม่ดับลงง่าย ๆ
สถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวในบ้านเราเป็นอย่างมาก แม้รัฐบาลจะเพิ่งมีการประกาศห้ามอากาศยานขนส่งคนโดยสาร ทำการบินเข้ามาในท่าอากาศยานในประเทศช่วงต้นเดือนเมษายน แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกมาแล้วเป็นเดือน ๆ ก็ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวทั้งหมดต้องชะงัก แน่นอนว่าประเทศไทยก็เลี่ยงไม่พ้น จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหนาตา มาตอนนี้ไม่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไหลเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจในบ้านเราเป็นเดือน ๆ แล้ว
“ช่วงมกราฯทีแรกเราแอบคิดว่าคงไม่เป็นไรมั้ง เพราะลูกค้าเราไม่มีนักท่องเที่ยวจีนเลย ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าฝรั่ง ตอนแรกข่าวคนติดเชื้อไวรัสมาจากจีนใช่ไหมคะ ทีนี้ช่วงเดือนกุมภาฯ ก็เริ่มมีอีเมลมายกเลิกโปรแกรมบ้าง พอสถานการณ์เริ่มรุนแรงขึ้น ข่าวเริ่มไม่ค่อยดีขึ้น มาถึงช่วงมีนาฯ เลยกลายเป็นว่าไม่มีนักท่องเที่ยวเลย เราก็เลยคิดว่า สิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะทำเพื่อดูแลตัวเอง พนักงาน นักท่องเที่ยวได้ คือการปิดไปก่อน”
เอเลเฟน จังเกิล แซงค์ชัวรี จัดว่าเป็นปางช้างขนาดใหญ่ เพราะมีช้างในความดูแลอยู่ถึง 97 เชือก กระจายไปตามพื้นที่ปางต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพราะเป็นปางช้างที่เน้นสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จึงมีแต่โปรแกรมเชิงให้ความรู้ พานักท่องเที่ยวไปให้อาหาร อาบน้ำ และเล่นกับช้าง มากกว่าจะเป็นการขี่ช้าง หรือชมการแสดงช้างอย่างที่เห็นกันบ่อย ๆ
ปทิตตาในวัย 30 ปี สานต่อธุรกิจนี้จากผู้เป็นแม่ โดยยังคงเจตนารมณ์เดิมคือการช่วยเหลือดูแลช้าง และอยากให้ช้างมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ช้างในปางของเธอส่วนใหญ่จึงเป็นช้างแก่ที่ถูกช่วยเหลือและรับเข้ามาดูแลพร้อมกับควาญ มากกว่าจะเป็นช้างโตเต็มวัยที่กำลังแข็งแรงและมีราคาสูง แต่เพราะธุรกิจประเภทนี้มักมีกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวต่างชาติโซนยุโรปหรืออเมริกา ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มากกว่าอยากเห็นช้างถูกบังคับหรือใช้งาน เมื่อต้องประสบกับสภาวะอันน่ากังวลเช่นนี้ กลุ่มลูกค้าหลักของปางจึงหายไปหมด
“ช่วงแรกที่มีเรื่องโรคเข้ามา ควาญช้างส่วนใหญ่ของเราที่เป็นกะเหรี่ยง เขาก็เริ่มไม่สบายใจ เพราะเขาเชื่อว่าเชื้อโรคพวกนี้มากับพวกฝรั่ง คือก่อนหน้านี้ในปาง เราก็มีพวกเจลล้างมือให้ แต่เพราะนักท่องเที่ยวฝรั่งเขาไม่ค่อยสนใจ มองว่าไกลตัว ก็เลยไม่ค่อยล้างมือ หรือใส่หน้ากากอนามัยกันมาก ควาญส่วนหนึ่งก็เลยขอนำช้างกลับบ้าน ช่วงนั้นเชียงใหม่เขามีคำสั่งจากส่วนกลางมาพอดี ว่าห้ามให้พื้นที่นี้มีการเข้าออก คือเหมือนเคอร์ฟิวตัวเอง เราก็เลยให้ควาญกลับบ้าน แต่ยังดูแลเรื่องค่าอาหาร ค่าเดินทางให้ช้างกับควาญอยู่”
ปทิตตาเล่าว่า สำหรับปางช้างสาขาอื่น ๆ อย่างที่ ภูเก็ต พัทยา และเกาะสมุย ที่เธอเป็นเจ้าของ ช่วงเวลานั้นล้วนมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหานี้ทั้งหมด เธอได้วางแผนปรับเปลี่ยนโปรแกรมการท่องเที่ยว จากที่มีกิจกรรมให้เลือกเที่ยวแบบครึ่งวัน และเต็มวัน ให้เหลือเพียงโปรแกรม ‘Feed Me’ ที่เป็นการให้อาหารช้างอย่างเดียว แต่สุดท้ายด้วยสถานการณ์ที่เลวร้ายลงเรื่อย ๆ ปทิตตาจึงจำเป็นต้องปิดปางไปอย่างไม่มีกำหนด
“ปกติเราจะรวมค่าอาหารช้างไว้ในค่าบริการของเรา ลูกค้ามาเขาก็สามารถให้อาหารน้องได้แบบไม่จำกัด แต่พอไม่มีนักท่องเที่ยว ก็ทำให้เราต้องกลับมาจ่ายเอง ทีแรกเราคิดว่าถ้าปรับเหลือแค่โปรแกรมให้อาหาร ไม่ต้องทำกิจกรรมกับช้างมาก แล้วก็ปฏิบัติตามข้อแนะนำของแพทย์ที่ว่าต้องยืนห่างเท่าไหร่ ต้องทำความสะอาดยังไง เราว่าตรงนี้เราทำได้ แต่กลายเป็นว่าเรามีแผน แต่ไม่มีนักท่องเที่ยวเลย ตรงนี้ล่ะที่เป็นปัญหา เพราะสุดท้ายเราต้องปิดปาง แต่ช้างยังต้องกินทุกวัน”
ปกติแล้ว ช้างจะกินในปริมาณ 10% ของน้ำหนักของตัวเอง ซึ่งในไทยจะเป็นช้างสายพันธุ์เอเชียที่มีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 2,000 กิโลกรัมโดยเฉลี่ย นั่นหมายความว่าทุกวันปทิตตาจำเป็นต้องเตรียมหญ้า และอาหารเสริมอื่น ๆ ในปริมาณมหาศาล เพื่อให้เพียงพอต่อจำนวนช้างเกือบ 100 เชือก และนอกจากค่าอาหารแล้ว เธอก็ยังต้องจ่ายค่าเช่าที่รายเดือนของปางช้างทั้ง 14 แห่งที่เธอเป็นเจ้าของ เรียกได้ตอนนี้ปางช้างของเธอไม่มีรายได้ แต่กลับมีค่าใช้จ่ายทุกวัน
“พื้นที่ปางช้างของเราเป็นที่เช่าหมดเลยค่ะ อย่างค่าเช่าที่ภูเก็ตเดือนหนึ่งจะเยอะมาก เพราะที่นั่นเป็นเมืองท่องเที่ยว เจ้าของที่เขาก็ใจดีนะคะ พยายามลดให้เราแล้ว แต่รวม ๆ ก็ยังหนักอยู่ เพราะเรามีค่าเช่าที่อื่นด้วย อย่างค่าอาหารช้าง วันหนึ่งมีค่าหญ้าอย่างต่ำ 3 หมื่น อันนี้แค่หญ้า ยังไม่รวมกล้วย อ้อย และอาหารเสริมของช้างอื่น ๆ อีก อย่างที่บอกไปว่าส่วนใหญ่ช้างเราเป็นช้างแก่ เขาก็เลยต้องมีพวกค่ายา ค่าหมอ กับการดูแลเป็นพิเศษด้วย”
เอเลเฟน จังเกิล แซงค์ชัวรี เพิ่งเปิดร้านค้าออนไลน์ที่ขายของที่ระลึกจากปางช้าง (https://www.ejsshop.com/) ทั้งยังเปิดให้มีการกดซื้ออาหารเช่นกล้วยและหญ้าแบบออนไลน์ เพื่อนำรายได้ไปสมทบทุนค่าอาหารช้างด้วย ปทิตตาบอกว่า นี่ก็เป็นอีกหนทางหนึ่งสำหรับใครที่สนใจอยากจะช่วยเรื่องค่าอาหารช้าง ลูกค้าเก่า ๆ ที่เคยมาเที่ยวแล้วยังมาช่วยสนับสนุนค่าอาหารน้อง ๆ อีก เธอก็รู้สึกขอบคุณมาก
“ตอนแรกมองว่าสามเดือนหรือเปล่า มีแอบคิดว่าหกเดือนไหม ตอนนี้ก็ไม่ชัวร์ว่าเมื่อไหร่แล้ว เรื่องค่าเช่าเราอาจจะคุยกับเจ้าของได้ว่าขอผ่อนผัน แต่สิ่งที่เราหยุดไม่ได้คือเรื่องของอาหารช้าง รวมทั้งอาหารควาญ เราต้องดูแลทั้งช้างและควาญ ให้เขาอดไม่ได้ เพราะเขาก็ไม่ใช่ไม่เหนื่อย เขาต้องอยู่ ต้องดูแลช้างตลอดเวลา ช้างก็จะต้องไม่อด เขาอาจจะไม่ได้กินเยอะเหมือนเดิม แต่ก็ต้องได้กินเพียงพอ”
แม้จะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าต้องประคองค่าใช้จ่ายในธุรกิจนี้ไปอีกนานเท่าไหร่ ปทิตตาก็ยังยืนยันว่า เธอจะพยายามรับผิดชอบชีวิตของทั้งช้าง ควาญ และพนักงานของเธออย่างสุดความสามารถ
“เราทิ้งเขาไม่ได้ค่ะ หลาย ๆ ที่เขาอาจจะเอาช้างออก ไม่สนใจแล้ว แต่เราคิดว่าการที่ควาญเขาเลือกมาอยู่กับเรา เหมือนเขาเชื่อเราแล้วว่าเราดูแลเขาได้ เราจะทำลายความเชื่อนั้นไม่ได้ จริง ๆ มันอาจจะมาถึงนะ...จุดที่แย่มาก ๆ แต่ถึงตอนนั้นเราค่อยมาคุยกันใหม่ ตอนนี้อย่างน้อยเราต้องทำให้ดีค่ะ ค่อย ๆ แก้ไปทีละนิด”
เธอยังฝากกำลังใจไปถึงเหล่าผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ที่กำลังประสบปัญหา ทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายและการรับผิดชอบชีวิตคนอื่น ๆ อยู่ในเวลานี้ “อยากเป็นกำลังใจให้ปางช้างอื่น ๆ ด้วยนะคะ เพราะเรารู้เลยว่าเจ้าของปางช้างทุก ๆ คนไม่อยากเห็นช้างไม่ได้กินอิ่ม แต่ทุกคนก็มีวิธีจัดการไม่เหมือนกัน เราก็อยากเป็นกำลังใจให้ในทุก ๆ ธุรกิจ รวมถึงธุรกิจเดียวกับเราด้วย เราจะต้องผ่านมันไปได้ค่ะ”