Jojo Rabbit นาซี-ยิว อุดมการณ์และความรักที่ต้องเลือก

Jojo Rabbit นาซี-ยิว อุดมการณ์และความรักที่ต้องเลือก
บทความมีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์ หากอุดมการณ์แห่งรัฐและความปรารถนาส่วนตัวเป็นสองเส้นทางที่ไม่อาจบรรจบกัน ความรักยังเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องของสองคนอยู่จริงหรือ เมื่อความรักนั้นไม่อาจเปิดเผยเพียงเพราะไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐจะเป็นอย่างไร รัฐเข้ามามีบทบาทหรืออิทธิพลต่อความรักของคนได้หรือไม่ และหากต้องเลือกระหว่างความรู้สึกส่วนตัวกับอุดมการณ์จะเป็นอย่างไร ลองสำรวจผ่านชีวิตและความรักของเด็กชายต่ายน้อยคนนี้ดู Jojo Rabbit หรือชื่อไทยว่า ต่ายน้อยโจโจ้ เป็นภาพยนตร์ซึ่งได้รางวัลบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมจากออสการ์ ปี 2020 โดยดัดแปลงจากหนังสือ Caging Skies ของ คริสติน ลูเน็นส์ (ปี 2008) ฝีมือการเขียนบทและกำกับของ ไทกา ไวติติ ว่าด้วยเรื่องราวช่วงสงครามโลกครั้งที่สองของเด็กชายโยฮันเนส เบตซเลอร์ หรือ โจโจ้ (รับบทโดย โรมัน กริฟฟิน เดวิส) ฉายา “โจโจ้ แรบบิท” ชาวเยอรมันวัย 10 ขวบ สมาชิกหน่วยยุงโฟล์ค (Jungvolk) ผู้เติบโตมาด้วยความฝันที่อยากเป็นทหารอารักขาท่านผู้นำ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ Jojo Rabbit นาซี-ยิว อุดมการณ์และความรักที่ต้องเลือก ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายในไทยไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้หลังจากฉายไปได้ไม่กี่วัน โรงภาพยนตร์ต่าง ๆ ก็ต้องปิดเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อโควิด-19 หลายคนจึงยังไม่ได้เข้าไปชมความน่ารักของเด็กชายต่ายน้อย แม้เรื่องจะเล่าถึงชีวิตช่วงสงครามและอุดมการณ์นาซี แต่ภาพยนตร์ใช้โทนเรื่องที่สดใสและขบขัน  ผ่านความน่ารักแบบเด็ก ๆ ของโจโจ้และผองเพื่อน โดยเฉพาะ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (รับบทโดย ไทกา ไวติติ) เพื่อนในจินตนาการของโจโจ้ ที่น่าขำขัน บุคลิกไม่ได้น่าเกรงขามหรือน่ากลัวแต่อย่างใด โจโจ้ ในวัย 10 ขวบ และเด็กคนอื่น ๆ ต้องไปฝึกฝนที่ค่ายยุงโฟล์ค ซึ่งเป็นค่ายที่พรรคนาซีใช้ปลูกฝังแนวคิดแก่เด็กชายเยอรมัน อายุ 10-14 ปี (ส่วนเด็กผู้หญิงจะใช้ชื่อค่ายว่า ยุงมาเดล (Jungmadel)) ในค่ายมีอบรมเกี่ยวกับลัทธินาซี ความเป็นชนชาติที่เข้มแข็งของชาวอารยัน ตลอดจนเรียนรู้เรื่องอาวุธพื้นฐานทั่วไป เมื่อผ่านค่ายยุงโฟล์คและเด็ก ๆ เติบโตสู่ช่วงวัยรุ่น อายุ 15-18 ปี ทั้งหมดก็จะเข้าเป็นสมาชิกของยุวชนฮิตเลอร์ หรือ ฮิตเลอร์จูเกน (Hitler Jugend) ซึ่งการเป็นสมาชิกของยุวชนฮิตเลอร์ ถือเป็นภาคบังคับของเด็กเยอรมันทุกคนที่ต้องเข้าร่วมเลยก็ว่าได้ แต่แล้วฝันของโจโจ้ก็ต้องพังลง เมื่อเขาได้รับบาดเจ็บจากระเบิดในช่วงฝึก จนต้องกลับไปพักรักษาตัวที่บ้านและคอยทำกายภาพบำบัด ระหว่างนั้นเขาได้ช่วยเหลืองาน กัปตันเคลนเซนดอร์ฟ (รับบทโดย แซม ร็อกเวลล์) คอยติดโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อ และหาเศษเหล็กให้กับพรรคนาซี เป็นงานเล็ก ๆ ที่พอทำให้รู้สึกว่าเขายังมีประโยชน์กับรัฐบาลอยู่บ้าง Jojo Rabbit นาซี-ยิว อุดมการณ์และความรักที่ต้องเลือก เมื่อมีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น โจโจ้ก็พบว่า โรซี เบตซเลอร์ (รับบทโดย สการ์เล็ตต์ โจแฮนสัน) แม่ของเขาได้แอบช่วยเหลือ เอลซา คอร์ (รับบทโดย โธมาซิน แมคเคนซี) เด็กสาวชาวยิววัย 17 ปี ที่อาศัยอยู่ในห้องลับภายในบ้าน แรกเริ่มโจโจ้ไม่สบายใจเท่าไหร่ที่มีชาวยิวอย่างเอลซาอยู่ในบ้านของเขา แต่ก็ไม่กล้าแจ้งกับทางการ เพราะกลัวว่าเขาและแม่จะได้รับโทษไปด้วย ฐานช่วยเหลือให้ที่พักกับชาวยิว แต่แล้วโจโจ้ก็ตัดสินใจให้เอลซาอยู่ต่อไปได้ โดยมีเงื่อนไขว่าเธอต้องบอกเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับชาวยิวที่เขาอยากรู้ เพื่อที่เขาจะได้รวบรวมเป็นหนังสือมอบให้แก่ท่านผู้นำ “พวกมันมีเขี้ยว กรงเล็บ เขา เกร็ด และสามารถสะกดจิตบังคับจิตใจผู้อื่นได้” คือความคิดที่โจโจ้มีต่อชาวยิว อีกทั้งเจ้าหน้าที่ ราห์ม (รับบทโดย เรเบล วิลสัน) เคยสอนเขาในค่ายว่า “ชาวยิวได้แต่งงานกับปลา” และ “ชาวอารยันมีอารยธรรมมากกว่าเผ่าพันธุ์อื่นถึงพันเท่า” ซึ่งโจโจ้ก็เชื่ออย่างนั้น แล้วยังไปถามเอลซาด้วยว่า “พวกยิววางไข่ที่ไหน” และยังถึงขั้นเคยพูดกับเอลซาว่า ยิวไม่ใช่คน” แนวคิดสุดโต่งเรื่องการกำจัดชาวยิวนั้น นักประวัติศาสตร์จำนวนหนึ่งตั้งข้อสันนิษฐานว่า ฮิตเลอร์ได้อิทธิพลมาจากงานของ ลันซ์ ฟอน ลีเบนเฟล (Lanz von Liebenfels) บรรณาธิการนิตยสาร Ostara เชื้อสายออสเตรียน ที่นำเสนอความคิดเรื่องความสูงส่งของเชื้อชาติอารยัน และต่อต้านชาวยิวอย่างรุนแรง ในปี 1894 ลันซ์เริ่มพัฒนาทฤษฎีที่เรียกว่า blue-blond Aryanism และแนวคิดเรื่องเชื้อชาติชั้นล่าง ซึ่งนาซีนำมาใช้อธิบายกลุ่มที่ไม่ใช่ชาวอารยันว่าเป็นพวกที่ด้อยกว่า ฮิตเลอร์ยังอาจได้แนวคิดมาจาก จอร์จ ฟอน เชิร์นเนอร์ (George von Schönerer) นักการเมืองชาวออสเตรียน ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ที่มีทัศนคติทางการเมืองสนับสนุนความเป็นเยอรมัน และมีความเป็นอนุรักษนิยมตามแบบฉบับนักการเมืองฝ่ายขวาจัด เชิร์นเนอร์ยังมีแนวคิดต่อต้านชาวยิว และได้เสนอความคิดว่าต้องกำจัดชาวยิว เพื่อป้องกันไม่ให้ชาวเยอรมันกลายเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศตนเองในภายภาคหน้า ทั้งฮิตเลอร์ยังอาจได้อิทธิพลจากทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Robert Darwin) นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ ว่าด้วยวิธีการคัดเลือกทางธรรมชาติที่ว่า สิ่งมีชีวิตที่แข็งแกร่งเท่านั้นจึงจะอยู่รอด แนวคิดเรื่องชาวอารยันเหนือกว่าชนอื่น ๆ และชาวยิวเป็นพวกที่ต้องถูกกำจัด โจโจ้ได้รับมาอย่างเต็มเปี่ยม หลายครั้งที่เขาทะนงในการเป็นเยอรมันอารยัน ทำให้มองเอลซาไม่ต่างไปจากสิ่งมีชีวิตต้อยต่ำ อ่อนแอ และน่ารังเกียจ แต่เมื่อเวลาผ่าน ดูเหมือนความคิดของโจโจ้เริ่มเปลี่ยนแปลง เขาเริ่มสงสัยและตั้งคำถามว่า สิ่งที่เขาคิดและเชื่อ มันเป็นอย่างนั้นจริงไหม แล้วอะไรกันล่ะ ที่ทำให้ความเชื่อมั่นของเขาสั่นคลอน? โจโจ้เริ่มทำความรู้จักกับความรัก “ความรักแข็งแกร่งที่สุดในโลก...เมื่อรู้สึกรักจะเหมือนมีฝูงผีเสื้อบินอยู่ในท้อง” แม่บอกเขาเช่นนั้น และเอลซายังเคยบอกเขาด้วยว่า “หากนายมีเธอ นายจะไม่สนใจอะไรอีกเลย นั่นแหละความรัก” ในขณะที่โจโจ้คิดว่าเขาไม่มีเวลาสำหรับเรื่องพรรค์นั้น และเหล็กต่างหากที่แข็งแกร่งที่สุด วันแล้ววันเล่า โจโจ้และเอลซาได้รู้จักกันมากขึ้น เขามองเธอเป็นมนุษย์มากขึ้น ความกลัว ความเกลียดชัง และความเป็นอื่นค่อย ๆ แปรเปลี่ยนเป็นมิตรภาพ ผีเสื้อฝูงใหญ่เริ่มบินอยู่ในท้องของเขาเสียแล้ว! ถึงอย่างนั้นโจโจ้ก็ยังกังวลและสงสัยในความรู้สึกตัวเองเสมอ เขาจะทรยศชาติไปรักกับยิวได้อย่างไร “นาซีกับยิวไม่ควรจูบกัน” โจโจ้บอกกับเอลซา “นายเป็นแค่เด็ก ไม่ใช่นาซี” เอลซาตอบเขา และดูเหมือนว่าเขาเริ่มที่จะเปิดใจยอมรับความรู้สึกตัวเองมากขึ้น ขณะเดียวกัน สงครามรุกลามประชิดเข้ามาเรื่อย ๆ เมืองที่โจโจ้อาศัยกลายเป็นสมรภูมิรบในชั่วข้ามคืน เขาได้พบกับโยกี้เพื่อนรักอีกครั้ง พร้อมกับข่าวร้ายว่า อดอร์ฟ ฮิตเลอร์ ตายแล้ว สมรภูมิดังกล่าวกินเวลาไม่นานนัก จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายเยอรมันและประเทศพันธมิตร โดยฝ่ายสัมพันธมิตรเข้ายึดเมืองไว้ได้ “สงครามจบแล้ว ไม่มีใครอยากเป็นนาซีอีก” โยกี้บอกเขา โจโจ้รีบวิ่งกลับมาที่บ้าน จากนั้นก็สารภาพรักกับเอลซา “ฉันก็รักนาย...แบบน้องชาย” เอลซาบอกกับเขา ขณะเดียวกัน โจโจ้ได้พบกับ อดอร์ฟ ฮิตเลอร์ ในจินตนาการอีกครั้ง ฮิตเลอร์ยื่นปลอกแขนสีแดงตราสวัสดิกะให้เขา แต่เขาขว้างมันทิ้งพร้อมกับสารภาพว่าเขารักเอลซา และเตะฮิตเลอร์กระเด็นออกจากบ้านหายไป โจโจ้พาเอลซาออกไปนอกบ้านเป็นครั้งแรก หลังจากที่เธอต้องหลบซ่อนอยู่นาน และทั้งสองก็ได้เต้นรำกัน Jojo Rabbit นาซี-ยิว อุดมการณ์และความรักที่ต้องเลือก ภาพยนตร์ทำให้เราได้เห็นพัฒนาการหรือการเปลี่ยนแปลงของโจโจ้อย่างช้า ๆ ในรูปแบบภาพยนตร์แนวก้าวข้ามวัย หรือ Coming of Age อุดมการณ์แบบนาซีที่เข้มข้นของโจโจ้ค่อย ๆ เจือจางลงอย่างช้า ๆ เช่นเดียวกับการลดความเกลียดชังและทัศนคติแง่ลบที่มีต่อชาวยิว ความน่าสนใจของ Jojo Rabbit อยู่ตรงที่ความรักชาติและความรักส่วนตัวนั้นอยู่ตรงข้ามกัน (แม้เราจะเคยเห็นเนื้อเรื่องทำนองนี้ในภาพยนตร์หลายเรื่องแล้วก็ตาม) พรรคนาซีซึ่งเป็นรัฐบาลในขณะนั้นไม่อนุญาตให้รักกับชาวยิวได้ ฉะนั้น โจโจ้ต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง เป็นทางสองแพร่งที่ไม่อาจบรรจบกันได้ เมื่อพิจารณาในเชิงการเมือง แม้ความรักจะเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกลับมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อความเป็นรัฐ (ถ้าใครดูซีรีส์เกาหลี Crash Landing on You ที่ฉายทาง Netflix ก็จะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างพระเอกนางเอกที่สามารถส่งผลกับรัฐได้) เนื่องจากความรักระหว่างบุคคลหรือความรักแบบหนุ่มสาวคือความเป็นครอบครัวที่มีหน้าที่สำคัญในการให้กำเนิดประชากรที่จะเติบโตขึ้นเป็นกำลังของชาติ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ความรักของครอบครัวจึงเป็นเรื่องที่สังคมและรัฐต้องเข้ามาจัดการดูแลทั้งทางตรงและทางอ้อมเสมอ ผ่านกระบวนการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบประเพณีการแต่งงาน หรือการจดทะเบียนสมรสทางกฎหมาย ที่กำหนดว่าคนแบบใดบ้างที่สามารถทำได้ และประเภทใดบ้างไม่สามารถทำได้ แต่ทั้งนี้ ในความเป็นจริง ความรักยังมีประเด็นที่ละเอียดอ่อนระดับปัจเจกด้วย ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ความรักของบุคคลไม่ได้มีหน้าที่รับใช้ระบบเพียงอย่างเดียว แต่ยังตอบสนองต่อความต้องการและความรู้สึกภายในของบุคคลนั้น ๆ ด้วย เช่น การสร้างครอบครัวอาจล้มเหลว หากทั้งสองไม่ได้มีความรู้สึกรักต่อกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมหรือทำความเข้าใจได้โดยง่าย ดังเช่นคำถามประเภทที่ว่า ความรักคืออะไร ความรู้สึกอย่างไรเรียกว่าความรัก   ดังนั้น ความขัดแย้งระหว่างปัจเจกบุคคลกับโครงสร้างทางสังคมจึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เมื่อขาดสมดุลระหว่างกัน เพราะความรักของมนุษย์มักจะมีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมหรือแม้กระทั่งสับสนในตัวเอง ในขณะที่โครงสร้างทางสังคมกลับมีแนวโน้มที่จะจัดระเบียบแบบแผนให้กับมนุษย์ในทุกด้าน ดังกรณีของโจโจ้และเอลซา ที่ไม่ว่าจะเป็นความรักแบบใด รัฐก็ดูจะห้ามไปเสียหมด สะท้อนจากการที่รัฐบาลเยอรมันออกกฎหมายนูเร็มเบิร์ก ค.ศ. 1935 เพื่อจัดประเภทความเป็นพลเมืองของชาวเยอรมันและชาวยิว โดยไม่ยอมรับการเป็นพลเมืองของชาวยิว รวมถึงห้ามการแต่งงานระหว่างพลเมืองเยอรมันกับยิวด้วย เป็นการแสดงให้เห็นชัดว่ารัฐเข้ามาควบคุมในระดับปัจเจก ถึงขั้นจัดระเบียบความรักของประชากร จนแทรกซึมเข้าไปในความรู้สึกนึกคิด อย่างประโยคที่โจโจ้บอกเอลซาว่า “นาซีกับยิวไม่ควรจูบกัน” ทางสองแพร่งที่ไม่อาจบรรจบกัน ระหว่างอุดมการณ์นาซีกับความรักที่มีให้ต่อสาวชาวยิว จึงเป็นสิ่งที่โจโจ้ต้องเลือก ซึ่งตลอดทั้งเรื่องทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงความคิดและความรู้สึกของโจโจ้ ความเข้มข้นของอุดมการณ์นาซีที่เขายึดถือค่อย ๆ จางลงทีละน้อย และถูกแทนที่ด้วยความรักที่เขามีให้เอลซา อีกนัยหนึ่งหมายความว่า โจโจ้ได้ต่อสู้กับอำนาจรัฐที่เป็นปฏิปักษ์กับความรัก ด้วย “ความรัก” ที่เขามีต่อเอลซา สอดคล้องกับทัศนะของ ฟรีดริช วิลเฮล์ม นิชเช่ (ปี 1844-1900) นักปรัชญาและนักเขียนชาวเยอรมัน ที่ว่าความขัดแย้งระหว่างปัจเจกกับองค์รวมทางสังคมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้อยู่เสมอ เพราะเป็นความขัดแย้งระหว่างการใช้อำนาจผ่านการประเมินต่อความรัก ด้วยเหตุนี้ กิจกรรมว่าด้วยความรักจึงเป็นตัวแทนของการต่อสู้ในระดับปัจเจกต่อปัจเจก ที่เป็นภาพสะท้อนของสังคมการเมืองในภาพใหญ่ได้ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ แสดงให้เห็นชัดว่าการเมืองอยู่ในทุกอณูของสังคม ตั้งแต่ระดับปัจเจกที่เล็กที่สุดไปจนถึงภาพใหญ่ระดับประเทศ การเมืองเข้ามาข้องเกี่ยวเสมอไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง ทั้งเรื่องพื้นฐานที่สุดอย่างเรื่อง กิน นอน และแม้กระทั่งความรัก ลองสำรวจความรักของคุณดูไหม ว่ารัฐได้เข้ามามีบทบาทอย่างไรบ้าง ?   อ้างอิง ความรัก, อำนาจ และบทบาทของตัวละครสตรีในงานสุขนาฏกรรมของเชคสเปียร์ : การศึกษาเชิงปรัชญาการเมือง ของ พงษ์ชัย ตระกูลเฉลิมชัย รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการปกครอง ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย https://www.silpa-mag.com/history/article_27306 https://www.beartai.com/lifestyle/movies/412738 http://www.kwanmanie.com/review-jojo-rabbit/ https://www.bloggang.com/m/mainblog.php?id=napatrada0123&month=17-03-2020&group=1&gblog=23 https://www.gqthailand.com/culture/article/be-a-tidy-man https://www.the101.world/tul-interview-nazi-study/ https://www.bloggang.com/m/viewdiary.php?id=vuw&month=07-2009&date=12&group=5&gblog=11   เรื่อง: ภูธิชย์ อรัญพูล