สือ เจิ้งลี่ นักวิจัยอู่ฮั่น ผู้ทำนายการระบาดโคโรนาไวรัสจากค้างคาว
"โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 คือการลงโทษทางธรรมชาติต่อมวลมนุษยชาติที่ยังคงใช้ชีวิตอย่างไร้อารยธรรม ฉัน สือ เจิ้งลี่ ขอสาบานด้วยชีวิตว่า มันไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับห้องทดลองของเราเลย"
สือ เจิ้งลี่ (Shi Zhengli) ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัส จากสถาบันวิจัยไวรัสวิทยาแห่งอู่ฮั่น (Wuhan Institute of Virology) กล่าว หลังตกเป็นจำเลยสังคมกรณีโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก และบางส่วนก็เชื่อว่า การระบาดแท้จริงมีจุดเริ่มต้นมาจากห้องแล็บวิจัยไวรัสของอู่ฮั่น ไม่ใช่ตลาดสดอย่างที่ทางการกล่าวอ้าง จนนักวิจัยที่เชี่ยวชาญเรื่องไวรัสในค้างคาวอย่างเธอถูกตั้งฉายาว่าเป็น “มารดาปีศาจ” (South China Morning Post)
ข่าวลือดังกล่าวเกิดขึ้นมาได้เพราะสังคมไม่ไว้วางใจคำแถลงของทางการที่เกิด “ช่องว่าง” และข้อสงสัยมากมายตามมา ไม่ว่าจะเป็นความพยายามที่จะปิดปากนักวิจัย หรือหมอที่ออกมาพูดถึงเรื่องการระบาดของโคโรนาไวรัสที่มีความเกี่ยวพันกับโรคซาร์สในมนุษย์ ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2019
จนทำให้คนไม่รู้ว่า ทางการจีนเริ่มรู้เรื่องนี้ตั้งแต่เมื่อไรแน่? และเมื่อไปอ่านประกาศในสถาบันวิจัยไวรัสวิทยาแห่งอู่ฮั่นที่ประกาศหานักวิจัยมาร่วมทีมวิจัย “โคโรนาไวรัสในค้างคาว” ในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม ปีเดียวกัน ในหัวข้อที่ต่างกัน แต่ระยะเวลาห่างกันเพียงเดือนเดียว ก็ยิ่งทำให้คนสงสัยว่า การระบาดที่เกิดขึ้นในระยะเวลาไล่เลี่ยกันนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกันด้วยหรือไม่?
สือ เป็นนักวิจัยที่สนใจศึกษาเรื่องราวของไวรัสในค้างคาวมาตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคซาร์ส (severe acute respiratory syndrome - SARS - ในประเทศไทยเรียกชื่อโรคนี้อย่างเป็นทางการว่า "โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงที่ไม่ทราบสาเหตุ") ซึ่งระบาดอยู่ในประเทศจีนระหว่างปี 2002 ถึง 2003 โดยในปี 2005 สือและทีมงานได้เผยแพร่งานวิจัยในชื่อ “Bats Are Natural Reservoirs of SARS-Like Coronaviruses” หรือ “ค้างคาวคือแหล่งพำนักโดยธรรมชาติของโคโรนาไวรัสหลายชนิดที่มีลักษณะคล้าย SARS” ซึ่งเป็นการชี้เบาะแสว่า โคโรนาไวรัสอันเป็นต้นเหตุของโรคซาร์สนั้นน่าจะมีที่มาจาก “ค้างคาว” (Science Mag)
หลังจากนั้น สือก็ทำการศึกษาเรื่องโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่พบในค้างคาวอย่างจริงจัง มีงานวิจัยออกมาหลายชิ้น อย่างเช่น งานเผยแพร่ปี 2015 ซึ่งมีหัวข้อที่น่าสนใจว่า “A SARS-like cluster of circulating bat coronaviruses shows potential for human emergence” หรือ “โคโรนาไวรัสที่มีลักษณะคล้าย SARS ซึ่งมีวงจรอยู่ในค้างคาวกลุ่มหนึ่งแสดงถึงศักยภาพที่จะแพร่ระบาดในมนุษย์” (NCBI)
จากการศึกษาของสือ ในการระบาดของ SARS ระหว่างปี 2002 ถึง 2003 นั้น ผู้ป่วยกลุ่มแรก ๆ กับอีก 4 ผู้ป่วยในการระบาดครั้งหลังระหว่างปี 2003 ถึง 2004 ต่างมีประวัติสัมผัสกับสัตว์ในการซื้อขายสัตว์ในตลาดสดหรือในร้านอาหารซึ่งมีการเก็บสัตว์เป็น ๆ ในพื้นที่มณฑลกวางตุ้ง นำไปสู่สมมติฐานที่ว่า “ชะมด” น่าจะเป็นตัวกลางที่แพร่เชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์นี้มายังมนุษย์
แต่จากการสืบค้นต่อไปของสือ พบว่า ชะมดเลี้ยงหรือชะมดป่าทั่วไปหาได้มีโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ที่ว่านี้ไม่ กลับพบแต่ในชะมดที่ซื้อขายในตลาดสดของกวางตุ้งเท่านั้น จึงทำให้เชื่อได้ว่า ชะมดไม่น่าจะใช่แหล่งพำนักชั้นต้นของโคโรนาไวรัส แต่เป็นเพียงแหล่งพำนักชั้นรองเท่านั้น จนกระทั่งเธอและทีมงานไปพบกลุ่มของเชื้อโคโรนาไวรัสหลายสายพันธุ์ที่มีลักษณะคล้าย SARS ในค้างคาวในแถบยูนนาน จึงทำให้เธอเชื่อว่า ได้พบกับต้นตอของโรคร้ายที่แท้จริงเข้าแล้ว (แม้ว่ายูนนานจะไม่ใช่แหล่งระบาดของ SARS ก็ตาม)
"ค้างคาวเป็นแหล่งรวมโคโรนาไวรัสที่มีความหลากหลายทางสายพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง เชื่อกันว่า อัลฟาโคโรนาไวรัส และเบตาโคโรนาไวรัส ซึ่งแพร่กระจายอยู่ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหลาย ถ้าไม่ทั้งหมดก็เกือบทั้งหมด ต่างก็มีรากเหง้าดั้งเดิมมาจากโคโรนาไวรัสที่แพร่กระจายอยู่ในค้างคาว และค้างคาวมงกุฎหลายสายพันธุ์ในประเทศจีนก็เป็นแหล่งรวมเชื้อโคโรนาไวรัสที่มีลักษณะคล้าย SARS อยู่อย่างมากมายหลากหลายสายพันธุ์ และบางสายพันธุ์ก็เป็นต้นตอโดยตรงของโคโรนาไวรัส SARS-CoV ซึ่งมีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดการระบาดข้ามสายพันธุ์มายังมนุษย์ได้" สือ กล่าว (Virology Journal)
การศึกษาของสือ ยิ่งทำให้เห็นถึงความเป็นไปได้สูงที่โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่พบในค้างคาวจะข้ามสายพันธุ์มาแพร่ระบาดในมนุษย์ โดยในรายงานความคืบหน้างานวิจัยของสือและคณะกรณีสามารถระบุ "ถ้ำ" อันเป็นแหล่งกบดานของค้างคาวซึ่งเป็นต้นตอของ SARS ในวารสาร Nature เมื่อปี 2017 กล่าวว่า
"คณะนักวิจัยเตือนว่า การระบาดอย่างหายนะอาจเกิดขึ้นได้อีกครั้ง ถ้ำซึ่งพบร่องรอยของ SARS นั้นอยู่ห่างจากหมู่บ้านที่ใกล้ที่สุดเพียง 1 กิโลเมตร และการผสมรวมทางพันธุกรรมของไวรัสต่างสายพันธุ์ก็เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว"
ขณะที่ในการให้สัมภาษณ์กับสื่อในประเทศจีนต่อกรณีเดียวกัน เช่นในรายงานของ China Daily สื่อภาคภาษาอังกฤษของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเดือนธันวาคม 2017 สือกล่าวว่า "ไม่จำเป็นต้องรู้สึกตื่นตระหนกกับเรื่องนี้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปใกล้ชิดกับสัตว์ป่า"
อย่างไรก็ดี ในการศึกษาสืบเนื่องจากกรณีเดียวกันนี้ของสือ ก็ทำให้พบถึงความเป็นไปได้ที่ไวรัสจากค้างคาวจะแพร่ระบาดมายังมนุษย์ได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านตัวกลางอื่นก็ยิ่งมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น โดยในช่วงต้นปี 2018 สือได้รายงานความคืบหน้าการวิจัยในวารสารฉบับหนึ่ง ซึ่งเธอได้ทำการสุ่มตรวจน้ำเหลืองจากชาวบ้านที่อยู่ใกล้กับถ้ำที่พบโคโรนาไวรัสที่มีลักษณะคล้าย SARS ในยูนนาน จำนวน 218 คน ทั้งหมดไม่ได้แสดงอาการเจ็บป่วยใด ๆ ขณะที่นักวิจัยทำการเก็บตัวอย่าง และไม่เคยสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย SARS มาก่อน
ปรากฏว่า นักวิจัยพบผลบวกในอาสาสมัครจำนวน 6 คน โดยในรอบ 12 เดือนก่อนมีการเก็บตัวอย่าง มีเพียงคนเดียวที่เดินทางไปต่างมณฑล คือไป เชินเจิ้น อีก 2 คน เดินทางไปต่างหมู่บ้านห่างออกไป 1.4 กิโลเมตร อีก 1 คน เดินทางไปยังคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน และอีก 2 คน ไม่เคยเดินทางออกจากหมู่บ้านเลย แต่ทั้ง 6 มีจุดร่วมสำคัญคือ เคยเห็นค้างคาวบิน
"ผลบวกของการตรวจน้ำเหลืองที่ 2.7 เปอร์เซ็นต์ ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงอย่างชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้กับแหล่งอาศัยของค้างคาว แสดงให้เห็นว่า การย้ายข้ามสายพันธุ์ (spillover) เป็นกรณีที่เกิดขึ้นค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ดี มันขึ้นอยู่กับว่า ภูมิคุ้มกันนี้จะอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้นานแค่ไหน เนื่องจากอาสาสมัครรายอื่นอาจเคยติดเชื้อ แต่ภูมิคุ้มกันจางหายไปแล้วก็ได้ ระหว่างการสอบถามกลุ่มตัวอย่างที่ผลน้ำเหลืองเป็นบวกทั้ง 6 คน แจ้งว่าไม่มีอาการป่วยเลยในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า การติดเชื้อโคโรนาไวรัสที่มีความเกี่ยวพันกับ SARS [SARS-related coronavirus (SARSr-CoVs)] ในค้างคาว ถ้าไม่เกิดขึ้นก่อนการตรวจเก็บตัวอย่าง ก็อาจเป็นเพราะติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการอ่อน ๆ" ตอนหนึ่งของรายงานวิจัยของสือและคณะระบุ (Virologica Sinica) นอกจากนี้ ในตอนท้ายของรายงานยังกล่าวด้วยว่า
"เป็นที่รู้กันว่า โคโรนาไวรัสมีอัตราการกลายพันธุ์สูงระหว่างการเพิ่มจำนวน และยังมีแนวโน้มที่จะเกิดการควบรวมใหม่ (recombination - กระบวนการรวมตัวใหม่ของยีนที่แตกหักเข้าด้วยกัน) หากไวรัสหลายตัวไปติดในผู้ป่วยรายเดียวกัน จากการศึกษาที่ผ่านมาของเราว่าด้วย SARSr-CoVs (โคโรนาไวรัสที่เกี่ยวพันกับโรค SARS) ที่พบในค้างคาว 2 ถ้ำ ใกล้กับหมู่บ้านเหล่านี้ เราพบความหลากหลายทางพันธุกรรมเป็นอย่างสูงของ SARSr-CoVs ที่พบในค้างคาว และยังพบหลักฐานการติดเชื้อร่วมของ SARSr-CoVs สองสายพันธุ์หรือมากกว่าในค้างคาวตัวเดียวกัน"
ด้วยการศึกษาค้นคว้ามานานมากกว่า 15 ปี สือจึงนับเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโคโรนาไวรัสในค้างคาวตัวจริง เธอมองเห็นโอกาสที่โรคร้ายอย่าง SARS จะกลับมาระบาดในมนุษย์ได้อีกครั้ง จากการศึกษาโคโรนาไวรัสในค้างคาวซึ่งทำให้เห็นถึงความหลากหลายทางพันธุกรรม การกลายพันธุ์ที่มีแนวโน้มสูง และยังพบกลุ่มตัวอย่างของผู้ที่น่าจะติดเชื้อโคโรนาไวรัสที่มีความเกี่ยวพันกับโรค SARS ที่พบในค้างคาวมาก่อนหน้าการระบาดของ “โควิด-19” ถึงสองปี
และเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ในอู่ฮั่นเมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม 2019 สือและทีมงานจากห้องวิจัยอู่ฮั่น ก็เป็นผู้สืบหาต้นตอของโรคร้ายย้อนกลับไปถึงโคโรนาไวรัส กลุ่มไวรัสที่เธอศึกษามาตลอดเพื่อหาทางป้องกันและรักษา แล้วก็พบว่า โคโรนาไวรัสชนิดนี้มีความใกล้เคียงกับโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรค SARS ซึ่งพบในค้างคาวที่ยูนนาน มากถึง 96 เปอร์เซ็นต์ มันจึงได้ชื่อว่า "SARS-CoV-2" (หรือถ้าจะแปลเป็นไทยจากชื่อเต็มก็คงได้ความว่า โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรค SARS หมายเลข 2)
องค์ความรู้ที่สือประมวลและศึกษา จึงน่าจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เรารู้จักโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมเป็นอย่างมาก
แต่เธอกลับตกเป็นจำเลยสังคม ด้วย “ข้อสันนิษฐาน” ของคนกลุ่มหนึ่งที่ว่า โคโรนาไวรัสต้นตอโรคโควิด-19 น่าจะหลุดมาจากห้องแล็บในอู่ฮั่นที่เธอทำงานอยู่ ก็ในเมื่อค้างคาวที่เป็นต้นตอของโคโรนาไวรัสอาศัยอยู่ในยูนนาน จู่ ๆ มันจะมาโผล่ที่อู่ฮั่นที่อยู่ห่างเป็นพัน ๆ กิโลเมตรได้อย่างไร? ต้องมีใครเอามันมาแน่ ๆ สือที่ศึกษาเรื่องนี้มานานจึงตกเป็นผู้ต้องสงสัย
ประกอบกับบนเว็บไซต์ของสถาบันวิจัยไวรัสวิทยาแห่งอู่ฮั่น ก็มีการประกาศรับสมัครนักวิจัย 2 ประกาศที่ออกมาในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน คือ ฉบับวันที่ 18 พฤศจิกายน 2019 ที่หาคนมาร่วมทีมวิจัย "ค้างคาว" เพื่อหาคำตอบว่า อะไรที่ทำให้มันสามารถใช้ชีวิตร่วมกับเชื้ออีโบลา และโคโรนาไวรัสที่มีความเกี่ยวพันกับ SARS ได้เป็นระยะเวลายาวนานโดยไม่เป็นโรค และมันจะเกี่ยวข้องกับความสามารถในการบิน และการมีชีวิตที่ยืนยาวของค้างคาวด้วยหรือไม่? (ยาอายุวัฒนะเป็นสิ่งที่วัฒนธรรมจีนหลงใหลและแสวงหาอยู่เสมอ)
ตามด้วยประกาศวันที่ 24 ธันวาคม 2019 ที่หาทีมมาร่วมงานวิจัยที่มี "ค้างคาว" เป็นวัตถุแห่งการวิจัยเหมือนกัน แต่คราวนี้มีวัตถุประสงค์อยู่ที่การศึกษาพฤติกรรมการย้ายถิ่นฐานของค้างคาว การถ่ายทอดเชื้อไวรัส รวมถึงการติดเชื้อข้ามสายพันธุ์ของไวรัสที่พบในค้างคาว
ซึ่งเป็นประกาศที่ออกมาเพียง 6 วัน ก่อนที่ หมอ “หลี่ เหวินเหลียง” จะออกมา “เป่านกหวีด” แจ้งเตือนการระบาดของโคโรนาไวรัสที่คล้ายกับสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรค SARS
และตอนที่สือได้รับรู้ข่าวการระบาดของโคโรนาไวรัสในอู่ฮั่นตอนแรก เธอก็สงสัยว่ามีการวินิจฉัยผิดพลาดหรือไม่ เพราะจากการศึกษาของเธอ ชุมชนที่มีความเสี่ยงมากกว่าอยู่ที่ยูนนาน ไม่ใช่อู่ฮั่นที่อยู่ห่างออกไปเกือบสองพันกิโลเมตร จนทำให้เธออดคิดไม่ได้ว่า "มันจะหลุดออกมาจากห้องทดลองของเราหรือไม่?" (Scientific American)
ความบังเอิญเหล่านั้นจึงถูกจับโยงมาที่เธอ แม้ว่าทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนเป็นเพียงหลักฐาน “แวดล้อม” เท่านั้น เพราะหากไปดูประกาศจากสถาบันทั้ง 2 ฉบับ ที่ถูกจับมาเชื่อมโยงว่า เดือนพฤศจิกายน ทางสถาบันจะวิจัยค้างคาวเพื่อหายาอายุวัฒนะ แต่พลาดเกิดเชื้อหลุดสู่ภายนอก เดือนต่อมาจึงต้องหาทีมงานมาช่วยแก้ไข ในความเป็นจริงนั้น ประกาศฉบับแรกกับฉบับหลัง มาจากหัวหน้าทีมคนละราย รายแรกหัวหน้าทีมคือ ดร.โจว เผิง (Zhou Peng) ส่วนฉบับหลังคือ สือ ซึ่งศึกษาเรื่องโคโรนาไวรัสในค้างคาวมาเป็นสิบกว่าปีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งจะมาสนใจ
และแม้ในเบื้องต้นเธอเองก็อดสงสัยไม่ได้ว่า เชื้อที่ว่าจะหลุดออกมาจากห้องแล็บของเธอหรือไม่? แต่ภายหลังเธอก็ยืนยันหนักแน่นว่าไม่ใช่แน่ ๆ พร้อมปฏิเสธข่าวลือที่ว่า นักศึกษาคนหนึ่งของสถาบันคือ “คนไข้หมายเลข 0” โดยอ้างว่า นักศึกษารายนี้จบจากสถาบันไปนานแล้วตั้งแต่ปี 2015 และไม่ได้ป่วยอย่างที่เป็นข่าว
ทั้งหมดนี้ อาจเป็นเพียงเรื่อง “บังเอิญ” เท่านั้น เพราะต้องไม่ลืมว่า SARS ที่ระบาดระหว่างปี 2002 ถึง 2003 ก็เริ่มต้นในกวางตุ้ง ไม่ใช่ยูนนาน ซึ่งอาจมาจากชะมดที่จับได้ในแถบยูนนาน (ซึ่งติดเชื้อมาจากค้างคาว) แล้วเอามาขายแถวกวางตุ้ง และคราวนี้ก็ข้ามไกลมาถึงอู่ฮั่น
แต่ปัญหาที่ทำให้เธอต้องตกเป็นเป้าโจมตีในคราวนี้ก็คือ ความพยายามที่จะ “ปกปิด” แทนที่จะชี้แจงและแสดงหลักฐานอย่างโปร่งใสของรัฐบาลจีน ก็ทำให้สาธารณชนทั้งในและต่างประเทศเกิดความเคลือบแคลงในคำแถลงทั้งหมดของรัฐบาลจีน รวมไปถึงสถาบันวิจัยไวรัสวิทยาแห่งอู่ฮั่นที่เลือกลบข้อมูลของอดีตนักศึกษาของตนที่ตกเป็นข่าวออกจากเว็บไซต์ จึงเป็นเรื่องที่ยากมากที่พวกเขาจะได้รับความไว้วางใจและเชื่อใจในคำชี้แจงที่ตามมา