นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน จากเด็กโคราชเลี้ยงหมู สู่โฆษก “ศอฉ.โควิด”
ช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วทั้งโลกรวมถึงประเทศไทยนั้น สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตคนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การทำธุรกิจ การรับประทานอาหาร การอยู่อาศัย รวมไปถึงการทำงาน สิ่งที่เรียกว่า “ความปกติ” (normal) กำลังปรับสู่ภาวะ “ความปกติใหม่ หรือที่เรียกกันว่า “new normal” เพราะเชื่อว่าหลังภาวะที่สามารถควบคุมได้ของโควิด-19 โลกจะไม่มีทางหมุนย้อนกลับไปอย่างที่เป็นก่อนการระบาดของโควิด-19 แบบเดิม 100%
หนึ่งในคนที่โควิด-19 ทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปตลอดกาล เพราะสถานการณ์จำเป็นที่ต้องการความรู้ทางการแพทย์ และการสื่อสารข้อมูลกับประชาชนให้ทันท่วงที เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโรคดังกล่าวในไทย ได้เปลี่ยน “จิตแพทย์” คนหนึ่ง ที่เมื่อสิบกว่าปีก่อนเคยดังเปรี้ยงปร้างมาแล้ว (ใครที่อายุ 30 ปีขึ้นไปน่าจะยังพอจำความดังของเขากันได้) ให้พลิกกลับมาเป็น “คุณหมอหน้าจอ” อีกครั้ง คราวนี้คุณจะได้พบกับเขาทุกวัน แถมบางวันยังอาจเห็นหน้าบ่อยกว่าคณะรัฐมนตรี
เขาคือ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ชายที่เคยพูดว่า “ชีวิตนี้ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมาเป็นหมอ”
วันที่ประชาชนจับจ้องตัวเลขผู้ติดเชื้อในไทยในแต่ละวันว่าจะน้อยจะมากเท่าไหร่ ดูเหมือนว่าบทบาท โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) หรือที่สื่อมวลชนเรียกกันติดปากว่า “ศอฉ.โควิด” กลายเป็นบุคคลผู้ทรงอิทธิพลที่สุดอันดับต้น ๆ ในเหตุการณ์ครั้งนี้ก็ว่าได้ ด้วยการอัพเดตสถานการณ์แต่ละวันผ่านการสรุป การตอบคำถามที่ฉะฉาน การแถลงที่มาทั้งไม้อ่อนอย่างการขอความร่วมมือจากประชาชน และไม้แข็งอย่างการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 บวกกับบุคลิกที่ดูยิ้มแย้มเป็นมิตร ทำให้การสื่อสารของ นพ.ทวีศิลป์สามารถส่งตรงถึงประชาชนได้โดยง่าย
การเติบโตในครอบครัวคนจีน ช่วยสอนเรื่องความเข้มแข็งและอดทนให้กับเด็กชายทวีศิลป์ ลูกคนที่ 2 ในบรรดาพี่น้อง 5 คน ที่ใช้ชีวิตอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ครอบครัวที่ในฐานะปานกลาง ทำให้ลูกทุกคนของ เว้งกวง และ เพ็ญนภา แซ่โต๋ว ถูกบ่มเพาะให้ต้องทำงานตั้งแต่เด็ก ขณะที่เด็กคนอื่นได้วิ่งเล่นอย่างสนุกสนาน แต่สนามเด็กเล่นที่เด็กชายทวีศิลป์ต้องใช้เวลาอยู่ด้วยเป็นประจำ กลับเป็นตลาดเทศบาล 2 เพราะครอบครัวเปิดร้านขายของชำ นพ.ทวีศิลป์เล่าว่า สมัยก่อนตอนยังเด็ก เป๊ปซี่สักขวดยังเป็นของแพง ขวดหนึ่ง 2.50 บาท นาน ๆ ทีแม่ถึงจะให้ดื่ม โดยมีข้อแม้ว่าต้องแบ่งกัน 5 คนพี่น้อง จนพี่ชายต้องเอาหลอดมาขีดเส้นว่าแต่ละคนจะดูดได้ถึงตรงไหน แล้วสลับกันดื่ม นี่คือความทรงจำที่มีความสุขที่สุดในสมัยเด็กของเด็กชายทวีศิลป์
ชีวิตที่แสนเรียบง่ายเดินมาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อคุณพ่อเว้งกวงประสบอุบัติเหตุถูกเลื่อยตัดน้ำแข็งตัดขาจนขาด หลังจากนั้นไม่นาน คุณแม่เพ็ญนภาก็ได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจ ช่วงเวลานั้น ทุกคนในครอบครัวต้องรวมพลังกันทำทุกอย่างเพื่อจะมีรายได้มาจุนเจือครอบครัวให้มีชีวิตรอด ไม่ว่าจะเป็นการพับถุงกระดาษใส่กล้วยแขก ทำขนมผิงขาย ไม่เว้นแม้แต่การเดินขอเศษอาหารในตลาด เพื่อขนเศษอาหารไปเลี้ยงหมูตามฟาร์มในโคราช
ความลำบากครั้งนั้นสอนอะไรบ้าง? นพ.ทวีศิลป์เคยให้สัมภาษณ์กับเดลินิวส์ว่า “บ้านที่อาศัยเป็นเพียงฝาไม้สี่ด้าน ไม่มีเงินแม้แต่จะซื้อตะปูมาตอก ต้องไปขอตะปูเก่า ๆ จากบ้านญาติที่เป็นโรงทำเฟอร์นิเจอร์มาสร้าง วิกฤตในครั้งนั้นหนักพอสมควร นี่เป็นจุดที่ทำให้ผมสามารถอยู่ในภาวะที่กดดันได้ดี และอีกเรื่องคือความดิ้นรนจะทำให้เราสามารถทำอะไรได้ทุกอย่าง อยู่ที่ว่าเลือกจะทำเรื่องร้ายหรือเรื่องดี”
โชคดีที่ทวีศิลป์เลือกในแง่ดี แม้วัยเด็กเขาจะทำได้ดีในวิชาวาดรูป แต่เมื่อมองว่าวิชาด้านการแพทย์เป็นงานที่มั่นคง เพราะฉะนั้น เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนบุญวัฒนา จังหวัดนครราชสีมา เขาจึงเลือกศึกษาต่อที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยเป็นการสอบโควตาของชมรมแพทย์ชนบท และเมื่อถึงเวลาใช้ทุน เขาก็เลือกอยู่ที่โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ เพื่อจะได้ดูแลคุณพ่ออย่างใกล้ชิด
บททดสอบแรกในโลกแห่งการทำงานไม่ง่าย เพราะจิตแพทย์เป็นเสมือนที่พึ่งทางจิตใจให้ประชาชน ตอนนั้นภาคอีสานมีข่าวลือเรื่องเขื่อนลำมูลจะแตก ทำให้ชาวบ้านเกิดอาการเครียดวิตก ในแต่ละวันหมอจบใหม่ต้องให้คำปรึกษาชาวบ้านกว่าวันละร้อยคน นั่นทำให้ นพ.ทวีศิลป์ค้นพบในสิ่งที่ทำได้ดี และมุ่งหน้าเรียนเฉพาะทางด้านจิตเวชต่ออีก 3 ปีที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา และทำงานต่อที่นั่นหลังเรียนจบ
เรื่องจิตเวชในสังคมไทยเมื่อ 20 ปีก่อนหน้า ยังไม่ได้รับการยอมรับหรือมีความเข้าใจอย่างกว้างขวางมากขึ้นเหมือนทุกวันนี้ คำเยาะเย้ยถากถางที่ นพ.ทวีศิลป์พบมากที่สุดคือการถูกเรียกว่า “ไอ้หมอโรคจิต” เขามองว่าอาการทางจิตเวชนั้นซับซ้อนกว่าการไปบอกว่าใครคนหนึ่งนั้น “บ้า” นพ.ทวีศิลป์เล่าว่า เมื่อไปเรียนเฉพาะทาง ก็ยิ่งพบว่ามีหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสภาพจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกาย เรื่องใจ เรื่องการใช้ยาเพื่อบรรเทาและรักษา เขาจึงตั้งปณิธานว่าจะต้องเป็นกระบอกเสียงให้คนในสังคมเข้าใจงานด้านจิตเวชและผู้มีอาการทางจิตอย่างถูกต้อง และตัดสินใจไปหาความรู้เพิ่มเติมที่ชิคาโก สหรัฐอเมริกา
เมื่อมองว่าการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ นพ.ทวีศิลป์จึงเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับสื่ออย่างมาก ทั้งการจัดรายการยู-ไลฟ์ ทางเคเบิลทีวี และบทบาทหนึ่งที่หลายคนจำหน้าได้เมื่อจัดรายการ Health Station ทางไอทีวี ร่วมกับนางเอกสาวชื่อดัง สิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์ เขาเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารแม่และเด็กว่า “เมื่อก่อนคนอาจคิดว่าจิตแพทย์น่ากลัว คิดว่าจะไปปรึกษาทำไมจิตแพทย์เนี่ย แต่จริง ๆ แล้ว จิตแพทย์ไม่ได้น่ากลัว เราไม่ได้เป็นคนผ่าตัด มาถึงก็ควักหัวใจมาดู อะไรทำนองนั้น ผมว่าสมัยนี้คนรู้มากขึ้นว่าช่วยเขาได้ อาจเริ่มจากปรึกษาคนที่มีประสบการณ์ก่อน ซึ่งถ้าหาคำตอบจากคนรอบข้างไม่ได้ ก็ลองมาหาจิตแพทย์ดูครับ ก็จะสามารถช่วยท่านได้ครับ”
เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไปสู่โลกยุคออนไลน์ งานสื่อสารของ นพ.ทวีศิลป์ก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เขาคือหนึ่งในผู้ก่อตั้ง www.thaimental.com เว็บไซต์ด้านสุขภาพจิต ที่พร้อมจะให้ความรู้ด้านจิตวิทยาในเชิงรุก ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ ส่วนงานด้านราชการ นพ.ทวีศิลป์ถือว่ามีความเติบโตในหน้าที่การงานเพราะบทบาทที่สามารถสื่อสารให้สังคมมีความเข้าใจที่ดีต่องานจิตเวช เขาจึงได้รับแต่งตั้งเป็นโฆษกกรมสุขภาพจิต
มีหลายครั้งในบทบาทโฆษกกรมสุขภาพจิต ที่ นพ.ทวีศิลป์มีโอกาสได้สื่อสารกับสังคม ตั้งแต่กรณีสังคมสูงวัยในไทยที่ต้องเอาใจใส่คนวัยเกษียณ และกรณีโรคซึมเศร้าที่คนไทยเริ่มเป็นกันมากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ด้วยผลงานที่มีต่อเนื่อง ทำให้ นพ.ทวีศิลป์ก้าวขึ้นเป็นผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ผู้อำนวยการสำนักสุขภาพจิตและสังคม และปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นสาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพ 10 ควบคู่กับโฆษกกระทรวงสาธารณสุข
เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยเข้าสู่ช่วงที่เข้มข้นมากขึ้น ประกอบกับรัฐบาลต้องการคนที่มีความสามารถในการสื่อสาร และมีความรู้ความเข้าใจด้านการแพทย์ จึงเป็นโอกาสที่ นพ.ทวีศิลป์จะได้ทำงานที่ถนัดอีกครั้งหนึ่ง ในฐานะโฆษก ศบค. เรียกได้ว่าเป็นการรับศึกใหญ่ในช่วงบั้นปลายอาชีพข้าราชการเลยก็ว่าได้
เป็นที่น่าจับตามองว่า หาก นพ.ทวีศิลป์ทำผลงานได้เข้าตารัฐบาลและประชาชนในตำแหน่ง “โฆษก ศอฉ.โควิด” เขาจะได้รับปูนบำเหน็จเกษียณอายุราชการด้วยตำแหน่งใด หรือจะเลือกเบนเข็มชีวิตเหมือนอดีตสองโฆษกของ ศอฉ. สมัยปี 2553 อย่าง ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ที่ผันตัวจากอาจารย์มหาวิทยาลัยก้าวเข้าสู่วงจรการเมือง โดยเป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคง ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ “เสธ.ไก่อู” พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ที่ลาออกจากข้าราชการกองทัพ มารับตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์
เรียกได้ว่าสถานการณ์โควิด-19 อาจเปลี่ยนชีวิตของ นพ.ทวีศิลป์ไปตลอดกาลเลยก็เป็นได้
เรื่อง: พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ