08 เม.ย. 2563 | 18:40 น.
อีกหนึ่งข้อมูลที่พูดถึงคณะนักเต้นแบกโลงของกานาได้อย่างน่าสนใจ มาจากบทความที่มีชื่อว่า Ghanaians really know how to celebrate when someone dies จาก metro.co.uk เขียนโดยนักข่าวสายศิลปะที่มีชื่อว่า Ashitha Nagesh ซึ่งเผยแพร่ในปี 2017 เช่นกัน ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการเต้นแบกโลงนี้ว่า น่าจะเป็นการแสดงที่เพิ่งโด่งดังทั่วกานาเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา (จากปีที่เผยแพร่งานเขียนนี้) นี้เอง เธอเล่าว่า ย้อนกลับไปในเดือนมกราคม 2015 บล็อกเกอร์จากอเมริกา ได้เขียนถึงคณะการแสดงหนึ่งที่มีโชว์การแสดงที่งานศพ "ฉันสัมผัสได้ว่างานศพของกานาดูฟู่ฟ่ามาก และจัดกันทีหลายวัน พิธีการสวยงามนี้ใช้เวลาสามวัน และควรค่าสำหรับคุณแม่ที่ใช้ชีวิตอย่างสง่างามบนโลกมาเป็นเวลา 96 ปี" "คณะเต้นรำแห่โลงศพ เป็นประสบการณ์ที่น่าตะลึง ฉันดีใจที่ได้เป็นพยานรู้เห็นการแสดงนี้ด้วยตัวเอง ฉันรู้สึกสนุกกับสุดยอดความสามารถพิเศษ และความแข็งแกร่งของคนหนุ่มกลุ่มนี้ พวกเขาไม่เคยเต้นผิดจังหวะเลย" ย้อนกลับไปที่เรื่องราวของ เบนจามิน ไอดู หัวหน้าคณะนักเต้นแบกโลง เขาอาจจะเป็นคนเริ่มต้นที่ทำให้เกิดเทรนด์นี้ในกานาก็เป็นได้ เบนจามิน ไอดู ผู้สร้างงานเต้นแบกโลงให้กับคนหนุ่มสาวนับร้อยคน เส้นทางชีวิตของเบนจามิน ไอดู เหมือนกับว่าเขาเกิดมาเพื่อที่จะเป็น “นักแบกโลง” ตัวจริงเสียงจริง ไอดูให้สัมภาษณ์กับ AP เมื่อปี 2017 ว่า เขาเริ่มทำงานแบกโลงครั้งแรกตั้งแต่สมัยไฮสกูล "วันที่ผมเริ่มต้น ย้อนกลับไปถึงปี 2007 ตอนผมเรียนมัธยมปลาย ผมรับงานนี้เพื่อหาเงินมาจ่ายค่าเทอม ผมเห็นคนแรก ๆ ที่เริ่มทำงานนี้ เขาชวนผมไปทำงานด้วย" หลังจากนั้น ไอดูก็เริ่มออกแบบสไตล์การจัดงานศพที่แตกต่างออกไป โดยเพิ่มการเต้น และจังหวะมัน ๆ ให้กับบรรยากาศของงาน "ในตอนแรกพิธีฝังศพ ผู้คนใส่ชุดดำ คนแบกโลงสวมชุดดำ พอเป็นเช่นนั้น ผมตัดสินใจว่า ไม่ ปล่อยให้ผมเพิ่มสีสันให้กับงานดีกว่า" จากนั้นเขาจึงเพิ่มความหรูหราและหลากหลายให้กับงาน ด้วยการลงทุนซื้อเครื่องแต่งกายเอง ทั้งชุดสูท รองเท้า แล้วชวนผู้คนมาฝึกฝน แล้วสร้างทีมการแสดงแบกโลงศพขึ้นมา ซึ่งรายละเอียดของการแสดงต้องเนี้ยบระดับที่ว่า ก่อนวันงาน เขาต้องมั่นใจว่าทุกอย่างพร้อมแล้ว "ผมอยากแน่ใจในทุกสิ่งที่อยู่ข้างนอก รองเท้าขัดดีหรือยัง ชุดสูทเรียบร้อยดีใช่ไหม" พิธีการฝังศพแบบนี้เลยกลายเป็นที่นิยมและเลียนแบบกันทั่วกานา ผู้คนมาร่วมงานมากขึ้น ซึ่งเป็นอีกงานหนึ่งที่มีการรวมญาติกันและร่วมรำลึกถึงผู้วายชนม์ เขาเริ่มมีงานชุก รับบริการแบกโลงศพ 5-6 งานต่อสัปดาห์ โดยต้นทุนงานจ้างขึ้นอยู่กับจำนวนนักเต้นแบกโลงและชุดที่พวกเขาสวมใส่ "หากแต่งตัวด้วยกระโปรงแบบสกอตต์ ราคาจะอยู่ที่ 180 เหรียญสหรัฐ(ประมาณ 5,940 บาท) หากสูทสีกรมท่า จะอยู่ที่ราคา 203 เหรียญ(ประมาณ 6,700 บาท) หากเป็นสูทขาวทั้งหมด ราคาจะขึ้นไปถึง 225-270 เหรียญ(7,425-8,900 บาท)" ด้วยราคาจ้างที่สูงเช่นนี้ ทำให้มีบริษัทอีกหลายเจ้าเลียนแบบสไตล์การจัดงานนี้ของไอดู แล้วทำแข่งขันกัน โดยบางบริษัท เจ้าของบริษัทก็คืออดีตพนักงานแบกโลงของบริษัทไอดูนั่นแหละ และด้วยความที่มีการแข่งขันกันสูง คณะนักเต้นแบกโลงของเบนจามิน ไอดู จึงต้องรักษามาตรฐานการให้บริการที่ดี ทั้งเสื้อผ้า และรูปแบบโชว์ที่แตกต่าง และพัฒนาให้มีเอกลักษณ์เฉพาะอยู่เสมอ เมื่อมีงานจ้างเข้ามา ทำให้เขาสามารถดูแลพนักงานหนุ่มสาวร่วมร้อยคนที่ทำงานในคณะเต้นรำแบกโลงนี้ได้ แม้ว่าผู้ว่าจ้างหลายคนจะชื่นชมและใช้บริการนี้เพื่อแสดงพิธีจากลาคนที่พวกเขารักเป็นครั้งสุดท้าย แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะชื่นชอบการแสดงดังกล่าว เพราะประเพณีงานศพดั้งเดิม ไม่เคยมีการแบกโลงศพเต้นเช่นนี้ ถึงจะมีกระแสต่อต้านมาบ้าง แต่เบนจามิน ไอดู อธิบายว่า เขาเพียงแค่ให้ในสิ่งที่ผู้คนต้องการเพียงเท่านั้น "พวกเขาไม่อยากร้องไห้อีกแล้ว... คนหลายคน ไม่ว่าพวกเขาอยากร้องไห้หรือไม่ พวกเราสามารถทำให้พวกเขาร่าเริงได้ พวกเราทำให้เขามีความสุขได้ด้วยสิ่งที่พวกเรากำลังทำอยู่" ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=EroOICwfD3g https://www.bbc.com/news/av/world-africa-40716576/ghana-s-dancing-pallbearers-bring-funeral-joy https://metro.co.uk/2017/07/27/ghanaians-really-know-how-to-celebrate-when-someone-dies-6810712/ https://xdigitalnews.com/famous-funeral-coffin-dance-video-which-is-trending-everywhere-in-this-quarantine-season/11287/ http://www.aparchive.com/metadata/youtube/e3a78f0e85a85105e606991ce9c542a8