read
interview
27 ธ.ค. 2561 | 16:51 น.
สัมภาษณ์แอดมิน TaxBugnoms ถนอม เกตุเอม ผีและภาษี ควรกลัวอะไรมากกว่า?
Play
Loading...
ผี กับ ภาษี อะไรที่น่ากลัวกว่ากัน?
“คือคุณรู้แค่ในสิ่งที่คุณเป็นอะ แต่ตอนนี้ปัญหาคือทุกคนน่ะคิดว่ามันยากที่จะเรียนรู้ แต่จริงๆ ไม่หรอก ความรู้พวกนี้มันเริ่มต้นแป๊บเดียวมันก็เป็น เอาจริงๆ ภาษีมันไม่ได้ยากเลยนะ ไอ้การใช้ชีวิตยากกว่าเรื่องภาษีเยอะอะ การทำให้ธุรกิจกำไรมันเป็นเรื่องยากกว่าภาษีด้วยซ้ำ แต่ว่าคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะเปิดใจแบบรับรู้ เรียนรู้ ยอมรับกัน”
มีคำบอกว่า สิ่งที่เราเลี่ยงไม่ได้คือ ความตายและภาษี ในเมื่อเลี่ยงไม่ได้ เราก็พุ่งชนกับภาษีตรง ๆ ดีไหม
นี่คือบทสัมภาษณ์ พรี่หนอม ถนอม เกตุเอม ผู้เชี่ยวชาญเรื่องภาษี แห่ง aomMONEY และ TaxBugnoms เพื่อทำความเข้าใจว่า ภาษีไม่ไกลตัวอย่างที่คิด และเป็นหลักคิดในการวางแผนภาษีกัน
The People: เราจำเป็นกลัวภาษีไหม
ถนอม:
ก็ไม่จำเป็นต้องกลัว เหมือนไม่รู้จะกลัวไปทำไมด้วยซ้ำ จริงๆ เราอาจจะไม่ได้กลัวภาษีก็ได้นะ เราอาจจะกลัวความไม่รู้ภาษีของตัวเองหรือกลัวแบบอำนาจรัฐ เพราะเราไม่รู้ว่าจะถูกตรวจสอบเมื่อไหร่มากกว่า
The People: คนมักมองภาษีเป็นเรื่องไกลตัวหรือเป็นเรื่องยาก อยากให้อธิบายเรื่องภาษี ให้ดูใกล้ตัวหน่อย
ถนอม:
คือถ้าคุณคิดว่าวันหนึ่งมันจะ...ถึงวันที่คุณจะมีรายได้เพิ่มหรือมีรายได้เยอะๆ คุณก็ต้องรู้เรื่องนี้อยู่ดี ไอ้วันที่คุณกลัวเนี่ย คุณอาจจะกลัวเพราะว่าคุณมีรายได้เยอะ แล้วคุณไม่คิดจะเสีย คุณเลยกลัว แล้วความกลัวนั้นก็มาจากในสิ่งที่คุณไม่รู้ แต่จริงๆ แล้วท้ายที่สุดแล้วคนเรา วันหนึ่งมันต้องไปเจออยู่ดี จะทำให้เป็นเรื่องใกล้ตัวได้ยังไง มันก็แค่ไปยื่นอะ พอยื่นแล้วมันก็จะรู้ว่าคิดยังไง เออ กล้าเข้าหามันสักหน่อยอะไรงี้ มันก็จะแบบเฮ้ย จบเลย
The People: คิดยังไงกับคำพูดว่า ไม่อยากเสียภาษีเพราะมันไม่ได้กลับมาหาประชาชน แต่ไปที่เรือดำน้ำ อะไรทำนองนี้
ถนอม:
คือสิ่งที่มันมีปัญหาเรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องการเสียภาษีหรือการไม่เสียภาษีนะ สิ่งที่มีปัญหาเรื่องนี้มันคือเสียภาษีไปแล้ว มันตรวจสอบอำนาจเขาได้หรือเปล่า
สิ่งที่เราควรจะสนใจอะไม่ใช่เสียภาษีแล้วเราบ่นว่าไม่อยากเสีย เพราะเอาไปใช้อะไรไม่ถูก แต่ว่าไอ้สิ่งที่เราเสียไป เราตรวจอำนาจเขาได้ไหม เราตรวจในสิ่งที่เขาทำได้ไหม คือถ้ามันตรวจสอบได้ ภาษีมันไม่ได้เป็นปัญหานะ เออ แต่ว่านี่เรากลายเป็นว่าเอาการที่เราตรวจสอบไม่ได้มากลายเป็นข้ออ้างในการเราไม่อยากเสียภาษีแทน
The People: มี 2 อย่างที่เราหนีไม่พ้นคือความตายกับภาษี คิดยังไงกับคำนี้
ถนอม:
คือก็เป็นคำคม คือมันไม่ได้มีประโยชน์อะไรนึกออกป่ะ เหมือนว่าเราก็พูดกันไปว่า 2 สิ่งในโลกนี้ที่เราจะหนีไม่พ้นคือความตายกับภาษี ซึ่งมันเป็นคำถูกต้อง แต่มันไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับชีวิตขึ้น คือก็จบแล้วไง แล้วเราก็..ตาย วันหนึ่งเราต้องตายอยู่แล้ว ภาษี วันหนึ่งมันก็ต้องเสีย ถ้าเกิดคุณไม่เสีย คุณก็อาจจะถูกตรวจ ถูกจับอะไรยังงี้ได้ แล้วสุดท้ายคุณอาจจะเสียมากกว่าก็ได้
The People: คุณเคยทำงานเป็นสรรพากรมากี่ปี
ถนอม:
น่าจะประมาณสัก 11 ปีกว่าๆ
The People: พวกภาษีต่างๆ สรรพากรตามหาจนเจอได้อย่างไร
ถนอม:
คือถ้าเป็นภาษีบุคคล ส่วนใหญ่คนจะคิดว่าทำยังไงก็ตามไม่เจอใช่ไหมครับ เมื่อก่อนมันก็จะมีระบบตรวจสอบแหละ เช่น ถูกหักภาษีไว้อย่างงี้แล้วตามเจอ หรือต่อไปในอนาคต พวกระบบตรวจสอบของรัฐจะดีขึ้นเรื่อยๆ ยังไงก็ตามเจออยู่ดี แต่ในสิ่งที่ผมตรวจ ผมตรวจปกติเป็นพวกบริษัท บริษัทเนี่ยส่วนใหญ่เขาชอบหาคนมาเป็นค่าใช้จ่ายเยอะๆ หมายความว่าสร้างค่าจ้างปลอมอะไรยังงี้ ให้เหมือนแบบมีคนมารับเงินจากบริษัทเยอะๆ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายบริษัท
การทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นค่าใช้จ่ายบริษัทมันทำให้กำไรน้อยลง แล้วมันเสียภาษีน้อยลง แต่ว่ารัฐไปตรวจเจอได้อย่างไร ก็คือเขาไปเอาคนตายมาใช้ก็มี เอาคนที่สาบสูญไปแล้วมาใช้ก็มี หรือเอาคนที่ไม่มีรายได้จริงๆ มาใช้ ซึ่งถ้ามันไปเชื่อมโยงกันกับอนาคตนะ สมมติว่าแบบนี้คนๆ หนึ่งไปลงทะเบียนคนจนไว้แล้ว แต่ถูกออกมาใช้ชื่อในการรับรายได้ บริษัทมันก็มีปัญหาแล้ว ยังไงก็ตามเจออยู่ดี แล้วก็ระบบของรัฐมันจะมีแบบ...เมื่อก่อนมันก็จะมีตรวจ เขาเรียกว่าสอบ คือ test ว่าคุณจ่ายเงินให้คนนี้ไปลงรายได้จริงหรือเปล่า เขาจะไปดูต่อว่าคุณจ่ายจริงไหม คุณรับรายได้จริงไหม มันสอบข้ามไปข้ามมาได้
The People: แล้วเรื่องภาษีบุคคล ที่ควรจำนวนหนึ่งพยายามเลี่ยงภาษี ควรคิดกับมันอย่างไร
ถนอม:
คือเอาจริงๆ ไอ้เรื่องเลี่ยงภาษีหรือไม่เลี่ยงภาษี แล้วแต่เลยนะ คือมันแล้วแต่แนวคิดคนน่ะ คุณไม่ชอบรัฐ คุณไม่อยากจ่ายภาษีมันก็เรื่องของคุณ แต่ว่าสิ่งที่คุณต้องรู้อย่างหนึ่งคือคุณรับความเสี่ยงพวกนี้ได้ไหม เช่น คุณบอกว่าคุณไม่เสียภาษี มันก็เป็นเรื่องของคุณนะ แต่คุณน่ะ พอไม่เสียแล้ว คุณจะยอมรับความเสี่ยง ถ้าคุณถูกตรวจเจอ คุณโดนเสียเยอะๆ โดนเสียเพิ่มอีกหลายเท่า คุณโอเคป่ะล่ะ ถ้าคุณโอเค คุณก็เลือกทางนั้น คุณคิดว่าโอเค ฉันไม่มีวันถูกตรวจเจอ ฉันเกิดมาเป็นคนโชคดีมากเลย ยังไงก็ไม่มีวันถูกตรวจเจอ คุณก็มีสิทธิเลือกแบบนั้นได้นะ แต่ถ้าคุณคิดว่าเฮ้ย คุณไม่อยากถูกตรวจ คุณอยากทำให้มันถูกต้อง คุณก็ทำให้มันถูกต้องไป ก็ค่อยๆ ทำไปให้มันถูกต้อง ค่อยๆ เรียนรู้ ค่อยๆ หาความรู้ไปมันก็เป็นประโยชน์กับคุณอยู่ดีอ่ะ
The People: มีอะไรจะแนะนำคนที่กำลังจะทำเรื่องเสียภาษีในช่วงปลายปีไหม
ถนอม:
สิ่งสำคัญคือเปิดใจรับรู้ เปิดใจที่จะไปเรียนรู้มัน มันไม่ได้ยากอย่างที่คิดนะ คือคนส่วนใหญ่บอกว่าจะต้องรู้กฎหมาย เขาชอบไปรู้แบบมันต้องรู้ทุกอย่าง แต่จริงๆ ไม่ใช่ ก็คือสมมติคุณเป็นมนุษย์เงินเดือน พอคุณเป็นมนุษย์เงินเดือนปั๊บ คุณรู้ว่าคุณมีแค่นี้ หักค่าใช้จ่ายได้เท่านี้ หักค่าใช้จ่ายได้ปีละแสน คุณก็ต้องไปวางแผนลดหย่อนภาษี คุณก็รู้แค่นี้พอ คุณไม่จำเป็นต้องรู้ภาษีทุกตัว คุณไม่จำเป็นต้องรู้ว่าคุณมีรายได้กี่ประเภท สมมติคุณเป็นนักลงทุน คุณก็รู้ โอเคเงินได้จากการลงทุนเนี่ย คุณจะเลือกเสียภาษีแบบไหนได้ประโยชน์สูงสุด คุณเป็นพ่อค้าแม่ค้าขายของออนไลน์ คุณก็รู้ว่าเฮ้ย รายได้คุณเนี่ยจะวางแผนภาษียังไง จะหักค่าใช้จ่ายแบบไหนดี เฮ้ย พออนาคตฉันเติบโตไป ฉันจะจดบริษัทดีเปล่าวะ ฉันจะทำอะไรต่อไปงี้
คือคุณรู้แค่ในสิ่งที่คุณเป็น แต่ตอนนี้ปัญหาคือทุกคนน่ะคิดว่ามันยากที่จะเรียนรู้ แต่จริงๆ ไม่หรอก ความรู้พวกนี้มันเริ่มต้นแป๊บเดียวมันก็เป็น เอาจริงๆ ภาษีมันไม่ได้ยากเลยนะ ไอ้การใช้ชีวิตยากกว่าเรื่องภาษีเยอะ การทำให้ธุรกิจกำไรมันเป็นเรื่องยากกว่าภาษีด้วยซ้ำอะ แต่ว่าคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะเปิดใจแบบรับรู้ เรียนรู้ ยอมรับกันอะไรงี้
The People: แล้วพวกกองทุนหรือโครงการชอปปิงช่วยชาติ ช่วยเรื่องภาษีได้อย่างไรบ้าง
ถนอม:
ถ้าเป็นบุคคลนะครับ ค่าลดหย่อนพวกนี้ RMF LTF ชอปปิงช่วยชาติอะไรทุกอย่างก็ตาม ค่าลดหย่อนพวกนี้มันเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยลดภาษี แต่ก่อนที่คุณจะลดภาษี คุณต้องมีเงิน คุณจะไปชอปปิงช่วยชาติ คุณต้องกำเงินไปจ่ายค่าชอปปิงช่วยชาติ คุณจะไปซื้อ LTF RMF คุณก็ต้องมีเงินไปจ่ายซื้อ ฉะนั้น สิ่งสำคัญมันถามว่ามันช่วยลดภาษีไหม มันช่วยลด แต่สิ่งสำคัญคือพอคุณมีเงินน่ะ คุณมีเงินพอจะไปทำพวกนี้หรือเปล่า เออ ถ้าคุณมีเงินไม่พอทำพวกนี้ คุณก็ต้องกลับไปจ่ายแค่ภาษีอะ คุณวางแผนอะไรไม่ได้เลย ซึ่งมันก็จะสะท้อนว่าคุณเป็นคนแบบไหน คุณวางแผนภาษีเป็นหรือเปล่า หรือคุณกลับไปสู่จุดนั้น ว่าคุณวางแผนไม่ได้เพราะคุณไม่มีเงิน
The People: เดินไปเจองูกับสรรพากร ควรตีอะไรก่อน
ถนอม:
ถ้าตีสรรพากรเข้าคุกนะฮะ ถ้าเจองูกับสรรพากรเหรอ คือถ้าสรรพากรเขาไม่ตรวจเรา เขาก็เป็นคนนะ พูดแบบแทนพวกพี่ๆ หรือคนทำงาน เรารู้สึกว่าจริงๆ แล้วเรากลัวสรรพากร เพราะเราไม่รู้ เรากลัวสรรพากรเพื่ออะไร กลัวเขาจะมาเก็บเราเหรอ จริงๆ แล้วถ้าเราทำถูก เขาก็ไม่มาเก็บเรารึเปล่า เออ คือเรากลายเป็นว่าเรารู้สึกว่ากลัวหมดเลยเพราะอำนาจรัฐ ใครๆ ก็จะมาตรวจเราเพราะเราผิดอะไร คือเรากลายเป็นเราเอาการหนีภาษีเป็นเรื่องอวดว่าใครเก่งกว่ากันอะทุกวันนี้ เอาคนที่หนีภาษีได้ คนที่ไม่ต้องเสียภาษี คนที่ภูมิใจการไม่เสียภาษีแล้วเป็นความเก่ง พอเป็นความเก่งมันตามมาด้วยความกลัว คือเวลาคุณเจออะไรพวกนี้เราจะตรวจสอบคุณ คุณจะเริ่มกลัว แต่คนที่รอดเขาก็จะบอกว่าหู้ย ฉันเก่งเห็นไหม ฉันรอด ฉันทำอะไรฉันก็ไม่โดนอะไรยังงี้ ซึ่งจริงๆ มันขัดแย้งกันนะ
เออ ถ้าเจองู งูมาฉกคุณงี้ คุณก็หนีงูใช่ป่ะ เจอสรรพากรเนี่ยจริงๆ แล้วถ้าเกิดเขาไม่ได้มาตรวจคุณ มันไม่มีผลอะไรกับชีวิตคุณนะ บางทีคนที่คุณเจออยู่ด้วยทุกวันน่ะ เขาอาจจะเป็นสรรพากรก็ได้ แต่เขาไม่กล้าบอกคุณไง เขาอาจจะกลัวแบบ พอบอกแล้วเนี่ยมันต้องเป็นปัญหาชีวิต
The People: แล้วผีกับภาษีเราควรกลัวอะไรมากกว่ากัน
ถนอม:
ระหว่างผีกับภาษีควรกลัวอะไรเหรอ ผีเนี่ยยังไงมันก็ไม่เสียเงินนะ จะหลอกยังไง เขาไม่มาหลอกจ่ายตังค์ นอกจากเขามาหลอกใบ้หวย แล้วไปซื้อตามแล้วเสีย แต่ภาษีเนี่ยถ้าไม่เสียถูกต้องเนี่ย ยังไงต้องจ่ายตังค์นะ ท้ายสุดมันจะถูกไล่ตามจนจ่ายก็ได้อะ ดังนั้น ถ้าเป็นผม ผมกลัวภาษีมากกว่า
The People: ทำไมถึงเลือกทำงานเป็นสรรพากร
ถนอม:
จะบอกว่าตอนนั้นมันเป็นช่วงที่ออกจากงานเอกชนที่เก่า เคยทำ ออดิเตอร์(ตรวจสอบบัญชี) มาก่อน ตอนนั้นออกมา กะจะมาเรียนต่อ แล้วก็ที่บ้านเขาก็แบบเฮ้ย แม่เห็นสอบก.พ. สอบอะไรยังงี้ ก็ลองไปสอบดู พอสอบได้ก็ทำ คือไม่มีเหตุผล ไม่ได้มีความแบบ passion ไม่ได้อะไรเลยนะ ก็คือแค่สอบได้แล้วก็เห็นว่ามันเป็นจังหวะที่ดีก็เข้าไปทำ แค่นั้นเอง
The People: แต่เราเป็นสรรพากรมา 11 ปี
ถนอม:
ไม่ เรารู้สึกว่าเราอยู่แล้ว ทุกคนแฮปปี้ ทางบ้านก็แฮปปี้ คนในครอบครัวเราแฮปปี้กับการที่เราเป็น เราก็โอเค พี่ๆ ที่ทำงานก็ดี ไม่ได้มีใครมีปัญหากับเรา
The People: แล้วเราแฮปปี้กับงานไหม
ถนอม:
เราเฉยๆ เรารู้สึกเราไม่เคยมีความฝันอยู่แล้วอะ คือ เป็นคนที่ไม่มีความฝันอะไรเลย รู้สึกว่าก็ใช้ชีวิตปกติ อยากทำอะไรก็ทำ ทำอะไรได้ดีก็ทำต่อไป เออ ได้เงินก็โอเค จบ
ไม่รู้ว่ะ เราว่าจริงๆ มัน...อันนี้ส่วนตัวรู้สึกว่า คือมันไม่จำเป็นต้องมีความฝันก็ได้ป่ะวะ อันนี้แบบถ้าไม่เชิงเป็นแนะแนวก็ไม่เป็นไร คือรู้สึกว่าเราถูกปลูกฝังอะไรบางอย่างให้เราต้องมีความฝันมากเกินไปอะ จริงๆ เราไม่จำเป็นต้องมีความฝันก็ได้ เราก็มีความสุขได้ป่ะวะ
ความฝันมันเป็นเรื่องแบบ...มันเพื่อให้เรามีเป้าหมายในการทำอะไรบางอย่าง แต่มันไม่ใช่ทุกอย่าง หรือเพราะประสบการณ์ด้วยก็ไม่รู้ว่ะ เพราะว่าสิ่งที่ทำมาทุกอย่างมันไม่ใช่ความฝันอ่ะ เออ เคยแบบอยากเป็นนักเขียน แต่ว่าพอเขียนเข้าจริงๆ มันก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่เราคิดอะ เออ เคยอยากเป็นนู่นอยากนี่ จริงๆ ตอนแรกที่จบมาคิดง่ายๆ คืออยากจะอยู่ที่บ้านทำสำนักงานบัญชีด้วยซ้ำ แค่เปิดสำนักงานเล็กๆ ที่บ้านมีกินไปเรื่อยๆ จบ เออ แต่ว่าพอทำไปเรื่อยๆ สุดท้ายมาเป็นวันนี้ ต้องมานั่งบรรยาย นั่งพูด นั่งสอน ถามว่าชอบไหม จริงๆ เป็นคนไม่ชอบพูดกับคน อย่างนี้โคตรเกลียดเลย เมื่อก่อนแบบมองกล้องเนี่ยกลัว มองแบบไม่กล้ามอง คุยกับคนก็แบบหลบตาอะไรงี้ เออ แต่ว่ามันทำได้ เพราะมันต้องเป็นงานไง แล้วก็แฮปปี้ แฮปปี้คือทำแล้วมันทุกข์ก็ยังทำต่อได้ มีรายได้เอามาจุนเจือครอบครัว มันก็ง่ายๆ
The People: แล้วทำไมถึงเดินออกมาจากสรรพากรหลังจากทำมา 11 ปี
ถนอม:
จริงๆ เราต้องการแค่เวลา เรารู้สึกว่าเราไม่มีเวลา ตอนทำสรรพากรอยู่มันดีมาก คือมันก็สังคมไม่ได้แย่ พี่ๆ หรือเจ้านาย หรืออะไรพวกนี้น่ารักหมดเลย คือเราอาจจะโชคดีด้วย เราไปอยู่ในสังคมที่เขาดีกับเรา เขาให้การสนับสนุน เขาให้อะไร ขนาดเราทำเพจ ทำอะไรพวกนี้ เขาก็ยังสนับสนุนเรา ซึ่งถือว่าเป็นโชคดีของเรามากๆ
แต่ว่าที่ออกมาเพราะว่าคำตอบเดียวคือต้องการเวลา แล้วเราไม่อยากจะทำตัวเหมือนกับ...เราโกงราชการ ถ้าเกิดวันนี้เราบรรยายด้วย เราทำราชการด้วย เราจะไม่มีเวลาทำงานทั้ง 2 อย่างให้ได้ดี แล้วถ้าเราเลือกบรรยายแต่เสาร์-อาทิตย์ นั่นแปลว่าวันธรรมดาเราทำงาน เสาร์-อาทิตย์ เราบรรยาย นั่นแปลว่าเราจะไม่มีเวลากับครอบครัว พอชีวิตไม่ Balance ก็แค่นั้น มันก็ต้องลาออก ตอนแรกพยายามจะยื้อทุกอย่างด้วยนะ พยายามจะแบบไปเรียนต่อ เพื่อให้มีเวลาว่าง พอเรียนต่อมันอาจจะเรียนอาทิตย์หนึ่งไม่ถึง 5 วัน จะได้มีเวลาว่างมากขึ้น แต่เอาเข้าจริง พอไปเรียนต่อ พอไปลองเรียนดู มันก็รู้สึกว่าท้ายที่สุดแล้วเราก็ไม่มีเวลาอยู่ดี มันควรจะเลือกในสิ่งที่เราต้องทำ เราก็ไม่ควรไปเบียดเบียนทางราชการ แล้วก็ไม่ควรไปเบียดเบียนงานที่เราทำ
The People: จนที่สุด ถึงวันนี้ เราทำเพจ TaxBugnoms จนกลายเป็น Influencer
ถนอม:
ก็ดี มันมีรายได้เพิ่มอะ คือการเป็นแบบนี้ มันมีรายได้เพิ่มก็คือจบ ก็คืองานที่เราทำเพราะเหตุผลที่เราทำพวกนี้ แค่เราอยากเก่งเรื่องภาษี คือเรารู้สึกว่าเรามีคนถามเรื่องภาษีเยอะ เรามีคนสนใจเรื่องภาษีเยอะ เราแค่อยากเก่งขึ้น ถ้าเราอยากเก่งขึ้น เราก็ทำพวกนี้ มันช่วยให้เราเก่งขึ้น พอเราเก่งขึ้นแล้ว คนเอาประโยชน์จากความเก่งเราแล้วมาจ้างเรา มันก็ดีอะ เออ มันแค่นั้นเอง
The People: ในฐานะที่ทำเพจบนนโซเชียลมีเดียมา สิ่งเหล่านี้ให้อะไรเราบ้าง
ถนอม:
คือมันให้ อย่างแรก ให้เงินแน่นอนอยู่แล้ว ให้รายได้ ให้โอกาส เส้นทางชีวิตในการทำงาน อันนี้คือปกติ แต่ว่ามันทำให้เราได้เรียนรู้คนเยอะขึ้น เราได้เห็นคนหลายแบบ แล้วเราอะน่าจะได้อย่างหนึ่ง คือเราได้ความอดทนกับชีวิต...คือเหมือนกับว่ามันก็จะมีความเกลียดชัง มีดรามา มีคนด่า มีอะไรพวกนี้ เออ เราได้พวกนี้ขึ้นมาด้วย จากการที่เราอยู่กับโซเชียลมีเดียบ่อยๆ มีคนไม่ชอบเรา ก็มีคนชอบเรา มีคนโอเคกับสิ่งที่เราทำ มีคนไม่โอเคกับสิ่งที่เราทำงี้ เออ มันก็เลยทำให้เราได้เรียนรู้อะไรพวกนี้เยอะขึ้น
The People: ชีวิตยังมีอะไรที่อยากทำอยู่ไหม
ถนอม:
โอ้โห...พูดเหมือนจะตายวันนี้ได้เลย เอ่อ ความจริงก็ไม่ได้มีความฝันอะไรเลยว่ะ ก็รู้สึกว่ามองเป็นแค่แบบ Short term แทน แบบปีหน้าทำอะไร แต่ก็เป็นเรื่องของงาน อยากเก่งภาษีขึ้น ทำไงให้เก่งภาษีขึ้นดีวะ อย่างงี้ อาจจะต้องไปหาความรู้ด้านไหนเพิ่ม อาจจะต้องไปเรียนวิธีการสื่อสารให้มันดีขึ้น อาจจะต้องไปแบบ..เขียนหนังสือมากขึ้นอะไรไหม หรือทำอะไรพวกนี้ให้มันดีขึ้นอะ แต่ว่าไม่ได้มองว่าแบบฉันทำแบบนี้หรือแบบอยากจะไป อ๋อ...มีอย่างหนึ่ง อยากวิ่งมาราธอนได้ อันนี้ได้อยู่ คืออยากรู้สึกว่าอยากวิ่งมาราธอนได้ก่อน 40 ปี(ตอนนี้อายุ 36 ปี)
The People: คิดยังไงกับเรื่อง Life coach
ถนอม: เ
ราคิดยังไงกับ Life coach เหรอ เราว่ามันก็ดูโอเคนะ เราว่าศาสตร์ความรู้มันมี 2 แบบ ความรู้ที่เป็นทฤษฎีกับความรู้ที่เป็นปฏิบัติ คนเราชอบเรียนรู้ไม่เหมือนกัน บางคนอะชอบเรียนรู้จากคนที่เขาปฏิบัติสำเร็จ บางคนชอบเรียนรู้กับคนที่ทฤษฎีสำเร็จ ทฤษฎีดีเพื่อเอามาถ่ายทอด เราอาจจะชอบไม่เหมือนกัน Life coach เนี่ยมันก็มีทั้ง 2 แบบคือโค้ชที่เขาเก่งทฤษฎีกับโค้ชที่เขาเก่งปฏิบัติ ที่นี้ปัญหาที่เกิดขึ้นคือบางที บางเรื่องมันอาจจะไม่ได้เหมาะกับคนทุกคน มันก็เลยอาจจะทำให้เขามีถูกต่อต้านบ้าง ถูกว่าบ้าง อย่างเช่น สมมติว่าคุณสอนทฤษฎี คำถามก็อาจจะย้อนแย้งกลับมาว่าอ้าว วันนี้คุณประสบความสำเร็จไหมอ่ะ มันก็มีคำถามย้อนแย้ง ซึ่งจริงๆ แล้วการประสบความสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ทฤษฎีมันก็อาจจะช่วยได้สำหรับบางคน มันอยู่ที่ว่าคนศรัทธาคนแบบไหนมากกว่า ไม่ได้มองว่าเขาถูกหรือผิด แต่มองว่าคนที่จะเชื่อเขาอะ คุณต้องพยายามหาความรู้เยอะๆ ในการเชื่อ เพราะคนทุกวงการ คนทุกอาชีพมันมีทั้งดีและไม่ดี
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3491
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6940
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
819
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Interview
The People
สัมภาษณ์
ภาษี
TaxBugnoms