ความรุนแรงในครอบครัว “ภัยเงียบ” ที่อาจคร่าชีวิตผู้หญิงได้มากกว่าโควิด

ความรุนแรงในครอบครัว “ภัยเงียบ” ที่อาจคร่าชีวิตผู้หญิงได้มากกว่าโควิด
“ช่วงการระบาด เราไม่สามารถออกไปไหนได้ทั้งนั้น ความขัดแย้งของเราก็ยิ่งมากขึ้น ๆ และบ่อยครั้งขึ้นด้วย เหมือนทุกอย่างระเบิดออกมาช่วงนี้หมดเลย” เลเล หญิงวัย 26 ปี ชาวจังหวัดอันฮุย ทางตะวันออกของจีน บอกเล่าเหตุการณ์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ปี 2020 ช่วงที่รัฐบาลประกาศให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 วันนั้นเลเลถูกสามีเอาเก้าอี้ฟาดจนเสียหลักล้มลงกับพื้น เขาฟาดเธอนับครั้งไม่ถ้วนจนเก้าอี้หัก ความเจ็บปวดนั้นนานพอจะทำให้ขาของเลเลสูญเสียความรู้สึก เมื่อเธอเพ่งมองขาทั้งสองข้างก็พบว่าเต็มไปด้วยร่องรอยบาดเจ็บ โดยเฉพาะขาซ้ายนั้นเต็มไปด้วยเลือด ทั้งหมดเกิดขึ้นขณะที่เลเลอุ้มลูกน้อยวัย 11 เดือนไว้แนบอก หลังจากตั้งสติและรวบรวมกำลัง เธอก็เดินกระโผลกกระเผลกไปอีกห้องและโทรศัพท์แจ้งตำรวจ เมื่อพวกเขามาถึงก็ทำได้แค่ลงบันทึกเหตุถูกทำร้าย แต่ไม่มีอะไรต่อจากนั้น เลเลซึ่งทนอยู่ในความสัมพันธ์ที่ถูกสามีทำร้ายมาตลอด 6 ปี ตัดสินใจจ้างทนายและดำเนินการหย่า แต่ก็พบว่าโควิด-19 ปิดทางหนีเธอหมด กระบวนการหย่าถูกเลื่อนไปถึงเดือนเมษายน เธอได้แต่รอขั้นตอนการตัดสินของศาล และการหาที่อยู่ใหม่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ก็เป็นเรื่องยากมาก ทำให้เลเลและลูกจำต้องอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกับสามีอีกหลายสัปดาห์ พร้อมกับความหวาดกลัวว่าเธออาจถูกทำร้ายอีกเมื่อไหร่ก็ได้ นี่เป็นเพียงกรณีเดียวของความรุนแรงในครอบครัวหลายพันกรณีที่เกิดขึ้นทั่วโลก ที่เผลอ ๆ อาจทวีความรุนแรงจนคร่าชีวิตบรรดาผู้หญิงไปอย่างเงียบ ๆ ไม่แพ้การระบาดของเชื้อโควิด-19 การล็อกดาวน์ให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน เป็นวิธีที่หลายประเทศทั่วโลกใช้เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่การต้องกักตัวอยู่ในบ้านกับคนที่ทำร้ายทำให้เหยื่อรู้สึกไร้ค่า เพราะไม่มีทางหนีไปไหน และหลายครั้งที่เหยื่อก็หวาดกลัวเกินกว่าจะยกหูโทรศัพท์เพื่อแจ้งเหตุร้ายที่เกิดขึ้น ยิ่งคนเผชิญความเครียดจากภาวะเศรษฐกิจหรือจู่ ๆ ก็ตกงานมากขึ้นเท่าไหร่ ก็มีแนวโน้มที่จะนำสู่พฤติกรรมที่ก้าวร้าวรุนแรงมากขึ้นในบ้านเท่านั้น สิ่งเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 หรือเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ รวมถึงทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลใหญ่ ๆ อิตาลี ประเทศในยุโรปที่อัตราการติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 พุ่งสูง ซึ่งข้อมูลเมื่อวันที่ 10 เมษายน ระบุว่ามีผู้ติดเชื้อในอิตาลีแล้วกว่า 147,500 คน เสียชีวิตกว่า 18.800 คน ก็เผชิญวิกฤตความรุนแรงในครอบครัวด้วยเช่นกัน “มันมีการกระทำความรุนแรงทางเพศอยู่ตลอดเวลา แต่ในวิกฤตเช่นนี้ยิ่งแย่ลงไปอีก” ซีโมนา แอมเมราตา ซึ่งทำงานกับ Lucha y Siesta ศูนย์พักพิงสำหรับผู้หญิงในกรุงโรม บอก ผู้หญิงคนหนึ่งที่ติดต่อ Lucha y Siesta บอกว่า คนรักของเธอที่คบกันมาได้ 4 ปี มักจะควบคุมและกระทำทารุณกับเธออยู่ตลอด และยิ่งแย่ไปอีกในช่วงล็อกดาวน์ “พัฒนาการความรุนแรงภายในบ้านเป็นเรื่องที่ตึงเครียดมากขึ้น เธอบอกให้เขาย้ายออกไปซะ แต่เขาไม่ต้องการย้ายออก เธอเลยไม่มีที่ไป” แอมเมราตา เล่า วิกฤตโควิด-19 ที่โจมตีอิตาลีอย่างหนักขณะนี้ ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นต้องทุ่มสรรพกำลังเกือบทั้งหมดไปเพื่อต่อสู้กับไวรัส นั่นทำให้กระบวนการทางศาลทำงานช้าลงกว่าปกติ เพราะคนส่วนใหญ่ทำงานจากที่บ้าน ดังนั้น สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลคือกฎหมายอาจไม่สามารถปกป้องผู้หญิงที่ถูกทำร้ายได้อย่างทันท่วงที “ในสถานการณ์ปกติ การหนีออกจากบ้านและหนีจากคนที่ทำร้ายพวกเธอก็ยากอยู่แล้ว มาวันนี้สถานการณ์ยิ่งยากขึ้นเป็น 4 เท่า เพราะคุณไม่สามารถไปหาเพื่อนหรือครอบครัวได้เลย เพราะรัฐบาลออกกฎมาว่าคุณไม่สามารถไปไหนได้ การจะหลบหนีออกมาช่วงนี้มันยาก ยากมาก ๆ มากกว่าที่เคยเป็นมาเลยล่ะ” แอมเมราตา บอก ดูแล้วเหมือนสายด่วนขอความช่วยเหลือฉุกเฉินช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด น่าจะมีผู้ใช้บริการมาก แต่ Telefono Rosa ในอิตาลี กลับบอกว่า มีผู้โทรศัพท์ขอความช่วยเหลือน้อยลง 55% ในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ เพราะผู้หญิงหลายคนพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะร้องขอความช่วยเหลือในช่วงล็อกดาวน์ หลายคนที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงบอกว่าพวกเธอ “ต้องกระซิบเพื่อไม่ให้คู่คนรักที่อยู่ห้องติดกันในบ้านได้ยิน” เช่นเดียวกับที่ เดลฟีน โบเว ผู้อำนวยการศูนย์พักพิงซึ่งเป็นเครือข่ายของ Rosa ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส บอก CNN ว่า องค์กรที่เธอทำงานอยู่ก็เจอเหตุการณ์คล้ายกันคือมีคนโทรศัพท์มาขอความช่วยเหลือน้อยลง “เราเชื่อว่ามันเกี่ยวกับการที่ผู้หญิงไม่สามารถติดต่อเราได้ในช่วงกักตัว” สาเหตุที่ทำให้การช่วยเหลือผู้หญิงที่เป็นเหยื่อความรุนแรงเป็นไปได้ช้าในช่วงโควิด-19 เพราะศูนย์พักพิงไม่สามารถรับตัวพวกเธอไปอยู่ด้วยได้ โดยเฉพาะในอิตาลีที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงมาก เพราะอาจเกิดความเสี่ยงว่าพวกเธอจะได้รับเชื้อและแพร่เชื้อต่อโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น อิตาลีจึงให้รัฐบาลท้องถิ่นขอความร่วมมือจากโรงแรมต่าง ๆ ให้ปรับเป็นสถานที่พักพิงชั่วคราวของผู้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว เพื่อความปลอดภัยของพวกเธอเองและเป็นการกักตัวไปด้วย [caption id="attachment_21776" align="aligncenter" width="1008"] ความรุนแรงในครอบครัว “ภัยเงียบ” ที่อาจคร่าชีวิตผู้หญิงได้มากกว่าโควิด ฝรั่งเศสประกาศล็อกดาวน์ไปตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม (ภาพ: Image: REUTERS/Gonzalo Fuentes ใน https://www.weforum.org/agenda/2020/04/france-domestic-abuse-coronavirus-covid19-lockdown-hotels)[/caption] ฝรั่งเศส เป็นประเทศที่ประกาศล็อกดาวน์ตั้งแต่ราวกลางเดือนมีนาคม ซึ่งตั้งแต่เริ่มให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน ตำรวจในกรุงปารีสต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุความรุนแรงภายในครอบครัวเพิ่มขึ้นถึง 36% ส่วนตัวเลขความรุนแรงในครอบครัวทั่วประเทศก็พุ่งสูงถึง 30% จนรัฐบาลต้องออกมาตรการช่วยเหลือให้เหยื่อออกมาจากบ้าน เปิดศูนย์ให้คำปรึกษาในรูปแบบป๊อป-อัพ ที่ซูเปอร์มาร์เก็ต รวมทั้งจะจ่ายค่าห้องพักให้สำหรับผู้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงช่วงนี้ และจะจัดงบประมาณพิเศษราว 1 ล้านเหรียญยูโร หรือเกือบ 36 ล้านบาท ให้องค์กรต่าง ๆ ที่ต่อต้านการใช้ความรุนแรงในครอบครัว  ที่เมืองน็องซี ฝรั่งเศส ร้านขายยาเป็นเพียงสถานที่สาธารณะไม่กี่แห่งที่ยังคงเปิดให้บริการในช่วงโควิด-19 นอกจากจะจำหน่ายยาที่จำเป็นแล้ว ร้านขายยายังเป็นจุดรับแจ้งเหตุความรุนแรงในครอบครัวด้วย หากผู้ที่ถูกกระทำไม่สามารถเล่าอะไรได้อย่างเปิดเผยนัก ก็ให้ใช้โค้ดว่า “mask 19” กับเภสัชกร เพื่อสื่อสารว่ากำลังตกอยู่ในความลำบาก ซึ่งที่ผ่านมามีหลายกรณีที่ผู้หญิงไปร้านขายยาแล้วแจ้งโค้ดดังกล่าว นำสู่การจับกุมตัวผู้ที่ทำร้ายพวกเธอ ที่ อังกฤษ Refuge องค์กรการกุศลที่เน้นการต่อสู้เรื่องความรุนแรงในครอบครัว ระบุว่า มีโทรศัพท์เข้ามาที่สายด่วนขอความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น 25% นับตั้งแต่มีข้อจำกัดเรื่องการออกนอกบ้านช่วงโควิด-19 “เราพบว่าโอกาสของผู้หญิงที่จะโทรศัพท์มาหาเราหรือมองหาความช่วยเหลือจากที่อื่นนั้นจำกัดมาก” แซนดรา ฮอร์ลีย์ ผู้บริหารของ Refuge บอก “ยิ่งตอนนี้ โอกาสก็ยิ่งน้อยลงอีก” ดังนั้น Refuge จึงแนะนำให้ใครก็ตามที่ถูกทำร้ายใช้ “Silent Solution” ซึ่งเป็นระบบของตำรวจในการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุร้ายที่ไม่สะดวกหรือไม่สามารถจะพูดสายได้ในขณะนั้น โดยใช้วิธีกดแป้นตัวเลขทางโทรศัพท์เพื่อแจ้งเหตุ จากนั้นปลายสายจะสอบถามข้อมูลโดยให้ผู้ประสบเหตุพูดน้อยที่สุด แต่หากไม่สามารถพูดอะไรได้เลย ปลายสายจะให้คำแนะนำไปทีละขั้นตอนเพื่อช่วยเหลือ นั่นเป็นสิ่งที่องค์กรการกุศลออกมาเคลื่อนไหว ส่วนภาครัฐนั้น สิบวันก่อนหน้าจะมีการประกาศล็อกดาวน์ในวันที่ 23 มีนาคม สื่ออย่าง The New York Times ติดต่อไปยังกระทรวงมหาดไทยของอังกฤษ เพื่อสอบถามถึงแผนการรับมือกับความรุนแรงในครอบครัว แต่ได้รับคำตอบกลับมาว่า “มีแหล่งข้อมูลที่เป็นคำแนะนำและการให้ความช่วยเหลืออยู่แล้ว” ภายหลังรัฐบาลเผยแพร่รายชื่อสายด่วนและแอปพลิเคชันที่เหยื่อสามารถใช้ขอความช่วยเหลือเมื่อประสบความรุนแรงในครอบครัว แต่มีเพียงกรณีเดียวที่ออกมาเพื่อช่วยเหลือเหยื่อในวิกฤตโควิด-19 (ในนั้นระบุสายด่วน องค์กรที่ช่วยเหลือทั้งหญิงชาย และ LGBT รวมถึงสายด่วนที่ให้ผู้มีแนวโน้มจะกระทำความรุนแรงต่อผู้อื่น ได้โทรศัพท์เข้าไปปรึกษา) ไม่ต่างจากประเทศอื่น ช่วงสัปดาห์การล็อกดาวน์ Avon and Somerset กองกำลังตำรวจทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ ระบุว่า มีรายงานความรุนแรงในครอบครัวสูงขึ้น 20% และกองกำลังตำรวจอื่น ๆ ในประเทศก็เจอสถานการณ์คล้ายคลึงกัน เมื่อไม่มีความเคลื่อนไหวอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนจากรัฐ ทั้งที่บอกว่าจะดำเนินการ องค์กรภาคประชาชนนับสิบ ๆ กลุ่ม จึงเขียนจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาทำอะไรสักอย่าง กระทั่งกระทรวงมหาดไทยออกแถลงการณ์ว่า “เราจะทำงานร่วมกับตำรวจ องค์กรการกุศลที่ช่วยเหลือเรื่องนี้ สายด่วนขอความช่วยเหลือ และคนทำงานด่านหน้าทุกคน เพื่อสนับสนุนและปกป้องประชาชน” พร้อมกับระบุด้วยว่า เหยื่อสามารถออกจากบ้านในช่วงล็อกดาวน์ได้ เพื่อแสวงหาที่อยู่ที่ปลอดภัย ส่วน สเปน ที่ประกาศล็อกดาวน์ไปเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2020 พบว่าช่วง 2 สัปดาห์แรกของการล็อกดาวน์ มีผู้ติดต่อเบอร์ฉุกเฉินกรณีความรุนแรงในครอบครัวสูงขึ้น 18% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของเดือนก่อนหน้า “เราได้รับสายร้องเรียนเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าความตึงเครียดทางจิตใจและการกระทำทารุณทางร่างกายสามารถเกิดขึ้นได้มากแค่ไหน เมื่อคนต้องอยู่บ้านด้วยกัน 24 ชั่วโมง” อานา เบลลา หญิงชาวสเปน ผู้ก่อตั้งมูลนิธิช่วยเหลือผู้หญิงหลังหลุดพ้นจากความรุนแรงในครอบครัว บอก The New York Times ติดต่อสัมภาษณ์ผู้หญิงที่อยู่ในบ้านกับสามีที่ทำร้ายเธอ ผ่านช่องทาง WhatsApp หนึ่งในนั้นคือ อานา ที่ขอใช้นามแฝงเพื่อความปลอดภัย อานาอยู่กับคู่ของเธอในอพาร์ตเมนต์ ซึ่งเขามักลงมือทำร้ายเธอเป็นประจำ เขาควบคุมตรวจตราอานาทุกย่างก้าว หากเธอพยายามล็อคประตูอีกห้อง เขาจะเตะประตูจนกว่าเธอจะเปิด “ฉันไม่มีความเป็นส่วนตัวแม้กระทั่งในห้องน้ำ และตอนนี้ฉันก็ต้องทนในช่วงล็อกดาวน์”ความรุนแรงในครอบครัวที่มีมากขึ้นในสเปนช่วงโควิด-19 นี้เอง ทำให้ภาครัฐออกนโยบายเปลี่ยนห้องพักโรงแรมให้กลายเป็นสถานที่พักพิงชั่วคราวของเหยื่อความรุนแรง ขณะที่ ออสเตรเลีย ซึ่งข้อมูลวันที่ 10 เมษายน ระบุว่า มีตัวเลขผู้ติดเชื้อราว 6,200 คน เสียชีวิต 53 คน เตรียมแผนรับมือความรุนแรงในครอบครัวที่อาจเกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 ด้วยการจัดสรรงบประมาณราว 150 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือกว่า 3 พันล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเหยื่อที่เป็นสมาชิกในครอบครัวที่ถูกกระทำความรุนแรง รวมถึงเหยื่อที่ถูกคุกคามทางเพศในช่วงการระบาด หันกลับมาที่ ไทย กันบ้าง ข้อมูลจาก TDRI ระบุว่า เดือนมีนาคมปีนี้ ที่โควิด-19 แพร่กระจายเป็นวงกว้างไปเกือบทั่วประเทศ มีผู้โทรศัพท์เข้าสายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 ด้วยเหตุความรุนแรงในครอบครัว รวม 103 ราย ลดลงจากเดือนมีนาคมปีก่อนที่มี 155 ราย แต่ตัวเลขที่ลดลงอาจเป็นสัญญาณอันตราย เพราะไม่ได้สื่อว่าความรุนแรงในครอบครัวจะลดลง เพราะหลายครั้งผู้แจ้งเหตุมักเป็นคนนอก เช่น ครู เพื่อน ฯลฯ TDRI ระบุด้วยว่า แม้หน่วยงานของรัฐที่จะยอมรับว่าความรุนแรงในครอบครัวอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นช่วงที่มีมาตรการกักตัว แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีมาตรการป้องกันและรับมืออย่างเป็นรูปธรรม คำแนะนำที่ออกมายังคงเน้นไปที่การพึ่งตนเอง และหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง โดยยังไม่มีมาตรการจัดการกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ภาครัฐก็สามารถรับมือกับความรุนแรงในครอบครัว ด้วยการประชาสัมพันธ์ช่องทางขอความช่วยเหลือต่าง ๆ ทั้งของหน่วยงานรัฐ และของหน่วยงานภาคเอกชน รวมทั้งสามารถขอความร่วมมือจากโรงแรมหรือโฮสเทลที่ยังว่างอยู่ เพราะยังไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาพักช่วงนี้ ให้เป็นที่พักฉุกเฉินสำหรับเหยื่อความรุนแรง แม้จะไม่เจอหรือไม่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว แต่ใช่ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีอยู่จริง บางครั้งอาจอยู่ใกล้กว่าที่คิด และอาจเป็น “ภัยเงียบ” ที่พรากชีวิตผู้หญิงทั่วโลกไปได้เร็วกว่าการติดเชื้อโรคระบาดใด ๆ ก็เป็นได้   ที่มา https://edition.cnn.com/2020/04/02/europe/domestic-violence-coronavirus-lockdown-intl/index.html?fbclid=IwAR3dQq6-ACVIaeesJ0CxarJ2Okrr6BNoAJfY4Mnqzum1pg6K3T5FI1DdOtc https://www.weforum.org/agenda/2020/04/france-domestic-abuse-coronavirus-covid19-lockdown-hotels https://www.policeconduct.gov.uk/sites/default/files/Documents/research-learning/Silent_solution_guide.pdf https://www.gov.uk/government/publications/coronavirus-covid-19-and-domestic-abuse/coronavirus-covid-19-support-for-victims-of-domestic-abuse https://www.nytimes.com/2020/04/06/world/coronavirus-domestic-violence.html https://tdri.or.th/2020/04/domestic-violence-victims-during-covid19/?fbclid=IwAR082ZDcCbL-1kP4_9eBTAi6b5GHdPkgqrLjNnkeg7rWej_X_OZ1iqI0dmg