"สาดน้ำสงกรานต์" หลักฐานเก่าสุดอยู่ที่พม่า

"สาดน้ำสงกรานต์" หลักฐานเก่าสุดอยู่ที่พม่า
สงกรานต์ปี 2563 มาในสโลแกน “สงกรานต์ต้านโควิด” เนื่องจากรัฐบาลมีมติให้เลื่อนวันหยุดเทศกาลสงกรานต์วันที่ 13-15 เมษายน ออกไปจนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลาย และจะประกาศชดเชยวันหยุดให้ภายหลัง ซึ่งหลาย ๆ ภาคส่วนก็ขานรับนโยบายและรณรงค์ให้ทุกคน #อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้นช่วงสงกรานต์ นั่นอาจทำให้ใครหลายคนที่ไม่เคยพลาดการเล่นน้ำสงกรานต์เกิดอาการเซ็งอยู่บ้าง เพราะวิถีปฏิบัติที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่จะต้องละเว้นกิจกรรมการเล่นสาดน้ำปะแป้ง อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะต้องละเว้นวิถีที่เคยทำกันมา กลายเป็นสงกรานต์ที่อาจไม่สนุกสนาน คึกคัก ไม่ได้ดั่งใจใครหลายคน แต่แน่นอนว่าความรู้สึกและภาพบรรยากาศสงกรานต์ยังคงอยู่ในใจเสมอ เป็นเหมือนเดิม ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม   อย่างที่รู้กันดีว่า ไม่มีเทศกาลไหนที่จะสนุกสนานสุดเหวี่ยงเท่าสงกรานต์ เพราะไฮไลต์ของสงกรานต์ยุคปัจจุบันคือการเอาน้ำมาเล่นสาดใส่กัน (ซึ่งก็มีทั้งคนที่เต็มใจและไม่เต็มใจให้สาด เกิดเป็นคดีความลวนลามทางเพศก็ไม่น้อย) ส่วนเมื่อก่อน ไฮไลต์ที่คนยุคโบราณวางวิถีปฏิบัติเอาไว้ช่วงสงกรานต์ก็คือ เป็นวันที่จะได้สร้างกุศล ทำบุญทำทาน ก่อเจดีย์ขนทรายเข้าวัด วันที่ผู้หลักผู้ใหญ่จะได้ผ้ารับไหว้ผืนใหม่ ส่วนเด็ก ๆ ก็จะได้รับพร ตลอดจนถึงเวลาที่จะได้นำพระพุทธรูปที่เก็บไว้นานเป็นปี ออกมาทำความสะอาดสรงน้ำประจำปีสักครั้งหนึ่ง    ที่ผ่านมา การร่วมเฉลิมฉลองในเทศกาลสงกรานต์สมัยใหม่ มีความพยายามส่งเสริมให้เล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างสุภาพ งดแป้ง งดกระบอกฉีดน้ำ และความรุนแรงอื่น ๆ โดยให้หันมาฟื้นฟูประเพณีอันดีงาม นักประวัติศาสตร์พยายามค้นหาหลักฐานกันมานานแล้วว่า การเล่นสาดน้ำที่ต่อมากลายเป็นความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศที่มีการเล่นสาดน้ำสงกรานต์อย่าง ไทย ลาว เขมร และพม่านั้น  เริ่มต้นมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่กันแน่? เพราะถ้าย้อนดูจากหลักฐานประวัติศาสตร์ไทยประเภทประเพณีสิบสองเดือน อย่างทวาทศมาศ ซึ่งเป็นตำราว่าด้วยประเพณีสิบสองเดือน ที่แต่งในสมัยอยุธยา ก็ไม่มีพูดถึงเรื่องการเล่นสาดน้ำในเทศกาลสงกรานต์ หรือแม้แต่ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน ที่แต่งในสมัยกรุงเทพฯ อันเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 ตีพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2455 ก็ยังไม่กล่าวถึงการเล่นสาดน้ำเลย ทั้ง ๆ ที่ใครหลายคนต่างก็คิดกันไปแล้วว่า การเล่นสาดน้ำใส่กันเป็นไฮไลต์ของเทศกาลสงกรานต์    ถ้าอย่างนั้น ที่เราเล่นสาดน้ำใส่กันในปัจจุบันนี้มาจากไหน? หรือว่าแท้จริงแล้วสงกรานต์ที่มีอยู่ในเขมร พม่า ไทย ลาว แต่ดั้งเดิมอาจไม่มีการเล่นสาดน้ำใส่กัน?  คำถามดังกล่าวได้รับการไขข้อกังขา ด้วยภาพภาพหนึ่งที่ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ที่ชื่อว่า The Graphic ของอังกฤษ ฉบับวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1888 (พ.ศ. 2431) ทำให้นักประวัติศาสตร์ได้คำตอบว่ามีการเล่นสาดน้ำใส่กันแล้วในพม่า! และนั่นก็ทำให้นักประวัติศาสตร์เสนอว่า การสาดน้ำสงกรานต์อาจจะมาจากพม่าหรือไม่ โดยอ้างหลักฐานภาพรูปการละเล่นสาดน้ำในงานสงกรานต์หรืองานขึ้นปีใหม่พื้นเมือง ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่าใน พ.ศ. 2431 ตรงนี้น่าสังเกตว่าเป็นเวลาก่อนพระราชนิพนธ์ประเพณีสิบสองเดือนในรัชกาลที่ 5 ราว 24 ปี ภาพนี้ตีพิมพ์เผยแพร่และมีคำบรรยายใต้ภาพเอาไว้ว่า “The Burmese New Year, A warm corner in Mandalay during water festival.” (ปีใหม่ของชาวพม่า, มุมที่อบอุ่นในระหว่างเทศกาลสาดน้ำ)  ในภาพ มีฝรั่งขี่ม้า ซึ่งก็คือชาวอังกฤษที่เป็นเจ้าอาณานิคมในขณะนั้น ทำท่าทางยกมือปิดป้องแรงดันน้ำสงกรานต์จากกระบอกฉีดน้ำและหม้อน้ำจากผู้หญิงและเด็กชาวพื้นเมืองกลุ่มหนึ่ง โดยกระบอกฉีดน้ำที่ปรากฏในภาพเป็นกระบอกไม้ไผ่ทั่วไป มีลูกสูบดูดน้ำเข้ากระบอกเหมือนหลอดเข็มฉีดยา และกระบอกน้ำเต้าสลักรูปนกหรือไก่ นั่นทำให้นักประวัติศาสตร์เสนอว่า การเล่นสาดน้ำอย่างในปัจจุบันน่าจะมาจากพม่าหรือไม่ มีการวิเคราะห์กันว่า ที่ชาวพม่าฉีดน้ำและสาดน้ำใส่เจ้าอาณานิคมอย่างนั้น เพราะต้องการสื่ออารมณ์ของพวกเขา ที่อยากจะต่อต้านอังกฤษเจ้าอาณานิคม ถ้าเป็นอย่างข้อสมมติฐานนั้นก็แสดงว่าเพิ่งพบ “หลักฐาน” การเล่นสาดน้ำสงกรานต์ใส่กันเมื่อทศวรรษ 2430 หรือตรงกับช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 คำถามต่อมาคือ อาจมีต้นเค้าหรือที่มาจากเหตุการณ์หรือประเพณีอื่นได้อีกหรือไม่? ถ้าย้อนเข้าไปดูประวัติและตำนานสงกรานต์ในพม่า เราจะพบว่าเวลาที่เขาปักหมุดความเก่าแก่ของงานสงกรานต์จะเริ่มปักหมุดที่สมัยพุกาม (ค.ศ. 849-1297/พ.ศ. 1392-1840) ซึ่งถือกันว่าเป็นสมัยแรกเริ่มของชนชาติพม่าแท้ ๆ ที่ได้สร้างบ้านแปงเมืองขึ้นมาเป็นอาณาจักรพม่า แต่เราจะไม่ตามหาว่าเริ่มจัดงานสงกรานต์ครั้งแรกเมื่อไหร่ เพราะเรื่องเล่ามีหลากหลายกระแสเสียงเหลือเกินที่พยายามเล่าความเก่าแก่ แข่งกันเพื่อชิงความเป็นที่สุด แต่เราจะโฟกัสที่การสาดน้ำใส่กัน   เล่น “สาดน้ำ” ใส่กันที่เก่าแก่ที่สุด มีเพียงเรื่องเล่าเดียวที่ปรากฏในประวัติศาสตร์พม่า และเก่ากว่าหลักฐานภาพที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The Graphic เรื่องเล่านี้ปรากฏอยู่ในราชวงศ์ปกรณ์หรือพงศาวดารพม่าฉบับอูกะลา (U Kala Mahayazawingyi, ค.ศ. 1724/พ.ศ. 2267) เล่าว่า คนที่เป็นต้นกำเนิดเล่นสาดน้ำสงกรานต์ในพม่า เป็นพระสนมองค์หนึ่งของกษัตริย์พม่าสมัยพุกาม   เรื่องเกิดในรัชกาลของพระเจ้านรสีหบเต๊ะ หรือที่ในเอกสารประวัติศาสตร์ไทยเรียกว่าพระเจ้านรสีหบดี (ค.ศ. 1256-1287/พ.ศ. 1799-1830) ถ้าจะเทียบไทม์ไลน์ก็ร่วมสมัยกับพระยามังรายหลวงของเชียงใหม่ พระยาร่วง (พ่อขุนรามคำแหง) แห่งสุโขทัย และพระยางำเมืองแห่งพะเยา พระเจ้านรสีหบดีมีอีกพระนามหนึ่งคือ พระเจ้าหนีจีน เหตุเพราะตอนนั้นกองทัพมองโกลของพระเจ้ากุบไลข่านยกมาตีพุกาม แต่พระองค์ต้านไม่ไหวก็เลยหนีลงมาทางพม่าตอนล่าง จึงได้ชื่ออย่างนั้น ไม่แปลกที่พระองค์ถึงขนาดต้องหนีจีนลงมาทางใต้ เพราะสมัยนั้นใคร ๆ ก็เกรงกลัวทัพมองโกลกันทั้งสิ้น ขนาดพระยามังราย พระยาร่วง และพระยางำเมือง ก็ยังต้องมาปรึกษาหารือกันเรื่องข่าวทัพมองโกลบุกพุกาม ด้วยเกรงกันว่ามองโกลจะบุกมายังแถบนี้ด้วย อย่างที่เห็นเป็นอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ที่ จ.เชียงใหม่ นั่นแหละ พระเจ้านรสีหบดีมีพระเหสีชื่อ พระนางพวาซอ และมีพระสนมอีกหลายพระองค์ พระสนมที่โดดเด่นคือ พระสนมซอลง และ พระสนมซอเม่า ทุก ๆ สงกรานต์ซึ่งเป็นฤดูเดือนที่อากาศร้อน พระองค์มักแปรพระราชฐานออกไปเล่นน้ำที่ริมฝั่งแม่น้ำเป็นเวลานาน ๆ อันที่จริงแล้วงานสงกรานต์แบบราชสำนักพม่าโบราณมีหลักฐานว่า กษัตริย์พม่าจะต้องลงสรงพระกระยาสนานหรือสระผม บริเวณท่าน้ำที่จัดเตรียมไว้ให้อยู่แล้วทุกปี   เรื่องของเรื่องคือ พระเจ้านรสีหบดีคงอยากจะหยอกล้อพระสนมซอลงเล่นให้เป็นที่สนุกสนาน จึงรับสั่งให้พระสนมองค์อื่น ๆ และนางข้าหลวงสาดน้ำใส่พระสนมซอลงแบบไม่ให้รู้ตัว ทันทีที่พระสนมซอลงออกมาก็โดนรุมสาดน้ำใส่ทั้งตัวตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ทำให้เผ้าผมเสื้อผ้าเปียกปอนไปหมดทั้งตัว พระสนมซอลงรู้สึกอับอายที่เรือนร่างเปียกปอนต่อหน้าธารกำนัล โดยไม่ได้คิดว่าพระเจ้านรสีหบดีและเหล่าพระสนมองค์อื่น ๆ ตลอดจนนางข้าหลวง ต้องการหลอกล้อเล่นสาดน้ำในหมู่คนที่รู้จักคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วเท่านั้น  เหตุการณ์วันนั้นทำให้พระสนมซอลงโกรธที่โดนรุมสาดน้ำใส่อย่างรุนแรง จึงคิดว่าพระเจ้านรสีหบดีออกอุบายกลั่นแกล้ง พระสนมซอลงจึงคิดการแก้แค้นเอาคืน โดยแอบใส่ยาพิษลงไปในพระกระยาหารของพระเจ้านรสีหบดี ปกติแล้วหน้าที่ยกพระยาหารขึ้นถวายพระเจ้านรสีหบดีเป็นหน้าที่ของพระสนมซอลง แต่วันนั้นพระสนมซอลงแสร้งทำทีว่าป่วย ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จึงขอร้องให้พระสนมซอเม่าทำหน้าที่แทน พระสนมซอเม่าเชิญพระยาหารขึ้นถวายแทน โดยไม่รู้อุบายของพระสนมซอลง และไม่รู้ว่าในพระกระยาหารมียาพิษ แต่โชคดันไม่เข้าข้างพระสนมซอลง ระหว่างที่กำลังเชิญพระกระยาหารขึ้นถวายนั้น ปรากฏว่ามีสุนัขซึ่งเป็นสุนัขหลวงทรงเลี้ยงตามเห่าพระสนมซอเม่า ฝ่ายพระสนมซอเม่าคิดว่ามันคงอยากลิ้มรสพระกระยาหาร จึงแอบนำอาหารบางส่วนโยนให้กิน และเฝ้ายืนดู ทันทีนั้นสุนัขก็ตาย พระสนมซอเม่าตกใจมาก ความทราบถึงพระเจ้านรสีหบดี พระองค์จึงให้สอบสวนทวนความ ได้ความตามจริงว่าพระสนมซอลงลอบวางยาพิษ ผลก็คือพระสนมซอลงต้องโทษประหารชีวิต หลังจากพระสนมซอลงเสียชีวิตไปแล้ว พระเจ้านรสีหบดีก็ทรงระลึกถึงพระสนมซอลง จนเพ้อออกมาบ่อยครั้งว่า ไม่เคยโกรธเกลียดพระสนมซอลงแม้แต่น้อย ทั้งหมดเป็นความเข้าใจผิด... แม้ว่าเรื่องเล่านี้จะจบลงแบบโศกนาฏกรรมก็ตามที แต่ในประวัติสงกรานต์พม่าแล้ว เวลาพูดถึงที่มาของการเล่นสาดน้ำ ก็จะให้เครดิตพระสนมซอลง และเรื่องเล่าเรื่องนี้ว่า นี่คือการเล่นสาดน้ำสงกรานต์แบบที่สาดใส่กันในปัจจุบันที่เก่าแก่ที่สุด และเป็นที่น่าสังเกตว่า ในสมัยพุกามมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เล่าเรื่องราวของการเล่นน้ำสงกรานต์ มีภาพของการเทน้ำจากหม้อน้ำราดใส่กันด้วย  ถ้าจะว่ากันตามหลักฐานลายลักษณ์ที่กล่าวถึงการสาดน้ำใส่กันในเทศกาลสงกรานต์ เรื่องพระสนมซอลงเป็นเรื่องเล่าที่เก่าแก่ที่สุด และต่อให้มีข้อแย้งว่า อาจจะเป็นบรรยากาศยุคสมัยของคนที่เรียบเรียงงานเขียนประวัติศาสตร์นี้ก็ได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเก่าอยู่ดี  ถ้าเทียบกับหลักฐานภาพที่ตีพิมพ์ใน The Graphic เมื่อ ค.ศ. 1888 (พ.ศ. 2431) เพราะงานเขียนทางประวัติศาสตร์ของอูกะลาเรื่องนี้เรียบเรียงแล้วเสร็จสมบูรณ์เมื่อ ค.ศ. 1724 (พ.ศ. 2267)  ดังนั้น อาศัยข้อมูลในหลักฐานดังกล่าวก็จะตอบคำถามได้ว่า พระสนมซอลง เป็นต้นเรื่องของการสาดน้ำสงกรานต์นั่นเอง   เรื่อง: วทัญญู ฟักทอง