ซามูไรพเนจร: “ดาบไม่ได้มีไว้เพื่อฆ่า” การให้อภัย ภายใต้รอยแผลกากบาท
ยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของญี่ปุ่นที่ถูกนำมาบอกเล่าผ่านมังงะ (หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น), ซีรีส์ หรือภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ที่มีสีสันมากที่สุดยุคหนึ่ง คงจะเป็นยุคปลายเอโดะ (ยุคเอโดะอยู่ในช่วง ค.ศ. 1600-1867) เป็นช่วงที่ญี่ปุ่นอยู่ภายใต้อำนาจระบอบโชกุนของตระกูลโตกุกาวะมาหลายร้อยปี แต่ในที่สุดต้องเปิดประเทศ เหตุเพราะการเมืองภายใน และการบีบจากโลกตะวันตกด้วยเทคโนโลยีที่เหนือกว่า
ท้ายสุด ตระกูลโตกุกาวะก็หมดอำนาจลง ญี่ปุ่นเปลี่ยนผ่านสู่ยุคเมจิ (ค.ศ. 1868-1912) ซึ่งเป็นยุคที่ญี่ปุ่นเริ่มรับเอาความรู้ใหม่ ๆ จากต่างชาติ อย่างเช่นการสร้างเรือรบ ปืน และการแพทย์ อีกทั้งยังมีการค้าขายกับภายนอก
ซามูไรพเนจร หรือ Rurouni Kenshin ผลงานเขียนของ โนบุฮิโระ วาสึกิ ก็เป็นมังงะอีกเรื่องที่สร้างตัวละครมาเป็นตัวเอกในยุคนี้ โดยตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1994 และจบในปี 1999 ซึ่งถือว่าเป็นมังงะที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์หนังสือการ์ตูนของญี่ปุ่น กระทั่งมีการหยิบซามูไรพเนจรมาทำเป็นภาพยนตร์ไลฟ์ แอ็กชัน ในเวลาต่อมา (เริ่มภาคแรกตั้งแต่ปี 2012 ตอนนี้ฉายแล้ว 3 ภาค สามารถหาชมได้ใน Netflix)
เนื้อหาของเรื่องเริ่มต้นเมื่อหลังสิ้นสุดสงครามโตบะฟุชิมิในปี 1868 อันเป็นสงครามสุดท้ายระหว่างกองกำลังของตระกูลโตกุกาวะกับคณะปฏิวัติ ผลออกมาก็คือ คณะปฏิวัติเป็นฝ่ายชนะ
ผลที่ลงเอยเช่นนี้ ทำให้ เคนชิน ซามูไรฝีมือดีของคณะปฏิวัติ ตัดสินใจวางดาบลง เพราะคิดว่าญี่ปุ่นก้าวสู่ยุคใหม่ที่สงบสุขเรียบร้อย เขาออกเดินทางเป็นคนพเนจรพร้อมกับพกดาบสลับคมซึ่งไม่สามารถฆ่าฟันใครได้
หลังจากที่ฆ่าฟันผู้คนมากมายเพื่อยุคใหม่ที่ดีกว่า เคนชินตัดสินใจว่าจะ “ไม่ฆ่า” ใครอีกต่อไป...
การเดินทางเป็นเวลา 10 ปี ทำให้เคนชินมารู้จักกับ คามิยะ คาโอรุ สาวน้อยเจ้าของโรงฝึกที่สำนักดาบคามิยะ คัตชินริวของเธออยู่ในช่วงขาลง พร้อมกับพบพวกพ้องอีกมากมาย อย่างเช่น เมียวจิน ยาฮิโกะ ลูกศิษย์ของคาโอรุ, ซางาระซาโนะซุเกะ นักบู๊มือดี ทาคานิ เมกุมิ หมอผู้มีเบื้องหลังลึกลับ เป็นต้น
ตั้งแต่นั้นมา ดูเหมือนความสงบสุขจะทำให้ประโยคที่ว่า “ดาบไม่ได้มีไว้เพื่อฆ่า แต่มีไว้เพื่อปกป้อง” กลายเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเรื่อง กับปณิธานของเคนชิน ผ่านดาบสลับคม
ความสงบสุขมีอยู่ได้ไม่นาน เคนชินต้องเผชิญกับคู่ปรับใหม่ นั่นคือ ทาเคดะ คันริว นักธุรกิจที่มีเบื้องหลังเป็นผู้ค้ายาเสพติด ซึ่งเลี้ยงนักเลงและซามูไรไว้มากมาย เคนชินและพรรคพวกต้องเข้าไปต่อสู้ด้วยอุดมการณ์ของการไม่ฆ่า ที่เขาตั้งเป็นธงไว้ในใจ ไล่มาจนในที่สุดต้องประมือกับ ชิชิโอ มาโคโตะ อดีตมือสังหารของคณะปฏิวัติเช่นกัน โดยมีประเทศญี่ปุ่นเป็นเดิมพัน (หากดูภาพยนตร์ ไล่ดูได้ตั้งแต่ภาค Rurouni Kenshin: Origins, Rurouni Kenshin: Kyoto Inferno ไปจนถึง Rurouni Kenshin: The Legend Ends แล้วรอภาคใหม่ในวันที่สามารถดูหนังที่โรงภาพยนตร์ เร็ว ๆ นี้)
เรื่องราวของมังงะและหนังที่ออกมาแนวซูเปอร์ฮีโร่ที่จบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้ง คงไม่ต้องคาดเดาให้ยากว่า ตอนจบเคนชินก็ยังคงยึดมั่นแนวคิดของตนเอง นั่นคือ การชนะเพราะไม่ฆ่าได้อย่างมั่นคง
แต่นัยยะที่เกิดจากการ “ไม่ฆ่า” ที่น่าสนใจ ในมุมมองของผู้เขียน มีอยู่ 2 ประเด็นนั่นคือ...
การไม่ฆ่าประเด็นแรกของเคนชิน แน่นอนว่า ย่อมทำให้พลังจู่โจมศัตรูย่อมลดลงเมื่อเทียบกับการใช้จิตสังหารในการต่อสู้ แต่พลังของเคนชินกลับเพิ่มขึ้นเมื่อเขาใช้ในการ “ปกป้อง” พวกพ้อง
ลักษณะการสร้างความแข็งแกร่งด้วยการปกป้องพวกพ้อง กลายเป็นขนบสำคัญของมังงะไปแล้ว เพราะมังงะดัง ๆ อย่าง ดรากอนบอลแซด หรือ วันพีซ ตัวเอกของเรื่อง เช่น ซง โกคู หรือโจรสลัดลูฟี่ ก็ล้วนแล้วแต่แข็งแกร่งขึ้นเมื่อตนเองปกป้องเพื่อนพ้องเช่นกัน น่าสนใจว่าวิธีคิดแบบนี้ปรากฏขึ้นในมังงะสมัยใหม่ ซึ่งเติบโตอย่างเต็มตัวหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เหมือนกับการที่กองทัพญี่ปุ่นเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้รุกรานคนอื่นในช่วงสงครามโลก เหลือแค่การมีกองกำลังปกป้องตนเองในประเทศ
นี่อาจจะเป็นบาดแผลทางใจที่ลืมไม่ลงของญี่ปุ่นที่ถูกคลี่คลายผ่านมังงะ (ซึ่งถูกส่งต่อมาสู่การสร้างภาพยนตร์) จากการเข้มแข็งเพราะรุกราน เปลี่ยนผ่านมาเป็นเข้มแข็งเพราะการปกป้อง
ประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือ ปริศนารอยแผลกากบาทที่แก้มซ้าย ซึ่งเคนชินได้รับในช่วงที่เข้าร่วมรบกับกองกำลังปฏิวัติ รอยแผลนี้บรรจุไปด้วยความทรงจำอันเจ็บปวดของอดีตที่เคนชินไม่อาจลืมได้
ภาวะ “ไม่ลืม” ในแนวคิดแบบสันติวิธีนั้นถือว่าสำคัญมาก เพราะหากจะให้อภัยใครสักคน สิ่งที่คุณจะต้องทำคือ “ไม่ลืม” สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ไม่ว่ามันจะดีงามหรือเจ็บปวด เพราะหากเราเลือกที่จะ “ลืม” เราก็ไม่อาจรู้ได้ว่า เราอภัยกันเรื่องอะไร?
แผลบนใบหน้าของเคนชิน เป็นสัญลักษณ์ของการ “ไม่ลืม” สิ่งที่เขาเคยทำ นั่นคือ การฆ่าฟัน แล้วให้อภัยกับตัวเอง อันนำมาสู่วิถีการต่อสู้แบบ “ไม่ฆ่า” ตามวิถีใหม่ที่ยอดซามูไรหนุ่มยึดถือ
ฉากที่เคนชินต้องคุกเข่าฟังรายชื่อคนที่เขาเคยปลิดชีวิตในภาพยนตร์ภาค Rurouni Kenshin: The Legend Ends จึงเป็นฉากสำคัญมาก เพราะมันเหมือนกับการที่เคนชินต้องย้อนกลับไปนึกถึงอดีตของตน แล้วก้าวข้ามผ่านมันให้ได้
ก่อนที่จะให้อภัยคนอื่น ต้องรู้จักให้อภัยตนเองก่อน แม้ว่ากระบวนการระหว่างทางจะเจ็บปวด ผิดบาปจากสิ่งที่ตนเองเคยกระทำมา
ปรัชญาการเอาชนะแบบ “ไม่ฆ่า” ดังที่ปรากฏในภาพยนตร์และมังงะพีเรียดของญี่ปุ่นในเรื่อง Rurouni Kenshin จึงมีสารว่าด้วย “สันติวิธี” ฝังอยู่บนบาดแผลตัว X ที่ใบหน้าของฮิมูระ เคนชินอย่างมีนัยยะที่น่าสนใจ