คุยกับ “หนุ่มเมืองจันท์” สื่อวันพรุ่งนี้ และวิถีฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก แต่รักคนอ่าน

คุยกับ “หนุ่มเมืองจันท์” สื่อวันพรุ่งนี้ และวิถีฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก แต่รักคนอ่าน
ทางของเรา ต้องก้าวเอง, เราต่างเป็นแรงบันดาลใจให้แก่กัน, ชีวิตผิดได้, โลกที่เห็น เป็นอย่างที่คิด, เพราะฉะนั้น ฉันจึงถาม และอื่นๆ อีกมากมาย นี่คือส่วนหนึ่งจากหนึ่งสือสามสิบกว่าเล่ม เป็นหนังสือของ “หนุ่มเมืองจันท์” หรือ “สรกล อดุลยานนท์” นักเขียนหนังสือขายดีผู้เขียนหนังสือแนวให้กำลังใจผ่านเรื่องราวการทำธุรกิจของผู้คนมากมายที่รวบรวมจากคอลัมน์ “ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ” ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ในขณะที่เราได้ยินเรื่องราวของวิกฤติสื่อ-ในที่นี้หมายถึงวิกฤติสื่อกระดาษที่ถูกสื่อออนไลน์เข้ามาชิงพื้นที่ และแย่งชิงเวลาของคนรับสื่อไปอย่างหนักหน่วงในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ก็ยังมีคนอ่านหนังสือ หนังสือที่เป็นหนังสือจริง ๆ ในความหมายตามตัวอักษรอยู่ และหนังสือของ “หนุ่มเมืองจันท์” นั่นล่ะ ที่เป็นหลักฐานของคำอธิบายข้างต้นเป็นอย่างดี จากที่เคยทำงานใต้ชายคา “มติชน” เป็นเวลา 20 ปี แล้วเมื่อกลางปี พ.ศ.2556 เมื่อ 5 ปีที่แล้ว “หนุ่มเมืองจันท์” ได้ลาออกจากงานที่มั่นคง มาสู่งานฟรีแลนซ์ (แต่เป็นฟรีแลนซ์ที่งานชุกมากๆ) วาระนี้ The People เลยชวน “หนุ่มเมืองจันท์” พูดคุยเรื่องราวการเปลี่ยนผ่านของสื่อ และชีวิตของเขาที่ผ่านมาในบทบาทของ “ฟรีแลนซ์” ฟรีแลนซ์ของเขา จะห้ามป่วย ห้ามพัก หรือเปล่าไม่รู้ แต่ไม่ได้ห้ามให้รักคนอ่านอย่างแน่นอน...   คุยกับ “หนุ่มเมืองจันท์” สื่อวันพรุ่งนี้ และวิถีฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก แต่รักคนอ่าน The People: ตอนนี้ทำอะไรอยู่บ้างครับ สรกล: ตอนนี้เป็น director เป็น ผู้ก่อตั้งหลักสูตร ABC ของมหาวิทยาลัยศรีปทุม เขียนคอลัมน์ในหนังสือมติชนสุดสัปดาห์ คอลัมน์ “ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ” เขียนคอลัมน์ Marketing ในหนังสือ “ประชาชาติสุดสัปดาห์” และก็ทำ Facebook Live คุยกับนักธุรกิจต่างๆ เป็นคอลัมนิสต์รายการเจาะใจ และก็มีรับบรรยายตามที่ต่างๆ The People: ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ที่ออกจากมติชน บริษัทใหญ่ที่อยู่มานานหลายสิบปี ได้ค้นพบอะไรบ้าง สรกล: เราค้นพบว่าถ้าจะทำงานฟรีแลนซ์ จะไม่มีรายได้เป็นเงินเดือนแต่จะเป็นรูปแบบรายปี ต้องคิดว่ารายปีเราจะใช้เท่าไหร่ จะทำอย่างไร อันนั้นคือตอนเริ่มต้นที่ได้เรียนรู้ กับช่วงหลังคือเรียนรู้การใช้ชีวิตมากขึ้น ผมว่าทุกคนที่เปลี่ยนจากการทำงานประจำมาทำงานฟรีแลนซ์จะต้องมีเวลาในการปรับตัวอยู่ช่วงหนึ่ง เพราะเราจะต้องให้ชิน เราเคยชินกับการที่เราต้องตื่นไปออฟฟิศในตอนเช้า ไปเจอคนกลุ่มเดิม งานแบบเดิม แต่พอวันหนึ่งเรามาทำฟรีแลนซ์ กลายเป็นว่าเราต้องกำหนดเวลา กำหนดงานของเราเอง ซึ่งเราต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดในหลายๆ เรื่อง เรามีเวลาว่างมากขึ้น แต่เราก็มีกลุ่มสังคมที่เล็กลง เพราะว่าไม่เหมือนกับสมัยก่อน รายได้ที่ไม่แน่นอนหมายความว่าถ้าช่วงต้นมีรายได้ ช่วงเวลาไหนเราก็โกยเก็บไว้ก่อนได้ ขึ้นอยู่กับการวางแผนของแต่ละคน และก็มีช่วงเวลาของการทำงาน แต่พอผมมาทำ ABC ก็เปลี่ยนไป ทำให้ผมมีเวลาในการทำงานสัปดาห์ละ 1 วันในการทำงาน ABC และกลุ่มคนรู้จักใน ABC ก็กว้างขึ้น The People: ตอนที่ออกจากมติชน มีคำพูดหนึ่งที่พูดว่า “อยากออกมาเพื่อดูแลครอบครัว” เราได้ทำตามที่ตั้งใจไว้ไหม สรกล: ผมมีเวลากับครอบครัวเยอะขึ้น เยอะกว่าตอนทำงานประจำอีก ส่วนเรื่องการใช้ชีวิตก็เป็นสไตล์ของแต่ละคน ผมอาจจะไม่ได้ใช้ชีวิตแบบเที่ยว แต่ก่อนผมคิดเหมือนกันว่าพอออกมาแล้วจะได้เที่ยวเยอะขึ้น ปรากฏว่าเที่ยวไปสองสามหนก็ค้นพบว่าตัวเองไม่ได้ชอบเที่ยวแบบนั้น ผมอาจจะชอบคุยกับคน หรือทำอะไรซ้ำๆ มากกว่า The People: คำว่า “เที่ยว” ในความหมายก็คือการออกไปท่องเที่ยวตามที่ต่างๆ ใช่ไหม สรกล: ใช่ครับ เป็นการออกจากงานในจังหวะที่มีความพร้อมอยู่พอสมควร ถึงแม้ว่าสาเหตุในการออกคือภรรยาไม่สบาย เป็นมะเร็ง ต้องออกมาดูแลเขา แต่เป็นการออกจากงานที่มีความพร้อมอยู่พอสมควร ไม่ใช่แบบในสมัยที่ไม่มีฐานอะไรเลย ตอนนี้ก็ผ่อนบ้านผ่อนรถหมดแล้ว ลูกเรียนจบแล้ว มีเงินเก็บอยู่พอสมควร มีชื่อเสียงอยู่พอประมาณที่สามารถไปต่อเติมอะไรเพิ่มได้ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ออกมาแล้วได้เปรียบ แต่พอจะไปเที่ยวแบบเดิมก็คือไปต่างประเทศ ไปเที่ยวที่ต่างๆ พอไปสองสามครั้งแล้วเราพบว่าทุกคนมีวามสุขไม่เหมือนกัน ผมก็ไม่ได้มีความสุขกับการเที่ยวมากนัก The People: ถ้ามองในมุมของคนอื่นบ้าง การออกมาเป็นฟรีแลนซ์มีความเสี่ยงไหม สรกล: ขึ้นอยู่กับการสั่งสมสิ่งต่างๆ ก่อนที่จะออกมามากกว่า ถ้าเราสั่งสมมาได้ดีก็จะสามารถใช้กับเครือข่ายที่เรามีได้ ไม่ว่าจะเป็นคนที่เรารู้จัก คอนเนคชั่นต่างๆ หรือประสบการณ์ในการทำงานของเรา ถ้าสมมติเราผ่านงานมาเยอะก็จะง่ายกว่า อีกอันหนึ่งคือขึ้นอยู่กับสายงานของตัวเองด้วย ถ้าวันนี้คุณเป็นสายงานเกี่ยวกับการทำเรื่องออนไลน์ ไม่ว่าจะคลิปหรืออะไรก็ตาม ไม่ต้องห่วงเลย มีงานเพียบ อยู่ที่จังหวะด้วยครับว่าเราอยู่ที่จุดไหนของคลื่น The People: หลังจากที่เราทำงานประจำมา 20 ปี วันแรกที่ได้เป็นฟรีแลนซ์อย่างเต็มตัว มีความรู้สึกอย่างไรบ้าง สรกล: ถ้าคุณทำงานประจำมานานกว่า 20 ปี วันแรกที่คุณเป็นฟรีแลนซ์จะมีความสุขที่สุดอยู่ประมาณ 1-2 เดือนแน่นอน เหมือนกับเราได้ไปใช้ชีวิตอย่างที่ไม่เคยสบายแบบนี้มาก่อน แต่หลังจากนั้นในชีวิตจริงพอเริ่มต้นงาน ตรงนั้นก็จะเริ่มมา ซึ่งผมต้องขอย้อนเวลากลับไปนิดหนึ่ง ตอนที่ผมตัดสินใจลาออกมา เหตุผลเรื่องภรรยาและครอบครัวเป็นเรื่องแรก แต่ขณะเดียวกันผมก็คำนวณแล้วว่าผมไม่ได้ออกมาแบบเสี่ยงๆ ผมคิดไว้อยู่แล้วว่าถ้าออกมาจะมีรายได้ตรงไหนบ้าง แต่แน่นอนสิ่งที่เราคิดกับความเป็นจริงไม่เหมือนกัน มีอยู่ช่วงหนึ่งผมมีงานบรรยายอยู่เรื่อยๆ บรรยายแนวธุรกิจ ซึ่งต้องบอกว่าการบรรยายแนวนักเขียนกับแนวธุรกิจราคาจะต่างกัน ธุรกิจจะมีราคาค่อนข้างดีกว่า ซึ่งผมก็มีงานบรรยายที่คิดเป็นตัวเลขแล้วออกมาดี คิดง่ายๆ ว่าถ้ามีบรรยายเดือนสี่ห้าครั้งก็เท่ากับเงินเดือนแล้ว และก็จะมีเขียนประจำอยู่สองคอลัมน์ มีงานเขียนที่เป็นเล่มอยู่ คิดว่าสบายใจแน่นอน ผมมีหนังสือ “ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ” ตอนผมลาออกน่าจะมีอยู่สักยี่สิบกว่าเล่ม ซึ่งตอนนั้นก็พิมพ์ซ้ำอยู่เรื่อยๆ ตลาดหนังสือในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผมต้องนึกย้อนไปว่าหนังสือยังดีและใช้ได้อยู่ ผมมีหนังสือที่พิมพ์ซ้ำในปีหนึ่งอยู่ประมาณ 3-5 ปกด้วยซ้ำ มีหนังสือใหม่ขึ้นมาอีกสองเล่ม คำนวณยังไงรายได้ก็ไม่มีปัญหา The People: เกิดอะไรขึ้นกับความเป็นจริงในอาชีพฟรีแลนซ์ สรกล: ผมนึกไม่ถึง ผมนึกย้อนอดีตไปตอนที่ผมทำงานเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน ตอนก่อนปี 2540 ดอกเบี้ยเงินฝากเคยสูงถึง 10% เพราะเงินกู้ได้ 18% ผมคิดเลยว่าผมมีเงินก้อนเท่านี้ ภายในอายุเท่านี้ ดอกเบี้ย 10% ผมสบายเลยนะ แล้ววันนี้เป็นอย่างไรล่ะ (หัวเราะ) ไม่ถึง 2% ประมาณ 1% กว่าๆ ใครจะไปนึกว่าจะเกิดวันนี้ขึ้น คิดว่าเงินเดือนก็จะขึ้นไปฟรี ใครจะคิดว่าเกิดวิกฤติปี 40 แล้วมันจะทรุด นอกจากจะโดนลดเงินรายได้ต่างๆ เช่นเดียวกับตอนผมลาออก ผมก็คิดอย่างที่ผมบอก แต่ใครจะไปคิดว่ายอดหนังสือจะตกลง หนังสือที่พิมพ์ซ้ำเยอะๆ ผมเข้าใจสำนักพิมพ์ เพราะเขามีเฟสว่าเอาชัวร์ๆ ก็เหลือประมาณสักเล่มสองเล่ม และยอดหนังสือใหม่ที่เคยมียอดเท่านี้ก็ลดลงมาตั้งประมาณ 30% ถือว่าไม่ได้เป็นไปตามที่คำนวณไว้ พอไปบรรยาย ปรากฏว่าดีขึ้น และก็อีกอันหนึ่งที่สำคัญคือมาทำหลักสูตร ABC ซึ่งเป็นอุบัติเหตุ ไม่ได้มีการวางแผนไว้ก่อน แต่ก็เป็นอุบัติเหตุที่ดี คุยกับ “หนุ่มเมืองจันท์” สื่อวันพรุ่งนี้ และวิถีฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก แต่รักคนอ่าน The People: มองวิกฤติในช่วงปี 40 เป็นแบบไหน แล้วใช้ชีวิตอย่างไรในช่วงนั้น สรกล: วิกฤติปี ‘40 ทำให้รู้ว่าไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ ทำให้รู้ว่าสิ่งที่คุณไม่เคยเชื่อมั่นเกิดขึ้นได้เสมอ นี่คือความไม่แน่นอน ปี ‘40 ทำให้นักธุรกิจหรือคนที่ทำงานในช่วงนั้นรับรู้ คือ ความไม่แน่นอนที่เป็นจริงแบบเหนือความคาดหมาย แล้วบางทีก็แรงกว่าที่คุณคิดเยอะ ที่คุณคาดการณ์ไว้ 5% เวลามาอาจจะมาถึง 20% ฉะนั้นเวลาเราทำงานอะไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราต้องคิด play safe ดีๆ อย่ามั่นใจจนเกินไป แม้แต่วันนี้ ปี 40 ทำให้รู้จักว่าความไม่แน่นอนคืออะไร คุณเคยหวังกับอนาคตว่าเงินเดือนจะขึ้นทุกปีและไม่มีใครโดนไล่ออก จะได้ทำงานที่เดียวตลอดไป อันที่สองเราไม่รู้ว่าสิ่งที่เราเคยคิดว่าดอกเบี้ยเงินฝากจะต้องมีเท่านี้ เรามีเงินเดือนเท่านี้แล้วเราจะกินดอกเบี้ยเงินฝากตอนแก่ก็ไม่ใช่ สิ่งนี้ทำให้เรารู้เลยว่าเงินสดและการออมสำคัญที่สุด ยิ่งใครทำธุรกิจจะเข้าใจเรื่องนี้ดี แม้แต่ค่ายสหพัฒน์ตอนนี้ก็แทบจะไม่ใช้เงินกู้เลยเพราะว่าเขาเคยผ่านตรงนั้นมาแล้ว ใครที่ผ่านวิกฤติตรงนี้มาจะกลัวมาก The People: ในปัจจุบันเทคโนโลยีกำลังเริ่มเข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์มากขึ้น มองเรื่องของการปรับตัวของคนยุคหน้าอย่างไรบ้าง สรกล: ใครเคยผ่านวิกฤติปี ‘40 มาก็จะทราบว่านี่คือปี ‘40 ภาคใหม่ แต่เป็นภาคเทคโนโลยีที่คุณนึกไม่ถึงว่าความรู้เก่าที่เคยมีนำมาใช้ได้น้อยมากกับโลกในวันนี้ ผมไปสัมภาษณ์ “เฮียฮ้อ” ประธานกรรมการบริหาร RS เขาบอกว่า คนทุกคนเวลาทำงาน อายุ 50 เป็นเวลาที่ถือว่าคนนี้มีประสบการณ์สูงสุด แต่ใครจะไปนึกว่าวันนี้ประสบการณ์ที่เคยมีของคนรุ่นเก่า ใช้ได้กับรุ่นปัจจุบันได้แค่ 50% เอง มีคนเล่าให้ฟังว่า อาจารย์จุฬาฯ สอนเกี่ยวกับการวิจัย วันหนึ่งเขาได้ไปเรียนรู้เกี่ยวกับ Big Data วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลใหม่ๆ เขาไปสอนนิสิตปริญญาโท เขาเริ่มสอนด้วยการบอกว่า “วันนี้คุณไม่ต้องจดอะไรเลยนะ” แล้วก็สอนเรื่องระเบียบวิธีวิจัยรูปแบบเดิมไปประมาณชั่วโมงกว่า เสร็จแล้วก็บอกกับนิสิตทุกคนว่า “สิ่งที่ผมสอนวันนี้นำไปใช้ไม่ได้แล้วนะ” นิสิตถามว่า “จะใช้อะไรแทน” อาจารย์ตอบว่า “ไม่รู้เหมือนกัน แต่รู้ว่าที่ผมสอนมาวันนี้นำไปใช้ไม่ได้แล้ว” เพราะ Big Data ไม่ต้องรอกรอกข้อมูลแล้ว จะถูกเสิร์ชจากพฤติกรรมของเราทั้งหมดว่าเป็นอย่างไร นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น The People: พูดถึงคนทำสื่อยุคนี้ มีวิธีการปรับตัวให้เข้ากับโลกอย่างไรบ้าง สรกล: ผมก็โชคดีที่ไม่ได้อยู่วงการนี้แล้ว ถ้าผมอยู่วงการสื่อ ผมก็คงจะนึกไม่ออกว่าผมควรจะทำอย่างไรดี ต้องใช้ความกล้าในการตัดสินใจเยอะ แต่บังเอิญผมพ้นจากตรงนั้นมา ก็คือมองจากข้างนอกเข้าไป และสิ่งที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้ไม่ค่อยเกี่ยวพันกับในนั้นมากเท่าไหร่ ในแง่ของหนังสือ ผมว่า Pocketbook เป็นสิ่งเดียวที่อยู่รอดได้ ณ ตอนนั้น ซึ่งเผอิญผมอยู่ตรงนั้นเลยไม่ค่อยรู้สึกเท่าไหร่ The People: ที่กล่าวว่า “คนอายุ 50 ที่แก่ประสบการณ์ สามารถนำประสบการณ์มาใช้ในยุคนี้ได้เพียงแค่ 50% เท่านั้น” ต้องเติมอะไรเข้าไปอีก 50% ถึงจะสามารใช้ได้ 100% สรกล: ความรู้ใหม่ เทคโนโลยีเข้ามาทำให้สิ่งที่เราเรียนมากลายเป็นศูนย์ แต่ยังมีสิ่งที่เราใช้ได้ 50% คือประสบการณ์ พอสุดท้ายทำงานกับคน คนอายุ 50 ต้องผ่านคนมาเยอะกว่าคนอายุ 30 แน่นอน แล้วยิ่งทำงานสูงๆ ก็จะรู้เลย เขาก็จะแค่คุย สบตาก็จะรู้ว่าคนนี้ใช้ได้หรือไม่ได้ ถามแบบนี้แล้วคนแบบนี้เป็นอย่างไร วิธีการทำให้คนนี้มาร่วมมือกับเราจะทำอย่างไร อย่างที่สอง ทักษะการวิเคราะห์ ผมรู้สึกว่าการวิเคราะห์เป็นข้อมูลเก่าที่ต้องใช้ฐาน ข้อมูลเรื่องคน คอนเน็คชั่น มีส่วนหมดเลย ซึ่งคนรุ่นใหม่สู้คนอายุ 50 ไม่ได้ The People: เท่าที่คุณเคยสัมภาษณ์นักธุรกิจในวัย 50 ปีมา พวกเขามองเห็นถึงภัยคุกคามของสิ่งเหล่านี้บ้างไหม สรกล: ผมได้คุยกับนักธุรกิจใหญ่ๆ อายุประมาณ 50 ปีขึ้นไปมาหลายคน หลายคนยอมรับว่า ณ วันนี้เขาไม่เข้าใจในสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่เข้าใจเรื่อง blockchain เรื่องเงินดิจิตอลที่เกิดขึ้นมา และเขารู้ว่าถ้าไม่เข้าใจ สิ่งที่เขาจะทำคือให้คนรุ่นใหม่ทำแทน เขาเริ่มปล่อยมือให้คนรุ่นใหม่ เราก็ต้องยอมรับคนรุ่นใหม่มากขึ้นว่าการตัดสินใจของคนรุ่นใหม่จะไม่เหมือนกับเขาแน่นอน แต่ถ้าเขาไม่ไปทางนั้น องค์กรทั้งองค์กรดับแน่นอน ไม่ได้หมายถึงทุกธุรกิจนะที่จะดับแบบนี้ อย่างร้านอาหารผมเชื่อว่าถ้าเทคโนโลยีจะเข้ามาเพียง 10-20% เทคโนโลยีจะเข้ามาในแต่ละธุรกิจไม่เท่ากัน บางอย่างถูก disrupt จากเทคโนโลยี บางอย่าง 50% บางอย่าง 80% แต่บางอย่าง ร้านอาหารทำอาหารอร่อย เทคโนโลยีก็ทำอะไรไม่ได้ มีเพียง 10% เท่านั้นที่เข้ามาได้ The People: จากการสัมภาษณ์มาหลายคน คิดว่าคนไหนคือที่สุดในทั้งหมดที่เคยสัมภาษณ์มา สรกล: เท่าที่ผมพูดคุยมาผ่าน Facebook LIVE เวลาผมเจอคนใหม่ที่ไม่เคยคุยมาก่อน จะมีอะไรที่เหนือความคาดหมาย อย่างเช่นเจอ “คุณพิทักษ์” แห่งปั๊มน้ำมัน PT ก็เหนือความคาดหมาย ไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่พอคุยแล้วรู้สึกว่าเขาคิดได้ละเอียดขนาดนี้ แล้วเวลาเขาเป็น way รองเข้าสู้กับ way หลัก วิธีการสู้กับได้จะต้องมีความละเอียด ความละเอียดคือพระเจ้า โคตรละเอียด สู้ทุกเม็ดเลย หรืออย่าง “เฮียฮ้อ” ก็น่าสนใจ ได้คุยกับเขาบ่อย แต่พอเขาปรับ RS ให้พ้นจากกระแสด้วยการนำขายตรงเข้ามาช่วย วิธีคิดเขาก็น่าสนใจมาก พอดีผมทำ ABC ก็จะมีช่วงเวลาที่ให้แต่ละคนมาเล่าเรื่องตัวเองได้ ผมก็เลยเจอคนรุ่นใหม่หลายคนมาก หรือคนรุ่นเก่าก็ตามทีมาเล่าเรื่องที่เราคาดไม่ถึง ผมชอบเรื่องราวแบบนี้ และก็ทำให้ผมค้นพบว่ามนุษย์ทุกคนมีเรื่องน่าสนใจอยู่เสมอ ไม่จำเป็นว่าจะต้องดังหรือรวย คุยกับ “หนุ่มเมืองจันท์” สื่อวันพรุ่งนี้ และวิถีฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก แต่รักคนอ่าน The People: คุยกับคนเยอะแบบนี้ เคยมีช่วงเวลาที่รู้สึกเบื่อจนไม่อยากจะคุยกับใครไหม สรกล: ยังไม่มีครับ มีแค่ช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้นเอง ถ้าวันนี้ดูเยอะๆ ก็อยากหยุดบ้างเท่านั้นเอง แต่รวมๆ ผมชอบนั่งฟัง อย่างเช่นล่าสุด “พี่สาธิต” ของ Propaganda เขาทำร้านกาแฟชื่อ “นาวคาเฟ่”แล้วเขาอยากทำ “แดนสนทนา” เลียนแบบแดนสนธยา เป็นร้านกาแฟแล้วก็มีคนนั่งคุย เขาเชิญคนแรกคือ “คุณภาณุ อิงควัฒน์” ของ GreyHound ซึ่งเดิมอยู่ลีโอเบอร์เน็ต ผมไปนั่งฟัง ตอนทำ ABC ผมจะอยู่บนเวทีค่อนข้างเยอะครับ ก็ไปนั่งฟัง มีเก้าอี้นั่งฟังหลายตัวอยู่ข้างหน้า และก็มีโต๊ะอยู่ข้างหลัง ผมไปนั่งหลังสุดเหมือนเด็กหลังห้องเลยครับ และก็เอาไอแพดกับคีย์บอร์ดมา เราก็นั่งฟังแล้วก็พิมพ์ไปเรื่อยๆ เป็นช่วงเวลาที่ผมมีความสุขมากเลย ได้นั่งฟังโดยที่ไม่ต้องถาม ฟังไปเรื่อยๆ ฟังแต่ไอเดียของคนที่เก่งๆ เป็นโมเมนต์ที่ดีมาก The People: ด้วยความที่เติบโตมากับสื่อกระดาษ การที่สื่อส่วนใหญ่ย้ายไปเป็นสื่อออนไลน์ ทำให้วิธีคิดในการเขียนหนังสือของคุณเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน สรกล: ผมใช้ภาษาพูดในการเขียน ฉะนั้นภาษาของผมจะค่อนข้างใช้ได้อยู่กับโลกออนไลน์ระดับหนึ่ง แต่จริงๆ ผมก็รู้ว่าเมื่อเทียบกับเด็กรุ่นใหม่แล้วผมยังเยิ่นเย้อกว่า จะมีลูกตัดกลับตลอดเวลาที่พยายามจะกลับเข้าไปเล่าแบบนี้ ผมว่าคนรุ่นใหม่ไม่ทำ เขาจะไปข้างหน้าหมด ก็เรียนรู้จากคนรุ่นใหม่อยู่และก็บางครั้งก็ชื่นชมคนรุ่นใหม่ว่าภาษา มุกและคำที่ใช้เขาไปหามาจากไหน ซึ่งเราทำไม่ได้แล้ว เราได้แบบเดิมของเรา และก็พยายามนำมุมใหม่มาใช้กับเราบ้าง แต่ก็ไม่ได้กลืนเหมือนกับเด็กรุ่นใหม่ The People: มองอนาคตของสื่อรุ่นเก่าและสื่อรุ่นใหม่ อย่างไรบ้าง สรกล: พอดีตอนหลังมีเพจ “ลงทุนแมน” เพจ “วิเคราะห์บอลแบบจริงจัง” ที่เขียนยาวมาก มีคนบอกว่าสื่อรุ่นใหม่จะต้องไม่เขียนยาว แต่เขาเขียนยาวมาก เพจ “The Cloud” ก็เขียนยาว ทุกอย่างยาวหมดเลยแต่กลับอยู่ได้ หมายความว่าสิ่งที่คุณเชื่อว่าสื่อรุ่นใหม่ต้องมีข้อความเพียงแค่สั้นๆ แปลว่ามีคนบางคนย้ายจากเสพสื่อจากสื่ออันหนึ่งมาสู่สื่ออีกอันหนึ่ง แต่เขายังคงชอบแบบเดิมอยู่ สามสี่เพจที่กล่าวมาทำให้เกิดเป็นกรณีศึกษาของผมว่า หรือที่ผ่านมาโลกบอกว่ามีสื่อใหม่ไม่ได้มีทางๆ เดียว อาจจะยังพอมีซอยบางซอยที่ยังไปได้อยู่ และก็มีคนบางคนที่ยังเสพงานแบบนี้อยู่ The People: สื่อเก่าควรจะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการเล่าเรื่องเพื่อให้เด็กรุ่นใหม่เข้าใจได้มากขึ้นไหม สรกล: ถ้าปรับได้ก็โอเค แต่ผมเชื่อว่าไม่เหมือนกัน จะให้คนที่ทำสื่อสิ่งเดิมไปเล่นในโลกยุคใหม่ก็ยาก เป็นเพียงแค่พอทำได้แค่นั้นเอง แต่ถ้าสมมติว่าเขาใช้สื่อใหม่ในทางของตัวเขาเองอย่างคุณ “วีระ ธีรภัทร” ที่พยายามปรับตัว เขาเคยทำรายการวิทยุแนวการเงินมา พอเขาได้มาทำ Facebook LIVE รสชาติของเขาก็ดี เป็นรสชาติใหม่ที่เหมือนกับคุณ “สุทธิชัย หยุ่น” ตอนทำไลฟ์เลย พอมาเป็นชื่อใหม่เขาก็ใช้ทักษะเดิมของเขาได้ หรือเขาเล่น LINE เขาก็มี LINE Group ของเขาในการทำมาหากินได้ เป็น LINE ที่ต้องเสียเงิน เหมือนอย่างเป็นกลุ่มที่ต้องมาฟังผมไปต่างประเทศ ถ้าจะมาฟังผมเรื่องหุ้น ธุรกิจ เรื่องข่าวรายวันแล้วผมเขียนวิเคราะห์วิจารณ์ คุณมาอยู่กลุ่มผมแล้วจ่ายเงิน เขาก็สามารสร้างโมเดลเหมือนกับคนรุ่นเก่าที่นำสื่อใหม่มาใช้เป็นโมเดลธุรกิจได้ ก็น่าแปลก ในความรู้สึกผม ผมว่ายังมีความสับสนอยู่ อยู่ในภาวะที่หยิบฉวยโอกาสอะไรมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับเราตามความถนัดของตัวเอง คนรุ่นใหม่ก็ไปตามคลื่น เป็นทาง เป็นชีวิตของคุณแล้ว เป็นอวัยวะของคุณแล้วก็สามารถไปในทางของคุณได้ แต่คนรุ่นเก่าก็มีทิศทางอยู่ แต่แค่หาให้เจอเท่านั้นเอง The People: ในระดับองค์กร สื่อยุคก่อนหน้า จะมีวิธีปรับตัวให้เข้ากับสื่อใหม่ได้มากน้อยแค่ไหน สรกล: ผมว่ายาก โครงสร้างของสื่อเก่า ผมขอพูดถึงหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์ใช้คนเยอะมาก และก็มีต้นทุนสูงมาก เพราะมีทั้งคนและกระดาษ แต่รายรับกลับลดลง ขณะเดียวกันสื่อใหม่ใช้คนน้อยมาก แต่รายรับเป็นเหมือนกับโลกอนาคต ที่อยู่ดีๆ ก็มีคนโยนเงินมาให้ ถ้าคุณจะปรับปรุงจากสื่อเก่าก็เหมือนกับปรับปรุงบ้านเก่า บ้านเก่ากับการสร้างบนพื้นดินใหม่คนละเรื่องกันเลย มีเสาเข็มและอะไรต่างๆ ซึ่งการปรับตัวไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าถ้าวันนี้ผมอยู่ตรงจุดนั้น ผมจะทำอย่างไรยังไม่แน่ใจเลย The People: เราได้เห็นวิธีการของสื่อเก่าในการปรับตัวให้เขากับสื่อ แต่ก็ยังเห็นการพาดหัวข่าวในรูปแบบของสื่อเก่าอยู่ มองการปรับตัวของสื่อเก่าให้เข้ากับสื่อใหม่อย่างไรให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค สรกล: ยากนะ มาเปลี่ยนกันภายในอายุเท่านี้ด้วย ถ้าผมเป็นนักข่าวที่หนังสือพิมพ์และเป็นคนอายุแค่ 30 ผมว่าเปลี่ยนไม่ยาก แต่ว่าคนอายุ 50 แล้วจะมาปรับเปลี่ยนรูปแบบ ยิ่งคนอายุเยอะเราก็รู้ว่าเราสั่งสมมาตั้ง 50 ปี อยู่ดีๆ จะให้เขาเปลี่ยนไปเลย มันยาก The People: สื่อยุคก่อนหน้าควรแก้เกมนี้ในแบบไหน สรกล: นี่คือจุดที่ผมบอกว่าผมรอดูการเลือกตั้งครั้งนี้ ผมจะรู้ว่าระหว่างสื่อเก่าอย่างหนังสือพิมพ์ที่เป็นกระดาษ ในความรู้สึกผมคือสื่อสิ่งพิมพ์ตอนนี้อ่านสนุกขึ้น ผมกลับมาอ่านหนังสือพิมพ์อย่างละเอียดมากขึ้น เพราะมีข่าวสารการเมืองที่ลึกกว่าในเว็บ พอเริ่มลุ่มลึก เราสามารถยกหูหานักข่าวเก๋าๆได้ นักการเมืองในวันนี้คุณดูหน้าตาสิ แม้ว่าจะมีรุ่นใหม่ขึ้นมาก็ตาม แต่ก็มีรุ่นเก่าที่ยังครองอำนาจอยู่ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีความสัมพันธ์ยาวนาน แล้วเขารู้ว่าทำไมถึงมาร่วมงานกับผม ไม่ใช่แค่เรื่องตัวเลข เป็นความสัมพันธ์อะไรบางอย่างที่ย้อนกลับไป 20 ปีก็ได้ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในการเลือกตั้ง แต่ถ้าสื่อใหม่ทำได้ดี สื่อเก่าเหนื่อยเลย The People: ถ้ามองในแง่ประนีประนอม ก็น่าจะมีสะพานเชื่อมกันระหว่างสื่อเก่าและสื่อใหม่ในเรื่องของการให้ข้อมูลต่างๆ คิดว่าสะพานตรงกันที่เชื่อมกันคืออะไร สรกล: ถ้าในเชิงธุรกิจ ผมรู้สึกว่าของใหม่ต้องให้คนใหม่ทำ ของเก่าจะรักษาอย่างไรก็รักษาไป คนเก่าจะมาทำของใหม่ไม่ได้ ขายโฆษณาแบบเซลล์รุ่นเก่าจะขายไม่ได้บนโลกวันนี้ จะมาบอกว่าควอเตอร์หนึ่งราคาเท่าไหร่ไม่ได้แล้ว ฝ่ายโฆษณาของเว็บในโลกวันนี้เหมือนกลายเป็น Agency โฆษณาน้อยๆ เป็นคนคิดงานให้กับลูกค้าด้วยซ้ำ เพราะเขารู้ว่าของเราคืออะไร และเราจะขายอะไรให้กับลูกค้าได้ ซึ่งเซลล์เก่าจะใช้ไม่ได้ เป็นวิธีคิดที่ไม่เหมือนเดิม ฉะนั้นงานใหม่ก็ต้องใช้คนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่าจะช่วยได้แค่เป็นที่ปรึกษาให้เขา ตรวจสอบข้อมูลให้ แต่การพาดหัวต้องให้คนรุ่นใหม่พาด เพราะว่าจะเข้าใจคนในรุ่นเดียวกันมากกว่า The People: เคยมีช่วงที่ตัวเองรู้สึกท้อแท้หรือล้มเหลวในชีวิตบ้างไหม สรกล: ต้องมีครับเพราะเป็นมนุษย์คนหนึ่ง (หัวเราะ) ก็มีช่วงเวลาของแต่ละช่วงที่มีแบบนี้อยู่ แต่ส่วนใหญ่คนจะรู้จักผมผ่านข้อเขียน อภิสิทธิ์ข้อหนึ่งของนักเขียนคือเขียนในสิ่งที่อยากเขียน ฉะนั้นก็จะมีมุมของเรื่องราวดีๆ แบบนั้นไป แต่จริงๆ มีครับ ช่วงที่รู้ว่าแฟนเป็นมะเร็งเหมือนกับว่าเราจะทำอย่างไรดี นึกไม่ถึงเลยตอนนั้น แต่ตอนนี้แฟนหายดีแล้ว The People: ในแต่ละช่วงวัย คุณมีปัญหาอะไรเกี่ยวกับเรื่องอะไร สรกล: ตอนคุณ(หมายถึงผู้สัมภาษณ์) มาทำงานเป็นนักข่าว เงินเดือนคุณดีกว่ารุ่นผมเยอะ ตอนนั้นยังอยู่ในช่วงที่อาชีพสื่อเป็นอาชีพที่ค่อนข้างดี เงินเดือนเริ่มต้นตอนนั้นประมาณ 3,300 บาท ช่วงประมาณปี 2528-2529 จากเริ่มต้น 3,170 ขึ้นมาเป็น 3,300 ยังจำตัวเลขได้อยู่เลย ตอนนั้นคุณลองคิดดูสิว่า ทำงานมา 5 ปีแต่ยังคิดไม่ออกว่าจะมีบ้านได้อย่างไร ยังนึกไม่ออกว่าจะเป็นอย่างไรได้ แต่สิ่งที่ผมเรียนรู้อย่างหนึ่งที่ผมสอนใครมาหลายคนแล้วว่า ถ้าคุณทำงานหนักไปเรื่ิอยๆ จะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ประสบการณ์ในชีวิตคุณเก๋าพอ แล้วพอถึงจุดหนึ่งกราฟจะชันขึ้นไปเรื่อยๆ แต่พอเทคโนโลยีเข้ามาผมเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าจะเป็นอย่างไรต่อ ผมรู้อย่างเดียวว่าประสบการณ์เก๋าที่สั่งสมมา ทำงานแบบคนรู้จริง วันหนึ่งกราฟในชีวิตจะเปลี่ยน ผมมาเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อตอนอายุประมาณ 35 ปี ช่วงที่มาเป็นบรรณาธิการของมติชน คุยกับ “หนุ่มเมืองจันท์” สื่อวันพรุ่งนี้ และวิถีฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก แต่รักคนอ่าน The People: แล้วปัญหาที่ประสบอยู่ ณ ตอนนี้คืออะไร สรกล: ปํญหาของผมตอนนี้ไม่ค่อยมี ปัญหาตอนนี้คือความท้าทายที่ไม่ค่อยมีแล้ว สมัยก่อนถ้าทำงานด้วยกันจะรู้ว่าถ้ามีอะไรใหม่ๆ ก็จะให้ผมทำ และผมจะรู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่เจอกับความท้าทายของใหม่ที่ไม่เคยเจอมาก่อน ทำสำนักพิมพ์ ทำออนไลน์ จนรู้สึกตื่นเต้นว่าเป็นของใหม่ แต่สิ่งสำคัญที่ผมมีอะไรที่น่าตื่นเต้นขึ้นมา ผมจะตั้งคำถามกลับไปที่ตัวเองว่าทำไปทำไม แล้วต้องตอบตัวเองให้ได้ ด้วยวัยนี้เราจะทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร ทำไปเพื่อเงินก็ไม่ใช่คำตอบของชีวิตแล้ว The People: สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากความสุขุมที่เพิ่มขึ้นหรือ Passion ที่ลดลง สรกล: คำถามแห่งชีวิตต้องถามตัวเองตลอดเวลาว่าเราทำสิ่งนี้เพราะอะไร เราอยากทำอะไร อยากเป็นอะไร ซึ่งคำว่าอยากของผมน้อยลงไปจริงๆ อยากมีชื่อเสียงเหรอ ก็ไม่ได้อยากมากกว่านี้แล้ว ไม่อยากให้มีคนทักมากขึ้นเวลาไปไหนมาไหน อยากมีเงินเหรอ ก็ไม่ใช่ อยากทำงานเพื่อเงินบ้างแต่ก็ไม่ได้เยอะแล้ว ฉะนั้นผมจะถามตัวเองว่าผมจะทำทุกสิ่งทุกอย่างไปเพื่ออะไร The People: แล้วตอนนี้อยากทำอะไรใหม่ ๆ ไหม สรกล: ผมเคยเขียนชีวประวัติของบุคคล ผมก็หยุดเขียนไปนานแล้ว จนวันหนึ่งลูกมาบอกผมว่าทำไมไม่เขียนอีกล่ะ พ่อเขียนดีนะ อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมกลับมาเขียนใหม่ คุณจำ Tiger Woods ได้ไหมที่ได้แชมป์ครั้งล่าสุด เหตุผลก็คืออยากเป็นแชมป์ให้ลูกได้เห็นจริงๆ นี่ก็อาจจะเป็นความรู้สึกเดียวกันที่ว่าพอลูกพูดแบบนี้ ลองสักทีดีกว่าไหม เขียนให้ลูกเห็นว่าเรายังเขียนได้ ก็เลยอาจจะเป็นไปได้ว่าจะกลับมาเขียนประวัติชีวิตบุคคลอีกครั้ง The People: แล้วความสุขในตอนนี้ของคุณคืออะไร สรกล: ตอนนี้ผมพร้อมจะเป็นที่ปรึกษาคนอื่นเยอะๆ อย่างน้องๆ มีหลายคนที่มาปรึกษาแล้วอยากทำ ซึ่งเด็กรุ่นใหม่ก็อยากทำหลายอย่าง บางคนก็อยากทำธุรกิจ บางคนก็อยากทำเรื่องสังคม มีอะไรที่ช่วยได้ก็อยากช่วย หรือหลักสูตรที่อยากทำ เคยคุยไว้เหมือนกันว่าอยากทำหลักสูตรเด็กด้อยโอกาส ซึ่งเรารู้จักคนตรงส่วนนี้เยอะ ก็นำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ อย่างนี้รู้สึกอยากจะมีความสุข The People: คุณมีความสุข เมื่อได้รับฟังอะไรใหม่ ได้คิดคำถามใหม่ๆ ด้วยใช่ไหม สรกล: ได้ใช้ชีวิตด้วยครับ หมายถึงว่าเราได้ไปดูหนังมากขึ้น เดินออกกำลังมากขึ้น ดูทีวี ดู Netflix มากขึ้น ก็ยังสนุกกับสิ่งเหล่านี้อยู่ ชีวิตไม่ได้ทดท้ออะไรเลย แต่ความสุขไม่ได้อยู่กับแค่การวิ่งอย่างเดียว ผมก็ออกกำลังมากขึ้น มีเดินในหมู่บ้านบ้าง The People: เมื่อก่อนที่ห้องทำงานคุณมีรองเท้าสตั๊ดด้วย คุณได้เตะบอลบ่อยไหม สรกล: ผมเล่นบอลไม่ได้ละ ถ้าจะเล่นก็คงต้องเล่นกับเด็กแทนแล้ว(หัวเราะ) จะไม่เล่นแบบรวดเร็ว ส่งมาเกิน 1 เมตรเราจะโกรธ แล้วเราก็พร้อมยืนกองหลังอย่างดีมาก เด็กก็จะชอบเพราะว่าอยากอยู่กองหน้า ก็ยังโอเคอยู่ แต่เตะน้อยมาก เพราะฟุตบอลต้องใช้คนหลายคน และคนวัยเดียวกันก็ไม่มีแล้ว แต่ก็ยังมีแก๊งเตะบอลอยู่ ดูวัยรุ่นไปหน่อย ตอนนี้ก็พยายามไม่อยากเจ็บ ต้องดูแลดีๆ หน่อย The People: ที่สุดแล้วการเขียนหนังสือพาให้เราไปไกลขนาดนั้น สรกล: ผมเขียนหนังสือ น่าจะเกือบ 30 ปีแล้วครับ ไกลกว่าที่คิดไว้เยอะ เป็นกระแสลมที่แรงมากจนผมนึกไม่ถึง ผมเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกือบ 70% ของชีวิตมาจากสิ่งนี้ มาจาก “หนุ่มเมืองจันท์” ที่พี่เสถียร จันทิมาธรแห่งมติชนได้ให้โอกาสเราเขียนลงใน “มติชนสุดสัปดาห์” จากคอลัมน์ๆ หนึ่งที่กลายเป็นอื่นๆ อีกมากมาย และก็พาผมจนวันนี้ผมก็ไม่รู้ว่าจะพาผมไปไหนต่อ กระแสลมพาผมไปหมดแหละครับ ถ้าวันนี้แนะนำผมระหว่าง “สรกล อดุลยานนท์” กับ “หนุ่มเมืองจันท์” ผมเชื่อว่าคนรู้จักหนุ่มเมืองจันท์มากกว่า ลมพัดพาผมไปเรื่อยๆ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะไปจบตรงไหนเหมือนกัน The People: อยากให้คนรู้จักคุณในฐานะ “หนุ่มเมืองจันท์” หรือ “สรกล อดุลยานนท์” มากกว่ากัน สรกล: จริงๆ “หนุ่มเมืองจันท์” เหมือนเป็นแบรนด์ๆ หนึ่งไปแล้ว ซึ่งผมรู้ว่าถ้าอะไรที่อยู่บน Facebook ผม อยู่ในคอลัมน์ของผมในฐานะหนุ่มเมืองจันท์ ผมก็ใช้อภิสิทธิ์ในการเป็นนักเขียนให้คนได้รู้จักผมในมุมนั้น และก็เป็นมุมที่อยากให้เขารู้จักผมด้วยก็คือการมองโลกในแง่ดี ธุรกิจแบบง่ายๆ มีแรงบันดาลใจ มีอารมณ์ขัน แต่มุมของ “สรกล อดุลยานนท์” ผมเชื่อว่าคนทำงานด้วยกันก็จะรู้ว่าจะมีมุมจริงจังในเรื่องข่าวหรืออะไรพวกนี้อยู่ ณ วันนี้ความสุขของผมก็ยังคงอยู่ในการอ่านข่าว ติดตามข่าว วิเคราะห์ข่าว นี่คือสิ่งที่ผมยังมีความสุขอยู่ และก็เป็นชีวิตของผมจริงๆ