ชานมไข่มุก: วัฒนธรรมส่งออก สร้างความตระหนักรู้ถึง 'ไต้หวัน'
ยุคนี้ต่อให้มองไปทางไหนก็ต้องมีชานมไข่มุกให้กิน เครื่องดื่มที่เคยฮิตในไทยเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ไม่กี่ปีที่ผ่านมาดันกลับมามีกระแสใหม่ แถมราคาของหลายแบรนด์ยังกระโดดจากหลักสิบไปยันหลักร้อยต่อแก้ว เครื่องดื่มรสชาติหอมหวานที่ผสมกับไข่มุกเคี้ยวหนึบหนับนี่มีดีอะไร ทำไมถึงได้กลายมาเป็นแฮชแท็ก #ชานมข้นกว่าเลือด เอ้อ...เมนูที่ฮิตไปทั่วโลกได้?
ย้อนกลับไปต้นกำเนิด อันที่จริงเครื่องดื่มอย่าง ‘ชานม’ ก็เป็นที่นิยมในไต้หวันมานานแล้ว เพราะวัฒนธรรมการดื่มชาและธุรกิจโรงน้ำชาเป็นสิ่งที่ชาวจีนกลุ่มหนึ่งนำออกมาจากประเทศจีน พร้อม ๆ กับการอพยพมายังไต้หวัน
แม้ช่วงก่อนทศวรรษ 1980s ชาวไต้หวันจะนิยมดื่มชาร้อน ซึ่งเป็นการดื่มแบบดั้งเดิม มากกว่าชาเย็นที่ประยุกต์ขึ้นมาใหม่ แต่เมื่อ หลิว ฮั่นฉี มีโอกาสเดินทางไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น และเห็นการเสิร์ฟชาและกาแฟแบบเย็น เขาจึงได้ไอเดียกลับมาเปิดร้านน้ำชา ชุนสุ่ยถัง (Chun Shui Tang Teahouse) ขึ้นที่เมืองไถจงในปี 1983
“ตอนนั้นยังไม่มีร้านไหนเคยเสิร์ฟชาเย็นมาก่อน” แองเจลา หลิว ลูกสาวของหลิว ฮั่นฉี เล่า ช่วงเวลานั้น พ่อของเธออยากจะเปลี่ยนแปลงวิธีการดื่มชาอันน่าเบื่อหน่ายให้กลายเป็นอะไรที่แปลกใหม่ เขาจึงเริ่มใส่น้ำแข็งและน้ำตาลผสมลงไปในชานมร้อนที่นิยมดื่มกัน ก่อนจะลองเสิร์ฟขาย “หลายคนมองว่าเราบ้า แต่ลูกค้าเด็ก ๆ กลับชอบมันมาก” เครื่องดื่มชานมเย็นเลยกลายเป็นเมนูที่ลูกค้าหลายคนติดใจ แม้จะยังไม่มีไข่มุกให้เคี้ยวเล่นเลยก็ตาม
ด้าน ‘ไข่มุก’ หรือก้อนแป้งมันสำปะหลังเม็ดเล็ก ๆ ที่กลายมาเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ในเครื่องดื่มชานมหวาน ๆ อันที่จริงมีแบรนด์ชานมหลายร้านพยายามเคลมตัวเองว่าเป็นต้นตำรับการทำไข่มุก แต่เรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่ไม่มีหลักฐานยืนยัน ทำให้ฟันธงได้ยากว่าสรุปใครเป็นผู้คิดค้นมันกันแน่ ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีเรื่องเล่าจากร้านน้ำชาที่น่าสนใจและถูกยอมรับอยู่ 2 สาย
เรื่องแรกมาจากร้านน้ำชาฮั่นหลิน (Hanlin Tea Room) ในเมืองไถหนาน ความพิเศษของแบรนด์นี้คือเป็นชานมไข่มุกที่รัฐบาลไต้หวันเพิ่งเลือกใช้ในงานเลี้ยงรับรองอาคันตุกะคนสำคัญที่มาเยือนถึง 2 ปีซ้อน พวกเขาออกมาเคลมว่าในปี 1986 ตู้ ซงเหอ ผู้ก่อตั้งร้านน้ำชาฮั่นหลินเป็นผู้คิดค้นไข่มุกขึ้น โดยก่อนหน้านี้มีการนำแป้งมันสำปะหลังมาต้มเชื่อมกับน้ำตาล อันเป็นวิธีการทำขนมหวานที่ชาวไต้หวันรับประทานกันอยู่แล้ว ตู้ ซงเหอ ก็เลยเกิดไอเดียเอาของหวานดังกล่าวมาผสมกับชานมที่เขาขาย จนได้ออกมาเป็นชานมไข่มุกที่เรารู้จัก
แต่เรื่องราวอีกสาย ก็ว่ามันเป็นไอเดียที่เกิดขึ้นจากห้องประชุมของร้านน้ำชาชุนสุ่ยถังนี่ล่ะ เพราะตอนนั้น หลิน ชิวฮุ่ย ซึ่งปัจจุบันคือผู้จัดการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ของร้านบอกว่า เธอชอบกินขนมไต้หวันที่ชื่อว่า เฟิ่นเหยียน (ขนมที่ทำจากแป้งมันหน้าตาคล้ายขนมโมจิ) ขณะที่กำลังประชุมกัน ด้วยความเบื่อหน่ายเธอก็เทขนมเฟิ่นเหยียนลงไปในชาอัสสัมบนโต๊ะ ก่อนจะลองชิมดู และพบว่ามันอร่อยทั้งที่ลองทำเล่น ๆ จุดเริ่มต้นของเมนูยอดฮิตก็เลยเกิดจากความบังเอิญเช่นนี้เอง
“ฉันเริ่มจากการลองทำให้คนในที่ทำงานชิมก่อน ก่อนจะแจกฟรีให้คนทั่วไปลองดูด้วย เมื่อกระแสตอบรับค่อนข้างดี ฉันถึงค่อยเสนอกับเจ้านายให้ออกเป็นเมนูใหม่ ตอนนั้นก็พอจะมั่นใจอยู่บ้างแหละว่าลูกค้าน่าจะชอบ แต่คิดไม่ถึงว่าจะกลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของร้านภายในเวลาไม่กี่เดือน และยังคงเป็นอยู่อย่างนั้นมาตลอด 20 ปี” หลิน ชิวฮุ่ย กล่าว
ภายในระยะเวลา 2 เดือนที่ร้านน้ำชาเริ่มนำชานมไข่มุกออกมาขาย เครื่องดื่มชนิดใหม่นี้ก็ฮิตไปทั่วตลาด “ผ่านไปประมาณครึ่งปี ร้านเครื่องดื่มในพื้นที่ก็เริ่มขายตาม ไม่นานก็ลามไปทั่วเมือง จนตอนนี้ก็อย่างที่เห็น มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของไต้หวันไปแล้ว” เธอบอกเพิ่มเติม จากนั้นชานมไข่มุกก็ถูกเรียกใหม่ด้วยหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น Bubble tea ซึ่งได้มาจากฟองอากาศที่กองรวมอยู่ด้านบนเพราะการเขย่าชา หรือแม้แต่ Boba tea ซึ่งเป็นชื่อเรียกของก้อนแป้งที่ถูกปั้นเป็นเม็ดกลม ๆ หรือก็คือไข่มุกที่เรารู้จัก
ชานมไข่มุกกลายเป็นเครื่องดื่มที่นิยมกันไปทั่วไต้หวันภายในระยะเวลาไม่กี่ปี ก่อนจะเริ่มมีคนนำเข้ามาขายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไทย เวียดนาม และมาเลเซีย ช่วงต้นปี 1990 หากใครยังจำได้ ชานมไข่มุกยุคนั้นจะมาในรูปแบบชานมที่เสิร์ฟในแก้วพลาสติกทรงสูง หน้าตาประหลาด ๆ แต่กลับเป็นที่นิยมมากในหมู่เด็กนักเรียนเพราะราคาถูก
แม้จะมีช่วงหนึ่งที่กระแสชานมไต้หวันซบเซา เพราะตลาดมีแนวโน้มจะหันไปสนใจเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ แต่มันก็กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งในช่วงปี 2016 ซึ่งเป็นช่วงที่ไต้หวันมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่ผลักดันโดย ไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน
นอกจาก ไช่ อิงเหวิน จะเป็นผู้ปลุกกระแสเสรีนิยม โดยสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศแล้ว เธอยังผลักดันนโยบาย New Southbound Policy ที่ให้สิทธิ์แก่ประเทศไทย และประเทศในอินโดแปซิฟิกอีกหลายประเทศ ได้เข้าไปท่องเที่ยวไต้หวันโดยไม่ต้องใช้วีซ่า และชานมไข่มุกไต้หวันก็เป็นเครื่องดื่มที่รัฐบาลส่งเสริมและโปรโมตให้นักท่องเที่ยวต้องลองชิม ไม่อย่างนั้นจะถือว่ามาไม่ถึง
หากดูราคาต่อแก้วของชานมไข่มุกในปัจจุบัน รวมถึงจำนวนแบรนด์ชานมหน้าใหม่ ๆ ที่ผุดขึ้นมาเป็นตัวเลือกของลูกค้า ก็ถือได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องของรัฐบาลไต้หวัน เพราะรู้ตัวอีกทีมันก็กลายเป็นชนิดของเครื่องดื่มที่นิยมกันไปทั่วโลก สถิติของ Grab Food ในปี 2018 ระบุว่า ลำพังแค่ประเทศอาเซียนแถบบ้านเราก็มียี่ห้อชานมไข่มุกแล้วมากกว่า 1,500 ยี่ห้อ และมีสาขาอีกกว่า 4,000 แห่งทั่วภูมิภาค คนไทยยังครองแชมป์ดื่มชานมเยอะที่สุด เฉลี่ยอยู่ที่คนละ 6 แก้วต่อเดือน
เมื่อการแข่งขันยิ่งสูง ก็ยิ่งมีการพัฒนาชานมไข่มุกไปในรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการปรับสูตรชา การคิดค้นไข่มุกหน้าตาแปลก ๆ หรือการเพิ่มท็อปปิ้งต่าง ๆ เข้ามาให้ลูกค้าเลือก ทั้งหมดนี้ทำให้หน้าตาของชานมไข่มุกทุกวันนี้แตกต่างไปจากเดิมมาก
ย้อนกลับไปที่ไต้หวัน แม้จะไม่ได้มีลูกเล่นอะไรหวือหวา แต่จุดขายของการเป็นต้นตำรับ ก็ยังทำให้ร้านชุนสุ่ยถังที่เปิดมาเกือบ 50 ปี สามารถเติบโตและขยายสาขาในไต้หวันไปได้ถึง 54 แห่ง ในญี่ปุ่น 14 แห่ง และฮ่องกงอีก 3 แห่ง พวกเขายังขายชานมในแบบที่ชงให้ดื่มแก้วต่อแก้ว ปรับระดับความหวานได้ตามต้องการ ทั้งที่ทางร้านก็มีเมนูเครื่องดื่มให้เลือกมากมาย แต่สุดท้าย ชานมไข่มุกสูตรดั้งเดิมก็ยังเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตที่ลูกค้านิยมสั่งอยู่ดี
แม้ตอนนี้เธอจะไม่สามารถจดลิขสิทธิ์ชานมไข่มุกได้ทัน เพราะมันฮิตลามไปทั่วโลกแล้ว แต่ หลิน ชิวฮุ่ย แห่งร้านชุนสุ่ยถัง ก็บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องน่าดีใจ ที่ความเบื่อหน่ายในวันนั้นสามารถสร้างสิ่งที่คนไต้หวันรักและภูมิใจกับมันในวันนี้ได้
ที่มา
https://www.scmp.com/magazines/style/leisure/article/3044028/how-bubble-tea-or-boba-went-global-and-who-first-thought
https://edition.cnn.com/travel/article/bubble-tea-inventor/index.html
https://www.youtube.com/watch?v=jskZ_bv0H5A
https://www.goldthread2.com/videos/who-invented-bubble-tea/article/3001018
https://fnbreport.ph/news/filipinos-rank-second-highest-bubble-tea-drinkers-in-southeast-asia-anrii-20190502/
http://www.harbourcity.com.hk/en/article/the-originator-of-bubble-milk-tea-hanlin-tea-room-arrives-at-harbour-city/