คารวะ “พนมเทียน” โลกหลายด้านของนักเขียนอาชีพ

คารวะ “พนมเทียน” โลกหลายด้านของนักเขียนอาชีพ
ในอดีตบทพิสูจน์ของคำว่า “นักเขียนอาชีพ” นอกจากจะไม่ง่ายแล้ว ยังต้องปีนป่ายไขว่คว้าและต้องเผชิญกับความลำบากมากมาย กว่าจะสามารถยืนอยู่บนแท่นของคำว่า “นักเขียนอาชีพ” ได้อย่างทรนงและสมศักดิ์ศรี ขณะเดียวกันก็ต้องได้รับการยกย่องยอมรับจากคนอ่านในวงกว้างด้วย นักเขียนไทยยุคที่ผ่านมาหลายคนด้วยกัน ที่มีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นนักเขียนอาชีพอย่างเต็มตัว โดยได้ถวายชีวิตและจิตใจให้กับการเป็นนักเขียนเพียงอย่างเดียว หรือพูดง่าย ๆ ก็คือยึดอาชีพเขียนหนังสือเท่านั้น  ถ้าจะเป็นอย่างอื่น ๆ ก็ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการเขียนทั้งสิ้น เช่น ทำหนังสือพิมพ์, เป็นนักข่าว, ทำนิตยสาร, ทำงานสำนักพิมพ์ หรือไม่ก็ทำงานในโรงพิมพ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้น นักเขียนชื่อดังในยุคที่ผ่านมา ภาพลักษณ์นอกจากจะเป็นนักเขียนอาชีพอย่างเต็มตัวแล้ว ยังมีความสามารถที่หลากหลาย บางคนเป็นทั้งนักเขียน, นักหนังสือพิมพ์, นักแปล รวมอยู่ในตัวคนคนเดียว ไม่ว่าจะเป็น ศรีบูรพา, ยาขอบ, ฮิวเมอร์ริสต์, ชิต บุรทัต, พ.เนตรรังสี, รพีพร, มาลัย ชูพินิจ, อิงอร, อาจินต์ ปัญจพรรค์ ฯลฯ และนักเขียนชื่อดังอีกท่านหนึ่งที่บ่งบอกถึงการเป็นนักเขียนอาชีพอย่างเต็มตัวก็คือ “พนมเทียน” หรือ ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ เจ้าของผลงานนวนิยายอมตะเลื่องชื่อ “เพชรพระอุมา” ที่ถือกันว่าเป็นนวนิยายที่มีความยาวมากที่สุดในโลกและในเมืองไทย ที่ใช้เวลาเขียนนานร่วม 26 ปีนั่นเอง ด้วยพนมเทียนนอกจากจะยึดอาชีพเขียนหนังสือแล้ว ยังมีความสามารถหลากหลายที่ล้วนเกี่ยวกับการทำงานเขียนทั้งสิ้นอีกด้วย ในความเป็น “นักเขียนอาชีพ” นั้น แท้จริงแล้วหมายถึงการเขียนหนังสือเพื่อหารายได้เลี้ยงชีวิตตัวเองและครอบครัวนั่นเอง เพราะฉะนั้นนักเขียนไทยที่มีอาชีพเป็นนักเขียนจริง ๆ จึงมีโลกหลายด้าน เพื่อให้การเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวสามารถอยู่ได้ นี่เป็นข้อแตกต่างระหว่าง “นักเขียนอาชีพ” กับการเป็นนักเขียนที่ถือว่า “การเขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก” ที่อยู่นอกเหนือจากงานประจำ [caption id="attachment_22135" align="aligncenter" width="1614"] คารวะ “พนมเทียน” โลกหลายด้านของนักเขียนอาชีพ ปี 2527 (จากซ้าย) พนมเทียน, ศิริสวัสดิ์ พันธุมสุต "น้าแพ็ท", ศักดิ์ สุริยา (คนหันหลัง), อาจินต์ ปัญจพรรค์ และ สุมิตรา วิเศษสุวรรณภูมิ คู่ชีวิตของพนมเทียน บันทึกภาพในงานสวดอภิธรรมศพ สุวรรณี สุคนธา[/caption] ถ้าดูเส้นทางการทำงานเขียนของ “พนมเทียน” นับตั้งแต่แรกเริ่มที่เขียนนิยายเรื่อง “เห่าดง” ให้เพื่อน ๆ อ่านสมัยเรียนมัธยม จนกระทั่งก้าวสู่การเป็นนักเขียนโดยมีผลงานเผยแพร่ตามหน้านิตยสารต่าง ๆ ทั้ง เดลิเมล์, สยามสมัย, หนังสือพิมพ์เพลินจิตต์, นพเก้า, ศรีสยาม, จักรวาล, บางกอก, สกุลไทย จนกลายเป็นนักเขียนชื่อดัง และมีผลงานเป็นที่ชื่นชอบของนักอ่านมาจนถึงทุกวันนี้ ในความเป็นตัวตนของ “พนมเทียน” ที่น่ากล่าวถึงก็คือ...ความสามารถหลากหลายที่แสดงออกมาทางงานเขียนและการทำงาน ซึ่งหากพินิจดูผลงานนวนิยายของพนมเทียนแล้ว แต่ละเรื่องจะมีเนื้อหาและแนวเรื่องที่ต่างกันไป อาทิ เล็บครุฑ, เห่าดง, เพชรพระอุมา, จุฬาตรีคูณ และศิวาราตรี เพราะจะมีทั้งแนวเรื่องบู๊, แนวความรักโรแมนติก, แนวอิงประวัติศาสตร์ และแนวผจญภัย เช่นเดียวกับความสามารถเฉพาะตัวของ “พนมเทียน” ซึ่งมิได้มีเพียงความสามารถในการเขียนนวนิยายเท่านั้น แต่เป็นทั้งบรรณาธิการ, คอลัมนิสต์ และเขียนสารคดี ตลอดจนการนำเอาความถนัดจัดเจนส่วนตัว อาทิ การเป็นคนสนใจเรื่องอาวุธปืน นำมาเผยแพร่ผ่านงานเขียน ดังเช่นการที่พนมเทียนเป็นบรรณาธิการนิตยสารจักรวาลและจักรวาลปืน โดยนอกเหนือจากการเป็นบรรณาธิการแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นคอลัมนิสต์เขียนบทความ และเขียนตอบปัญหาให้ความรู้เรื่องอาวุธปืน ตลอดจนเขียนงานในรูปแบบสารคดีอีกด้วย [caption id="attachment_22136" align="aligncenter" width="333"] คารวะ “พนมเทียน” โลกหลายด้านของนักเขียนอาชีพ พนมเทียนช่วงก่อนบั้นปลายชีวิต[/caption] คุณลักษณะของความเป็นนักเขียนอาชีพร่วมยุคสมัยเดียวกันกับพนมเทียน ซึ่งเป็นยุคที่นักเขียนมีความผูกพันกับโรงพิมพ์และเถ้าแก่เจ้าของโรงพิมพ์นั้น แต่ละคนจะมีความสามารถสูงในการสร้างสรรค์ผลงานหลากหลายแนว และจากการที่ต้องเขียนหนังสือเลี้ยงชีวิตและครอบครัวนี่เอง นอกจากจะต้องเขียนงานหลายแนวแล้ว การใช้นามปากกาต่าง ๆ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของความเป็นนักเขียนอาชีพ จะเห็นว่านักเขียนในยุคที่ผ่าน ๆ มา จะใช้นามปากกาหลายนาม เพื่อให้เหมาะกับงานเขียนแนวนั้น ๆ อย่างเช่น “พนมเทียน” ก็ใช้นามปากกาอื่น ๆ คือ ก้อง สุรกานต์ และ รพินทร์ หรืออย่าง “ฉัตร บุณยศิริชัย” หรือ “ศักดิ์ สุริยา” เจ้าของผลงานเรื่อง “ชุมแพ” ก็มีนามปากกาที่ต่าง ๆ กันตามแนวงานเขียน ทั้ง จารึก ชมพูพล, อ้อย อัจฉริยกร และ ดาวไสว ไพจิตร เช่นเดียวกับ สุวัฒน์ วรดิลก หรือ “รพีพร” ก็มีนามปากกาต่าง ๆ เช่น ศิวะ รณชิต, ไพร วิษณุ, สันติ ชูธรรม, ยุพดี เยาวมิตร บนถนนนักเขียนไทย “พนมเทียน” ได้โลดแล่นอยู่บนสายนี้อย่างสง่างาม และผ่านประสบการณ์มากมาย ถือเป็นนักเขียนอาวุโสที่ทรงคุณค่าอีกคนหนึ่ง ที่เป็นผู้ถากถางเส้นทางสายนี้ให้คนรุ่นหลังได้ก้าวเดินและศึกษาเป็นแบบอย่าง “พนมเทียน” หรือนามจริง ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2563 ที่บ้านพักในวัย 89 ปี ...แม้จะเป็นการปิดฉากชีวิตอย่างสมบูรณ์... แต่ก็มิได้ปิดฉากตำนานของ “พนมเทียน” แต่อย่างใด The People ขอคารวะและอาลัยยิ่งมา ณ ที่นี้!   เรื่อง: นิรันศักดิ์ บุญจันทร์