สำอาง ภู่ห้อย ด่านหน้าผู้เสี่ยงขยะพิษช่วงโควิด-19
“ตอนนี้มีขยะพิษเยอะ ช่วงโควิดพวกขยะหน้ากากอนามัย ทิชชู่ เยอะกว่าเดิมมาก เวลาเก็บเราก็ต้องระวังตัวมากขึ้น บางคนเอาหน้ากากอนามัยใส่ถุงมัดเรียบร้อย แต่บางคนก็ทิ้งแบบนั้นเลย อย่างหลังต้องระวังเยอะหน่อย” เสียงบอกเล่าของ สำอาง ภู่ห้อย ดังลอดมาจากหน้ากากอนามัย ผ่านเฟซชีลด์อีกหนึ่งชั้น ก่อนจะเดินทางมาถึงโสตของคนฟัง
สำอาง วัย 48 ปี เป็นลูกจ้างประจำของฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ผู้ใช้ชีวิตการทำงานอยู่กับขยะมูลฝอยสารพัดชนิดมา 28 ปีแล้ว “ที่ทำมานาน เพราะเราไม่มีความรู้ไปทำอาชีพอื่น เรามีงานก็ทำไปเรื่อย ๆ เลยคลุกคลีแต่กับตรงนี้มาตลอด” เขาให้เหตุผล
ความที่ทำงานรักษาความสะอาดมาหลายสิบปี ทำให้สำอางเห็นพัฒนาการการทิ้งขยะของประชาชนอยู่พอสมควร อย่างเมื่อก่อน คนส่วนใหญ่จะนำขยะมารวม ๆ กันแล้วทิ้งในถุงเดียว แต่หลายปีมานี้ เมื่อกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมมาแรง หลายบ้านจึงตื่นตัวเรื่องการคัดแยกขยะต่าง ๆ จากขยะที่เทรวมกัน ก็กลายเป็นการคัดแยกแก้ว พลาสติก ฯลฯ มาให้เรียบร้อย ช่วยให้การทำงานของสำอางและเพื่อนร่วมอาชีพสะดวกมากขึ้น แม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม เพราะจำนวนไม่น้อยก็ยังเคยชินกับวิถีปฏิบัติแบบเดิมอยู่
ภารกิจพิชิตขยะของสำอาง เริ่มตั้งแต่เวลา 3 ทุ่มไล่ไปจนถึงตี 5 ซึ่งช่วงเวลานั้น หน้าที่ของเขาคือการนำขยะมากองตามจุดต่าง ๆ เพื่อรอรถมารับ จากนั้นก็นำขยะขึ้นรถ เป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ “ปัญหาในการทำงานมีไม่ค่อยมากหรอกครับ อาจเพราะชินกับการทำงานมานาน แต่ถ้าเป็นหน้าฝนก็ลำบากหน่อย เพราะขยะเปียก ทำให้การจัดเก็บยากขึ้นไปอีก แต่มันก็เป็นเรื่องฤดูกาล เป็นเรื่องปกติ” เขาเล่า พร้อมเสริมว่า แต่เดิมหลังเก็บขยะเสร็จแล้ว ต้องนำรถขยะซึ่งเป็นของกรุงเทพมหานคร ไปทำความสะอาดแถวหนองแขมเสียก่อน แล้วถึงจะเลิกงาน แต่ตอนนี้เป็นรถของบริษัทเอกชนที่มีพนักงานดูแล พวกเขาจึงไม่ต้องอยู่โต้รุ่งเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป
นั่นคือชั่วโมงการทำงานของสำอาง ก่อนหน้าที่รัฐบาลจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด เพราะหลังจากมีสิ่งที่เรียกว่า ‘เคอร์ฟิว’ แล้ว เจ้าหน้าที่เก็บขยะทุกคนต้องรีบออกปฏิบัติงานให้ทันตามเวลาดังกล่าว พร้อมกับขอความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ที่รับผิดชอบ
“ความที่เราอยู่มานาน เจอหน้าเขาทุกวัน ก็บอกว่า ‘พี่ครับ ช่วงนี้เคอร์ฟิว ผมขอมาเก็บขยะไวขึ้นหน่อยนะครับ’ ซึ่งชาวบ้านก็เข้าใจและให้ความร่วมมือ คือบางบ้านผมเห็นตั้งแต่ลูกเขายังเล็ก ๆ จนลูกเขาโต ก็ถือว่าคุ้นหน้า คุยกันง่าย” สำอางพูดถึงข้อดีของการเห็นหน้าค่าตากันมานาน ทำให้เมื่อต้องปรับเปลี่ยนการทำงาน จึงพูดคุยทำความเข้าใจกันได้อย่างรวดเร็ว
เมื่อไวรัสแพร่ระบาดอย่างไม่ปรานีใคร จากเดิมที่อุปกรณ์การทำงานหลัก ๆ ของสำอางคือถุงมือ รองเท้าบูท มาตอนนี้ พนักงานเก็บขยะของสำนักงานเขตพระนครต้องเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ในทุกวันที่ออกปฏิบัติงาน ทั้งการใส่ชุดป้องกันภัยส่วนบุคคล (PPE) สวมหน้ากากอนามัย ปกป้องอีกชั้นด้วยเฟซชีลด์ สวมถุงมือ รองเท้าบูท ซึ่งแต่ละสำนักงานเขตจัดหาให้บุคลากร เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อโควิด-19 ที่อาจปะปนอยู่กับขยะมูลฝอยทั้งหลาย โดยเฉพาะหน้ากากอนามัยใช้แล้ว และทิชชู่ที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งต่าง ๆ ที่ตั้งแต่โควิด-19 ระบาด ขยะพวกนี้ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
“เราพยายามป้องกันตัวเองและระมัดระวังมากขึ้น เวลาทำงานก็มีถุงมือ มีหน้ากากอนามัย มีอะไรต่าง ๆ เอาจริง ๆ ผมไม่ค่อยกังวลเท่าไหร่ ส่วนหนึ่งอาจเพราะเราอยู่กับขยะที่เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคมาตลอด อีกส่วนเพราะเรามีการป้องกันด้วยอุปกรณ์พวกนี้ แล้วก็ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ นอกจากนี้ ต้องพยายามอย่าคิดมาก ก็พอช่วยไม่ให้กังวลกับโรคนี้ได้
“ทุกวันนี้หลังเลิกงาน ผมก็อาศัยเดินเอา ไม่ได้ขึ้นรถเมล์ เพราะบางทีคนเยอะ แล้วก็แวะซื้อกับข้าวกลับมากินที่บ้าน เวลาผมอยู่บ้านก็เซฟตัวเอง ไม่ได้ออกไปข้างนอกเจอใคร อย่างน้องชายน้องสาวอยู่บ้าน ผมก็ไม่ไปคุยใกล้ ๆ พยายามรักษาระยะห่างอย่างที่เขารณรงค์ เพราะตัวเราทำงานกับสิ่งของที่มีความเสี่ยง เราอยู่กับเชื้อโรค อะไรที่ป้องกันได้ก็ป้องกันไว้ก่อน”
ในหน้าที่ของผู้พิทักษ์ความสะอาด สำอางอยากขอความร่วมมือจากทุกคนที่ทิ้งขยะจำพวกหน้ากากอนามัย เฟซชีลด์ ทิชชู่ปนเปื้อนสารคัดหลั่ง ให้ช่วยทิ้งใส่ถุงแยกต่างหาก พร้อมมัดปากถุงให้มิดชิด เพื่อป้องกันเชื้อโรคแพร่กระจาย เพราะถ้าใส่แล้วทิ้งปะปนกับขยะอื่น ๆ ก็อาจเป็นการแพร่เชื้อได้ทางหนึ่ง
ส่วนในบทบาทของคนที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกัน เขาขอให้กำลังใจคนไทยทุกคนว่า “สถานการณ์ช่วงนี้อาจไม่ดีเท่าไหร่ หลายคนต้องตกงาน หลายคนแทบไม่มีกิน แต่อยากให้ทุกคนยังมีหัวใจที่สู้ เพราะถ้าเรามีวันที่แย่ ๆ ได้ เราก็มีวันที่ดี ๆ ได้เหมือนกัน”
ภาพ: ภานุมาศ สงวนวงษ์/Thai News Pix