เมื่อใดก็ตามที่ชีวิตสิ้นหวังหรือเศร้าหมอง เสียงหัวเราะคือยาชั้นดี แม้เพียงนิดเดียวก็ช่วยบรรเทาทุกข์และต่ออายุคนให้ยืนยาวกว่าเดิมได้ สำหรับคนเป็น ‘ตลก’ มืออาชีพ เป้าหมายสำคัญของพวกเขาคือการสร้างเสียงหัวเราะและความบันเทิงให้ผู้คนมากที่สุด ซึ่งนักเดี่ยวไมโครโฟนระดับตำนานอย่าง บ็อบ โฮป (Bob Hope) บรรลุเป้าหมายมาแล้วนับไม่ถ้วนตลอดอาชีพการทำงานของเขาที่กินระยะเวลายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ นับตั้งแต่ยุค 1930s ถึง 1990s
หนึ่งในเกียรติยศครั้งสำคัญของโฮป คือการเป็นพิธีกรงานประกาศผลรางวัลออสการ์มากสุดในประวัติศาสตร์คือ 19 ครั้ง ระหว่างปี 1940-1978 ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเขาคือดาวตลกผู้มีปฏิภาณไหวพริบเฉียบคม สามารถยิงมุกได้หลากหลาย ตั้งแต่เรื่องยิบย่อยที่พบเจอในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงการทำให้เรื่องซีเรียส ๆ อย่างการเมืองให้กลายเป็นเรื่องขบขันได้อย่างชาญฉลาด
ไม่เพียงแค่จัดโชว์ในห้องแอร์เย็น ๆ สร้างเสียงหัวเราะให้เซเล็บคนดัง โฮปยังเป็นขาลุย พร้อมเดินทางไปสุดขอบโลกเพื่อสร้างเสียงหัวเราะให้กับคนที่สิ้นหวังและต้องการขวัญกำลังใจ โดยมากพวกเขาเหล่านั้นมักเป็นบรรดาทหารที่ต้องเสี่ยงชีวิตในช่วงสงครามคุกรุ่น มันอาจมาพร้อมความยากลำบาก แต่โฮปไม่เคยปริปากบ่น เพราะเขาเองก็ผ่านความลำบากมาเยอะ และถือเป็นภารกิจที่เขาภาคภูมิใจที่สุดในอาชีพการทำงานก็ว่าได้
บ็อบ โฮป เกิดที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ปี 1903 ชื่อจริงของเขาคือ เลสลี ทาวน์ส โฮป ก่อนจะเปลี่ยนชื่อใหม่ในอีกหลายปีให้หลัง เพราะชื่อเก่าเมื่อเรียกแบบย่อ ๆ ว่า เลส โฮป ก็ดูเหมือนความหวังจะริบหรี่ชอบกล เขาเป็นลูกคนที่ 5 จากทั้งหมด 7 คนของคุณพ่อ วิลเลียม เฮนรี โฮป ผู้ประกอบอาชีพเป็นช่างหิน และคุณแม่ เอวิส อดีตนักร้อง ซึ่งต่อมาทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาด หลังจากเขาลืมตาดูโลกไม่กี่ปี ตระกูลโฮปก็บอกลาอังกฤษ แล้วย้ายไปอยู่สหรัฐอเมริกา ตั้งรกรากอยู่ที่เมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ
การเกิดมาในครอบครัวชนชั้นกรรมาชีพ แม้จะมีความอบอุ่น แต่แค่นั้นไม่พอกับการมีชีวิตรอด ทำให้ทุกคนต้องช่วยกันทำงานหาเงินมาจุนเจือกันและกัน เด็กชายโฮปในวัย 12 ปี ต้องเริ่มหาเงินจากการเป็นนักแสดงข้างถนน เต้นกินรำกิน พร้อมทำทุกอย่างโดยไม่เกี่ยงว่าจะเป็นงานอะไร ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยรุ่น เขาทำตั้งแต่งานผู้ช่วยพ่อค้าเนื้อ คนส่งของ และยังเป็นนักมวย มีสถิติการชกชนะ 3 นัด แพ้แค่ครั้งเดียว ซึ่งถือว่าไม่เลวเลย
ถึงจะทำมาหลายอย่าง แต่สิ่งที่โฮปชอบที่สุดคือการแสดงตลก สมัยเด็ก ๆ เขาเคยประกวดแต่งกายเลียนแบบ ชาร์ลี แชปลิน แล้วได้รางวัลชนะเลิศ สาเหตุที่โฮปสนใจงานนี้ เพราะพ่อของเขาเคยเล่นตลกเลี้ยงชีพมาก่อน วิลเลียมจะตระเวนไปเล่นตามผับต่าง ๆ และมักจะเรียกเสียงฮากลับมาเป็นกอบเป็นกำแทบทุกแห่งที่เขาไปเยือน
อย่างไรก็ตาม เมื่อโฮปเปิดตัวในฐานะดาวตลกจริง ๆ ในปี 1931 มีงานแรกคือการเอนเตอร์เทนคนงานโรงงานถลุงเหล็ก ซึ่ง อิวอร์ พี่ชายของเขาเป็นผู้จัดการ ผลที่ออกมากลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะตอนเขาขึ้นโชว์ บรรดาผู้ฟังอยู่ในสภาพอิดโรยและเมาได้ที่ ต่อให้มีมุกตลกมาปล่อยเยอะแค่ไหน แต่ด้วยความใหม่ไม่เจนจัดเวที ทำอย่างไรก็ดึงดูดความสนใจของผู้ฟังไม่ได้ จนโฮปต้องกลับบ้านไปด้วยความผิดหวัง
ถึงจะเปิดตัวไม่สวย แต่โฮปไม่ย่อท้อ ก้าวแรกที่ล้มเหลวทำให้เขายิ่งมุ่งมั่นอยากแก้มือ เขาฝึกลับคมฝีปาก ศึกษาและหาลายเซ็นของตัวเอง ในเวลาไม่นานเขาก็ได้งานจัดรายการวิทยุรายการเล็ก ๆ ก่อนจะฉายแสงแพรวพราวเตะตาสถานี NBC ที่มอบหมายให้เขาผลิตรายการให้ ซึ่งก็คือ The Pepsodent Show Starring Bob Hope ซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุดอันดับต้น ๆ ของอเมริกา ช่วงปี 1938-1948
นอกจากจัดรายการวิทยุ บ็อบ โฮป ยังรับงานเล่นหนังด้วย เริ่มจากการเล่นหนังสั้นแนวตลก มีผลงานเรื่องแรกคือ Going Spanish (1934) แต่ทุกอย่างที่เป็นครั้งแรกย่อมน่าผิดหวัง หนังได้เสียงวิจารณ์ด้านลบจากทั่วทุกสารทิศ แม้กระทั่งตัวเขาเองยังส่ายหน้า และชอบเอามาใช้เป็นมุกจิกกัดตัวเองบ่อย ๆ ว่า “ถ้าเกิด จอห์น ดิลลินเจอร์ (โจรปล้นธนาคารชื่อดัง) ถูกจับตัวได้ล่ะก็ เขาต้องโดนทรมานด้วยการดูหนังเรื่องนี้ 2 รอบติด”
จุดเปลี่ยนอาชีพครั้งสำคัญของโฮป อยู่ที่การจับคู่กับ บิง ครอสบี้ นักร้องนักแสดงระดับซูเปอร์สตาร์แห่งฮอลลีวูด ทั้งคู่ถือเป็นส่วนผสมที่ลงตัว เข้าขากันอย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ย เวลาเล่นหนังด้วยกันทีไรจะเกิดเสียงหัวเราะลั่นโรง และทำเงินถล่มทลายแทบทุกครั้งไป ผลงานเด่นของพวกเขาคือหนังแนวตลกผจญภัย ผสมบทเพลงอันไพเราะตระกูล Road ซึ่งประกอบไปด้วย Road to Singapore (1940), Road to Zanzibar (1941), Road to Morocco (1942), Road to Utopia (1946), Road to Rio (1947), Road to Bali (1952) และ The Road to Hong Kong (1962)
ไม่เพียงแค่หนังเหล่านี้ แต่ตลอดอาชีพการทำงานพวกเขายังชอบร่วมงานกันอีกบ่อย ๆ ผ่านละครเวที รายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ และอื่น ๆ อีกมากมาย โฮปและครอสบี้เข้าขากันมาก ชนิดชอบด้นสดเล่นมุกนอกบทเสมอ แม้คนอื่นจะตามไม่ทัน แต่พวกเขาทั้งคู่ก็หาทางไหลต่อไปได้แบบไม่มีสะดุด ความตลกของคู่หูคู่ฮานี้คือสิ่งที่พบเห็นได้เป็นประจำ จนกระทั่งครอสบี้เสียชีวิตไปในปี 1977 เหตุการณ์นี้ให้โฮปเสียใจอยู่นานมากกว่าจะเรียกคืนสติกลับมาได้
งานสำคัญอีกอย่างของโฮปคือตระเวนจัดสแตนอัพ คอเมดี้ ตามเมืองต่าง ๆ ด้วยชื่อเสียงของเขาทำให้ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็มักจะมีคนแห่มาดูจนเต็มเสมอ จนกระทั่งปลายปี 1941 สงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้น สหรัฐอเมริกาต้องเกณฑ์คนจำนวนมากไปรบ แม้โฮปจะไม่ต้องไปด้วย แต่เขาไม่อยากนั่งเฉย ๆ ขณะที่ผู้คนต้องเสี่ยงชีวิต นั่นทำให้เขาตัดสินใจเข้าร่วมกับ United Service Organizations (USO) หรือองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อมอบความสุข เสียงหัวเราะ ช่วยปลุกขวัญและกำลังใจให้ทหารในสงคราม
[caption id="attachment_22238" align="aligncenter" width="1200"]
บ็อบ โฮป ขณะไปเยี่ยมให้กำลังใจทหารที่บาดเจ็บที่โรงพยาบาล[/caption]
จริง ๆ แล้ว ปัจจัยที่ทำให้โฮปเข้าร่วมภารกิจนี้ เพราะครั้งหนึ่งเคยมีคนแนะนำให้เขาไปเอนเตอร์เทนทหารในกองทัพอากาศที่กำลังเบื่อหน่าย เพราะสงครามยังไม่ปะทุเสียที ปรากฏว่าโฮปสามารถสร้างเสียงเฮฮาได้มากกว่าที่ใคร ๆ คาดคิด แม้กระทั่งตัวเขาเอง บรรดาทหารอากาศที่ต้องอยู่อย่างเบื่อหน่ายเป็นเวลานาน มีอารมณ์ร่วมและสนุกไปกับเขาแบบสุด ๆ ทำให้โฮปรู้สึกว่าพรสวรรค์ด้านการยิงมุกของเขามีประโยชน์อยู่มากทีเดียว อย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่เขาทำได้ดีที่สุดในสถานการณ์อย่างนี้
โฮปยังเป็นกระบอกเสียงรายสำคัญ ที่เชิญชวนเพื่อนร่วมอาชีพในฮอลลีวูดให้มาร่วมภารกิจนี้ด้วยกัน แม้เขาจะไม่ใช่คนแรกที่ฝ่าดงไปอยู่แนวหน้า เพื่อมอบขวัญและกำลังใจทหารในพื้นที่ แต่ก็เป็นสัญลักษณ์ที่ขาดไม่ได้ เขาไม่ได้ไปโชว์แค่ให้บรรดาทหารในพื้นที่ดูอย่างเดียว แต่ยังจัดรายการโทรทัศน์ตอนพิเศษถ่ายทอดกลับไปยังสหรัฐอเมริกาด้วย และจะมียอดคนดูไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน ร่วมหัวเราะท้องแข็งไปด้วยเสมอ
หากนับตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม ปี 1941 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เขาเดินสายแสดงตลกให้กับกองทัพ จนถึงปี 1966 มีการคำนวณว่าเขาเดินทางมากกว่า 2 ล้านไมล์ สามารถสร้างเสียงหัวเราะให้กับนายทหารมากกว่า 11 ล้านนาย (และกว่าเขาจะเลิกทำงานนี้ก็ปี 1991 นั่นหมายความว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว) เกิดเป็นมุกตลกว่า บ็อบ โฮป ทำให้สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดช้ากว่าที่ควรจะเป็น เพราะเขายังไม่ได้เดินทางไปให้กำลังใจทหารหาญอีกหลายกองพัน จึงจำเป็นต้องประวิงเวลา เพื่อให้เขาทำหน้าที่จนเสร็จก่อน (ฮา)
กฎของ บ็อบ โฮป มีไม่กี่อย่าง นอกจากการเอนเตอร์เทนผู้คนสุดความสามารถ ใครก็ตามที่ไปลงพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บจากสงคราม ต้องอย่าร้องไห้เสียน้ำตาเด็ดขาด เพราะมันอาจส่งผลให้ขวัญและกำลังใจของพวกเขายิ่งลดน้อยลงไปกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม มนุษย์ไม่ใช่หุ่นยนต์ที่สั่งห้ามความรู้สึกได้ โฮปเปิดเผยว่ามีแค่ครั้งเดียวเท่านั้นที่เขาแหกกฎนี้ คือในประเทศอิตาลี ปี 1943 ตอนนั้นเขาไปเยี่ยมทหารที่บาดเจ็บสาหัส ปรากฏว่ามีทหารนายหนึ่งซึ่งอาการโคม่ามาแล้ว 2 เดือน แต่จู่ ๆ วันนั้นกลับมีสติลืมตามาเห็นโฮป แล้วทักขึ้นว่า “คุณบ็อบ โฮป มาที่นี่ได้ยังไงครับเนี่ย” ทำเอาโฮปแทบจะกลั้นน้ำหูน้ำตาไว้ไม่ไหว จนเขาต้องขอตัวไปตั้งสติข้างนอกก่อนแล้วค่อยกลับไปใหม่
หากคิดว่าการเดินสายสร้างขวัญและกำลังใจช่วงสงครามของ บ็อบ โฮป เป็นสิ่งที่ง่าย ๆ สบาย ๆ ขอบอกว่าเป็นความคิดที่ห่างจากความจริงไปมาก! เพราะโฮปต้องเสี่ยงชีวิตไม่แพ้ทหาร ด้วยชื่อเสียงระดับซูเปอร์สตาร์แห่งฮอลลีวูด ทำให้เขาตกเป็นเป้าหมายที่ฝ่ายตรงข้ามต้องการจะเก็บด้วย และเกือบชะตาขาดของจริงหลายครั้ง โดยเฉพาะในสมรภูมิอันตรายอย่างสงครามเวียดนาม เมื่อพวกเวียดกงเกือบจะสังหารเขาและชาวคณะได้แล้วด้วยการบุกถล่มโรงแรมที่พัก ยังดีว่าโชคพอเข้าข้างพวกเขาอยู่บ้าง สามารถแคล้วคลาดจากเหตุร้ายครั้งนั้นมาได้อย่างเฉียดฉิว
แต่ในสมรภูมิเดียวกัน ก็ถือเป็นรอยด่างพร้อยในหน้าที่ของโฮปด้วย แม้โฮปจะปรารถนาดีเช่นเคย พร้อมไปเอนเตอร์เทนทหาร แต่คนดูของเขาไม่รู้สึกสนุกด้วยเลย ต่อให้ตลกแค่ไหนก็ไม่ส่งเสียงเชียร์ออกมา เพราะพวกเขาไม่มีอารมณ์จะตลกจริง ๆ กับการเอาชีวิตมาทิ้งในสงครามไร้แก่นสารแบบนี้ (ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ริชาร์ด นิกสัน ผู้ผลักดันอเมริกาเข้าสู่สงคราม เป็นเพื่อนสนิทของโฮป)
ถึงจะเสียศูนย์กับสงครามเวียดนามไปเยอะ แต่โฮปยังเดินหน้าลงพื้นที่เป็นประจำ ไม่ว่าจะในสมรภูมิไหน เราจะพบเห็นเขาไปให้กำลังใจทหารตลอด เขาทำจนกว่าตัวเองจะไปต่อไม่ไหว จนออสการ์ยังเคยมอบรางวัลเกียรติยศให้เขาจากการรับใช้ชาติครั้งนี้ ส่วนรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ยกย่องเขาให้เป็น 'ทหารผ่านศึกกิตติมศักดิ์' คนแรกและคนเดียวประจำกองทัพสหรัฐฯ ด้วย
บ็อบ โฮป มีชีวิตและหน้าที่การงานยืนยาว เขาเสียชีวิตเมื่อปี 2003 ด้วยอายุ 100 ปี การจากไปของเขาถือเป็นความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงของอเมริกาและแวดวงบันเทิงระดับโลก ความดีงามของเขาไม่เพียงแค่สร้างโลกที่ดีขึ้นด้วยเสียงหัวเราะ สร้างความหวังให้ทุกคนได้เหมือนนามสกุล “โฮป” ของเขา แต่ยังทำให้คนจำนวนมากได้ตระหนักว่า ต่อให้ไม่ได้เป็นทหารออกรบ เราทุกคนก็สามารถรับใช้ชาติได้ในวิถีทางของตัวเอง
เพราะบนโลกนี้ ทุกอาชีพล้วนมีเกียรติและล้วนช่วยกันขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า หากทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในห้วงเวลายากลำบาก ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตใด เราย่อมสามารถฝ่าฟันมันไปได้ เหมือนที่ บ็อบ โฮป พิสูจน์ให้เห็นมาแล้วตลอดชีวิต
ที่มา
https://www.imdb.com/name/nm0001362/
https://www.latimes.com/visuals/photography/la-me-fw-archives-bob-hope-entertains-the-troops-20181211-htmlstory.html
https://www.thenation.com/article/archive/bob-hope-prisoner-war/
https://www.loc.gov/exhibits/bobhope/uso.html
https://www.nytimes.com/2003/07/28/obituaries/bob-hope-comedic-master-and-entertainer-of-troops-dies-at-100.html
https://time.com/5058432/1967-bob-hope/
https://www.latimes.com/entertainment/movies/la-et-mn-bob-hope-20141129-story.html
https://www.rollingstone.com/culture/culture-news/bob-hope-reflects-on-the-road-not-taken-38901/
เรื่อง: ปารณพัฒน์ แอนุ้ย