ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ:ทางออกโควิด-19 "ช่วงเวลาพิสูจน์น้ำหนึ่งใจเดียวกันของสังคม"
"สถานการณ์ที่มีความท้าทาย สถานการณ์แห่งความยากลำบาก สถานการณ์แห่งความทุกข์ นี่ต่างหากเป็นการพิสูจน์ว่าสังคมไทยมีสิ่งที่เรียกว่าความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันไหม มีสิ่งที่เรียกว่าความสามัคคีไหม มันพิสูจน์กันในเวลานี้ ว่าตกลงคุณจะดูแลคน คุณจะไม่ทิ้งใครข้างหลังจริง ๆ หรือเปล่า"
ห้วงวิกฤตโควิด-19 หลายฝ่ายในสังคมต่างหยิบยื่นความช่วยเหลือให้กันและกัน เพื่อให้ทุกคนผ่านภาวะนี้ไปได้
21 เมษายน ปี 2563 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า ได้พาสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชม โรงงานบริษัทจรูญรัตน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ดูการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อช่วยโรงพยาบาลรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ซึ่งโรงงานได้ทำงานร่วมกับศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีมแพทย์ ในการออกแบบอุปกรณ์การแพทย์นี้ โดยระยะแรกจะมีการส่งไปโรงพยาบาล 12 แห่งทั่วประเทศ
The People ได้สัมภาษณ์พิเศษธนาธร ในประเด็นทางเลือก สู่ทางรอด และแนวทางการช่วยเหลือผู้คนในสังคม จากภาวะดังกล่าวที่เกิดขึ้น
The People: เริ่มช่วยผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ตั้งแต่ตอนไหน
ธนาธร: โครงการนี้เริ่มขึ้นปลายเดือนมีนาคม (2563) ประมาณวันที่ 28-29 ผมได้รับการติดต่อจากทีมงานที่เป็นอดีตผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ เขามาเล่าให้เราฟังถึงการทำงานร่วมกันระหว่างทีมศิษย์เก่าของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับทางทีมแพทย์ ก็คือทางวชิรพยาบาล คือหมอกับวิศวกรมาพบกัน แล้วก็ออกแบบเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ ที่สามารถช่วยหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสได้ แล้วก็เปิดเป็นโอเพนซอร์ส คือไปเปิดแบบออกเป็นสาธารณะ พอผมไปรู้ข่าวเรื่องนี้ปุ๊บ ผมก็เอาแบบ 7-8 แบบ อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ได้รับการออกแบบแล้วเปิดเป็นโอเพนซอร์ส เอาออกมาดู แล้วก็เห็นว่า มีอยู่ 2 อย่าง ที่เราเห็นว่ามีความรู้ ความสามารถ มีศักยภาพที่จะผลิตเป็นจำนวนมากขึ้นมาได้ นั่นก็คือ ตัว Modular ARI Clinic และ Patient Transportation Chamber
ตัวแรกก็คือ เป็นโมดูลห้องคลินิกที่บริหารจัดการอากาศภายในด้วยความดัน เพื่อไม่ให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลแล้วก็ตรวจผู้ป่วยและผู้เสี่ยงที่เข้ารับการรักษา มีความเสี่ยงที่ต้องติดเชื้อ แพร่เชื้อจากกัน ควบคุมตรงนี้ด้วยระบบแรงดันอากาศ ตัวที่สอง ก็คือเตียงที่ใช้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง โดยที่เป็นเตียงเคลื่อนย้ายที่มีระบบแรงดันลบ ซึ่งทั้งสองตัวนี้ พอศึกษาแล้ว เราเห็นว่าอยู่ในวิสัยที่เรามีศักยภาพ มีความรู้ มีทรัพยากรเพียงพอ มีเครือข่ายที่จะทำมันได้ เราจึงติดต่อประสานงานกับโรงพยาบาลที่มีความต้องการอุปกรณ์ทั้งสองชิ้นนี้ ก็มีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 12 โรงพยาบาล เราก็ได้ติดต่อ แล้วก็จัดความสำคัญ ความเร่งด่วนของปัญหา คือให้โรงพยาบาลที่อยู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นความสำคัญอันดับหนึ่ง โรงพยาบาลที่อยู่ภาคใต้ สามจังหวัดชายแดน และจังหวัดใกล้เคียง เป็นความสำคัญเร่งด่วนอันดับสอง
ข้อดีของโครงการนี้คือ มันไม่ได้ใช้เฉพาะกับการต่อสู้การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสเพียงอย่างเดียว แต่อุปกรณ์ทุกอย่าง เราเลือกวัสดุอย่างดี เพื่อที่ให้สามารถใช้ได้นานกว่านั้น เพราะหลังจากนี้ โรงพยาบาลทุกแห่งก็บอกกับเราว่า เขาจะเอาไปทำสำหรับการตรวจสอบผู้ป่วยในอนาคตที่เป็นโรคติดต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัณโรค ที่สามารถติดต่อกันได้คล้ายคลึงกับโควิด เราทำร่วมกับบริษัทเอกชนอีก 3 บริษัท ซึ่งก็คือ บริษัท จรูญรัตน์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด บริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด และบริษัท โอ.อี.ไอ พาร์ท จำกัด ซึ่งเป็นเครือข่ายของเราในการทำอุปกรณ์นี้ขึ้นมา ทั้งสามบริษัทน่ารักมาก ทุกคนลงแรง ทุกคนทำงานตัวนี้ไม่ได้หวังผลกำไร
The People: พื้นฐานความคิดในการทำโครงการนี้ เกิดมาได้อย่างไร
ธนาธร: โครงการนี้ผมว่ามันสวยงามในแบบฉบับของมันเอง คือผมไม่เคยรู้จักใครที่ทำงานอยู่วชิรพยาบาล ผมไม่รู้จักหมอ ผมไม่รู้จักวิศวกรคนที่คิดแบบ พวกเขาทำ หมอกับวิศวกรมาเจอกัน สร้างแบบทิ้งไว้ โอเพนซอร์ส เปิดให้สาธารณะใช้ ผมมีคนรู้จักมาบอก ผมไปดูแบบ แล้วผมก็เอาไปคุยกับเครือข่าย วิศวกรมาเห็นแบบ ไปคุยกับนักอุตสาหกรรมคนอื่น เอาความรู้ความสามารถ เอากำลังการผลิต เอาเครื่องจักรมาช่วยกันทำ โดยที่ประสานงานกับอาสาสมัครคณะก้าวหน้าเพื่อติดต่อไปที่โรงพยาบาลต่าง ๆ
ถ้าโรงพยาบาลไหนได้ยินเสียงของผม แล้วท่านมีความต้องการ จำเป็นจริง ๆ แจ้งพวกเรามาได้ คือการติดต่อประสานงาน ทั้งกับผู้ผลิต ทั้งกับซัพพลายเออร์ ทั้งกับโรงพยาบาล ทั้งด้านวิศวกรรม ทั้งด้านความต้องการ การจัดส่ง ส่งมอบ ต้องใช้ทรัพยากร ต้องใช้คนติดต่อสูง เรามีกำลังเพียงเท่านี้ ก็เลยทำออกมาลอตแรกเพียงแค่ 12 โรงพยาบาล แต่ถ้าเกิดว่ามีโรงพยาบาลที่ฟังอยู่ แล้วมีความต้องการเพิ่มจริง ๆ ติดต่อเรามาได้นะครับ เราก็พร้อม เราก็ยินดี เพราะที่ผ่านมาคือนั่งคุยกับหมอทีละคนนะครับ ผมเองนั่งประชุมกับหมอด้วยตัวเองเกือบทุกโรงพยาบาล
The People: ภาวะแพร่ระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลายในตอนไหน แล้วแนวทางที่บรรเทาความยากลำบากในสังคม ควรเป็นไปในทิศทางไหน
ธนาธร: ต้องบอกว่า เราจัดการมันเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้จริง ๆ ก็ต่อเมื่อมันมีวัคซีนมาป้องกันการแพร่ระบาด วัคซีนที่มารักษาคนที่ติดเชื้อไปแล้ว ถ้าตราบใดมันไม่มีวัคซีน มันก็คงอยู่กับเราไปอีกนาน
เราอยู่ในมาตรการกึ่งปิดกึ่งเปิดมาแล้วประมาณเดือนหนึ่ง เราบอกว่าขอให้ประชาชนทุกคนให้ความร่วมมือ อยู่บ้านเพื่อชาติ จำได้ไหมครับ อยู่บ้านเพื่อชาติ ปัญหาคือ พอเราไปปิดระบบเศรษฐกิจกึ่งปิดกึ่งเปิดแบบนี้ มันทำให้คนไม่มีงานทำ ขาดรายได้เยอะแยะมหาศาล โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบบริษัท ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม เป็นแรงงานนอกระบบ ไม่ว่าจะอยู่ในภาครับเหมาก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นคนขายพวงมาลัย เป็นพนักงานเสิร์ฟในภัตตาคาร ร้านอาหารตอนกลางคืน คนต่าง ๆ เหล่านี้ไม่มีรายได้หมดเลย เข้าไม่ถึงประกันสังคม ไม่ได้รับการดูแล
คำถามคือ ชาติให้อะไรพวกเขาบ้าง ที่ต้องเสียสละ ที่ต้องให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการอยู่บ้าน การไม่ออกไปทำมาหากิน ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถทำงานที่บ้านได้ แต่ละคนมีเงื่อนไขชีวิตที่แตกต่างกัน การทำงานที่บ้านใช้ไม่ได้สำหรับทุกคน ถามว่ารัฐบาลทำอย่างไรได้บ้าง หลังจากนี้มาตรการมันเหลือให้เลือกสองทาง ทางเลือกก็คือ ดำเนินนโยบายกึ่งเปิดกึ่งปิดอย่างนี้ต่อไป แต่ถ้าดำเนินนโยบายกึ่งเปิดกึ่งปิดอย่างนี้ต่อไป คนกำลังเดือดร้อน ถ้าจะดำเนินอย่างนี้ต่อไป ต้องออกมาตรการดูแลคนที่มีลักษณะถ้วนหน้า ไม่ใช่ต้องมาพิสูจน์ความจนกัน พิสูจน์ถูกพิสูจน์ผิด คนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ ได้รับการดูแล ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้รับการดูแล
อีกทางเลือกเชิงนโยบายหนึ่ง ก็คือ พอเราเริ่มล็อคมาแล้ว ตัวเลขมันดีขึ้น มันควบคุมได้ ถ้าจะเดินหน้าต่อไป อีกทางเลือกเชิงนโยบายหนึ่งก็คือ นโยบายแบบ ล็อค คลาย ล็อค คลาย ล็อคสลับคลาย จำได้ไหมครับ คลื่นลูกแรก ที่โคโรนาไวรัสกระหน่ำเข้ามาในสังคมไทย กระแทกเข้ามาที่เรา เราไม่มีความพร้อมเลย ดังนั้น ระบบสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็น มาสก์ เจล ความรู้ความเข้าใจของบุคลากรทางการแพทย์ จำนวนเตียง จำนวนยารักษา จำนวนเครื่องช่วยหายใจ มันมีไม่เพียงพอทั้งระบบเลย เราไม่มีความพร้อมในการรับมือคลื่นลูกแรกของโคโรนาไวรัส เราจึงต้องล็อคดาวน์ เราจึงต้องกึ่งปิดกึ่งเปิด เพื่อจัดการมัน ตอนนี้กึ่งปิดกึ่งเปิดมันจัดการในระดับที่คนป่วยรายวันคงที่แล้ว อยู่ในหลักสิบ ไม่ขึ้นไปถึงหลักร้อยมาประมาณ 10 วันแล้ว ถ้าเราคลาย ควรจะกลับมาทำมาหากินได้ กลับมาเริ่มชีวิตได้ แต่มันจะทำให้โอกาสที่จำนวนผู้ติดเชื้อ กระดกกลับเข้ามาอีกรอบหนึ่ง จากเดิมที่ทรงอยู่ มันอาจจะขึ้นมาอีกรอบหนึ่ง
แต่ขึ้นรอบนี้ เราจะพร้อมกว่าเดิม คนมีความตระหนักมากกว่าเดิม คนรู้จักการดูแลตัวเองมากกว่าเดิม บุคลากรทางการแพทย์พร้อมกว่าเดิม ความรู้ความเข้าใจ อุปกรณ์ในการป้องกัน อุปกรณ์ในการดูแลรักษาจะพร้อมกว่าเดิม ดังนั้น รอบสอง ถ้ารอบแรกขึ้นอย่างนี้ รอบสองจะไม่สูงเท่ารอบแรกแล้ว ถ้าเราคลายอีกครั้ง แล้วถ้าดูแล้วมันเริ่มสูงเท่าไหร่ ต้องล็อคอีกครั้งหนึ่ง ให้มันกระดกลงอีกรอบหนึ่ง ดังนั้นมันจะเป็นรูปคลื่นสูง สูงขึ้น แต่ไม่ถึงเท่าเดิมแล้วนะครับ กลับมาลง ดังนั้น ยอดสูงสุดของแต่ละการคลาย จะลดลงเรื่อย ๆ จะลดลงเรื่อย ๆ นี่เป็นอีกทางเลือกเชิงนโยบายที่รัฐบาลเลือกได้
The People: ทางรอดของวิฤตนี้คืออะไร
ธนาธร: วิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาส วิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาสอย่างมาก เรากำลังจะใช้ คือถ้าในภาวะปกติ คุณคิดว่า เราจะสามารถผ่านเงินกู้ที่จะเอามาแก้ไขวิกฤตนี้ คุณคิดว่าทำได้ในภาวะปกติไหม ไม่ได้ ไม่มีทาง นี่เป็นภาวะพิเศษจำเป็นจะต้องใช้เรื่องนี้ให้เป็นโอกาส อย่าให้เสียของ ถ้าผมย้อนกลับไปวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ถ้าเราเรียนรู้อะไรจากวิกฤตปี 2540 เงินพวกที่อัดเข้ามา อย่าให้ไปกระจุกอยู่กับกลุ่มทุน ไปอุ้มเฉพาะคนรวย แต่เงินรอบนี้เข้ามาต้องแปลงเงินเป็นโอกาสที่ดีกับสังคมได้
สิ่งที่สำคัญที่สุดในสังคมไทยตอนนี้ เวลาเราพูดถึงเรื่องพวกนี้ เราต้องเข้าใจว่า ช่วงเวลาแห่งการสมานฉันท์คือช่วงเวลานี้ ช่วงเวลาของการเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันคือช่วงเวลานี้ เวลาแห่งความสุขไม่เคยพิสูจน์ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของสังคม เราไม่เคยพิสูจน์ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้ในเวลาแห่งความสุข จะพิสูจน์เรื่องนี้ มันจะต้องเจอกับสถานการณ์แบบนี้ สถานการณ์ที่มีความท้าทาย สถานการณ์แห่งความยากลำบาก สถานการณ์แห่งความทุกข์ นี่ต่างหากเป็นการพิสูจน์ว่าสังคมไทยมีสิ่งที่เรียกว่าความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันไหม มีสิ่งที่เรียกว่าความสามัคคีไหม มันพิสูจน์กันในเวลานี้ ว่าตกลงคุณจะดูแลคน คุณจะไม่ทิ้งใครข้างหลังจริง ๆ หรือเปล่า