หมอบรัดเลย์ หรือ Dan Beach Bradley (ค.ศ. 1804-1873) คือ หมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน ที่เป็นทั้งมิชชันนารี และหมอที่จบหมอมาจริง ๆ ได้เดินทางมาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่า "สยาม" ณ ขณะนั้น คือเมื่อปี 1835 ตรงกับช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ 3
แม้จะเป็นหมอ แต่บรัดเลย์กลับได้รับการยกย่องมากกว่าในฐานะ "บิดาการพิมพ์" ของไทย แทนที่จะเป็นเรื่องของการแพทย์ ทั้งที่เขาเองก็เป็นผู้ที่นำเข้าการแพทย์สมัยใหม่เข้ามาในเมืองไทยและได้แสดงฝีมือเป็นที่ประจักษ์ อย่างเช่นการผ่าตัด ตัดแขนพระถูกพลุระเบิดใส่ ผ่าตัดต้อกระจก หรือตัดเนื้องอกก้อนโตจากหน้าผาก
นอกจากนี้ บรัดเลย์ยังควรได้ชื่อว่าเป็นผู้ริเริ่มการทำวัคซีนในเมืองไทย เมื่อเขาพยายามยับยั้งโรคห่าที่คร่าชีวิตคนไทยจำนวนมาก รวมถึงลูกสาวของบรัดเลย์เองที่ใช้ชีวิตเมืองไทยด้วย นั่นก็คือโรคไข้ทรพิษ หรือฝีดาษ (smallpox) ที่ระบาดทุกปี คร่าชีวิตคนคราวละไม่น้อย และน่าจะร้ายแรงยิ่งเสียกว่า "โควิด-19" หากเปรียบเทียบเฉพาะอัตราการเสียชีวิต เทียบกับยอดผู้ติดเชื้อ
เพราะในอดีตอัตราการตายของผู้ติดไข้ฝีดาษนั้นสูงถึงร้อยละ 30 ขณะที่ โควิด-19 ถึงวันที่ 22 เมษายน 2020 มีผู้เสียชีวิตแล้ว 163,097 ราย ยอดผู้ติดเชื้อรวม 2,402,250 ราย อัตราการตายจึงอยู่ที่ราวร้อยละ 6.79
นอกจากจะมีอัตราการตายที่สูงแล้ว คนที่รอดชีวิตมาได้ แม้จะไม่ติดโรคซ้ำ แต่มีความเป็นไปได้สูงที่จะเสียโฉม หรือพิกลพิการตาบอด เนื่องจากพิษบาดแผลของฝีที่ขึ้นทั่วร่างกาย
มนุษย์รู้จักโรคฝีดาษนี้มานาน พบหลักฐานเป็นดีเอ็นเอไวรัสจากศพแห้ง (มัมมี) ของเด็กในโบสถ์แห่งหนึ่งในลิทัวเนีย ซึ่งยืนยันได้ว่า มันน่าจะปรากฏตัวขึ้นมา "อย่างน้อย" ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ขณะที่นักวิชาการคาดว่า โรคระบาดร้ายแรงที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ในชุมชนต่าง ๆ ก็อาจเป็นโรคฝีดาษได้ และน่าจะมีอายุอานามเป็นพัน ๆ ปี
คนโบราณพยายามหาทางป้องกันโรคนี้มานานแล้ว อย่างคนจีนและอินเดียก็รู้จักใช้สะเก็ดฝีของคนที่เป็นฝีดาษเข้าสู่ร่างกายคนปกติ (เช่นการเอาสะเก็ดแผลมาบดแล้วสูดเข้าทางจมูกเหมือนยานัตถุ์) วิธีการนี้อาจทำให้ผู้ใช้ติดโรคและแพร่เชื้อได้ แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะหายได้มากกว่าการติดเองตามปกติ
วิธีการที่ปลอดภัยกว่า เพิ่งเกิดขึ้นในปลายศตวรรษที่ 18 เมื่อ เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) หมอจากอังกฤษ ไปสังเกตเห็นว่า ทุกครั้งที่มีการระบาดของฝีดาษ ชาวบ้านที่ทำปศุสัตว์รีดนมวัวมักจะไม่ติดโรค เมื่อสังเกตลงไปอีกก็จะพบว่า ชาวบ้านเหล่านี้มีฝีตามมือ ซึ่งติดมาจากวัวที่ติดฝีวัว (cowpox) แต่คนที่ติดฝีวัวเหล่านี้หาได้เจ็บป่วยรุนแรงไม่ แถมยังไม่แพร่จากคนสู่คน
ในปี 1796 เจนเนอร์จึงทำการทดลอง ด้วยการเอาเนื้อเยื่อแผลสดจากคนรีดนมที่ติดฝีวัวไปถ่ายให้กับเด็กชายรายหนึ่ง เด็กคนนี้มีอาการป่วยเล็กน้อยเป็นเวลา 9 วัน พอหายดี เจนเนอร์จึงลองเอาเชื้อฝีดาษของแท้ไปถ่ายให้กับเด็กคนนี้ ปรากฏว่า เด็กไม่ป่วยเลย เมื่อเขาทำการทดลองเพิ่มเติมก็ได้ผลเช่นเดียวกัน จึงนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ฝีวัวสามารถป้องกันฝีดาษได้ ทั้งยังไม่ติดต่อระหว่างคนสู่คน เจนเนอร์จึงเสนอให้ใช้วิธีการนี้ป้องกันโรคฝีดาษ เขาจึงได้ชื่อว่าเป็น "บิดาแห่งการทำวัคซีน" ในยุคที่มนุษย์ยังไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่า จุลชีพต่าง ๆ ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อย่างไร
(เป็น หลุยส์ ปาสเตอร์ [1822-1895] นักวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ 19 ที่พิสูจน์ให้เห็นว่า จุลชีพคือต้นตอของโรคร้าย และเป็นสาเหตุที่ทำให้อาหารเน่าเสีย)
บางคนอาจจะสงสัยว่า การปลูกฝีนับว่าเป็นการทำวัคซีนได้ด้วยหรือ? ก็ต้องตอบว่าได้ เพราะการทำวัคซีนคือ การเอาจุลินทรีย์ หรือพิษที่มีฤทธิ์อ่อนเข้าไปในร่างกาย เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา การปลูกฝีจึงเป็นการทำวัคซีนชนิดหนึ่ง
ความสำเร็จของเจนเนอร์ จึงทำให้การทำวัคซีนด้วยการปลูกฝีเป็นที่แพร่หลายในฝั่งตะวันตก เมื่อขึ้นสู่ศตวรรษที่ 19 หลายประเทศถึงกับบังคับให้ต้องปลูกฝีให้เด็กทุกคน
พอถึงยุคของบรัดเลย์ เขาก็คุ้นเคยกับการปลูกฝีเป็นอย่างดี ในหนังสือเรื่อง "ตำราปลูกฝีโค ให้กันโรคธรพิศม์ไม่ให้ขึ้นได้" ของเขาเอง กล่าวว่า หมออเมริกันทุกคนที่เดินทางไปต่างประเทศล้วนผ่านการปลูกฝีมาแล้ว แต่เขาถูกปลูกฝีด้วยวิธีการที่ต่างออกไปด้วยความจำเป็น เนื่องจากในวัยเด็กมีคนต่างถิ่นเดินทางเข้ามาในหมู่บ้าน แล้วคนดังกล่าวก็ติดฝีดาษมาด้วย เขาเองตอนนั้นยังไม่ได้ปลูกฝี และหาฝีวัวที่ไหนไม่ได้ พ่อของเขาจึงเอาเชื้อฝีดาษมาปลูกให้เขาโดยตรง และเขาก็รอดชีวิตมาได้
เมื่อบรัดเลย์เป็นผู้ใหญ่ โรคฝีดาษก็ไม่ค่อยเป็นที่ปรากฏในดินแดนบ้านเกิด แต่เมื่อเดินทางมาถึงเมืองไทย เขาจึงได้พบว่า ชาวบ้านในแถบนี้ยังคงเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายชนิดนี้เป็นอันมากจนเป็นที่น่าเวทนายิ่งนัก เขาจึงริเริ่มปลูกฝีให้กับประชาชนในแผ่นดินสยาม
แรกทีเดียวบรัดเลย์ทำการปลูกฝีให้ลูกหลานในชุมชนชาวต่างชาติก่อน โดยอาศัยหนองฝีโคที่นำเข้ามาจากสหรัฐฯ นอกจากนี้ กงสุลฝรั่งเศส ขุนนางและเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ของไทยที่สนิทสนม ก็ขอให้บรัดเลย์ช่วยปลูกฝีให้กับเหล่าลูกหลานบริวารด้วย เขาก็สามารถปลูกฝีให้คนนับร้อยคนในคราวนั้น แต่น่าเสียดายว่า การปลูกฝีลักษณะนี้นั้น ทำได้เพียงคราวละ 3 ถึง 4 เดือน ก่อนที่หนองฝีวัวนำเข้าจะหมดไป (เหตุการณ์นี้น่าจะเป็นปี 1840 เพราะตำราปลูกฝีโคเผยแพร่ปี 1844 และบรัดเลย์เล่าว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อน)
หลังจากนั้นบรัดเลย์ก็เขียนหนังสือไปขอให้เครือข่ายหมอที่เขารู้จัก ทั้งหมอในสหรัฐฯ และหมอในประเทศอื่น ๆ ให้ช่วยส่งหนองฝีวัวมาให้เขาที่เมืองไทยเพื่อทำการปลูกฝีต่อไป แต่น่าเสียดายว่า หนองฝีวัวที่เขาได้มานั้น กว่าจะนั่งเรือข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็ใช้เวลานับแรมเดือนแรมปี ทำให้ส่วนมากเสื่อมฤทธิ์และไร้ประโยชน์
เมื่อเกิดการระบาดอีกระลอกหนึ่ง ลูกสาวของบรัดเลย์ก็ติดเชื้อ และเสียชีวิตลงในเดือนธันวาคม 1842 ซึ่งทำให้เขาเสียใจเป็นอย่างมาก และทุ่มเทกับการปลูกฝียิ่งขึ้น ส่งจดหมายขอความช่วยเหลือไปยังหมอต่างแดนมากขึ้นกว่าเก่า ทั้งในสหรัฐฯ อินเดีย กวางตุ้ง มาเก๊า เพราะเขาเข้าถึงหัวอกพ่อแม่คนอื่น ๆ เป็นอย่างดีว่า จะเป็นอย่างไรเมื่อเห็นลูกติดไข้ฝีดาษ
อย่างไรก็ดี การปลูกฝีของบรัดเลย์สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง เพราะจำเป็นต้องอาศัยหนองฝีวัวนำเข้า ซึ่งหลายครั้งนำมาปลูกแล้วไม่เป็นผล เขาจะหาฝีวัวท้องถิ่นในเมืองไทยก็หาไม่ได้ ลองใช้เชื้อฝีดาษฉีดใส่วัวไทยตามคำแนะนำของเพื่อนร่วมวิชาชีพ วัวไทยก็หาได้ติดฝีไม่ บางครั้งก็จำเป็นต้องใช้เชื้อฝีดาษที่มีพิษแรงมาปลูกฝีแทนซึ่งก็มีความเสี่ยงสูงกว่า และในระยะแรก ๆ เพื่อทดลองว่าหนองฝีวัวที่เขาได้มาจากต่างประเทศนั้นได้ผลหรือไม่ ก็จำเป็นต้องใช้ฝีดาษถ่ายใส่คนที่เขาปลูกฝีให้ทดสอบดู ซึ่งหากไม่สำเร็จ คนคนนั้นก็ติดฝีดาษไปด้วย
ความผิดพลาดจากการขนส่งในเบื้องต้นจนไม่อาจรับประกันได้ว่า การปลูกฝีแต่ละครั้งจะสำเร็จหรือไม่ กระทบต่อความน่าเชื่อถือของบลัดเลย์เป็นอย่างมาก แม้ว่าตอนหลังเขาจะมีประสบการณ์มากขึ้น และรู้ได้ทันทีว่า ฝีที่ปลูกนั้นได้ผลหรือไม่ และบอกคนไข้ไปตามนั้น แต่คนไข้เหล่านั้นก็ไม่ฟัง ไปโทษเขาก็มีเมื่อตอนหลังไปติดโรคฝีดาษ บ้างก็ว่าเพราะไปปลูกฝีกับหมอบรัดเลย์ ตอนหลังติดเชื้อฝีดาษจึงยิ่งเป็นหนักก็มี จนเป็นมายาคติว่า การรักษาแบบฝรั่งไม่ได้ผลกับคนไทยก็มี
แม้การปลูกฝีของบรัดเลย์มีผลเป็นที่น่าเชื่อถือในหมู่เจ้านายชั้นสูงหัวตะวันตก จนส่งหมอหลวงมาเรียนการปลูกฝีด้วย แต่กลุ่มขุนนางและชนชั้นสูงหัวเก่ายังมีอยู่มากกว่า บางคนมาลองปลูกแล้วล้มเหลว ด้วยความที่มันเป็นวิทยาการใหม่ที่คนไม่คุ้นเคยย่อมไม่วางใจอยู่แล้ว เมื่อได้รับฟังข่าวลือดังนั้นก็พากันเชื่อไปตาม ๆ กัน ทำให้บรัดเลย์เดือดเนื้อร้อนใจไม่น้อย
ด้วยมีโรงพิมพ์เป็นของตนเอง เขาจึงเขียน "ตำราปลูกฝีโค ให้กันโรคธรพิศม์ไม่ให้ขึ้นได้" ออกเผยแพร่สร้างความเข้าใจให้กับสังคมไทย และเตือนให้เพื่อนหมอสมัยใหม่ระมัดระวังให้ดี อย่าได้พลาดพลั้งเอาหนองฝีวัวที่หมดสภาพไปปลูกให้กับคนไข้ สังเกตติดตามคนไข้เสมอว่าฝีขึ้นหรือไม่ ใช่ฝีวัวแท้หรือเปล่า เพราะความผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจเพียงเล็กน้อยจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือต่อไปอย่างรุนแรง
มีบางคนตั้งข้อสังเกตไว้ว่า บรัดเลย์ใช้วิชาหมอเพื่อโฆษณาชวนเชื่อให้คนหันไปนับถือคริสต์ศาสนาเป็นสำคัญ แต่หากได้ลองอ่านตำราเล่มนี้จะเห็นว่า เขามีแรงผลักดันอย่างแรงกล้าที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในสังคมที่เขาเป็นเพียงคนนอกอย่างแท้จริง แม้จะล้มเหลวหลายครั้งก็ยังสู้ต่อกับความไม่รู้ที่หยั่งลึกเพื่อให้คนไทยตาสว่างได้รับรู้และรับการรักษาด้วยวิชาแพทย์ที่อยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ และสมควรที่จะได้รับการยกย่องในฐานะผู้บุกเบิกและทุ่มเทให้กับการแพทย์สมัยใหม่ในเมืองไทยคนหนึ่ง
(หมายเหตุ: คำว่า “ห่าลง” นั้น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตหมายถึง “ก. เกิดโรคระบาดอย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้คนตายจำนวนมาก เช่น โรคลงราก (อหิวาตกโรค) กาฬโรค” ดังนั้น การระบาดของฝีดาษ หรือ โควิด-19 จะเรียกว่า ห่าลง ก็ได้เช่นกัน)