คิวบา ประเทศผู้ส่งออกหมอ ช่วยเหลือวิกฤตสาธารณสุขทั่วโลก
"หลังเรียนจบ เนื่องด้วยปัจจัยพิเศษบางประการ และอาจด้วยนิสัยส่วนตัวของผม ผมเริ่มตะลอนทัวร์ทั่วทวีปอเมริกา แล้วก็ได้รู้จักคุ้นเคยกับทุกพื้นที่ ยกเว้นก็แต่ เฮติ กับซันโตโดมิงโก (เมืองหลวงของโดมินิกัน) ผมได้ไปประเทศอื่นทุกที่ในละตินอเมริกาและใช้เวลากับมันพอสมควร ตอนแรกในฐานะของนักศึกษาและครั้งหลังในฐานะหมอ" เช กูวารา อดีตหมอชาวอาร์เจนตินา กล่าวถึงประสบการณ์เบื้องต้นที่เป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งผลักดันให้เขากลายเป็นนักปฏิวัติ (Che Guevara, On Revolutionary Medicine)
"ผมได้ใกล้ชิดกับความยากจน ความอดอยาก และโรคภัยไข้เจ็บ เมื่อไม่อาจรักษาลูกเต้าได้เพราะไม่มีเงิน ประกอบกับความอ่อนล้าจากการต้องอดอยากเรื้อรังและความทุกข์ยากอย่างเหลือคณา พ่อคนหนึ่งอาจเห็นว่าการตายของลูกชายเป็นเพียงอุบัติเหตุเล็ก ๆ ที่ไม่สำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยครั้งในกลุ่มชนชั้นล่างในทวีปอเมริกาบ้านเกิดของพวกเรา ถึงตรงนี้ผมจึงระลึกได้ว่า มันมีอะไรที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการแสวงหาชื่อเสียง หรือการสร้างคุณูปการสำคัญ ๆ ให้กับวงการแพทย์ นั่นคือ ผมต้องการช่วยเหลือผู้คนเหล่านี้" กูวารากล่าว
หลังเป็นหนึ่งในแกนนำร่วมปฏิวัติคิวบาเป็นอันสำเร็จในปี 1959 กูวารากลายเป็นผู้วางนโยบายหลายด้านให้กับประเทศ ในปีต่อมาเขาได้กล่าวปาฐกถาว่าด้วยการปฏิวัติทางการแพทย์ เพื่อวางแนวทางปฏิบัติในการไปให้ถึงเป้าหมายที่ประชาชน “มีสิทธิ” ได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างถ้วนหน้า ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการกุศล แต่เป็นหน้าที่ที่รัฐพึงมอบให้ประชาชน เพื่อแสดงถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของสังคมซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจของการปฏิวัติ
"งานที่ได้รับมอบหมายของกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรอื่น ๆ ที่ทำหน้าที่คล้ายกัน ณ วันนี้ คือการให้บริการด้านสาธารณสุขไปถึงประชากรจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จัดทำโครงการป้องกันในทางการแพทย์ และแนะนำประชาชนให้รู้ถึงประโยชน์ของการรักษาสุขลักษณะ" กูวารากล่าว
ก่อนหน้านั้น คิวบาเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางการแพทย์อยู่แล้ว และมีหมอฝีมือระดับโลก แต่การปฏิวัติทำให้บรรดาหมอลี้ภัยไปสหรัฐฯ จำนวนมาก รัฐบาลคอมมิวนิสต์ต้องสร้างหมอขึ้นมาใหม่ และดึงองค์กรทางการแพทย์ทั้งหมดมาอยู่ใต้ความดูแลของรัฐบาล ประกอบกับการเปิดโอกาสทางการศึกษาอย่างถ้วนหน้า ทำให้คิวบาประสบความสำเร็จอย่างมากในการผลิตบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่
ธนาคารโลก ระบุตัวเลขของหมอต่อประชากร 1,000 คน ในคิวบาเมื่อปี 2017 อยู่ 8.2 คน ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่สูงมาก เทียบกับแคนาดาและสหรัฐฯ ที่ 2.6 คน เยอรมนี 4.2 คน ขณะที่ไทยอยู่ที่ 0.8 คนเท่านั้น ทำให้คิวบามีทรัพยากรบุคคลด้านการแพทย์เพียงพอที่จะส่งออกไปยังประเทศที่ขาดแคลน ซึ่งจะทำให้ “บริการด้านสาธารณสุขไปถึงประชากรจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้” โดยไม่จำกัดแต่เฉพาะในคิวบาเท่านั้น
จากข้อมูลของ โรเบิร์ต ฮุช (Robert Huish) และ จอห์น เอ็ม. เคิร์ก (John M. Kirk) สองนักวิชาการจาก Dalhousie University ในแคนาดา (Cuban Medical Internationalism and the Development of the Latin American School of Medicine) คิวบาส่งทีมแพทย์ไปช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ ตั้งแต่ปีแรกหลังการปฏิวัติ โดยไม่คำนึงว่าประเทศนั้น ๆ มีอุดมการณ์ทางการเมืองอยู่ในขั้วใด เช่น คราวที่ชิลีเกิดเหตุแผ่นดินไหวในปี 1960 มีผู้เสียชีวิตราว 2,000 คน แม้ว่า ชิลีจะมีรัฐบาลเป็นฝ่ายขวา ต่อมาในปี 1972 เกิดเหตุแผ่นดินไหวในนิการากัว ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับหมื่น แม้ว่า อนาสตาซิโอ โซโมซา เดอบัลญ์ (Anastasio Somoza Debayle) แห่งนิการากัวจะต่อต้านรัฐบาลของ ฟิเดล คาสโตร อย่างหนักหน่วง แต่คิวบาก็ยังส่งทีมแพทย์ไปช่วยชีวิตประชาชนชาวนิการากัวอย่างไม่ลังเล
ในภาวะสงคราม ทีมแพทย์ของคิวบาก็เป็นกลุ่มที่เสี่ยงชีวิตเข้าไปช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอยู่เสมอ เช่น ระหว่างสงครามกลางเมืองในแองโกลา หรือระหว่างสงครามอ่าวเปอร์เซียในอิรัก
นโยบายส่งออกบุคลากรทางการแพทย์ไปช่วยเหลือประเทศที่ขาดแคลน หรือแม้กระทั่งประเทศพัฒนาแล้วที่ประสบกับวิกฤตการณ์กะทันหัน ยังคงดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน เช่น กรณีสึนามิถล่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีโบลาระบาดในแอฟริกาตะวันตก เฮอริเคนแคทารินาถล่มสหรัฐฯ ศัตรูคู่แค้น พวกเขาก็เสนอความช่วยเหลือ แม้จะถูกรัฐบาลของ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ปฏิเสธกลับมา
มีการประเมินกันว่า ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี ที่ผ่านมา คิวบาได้ส่งบุคลากรทางการแพทย์ไปช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ แล้วนับแสนคน ทั้งโครงการให้เปล่า และโครงการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ เช่น โครงการแพทย์แลกน้ำมันที่ทำกับเวเนซุเอลา รายงานของ The New York Times ระบุว่า ปัจจุบันมีบุคลากรทางการแพทย์ของคิวบาทั้งหมอและพยาบาลถูกส่งไปช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ กว่า 60 ประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในละตินอเมริกา เอเชีย และแอฟริกา มีจำนวนรวมกันทั้งหมดเกินกว่า 30,000 คน
และเมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ระบาดทั่วโลก ตั้งแต่ต้นปี 2020 แม้คิวบาเองจะได้รับผลกระทบจากการระบาดเช่นกัน (แต่ก็ไม่รุนแรงนัก โดยนับถึงวันที่ 27 เมษายน 2020 คิวบามีตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ 1,369 คน เสียชีวิต 54 ราย) พวกเขาก็ยังส่งแพทย์เป็นจำนวนอย่างน้อย 1,200 คน ไปยัง 22 ประเทศทั่วโลก เพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์นี้โดยเฉพาะ
แม้การส่งแพทย์ไปยังพื้นที่ที่ขาดแคลน ไม่ว่าจะเกิดจากขาดแคลนโดยพื้นฐาน หรือเนื่องจากเหตุแทรกแซงกะทันหัน จะได้รับคำชื่นชมจากประชาคมโลกไม่น้อย แต่นโยบายนี้ของคิวบาก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกวิจารณ์
โดยเฉพาะจากฝั่งสหรัฐฯ ที่คว่ำบาตรคิวบา ก็ต้องการให้ประเทศต่าง ๆ ตัดขาดกับคิวบาเช่นกัน รวมถึงเลิกรับความช่วยเหลือทางการแพทย์จากคิวบา เนื่องจากมันเป็นช่องทางหาเงินที่สำคัญของคิวบา เพื่อต่ออายุให้กับรัฐบาลเผด็จการที่กดขี่ประชาชน รวมถึงแรงงานทางการแพทย์ ซึ่งบ้างก็กล่าวหาว่าเป็นการค้ามนุษย์ลักษณะหนึ่ง เนื่องจากหลายประเทศที่มีกำลังจ่าย ต้องจ่ายเงินจำนวนมากให้กับคิวบาแลกกับการส่งแพทย์ไปประจำการ ซึ่งรัฐบาลคิวบาก็จะหักค่าหัวคิวไป โดยมีเงินไปถึงมือแพทย์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
นอกจากนี้ การชื่นชมความสำเร็จของทีมแพทย์คิวบา ยังทำให้คนหลงลืมปัญหาด้านมนุษยชนในคิวบา และการส่งแพทย์ไปช่วยประเทศกำลังพัฒนาก็ยิ่งทำให้ประเทศเหล่านี้ต้องพึ่งพาคิวบาต่อไป ไม่คิดจะพัฒนาระบบสาธารณสุขขึ้นมาเอง
ด้วยเหตุนี้ หลายประเทศที่เกิดการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลย้ายฝั่งไปฟากขวาเมื่อไม่นานมานี้เช่น บราซิล โบลิเวีย หรือเอกวาดอร์ จึงสั่งให้ทีมหมอจากคิวบาแพ็กของกลับบ้านไป
อย่างไรก็ดี โรเบิร์ต ฮุช และ จอห์น เอ็ม. เคิร์ก ผู้ทำการศึกษานโยบายการส่งออกแพทย์ของคิวบาให้ความเห็นต่อเสียงวิจารณ์เหล่านี้ว่า
"ความคิดที่ชาติหนึ่งจะทุ่มเทให้กับการช่วยชีวิตและปรับปรุงคุณภาพการดำรงชีวิตของเพื่อนมนุษย์ ถือเป็นสิ่งแปลกปลอมตามหลักการบริหารรัฐกิจโดยจารีต คนกลุ่มนี้จึงไม่เชื่อในเหตุผลตามแนวปฏิบัติของคิวบา การวิเคราะห์เช่นนี้จึงไม่ยอมรับบทบาทด้านมนุษยธรรมของคิวบา ขณะเดียวกันก็แสดงถึงความเห็นแก่ตัวของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศเอง เนื่องจาก คิวบาให้ความช่วยเหลือด้านบุคลากรทางการแพทย์กับประเทศกำลังพัฒนามากกว่า กลุ่ม G-8 (กลุ่มประเทศที่สมาชิกล้วนมีความก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม) ทั้งแปดประเทศรวมกันเสียอีก"