read
interview
22 ต.ค. 2563 | 19:04 น.
สัมภาษณ์ เล็ก Greasy Café กับคำตอบ...ในชีวิตที่มาจาก “สิ่งเหล่านี้"
Play
Loading...
กว่า 12 ปี บนเส้นทางสาย
ดนตรี เล็ก-อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร
หรือที่ทุกคนรู้จักเขาในนาม ‘เล็ก Greasy Café’ บอกเล่าเรื่องราวชีวิตส่วนตัวของเขาผ่านผลงานเพลงทั้ง 4 อัลบั้ม โดยมีเพลงฮิตอย่าง ‘อุบัติเหตุ’, ‘ฝืน’, ‘ความบังเอิญ’ หรือ ‘สิ่งเหล่านี้’ เป็นสื่อกลางของความสำเร็จที่เขาได้รับจากผู้คน
บทเพลงจากปลายปากกาของชายคนนี้มาพร้อมกับท่วงทำนองที่หลากหลาย เปี่ยมไปด้วยภาษาที่งดงามและทรงพลัง บ่อยครั้งที่เราได้ยินเพลงของเขาตามสถานที่ต่าง ๆ มันเหมือนการได้นั่งคุยกับชายคนหนึ่ง ที่อยากเล่าประสบการณ์ชีวิตของตัวเองผ่านมุมมองที่แตกต่าง และแฝงไปด้วยปรัชญาที่ชวนให้เรากลับมานั่งคิดถึงมัน
ในเช้าวันที่ไม่มีฝนพรำ The People ได้มีโอกาสนั่งคุยกับชายคนนี้ในหลากหลายประเด็น ทั้งเรื่องราวชีวิตในฐานะนักร้อง นักแต่งเพลง ช่างภาพ รวมไปถึงคำนิยามตัวตน ความหมายของรัก และการสูญเสีย
The People : ‘วันทรงจำ’ ในวัยเด็กของเล็ก-อภิชัย เป็นอย่างไร
อภิชัย :
ครอบครัวเราก็เป็นครอบครัวที่สนใจเรื่องดนตรีเหมือนกันนะ พ่อบางทีเขาก็เป่าฮาร์โมนิกาให้แม่เราฟัง หรือไม่ก็เล่นแอคคอร์เดียน แต่เราว่ามันไม่ได้เป็นภาพชัดถึงขนาดที่ว่าจะส่งผลอะไรกับเรา ส่วนตัวที่ส่งผลมาก ๆ น่าจะเป็นพี่สาวที่โตกว่าเรานิดหนึ่ง ตอนช่วงที่เขาวัยรุ่น เขาจะทำวงดนตรีกับเพื่อน แล้วเราเป็นคนติดพี่มาก ไปไหนเราก็ไปด้วย เรารู้สึกว่ามันไม่ได้เป็นเรื่องแค่มาเล่นดนตรีกัน แต่มันเป็นเรื่องของบรรยากาศในการมารวมตัวกันแล้วเล่นดนตรี เราชอบตรงบรรยากาศของคนที่อยู่ด้วยกันตรงนั้น เป็นหมู่มวลฮิปปี้ทั้งหลายแหล่ สมัยนั้นใส่กางเกงขาบาน ผมยาว เราว่าเราชอบจากตรงนั้น แล้วมันก็เลยส่งผลให้เราเริ่มสนใจในเรื่องดนตรีประมาณหนึ่ง
The People : ‘ทิศทาง’ ที่เลือกต่อเป็นอย่างไร
อภิชัย :
พอเราจบ ม.3 ก็ลองไปสอบเข้าที่ช่างศิลป์แล้วดันไม่ติด พอไม่ติดก็เลยต้องมาเรียนที่ไทยวิจิตรฯ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ต้องเสียตังค์ค่าเรียน พ่อเราก็ไม่พอใจ เหมือนเขาบอกว่าจบมาแล้วทำอะไร คือบ้านเราก็ยังเป็นเจเนอเรชันที่โบราณ ๆ หน่อย แม่เราจะค่อนข้างสมัยใหม่ แต่พ่อเราจะเป็นยุคหนึ่ง ก็นั่นแหละ เขาบอกว่าเขาจะไม่ส่งให้เรียน แต่ก็มีพี่สาวคนที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว เขาก็บอกว่า เดี๋ยวเขาช่วยส่งเอง เลยเริ่มเรียนศิลปะ แต่มันก็เป็นบรรยากาศอีกนั่นแหละ ตัววิชาศิลปะเองเราอาจจะไม่ได้สนใจขนาดนั้นในสมัยนั้น
แต่ว่ามันมีอยู่ช่วงเวลาหนึ่งที่เราจำได้ว่าช่วงปี 1 เทอมแรก เราให้เพื่อนช่วยทำงานให้เพราะตอนนั้นเราวาดไม่ค่อยเป็น แล้วพอไปส่งอาจารย์ อาจารย์บอกว่าไม่ใช่ลายเส้นมึง เราแบบโอ้โห… มันคืออะไรวะ ทำไมมันรู้ขนาดนั้นเลย ทำไมเขารู้ขนาดนั้นว่าไม่ใช่ของเรา และเป็นของใครด้วย เราว่าตอนนั้นมันกระแทกใจเรามาก เราเลยพูดกับตัวเองว่าเราต้องทำให้ได้ พอปิดเทอมเทอมแรกเราก็ซื้อกระดาษปรู๊ฟกลับบ้านแล้วเราเขียนทุกวัน จนกลับไปอีกทีแล้วส่งอาจารย์ อาจารย์เขาก็เห็นเออ...มึงก็พยายาม มันทำให้เราชอบดรอว์อิง (drawing วิชาวาดภาพ) แล้วเราก็เลยชอบและใส่ใจกับมันมากขึ้น เราว่าตัวเองน่าจะชอบวิชาดรอว์อิงที่สุดมั้ง
The People : ‘ความบังเอิญ’ ที่ทำให้เริ่มถ่ายทอดเรื่องราวผ่านบทเพลง
อภิชัย :
น่าจะเป็นช่วงที่เรากลับมาจากเรียนต่อที่อังกฤษ ตอนนั้นเราเริ่มเขียนเพลงเป็นภาษาอังกฤษ แต่ก็เขียนไปเรื่อยเปื่อย ลองทำดูแค่นั้นเอง มันไม่ได้เป็นการเขียนแบบ เฮ้ย! เราจะสร้างหนึ่งเพลงเพื่ออะไรสักอย่าง ตอนนั้นมันเป็นการทดลองซะมากกว่า จนพี่รุ่ง (รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์) ชวนว่า เฮ้ย! เขาจะเปิดบริษัทชื่อ Smallroom เป็นค่ายเพลง มาทำด้วยกันดิ เพลงเดียวเอง สนุก ๆ เราก็ไม่แน่ใจ เราไม่แน่ใจในเรื่องของการที่จะเขียนเป็นเพลงหนึ่งเพลงเป็นภาษาไทยจริงจัง คือเราก็ไม่ได้เก่งอังกฤษอยู่แล้ว เพลงภาษาไทยเราก็ไม่เคยเขียน แต่พี่รุ่งก็บอกว่า ไม่เป็นไร ลองดูก่อน สุดท้ายก็เลยเกิดเป็นเพลง ‘หา’ ขึ้นมา
The People: ‘ปะติดปะต่อ’ จากงานด้านภาพให้กลายเป็นเสียงอย่างไร
อภิชัย :
ส่วนใหญ่เราจะนึกเป็นภาพมากกว่า เวลาที่นึกถึงสถานการณ์อะไรเราจะกลับไปที่ภาพตอนเกิดเหตุมากกว่า ซึ่งไม่แน่ใจว่ามันเป็นการเอื้อต่อกันหรือเปล่า อันนี้ในช่วงแรกเราไม่แน่ใจจริง ๆ แต่ว่าถ้าจะย้อนกลับไป มันน่าจะเกิดจากตอนที่เราเริ่มฟังเพลงจริงจังช่วงแรก ๆ ตอนนั้นมีพี่คนหนึ่งที่เราชอบเขามาก ๆ เขาเรียนจบช่างศิลป์นี่แหละ เขาอยู่แถว ๆ บ้านเรา แล้วเรารู้สึกว่าตอนนั้นเขาเป็นคนที่เท่มาก ตอนหลังพอได้รู้จักกัน เขาเริ่มให้เพลงเรากลับมาฟัง เป็นเทปนี่แหละ วง The Alan Parsons Project อัลบั้ม Vulture Culture เราก็กลับมาฟัง แล้วพอเอาไปคืนพี่เขา เขาก็ถามว่าเป็นยังไงบ้าง เราก็บอกว่าเออเพราะดี เขาก็บอกว่าไม่ใช่ เห็นอะไรบ้าง เราบอกหมายความว่าอะไร เห็นอะไร เขาก็บอกอ้าว! ฟังเพลงต้องนึกภาพให้ได้ เราว่าตรงนั้นแหละมันน่าจะเป็นที่มาบวกกับเป็นช่วงที่เราชอบการถ่ายภาพด้วย หลังจากนั้นเลยทำให้เวลาฟังเพลง เราจะพยายามนึกถึงภาพ
The People: ‘แรงดึงดูด’ ที่มักเอามาเขียนเพลงบ่อย ๆ
อภิชัย :
คือเราว่ามันน่าจะเป็นเรื่องของความสัมพันธ์นี่แหละ โดยพื้นฐานแล้ว แต่เราไม่ได้หมายความว่า โห! เราผ่านความรักมามากมาย ไม่ใช่ เพียงแต่ว่าเวลาเราอยู่กับความรักอันไหน เราจะอยู่กับมันนานมาก เราจะเต็มที่มาก ๆ พอเต็มที่มาก ๆ ทุ่มเทมาก ๆ พอมันหายไป เราจะจมนานมาก พอจมนานมาก มันเลยมีเวลาให้เห็นสิ่งที่มันเคยเกิดขึ้นได้ประมาณหนึ่ง เพราะว่าเราฟื้นตัวช้า พอฟื้นตัวช้า เราจะรู้สึกถึงความเจ็บว่าโห… มันยังเจ็บ มันยังชา มันยังอะไรอยู่ ไม่ใช่ เฮ้ย! หายแล้วไม่มีอะไร แบบหนึ่งอาทิตย์ต่อมาเฮ้ย! กูเลิกกับแฟนว่ะ จบ ไปกินเหล้ากัน มันไม่ใช่เรื่องแบบนั้น แต่มันโห… กว่าที่เราจะพาตัวเราขึ้นมาได้ มันเลยมีเวลาให้เราสังเกตมากขึ้น
เราว่าเราน่าจะเป็นคนคิดบวกประมาณหนึ่ง แต่มันก็จะมีอารมณ์ลบ ๆ บ้างอยู่แล้วโดยปกติ แต่ว่ามันคือเวลาที่เราเขียนเพลงขึ้นมาเพลงหนึ่ง เราไม่ได้เขียนเพื่อจะสอนใครเลย ไม่ได้สอนใครเลย เราเขียนเพื่อเป็นการคุยกับตัวเอง ตัวเองรู้สึกอะไร เหมือนเพลง ‘วันทรงจำ’ อย่างนี้ เราเขียนขึ้นมาเพื่อบอกตัวเราเอง เราไม่ได้เขียนขึ้นมาเพื่อจะสอนใครเลยนะ ตั้งแต่อัลบั้มหนึ่งมาแล้ว
The People: ‘สิ่งเหล่านี้’ ที่เรียกว่าความรักในมุมของ Greasy Café
อภิชัย :
เราว่าจริง ๆ แล้ว หนึ่ง, ความรักมันยังไม่หายไปจากโลกนี้ถูกไหม เรานั่งอยู่ตรงนี้ เราอาจจะมี เคยมี หรือไม่มีแล้ว หรือเพิ่งมี อะไรก็ได้ มันอยู่กับตัวเรา มันอยู่กับเรามานานมาก เพราะงั้นตราบใดที่มันยังเกิดขึ้น มันก็น่าจะมีมุมบางมุมที่เราจะเล่าได้อยู่ สมมติพูดว่าความรักคือลูกบอลลูกหนึ่ง เราเล่าตรงนี้ไปแล้ว ตรงนั้นยังไม่ได้เล่า มันเหมือนกัน มันอยู่ที่ว่าเราจะหามุมไหนของมันเพื่อมาเล่าอีกทีหนึ่ง ซึ่งสุดท้ายมันคือก้อนความรักเหมือนเดิมเลย รักกัน เลิกกัน มันเหมือนเดิม เพียงแต่ว่าเราจะเล่ามุมไหนของไอ้บอลลูกนี้
The People : ‘ความจริง’ ในบทเพลงสำคัญขนาดไหน
อภิชัย :
มันอยู่ที่ว่าความจริงที่เรารับรู้มันเป็นความจริงแล้วหรือยัง ตรงนี้สำคัญมาก การที่เราเกลียดคนคนหนึ่ง เขาอาจจะไม่ได้อยากเป็นคนในแบบที่เราต้องเกลียดเขาก็ได้ มันอาจจะมีปัจจัยอื่นที่มันทำให้เขาต้องเป็นแบบนั้น แล้วทำให้เราต้องไปเกลียดเขา คือความจริงสำคัญไหม เรื่องบางเรื่องถ้ามันจะต้องรู้ มันก็ควรจะรู้ แต่เราว่าถ้าเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องรู้ ก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องพูดก็ได้ อย่างที่บอกว่าสิ่งที่เรารู้ว่ามันคือความจริงมันเป็นความจริง จริง ๆ แล้วหรือยัง ตรงนั้นสำคัญกว่า ทุก ๆ เรื่องเลย
The People : ‘คำตอบ’ ของตัวตนในวันนี้คืออะไร
อภิชัย :
เราว่าการหาตัวเองให้เจอน่าจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด แต่มันก็จะไม่ใช่ทุกคนที่หาตัวเองเจอในวันจันทร์หน้าตอนเช้า มันก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะงั้นถ้ารู้สึกว่าอยากทำอะไรทำเลย แต่ต้องไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายนะครับ ถ้ารู้สึกว่า เฮ้ย! อยากเป็นช่างภาพ ถ่ายเลย อยากเป็นกราฟิกดีไซน์ ทำเลย อย่าแค่คิดครับ แค่นั้นเอง ลงมือทำเลย เฮ้ย! เราอยากทำเพลง หยิบกีตาร์มาเลย หัดไปดิ เล่นไม่เป็นก็หัดดิ อย่าแบบโอย… ยาก โหย… เราทำไม่เป็น อ้าว! ก็แน่นอน ใครมันจะเป็นอะไรทุกอย่างในโลกใบนี้ตั้งแต่วินาทีแรก มันไม่เป็นอยู่แล้ว
เราก็เกือบถอดใจหลายครั้งที่จับกีตาร์แล้วมันเจ็บนิ้วมาก หรือตีกลองแล้วมือแหก คือเราก็เจ็บ แต่ว่ามึงอยากทำหรือเปล่า อยากทำก็ลุยดิอะไรอย่างนี้ อย่าไปแบบงอแง เรารู้สึกว่าเราอยากถ่ายรูป แต่เราก็ถ่ายจนเรากลายมาเป็นเจอคนที่ทำเพลง แล้วไปเจอกับอะไรอีก แต่ว่าสิ่งที่เรารู้สึกเลยก็คือทำเลยครับ อย่ารอ คือไม่ใช่แบบ... เฮ้ย! เจ๋งว่ะ เฮ้ย! ดีว่ะ โอ้โหเฮ้ย! คนนี้เก่ง มันไม่มีวันเกิดขึ้น มันไม่มีวันกระโดดมาหาเราอยู่แล้ว เราต้องไปหามัน ต้องทำให้มันเกิดขึ้นให้ได้ แค่นั้นเอง
The People : ‘ภาาพชินตา’ ที่ประทับใจที่สุด
อภิชัย :
ก็อยากจะขอบคุณมาก ๆ นะครับ ใครที่ตามงานเรามาตั้งแต่อัลบั้มแรก หรือค่อย ๆ มาเริ่มฟังแล้วกลับไปฟังอัลบั้มหนึ่ง ใครก็ตาม อยู่ที่ไหนก็ตาม ก็ขอบคุณจริง ๆ มันมีค่ามาก ๆ จริง ๆ โดยการที่เวลาเราทำอะไรขึ้นมาอย่างนี้แล้วคนก็ยังพร้อมที่จะฟังสิ่งที่เราเล่าผ่านเพลง ก็ดีใจมาก ๆ แล้วก็ดีใจที่ได้อยู่ในช่วงอายุของหลาย ๆ คน เราเจอหลาย ๆ คนที่เขาบอกว่าเจอกันตั้งแต่มาคอนเสิร์ต ตอนแรกก็ไม่ได้เป็นแฟน เริ่มเป็นแฟน แต่งงาน มีลูกอะไรอย่างนี้ แล้วทุกวันนี้เขาก็พาลูกมา โอ้โห! เราว่ามันเป็นเรื่องใหญ่มาก เป็นภาพที่เราไม่กล้าคิดว่ามันจะเกิดขึ้นกับเราได้ ไม่กล้าคิดอะไรแบบนั้น
คือเรารู้สึกว่าอย่างเวลาไปเล่นคอนเสิร์ต แล้วเป็นคอนเสิร์ตที่คนพร้อมจะลุยกัน ลุยไปกับเราอย่างนี้ เคยได้ยินไหม ผิดร้านผิดที่ ไปเล่นในร้านที่เขาไม่ได้รู้จักเรา แต่ถ้าเป็นร้านที่เขาพร้อมจะลุยกับเรา มันเหมือนกับ โห… มันไม่ใช่เพลงเราอีกต่อไปแล้ว ทุกคนร้องเพลงของตัวเองหมดเลย มันกลายเป็นเพลงของเราด้วยกัน มันไม่ใช่เพลงของเราคนเดียวแล้ว ตรงนั้นน่ะดีใจ เขายอมให้มันเข้าไปอยู่ในชีวิตเขาได้ ตรงนั้นสำคัญมาก
The People : ‘สุดท้าย’ คุณนิยามว่าตัวเองเป็นช่างภาพ หรือศิลปิน
อภิชัย :
เราว่าศิลปินตัดไปเลย เราไม่ใช่ศิลปิน ส่วนช่างภาพ เราว่า… อาจจะเป็นแค่คนถ่ายรูปมั้งทุกวันนี้ มันไม่ได้เป็นอาชีพจริงจังอะไรอย่างนั้น ทุกวันนี้เริ่มกลับมาถ่ายมากขึ้นแล้ว แล้วก็เริ่มสนุกกับมันมากขึ้น แต่ว่าโห...คงนิยามแบบนั้นไม่ได้ เราก็ยังสนุก ทุ่มเท แล้วก็ยังมี passion กับการทำดนตรีมาก ๆ เราว่าเราก็เป็นคนเล่าเรื่องผ่านเพลงแค่นั้นเอง เราว่าเราเป็นแบบนั้น แต่ปรากฏว่าสิ่งที่เราทำมันก็ทำให้เรามีข้าวกินได้ เราโอเคกับมัน แต่ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นอะไร
แต่ว่าในอีกส่วนหนึ่งก็เริ่มกลับมาถ่ายรูปแล้ว มันเหมือนกับ passion มันก็เริ่มกลับมาเหมือนกัน เริ่มที่จะอยากออกไปลุยถ่าย ช่วงเวลานี้ เราอยากออกไปตามที่ต่าง ๆ เพื่อเก็บภาพที่มันเงียบ ๆ ของเมืองเงียบ ๆ ของอะไรต่าง ๆ
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3730
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
7073
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
1019
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Interview
อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร
เล็ก Greasy Café