read
social
18 พ.ค. 2563 | 23:23 น.
วิวัฒน์ ศัลยกำธร: พลังสามัคคี และศาสตร์พระราชา จะช่วยทุกคนให้ผ่านโควิด-19
Play
Loading...
“สามัคคีเป็นพลังค้ำจุนแผ่นดินไทย” ข้อความสั้น ๆ บน ส.ค.ส ปี พ.ศ.2547 ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานให้พวกเราคนไทย เวลาผ่านไป 16 ปี ข้อความเดียวกันนี้ กำลังจะเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ที่ช่วยให้ทุกคนผ่านพ้นช่วงวิกฤตโควิด-19 นี้ไปด้วยกันได้อย่างไร
“บ้านผมไม่มีทะเล แต่ผมชอบกินปลาทะเล ชอบกินกุ้งทะเล ปูทะเล เราอยากกินต้องทำยังไง หาเงินไปซื้อมาใช่ไหม แต่มันมีวิธีการที่เราไม่ต้องหาเงินไปซื้อคือ เราเอาข้าว เอาผัก เอาผลไม้ ที่เราปลูกเองไปแจกชาวเล พอได้รับเขาก็มีน้ำใจแบ่งปันของแพง ๆ กลับมาให้เราได้กิน ขณะนี้พวกเรากำลังเผชิญวิกฤตหลายด้าน โดยเฉพาะโควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วโลก เรายิ่งต้องการพลังแห่งความสามัคคีนี้ เพื่อนำพาให้ทุกคนผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้”
วิวัฒน์ ศัลยกำธร
หรืออาจารย์ยักษ์ที่หลายคนรู้จัก ผู้เป็นทั้งนายกสมาคมดินโลก และที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เริ่มต้นบทสนทนาอย่างอารมณ์ดี
ด้วยการยกตัวอย่างการเอาข้าวไปแลกปลาที่เกิดขึ้นจริงกับตัวเอง มาตอบคำถามที่เราสงสัยว่าแนวทางการนำศาสตร์พระราชาอย่างปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้นั้น จะช่วยให้พวกเรารอดจากทั้งเหตุการณ์โควิด-19 ที่กำลังระบาด และมรสุมทางเศรษฐกิจที่เริ่มรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้อย่างไร
ตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกที่พุ่งไปสูงมากกว่าสี่ล้านราย เสียชีวิตไปแล้วกว่าสามแสนราย ยืนยันความรุนแรงของเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้ได้เป็นอย่างดี ที่น่ากลัวยิ่งกว่านั้นคือ พวกเราทุกคนมีโอกาสเป็นพาหะในการแพร่ระบาดของไวรัส มาตรการดีที่สุดที่ทำได้ในตอนนี้คือ การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ social distancing เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อ แต่ผลกระทบตามมาที่เหมือนกับคลื่นสึนามิซัดทุกอย่างในพริบตาเลยก็คือ ความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจจากการหยุดกิจการชั่วคราวของธุรกิจน้อยใหญ่ ส่งผลให้คนตกงานอย่างกะทันหัน จนไม่มีเงินสำหรับเลี้ยงปากท้องตัวเองและครอบครัวในที่สุด
รอดได้ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง
“ช่วงที่โลกเกิดวิกฤต เราจึงรู้ว่าอาหารนั้นสำคัญกว่าเงิน จะเป็นไปได้ไหมที่เราจะอิ่มท้องโดยไม่ใช้เงิน พระองค์ท่านมองเห็นปัญหาเหล่านี้มาตั้งแต่ก่อนปี 2547 ว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นเสาหลักในการแก้ปัญหา โดยต้องปรับแนวความคิดการดำเนินชีวิตใหม่ จากการมุ่งเน้นหาเงินทอง เป็นการสร้างพื้นฐานปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ให้พออยู่ พอกิน พอใช้ และพอร่มเย็น ยิ่งในช่วงโควิด-19 เราต้องกลับมาพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด สร้างภูมิต้านทานทำให้ร่างกายแข็งแรงด้วยการออกกำลังกาย กินอาหารที่ดีมีประโยชน์ซึ่งเราปลูกเองโดยไม่ใช้สารเคมี สร้างแหล่งน้ำของตัวเอง มีอากาศบริสุทธิ์ไว้หายใจ ไม่เพียงตัวเองรอด สังคมก็อยู่รอด ประเทศชาติก็จะอยู่รอดด้วย”
อาจารย์ยักษ์ยังได้ย้ำอีกว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่แท้จริงนั้นแก่นแนวคิดอยู่ที่การหันกลับมาพึ่งพาตัวเองให้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปอาศัยกลไกของตลาด และการพึ่งพาตัวเองนี้ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องทำทุกอย่างเองทั้งหมด แต่ให้ทำแค่เพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งที่เหลือให้ใช้การแลกเปลี่ยนแบ่งกันกับคนอื่น ๆ เพื่อสร้างสังคมแห่งการพอเพียงขึ้นมา เหมือนเช่นการที่อาจารย์ยักษ์เอาข้าวไปแลกปลากับชาวเล ซึ่งช่วยให้ทุกคนได้อิ่มท้องกันไปอีกหลายมื้อ
“สำหรับคนเมืองที่อาศัยอยู่ในเมือง อยู่ในที่แออัดมีที่ดินน้อย วิธีพึ่งตนเองง่ายที่สุดก็คือ ใช้สื่อออนไลน์ช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้คนที่เขามีที่ดินทำการเพาะปลูก เราอาจค้นหาบนโลกออนไลน์ว่า มีใครทำอะไร อยู่ที่ไหนบ้าง ติดต่อเขาเลย ถามว่าที่ปลูกเอาไว้เหลือกินไหม ถ้าเหลือกินส่งไปรษณีย์มาให้เรา เราจะเป็นตลาดให้ เพราะว่าเราต้องการกิน คุณปลูกถ้าไม่รู้จะขายที่ไหน คุณส่งมาให้เรากินได้”
แต่หากใครอยากที่จะลองเริ่มต้นหันกลับไปพึ่งพาตัวเองเป็นเกษตรกรมือใหม่แล้วล่ะก็ อาจารย์ยักษ์ได้ให้คำแนะนำง่าย ๆ ที่เอาไปใช้ได้สำหรับทุกคน แม้แต่คนที่อยู่หอพัก หรือว่าคอนโดมิเนียมกลางเมือง
“คนเมืองถ้าอยากปลูกผักกินเองก็ทำได้เลย มีตัวอย่างในอินเทอร์เน็ตให้ลองทำตามอยู่เต็มไปหมด ทั้งการทำสวนผักคนเมือง ปลูกสวนแนวตั้งที่สามารถปลูกกินปลูกใช้ได้เอง หรืออาจจะลองปลูกผักเลื้อยแล้วเก็บดอกมาทำยาสระผมก็ยังได้ เราสอนวิธีการทั้งหมดนี้ให้พวกเราได้หันกลับมาพึ่งพาตัวเองกัน เพราะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือปรัชญาแห่งการพึ่งพาตัวเอง”
ตามรอยพ่อฯ สู้วิกฤตโควิด-19
ไม่เพียงแค่ในช่วงโควิด-19 เท่านั้น ที่ผ่านมาอาจารย์ยักษ์ ได้พยายามเผยแพร่แนวทางนี้มาเป็นเวลาหลายสิบปี อย่างล่าสุดที่ได้ร่วมสนทนาสดออนไลน์ในหัวข้อ
“ตามรอยพ่อฯ สู้วิกฤตโควิด-19 รอดพอดีด้วยศาสตร์พระราชา”
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ
“
พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน”
ที่เกิดจากความร่วมมือของ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และภาคีเครือข่าย เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้านการบริหารจัดการ ดิน น้ำ ป่า และพัฒนาคน เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ เกิดความตระหนัก และนำไปสู่การปฏิบัติที่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
โดยอาจารย์ได้เข้าไป
เป็นกำลังหลักของ
โครงการนี้มานานกว่า 8 ปี ตั้งแต่เริ่มต้นตอกเสาเข็ม แตกตัวขยายผล จนถึงในปีที่ 8 นี้ที่ได้ขยายผลเชื่อมโยงทั้งระบบและได้มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวมแล้วมากกว่า 20,000 คน ซึ่ง
อาทิตย์ กริชพิพรรธ
ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการฯ ระหว่างการร่วมสนทนาสดออนไลน์กับอาจารย์ยักษ์ว่า
“ตลอด 7 ปีที่ผ่านมาของโครงการฯ เรามีกิจกรรมหลาย ๆ อย่างเพื่อให้ภาคีเครือข่ายได้เข้ามาทำงานร่วมกัน แต่ในปีนี้เนื่องจากวิกฤตโควิด ทำให้เราต้องปรับจากกิจกรรมที่ต้องรวมตัวกัน เป็นการสร้างสื่อเผยแพร่ตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดขึ้นแล้ว เรามองว่าทั้งวิกฤตโควิดและภัยแล้งที่กำลังจะตามมา อาจทำให้หลายคนมองหาชุดความคิดใหม่ที่ช่วยเป็นทางรอดจากทุกวิกฤต แล้วหันมาศึกษาหาความรู้กันมากขึ้น โดยเฉพาะโควิดที่กำลังทำให้เกิด new normal ทำให้หลายคนเปิดใจกลับมาสนใจการพึ่งพาตัวเอง ตอนนี้เลยเป็นโอกาสสำคัญที่จะสื่อให้คนได้เข้าใจศาสตร์พระราชาด้านการบริหารจัดการ ดิน น้ำ ป่า และพัฒนาคนในวงกว้างมากขึ้น”
โดยช่วง 3 เดือนนี้ คือ เมษายน พฤษภาคม มิถุนายน ทางโครงการฯ ได้ให้ความรู้ที่ปรับสำหรับนำไปใช้ได้จริง ผ่านการผลิตสื่อสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเราสามารถพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น เพื่อให้ทุกคนรอดพ้นจากภาวะวิกฤต COVID-19 และพร้อมรับมือกับวิกฤตอื่น ๆ ที่กำลังจะตามมา ทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจ ภาวะความยากจน การขาดแคลนอาหาร ภัยแล้ง และน้ำท่วม
ซึ่งใช้การเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์และโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เพื่อสื่อสารให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น โดยได้ตัวแทนนักคิดนักเขียนคนรุ่นใหม่อย่าง
ฌอน บูรณะหิรัญ
มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ความรู้ ซึ่งฌอนได้ยอมรับว่าเคยได้ยินเกี่ยวกับศาสตร์พระราชามาระยะหนึ่งแต่ยังคงไม่เข้าใจ จนกระทั่งได้ลองไปเรียนรู้โครงการด้วยตัวเองกับอาจารย์ยักษ์ ที่บ้านใหม่ภูคา จ.น่าน ได้เจอกับตัวอย่างของผู้ที่นำวิธีการนี้ไปปรับใช้ได้จริงในชีวิตประจำกัน ช่วยให้พวกเขาไม่ต้องปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ใช้สารเคมีในการเพาะปลูก รวมทั้งได้มีโอกาส
เอามื้อสามัคคี หรือการลงแขกช่วยขุดคลองไส้ไก่ สร้างหลุมขนมครกไว้เป็นที่เก็บน้ำบนภูเขาสูง ที่ อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ ซึ่งนักคิดรุ่นใหม่ได้เล่าความประทับใจหลังได้ลองสัมผัสศาสตร์พระราชาด้วยตัวเองว่า
“ผมดีใจกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งการที่เกษตรกรไม่ต้องเผาไร่ ช่วยลดไฟป่า และ มลพิษทางอากาศลงไปได้มาก รวมทั้งพื้นที่ที่ได้นำศาสตร์พระราชาไปใช้คืนกลับมาชุ่มชื้นอีกครั้ง ทำให้คนที่อาศัยอยู่โดยรอบมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก”
การที่คนรุ่นใหม่ได้หันมาให้ความสนใจปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ลองศึกษาศาสตร์พระราชาแล้วนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นกุญแจในการไขวิกฤตครั้งนี้ เป็นเหมือนแสงที่ส่องให้ความหวังในใจอาจารย์ยักษ์กลับสว่างขึ้นมาอีกครั้ง
“ผมรู้สึกดีใจนะที่เห็นคนรุ่นใหม่หันมาให้ความสำคัญกับศาสตร์พระราชาเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วยังได้ช่วยเผยแพร่แนวคิดนี้ผ่านโซเชียลมีเดียที่เป็นช่องทางสำคัญในการทำให้ศาสตร์พระราชาให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วยกันได้มากขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยของเราฟันฝ่าสถานการณ์ครั้งนี้ไปได้”
พลังคนช่วยผ่านพ้นทุกวิกฤต
ในขณะที่หลายคนกำลังกังวลกับเรื่องโควิด-19 ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพความเป็นอยู่ของทุกชีวิต และปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรงไปทั่วโลกที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดในอีกไม่ช้า ปัญหาใหญ่ตรงหน้าที่น่ากลัวไม่แพ้กันอีกเรื่องก็คือ ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและภัยแล้ง ซึ่งสร้างความเสียหายโดยตรงกับพืชผลทางการเกษตรที่เป็นอาหารหลักของพวกเราทุกคน
“สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นมานานแล้ว และยังมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นทุกวัน ๆ ที่มันแล้งไม่ใช่เพราะปริมาณฝนหายไป หรือน้ำท่วมรุนแรงก็ไม่ได้แปลว่าปริมาณฝนปีนั้นมีมากมายเพียงอย่างเดียว ที่สำคัญที่สุดคือ ระบบจัดการน้ำของบ้านเรามันผิดวิธี คนรุ่นเราไม่เก็บน้ำฝนไว้ใช้เองเหมือนรุ่นเก่า เราต้องค่อย ๆ เปลี่ยนความคิดใหม่ ถ้าทุกบ้านช่วยกันเก็บน้ำฝนไว้สำหรับกินเอง ไว้สำหรับอาบ ไว้สำหรับหุงข้าว ขณะเดียวกันเวลาจะปลูกข้าว ปลูกผัก เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เราก็ปั้นคันนาขึ้นมาจากดินที่ขุดให้เป็นคลองรอบที่ดินของเรา จุดไหนเป็นจุดลุ่มต่ำ ก็ขุดหนองน้ำใหญ่ ๆ เอาดินจากตรงนั้นมาถมกลายเป็นภูเขาให้เป็นโคกสูง แล้วก็สร้างบ้านอยู่บนโคกนั้น แค่นี้ทุกบ้านก็จะมีน้ำฝนเก็บไว้อย่างเหลือเฝือ ไม่มีแห้งแล้ง แถมเวลาน้ำหลากก็ท่วมไม่ถึง”
นี่คือแนวทางปรับพื้นที่ทำการเกษตรตามแนวทาง
“โคก หนอง นา”
โมเดล เพื่อให้มีน้ำกินน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปี มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์โดยไม่ต้องไปซื้อหา ช่วยให้มีกินมีใช้ไม่อดอยาก อย่างที่อาจารย์ยักษ์อยากให้พวกเราได้ลองทำกัน ซึ่งมีตัวอย่างของคน และเครือข่ายที่นำไปปฏิบัติจริงหลายแห่ง อย่างเช่นโครงการ
“พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน”
ที่อาจารย์ยักษ์ได้ร่วมมือกับ
บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด
และภาคีเครือข่ายอื่น ๆ ทดลองแนวทางนี้ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำป่าสัก เพื่อเป็นต้นแบบในการจัดการดิน น้ำ ป่า คน ก่อนจะขยายผลไปยังลุ่มน้ำต่าง ๆ ทั่วประเทศ
นอกจากนี้นายกสมาคมดินโลก ยังฝากย้ำอีก 3 เรื่อง ที่จะช่วยให้พวกเราผ่านเหตุการณ์ครั้งนี้ไปด้วยกันคือ การพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด เริ่มเรียนรู้สร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเราแข็งแรง เมื่อตัวเราเองเข้มแข็งแล้วก็ต้องเรียนรู้เพื่อแบ่งปันให้กับผู้คน และเมื่อผู้คนรอบข้างอยู่กันได้แล้ว พวกเราต้องจับมือสร้างเครือข่ายสังคม เพื่อกระจายแนวทางแห่งความพอเพียงออกไปให้ได้มากที่สุด
ถึงแม้อนาคตที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้าอาจจะมีวิกฤตต่าง ๆ อีกมากมายรอเราอยู่ แต่พอถามว่าภาพในอนาคตที่อาจารย์ยักษ์คิดเอาไว้เป็นอย่างไร เสียงของนายกสมาคมดินโลกคนนี้กลับฟังดูมีความสุข ขณะที่ได้เล่าความฝันที่ตัวเองตั้งใจไว้
“เราทำเป็นตัวอย่างมานานพอสมควร พยายามทำให้ดู อยู่ให้เห็น ภาพอนาคตที่ผมฝันไว้คือ อยากเห็นคนนำไปใช้แล้วเกิดการรวมตัวกันในระดับชุมชน สักแค่ 3,000 ชุมชนก็ได้ แล้วค่อยขยายมากขึ้นเรื่อย ๆ วิกฤตครั้งนี้ด้านหนึ่งทำให้เราหันมาให้ความสำคัญกับการพึ่งพาตัวเองตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น มีคนหันมาสนใจศาสตร์พระราชากันเยอะขึ้น ผมหวังว่าหลังจากผ่านเหตุการณ์นี้ไปแล้ว พวกเราจะเข้าใจประโยชน์ของปรัชญาแห่งความพอเพียง หันมาพึ่งพาตัวเอง หันมาแบ่งปันช่วยเหลือจุนเจือคนอื่น การให้จะกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่กว่าพลังเงิน สมมติเราสะสมเงินไว้มากเป็นหมื่นล้าน เทียบกับการที่เราไม่มีสตางค์เลย แต่เรามีแรงให้แรง เรามีน้ำใจให้น้ำใจ เรามีความรู้ให้ความรู้ ผมว่าคนที่ไม่มีสตางค์เลยแต่มีเพื่อนเยอะแยะเต็มไปหมด กลับมีความสุขมากกว่าเยอะ เหมือนอย่างที่พระองค์ท่านทรงตรัสไว้ว่า สามัคคีเป็นพลังค้ำจุนแผ่นดินไทย”
ผู้ที่สนใจติดตามกิจกรรมในโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ได้ทาง
www.facebook.com/ajourneyinspiredbytheking
หรือดูรายละเอียดที่
https://ajourneyinspiredbytheking.org
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
UNGCNT-UN in Thailand เตรียมจัดงาน GCNT Forum 2024 กระตุ้นเศรษฐกิจ
20 พ.ย. 2567
4
เฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ในแบบฉบับยุโรปคลาสสิก ณ โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ
20 พ.ย. 2567
15
“ดีพร้อม” ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ ส่งเสริมสินค้าแฟชั่นไทย เสริมศักยภาพผู้ประกอบการสู่ระดับสากล
20 พ.ย. 2567
6
แท็กที่เกี่ยวข้อง
ThePeople
Social
Chevron
HumanEnergy
พลังคนสร้างสรรค์โลกรวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน
ajourneyinspiredbytheking
ศาสตร์พระราชา
เชฟรอนตามรอยพ่อ
แตกตัวทั่วไทยสานพลังสามัคคี
วิวัฒน์ศัลยกำธร