เอมี แอคตัน: จากคนไร้บ้าน สู่ ผอ.กรมอนามัย แห่งรัฐโอไฮโอ เจ้าของฉายา 'ซูเปอร์ฮีโร่ในชุดแล็บโค้ท'
ประโยคที่กล่าวว่า “สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ” ดูเหมือนจะเหมาะสมที่สุดแล้ว สำหรับกรณีของ ดร.เอมี แอคตัน (Amy Acton) เพราะทั้ง ๆ ที่เพิ่งจะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกรมอนามัย รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา มาได้ไม่ถึงปี เธอก็ต้องมาทำหน้าที่เป็นหัวหอกรับมือกับสถานการณ์เชื้อไวรัสระบาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่าง โควิด-19
เพราะการวางแผนรับมืออย่างรัดกุม รอบคอบ และสื่อสารกับประชาชนอย่างใจเย็น ทำให้เธอสามารถควบคุมการแพร่ระบาดภายในรัฐโอไฮโอ ที่มีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 7 ของอเมริกา กลายเป็นรัฐที่มีสถิติการติดเชื้อเป็นอันดับที่ 17 และสถิติผู้เสียชีวิตเป็นอันดับที่ 15 แม้ว่าคนส่วนใหญ่อาจจะชื่นชม ไมค์ เดอไวน์ (Mike DeWine) ผู้ว่าการรัฐโอไฮโอที่เตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี แต่สำหรับชาวโอไฮโอ ฮีโร่ที่แท้จริงคือผอ.กรมอนามัยคนนี้ต่างหาก
ช่วงแรกที่สหรัฐอเมริกามีข่าวลือเกี่ยวกับโรคระบาด ในขณะที่ประชากรในรัฐต่าง ๆ อาจจะยังตกอยู่ในความสับสนว่าสรุปแล้วเจ้าไวรัสชนิดนี้มันร้ายแรงจริงหรือไม่ ตอนนั้นชาวโอไฮโอกลับเริ่มดำเนินมาตรการปิดเมือง และกักตัวอยู่บ้านกันแล้ว ทั้งหมดนี้คงต้องยกเครดิตให้แก่แอคตัน ที่ออกมาอธิบาย และให้ข้อมูลกับประชาชนตั้งแต่ช่วงแรกที่รู้ข่าว
แอคตันเป็นคนแรกที่เดินเข้ามายืนหน้ากล้อง พร้อมกับแผนภูมิ ‘Flatten the Curve’ หรือการทำให้ภูเขาลูกนั้นชันน้อยลง ก่อนจะเริ่มอธิบายถึงความจำเป็นที่รัฐจะต้องปิดเมือง และเหตุผลที่ประชาชนควรห่างกันสักพัก เพื่อให้จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตลดลงเหลือน้อยที่สุด เธออธิบายด้วยท่าทีสุภาพและน้ำเสียงจริงใจ ก่อนจะเปรียบเปรยว่า ไวรัสชนิดนี้ไม่ต่างจากปีศาจที่กำลังคืบคลานเข้าหาทุกคนอย่างเงียบเชียบ หากทุกคนไม่ให้ความสำคัญ รู้ตัวอีกทีก็อาจติดเชื้อไปแล้ว
ในการอภิปรายวันนั้น (12 มีนาคม 2020) ทางการเพิ่งออกมาประกาศว่าพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในรัฐโอไฮโอทั้งหมด 5 ราย เธอบอกว่า แม้ตอนนี้จะดูเหมือนเป็นจำนวนที่น้อย แต่ภายในเวลาไม่นานมันจะเพิ่มจำนวนขึ้นอีกมาก “ในสถานการณ์แบบนี้ เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับปีศาจได้ แต่คุณเลือกได้นะ ว่าอยากจะเจอกับปีศาจตัวใหญ่หรือตัวเล็ก” แอคตันกล่าว
การอภิปรายครั้งนั้นเอง ทำให้เธอเริ่มกลายเป็นที่รู้จักในสายตาชาวโอไฮโอ แม้ช่วงแรกจะมีเสียงคัดค้านจำนวนมาก แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงอย่างที่เธอคาดการณ์ไว้จริง ๆ ก็ทำให้ประชาชนเริ่มหันมาฟังมากขึ้น และด้วยลีลาการเล่าเรื่องที่เข้าใจง่าย ประกอบกับการอภิปรายที่แฝงอารมณ์ขัน (เธอเคยเปรียบเทียบมาตรการรับมือโรคระบาดกับเทคนิคการเล่นบาสเก็ตบอล) ไม่นานช่วงเวลาบ่าย 2 โมงซึ่งเป็นการอภิปรายอัพเดทสถานการณ์โรคระบาดประจำวัน ก็กลายมาเป็นช่วงที่หลายคนตั้งตารอฟัง “ฉันคิดว่าทุก ๆ คนอยากรู้ว่าตอนนี้เรากำลังเผชิญหน้ากับอะไรอยู่ เขาจะได้รู้ว่าจะตัดสินใจใช้ชีวิตอย่างไรต่อได้”
“สำหรับฉัน เธอคือฮีโร่นะ ทุกอย่างที่เธอพูดในทีวี มันช่วยเราได้มาก อาจเพราะตัวเธอเองก็เคยผ่านชีวิตที่ลำบากมา เธอจึงเข้าใจว่าทุกคนต้องการอะไรในตอนนี้” จูน กัทเทอร์แมน (June Gutterman) เพื่อนสมัยเรียนของแอคตัน กล่าว
กัทเทอแมนเล่าว่า ก่อนหน้านี้ชีวิตของแอคตันไม่สวยงามเลย แม้แต่เธอที่เป็นเพื่อน ก็เพิ่งมารู้ว่าเธอผ่านอะไรมาหลังจากที่ทุกอย่างจบไปนานแล้ว หลายคนอาจไม่เชื่อว่าพื้นเพของ ผอ.กรมอนามัย ไม่ได้เป็นไปตามหลักของนักการเมืองผู้เต็มไปด้วยคอนเนคชันที่ง่ายต่อการประสบความสำเร็จ แม้ในช่วงวัยรุ่นเธอจะเติบโตมาอย่างดี แต่เรื่องราวก่อนหน้านั้นดันราวกับหนังคนละม้วน
แอคตันเคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับหนึ่ง สมัยที่เธอยังไม่มีชื่อเสียงว่า ตลอดช่วงเวลาวัยเด็กที่เธออาศัยอยู่ในเมืองยังส์ทาวน์ ชีวิตของเธอไม่ต่างจากอาศัยอยู่ในขุมนรก “พ่อกับแม่มีฉันโดยไม่ได้ตั้งใจ พวกเขาก็แค่เจอกันในงานปาร์ตี้ แต่เพราะมีฉันเลยต้องแต่งงานกันอย่างเสียมิได้” แม่ของแอคตันเป็นศิลปิน ขณะที่พ่อของเธอเป็นนักเรียนแพทย์ แม้จะพยายามประคองชีวิตคู่อันผิดพลาดอย่างเต็มที่แล้ว สุดท้ายทั้งสองก็ทนไม่ไหว เอมี แอคตัน ในวัย 3 ขวบ กับน้องชายวัยไม่กี่เดือน จึงต้องกลายเป็นเด็กกำพร้า
“ยุคนั้นสิทธิ์การเลี้ยงดูมักจะไปตกอยู่ที่แม่ ตอนนั้นพ่อฉันพยายามสู้แล้ว แต่เพราะยังเด็กมากฉันก็เลยอดไม่ได้ที่จะโทษว่าหลายอย่างเกิดขึ้นเพราะเขา” เอมีและน้องชายต้องตะลอนไปตามรัฐต่าง ๆ พร้อมกับแม่ เธอบอกว่าถ้านับ ๆ ดูตอนนั้นเคยย้ายบ้านประมาณ 18 ครั้งได้ แม่ของเธอคบกับผู้ชายไปเรื่อย ๆ พอทะเลาะกันก็หอบลูกหนี เหล่านี้เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับชีวิตวัยเด็กของเธอ
เอมีกับน้องชายเคยถูกทิ้งให้อยู่ในห้องเช่ารูหนูที่มีแค่ผนัง 4 ด้านกับเตียง โดยที่ไม่รู้ว่าแม่ออกไปไหน แถมยังเคยแม้กระทั่งนอนในเต็นท์ข้างถนนเพราะไม่มีเงินเช่าห้อง “ฉันยังจำได้ว่าตอนนั้นมีคนให้อาหารเรามาฟรี ๆ ด้วย เขาบอกว่าดูก็รู้แล้วว่าพวกเราคงหิว ยิ่งในหน้าหนาวแบบนั้นยิ่งไม่ควรป่วย”
“มันมีหลายเรื่องที่มองกลับไปแล้วดูบ้าบอมาก แต่ก็เกิดขึ้นจริง ๆ ตอนเด็กฉันใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการดูแลน้องชายแล้วก็กลัวการย้ายบ้าน มันเหมือนฉันต้องเข้าสู่โลกของผู้ใหญ่ทั้งที่ไม่มีอะไรพร้อม” เธอใช้ชีวิตแบบนั้นมาจนกระทั่งอายุได้ 12 แม่ถึงแต่งงานใหม่ ทีแรกมันดูเหมือนเป็นเรื่องดี ถ้าไม่ติดว่าแฟนใหม่ของแม่เริ่มทำร้ายร่างกายของเธอ โดยที่แม่ไม่เคยเข้ามาห้าม
เอมีและน้องชายต้องทนอยู่กับสภาพชีวิตอย่างนั้น จนกระทั่งมีคนเข้าแจ้งความเพื่อช่วยเหลือ “ฉันคงโชคดีที่แผลพวกนั้นมันเลวร้ายมากพอที่จะทำให้พวกเขาโดนจับ ศาลตัดสินให้ฉันไปอยู่ในความดูแลของพ่อ ตอนนั้นแม่ไม่มองหน้าฉันเลย ขนาดฉันพยายามเดินเข้าไปจูบลา เธอก็ยังหันหน้าหนี” เอมีบอกว่านั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่เธอได้เจอแม่
หลังจากมาอยู่บ้านกับพ่อ เธอจึงได้พบกับชีวิตที่อิสระอย่างแท้จริง พ่อดูแลลูก ๆ ทั้งสองดีมาก ๆ เธอจึงตอบแทนด้วยการตั้งใจเรียน และกลายเป็นนักเรียนดีเด่น รวมทั้งเป็นที่รักของเพื่อน ๆ “พ่อฉันบอกว่าฉันสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น และฉันอยากเป็นอย่างเขา” แอคตันสอบเข้าโรงเรียนแพทย์ที่ Youngstown State University และเติบโตมาเป็นคุณหมอที่มีความสามารถ เธอไต่เต้าขึ้นมาเป็น ผอ.กรมอนามัยที่มีประสิทธิภาพได้ เพราะการสนับสนุนจากพ่อที่เสียชีวิตไปเมื่อไม่กี่ปีก่อน
“ฉันคิดถึงเขามากนะ แม้มันจะผ่านไปนานแล้ว เรื่องราวก่อนอยู่กับเขาก็เหมือนกัน” แอคตันบอกว่า เพราะเธอเองก็เคยสัมผัสการใช้ชีวิตในจุดต่ำสุด เธอจึงเข้าใจว่าในสถานการณ์เช่นนี้ เหล่าคนไร้บ้าน คนที่ไม่มีต้นทุน กำลังตกที่นั่งลำบากเช่นไร “ฉันคิดว่าประสบการณ์วัยเด็ก ทำให้ฉันยิ่งเหมาะมากกับการรับมือสถานการณ์แบบนี้”
แอคตันทำงานในฐานะนักการเมืองที่ไม่ลืมคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของคนที่ต้องการความช่วยเหลือ ที่ผ่านมาเธอพยายามเคลื่อนไหวเพื่อช่วยพวกเขาผ่านโครงการต่าง ๆ โดยที่แทบไม่มีสื่อมองเห็น แต่เพราะช่วงเดือนมกราคม เธอได้ข่าวจากเพื่อนว่ากำลังมีโรคแปลก ๆ ระบาดอยู่ในประเทศจีน เธอจึงละความสนใจมาตามข่าวสารทางนี้มากขึ้น
ตอนนั้นข่าวเชื้อไวรัสกำลังแพร่ไปทั่วเอเชียแล้ว แต่ชาวอเมริกันก็ยังใช้ชีวิตราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีทั้งการให้ข้อมูล เสนอข่าว หรือแสดงความกังวลอะไรทั้งสิ้น แอคตันมองว่านั่นเป็นจุดที่อันตราย เพราะทุกวันนี้การเดินทางของผู้คน อาจนำพาโรคระบาดให้มาถึงพวกเขาในไม่ช้า ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ เธอเริ่มนำเรื่องนี้เข้าปรึกษากับผู้ว่าของรัฐ เพื่อตัดสินใจว่าควรทำอะไรต่อ
และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเสนอให้มีการปิดเมือง ทั้งที่ตอนนั้นแอคตันเองก็ไม่ได้นึกว่าสถานการณ์หลายอย่างจะรุนแรงมาจนถึงขั้นนี้ เพราะการตัดสินใจดำเนินการที่รวดเร็ว ทำให้เธอสามารถปกป้องชาวโอไฮโอจำนวนมากได้ก่อนหน้ารัฐอื่น ๆ ตอนนี้พลเมืองหลายคนเริ่มหันมาสนใจเสียงที่เธอพูด และสนับสนุนการทำงานของแอคตันในหลาย ๆ ด้าน เธอกลายมาเป็นนักการเมืองที่โอไฮโอยกเป็นฮีโร่ตัวอย่างอย่างแท้จริง
แอคตันถึงขนาดมีกรุ๊ปแฟนคลับในเฟซบุ๊กที่มีสมาชิกอยู่กว่า 120,000 คน และได้รับการขนานนามโดยสำนักข่าว Columbus ว่าเป็น ซูเปอร์ฮีโร่ในชุดแล็บโค้ท (Superhero in a Lab Coat) แอคตันบอกว่าเธอเองก็คงตั้งใจทำงานต่อไป และไม่ได้มีปัญหาอะไรกับชื่อนี้ แค่ขอให้ทุกคนแซวเธอน้อยลงหน่อย เพราะเธอถูกสามีที่บ้านล้อมากเกินไปแล้ว
ที่มา
https://time.com/collection/coronavirus-heroes/5816890/amy-acton-ohio-coronavirus/
https://www.news5cleveland.com/news/continuing-coverage/coronavirus/dr-amy-acton-on-the-experiences-that-shaped-her-and-prepared-her-for-role-in-this-crisis
https://www.columbusmonthly.com/news/20200422/amy-acton-ohios-coronavirus-superhero-in-lab-coat
https://vindyarchives.com/news/2019/aug/31/ohio-leaders-passion-comes-from-youngsto/