แอนดรูว์ คาร์เนกี ไลฟ์โค้ชเศรษฐี ชี้ทางรวยอย่างไรไม่ให้คนเกลียด
"การต่อต้านรากฐานที่สังคมนี้ตั้งวางอยู่ (ระบบทุนนิยม) เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะด้วยเงื่อนไขนี้ชีวิตของมนุษยชาติมีคุณภาพดีกว่าระบบอื่น ๆ ที่ได้ทดลองมาแล้ว ทางเลือกใหม่อื่น ๆ ที่ถูกเสนอเป็นสิ่งที่เราไม่อาจแน่ใจได้
"นักสังคมนิยม หรืออนาธิปไตยที่ต้องการจะรื้อถอนสภาวะเงื่อนไขในปัจจุบัน เท่ากับมุ่งโจมตีรากฐานอันเป็นที่ตั้งของอารยธรรมไปด้วย เนื่องจากอารยธรรมก่อตัวขึ้นมาเมื่อแรงงานที่ขยันขันแข็งและมีความสามารถ บอกกับเพื่อนที่สันหลังยาวและไม่เอาไหนว่า 'ถ้ามึงไม่หว่านพืช ก็อย่าได้หวังผล' ซึ่งเป็นการยุติระบอบคอมมิวนิสต์ยุคบรรพกาล ด้วยการแบ่งแยกคนไม่ทำงานออกจากคนขยันอย่างผึ้งงาน
(สังคมมนุษย์โบราณไม่มีหลักทรัพย์สินเอกชน ผลิตผลจากการเกษตรที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมากตกเป็นของชุมชนที่ต้องนำมาแบ่งกัน)
"ผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้จะต้องเผชิญกับข้อสรุปว่า ความศักดิ์สิทธิ์ในหลักกรรมสิทธิ์แห่งอารยธรรมนั้นอยู่บนพื้นฐานของสิทธิของแรงงานที่จะมีเงินร้อย ๆ ดอลลาร์ในบัญชีธนาคาร ซึ่งเป็นสิทธิที่เท่าเทียมกันของเศรษฐีที่จะมีเงินเป็นล้าน ๆ"
แอนดรูว์ คาร์เนกี กล่าวปกป้องระบบทุนนิยมที่เปลี่ยนให้แรงงานอพยพอย่างเขากลายเป็นมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ (Andrew Carnegie, The Gospel of Wealth)
"สำหรับคนที่เสนอให้ใช้ระบอบคอมมิวนิสต์แทนระบบปัจเจกนิยมเข้มข้นเช่นนี้ คำตอบก็คือ มนุษย์ได้ลองใช้มาก่อนแล้ว ความก้าวหน้าจากวันวานอันป่าเถื่อนมาถึงจุดปัจจุบันก็เป็นผลจากความไม่เข้าท่าของมันนั่นเอง
"การสะสมความมั่งคั่งของมนุษย์โดยผู้มีความสามารถและพละกำลังที่จะสั่งสมไม่ใช่เรื่องชั่วแต่เป็นเรื่องดี
“แต่หากย้อนกลับมามองสักนิด มันอาจจะดีกว่าสำหรับมวลมนุษย์ที่จะละซึ่งสิ่งที่เป็นรากฐานของปัจจุบัน นั่นคือความเป็นปัจเจก แล้วสมาทานอุดมคติที่สูงส่งกว่า นั่นก็คือ มนุษย์ไม่ควรลงแรงไปเพื่อตนเองเท่านั้น แต่ต้องเป็นไปเพื่อเพื่อนมนุษย์ ร่วมแบ่งปันสิ่งต่าง ๆ ให้แก่กัน ทำให้นึกถึงคำของ สวีเดนบอร์ก (Emanuel Swedenborg - นักเทววิทยาชาวสวีเดน) ที่ว่า ความสุขของเหล่าเทวดานั้นไม่ใช่เพราะท่านทำเพื่อตนเอง แต่เพื่อผู้อื่น
"หากเรายอมรับสิ่งเหล่านี้ คำตอบที่ได้ มันไม่ใช่แค่การก้าวไปข้างหน้า แต่มันคือการปฏิวัติ"
จากข้อมูลของ Britannica คาร์เนกี เกิดในสก็อตแลนด์เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1835 พ่อของเขาเป็นช่างทอผ้าที่เป็นปากเป็นเสียงให้กับแรงงานร่วมอาชีพ ซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับการปฏิวัติอุตสาหกรรม เมื่อเครื่องจักรกำลังเข้ามาแทนที่แรงงานอย่างพวกเขา ความยากจนข้นแค้น ทำให้พ่อของเขาพาครอบครัวอพยพมาแสวงโชคในสหรัฐฯ เมื่อปี 1848
เมื่อถึงโลกใหม่ คาร์เนกีมีความกระตือรือร้นกับการเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับวิถีอเมริกันชน เขาหางานทำตั้งแต่แรกถึง หมั่นศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง และยังไปลงเรียนภาคค่ำ เมื่ออายุได้ 14 ปีระหว่างที่ทำงานเป็นเด็กส่งเอกสารในสถานีโทรเลข ความสามารถของเขาไปเข้าตาผู้อำนวยการคนหนึ่งของบริษัทรถไฟเพนซิลเวเนีย จึงได้มาทำหน้าที่เป็นเลขา และไต่เต้าจนได้เป็นผู้อำนวยการประจำสาขาพิตส์เบิร์ก
ระหว่างนี้เขาก็เริ่มเอาเงินเก็บไปลงทุนในกิจการต่าง ๆ และได้ผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำ อายุได้ 30 ปี เขาก็มีรายได้ปีละ 50,000 ดอลลาร์แล้ว
ช่วงทศวรรษ 1870s หลังเดินทางกลับจากการไปเยือนเกาะอังกฤษ เขาก็ได้เห็นถึงอนาคตของอุตสาหกรรมเหล็ก และตัดสินใจลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็กที่พิตส์เบิร์กซึ่งกลายมาเป็น Carnegie Steel Company ในเวลาต่อมา
กิจการของเขาประสบความสำเร็จด้วยการนำเข้าเทคโนโลยีการหลอมเหล็กกล้าจากอังกฤษ และนวัตกรรมใหม่อื่น ๆ จนทำให้อุตสาหกรรมเหล็กกล้าของสหรัฐฯ สามารถแซงหน้าอังกฤษได้เป็นผลสำเร็จในปี 1890 และเขาเองก็กลายเป็นมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ ก่อนที่จะขายกิจการของตนเองให้กับ เจ. พี. มอร์แกน (J. P. Morgan) ด้วยมูลค่า 480 ล้านดอลลาร์ ในปี 1901 แล้วอุทิศตนให้กับกิจการสาธารณกุศลอย่างเต็มที่
เส้นทางชีวิตจากเด็กอพยพที่หนีความแร้นแค้น ต่อสู้จนกลายเป็นมหาเศรษฐีระดับโลกด้วยมือของตนเอง แถมยังเป็นคนใจบุญอุทิศตนเพื่อเพื่อนมนุษย์ จึงไม่แปลกที่คาร์เนกีจะกลายเป็น “ฮีโร” ของชาวอเมริกันที่ช่วยสร้างอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานให้เข้มแข็งล้ำหน้ามหาอำนาจเก่า และเป็นแบบอย่างขายฝันให้ชนรุ่นหลังว่า ถ้าเด็กอพยพ (เสื่อผืนหมอนใบ?) ตัวเปล่าอย่างคาร์เนกียังสร้างฐานะด้วยตัวเองได้ พวกเขาก็ต้องทำได้เหมือนกัน
แต่ชีวิตของคาร์เนกีใช่จะไม่มีเสียงวิจารณ์เลย เขามักจะกล่าวต่อสาธารณะว่า ตัวเองเป็นผู้ที่สนับสนุนการรวมกลุ่มสหภาพแรงงาน เพราะพ่อเขา หรือตัวเขาเองก็ไต่เต้าขึ้นมาจากการเป็นแรงงานตัวเล็ก ๆ จึงย่อมเข้าใจหัวอกคนทำงานเป็นอย่างดี ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็คงไม่เกิดเหตุจลาจลที่โฮมสเตด เพนซิลเวเนีย (Homestead riot)
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 1892 หลังสหภาพแรงงานในโรงงานของคาร์เนกีถูกสยบไปเกือบหมด เหลือแต่โรงงานที่โฮมสเตดที่ยังคงมีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานมีฝีมือและกลุ่มวิชาชีพเฉพาะ และยังได้รับการสนับสนุนจากแรงงานที่ไม่ได้เป็นสมาชิกอีกกว่า 3,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพหรือลูกหลานผู้อพยพจากยุโรปใต้และยุโรปตะวันออก แต่ในวันที่ 1 กรกฎาคม 1892 สัญญาจ้างงานระหว่างโรงงานของคาร์เนกีกับสหภาพก็จะยุติลง
ว่าแล้ว คาร์เนกีก็ใช้จังหวะนี้เดินทางไปเที่ยวสก็อตแลนด์ในเดือนพฤษภาคม แล้วมอบหมายให้ เฮนรี เคลย์ ฟริก (Henry Clay Frick) นักอุตสาหกรรมมือฉมัง ซึ่งเป็นทั้งหุ้นส่วนและผู้ช่วยของคาร์เนกี เป็นผู้จัดการเคลียร์สหภาพแรงงานของโรงงานให้พ้นทาง โดยให้ไฟเขียวเป็นลายลักษณ์อักษรว่า “เราอนุมัติทุกอย่างที่คุณทำ” และ “เราจะอยู่ข้างคุณจนถึงที่สุด” (PBS)
เมื่อได้รับการหนุนหลังอย่างถึงที่สุด ฟริกจึงไม่ยอมลดราวาศอก กดดันให้คนงานต้องยอมรับค่าแรงที่ลดลง และให้ยกเลิกสหภาพ ถึงวันที่ 25 มิถุนายน ฝ่ายสหภาพยอมรับข้อเรียกร้องทุกประการแล้ว ยกเว้นแต่การยกเลิกสหภาพ แต่ฟริกประกาศไม่รับการต่อรองใด ๆ และเตรียมแรงงานทดแทนไว้ล่วงหน้าเพื่อเข้าทำงานทันทีที่กลุ่มแรงงานเดิมหมดสัญญาลง
แม้ฝ่ายสหภาพแรงงานต้องการเจรจา และหาทางติดต่อกับคาร์เนกี ผู้ที่อ้างว่ายืนอยู่ข้างการรวมตัวเป็นสหภาพของแรงงาน แต่ทำอย่างไรก็ไม่สำเร็จ ฝ่ายฟริกก็จัดการติดตั้งรั้วลวดหนามและวางกำลังป้องกันแรงงานของสหภาพเข้าสู่โรงงานเมื่อถึงวันที่สัญญาสิ้นสุดลง ซึ่งคาร์เนกีเชื่อว่า หากใช้ไม้แข็งยืนกรานหนักแน่น อย่างไรเสียแรงงานกลุ่มเดิมก็คงจะยอมรับเงื่อนไขและละทิ้งสหภาพ แต่เขาคิดผิด
ฝ่ายสหภาพใช้กำลังบุกเข้ายึดโรงงานเอาไว้ได้ ฟริกจึงว่าจ้าง Pinkerton Detective Agency ผู้ให้บริการด้านรักษาความปลอดภัย ซึ่งนายจ้างสมัยนั้นนิยมเรียกหาเมื่อต้องการกำราบแรงงาน เข้ามารักษาความสงบเรียบร้อย กลุ่มพิงเคอร์ตัน 300 คน พร้อมปืนเล็กยาวครบมือ จึงต้องเผชิญหน้ากับแรงงานทั้งในและนอกสหภาพรวมกันมากกว่า 3,000 คน
เบื้องต้นฝ่ายสหภาพได้รับการสนับสนุนจากชาวบ้านชาวเมืองที่เห็นใจว่าพวกเขาได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากนายจ้าง แต่เมื่อการปะทะเกิดขึ้น สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป เนื่องจากกลุ่มแรงงานใช้ความรุนแรงอย่างทารุณกับกลุ่มผู้รักษาความปลอดภัยที่ถูกจับตัวได้ ความรุนแรงยุติลงหลังการปะทะผ่านไปกว่าครึ่งวัน เมื่อกองกำลังเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าแทรกแซง ผลของการปะทะพบกลุ่มพิงเคอร์ตันเสียชีวิตอย่างน้อย 3 ราย ฝ่ายแรงงานอย่างน้อย 7 ราย
แม้รัฐจะเข้าแทรกแซงมีการประกาศกฎอัยการศึก แต่ฝ่ายสหภาพก็ยังสู้ต่อ กลุ่มแรงงานทดแทนซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีตทาสผิวดำถูกฝ่ายสหภาพดักเล่นงานอยู่เสมอ แต่โรงงานของคาร์เนกีก็ยังสามารถเดินเครื่องต่อได้ ด้วยเงื่อนไขการจ้างงานใหม่ เมื่อแรงงานทดแทนเหล่านี้พร้อมยอมรับค่าแรงที่น้อยกว่าที่แรงงานกลุ่มเดิมเคยได้รับถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ต้องทำงานเป็นเวลา 12 ชั่วโมงต่อวัน และเป็นแรงงานที่ไม่มีสหภาพคุ้มหัวอีกต่อไป แรงงานกลุ่มเดิมเมื่อเห็นว่าสู้ต่อก็ไม่ได้อะไร บางกลุ่มจึงขอกลับมาทำงานด้วยค่าแรงที่น้อยกว่าเดิม
แถมท้าย คาร์เนกียังสามารถตัดกำลังแรงงานลงได้อีกกว่า 500 ตำแหน่ง มันจึงเป็นชัยชนะของคาร์เนกีในฐานะนายจ้างอย่างแท้จริง แต่นั่นก็กระทบต่อภาพลักษณ์นายจ้างผู้มีเมตตาต่อลูกจ้างอย่างรุนแรง
คาร์เนกีพยายามปลีกตัวเองออกจากข้อกล่าวหากดขี่แรงงาน เปิดการ์ดไม่อยู่ไม่รู้เรื่อง ปล่อยให้ฟริกรับหน้าไปคนเดียว ขณะเดียวกันก็พยายามอ้างว่า ข้อเสนอของฝ่ายสหภาพไม่เป็นธรรมต่อนายจ้าง เพราะปีก่อนหน้านั้นทางโรงงานใช้เทคโนโลยีใหม่ทำให้กำลังการผลิตสูงขึ้น 60 เปอร์เซ็นต์ แรงงานที่ได้ค่าแรงตามจำนวนการผลิตจึงได้ค่าแรงเพิ่มขึ้น 60 เปอร์เซ็นต์ด้วย
ซึ่งคาร์เนกีมองว่ามันไม่ถูก จึงเสนอสูตรค่าแรงใหม่ที่จะทำให้ลูกจ้างได้ค่าแรง “เพิ่มขึ้น” 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 30 เปอร์เซ็นต์ต้องเข้ากระเป๋านายจ้าง ซึ่งเป็นการ “เล่นกล” กับภาษา เพราะคำว่า “เพิ่มขึ้น” ในที่นี้ ทำให้ค่าแรงของลูกจ้าง “ลดลง” เมื่อเทียบกับสูตรค่าจ้างเดิม
(ตัวอย่างเช่น สมมติว่าเดิมลูกจ้างผลิตเหล็กกล้าได้ 100 กิโลกรัม ได้เงิน 100 ดอลลาร์ ต่อมากำลังการผลิตสูงขึ้น 60 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ผลิตเหล็กกล้าได้เพิ่มเป็น 160 กิโลกรัม ก็ต้องได้เงิน 160 ดอลลาร์ แต่คาร์เนกีขอลดค่าแรงลง 20 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้เขาจ่ายแค่ 130 ดอลาร์ แทนที่จะเป็น 160 ดอลลาร์ แต่เล่นคำให้ดูเป็น “บวก” ว่า เพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับค่าแรงที่เคยได้ก่อนที่กำลังการผลิตจะสูงขึ้น)
ในอัตชีวประวัติของเขา คาร์เนกีอ้างว่า ถ้าเขาอยู่ดูแลเหตุการณ์เองมันคงไม่เป็นอย่างนี้ เพราะเขาจะไม่ทำอย่างฟริกแน่นอน เนื่องจากขัดกับหลักการที่เขายึดถือ กล่าวคือ เขาจะไม่หันไปจ้างแรงงานกลุ่มใหม่ทดแทนแรงงานสหภาพที่พากันนัดหยุดงาน แต่จะรอเจรจาจนกว่าทั้งสองฝ่ายตกลงได้แล้วกลับมาทำงานร่วมกันอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี หลักฐานเอกสารที่ปรากฏในภายหลังขัดแย้งกับข้ออ้างของเขาอย่างชัดเจน
ในจดหมายที่คาร์เนกีมีไปถึงฟริกลงวันที่ 4 พฤษภาคม เขาบอกกับฟริกเองว่าไปให้สุดซอย แล้วเขาจะยืนข้างจนสุดทาง และแม้จะอยู่ในยุโรป และฝ่ายแรงงานจะพยายามติดต่ออย่างไรก็ไม่ได้ แต่ไม่ใช่กับฟริก คาร์เนกียังคงติดต่อกับฟริกอย่างใกล้ชิด กำชับไม่ให้ฟริกอ่อนข้อ จนกระทั่งเกิดการปะทะกันขึ้นในวันที่ 6 กรกฏาคม วันต่อมาคาร์เนกีก็ส่งโทรเลขหาฟริกว่า
“ได้รับโทรเลขแล้ว ค่อยโล่งหน่อยที่คุณยังหนักแน่น อย่าได้ว่าจ้างพวกที่ร่วมการจลาจลนี้อีก รอดูสถานการณ์ไป อย่าให้ล้มเหลว คุณต้องชนะได้อย่างง่ายดายในยกหน้า”
ในวันที่ 17 กรกฎาคม หลังเหตุการณ์ปะทะจบลง แต่ฝ่ายสหภาพยังไม่ยอมแพ้ คาร์เนกีส่งจดหมายไปถึงหลานว่า "เราต้องอยู่เงียบ ๆ และคอยสนับสนุนฟริก รวมถึงคนที่ต้องลงพื้นที่เผชิญหน้าในทุกทางเท่าที่ทำได้ ฉันถูกตามตอแยขอสัมภาษณ์ทางโทรเลขจากนิวยอร์กมากมาย แต่ไม่ได้ตอบกลับสักคำ เงียบไว้ดีที่สุด แน่นอนเราต้องชนะ แม้ว่าจะต้องปิดโรงงานเป็นเดือนก็เถอะ"
และเมื่อฝ่ายสหภาพยอมแพ้อย่างราบคาบในเดือนพฤศจิกายน ฟริกส่งโทรเลขแจ้งไปถึงคาร์เนกีว่า นับแต่นี้ไปพวกเขาจะไม่เจอกับปัญหาแรงงานอีก ฝ่ายคาร์เนกีตอบกลับมาจากอิตาลีว่า "ชีวิตกลับมาน่าอยู่อีกครั้ง ได้รับโทรเลขแล้ว เป็นเช้าแรกที่มีความสุขนับแต่เดือนกรกฎาคม อิตาลีสวยงามอย่างคิดไม่ถึง ขอแสดงความยินดีกับทุกคน"
แม้ในระยะใกล้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คาร์เนกีจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย แต่เสียงวิจารณ์ดังกล่าวก็ค่อย ๆ จางหายไปตามกาลเวลา เพราะภาพจำในฐานะเศรษฐีใจบุญถูกเน้นย้ำอยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่เขาขายกิจการให้กับ เจ. พี. มอร์แกน ในปี 1901 แล้วบริจาคทรัพย์สินส่วนใหญ่ของตนเองให้กับกิจการการกุศล (ที่ตัวเขาเองดูแล)
ใน The Gospel of Wealth (gospel เป็นคำทางคริสต์ เดิมใช้เรียกบันทึกเรื่องราวของพระเยซู ผ่านการบอกเล่าของเหล่าสาวก แปลตรงตัวว่า “ข่าวดี” หรือ “ข่าวอันประเสริฐ” ในกรณีนี้ จึงอาจแปลได้ว่า ข่าวอันประเสริฐว่าด้วยความมั่งคั่ง) บทความของเขาซึ่งเผยแพร่ครั้งแรกในปี 1889 (ตอนแรกใช้ชื่อว่า Wealth เฉย ๆ) พยายามยืนยันสิทธิของคนรวยที่จะรวย ต่อต้านความคิดเรื่องการกระจายความมั่งคั่งอย่างเป็นธรรมของนักสังคมนิยม โดยแก้ต่างว่า คนรวยนั้นรวยด้วยกำลังและความสามารถของตน และคนรวยนี่เองที่ทำให้สังคมก้าวหน้า เพราะคนรวยย่อมรู้ว่าจะใช้เงินนั้นอย่างไรจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด
แต่ถ้าพูดแค่นั้นเขาก็จะกลายเป็นแค่เศรษฐีไร้กึ๋นที่จะทำให้คนจดจำ เขาทำให้คนแปลกใจด้วยการประกาศว่า แม้คนรวยมีสิทธิที่จะรวย แต่ถ้าคนรวย ตายไปแบบรวย ๆ ก็เท่ากับเป็นการตายที่ไร้ศักดิ์ศรี เพราะความมั่งคั่งส่วนเกินที่คนรวยดึงมาจากแรงงานและผู้บริโภคควรกลับไปสู่สังคม
และเขาก็ได้ทำเป็นตัวอย่าง ด้วยการบริจาคทรัพย์สินเกือบทั้งหมดของตัวเองให้กับองค์กรการกุศล ด้วยวิธีการนี้ สังคมก็จะน่าอยู่และเป็นระบบที่ดียิ่งกว่าคอมมิวนิสต์ เพราะหากเงินจำนวนมากอยู่ในมือคนจำนวนน้อยที่มีความสามารถ ย่อมสามารถสร้างประโยชน์ได้มากกว่าการเอาเงินจำนวนน้อย ๆ ไปแจกจ่ายให้กับคนจำนวนมาก ซึ่งสุดท้ายก็อาจถูกเอาไปใช้จ่ายได้แค่ซื้อของเล็ก ๆ น้อย ๆ สนองตัณหาส่วนตัวเท่านั้น
"นี่ควรเป็นหน้าที่ของผู้มั่งคั่ง อย่างแรกต้องแสดงถึงตัวอย่างความสมถะ ไม่ฟุ้งเฟ้อ จัดหารายได้เท่าที่จำเป็นให้กับทายาทหรือบุคคลที่ต้องพึ่งพาตนอย่างเพียงพอ จากนั้นรายได้ส่วนเกินทั้งหลายของเขาก็ควรเข้ารวมกันเป็นกองทุนทรัสต์ที่เขาเป็นผู้ดูแล โดยจะต้องมีขอบเขตชัดเจนว่า เขาต้องจัดการอย่างดีที่สุดตามวิจารณญาณเพื่อประโยชน์ต่อสังคม ผู้มั่งคั่งจึงกลายเป็นเพียงตัวแทนและทรัสตี (ผู้ดูแลผลประโยชน์) ให้กับเพื่อนร่วมสังคมที่ยากจนกว่า โดยใช้สติปัญญา ประสบการณ์ และความสามารถในการจัดการที่เหนือกว่า สร้างสิ่งที่ดีกว่าให้กับพวกเขา ซึ่งพวกเขาไม่อาจทำได้ด้วยตนเอง" คาร์เนกีกล่าว
ด้วยเหตุนี้ แม้จะบริจาคเงินส่วนใหญ่ของตนเองไปเข้ากองทุนเพื่อการกุศล แต่คาร์เนกีก็ไม่ปล่อยให้เงินหลุดมือไปเปล่า ๆ เพราะเขาในฐานะที่เป็นคนส่วนน้อยที่มีทั้งสติปัญญา ประสบการณ์และความสามารถ ต้องเป็นผู้ควบคุมดูแลเงินที่เขาบริจาคไปอยู่นั่นเอง
ผลของการบริจาคจึงมิได้ทำให้เขาจนลงแบบทันทีทันควัน กลับกัน เขายิ่งได้ผลตอบแทน (กำไร) ทางสังคม วัฒนธรรม และการเมืองยิ่งกว่าการนั่งเป็นเจ้าของกิจการสร้างความร่ำรวยโดยไม่เผื่อแผ่ใครอยู่เฉย ๆ และยังช่วยปิดปากเสียงวิจารณ์ว่าเขาสั่งสมความมั่งคั่งอย่างไม่เป็นธรรม หรือขูดรีดแรงงานเพื่อประโยชน์ส่วนตัว
แนวทางของเขาได้รับการปฏิบัติสืบทอดกันมาในบรรดามหาเศรษฐีจากรุ่นสู่รุ่น ที่ร่วมสมัยในปัจจุบันก็เช่น บิลล์ เกตส์ ผู้ก่อตั้ง Microsoft หรือ เจฟ เบซอส แห่ง Amazon คาร์เนกีจึงควรได้ชื่อว่าเป็น “บิดาแห่งไลฟ์โค้ชมหาเศรษฐี” ที่ช่วยชี้ทางการสั่งสมความมั่งคั่งอย่างไม่ได้สัดส่วน โดยที่สังคมยังคงยกย่อง ไม่กล่าวประณาม (อาจมีด่าเบา ๆ บ้างแล้วปล่อยผ่าน) และรักษาไว้ซึ่งโครงสร้างที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำทางสังคมต่อไป