แฟรงก์ แทสโซน แห่ง Bad Education: ตีแผ่คดีคอร์รัปชันการศึกษา ผลเสียจากแนวคิดที่ว่า ‘เขาเป็นคนดี จึงไม่จำเป็นต้องตรวจสอบ’
*คำเตือน* มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ (เรียกว่าเล่าให้ฟังจนจบเลยก็ว่าได้)
เราสามารถนำคำว่า ‘คนดี’ มาต่อรอง เพื่อทำเรื่อง ‘ไม่ดี’ ได้หรือไม่?
เราทำความดีมาตั้งมากมาย ความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ครั้งนี้ ปล่อยผ่านไปสักหน่อยได้หรือเปล่า?
คำถามข้างต้น ดูเหมือนจะกลายเป็นชนวนที่จุดขึ้นในความคิดของตัวละคร แฟรงก์ แทสโซน (แสดงโดย ฮิวจ์ แจ็คแมน) จากภาพยนตร์เรื่อง Bad Education (2019) ชายผู้ดำรงตำแหน่งใหญ่โตในบอร์ดผู้บริการเขตการศึกษา จนทำให้เขาตัดสินใจยักยอกเงินภาษีที่รัฐบาลจัดสรรไว้ให้ จนกลายเป็นหนึ่งในคดีฉ้อโกงสุดยิ่งใหญ่ที่เรียกได้ว่าสั่นสะเทือนทุกภาคส่วนของแวดวงการศึกษา
Bad Education สร้างขึ้นโดยมีเค้าโครงจากเรื่องจริง ที่เกิดขึ้นในเขตการศึกษารอสลีน บนเกาะลอง ไอส์แลนด์ มลรัฐนิวยอร์ก แฟรงก์ แทสโซน (Frank Tassone) ดำรงตำแหน่งเป็นศึกษาธิการ (Superintendents) ซึ่งทำหน้าที่บริหารจัดการงบประมาณ เพื่อพัฒนาเขตการศึกษาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลงานการกำกับของโครี ฟินลีย์ ที่เคยมีผลงานอย่าง Thoroughbreds (2018) แถมยังได้ ไมค์ มาคาวสกี ศิษย์เก่าจากรอสลีน ผู้กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมต้นขณะที่เหตุการณ์นี้เกิดมาเขียนบทให้อีกด้วย
เหตุการณ์ส่วนใหญ่ใน Bad Education เกิดขึ้นในโรงเรียนมัธยมปลายรอสลีน สถานศึกษาชื่อดังที่ได้รับการจัดอันดับจาก The Wall Street Journal ว่าเป็นโรงเรียนรัฐบาลที่ดีที่สุด อันดับที่ 4 ของอเมริกา โดยมีตัวชี้วัดเป็นคุณภาพของหลักสูตรการศึกษาที่พาให้เด็ก ๆ กว่า 1 ใน 4 ของโรงเรียน สอบติดมหาวิทยาลัยชื่อดังหลายแห่งทั่วโลก ข้อความหนึ่งจาก New York Magazine เคยระบุว่า “ใบจบการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมปลายรอสลีน คือตั๋วที่จะพาคุณเข้าสู่ฮาร์วาร์ด”
แต่กว่าที่โรงเรียนธรรมดา ๆ สักแห่งหนึ่ง จะถูกพิจารณาว่ามีคุณภาพมากพอที่จะติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศ ย่อมไม่ใช่แค่เพราะครูหรือนักเรียนอย่างเดียว บอร์ดผู้บริหารเองก็มีหน้าที่ต้องจัดการสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการศึกษาเล่าเรียน ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์การเรียน หลักสูตรที่พรั่งพร้อม และการสอนจากครูเก่ง ๆ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้นักเรียนสามารถตักตวงความรู้จากโรงเรียนให้ได้มากที่สุด
โรงเรียนผลิตเด็กเก่งออกมาได้แล้วดีอย่างไร? แน่นอนว่าผลลัพธ์ต่อไป ย่อมเป็นการที่เหล่าพ่อแม่ผู้ปกครอง จะอยากพาลูกหลานมาเรียนที่นี่ เหล่านี้นำมาสู่งบประมาณมหาศาลที่รัฐจะจัดสรรมาให้แก่โรงเรียนที่ใคร ๆ ก็อยากเข้า โดยนอกจากจะเป็นหน้าเป็นตาของเขตแล้ว พื้นที่การศึกษาดี ๆ ยังส่งผลต่อราคาอสังหาริมทรัพย์ที่มีโอกาสปรับตัวขึ้นสูง เพราะจะมีครอบครัวฐานะดีที่พร้อมจ่ายเท่าไหร่ก็ได้ย้ายเข้ามาอยู่
ทั้งหมดยังเกี่ยวพันไปถึงการยกระดับคุณภาพชุมชน ซึ่งทำให้บทบาทของคนที่ดำรงตำแหน่งในบอร์ดบริหาร มีความสำคัญต่อเขตการศึกษารอสลีน และแน่นอน ตัวละครที่อยู่เบื้องหลังการบริหารจัดการ จนโรงเรียนรอสลีนกลายมาเป็นอันดับ 4 ภายในเวลา 12 ปีได้ ก็คือศึกษาธิการอย่าง แฟรงก์ แทสโซน
แฟรงก์ แทสโซน มีชีวิตอยู่จริง เขาเกิดที่เมืองบรองซ์ จบการศึกษาระดับปริญญาโทและเอกจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ก่อนจะค่อย ๆ ไต่เต้ามาจนถึงระดับบริหาร แทสโซนเข้ามาทำงานในเขตการศึกษารอสลีนในช่วงปี 1992 ด้วยภาพลักษณ์โอบอ้อมอารี พร้อมรับฟังปัญหา และให้คำปรึกษากับทุกฝ่าย เขาจึงกลายมาเป็นไอดอลที่เด็ก ๆ เคารพ แถมผู้ปกครองหลายคนก็ยังวางใจ
เพราะเขา ‘ดี’ ขนาดนี้ จึงไม่มีใครสงสัยเลยว่าแทสโซนจะแอบยักยอกเงินภาษีที่รัฐจัดสรรมาให้ไปใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย และไม่เกรงกลัวว่าจะถูกจับ เขาร่วมมือกับผู้ช่วยศึกษาธิการอย่าง พาเมลา กลัคคิน (Pamela Gluckin) เธอคนนี้ก็มีตัวตนอยู่จริง ๆ บนโลก พาเมลารู้เห็นเป็นใจกับแทสโซนในการยักยอกเงินไปใช้จ่าย ทั้งตกแต่งบ้าน ซื้อรถ ซื้อภาพเขียน โดยต่างคนต่างก็นำบัตรเครดิตของโรงเรียนไปใช้ ก่อนจะกลับมาตกแต่งบัญชี ตบเงินเข้างบนู้นงบนี้ จนไม่มีใครรู้ว่ามีเงินบางส่วนหาย
“ขอโทษที่ต้องพูดแบบนี้ แต่ไม่มีใครปิดบังอะไรเธอหรอก เรามาทำงานที่นี่ทุกเช้า เพราะเราใส่ใจพวกเธอ เราอยากให้เธอได้รับการศึกษาที่ดี มีคุณภาพ เราเป็นคนดีกันทั้งนั้น โอเคไหม” นี่คือคำตอบหนึ่งของตัวละครพาเมลา ในบทสนทนาที่เธอคุยกับเด็กจากชมรมหนังสือพิมพ์ ตอนนั้นพวกเขากำลังทำข่าวเกี่ยวกับโครงการสร้างสะพาน ที่ดูเหมือนจะใช้งบประมาณสูงผิดปกติ
คงต้องขอบคุณความผิดพลาดครั้งเดียวจากลูกชายคนโตของพาเมลา ที่นำบัตรของแม่ไปใช้จ่ายโดยไม่มีใครเห็น ความซวยจึงพุ่งมาหาเธอ เพราะร้านค้าได้ติดต่อกับทางโรงเรียนเพื่อแจ้งว่ามีการใช้งานบัตรอย่างผิดปกติ และนั่นก็คือจุดจบการฉ้อโกงของพาเมลา ที่ทำให้เธอต้องลาออกจากโรงเรียนและถูกยึดใบอนุญาต
แต่ถามว่าทำไมเธอจึงไม่ซัดทอดไปถึงแทสโซน สาเหตุก็เพราะเขาเองก็ปกป้องเธอด้วยการโน้มน้าวบอร์ดผู้บริหารไม่ให้ฟ้องร้องจนเป็นข่าว เพราะหากเป็นข่าว ชื่อเสียงของโรงเรียนก็จะป่นปี้ มหาวิทยาลัยก็อาจจะเลี่ยงรับเด็กจากโรงเรียนนี้ คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อาจจะเดือดร้อนได้ ทั้งที่ถูกโกงเงินโรงเรียนไปถึง 250,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 8 ล้านบาท) ด้วยเหตุผลที่กล่าว เธอจึงรอดตัวไป แม้จะต้องลาออกแต่ก็ไม่โดนฟ้อง
กลับมาที่ตัวแทสโซน หลักจากคดีของพาเมลาถูกแฉไปเมื่อปี 2002 เขาก็ยังใช้ชีวิตเป็นคนดีที่แอบขี้โกงลับหลังต่อ เขาทั้งนำเงินไปจ่ายซื้อตั๋วเครื่องบินเฟิร์สคลาสเที่ยวกับแฟน จ่ายค่าซ่อมรถยนต์ ค่าซักรีดเสื้อผ้า และค่าศัลยกรรมใบหน้า เพราะเขาเป็นคนเจ้าสำอางที่กังวลเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกของตัวเองประมาณหนึ่ง เงินทั้งหมดเมื่อรวมกันแล้วมากจนคำนวณแทบไม่ไหว แทสโซนใช้ชีวิตอย่างฟู่ฟ่าต่อไปไม่กลัวเลยว่าจะมีใครผิดสังเกต
แน่นอนว่ามีคนสงสัยในการกระทำของเขา และเริ่มทำการขุดคุ้ยประวัติการใช้จ่ายงบประมาณของโรงเรียน ที่น่าตกใจคือ เธอเป็นคนเดียวกับเด็กสาวที่เคยไปขอสัมภาษณ์เรื่องงบประมาณสร้างสะพานมาก่อนหน้านี้ ตอนนั้นแม้จะถูกตอบกลับมาว่า ‘เราเป็นคนดี เชื่อเราสิ’ แต่เธอก็ยังตามสืบประเด็นนี้แบบกัดไม่ปล่อย สุดท้ายเมื่อได้ลองไล่โทรสอบถามตามบริษัทรับเหมาและร้านค้าต่าง ๆ ที่มีอยู่ในบัญชี เธอก็พบว่าบริษัทบางแห่งไม่มีอยู่จริง บางแห่งถูกอ้างแค่ชื่อ หลังตรวจสอบข้อมูลจนแน่ใจแล้ว ในช่วงต้นปี 2004 เธอจึงตัดสินใจเสนอข่าว
เหตุการณ์ต่อมาก็ไม่ต้องเดา เพราะแทสโซนโดนจับจนเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วนิวยอร์ก เงินที่เขาโกงไปรวม ๆ แล้วมากกว่า 11 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 356 ล้านบาท เขาถูกแฉว่านำเงินดังกล่าวไปเช่าอพาร์ตเมนต์ราคาแพงลิบลิ่วในแถบอีสต์-ไซด์ แถมยังเอาไปซื้อบ้านหลังใหญ่ในลาส เวกัสอยู่ นี่ยังไม่รวมรถยนต์ Jaguar และ BMW อย่างละคัน ทั้งหมดนี้ทำให้แทสโซนตัวจริงต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 12 ปี แต่เพราะความประพฤติที่ดี เขาจึงถูกปล่อยตัวในปี 2010
“หลายปีก่อนผมไปกินพิซซ่า แล้วเผลอรูดบัตรผิดใบ เงินมันแค่ 20 ดอลลาร์เอง ผมก็ว่าจะคืนให้วันจันทร์ แต่รู้อะไรไหม พอถึงวันจันทร์ก็ไม่เห็นมีใครพูดอะไร ไม่เห็นมีใครสังเกต วันอังคารผมก็เลยซื้อเบเกิลราคา 60 เซนต์อีก” ส่วนหนึ่งจากบทสนทนาที่แทสโซนพูดคุยกับสมาชิกบอร์ดบริหาร
ไม่ต่างจากคนทั่วไป ที่ความผิดครั้งใหญ่ เริ่มต้นจากการพลาดในจุดเล็ก ๆ แทสโซนเริ่มจากการตอดใช้เงินทีละเล็กละน้อย ก่อนจะค่อย ๆ เพิ่มจำนวนขึ้นเพราะไม่มีใครสังเกตเห็น เขายกเอาความสำเร็จ ความดีงาม ที่ตัวเองเคยสร้างไว้แก่โรงเรียน มาอ้างเพื่อตักตวงผลประโยชน์ ก็อุตส่าห์ทำให้โรงเรียนประสบความสำเร็จได้ ขอแบ่งนิดหน่อยจะเป็นอะไร? ทั้งปรับหลักสูตรจนเด็กเก่งขึ้น สอบติดมหาวิทยาลัยดี ๆ ได้มากขึ้น ตอบแทนกันหน่อยไม่ได้หรือ? ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่เขาพยายามยกมาถกเถียง
“คุณเขียนว่า ‘ชีวิตที่เต็มไปด้วยตัณหา’ โดยไม่พูดถึงการทำงานวันละ 14 ชั่วโมงตลอด 10 ปีของผมเนี่ยนะ” แทสโซนเขียนจดหมายถึง New York Times ในปี 2005 “ไปถามพ่อแม่หลายคนที่รอสลีนได้เลยว่าโรงเรียนภายใต้การนำของผมมันดีขึ้นขนาดไหน ราคาอสังหาริมทรัพย์ก็เพิ่มขึ้น จำนวนนักเรียนก็สูงขึ้นถึง 33% ในช่วง 12 ปีที่ผมทำงานอยู่”
แทสโซนอาจมองว่าเขาทำความดีไว้ตั้งมากมาย แต่เงินเดือนก็ยังเท่าครูทั่วไป แบบนี้ไม่แฟร์เลยใช่หรือ? ก่อนหน้านี้เขาเป็นคนเสนอให้บรรจุวิชาบริการชุมชนในหลักสูตรของเด็กมัธยม และเริ่มต้นสอนภาษาภาษาต่างประเทศให้เด็กอนุบาล เขายังส่งเสริมให้มีการก่อตั้งชมรมหนังสือท้องถิ่น เพื่อเป็นสถานที่ที่คนในชุมชนจะใช้แลกเปลี่ยนความรู้ ที่ผ่านมาก็ทำแต่เรื่องดี ๆ เป็นคนดี ช่วยเหลือสังคม แบบนี้ความผิดก็ควรจะเบาบางลงหรือเปล่า? แล้วถ้าเปลี่ยนเป็นการโกงแค่เล็ก ๆ น้อย ๆ แบบช่วงแรก สังคมจะยอมรับได้หรือไม่?
ไม่ว่าคำตอบของคุณจะเป็นอะไร แต่ Bad Education ที่พยายามสื่อสารทั้งด้านดี ด้านร้ายของแทสโซน ก็นับว่าประสบความสำเร็จที่สามารถทิ้งอะไรไว้ให้คนดูหลายคนคิดต่อ หลายประเด็นพยายามทดสอบขอบเขตแห่งการยอมรับ และสำนึกต่อผิดชอบชั่วดีที่ผู้คนอาจมีไม่เท่ากัน คำถามเหล่านี้จึงยากจะหาคำตอบที่ถูกที่สุด
ที่แน่ ๆ แฟรงก์ แทสโซน ทำผิดกฎหมาย และได้รับโทษจำคุกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เรื่องราวของเขาคงทิ้งบทเรียนไว้แก่สังคมอเมริกาว่า ต่อให้คนคนหนึ่งจะดูเป็น ‘คนดี’ แค่ไหน ก็ไม่ใช่ว่าเขาไม่ควรถูกตรวจสอบ
ที่มา
https://www.townandcountrymag.com/leisure/arts-and-culture/a32291684/bad-education-hbo-true-story-frank-tassone-pamela-gluckin/
https://nymag.com/nymetro/urban/features/9908/#_ga=2.67526297.903826293.1588011806-1931024216.1588011806
https://www.nytimes.com/2005/03/03/nyregion/audit-describes-8-years-of-theft-at-li-schools.html
https://www.rollingstone.com/culture/culture-features/bad-education-hbo-true-story-scandal-fact-check-992263/
https://www.esquire.com/entertainment/movies/a32268352/bad-education-hbo-true-story-frank-tassone-now/
https://www.vanityfair.com/hollywood/2019/09/hugh-jackman-movie-bad-education-scandal