read
business
09 พ.ค. 2563 | 16:43 น.
อนุพงษ์ อัศวโภคิน: ถอดแนวคิด EMPOWER LIVING ที่กำลังพาเอพีผ่านโควิด-19 โดยไม่ปลดพนักงาน แถมยังตั้งเป้าขึ้นเบอร์ 1 อสังหาฯ
Play
Loading...
“เรื่องโควิดอาจไม่ต้องพูดมาก เพราะน่าจะรู้กันอยู่แล้ว แต่เรื่องเศรษฐกิจต้องบอกว่าหนักเลยทีเดียว ถ้าจะเปรียบเทียบก็เหมือนสึนามิมาถล่ม แต่มันเป็นแค่หัวขบวนที่มีคลื่นยักษ์อีกหลายลูกกำลังจะตามมา อย่างตอนนี้อเมริกามีอัตราการว่างงานกว่า 20 ล้านคนแล้ว เศรษฐกิจอเมริกาในไตรมาส 2 คาดว่าจะติดลบไปถึง 20% เราไม่เคยเจอสถานการณ์แปลก ๆ ตั้งแต่ซื้อน้ำมันแถมเงิน เป็นสัญญานเตือนว่าครั้งนี้หนักหนาจริงๆ ที่น่ากลัวคือไม่มีใครรู้เลยว่าจะหนักขนาดไหน”
ท่ามกลางคลื่นวิกฤตลูกใหญ่ที่ถาโถมเข้ามา
อนุพงษ์ อัศวโภคิน
ในฐานะกัปตันผู้กุมพังงา พานาวาที่ชื่อว่า
บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)
ลำนี้ ที่บรรทุกลูกเรือมากกว่า 2,000 ชีวิต ล่องไปข้างหน้าอย่างไม่หวั่นเกรงกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากและพายุที่แปรปรวนด้วยความมุ่งมั่น โดยอาศัยเข็มคือ
EMPOWER LIVING
ที่เขาเชื่อว่าจะช่วยเป็นเครื่องนำทางพาทุกคนขึ้นฝั่งอย่างปลอดภัย
“เราไม่มีเรื่องให้คนออก หรือว่าลดเงินเดือนอยู่ในหัวเลย เราคิดว่าคนคือทรัพยากรสำคัญ ที่ถ้าเราเชื่อว่าพอรอดพ้นช่วงนี้เราจะมีคนที่เป็นกำลังสำคัญ มีความสามารถพร้อมสำหรับทุกโอกาส แต่พนักงานทุกคนต้องมองไปที่เป้าหมายเดียวกัน เพราะวันที่เราเจอวิกฤต ถ้าเราไม่มีหลักยึด ไม่มีจุดมุ่งหมายขององค์กร เราจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันคนละทิศทาง จนบางครั้งอาจลืมไปว่าองค์กรนี้ตั้งอยู่เพื่ออะไร แล้วลืมคุณค่าที่ลูกค้าจะได้รับนั้นไปด้วย”
แน่นอนว่าจุดมุ่งหมายองค์กรและคุณค่าที่ลูกค้าจะได้รับ ในนิยามของประธานเจ้าหน้าที่บริหารเอพี หมายถึง EMPOWER LIVING ที่ทำให้ในตอนนี้เอพีต่างจากบริษัทอีกหลายแห่งที่จำเป็นต้องใช้วิธีการลดเงินเดือนพนักงาน บางแห่งอาจมีการปรับลดคน หรือแม้แต่การปิดกิจการลงชั่วคราว
คำถามมีอยู่ว่า EMPOWER LIVING ที่อนุพงษ์ และเอพียึดมั่นมาตลอดคืออะไร?
แนวคิดเปลี่ยนมุมมอง
“ผมคิดว่าจุดหมายในชีวิตสำคัญมาก เพราะถ้าเราไม่มีจุดหมายในขีวิตก็ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม แล้วชีวิตก็จะไม่มีความหมาย EMPOWER LIVING คือการเติมเต็มให้ทุกคนได้ทำตามเป้าหมายในชีวิต ทั้งพนักงานของเราเอง รวมทั้งลูกค้าให้สามารถเลือกได้ตามที่ปรารถนา”
อนุพงษ์ ขยายความเพิ่มว่า ถ้า EMPOWER LIVING เป็นเข็มทิศที่ใช้กำหนดเป้าหมายแล้ว แนวคิด
Outward mindset
และ
Design thinking
ก็เป็นสิ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนให้ไปถึงจุดหมายตรงนั้นได้ หัวเรือใหญ่เอพีได้อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า แนวคิด Outward mindset ก็คือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ส่วน Design thinking เป็นกระบวนคิดแบบใหม่เพื่อให้เกิดนวัตกรรม ซึ่งเขาเชื่อว่าถ้ามีขั้นตอนการคิดที่ถูกต้องแล้ว คนธรรมดาก็สามารถสร้างนวัตกรรมขึ้นมาได้เหมือนกัน
เพื่อให้เอาไปปรับใช้ได้จริง อนุพงษ์ได้ย่อยแนวคิด Outward mindset และ Design thinking นี้ให้กลายเป็น
5 Core value
หรือคุณค่าองค์กร 5 ข้อของเอพี ให้พนักงานทุกคนเข้าใจได้ไม่ยาก แล้วนำไปเป็นแนวทางขับเคลื่อนเอพีไปสู่เป้าหมายสูงสุดด้วยกัน โดย 5 Core value ที่ตอนนี้เป็นหลักปฎิบัติสำคัญของพนักงานกว่า 2,000 คน ซึ่งยึดไว้ เพื่อร่วมกันผ่านวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญของโลก โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลังแม้แต่คนเดียว ได้แก่
1. Put people first
การมองคนให้เป็นคน และเอาใจเขามาใส่ใจเรา เพื่อทำความเข้าใจทั้งเพื่อนร่วมงานและผู้คนรอบข้าง ซึ่งได้จากกระบวนการคิดหลัก Outward mindset ที่เริ่มต้นด้วยการมองคนมาก่อน ใส่ใจในคน เข้าใจคน สามารถนำไปใช้ได้กับทุกคน ให้หันมาลองทำความเข้าใจความต้องการ จุดมุ่งหมาย อุปสรรค ของคนอื่น ๆ และเปิดใจรับฟังเพื่อนร่วมงานและผู้คน
2. Build together
การทำงานเป็นทีมที่พร้อมรับผิดชอบร่วมกัน ทำให้สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นอย่างมีความสุข เป็นแนวคิดที่ย่อยออกมาจาก Outward mindset ที่เน้นการทำงานเป็นทีม เพื่อมีเป้าหมายร่วมที่จะสร้างความสุขด้วยกัน
3. Progress with purpose
การทำงานอย่างรู้จุดหมายของตัวเองและของหน่วยงาน เพื่อไม่ให้หลงลืมจุดมุ่งหมายร่วมของงาน แล้วทำให้กลายเป็นการทะเลาะกันเอง มาจากทั้งแนวคิด Outward mindset และ Design thinking โดยการกำหนดจุดมุ่งหมายร่วมเป็นเป้าหมายเดียวกัน
4. Go beyond
การมุ่งมั่นพัฒนาให้มากกว่าจุดมุ่งหมายที่ได้ตั้งเอาไว้ เป็นกระบวนการคิดหลักของ Design thinking ที่ออกแบบมาเพื่อค้นหาความต้องการใหม่ ๆ ที่ลูกค้ายังไม่ได้รับการตอบสนอง ซึ่งอนุพงษ์ได้ยกตัวอย่างการที่สตีฟ จ็อบส์ เปิดตัว iPhone ขึ้นมาในวันที่ทุกคนยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตัวเองต้องการสมาร์ทโฟนแบบไม่มีปุ่มกด
5. Be innovative
การปรับปรุง เปลี่ยนแปลง แก้ไขอย่างไม่หยุด เพื่อทำพรุ่งนี้ให้ดีกว่าวันนี้อยู่ตลอดเวลา เป็นอีกหนึ่งในกระบวนการคิดของ Design thinking ที่นำมาปรับใช้ในการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ อย่างเป็นระบบ
ยิ่งวิกฤตยิ่งแข็งแกร่ง
“สถานการณ์แบบนี้ไม่มีใครประเมินได้หรอกว่าเลวร้ายแค่ไหน เราเคยผ่านเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดของคนไทยทุกคน คือช่วงต้มยำกุ้งปี 2540 ตอนนั้นเราล้ม แต่ประเทศอื่น ๆ ยังแข็งแรง เลยช่วยให้เรารอดมาได้ แต่ครั้งนี้ทุกประเทศกำลังป่วยกันหมด ไม่มีใครจะมาช่วยประเทศเราได้ วิกฤตแบบนี้ถ้าพวกเราไม่มีเป้าหมายเดียวกัน จะยิ่งกระตุ้นให้ทุกคนทะเลาะกัน นั่งโทษกันไปมา จะดีกว่าไหมถ้าเรานำแนวคิด Outward mindset มาใช้ พยายามมองดูคนอื่นแล้วเอาใจเขามาใส่ใจเรา และยึดเป้าหมายหลักร่วมกัน วันนี้ โควิด-19 กำลัง disrupt โลกนี้ ทั้งวิธีการทำงาน การซื้อขาย การอยู่อาศัย ทุกสิ่งเปลี่ยนใหม่หมด การที่เราไม่ Go beyond มองไปให้ไกลขึ้น เราจะไม่สามารถหา new normal ที่จะเป็นความได้เปรียบทางธุรกิจได้เลย”
อนุพงษ์ย้อนไปวิกฤตครั้งก่อนที่ทำให้มีเอพีในวันนี้
วิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ในเวลานั้น บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ยังเป็นเพียงบริษัทเล็ก ๆ ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2534 ในชื่อ
เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด
มีโครงการอยู่ในมือประมาณ 5-6 โครงการ แต่ต้องมาเผชิญกับวิฤกตครั้งประวัติศาสตร์ ที่เจอทั้งอัตราดอกเบี้ย 27% ต่อปี ทำให้มีเงินเหลือจ่ายเงินเดือนให้พนักงานได้อีกไม่เกิน 3 เดือน แต่ด้วยแนวคิดที่ดี บวกกับพลังความร่วมมือของพนักงานในองค์กร ทำให้วันนี้แบรนด์เอพีแข็งแรงขึ้นมามาก จนก้าวขึ้นเป็นบริษัทอันดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ของเมืองไทย ที่มีไซต์งานมากกว่า 100 ไซต์ มีที่พักสร้างเสร็จพร้อมโอนจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีสภาพคล่องที่ดีมาก มีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนของเอพีอยู่ในระดับที่ต่ำเพียง 1:1 และยังเป็นบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับจาก Tris rating ให้อยู่ในอันดับ A- ซึ่งในกลุ่มนี้มีเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้น
ที่สำคัญที่สุด แม่ทัพเอพีเชื่อมั่นว่า สถานการณ์ในตอนนี้ความต้องการบ้านยังคงมีอยู่ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อระดับกลางซึ่งสนใจโครงการของเอพี ทั้งบ้านและคอนโดมิเนียมพร้อมโอน โดยเฉพาะโครงการแนวราบทั้งหมดของเอพี ไม่ได้มีการกู้แบงค์ ซึ่งเมื่อโอนแล้วเอพีจะมีเงินสดทั้งหมดกลับเข้าบริษัททันที ทำให้ธุรกิจเอพียังไปต่อได้อย่างแข็งแรง สถานะทางการเงินแทบไม่ได้รับผลกระทบ ยังคงสามารถก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ต่อไปได้
“เวลานี้เราต้องมองในมุมบวก เราจะเดินไปข้างหน้ากันยังไงได้บ้าง ในช่วงนี้อัตราดอกเบี้ยในการกู้เงินซื้อบ้านจะต่ำมาก ธนาคารยังมีเงินเหลืออยู่มาก วันนี้เมืองไทยมีความแข็งแกร่งทั้งในเรื่องมีเงินทุนสำรองในประเทศมหาศาล เป็นอันดับสองในอาเซียนรองจากสิงคโปร์ เรามีสภาพคล่องในประเทศเหลืออยู่เยอะมาก”
ช่วงวิกฤตโควิด-19 นอกจากอนุพงษ์จะประกาศชัดเจนว่า จะไม่ลดเงินเดือนพนักงาน และไม่เอาคนออกแม้แต่คนเดียว ทางเอพียังได้ทำประกันสุขภาพพนักงานทุกคนครอบคลุมกรณีการติดโควิด-19 และจะดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่อยู่นอกเหนือจากวงเงินประกัน ตลอดจนความช่วยเหลืออื่น ๆ เพื่อให้พนักงานและลูกค้าอุ่นใจ ทั้งการแจกหน้ากากอนามัยให้พนักงานทุกคน รวมทั้งลูกค้าที่เดินทางเข้ามาที่โครงการ นอกจากนี้ ยังได้ซื้อเครื่องพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อประจำโครงการ และการแจกเจลแอลกอฮอล์ อีกด้วย
ส่วนการรับผิดชอบสังคมข้างนอก เอพีมีแคมเปญรณรงค์เพื่อสังคม #SAVEหมอSAVEประเทศไทย นำร่องสมทบทุนบริจาคเงิน 3 ล้านบาท ส่งมอบหน้ากากอนามัย 3M รุ่น N95 จำนวน 1,120 ชิ้น แก่ทีมแพทย์ในโรงพยาบาลแถวหน้า พร้อมส่งมอบ EMPOWER health box แก่ลูกค้า บุคคลทั่วไป และหน่วยงานราชการ เพื่อเป็นอุปกรณ์ในการดูแลตนเอง พร้อมกระตุ้นพลังโซเชียลร่วมบริจาคเพื่อการแพทย์กับ 19 หน่วยงานภาครัฐด้วย
“องค์กรเราไม่ได้ทำแค่อสังหาฯ อย่างเดียว เราทำเรื่องจัดการอสังหาฯ ด้วย ทั้ง ๆ ที่มันไม่ได้ทำกำไรเยอะแยะ แต่เราก็เอาจริง ผมเชื่อว่าเรามีทีมดูแลลูกค้าที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมนี้ เราเอาเงินประมาณ 1 บาท จากกำไรทุก 100 บาท ตั้งสำรองเพื่อถ้าบ้านลูกค้ามีปัญหา เราไปดูแลช่วยเหลือลูกค้าได้ โดยไม่กระทบกับงบในปีนั้น ๆ อย่างปีน้ำท่วมเราดูแลทั้งถุงทราย เครื่องสูบน้ำ ตอนนี้เรามีเงินสำรองเพื่อจะกลับไปดูแลลูกค้า 400-500 ล้านบาท”
อนุพงษ์พูดอย่างมั่นใจ
เขาเพิ่มเติมว่า การสร้างแบรนด์คือการที่เราจะมีคุณค่าส่งมอบให้กับลูกค้าได้อย่างไร ยิ่งในช่วงวิกฤตอย่างนี้ ลูกค้าจะมองหาเลยว่าบริษัทไหนที่เข้าอยู่แล้วรู้สึกสบายใจ ทำให้ช่วงวิกฤตถ้าบริษัทไหนไม่ทิ้งลูกค้า แล้วสามารถผ่านวิกฤตไปได้ บริษัทนั้นจะแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิมหลายเท่า
EMPOWER LIVING ไปด้วยกัน
ในมรสุมลูกใหญ่ที่กำลังเผชิญ หรือพายุลูกใหม่ ๆ ที่ก่อตัวเตรียมกระหน่ำซัด อนุพงษ์ ในฐานะหัวเรือใหญ่ของเอพี ไม่เพียงแต่เชื่อมั่นว่าเอพีจะผ่านเหตุการณ์ครั้งนี้ไปได้เท่านั้น แต่มั่นใจว่าหลังจากนี้เอพีจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งอีกด้วย แล้วยังพร้อมที่จะขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในใจลูกค้าอย่างแน่นอน แต่เขาย้ำเสมอว่าลำพังแค่ตัวเขาหรือผู้บริหารเพียงไม่กี่คน ไม่สามารถพาเอพีไปถึงจุดมุ่งหมายนั้นได้ ต้องอาศัยสมาชิกทุกคนในเอพี ที่เขาอยากให้มองว่าบริษัทนี้คือบ้านหลังหนึ่ง ที่ต้องช่วยกันประคองให้ผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน
“ต้องถามว่าเราจะมีความรู้สึกเป็นเจ้าของบ้านหลังนี้หรือเปล่า บ้านหลังนี้เป็นบ้านของเราทุกคน ไม่ใช่แค่ของผมคนเดียว ผมคงไม่สามารถพาบริษัทไปข้างหน้าได้ ถ้าทุกคนคิดว่าที่นี่เป็นเพียงที่พักชั่วคราว แต่ถ้าทุกคนรู้สึกว่าเป็นเจ้าของบ้านหลังนี้ ย่อมทำให้บ้านหลังนี้มั่นคงแข็งแรงที่พร้อมจะฝ่าพายุ ถ้าทุกคนคิดว่าบ้านหลังนี้เป็นบ้านที่ทุกคนรักและต้องการรักษาไว้ เราช่วยกันทำตาม 5 Core value ที่หลายข้อเป็นคุณสมบัติของคนที่มีความเป็นเจ้าของบ้าน รักและอยากให้บ้านหลังนี้ไปได้ไกล เมื่อไหร่ที่เราพ้นมรสุมครั้งนี้ไปได้ ผมเชื่อว่าบ้านหลังนี้จะเป็นบ้านที่แข็งแกร่งที่ทุกคนอยู่ได้อย่างมีความสุข แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน เพื่อให้ผ่านมรสุมครั้งนี้ไปได้”
ไม่เพียงแค่บริษัทในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างเอพีเท่านั้น ที่สามารถเอา EMPOWER LIVING รวมทั้ง 5 Core value มาเป็นเข็มทิศในการฝ่าฟันมรสุมครั้งนี้ แต่บริษัทอื่น ๆ แม้แต่ภาพใหญ่อย่างประเทศไทย หรือทุกคนบนโลก สามารถเอาแนวคิดนี้มาปรับใช้ เพื่อเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ปรับตัวรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้นตรงหน้า และที่กำลังจะมาในอนาคตได้เป็นอย่างดี
“เราจะเจอวิกฤตนี้ไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน ในปี 2540 เราโตจากบริษัท nothing เป็นบริษัท something ปี 2551 วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ก็เป็นอีกครั้งที่เราโตขึ้นมาก ทุกวิกฤตทำให้เราเติบโตอย่างรวดเร็ว ถ้าครั้งนี้เรา EMPOWER LIVING มีเป้าหมายร่วมมือกันสู้ที่ชัดเจน ผมมองวิกฤตว่าเราอาจจะแย่ แต่สุดท้ายเราจะรอด แต่เราต้องทำงานกันหนักขึ้น ผมเชื่อว่าเมื่อพ้นวิกฤตนี้ เราจะเป็นที่หนึ่งได้อย่างง่าย ๆ วิกฤตครั้งนี้ผมถือว่าเป็นโอกาสฟ้าประทานที่แทบหาไม่ได้เลยในรอบสิบปี ที่เอพีจะเป็นที่หนึ่งในอุตสาหกรรมนี้”
เรื่อง: The People
ภาพ:
https://www.facebook.com/APthai/
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
รายชื่อคณะกรรมการตัดสิน The People Awards 2025: RISE TO LEAD
17 ม.ค. 2568
1
นายกฯ ประกาศช่วยเหลือเด็กนอกระบบทั้ง 77 จังหวัด ผ่าน Thailand Zero Dropout
17 ม.ค. 2568
2
“ไลอ้อน” มอบรอยยิ้มความสุขให้กับเด็กและเยาวชนไทย สนับสนุนงานวันเด็กแห่งชาติ
17 ม.ค. 2568
1
แท็กที่เกี่ยวข้อง
ThePeople
PartnerContent
Business
COVID19
APTHAI
APEmpowerLiving
FightTogether
AnupongAssavabhokhin
อนุพงษ์อัศวโภคิน
APCondo
SAVEหมอSAVEประเทศไทย