ปรีดี พนมยงค์ กับธุรกิจโรงพิมพ์และหนังสือ "นิติสาส์น" สร้างแสงสว่างทางปัญญา

ปรีดี พนมยงค์ กับธุรกิจโรงพิมพ์และหนังสือ "นิติสาส์น" สร้างแสงสว่างทางปัญญา

ธุรกิจโรงพิมพ์และหนังสือ "นิติสาส์น" สร้างแสงสว่างทางปัญญา

เมื่อเอ่ยถึงชื่อ ปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หลายคนคงนึกถึงชื่อถนน หลายคนคงนึกถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เขาเป็นผู้ประศาสน์การ นึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เขาเป็นผู้นำคณะ นึกถึงขบวนการเสรีไทยที่เขาเป็นหัวหน้า หรือนึกถึงอุดมคติของเขาที่ฝันจะเห็นคนเท่าเทียมกันอย่างเสมอหน้าและมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่หลายคนคงไม่ทราบว่า นายปรีดีก็เคยประกอบธุรกิจเช่นกัน ธุรกิจที่ว่านี้มิได้หวังกำไรสูงสุดเป็นอันดับแรก หากแต่หวังจะสร้างแสงสว่างทางปัญญา โดยเฉพาะในทางนิติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ขึ้นในสังคมไทย แม้ในเวลาที่ยังเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ก็ตาม ปรีดี พนมยงค์ กับธุรกิจโรงพิมพ์และหนังสือ "นิติสาส์น" สร้างแสงสว่างทางปัญญา สืบสาน ต่อยอด เมื่อนายปรีดี พนมยงค์ สำเร็จการศึกษาปริญญาดุษฎีบัณฑิตทางกฎหมายจากฝรั่งเศส (Doctuer en Droit) แล้วกลับมารับราชการในปี 2470 เขาเริ่มงานในตำแหน่งฝึกหัดการพิจารณาพิพากษาคดีในศาล และการว่าความในกรมอัยการอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาย้ายไปบรรจุในตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการในกรมร่างกฎหมาย นอกจากนี้ นายปรีดียังได้เป็น “อาจารย์” สอนในโรงเรียนกฎหมายอีกด้วย ถัดมาในปี 2471 เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น 3 ประการในชีวิตของนายปรีดี คือ (1) แต่งงานกับนางสาวพูนศุข ณ ป้อมเพชร์ ในวันที่ 16 พฤศจิกายน (2) ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ในวันที่ 8 พฤศจิกายน และ (3) เปิดกิจการโรงพิมพ์นิติสาส์น ในเดือนกรกฎาคม ตั้งอยู่เลขที่ 976 จ-ง ถนนสีลม จังหวัดพระนคร ไม่ไกลจากบ้านป้อมเพชร์ของพระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์) ที่นายปรีดีอาศัยอยู่ การที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นอาจารย์สอนกฎหมายก็ดี เปิดโรงพิมพ์ออกหนังสือก็ดี ย่อมเป็นการสืบสานความรู้ที่ได้ไปร่ำเรียนมาจากฝรั่งเศส และต่อยอดเผยแพร่ความรู้เหล่านี้แก่ผู้สมัครแสวงหาความรู้ในสังคมไทย ปรีดี พนมยงค์ กับธุรกิจโรงพิมพ์และหนังสือ "นิติสาส์น" สร้างแสงสว่างทางปัญญา “ไม่ใช่หนังสือที่จะสอนลัทธิเปลี่ยนแปลงการปกครอง”             ใน นิติสาส์น ฉบับปฐมฤกษ์ กรกฎาคม 2471 นายปรีดีแถลงไว้แต่ต้นว่า “ข้าพเจ้าได้รับคำปรารภเนืองๆ จากผู้ที่สนใจในวิชชากฎหมายว่า ตั้งแต่ได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉะบับ พ.ศ.๒๔๖๘ แล้ว ยังหาได้มีผู้แต่งคำอธิบายขึ้นไม่” ไม่เพียงแต่ในวิชาดั้งเดิมที่เรียนสอนกันมาในโรงเรียนกฎหมายเท่านั้น แต่ในหลักสูตรวิชาใหม่ ๆ ก็เช่นกัน ดังที่เขาเขียนต่อไปว่า “ในภาค ๓ จะมีการสอนเศรษฐวิทยา, กฎหมายปกครอง, กฎหมายการคลัง ฯลฯ ซึ่งเป็นวิชชาใหม่ ยังไม่มีคำอธิบาย จึงได้มีสหายหลายท่านแนะนำให้ข้าพเจ้าเขียนคำอธิบายเหล่านี้ขึ้น” แน่นอนว่าการเขียนคำอธิบายกฎหมายเหล่านี้ ไม่อาจกระทำได้ในเวลาอันรวดเร็ว แต่เพื่อให้สามารถเผยแพร่ความรู้ได้โดยไม่ช้านาน นายปรีดีจึงได้หาทางออกด้วยการ “ไกล่เกลี่ยความยุ่งยากกับความจำเป็นให้พอลงรอยกันได้ชั่วคราวก่อน คือรวบรวมความเห็นต่างๆ ที่ข้าพเจ้าได้แนะนำนักเรียนกฎหมายไปบ้าง หรือที่บางท่านได้ช่วยเหลือส่งมา แล้วพิมพ์ขึ้นเป็นคราวๆ ไป ซึ่งคงจะเป็นเครื่องช่วยเหลือกันดีกว่าให้สดวกขึ้นบ้างเล็กน้อย จึงได้คิดออกหนังสือพิมพ์ นิติสาส์น นี้ขึ้น” โครงสร้างของหนังสือ นิติสาส์น นี้ ระยะแรกประกอบไปด้วย (1) คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (2) นิติศาสตร์บัณฑิตย์ รวมบทความทางกฎหมายจากผู้เขียนท่านต่างๆ ดังในฉบับแรกก็ลงเรื่องคำอธิบายกฎหมายปกครอง และคำอธิบายเศรษฐวิทยา และ (3) เบ็ดเตล็ด เช่น การถามตอบปัญหาข้อกฎหมาย หนังสือนี้นายปรีดีออกตัวไว้ตั้งแต่ต้นด้วยว่า “หนังสือนี้เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับวิชชาการ ไม่ใช่หนังสือที่จะสอนลัทธิการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือเศรษฐกิจของประเทศ”  ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เคยเล่าไว้ว่า “ตอนกลับจากนอกใหม่ๆ (นายปรีดี)ก็มาเป็นผู้พิพากษา เป็นอะไรหลายอย่าง แล้วยังเป็นอาจารย์สอนกฎหมาย ยังมีกิจการส่วนตัวอีกคือ พิมพ์เผยแพร่วิชาความรู้ หนังสือพิมพ์รายเดือน ... เช้าไปทำงาน บางวันยังต้องไปสอนก่อนไปทำงาน เย็นกลับมาแทนที่จะไปเที่ยวเตร่ ก็เข้าโรงพิมพ์ทำงานเขียนตำรับตำรา แล้วค่อยกลับบ้าน” นอกจากนี้ยัง “สอนพิเศษที่บ้าน ที่สอนพิเศษนี่ก็คงมีจุดมุ่งหมายนะคะ คือเป็นการได้รวบรวมคน เขาคงคิดการใหญ่ แต่ก็ไม่ได้บอกนะคะ เพราะตอนนั้นเรายังเด็กมาก นอกจากจะเป็นเด็กมากแล้ว ครอบครัวของดิฉันมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเจ้านายมาก...”   กิจการของโรงพิมพ์ โรงพิมพ์นิติสาส์นของนายปรีดี นอกจากออกหนังสือ นิติสาส์น รายเดือนดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังออกหนังสือชุดประชุมกฎหมายไทยอีกด้วย ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่การรวบรวมชำระกฎหมายตราสามดวง เรื่อยมาจนถึงกฎหมายในยุคสมัยนั้น โดยทยอยออกเป็นเล่มๆ จนครบชุด ดังที่ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า  “ตอนนั้น (หลังแต่งงานใหม่ๆ) ยายเป็นแม่บ้านอย่างเดียว อยู่ที่บ้าน ทำงานบ้าน นายปรีดีเขาก็ไปทำงานเช้า เย็นก็กลับ ตอนนั้นเรายังไม่มีลูก เราก็ช่วยงานโรงพิมพ์ ช่วยตรวจปรู๊ฟ ช่วยที่บ้านนี่แหละ มีอะไรให้ช่วยก็ช่วย  ที่โรงพิมพ์เราพิมพ์หนังสือกฎหมายไทยชุดหนึ่งๆ ก็มี 12 เล่มแน่ะ พิมพ์ให้คนสั่งจอง แล้วก็มีหนังสือรวบรวมกฎหมาย ตั้งแต่กฎหมายตราสามดวงเรื่อยตลอดมาเชียว ส่วนรายเดือนก็ออกเป็นหนังสือชื่อนิติสาส์น เจ้าของเขาก็ไปรับราชการ เอาเวลาหลังราชการมาทำ” (อ่าน ประชุมกฎหมายไทย ของ นิติสาส์น ได้ที่นี่ http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:47897) ส่วนกิจการของ นิติสาส์น ก็ก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ นอกจากตัวนายปรีดี หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรมจะเขียนคำอธิบายกฎหมายเองแล้ว ยังมีนักกฎหมายคนอื่น ๆ เขียนมาลงพิมพ์ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ดร.ดูปลาตร์, ศาสตราจารย์เอกูต์, พระสารสาสน์ประพันธ์, นายเดือน บุนนาค ฯลฯ ปรีดี พนมยงค์ กับธุรกิจโรงพิมพ์และหนังสือ "นิติสาส์น" สร้างแสงสว่างทางปัญญา แท่นพิมพ์ประกาศคณะราษฎร ครั้งถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นายปรีดีและพวกในนาม “คณะราษฎร” ได้ร่วมกันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากพระเจ้าแผ่นดินอยู่เหนือกฎหมาย มาเป็นพระเจ้าแผ่นดินอยู่ใต้กฎหมาย และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกในเวลาต่อมา            ประกาศคณะราษฎร คือเอกสารทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่มีขึ้นในวันนั้น ดังมีเนื้อหาแสดงกล่าวถึงความล้มเหลวของรัฐบาลในระบอบเก่า ประกาศเจตนารมณ์ของระบอบใหม่ที่จะดำเนินการปกครองให้เป็นไปตามหลัก 6 ประการ คือ เอกราช ความปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา และแท่นพิมพ์ที่ใช้พิมพ์ประกาศคณะราษฎรฉบับนี้ เพื่อแจกจ่ายในวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็มาจากโรงพิมพ์นิติสาส์นของนายปรีดีนี่เอง (ปัจจุบันแท่นพิมพ์นี้จัดแสดงในหอประวัติศาสตร์เกียรติยศ ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์) ปรีดี พนมยงค์ กับธุรกิจโรงพิมพ์และหนังสือ "นิติสาส์น" สร้างแสงสว่างทางปัญญา มอบให้มหาวิทยาลัย หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว คณะราษฎรทำตามสัญญาหลังจากใช้เวลาเพียงไม่นาน คือในปี 2477 มีการสถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ม.ธ.ก.) ขึ้น เพื่อสอนวิชากฎหมายและการเมือง สำหรับสร้างพลเมืองในระบอบใหม่ ตามหลักการศึกษาในหลัก 6 ประการ นิติสาส์น รายเดือน จึงเริ่มมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับ ม.ธ.ก. ลงอย่างต่อเนื่อง เช่น ในฉบับกันยายน 2477 มีลงประกาศ “หลักสูตรสำหรับความรู้เบื้องต้นเพื่อเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” โดยกล่าวถึงปรัชญาการศึกษาพื้นฐานตามความคิดของนายปรีดี คือ ธรรมชาติ การงาน สมาคม และจรรยา ครั้นถึงปี 2483 นายปรีดีจึงยกกิจการของโรงพิมพ์นิติสาส์น และการออกหนังสือ นิติสาส์น รายเดือน ให้เป็นสมบัติของ ม.ธ.ก. ดังที่มีแถลงในฉบับเมษายน 2483 ว่า เมื่อกิจการของ นิติสาส์น มาอยู่ในความดูแลของ ม.ธ.ก. แล้ว จะได้รับความอุปการะจากผู้อ่านไม่น้อยกว่าครั้งที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นเจ้าของในระยะแรก และห้างหุ้นส่วนจำกัดนิติสาส์นในตอนต่อมา เมื่ออยู่ในความดูแลของ ม.ธ.ก. แล้ว นิติสาส์น ยังคงออกเป็นรายเดือนเช่นเดิมจนถึงปี 2494 และออกเป็นราย 3 เดือนในปี 2495 ก่อนที่จะยุติไปในปีที่ 23 ของหนังสือเล่มนี้  ส่วนกิจการของโรงพิมพ์ยังคงดำเนินต่อมาจนถึงปัจจุบันในชื่อ “โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”   สรุป แม้ธุรกิจ “โรงพิมพ์-หนังสือ” นิติสาส์น ของนายปรีดี จะไม่ได้ทำให้เขาร่ำรวยทางด้านเงินทองขึ้นมา แต่ก็ทำให้วิชาความรู้ในทางกฎหมายไทยก็ดี กฎหมายเทศก็ดี เศรษฐศาสตร์ก็ดี เจริญก้าวหน้าตามลำดับ แม้เวลาจะเนิ่นนานผ่านมากว่า 90 ปี แต่ตัวอักษรต่าง ๆ ที่เรียงตัวเป็นวิชาความรู้เหล่านั้นก็ยังคงอยู่เป็นอนุสรณ์ให้ผู้ที่สนใจศึกษาได้หาความรู้จากคนรุ่นก่อนสืบไป ผู้ที่สนใจสามารถอ่าน นิติสาส์น ฉบับต่างๆ ได้จากเว็บไซต์หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่นี่ https://library.tu.ac.th/th/node/1255   ที่มา นอกจาก นิติสาส์น ฉบับต่างๆ แล้ว ยังมี ก้นครัวคนดัง, “ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์,” มติชนรายวัน 31 สิงหาคม 2529. พูนศุข พนมยงค์. “ดิฉันโชคดีที่ได้คู่ครองเช่นอาจารย์ปรีดี,” มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับพิเศษ วันอาทิตย์ที่ 4 พฤษภาคม 2529. http://www.thammasatprintinghouse.com/ประวัติโรงพิมพ์   เรื่อง: กษิดิศ อนันทนาธร ภาพ: หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์