จอห์น ลูซินกู: นายแพทย์แทนซาเนียผู้ค้นคว้าวัคซีนจากการป่วยเป็นมาลาเรียกว่า 50 ครั้ง

จอห์น ลูซินกู: นายแพทย์แทนซาเนียผู้ค้นคว้าวัคซีนจากการป่วยเป็นมาลาเรียกว่า 50 ครั้ง
“คุณเคยป่วยไหม ?” ทุกคนต่างต้องเคยป่วยกันอย่างน้อยสักหนึ่งครั้ง อาจเป็นไข้หวัดใหญ่ อาหารเป็นพิษ หรือเป็นไข้ตัวร้อนดั่งไฟเพราะโดนยุงตัวเล็ก ๆ กัด เมื่อหายเราก็รู้สึกขยาด ไม่อยากกลับไปนอนซมเพราะพิษไข้อีกแล้ว เพราะมันทั้งทรมาน ปวดหัวปวดตัวจวนระเบิด กลายเป็นว่ามีนายแพทย์คนหนึ่งเคยป่วยเป็นโรคมาลาเรียมากถึง 50 ครั้ง และนำความเจ็บปวดจากอาการป่วยเปลี่ยนเป็นแรงบันดาลใจให้เขาทุ่มเทเวลาเพื่อช่วยชีวิตผู้คนนับไม่ถ้วน นายแพทย์ที่ป่วยไข้มาทั้งชีวิตมีชื่อว่า จอห์น ลูซินกู (John Lusingu) เวลานี้เขานำทีมวิจัยคิดค้นวัคซีนป้องกันมาลาเรียแก่ชาวแทนซาเนีย วัยเด็กของหมอลูซินกูแทบไม่ต่างจากชาวแทนซาเนียคนอื่น ๆ เขาอาศัยอยู่ที่คิโลเมนี เมืองเล็ก ๆ ซ่อนตัวในเทือกเขาปารี สูงจากระดับน้ำทะเล 5,500 ฟุต เป็นเมืองที่ไม่ค่อยมีคนป่วยเป็นมาลาเรีย เพราะยุงที่มีพาหะจะไม่เจริญเติบโตบนที่สูงและพื้นที่ที่มีอุณหภูมิต่ำมากช่วงกลางคืน แต่ชาวเมืองส่วนใหญ่มักเป็นโรคปอดบวมหรือไข้หวัดธรรมดาเสียมากกว่า ทำให้เด็กชายลูซินกูรอดจากโรคยอดฮิตของแทนซาเนียมาอย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อลูซินกูอายุ 16 ปี เขาย้ายไปยังเมืองโมชิ ใกล้เชิงเขาคิลิมันจาโร เป็นเมืองที่มียุงชุม แต่ลูซินกูกลับไม่นอนกางมุ้ง เพราะยึดความเชื่อดั้งเดิมส่งต่อกันมาว่า การนอนในมุ้งสีขาวไม่ต่างอะไรกับผ้าห่อศพ ถือเป็นลางร้ายควรเลี่ยง แม้รัฐบาลแทนซาเนียจะออกมาแนะนำให้ประชาชนนอนในมุ้งกันทุกบ้านก็ตาม ผลลัพธ์จากการไม่ยอมนอนมุ้งคือ ลูซินกูพบกับโรคมาลาเรียเป็นครั้งแรก เขาเริ่มมีไข้ขึ้นสูง นอนซมอยู่หลายวันสลับกับมีอาการท้องเสีย ปวดกระดูก หนักจนเริ่มมองเห็นภาพหลอนและเพ้อ ทำให้ชาวบ้านต้องหามเด็กหนุ่มส่งโรงพยาบาล จอห์น ลูซินกู: นายแพทย์แทนซาเนียผู้ค้นคว้าวัคซีนจากการป่วยเป็นมาลาเรียกว่า 50 ครั้ง หลังจากโดนพาส่งโรงพยาบาลจนหายดี จากนั้นเขาเข็ดขยาดกับความเจ็บจากมาลาเรีย ยอมนอนกางมุ้งตามรัฐบาลแนะนำ แต่เขากลับป่วยด้วยโรคเดิมอีกครั้ง รักษาจนดีขึ้นแล้วกลับบ้าน จากนั้นก็ล้มป่วยด้วยโรคมาลาเรียอีก เขาป่วยซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยโรคเดิม ต้องเจอกับความทรมานกับอาการไข้ขึ้น ปวดหัว ปวดตัว ท้องร่วง บางครั้งก็อาเจียนมากถึงสิบครั้งต่อปี ต้องทนอยู่กับอาการป่วย ๆ หาย ๆ นานต่อเนื่องถึงสิบปี รวมแล้วกว่า 50 ครั้ง สาเหตุที่คนคนหนึ่งสามารถป่วยด้วยพิษจากยุงก้นปล่องได้บ่อยขนาดนี้ มีเหตุผลหลายอย่าง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแทนซาเนียถือเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมาลาเรียมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ถูกจัดเป็นพื้นที่สีแดงเข้มความเสี่ยงสูง หากเทียบกับพื้นที่อื่น ๆ อย่างอเมริกาใต้หรือประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักท่องเที่ยวจะโดนเตือนเรื่องไข้มาลาเรียเมื่อเข้าไปเที่ยวในป่า ถ้าอยู่เขตเมืองก็จะไม่มีความเสี่ยงรับเชื้อชนิดนี้ แต่เหตุผลที่ใช้ในดินแดนอื่นใช้ไม่ได้กับแทนซาเนีย ยุงก้นปล่องที่มีเชื้อกระจายตัวอยู่ทั้งในป่าและเขตเมือง จนทำให้มาลาเรียถูกจัดเป็นโรคท้องถิ่น คร่าชีวิตประชากรแทนซาเนียราว 80,000 คนต่อปี โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี จะเป็นกลุ่มมีความเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคนี้มากที่สุด ชีวิตวัยหนุ่มของลูซินกูต้องเจอกับการติดเชื้อมาลาเรียหลายสิบครั้ง อาการป่วย ๆ หาย ๆ ทำให้เขามีฝันว่าอยากเป็นหมอที่สามารถรู้วิธีรับมือกับมาลาเรีย ลูซินกูตัดสินใจเรียนหนักเพื่อสอบเข้าเรียนโรงเรียนแพทย์จนจบการศึกษาในปี 1994 หลังจากสานฝันวัยเด็กเรียนจบเป็นหมอตามต้องการ สุดท้ายเขาพบความจริงอันน่าเศร้าว่า โรงพยาบาลส่วนใหญ่ของแทนซาเนียไม่มีเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ที่ได้มาตรฐาน เขาไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก เวลาล่วงเลยไปหลายปีจนกระทั่งเขาอายุ 28 ปี ลูซินกูเริ่มพบความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง เมื่ออาการป่วยจากมาลาเรียเปรียบเสมือนเพื่อนคู่กายไม่เคยห่าง มันไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว เมื่อหลายคนฟังเรื่องน่าเหลือเชื่อของลูซินกู มีคนจำนวนไม่น้อยไม่อยากปักใจเชื่อ เขามีหลักฐานการเข้ารับการรักษาโรคมาลาเรียในโรงพยาบาลบ่อยครั้ง ยังไม่รวมกับการป่วยอีกหลายครั้งที่เขาเลือกนอนซมอยู่บ้านไม่ออกไปหาหมอ เมื่อเขาถูกถามว่าทั้งชีวิตเป็นมาลาเรียมากี่ครั้ง ลูซินกูกล่าวว่า จำตัวเลขแน่นอนไม่ได้ ปีหนึ่งป่วยไข้มากกว่าสิบครั้งก็มี เป็นแบบนี้มาตลอดสิบกว่าปี จนกระทั่งอยู่ ๆ อาการป่วยด้วยมาลาเรียก็ไม่ย่างกรายมาหาเขาเสียอย่างนั้น เมื่อเริ่มสังเกตตัวเองจนพบว่าเขาไม่ป่วยเพราะมาลาเรียอีกแล้ว ลูซินกูรู้สึกสงสัยจึงไปหาหมอเพื่อปรึกษาหาเหตุผลว่าทำไมตัวเองกลับมาสบายดีอีกครั้ง คำตอบของสุขภาพที่ดีขึ้นคือเขามีภูมิคุ้มกันโรคที่ไม่ได้พบกันบ่อย ๆ ในมนุษย์ หมายความว่าไม่ใช่ว่าทุกคนจะโดนยุงกัดซ้ำ ๆ แล้วจะมีภูมิคุ้มกันโรคเหมือนเขาเสมอไป และอย่าให้ใครริลองทำตาม เพราะมีหลายคนเป็นมาลาเรียครั้งแรกแล้วเสียชีวิตเลยก็มี   จอห์น ลูซินกู: นายแพทย์แทนซาเนียผู้ค้นคว้าวัคซีนจากการป่วยเป็นมาลาเรียกว่า 50 ครั้ง ลูซินกูพยายามหาคำตอบถึงความเป็นไปได้ว่าอะไรทำให้คนอื่น ๆ สามารถมีภูมิคุ้มกันแบบที่ตัวเองมี โดยไม่ต้องทนป่วยซ้ำแล้วซ้ำอีก จนร่างสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นเอง และคำตอบที่ได้คือ ‘วัคซีน’ เขาตัดสินใจตอบรับข้อเสนอของสถาบันวิจัยการแพทย์แห่งชาติแทนซาเนีย ทำงานเป็นนักวิจัยไวรัสตั้งแต่ปี 2000 ทุ่มเทมันสมองอยู่กับไข้มาลาเรียเป็นเวลาสองปี ศึกษาเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันคู่กับการระบาดของโรค จากนั้นเดินทางไปยังประเทศเดนมาร์ก เพื่อทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน กลับมายังบ้านเกิด ทดลองวัคซีนจำนวนมากร่วมกับบริษัทยา GlaxoDmithKline Biologicals กับ องค์กรด้านสุขภาพ PATH Malaria Vaccine Initiative (MVI) คิดค้นวัคซีนเตรียมทดสอบกับเด็กในทวีปแอฟริกาเมื่อปี 2007 ย้อนกลับไปยังปี 1965 ประเทศแทนซาเนียพยายามทดลองวัคซีนมาลาเรียมาหลากหลายวิธี ยังไม่มีวัคซีนที่สามารถจัดการกับเชื้อมาลาเรีย มีหลายคนรักษาจนหาย แต่ได้รับผลข้างเคียงจากควินิน (ยารักษามาลาเรีย) จนทำให้มีอาการหูอื้อตลอดชีวิต เลยทำให้พวกเขาคิดค้นวัคซีนแทนยารักษา ก่อนลูซินกูจะโต ทีมวิจัยแทนซาเนียพยายามเรียนรู้จากเชื้อแบคทีเรียและไวรัสหลายชนิด เริ่มทดลองวัคซีนระยะแรกด้วยการพยายามฆ่าปรสิตที่อยู่ในยุง จากนั้นฉีดวัคซีนเข้าสู่ร่างกาย รอดูว่ายาจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างระบบภูมิคุ้มกันได้หรือไม่ โดยใช้วิธีคล้ายกับการผลิตวัคซีนโปลิโอกับโรคไอกรน ผลคือความผิดหวัง วัคซีนใช้ไม่ได้ผลสำหรับเชื้อมาลาเรียในสัตว์ฟันแทะหรือสัตว์ตระกูลลิง ดังนั้นการนำวัคซีนไปฉีดให้กับเด็ก ๆ จำนวน 214 คน ของทีมวิจัยที่ลูซินกูร่วมทำอยู่ ถือเป็นงานเสี่ยงที่จะส่งผลกับวงการแพทย์ ลูซินกูหัวหน้าการวิจัยพาทีมแพทย์ลงพื้นที่ฉีดวีคซีนให้เด็กจำนวนหนึ่ง และได้ข่าวดีว่าไม่มีผลข้างเคียงร้ายแรงเมื่อร่างกายรับวัคซีน การทดลองระยะสองแสดงผลลัพธ์น่าประทับใจ จำนวนผู้ป่วยมาลาเรียที่ได้รับการฉีดวัคซีนลดลงเรื่อย ๆ บางปีลดลงมากถึง 66 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับกลุ่มคนไม่ได้ฉีดวัคซีน ความสำเร็จครั้งนี้ของทีมวิจัยทำให้พวกเขามีเงินทุนเพิ่มขึ้น เพื่อให้พวกเขาเร่งพัฒนาวัคซีนระยะสาม การทดสอบวัคซีนมาลาเรียระยะสามของแทนซาเนียในปี 2009 มีผู้ป่วยมากกว่า 15,000 คน จาก 7 ประเทศ ลงทะเบียนเพื่อรับการฉีดวัคซีน ทั้งที่ผลการทดลองยังไม่สามารถยืนยันว่าจะมีภูมิคุ้มกันเต็มร้อย อาการจากไข้มาลาเรียทำให้คนส่วนมากยอมเสี่ยงดวงกับวีคซีนแทนการนอนซมเพราะพิษเป็นสัปดาห์ เพราะปัจจุบันยังมีชาวแทนซาเนียหลายแสนคนที่เจ็บปวดกับโรคชนิดนี้ อย่างไรก็ตาม แม้การพัฒนาวัคซีนจะดำเนินไปได้ด้วยดี แต่ทีมของลูซินกูต้องพบกับปัญหาเมื่อทราบผลว่า แรกเริ่มวัคซีนจะทำงานเต็มประสิทธิภาพ พอเวลาล่วงเลยไปประมาณสี่ปี ประสิทธิภาพกลับลดลง โดยเฉพาะกลุ่มคนอายุเยอะ ทำให้ทีมวิจัยพยายามหาคำตอบถึงปัญหา ระดมสมองเพื่อทำให้วัคซีนสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น หากพวกเขาทำได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะช่วยลดจำนวนประชากรที่ตายด้วยมาลาเรียมากขึ้น จนกระทั่งลูซินกูกับทีมสามารถนำผลวิจัยชิ้นใหม่ไปยังองค์การอนามัยโลก (WHO) เสนอโครงการนำร่องแจกจ่ายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพดีขึ้นให้แก่ชาวแอฟริกา  จอห์น ลูซินกู: นายแพทย์แทนซาเนียผู้ค้นคว้าวัคซีนจากการป่วยเป็นมาลาเรียกว่า 50 ครั้ง เมื่อชาวแอฟริกาทราบถึงข่าวของวัคซีนที่ทีมวิจัยของลูซินกูเสนอกับ WHO มีประชาชนกว่าสองแสนคนยื่นใบสมัครเพื่อเป็นหนึ่งในผู้ทดลองวัคซีน พร้อมเหตุผลว่าพวกเขาไม่อยากป่วยด้วยมาลาเรียอีกแล้ว หลายคนเข้าใจความเจ็บปวดที่มาพร้อมกับโรคร้าย และไม่อยากให้มันเกิดกับตัวเองหรือคนใกล้ชิด ลูซินกูเล่าว่า เขาเคยเห็นเด็กล้มบนถนนขณะกำลังเดินกลับบ้าน ทราบข่าวภายหลังว่าเด็กเสียชีวิตแล้วเพราะมาลาเรีย เป็นภาพที่เขาไม่อยากเห็นมันเกิดขึ้นอีก ลูซินกูกับคนอื่น ๆ ในทีมวิจัยพยายามทำงานหนักเพื่อช่วยเหลือผู้คน อยากมีส่วนช่วยลดความเจ็บปวดจากการสูญเสียคนใกล้ตัวที่ไม่สามารถสู้กับมาลาเรียได้ และเวลานี้ พวกเขาก็ยังคงมุ่งมั่นเพื่อทำให้ชาวแอฟริกันทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่เจ็บป่วย ไม่ต้องนอนซมอย่างทุกข์ทรมานเพราะโดนยุงกัด   ที่มา https://www.vice.com/en_us/article/vv73jd/what-its-like-to-have-malaria-50-times https://www.path.org/articles/malaria-vaccine-development-primed-for-breakout/ https://www.one.org/africa/blog/interview-dr-lusingu-talks-about-malaria-vaccine-trials-in-tanzania/   เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์